เคล็ดลับสำหรับการบรรลุเป้าหมายการอ่านจาก Goodreads

Goodreads Reading Challenge

ใน Goodreads ในช่วงต้นปีจะมี Challenge ให้เราได้เล่นกัน โดยเราสามารถกำหนดเป้าหมายจำนวนของหนังสือที่เราตั้งใจจะอ่านให้จบในปีนั้นๆ ตอนท้ายปีก็มาสรุปอีกทีว่าอ่านอะไรไปบ้าง บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่

เคล็ดลับที่นำมาให้อ่านกันคือ เป็นทิปเล็กๆที่จะทำใหเราบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ง่ายขึ้น โดยคัดมาเฉพาะส่วนที่คิดว่าทำงานกับตัวเองได้ดีและคิดว่าน่าจะทำงานได้ดีกับคนอื่นด้วย

ทำให้ง่ายต่อการหยิบหนังสือมาอ่าน

ผู้เชี่ยวชาญด้านอุปนิสัยจะบอกคุณว่ายิ่งคุณทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ง่ายเท่าไหร่ คุณก็จะยิ่งทำสิ่งนั้นได้มากขึ้นเท่านั้น วางหนังสือตรงตำแหน่งที่คุณจะอ่าน (โต๊ะข้างเตียง โซฟา ในกระเป๋าเป้สำหรับการเดินทางของคุณ อื่นๆที่ใกล้ตัว) คุณจึงไม่ต้องคิดเกี่ยวกับมัน แต่เพียงแค่หยิบหนังสือขึ้นมา และลองอ่านหนังสือสองสามเล่มพร้อมๆ กัน เพื่อที่คุณจะได้เลือกหนังสือที่เหมาะกับอารมณ์ตอนนั้นของคุณได้

ผลักดันตัวเอง แต่ให้นึกถึงความเป็นจริง

หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้ประสิทธิภาพการอ่านตกต่ำด้วยการมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ (ความจริง คุณสามารถเพิ่มหรือลดเป้าหมายของคุณได้ตลอดเวลาตลอดทั้งปี เป็นอีกหนึ่งวิธีที่สนุกในการสร้างแรงจูงใจให้กับตัวเอง ดังนั้นไม่ต้องกดดันตัวเอง หากคุณจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเป้าหมายก็เปลี่ยนได้ (ตั้งไว้ให้เยอะเพื่อสร้างแรงจูงใจ)

อ่านหนังสือที่คุณชอบ (ยกให้สำคัญสุด)

ฟังดูง่าย แต่บางครั้งเราลองอ่านหนังสือเพราะรู้สึกว่าเราควรอ่าน แต่ปรากฏว่ามันไม่ใช่ และไม่ชอบ คุณวางมันลงและไม่สามารถหาแรงจูงใจที่จะหยิบมันขึ้นมาอ่านต่อได้ บางทีก็ฝืนอ่านต่อ รู้สึกถูกบังคับ ส่งผลให้ไม่สนุกกับการอ่าน และมันจึงเริ่มปิดกั้นไม่ให้คุณอ่านอย่างอื่น ดังนั้นจงตัดจบและไปต่อ—ไม่มีกฎว่าคุณต้องอ่านหนังสือให้จบ! มีหนังสือที่น่าอ่านอีกมากมายรอคุณอยู่ ดังนั้นเปิดหนังสือใหม่และรักษานิสัยการอ่านของคุณต่อไป หาแรงบันดาลใจ หาดูหนังสือที่นักอ่านคนอื่นๆ ชื่นชอบ หรือหนังสือที่คนอื่นตั้งตารอ

ที่มา https://www.goodreads.com/blog/show/2465-tips-to-read-more-books-in-2023-with-the-goodreads-reading-challenge

ร้านขายหนังสือ Thalia ใส่ความเห็นของพนักงานเพื่อเพิ่มความสนใจให้กับลูกค้าในร้าน

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เข้าไปในเมือง เดินเล่นและเข้าไปที่ร้านขายหนังสือ ร้านขายปลีกหนังสือในเยอรมันที่ค่อนข้างใหญ่ และมีสาขาเยอะ คือ Thalia มีทั้งหน้าร้านและออนไลน์ หนังสือเล่มล่าสุด the queens gambit ก็ซื้อที่นี้ สิ่งที่เห็นและเป็นรายละเอียดเล็ก ๆ ที่อยากเอามาเล่านั้นอยู่ในภาพประกอบนี้

มันคือคำแนะนำจากคนขายหนังสือที่ได้อ่านเล่มนี้แล้ว

คำแนะนำจากคนขาย (“Lieblingsbuchhändlerin” means favorite bookseller)

ป้ายพร้อมข้อความเหล่านี้จะกระจายอยู่ทั่วไปตามชั้นขายหนังสือ สำหรับคนที่ชอบเดินเลือกหนังสือถือว่าเป็นแนวคิดที่ดีมาก ๆ

ผมเลยลองคุยรายละเอียดเพิ่มเติมกับเพื่อนที่ทำงานในร้าน Thalia เขาบอกว่า นี้คือคอนเซ็พท์ของทางร้านที่ให้พนักงานที่ได้อ่านหนังสือ สามารถรีวิวหรือแนะนำเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้กับลูกค้าได้ โดยเขียนเป็นข้อความสั้น ๆ (เขียนเป็นด้วยลายมือไม่ใช่พิมพ์นะ) แล้ววางไว้ที่หน้าชั้นวางหนังสือนั้น ๆ สิ่งที่ได้กลับมาคือลูกค้าจะได้คำแนะนำจากคนที่อ่านหนังสือนั้นจริง ๆ และถ้าลูกค้าต้องการข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือเล่มนั้นมากขี้น ยังสามารถที่จะเข้าไปพูดคุยกับคนขายได้ถูกคนด้วย ค่อนข้างแน่ใจได้ว่า ตนขายคนนั้นจะให้คำแนะนำเกี่ยวกับหนังสือเล่มนั้นได้จริง ๆ

ฟังแล้วเป็นไอเดียที่ดีมาก ๆ เลย เราเคยเห็นอะไรแบบนี้มาบ้าง เช่น ป้ายที่เขียนบอกว่า หนังสือเล่มนี้คนดังคนนี้อ่าน แต่ไม่ค่อยเห็นคำแนะนำจากพนักงาน หรือคนทั่วไปมากนัก

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พวกเราซื้อของออนไลน์เพิ่มขึ้นเยอะมาก คำแนะนำ คะแนนรีวิว ที่อยู่ใต้สินค้านั้นมีความสำคัญมาก ๆ กับการตัดสินใจซื้อ เพราะส่วนหนึ่งคนซื้อไม่ได้มีโอกาสสัมผัสตัวสินค้าโดยตรง การได้ความเห็นตวามเห็นจากผู้ที่เคยใช้สินค้านั้นมาก่อน จึงเป็นอีกปัจจัยหลักอันหนึ่งที่โน้มน้าวคนซื้อได้มาก ถ้าได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับร้านค้าออนไลน์อะเมซอนจะรู้ว่าความเห็นของลูกค้าใต้สินค้านั้น ๆ บริษัทให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ เลยทีเดียว

สำหรับสินค้าอย่างหนังสือแม้ในยุคปัจจุบันที่มีทั้ง อีบุ๊ค หนังสือเสียง สั่งออนไลน์ได้ แต่การได้ออกไปเลือกซื้อ เลือกหยิบ ดูปก อ่านบางหน้า ยังเป็นสิ่งที่การขายออนไลน์ให้ประสบการณ์ตรงแบบนี้ไม่ได้ เราจึงยังเห็นนักอ่านเข้าร้านหนังสือกันคึกคักอยู่ตลอด แต่พฤติกรรมของเราก็ยังคุ้นชินกับการได้อ่านคำแนะนำแบบสินค้าออนไลน์อยู่พอสมควร การที่ร้านหนังสือ เอาคำแนะนำมาติดวางที่ชั้น ก็เหมือนเอาข้อดีของระบบออนไลน์และคำแนะนำจากคนที่ได้อ่านมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และเพิ่มการปฎิสัมพันธ์กับคนอ่านหรือลูกค้าได้มากขึ้น ตัวลูกค้าก็รู้สึกว่าได้รับการเอาใส่ใจมากขึ้น

แต่ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าการทำแบบนี้ทำให้ยอดขายหนังสือที่ถูกแนะนำโดยพนักงานที่อ่านเองนั้นจะขายดีขึ้นหรือไม่ (ไม่มีข้อมูล) แต่ถามว่าเพิ่มความสนใจให้ลูกค้าได้ไหม อันนี้ตอบให้ได้ในมุมส่วนตัวว่า ได้ ทำให้รู้สึกคุ้นเคยเป็นกันเอง อยากอ่านเล่มนั้นบ้าง และถ้าเป็นหนังสือที่เราสนใจอยู่แล้ว การได้คุยกับคนที่ได้อ่านมาก่อน ก็น่าจะทำให้การตัดสินใจซื้อทำได้ง่ายขึ้นด้วย

Thalia ไม่ได้มีคำแนะนำแค้เฉพาะหนังสือ แต่รวมถึงสินค้าอื่น ๆ ด้วย เช่น บอร์ดเกม หนัง ของเล่น เป็นต้น และในระบบออนไลน์ของร้านก็มีให้เราได้เลือกตามการรีวิวของพนักงานขายหนังสือแต่ละคนได้ด้วย ตัวอย่างของเพื่อน https://www.thalia.de/buchhaendler/7102850/buchhaendlerseite แต่ส่วนตัวชอบคำแนะนำสั้น ๆ ที่ติดอยู่ในร้าน เขียนด้วยลายมือ มากกว่า

เรื่องนี้บอกอีกอย่างว่าพนักงานขายหนังสือของเขา ไม่ใช่แค่คนขายของแต่เป็นคนรักการอ่านและยังสามารถแนะนำให้คนอื่นอ่านต่อได้ด้วย สร้าง community และเพื่อนคนชอบอ่านมากขึ้นอีกด้วย

ถือว่าเป็นเรื่องเล็ก ๆ ที่อยากเล่า และคิดว่าร้านหนังสือ ร้านอื่น ๆ ทั่วไปที่ไทยอาจจะสนใจนำไปประยุกต์ใช้กับร้านตัวเองได้

กลับมาเขียนบทความใน Biomed.in.th ในรอบเกือบ 8 ปี

หน้าเว็บ Biomed.in.th ล่าสุด

หลังจากทิ้งให้เว็บ Biomed.in.th ร้างมานานมากๆ โพสสุดท้ายคือเมื่อกันยายน 2014 มันคือเกือบจะ 8 ปีได้แล้ว ตอนนี้เข้าไปอัพเดตและปรับดีไซด์ใหม่นิดหน่อย และหวังว่าต่อไปจะมีเวลาเข้าไปแชร์ข้อมูลเพิ่มมากขึ้น อยากให้มันเป็นแหล่งข่าวที่อ่านง่ายๆ คนทั่วไปอ่านได้ คนที่จริงจังคิดว่าเขาวารสารต่างประเทศกันได้ อยากให้มันเป็นแนว popsci อ่านเข้าใจได้ง่าย สั้น ๆ

พอมองย้อนไปเนื้อหาก่อนหน้านี้มีหลายครั้งที่คนเข้ามาขอให้ประชาสัมพันธ์ งานสัมมนาวิชาการ ร่วมทั้งหานักวิจัยมาช่วยงาน อันนี้ต้องเข้าใจเพราะงานทางด้านนี้ค่อนข้างเฉพาะทาง จึงเป็นไอเดียเปิดให้อีกหน้าให้โดยเฉพาะ ใครอยากประชาสัมพันธ์อะไรก็ส่งเข้ามาให้พิจารณา ถ้าทางทีมเห็นสมควรก็จะกระจายข่าวสารให้ แม้แต่การหางาน หานักวิจัย ก็ส่งเข้ามาประชาสัมพันธ์กันได้เช่นกัน การแยกหน้าออกไปโดยเฉพาะไม่ปนกับเนื้อหา ก็เพื่อให้ทุกอย่างในเว็บดูเป็นระเบียบ และเป็นสัดเป็นส่วนชัดเจนมากขึ้น

ประเดิม บทความแรกด้วย โควิดกับการตั้งครรภ์: ข้อมูลที่มีล่าสุดบอกอะไรบ้าง? อ้างอิงมาจาก Nature เรียบเรียงใหม่ให้สั้นและเหมาะสมขึ้น ตอนแรกว่าจะเขียนสั้นๆ ก็ยาวซะงั้น ตามไปคลิกอ่านได้ มีข้อเสนอแนะอะไรก็บอกกันได้

ส่วนเพื่อน ๆ คนที่เคยช่วย ๆ กันเขียนบทความก็ทยอยเรียนจบเอก ได้ดิบได้ดีกันไปหมดแล้ว งานคงจะล้นมือมากกว่าแต่ก่อนแน่ ๆ ถ้าจะกลับมาช่วยกันเขียนบ้างก็ยินดีมาก ๆ ครับ

ตัวช่วยสายเที่ยว แอพเดียวจบ จองตั๋วเครื่องบิน จองที่พัก

Traveloka ตัวช่วยสายเที่ยว แอพเดียวจบ จองตั๋วเครื่องบิน จองที่พัก

ก่อนออกเดินทางท่องเที่ยว เราต้องมีการวางแผนการเดินทางกันเสียก่อน เช่น เส้นทาง สถานที่ท่องเที่ยว ตั๋วเครื่องบิน โรงแรมที่พัก ฯลฯ วันนี้ขอแนะนำผู้ช่วย ทั้งจองตั๋วเครื่องบินและจองที่พัก

Traveloka ตัวช่วยจองเที่ยวบินและที่พักออนไลน์ มีให้ใช้ผ่านทั้งบนเว็บ และแอปพลิเคชั่นทั้งใน iOS และ แอนดรอยด์

สามารถดาวน์โหลดได้ที่ Play Store และ  App Store

 

หลังจากดาวน์โหลดและติดตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต่อไปจะแนะนำวิธีการใช้งานแบบง่ายๆให้ครับ ผมใช้มือถือแอนดรอยด์เป็นหลัก ดังนั้นการแนะนำวิธีการใช้งานก็จะแนะนำผ่านการใช้แอพพลิเคชั่นบนแอนดรอยด์ แต่ดูจาก UI แล้วก็ไม่น่าแตกต่างกันสำหรับคนใช้ iOS ก็ดูได้เหมือน

1. วิธีการใช้งานแอพ Traveloka ค้นหาและจองตั๋วเครื่องบิน

หน้าหลักของแอพ ค่อนข้างเรียบง่าย และมุงไปที่จุดประสงค์ของแอพเลยนั้นคือ การจองตั๋วเครื่องบินและจองโรงแรม

Traveloka หน้าหลัก

เมนูหลักอื่นที่น่าสนใจ ได้แก่ ข่าวสารและโปรโมชั่น การแจ้งเตือนราคาของตั๋วเครื่องบินเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง เหมาะกับนักท่องเที่ยวสายประหยัด รอโปรโมชั่นและตั๋วราคาถูก รายละเอียดการจองของเรา(e-ticket)

ขั้นตอนที่ 1 ค้นหาเที่ยวบินและเปรียบเทียบราคา

ค้นหาเที่ยวบินและเปรียบเทียบราคา

เมื่อกดเข้าไปในเมนู ค้นหาเที่ยวบิน ก็จะพบช่องใส่รายละเอียดของเที่ยวบินที่เราสนใจ ต้นทาง-ปลายทาง วันเดินทาง จำนวนผู้โดยสาร ชั้นโดยสาร เมื่อใส่รายละเอียดครบถ้วนแล้ว กด ค้นหา 

รอสักพัก แอพจะค้นหาเที่ยวบินจากสายการบินต่างๆมาให้เราได้เลือกและมีเปรียบเทียบราคาให้ โปรดสังเกตครับ จะมีคำว่า “ดีลสำหรับแอป” ซึ่งบอกว่าราคาถูกกว่า ผมตามไปแช็คแล้วว่ามันราคาถูกกว่าจองจากสายบินโดยตรงหรือไม่ คำตอบคือ ถูกกว่าจริงครับ ถึงจะถูกกว่าไม่กี่บาท แต่ก็ถูกกว่าครับ

จุดเด่นที่ขอแนะนำ เมื่อกดที่เมนู “จัดลำดับ” จะสามารถเรียงลำดับผลการค้นหาได้ตาม ราคาต่ำสุด เวลาออกเดินทาง เวลาถึงที่หมาย และระยะเวลาในการเดินทาง หรือถ้าต้องการ “จำกัดการค้นหา” ที่เฉพาะมากขึ้น เช่น บินตรง เฉพาะบางสายการบิน เป็นต้น

อีกฟังก์ชั่นพิเศษ ให้เราสังเกตคำว่า “Smart Combo” ที่จะช่วยจับคู่เที่ยวบินไป-กลับให้เราโดยอัตโนมัติ ทำให้ราคาตั๋วถูกลงอีก

ขั้นตอนที่ 2 จองและชำระเงิน

จองและชำระเงิน

หลังจากเลือกเที่ยวบินได้แล้ว กดใส่รายละเอียดการติดต่อและรายละเอียดผู้โดยสาร จากนั้นตรวจสอบรายละเอียดการจอง กดดำเนินการต่อ เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการชำระเงิน

อีกหนึ่งข้อดีของ Traveloka คือการมีช่องทางการชำระเงินที่หลากหลาย เอาใจคนไทยสุดๆ ด้วย 4 ช่องทางการชำระเงิน ได้แก่ เคาน์เตอร์เพย์เมนต์ (7-11, Big-C, m-Pay, Pay@Post, TOT Just Pay, true money, FamilyMart และ Tesco Lotus), เอทีเอ็ม, บัตรเครดิต/บัตรเดบิต และ อินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้ง น่าจะครอบคลุมทุกอย่างที่มีในไทยแล้ว

2. วิธีการใช้งานแอพ Traveloka ค้นหาและจองโรงแรม

การใช้งานแอพ Traveloka ในการค้นหาและจองโรงแรม มีลักษณะการใช้งานใกล้เคียงกับการค้นหาตั๋วเครื่องบิน ค่อนข้างง่ายและขั้นตอนมีไม่เยอะ

ขั้นตอนที่ 1 ค้นหาโรงแรมและเปรียบเทียบราคา

ค้นหาและจองโรงแรม

เพียงเราใส่รายละเอียดปลายทาง วันเข้าพัก ระยะเวลา จำนวนผู้เข้าพัก และจำนวนห้อง แล้วกด ค้นหา

Traveloka จะค้นหาโรงแรมในพื้นที่ให้ พร้อมรายละเอียด ราคา คะแนน ฯลฯ เมื่อกดเลือกโรงแรมที่เราสนใจ แอพจะแสดงรายละเอียดของโรงแรมมากขึ้น สามารถดูภาพสถานที่ต่างๆของโรงแรม แผนที่สถานที่ตั้งของโรงแรม รวมถึงรีวิวและความคิดเห็นของผู้ที่เคยเข้าพัก (น่าจะเป็นส่วนของข้อมูลที่สำคัญ ที่ผู้ใช้อยากทราบรายละเอียดก่อนจองที่พัก)

เลือกห้องและจองห้อง

เมื่อดูรายละเอียดของโรงแรมโดยรวมเป็นที่พอใจแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือเข้าดูรายละเอียดของแต่ละห้อง ดูภาพตัวอย่างของพัก จากนั้นกด เลือกห้องพัก ใส่รายละเอียดผู้เข้าพัก ถ้าหากจองให้เพื่อนก็สามารถใส่รายละเอียดของคนเข้าพักได้ จากนั้นเลือก ดำเนินการต่อ เพื่อเข้าสู่ระบบชำระเงิน ซึ่งเราก็สามารถชำระเงินผ่าน 4 ช่องทาง ได้เช่นกัน ได้แก่ เคาน์เตอร์เพย์เมนต์, เอทีเอ็ม, บัตรเครดิต/บัตรเดบิต และ อินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้ง

ข้อดีของการจองโรงแรม เรามักจะเจอค่าอื่นๆอีกตอนจะชำระเงิน แต่ Traveloka รับประกันให้เราว่า ราคาที่แสดงอยู่บนผลลัพธ์การค้นหา คือราคาสุดท้ายที่เราจะต้องจ่ายจริง ไม่มีค่าธรรมเนียมการจอง ไม่มีค่าใช้จ่ายแอบแฝงใดๆเพิ่มเติม ซึ่งก็รวมทั้งการจองตั๋วเครื่องบินด้วยเช่นกัน (อันนี้ดี)

สรุปโดยรวม

  • ราคาถูกกว่าจองโดยตรงจากสายการบินหรือโรงแรม
  • มีช่องทางการชำระเงินที่หลากหลาย แทบจะครอบคลุมทุกระบบในไทย
  • ไม่มีค่าธรรมเนียม เพิ่มเติม ราคาจริงตามผลค้นหา
  • ระบบเปรียบเทียบราคา ระบบจัดเรียงข้อมูล ทำให้ง่ายต่อการตัดสินใจ
  • มีโปรโมชั่นและระบบแจ้งเตือนราคา สำหรับคนรอตั๋วราคาถูก
  • มีบ้างในบางครั้งระบบการจองตั๋วเครื่องบินไม่สามารถเชื่อมต่อกับเครือข่ายของสายการบินได้
  • ปัจจุบันยังให้บริการครอบคลุมในบางประเทศ(ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และ ฟิลิปปินส์)

อื่นๆ ที่ควรทราบ

Traveloka มีบริการ 24 ชั่วโมง ผ่านทางโทรศัพท์ 02-118-5400 และผ่าน Live Chat ที่หน้าเว็บไซต์ และบนเฟสบุ๊คเพจ (FB Traveloka)

นอกจากการใช้งานผ่านแอพพลิเคชั่น ยังสามารถเข้าไปใช้งานผ่านทางเว็บไซต์ได้ที่ Traveloka.com

หนังสือแนะนำให้อ่าน โดย CEO ระดับโลก

ผมว่าบางครั้งหลายๆคนน่าจะเป็นเหมือนกันว่าอยากเดินไปร้านหนังสือ แล้วก็ค่อยๆเดินดูตามชั้นหนังสือหมวดต่างๆ เปิดดูเนื้อหาข้างในสักหน้าสองหน้า แล้วค่อยเลือกซื้อ นี่คือหนึ่งในวิธีการหาหนังสือสักเล่มของผม แต่สมัยนี้การซื้อออนไลน์มันสะดวกมาก และถึงแม้ว่าการออกไปเดินในร้านหนังสือมันจะเพลิดเพลินเพียงใด เราก็คงทำบ่อยๆไม่ได้

พวกคำนิยมที่อยู่หน้าแรกๆของหนังสือนั้น ผมแทบจะไม่สนใจเลย หรือบางทีก็ไม่ได้อ่านด้วยซ้ำ บางทีมันอดคิดไม่ได้ว่า คนที่เขียนคำนิยมเหล่านั้นได้อ่านหนังสือเล่มนั้นจริงๆไหม รีวิวจากคนทั่วไปที่ไม่ได้ส่วนได้ส่วนเสียจากหนังสือเล่มนั้นเลยน่าเชื่อถือมากกว่า

ผมมีวิธีเลือกอ่านหนังสือแบบนี้ครับ (บางทีก็แค่อยากซื้อมาเก็บเฉย) ซึ่งก็พอจะสรุปเป็นข้อๆได้ประมาณนี้ครับ

  • หนังสือที่ถูกกล่าวถึงหรือถูกอ้างอิงในหนังสืออีกเล่มที่เคยอ่าน ทำให้หนังสือแต่ละเล่มมักจะมีการเชื่อมโยงถึงกัน ยกตัวอย่างเช่น เราอ่านหนังสือประวัติของ Isaac Newton ในหนังสือบอกว่า The Principia คือ ผลงานปฎิวัติวงการของเขา หนังสือที่เราอยากอ่านเล่มต่อไปย่อมเป็น The Principia หรือไม่ก็หนังสือที่เขียนอธิบายเกี่ยวกับ The Principia (แค่ยกตัวอย่างนะครับ มิอาจเอื้อม แต่ก็อยากซื้อมาประดับชั้นหนังสือนะ)
  • ผลงานของนักเขียนคนเดิม บ่อยครั้งที่จะดูว่านอกจากเล่มที่กำลังอ่านอยู่นั้น มีผลงานอื่นอะไรอีกที่น่าสนใจ เช่น เราอ่าน Surely You’re Joking, Mr. Feynman! เป็นไปได้หรือที่จะไม่ตามอ่าน What Do You Care What Other People Think?
  • ในเว็บไซต์ต่างๆ เช่น Goodread, Time, Nature, Wired, etc. ก็มักจะมีลิสต์หนังสือแนะนำให้เลือกติดตาม ในช่วงหลังๆที่ไม่รู้ว่าจะหาหนังสืออะไรมาอ่าน ช่องทางนี้ถูกเลือกใช้บ่อยๆ

นอกจากนี้ คนดัง ผู้มีอิทธิพลของโลก มหาเศรษฐี CEO หรือคนที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นอัจฉริยะในด้านต่างๆ ก็มักจะมีหนังสือแนะนำกันทั้งนั้น ปีที่แล้ว Mark Zuckerberg ก็ลิสต์หนังสือที่เปลี่ยนใหม่ทุกๆ 2 สัปดาห์ สุดท้ายได้ออกมา 23 เล่ม Ayearofbooks.net

แต่ถ้าอยากรู้ว่า CEO แต่ละคน เช่น Mark Zuckerberg, Sam Altman, Bill Gates, Larry Page, Elon Musk, etc. มีลิสต์หนังสือแนะนำอะไรบ้าง เข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์นี้ Bookicious.com

Book Collections Bookicious

ใน Bookicious จะเป็นการแนะนำหนังสือแบบรวบร่วมจากสื่อต่างๆ ที่ CEO แต่คนเคยบอกไว้ หรือเคยในสัมภาษณ์ไว้ ทำให้เราง่ายที่จะติดตามหนังสือตามบุคคลที่เราสนใจ หนังสือบางเล่มก็ได้รับการแนะนำจากหลายคน เช่น Sapiens by Yuval Noah Harari, The Innovator’s Dilemma by Clayton M. Christensen เป็นต้น ถ้าหลายคนแนะนำ แสดงว่าหนังสือเล่มนั้นก็น่าจะได้รับการการันตีในระดับหนึ่งว่าต้องดีแน่ๆ

แต่คนที่อยากพูดถึงเป็นพิเศษ นั้นคือ Bill Gates ดูจะเป็นคนที่จริงจังกับการอ่านมากที่สุด เขามีบล็อกที่เขียนรีวิวถึงหนังสือที่เขาอ่านอย่างสม่ำเสมอ บางครั้งก็ทำออกมาเป็นลิสต์ให้ได้ตามอ่านกันเลย และหนังสือก็มีหลากหลายแนว จึงขอแนะนำสำหรับคนที่คิดอะไรไม่ออก และกำลังตามหาลิสต์หนังสือน่าอ่านครับ

ตามไปดูหนังสือของ Bill Gates ได้ที่ Gatesnotes.com

Book reviews by Bill Gates

เคยอ่านคำแนะนำของคนที่อ่านหนังสือเก่งๆว่า ถ้าหนังสือเล่มไหนที่เราอ่านแล้วไม่สนุก ก็อย่าพยายามอ่านมันต่อ แค่ไปหาเล่มอื่นที่ใช่กว่ามาอ่านแทน ทำแบบนี้จะทำให้เราสนุกและไม่เบื่อการอ่านเลย ซึ่งผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง

ขายภาพบน Shutterstock แล้วนะ

www-shutterstock-com

Portfolio: https://www.shutterstock.com/g/sarapuk?rid=3759287

ไม่ได้อัพเดตบล็อกมานานมาก นานจนเพื่อนบางคนคิดว่าเลิกเขียนไปแล้วแน่ๆ ช่วงเวลาที่หายไปมีหลายอย่างเปลี่ยนไปเยอะมาก มีทั้งดีและร้าย ดีใจมากและเสียใจมาก ปนๆกันไป ชีวิตมันก็คงเป็นแบบนี้แหละ

ขอเขียนตามหัวข้อด้านบนดีกว่าจะได้จะได้ไม่ออกนอกเรื่องมากเกินไป

เรื่องการขายภาพดิจิตอลผ่านทางเว็บไซต์นั้นพอจะรู้เรื่องนี้มานานแล้ว ดูจากที่ปีที่สมัครเป็นสมาชิกครั้งแรกใน iStockphoto.com ของตัวเองนั้นมันตั้งแต่ปี 2009 แล้ว ช่วงปีนั้น iStock น่าจะเป็นเจ้าตลาดอยู่ ตอนน้ันส่งรูปเข้าไปสอบแต่ไม่ผ่านเลยคิดว่าตัวเองน่าจะยังถ่ายรูปได้ห่วย เอากล้องของมหาลัยมาถ่ายด้วย เลยเลิกล้มความคิดไป เวลาผ่านไป 7 ปี (ใช้เวลาในการฝึกนานนะ) กว่าจะกลับมาสอบผ่านและขายได้

ส่วนของ Shutterstock.com ตัวเองเป็นสมาชิกเมื่อไม่นานมานี้ คือตอนปี 2015 คิดว่าตอนนี้เจ้านี้ น่าจะเป็นผู้นำในตลาดอยู่นะ อันนี้ดูมาจากสัดส่วนรายได้ของช่างภาพที่อัพโหลดขายหลายที่ แล้วเขาได้รับรายได้จาก Shutterstock เยอะที่สุด ยังมีอีกหลายเจ้าที่เขานิยม เช่น Fotolia, Depositphotos, Dreamstime, 123rf, 500px etc. แต่ก็เลือกอันที่น่าจะทำรายได้ได้เยอะสุดก่อน

แล้วทำไมกลับมาสนใจถ่ายภาพขายอีกครั้งหลังจากทิ้งความสนใจนี้ไปนานมากแล้ว ก็ต้องตอบว่าตอนนี้อยู่ยุโรป ได้มีโอกาสไปเที่ยวที่ต่างๆเยอะ เราก็ถ่ายรูปมานานแล้วทั้งถ่ายเล่น ถ่ายจริงจัง มันก็ควรจะมีประสบการณ์มากขึ้นบ้าง หลังจากไปเที่ยวกลับมานำรูปไปแชร์ในที่ต่างๆ เช่น Facebook หรือแม้แต่ใน 500px ก็มีติด Popular กับเขาอยู่บ้าง เพื่อนฝรั่งก็บอกว่ารูปที่คุณถ่ายคุณภาพใช้ได้เลยนะ ไม่ลองขายมันเลยล่ะ จึงได้กลับมาลองส่งภาพไปสอบอีกรอบ ปรากฏว่าผ่าน สามารถขายใน Shutterstock ได้ แล้วก็ทยอยอัพโหลดรูปที่มีในเครื่องให้เขาตรวจสอบ ก็มีทั้งผ่านและไม่ผ่าน เดี๋ยวเล่าต่อว่าหลังจากส่งไปแล้ว อันที่ผ่านก็โอเคไป ส่วนอันที่ไม่ผ่านมีอะไรบ้าง

หลังจาก 2 สัปดาห์ที่ผ่านมานั่งขุดรูปที่ยังเหลืออยู่ในคอมมาปรับและส่งไปตรวจ ได้ไปราวๆร้อยกว่ารูป สรุปว่าผ่านประมาณ  70% ของรูปทั้งหมดที่ส่ง ส่วนที่ไม่ผ่านมีปัญหา เรียงจากที่เจอบ่อยสุดไปน้อยสุดได้ดังนี้

Kyoto มองชัดแต่ขยาย 100% ระยะไกลจะหลุดโฟกัส

Focus, ถูก rejected ไปราว 10% เป็นภาพชุดของการถ่าย Cityscape ตอนถ่ายไม่ได้คำนึงถึงความชัดมากนัก ภาพที่ได้จากรูรับแสง f5.6 นี้คือหมดสิทธิเลย f8 ผ่านบ้าง ตอนถ่ายเราคิดว่ามันน่าจะชัดตลอดแนวแล้ว แต่ภาพเมื่อดูแบบ 100% กับมีเบลอเล็กน้อยที่ไกลๆ แต่มีคนแนะนำว่าให้เพิ่ม Sharpen ให้ภาพและลดขนาดของภาพลง แล้วลองส่งใหม่ ลองทำดูราว 10 ภาพเมื่อวาน ปรากฏว่าผ่านครับ คิดว่าภาพในชุดนี้น่าจะเอามาแก้ไขใหม่แล้วลองส่งใหม่อีกที อีกอย่างถ้าใช้ขาตั้งกล้องน่าจะช่วยได้เยอะให้ภาพไม่สั่นไหว แล้วเกิดอาการเบลอในระยะไกล หรือใช้ shutter speed สูงขึ้นหน่อย

ในพื้นที่บางแห่งต้องมีเอกสารประกอบ

-Propety Release, ถูก rejected ไปราว 5% เป็นชุดภาพที่ไปถ่ายในวัง Kyoto imperial palace โดนทั้งชุด อันนี้ไม่รู้จะแก้ไขยังไง ครั้งหน้าต้องดูให้ดีว่าถ้าเป็นพื้นที่เฉพาะ หรืออาจจะต้องเขียนคำอธิบายให้ดีกว่านี้ แต่บางคนแนะนำว่าให้เปลี่ยนเป็น Editorial อาจจะผ่านได้ เลยจะลองส่งใหม่ดูอีกที

ภาพที่โดน rejeted จากปัญหาเรื่องแสง

-Poor lighting, ถูก rejected ไปราว 5% เป็นภาพชุดของ Golden temple โดนทั้งชุดเหมือนกัน ต้องบอกว่าถ่ายมาไม่ดีเอง เพราะตอนนั้นวัดซึ่งเป็นสีทองอยู่แล้ว โดนแสงจากพระอาทิตย์ช่วงราวๆบ่าย 3-4 ยิงใส่ตรงๆเลย สะท้อนเข้ากล้องพอดีถ้าวัดแสงที่บรรยากาศรอบๆ พอถ่ายออกมาจะทำให้ตัวปราสาทแสงหลุดไปเลย แต่ถ้าวัดแสงที่ตัวปราสาทบรรยากาศรอบๆก็มืดจมดินเลย ห่างกันราว 3-4 stop เลย ตอนนั้นถ้าหยิบตัว CPL ขึ้นมาใส่อาจจะช่วยลดแสงสะท้อนได้บ้าง หรือไม่ก็เลี่ยงสถานการณ์อะไรแบบนี้

อันนี้ composition ไม่ผ่าน

-Composition, ถูก rejected ไปราว 5% เหมือนกับปัญหาที่แล้ว อันนี้บางทีเรามองว่าเราจัดดีแล้ว คิดถึงกฏต่างๆดีแล้ว แต่บางทีก็ไม่พอ ต้องจัดมุมมอง และซ้อมให้เยอะขึ้น

ภาพ Cityscape ต้องระวังเรื่องโลโก้ Trademark

-Trademark, ถูก rejected ไปราว 3% ตอนถ่าย City view ต้องเช็คให้ดีว่ามีโลโก้บริษัทอะไรโผล่มาหรือไม่ ถ้ามีควรรีทัชออกก่อน แต่เอาให้เนียนๆนะ

Noise เยอะถ้าดูที่ส่วนของเงามืด

-Noise, มีหลุดไปบ้าง ต้องพยายามเช็คให้ละเอียด และใช้ noise reduction นิดหน่อยได้ หรือไม่ก็ย่อรูปลงแล้วส่งใหม่ ตามคำแนะนำของคนที่มีประสบการณ์บอก หรือแนะนำให้ซื้อกล้องใหม่ระดับ Full fram หรือพวก High end จะจัดการสัญญาณรบกวนได้ดีมาก ถ้าอยากแก้เบื้องต้นใช้ iso ต่ำสุดที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ภาพที่ถ่ายจาก Canon 600D iso เกิน 400 คือแย่มาก (อยากได้กล้องใหม่)

สรุปว่า หลังจากส่งภาพไป ทำให้เราได้ feedback กลับมา ทำให้รู้ว่าภาพแบบไหนที่จะผ่านหรือไม่ผ่านมากขึ้น และนำมาคิดก่อนตั้งแต่จะกดชัตเตอร์ สิ่งที่ควรทำหรือไม่ควรทำมากขึ้น คิดว่าในการออกไปถ่ายรูปในครั้งต่อไปน่าจะทำให้ถ่ายอย่างมีเป้าหมายมากขึ้น และรู้ว่าควรถ่ายยังไงบ้าง เช่น ควรเลี่ยงคนที่เข้ามาในภาพ ตรวจสอบแสงให้ดี ตรวจดูความคมชัด ดูการจัดองค์ประกอบ ฯลฯ น่าจะถ่ายรูปแบบคำนึงภาพหลัง Process มากขึ้น

ตามไปดู Portfolio: https://www.shutterstock.com/g/sarapuk

อยากขายเองบ้าง: https://submit.shutterstock.com

วิธีดาวน์โหลดทวีตของตัวเองทั้งหมดมาเก็บไว้

ถ้าใครอยากจะ backup ทวีตของตัวเองทั้งหมดจาก Twitter มาเก็บไว้ มีขั้นตอนง่ายๆมาแนะนำครับ

ขั้นตอนการดาวน์โหลดทวีตของตัวเองทั้งหมดมาเก็บไว้

1. ล็อกอินเข้าไปที่เว็บไซต์ twitter.com
2. เข้าไปที่เมนู setting คลิกที่รูป Avatar ของเรา

เมนู setting

3. เลื่อนลงไปที่ส่วนของ Content กดคลิกที่ปุ่ม Request your archive

Request your archive

4.ระบบจะส่งลิงค์สำหรับดาวน์โหลดทวีตไปที่อีเมลอันเดียวกับที่เราใช้สมัคร twitter

แจ้งรายละเอียดการส่งลิงค์ไปที่อีเมล

5. สักครู่เราจะได้รับอีเมลจาก Twitter จะมีลิงค์สำหรับดาวน์โหลด คลิกเลย!

ลิงค์ในอีเมล

6. เมื่อกดลิงค์จะเปิดเข้ามาที่หน้าดาวน์โหลด คลิกปุ่ม Download เลือกตำแหน่งที่จะบันทึกลงในเครื่องตามต้องการ

ลิงค์ดาวน์โหลด

7. ไฟล์ที่โหลดมาจากชื่อ Tweets.zip เมื่อแตกไฟล์ออกมาจะหลายไฟล์อยู่ในนั้น

ไฟล์ที่โหลดลงเครื่องไว้

8. เมื่อคลิกเปิดดูไฟล์ที่ชื่อ index.html ก็จะเห็นทวีตของเราทั้งหมดตั้งแต่ทวีตครั้งแรกจนถึงทวีตล่าสุด เมนูด้านขวาจะแบ่งตามปี เรียงตามเดือน เมื่อคลิกที่แถบก็จะแสดงข้อความที่เราทวีตไว้เมื่อเดือนและปีนั้นๆขึ้น

ทวีตทั้งหมด

ขั้นตอนการดาวน์โหลดทวีตของเราทั้งหมดมาเก็บไว้ก็มีขั้นตอนง่ายเท่านี้ ทดลองโหลดมาเก็บไว้ได้นะครับ เผื่อว่าอยากนำทวีตของตัวเองมาทำอะไรต่อไป เช่น ทำสมุดรวมทวีต เป็นต้น

Wordmark.it เว็บนี้ช่วยคุณเลือกฟอนต์มาใช้งานได้ง่ายขึ้น

Wordmark.it เว็บเลือกฟอนต์ที่ชอบ

Wordmark.it เชื่อว่านักออกแบบต้องชอบเว็บนี้แน่เลย เป็นเว็บที่จะช่วยให้เราเลือกฟอนต์ที่จะนำมาใช้ในงานออกแบบของเราได้ง่ายขึ้นมาก เพียงพิมพ์ข้อความลงไปบนช่องด้านบนของเว็บไซต์ และกดโหลดฟอนต์ “load font” แล้วฟอนต์ที่ติดตั้งอยู่ในเครื่องเราก็จะถูกนำมาแสดงบนเว็บไซต์ ให้เราได้พรีวิวดูก่อนว่าฟอนต์ไหนจะเหมาะกับข้อความที่เราออกแบบไว้

ยังสามารถปรับแต่งข้อความเพิ่มเติมได้จาก เมนูด้านบน ได้แก่ แบบพื้นหลังสีดำตัวอักษรสีขาว พื้นหลังสีขาวตัวอักษรสีดำ รูปแบบตัวอักษร(ตัวเขียน เล็ก ใหญ่) ขนาดของฟอนต์ เป็นต้น เว็บทำงานได้ค่อนข้างเร็วเลย จะโหลดฟอนต์มาบางส่วนถ้าเลื่อนจนสุดแต่ยังไม่ถูกใจก็คลิกโหลดฟอนต์มาแสดงผลเพิ่มต่อไปเรื่อยๆ

นอกจากนั้นมันใช้กับภาษาไทยได้ด้วยนะครับ ลองพิมพ์ภาษาไทยเข้าไปก็ใช้งานได้ดีเลย

ทดสอบใช้งานภาษาไทยใน Wordmark.it

นับว่าช่วยให้การเลือกฟอนต์ทำได้ง่ายขึ้นมากๆ น่าจะเป็นประโยชน์กับมือใหม่ที่ทำงานด้านออกแบบ ทำเว็บไซต์ ทำสื่อสิ่งพิมพ์ ไม่แน่ใจว่ามืออาชีพเขามีเครื่องมืออะไรในการเลือกฟอนต์ แต่สำหรับมือสมัครเล่นอย่างเรา เว็บนี้มีประโยชน์มากครับ Bookmark ไว้เลยล่ะ

เข้าไปใช้งานได้ที่ https://wordmark.it

via: https://twitter.com/AdobeMuse/status/514512039788560384

เล่าถึงประสบการณ์การใช้ PAYSBUY MasterCard

PAYSBUY MasterCard

เป็นคนไม่มีบัตรเครดิตใช้ครับ ถ้าจำเป็นต้องใช้จริงๆจะยืมของพี่มาใช้ครับ พอเห็นข่าวที่ PAYSBUY ออกมาเปิดตัวบริการบัตรเครดิตจำลอง Visual MasterCard ก็เลยลองสมัครดู และได้ใช้งานอยู่สองสามครั้ง เลยมาเล่าให้ฟังครับ

ข้อดีอย่างหนึ่งของบัตรเครดิตจำลอง Visual MasterCard ของ PAYSBUY คือ อยากใช้ยอดเท่าไหร่ก็เติมเงินเข้าไปเท่านั้น ช่องทางการเติมเงินก็มีให้เลือกหลายรูปแบบ ที่ผมใช้ก็กดเข้าไปว่าจะเติมเท่าไหร่ แล้วก็ไปจ่ายที่ 7-11 จะใช้วิธีนี้ได้ต้องส่งไฟล์บัตรประชาชนเข้าไปในระบบด้วย ต่อไปมีประสบการณ์มาเล่าให้ฟังดังนี้ครับ

  1. การจ่ายครั้งแรกกับ PAYSBUY MasterCard ผมใช้จ่ายค่า Coin ใน Line ที่เอามาซื้อ Sticker ครับ ราคา $1.99 คิดเป็นเงินไทย 63.66 บาท ตอนแรกทำเอางงมากเพราะแค่เข้าไปกรอกหมายเลขบัตรใน Google wallet มันก็หักตังค์เราไปแล้ว 40 บาท แต่สักพักมันก็ตัดกลับมาให้ แต่มันดันหักไป 2 ครั้ง แต่คืนกลับมาให้แค่ครั้งเดียว ทำเอางง ตอนแรกคิดว่ามันอาจจะดีเลย์แต่ผ่านไปอีกวันก็ยังไม่คืน เลยอีเมลไปคุยกับ Support ได้ความว่าปกติแล้วระบบของ Google จะเช็คว่าบัตรเครดิตใช้งานได้หรือปล่าวโดยการเรียกหักเงิน 40 บาท และจะคืนมาให้ภายหลัง อันนี้เราเข้าใจ แต่อันที่หักไป 2 ครั้ง แต่คืนมา 1 ครั้ง อันนี้ไม่ถูกต้อง ก็คุยกับ Support ไปมาสุดท้ายเขาให้เรากรอกข้อมูลในไฟล์ PDF แล้วส่งกลับเพื่อยืนยันว่าเราไม่ได้รับบริการใดๆจากเงิน 40 บาท ที่ถูกหักไป T_T ผ่านไป 4 วันเราก็ได้เงิน 40 บาทเราคืนมา ฮาเลย ต่อสู้เพื่อเงิน 40 บาท แต่อย่างไรก็ตาม Support เขาก็บริการดีนะ ตอบคำถามที่เราสงสัยและก็ดำเนินการจนเราได้เงินคืนมา และอีกอย่างเราก็ซื้อ Sticker “คนอะไรเป็นแฟนหมี” ได้ด้วยบัตรนี้ล่ะ
  2. พอผ่านอันแรกมาได้ เราค่อนข้างมั่นใจระดับหนึ่งแล้วว่ามันก็โอเครดีนะ ใช้แทนบัตรเครดิตได้จริงๆ ก็เลยเล็งที่จะซื้อสมุดเสก็ตรูปของ Moleskine ที่อยากได้มานานแล้ว อันที่อยากได้หาซื้อในไทยไม่ได้ด้วย แหล่งที่จะซื้อคือ bookdepository.com ครับ เคยเห็นเพื่อนเคยสั่งซื้อมาแล้ว จัดการเข้าไปหยิบอันที่อยากได้ไว้ในตะกร้าก่อนคลิกดูราคา แล้วก็ไปเติมเงินให้ PAYSBUY MasterCard เอาแบบเกินไปเยอะเกือบเท่าตัวเลย เผื่อมีค่าอื่นๆที่ไม่คาดคิด แล้วก็กลับมาดำเนินการขั้นตอนจ่ายเงินต่อ ปรากฏว่าระบบของ bookdepository.com ใส่หมายบัตร รหัส CVC เข้าไปยังไงก็ไม่ผ่าน ใส่หลายครั้งก็ไม่ผ่าน ทำวันหลังก็ไม่ผ่าน อีเมลไปคุยกับ Support ของ bookdepository ก็แก้ไขตามข้อแนะนำ เปลี่ยนเครื่อง เปลี่ยนบราวเซอร์ สรุปคือใช้ไม่ได้กับ bookdepository.com ครับ อันนี้เศร้าเลยครับ
  3. จากเหตุการณ์ด้านบนทำเอาผิดหวังนิดๆ แสดงว่าไม่ใช่จะทุกเว็บไซต์ที่บอกว่าใช้ MasterCard ได้แล้ว PAYSBUY MasterCard จะใช้ได้ด้วย เลยคิดตัดใจไม่เป็นไรเอาตังค์ไว้ซื้อ App ก็ได้ เพราะเงินที่เติมเข้าไปมันถอนไม่ได้นะครับ เลยจะเอาหมายบัตรไปใส่ไว้ในระบบของ Apple เผื่อซื้อเพลง ซื้อ App เข้าไปกรอกหมายเลขบัตร รหัส ปรากฏว่าใช้ไม่ได้เหมือนกันครับ

สรุปดังนี้ครับ ระบบมันก็สะดวกดีครับ Support ก็โอเครในระดับหนึ่ง แต่ไม่ใช่เว็บช้อปปิ้งออนไลน์ทุกที่ที่บอกว่ารองรับ MasterCard แล้ว PAYSBUY MasterCard จะใช้งานได้

ถ้ามีใครเคยใช้แล้วเป็นยังไงบ้างเอาแชร์กันบ้างนะครับ อยากรู้ว่าเว็บไหนใช้ได้ไม่ได้บ้าง ผมก็จะเอามาอัพเดตเรื่อยๆ

รายชื่อแหล่งช้อปปิ้งออนไลน์ที่ใช้กับ PAYSBUY MasterCard ได้/ไม่ได้

  1. Google Play ใช้ได้
  2. Bookdepository.com ใช้ไม่ได้
  3. Apple App Store ใช้ไม่ได้
  4. Lazada.co.th ใช้ได้

MyPermissions ตรวจสอบข้อมูลส่วนตัวของเราถูกใครดึงไปใช้งานบ้าง

MyPermissions เว็บไซต์ช่วยตรวจสอบบริการต่างๆดึงข้อมูลอะไรที่เป็นส่วนตัวของเราไปใช้บ้าง

หลายๆครั้งที่เราสมัครเข้าใช้งานเว็บไซต์ เกมส์ หรือบริการออนไลน์ตัวใหม่ๆ ด้วยบัญชีของ Facebook หรือ Twitter ตามแต่เจ้าของบริการจะเปิดให้เราเข้าใช้งานโดยการดึงข้อมูลของเราจาก social network ของเราเองมาใช้ ทำให้คนใช้งานก็สะดวก คนให้บริการก็ได้สมาชิกมากขึ้นจากความสะดวกนั้น จนหลายๆครั้งเราคนใช้งานไม่ได้ตรวจสอบดูเลยว่าในแต่ละครั้งบริการเหล่านั้นขอข้อมูลส่วนตัวอะไรของเราบ้าง และบางอันที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว ก็ควรหยุดให้เขาเข้ามาดึงข้อมูลของเราไปใช้ (ข้อมูลส่วนตัวของฉันนะ)

ความเป็นส่วนตัว(permission) ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือผู้ให้บริการจะแนะนำบริการต่างๆได้ตรงตามความต้องการของเราเพราะเราให้ข้อมูลที่ละเอียด ส่วนข้อเสียก็คือบางเรื่องที่เป็นเรื่องส่วนตัวมากๆเราก็ไม่อยากให้ใครได้ข้อมูลเหล่านั้นไป มันอาจจะหมายถึงความปลอดภัยทั้งทรัพย์สินและร่างกายของเรา ต้องระวังในการเปิดเผย ควรให้ข้อมูลเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

ถ้าเป็นคนที่ชอบท่องโลกอินเตอร์เน็ต ลองเล่นโน่นนี้นั้นไปเรื่อย ยากที่จะตามไปดูว่าให้ข้อมูลส่วนตัวของเราที่อยู่ใน social network ให้ใครไปบ้างและเขาได้ข้อมูลอะไรไปบ้าง ก็เป็นเรื่องน่ากังวลอยู่ไม่น้อย แล้วก็มาเจอเว็บไซต์นี้ครับ ตัวช่วยตรวจสอบ permission ให้เรา

เว็บไซต์ MyPermissions จะช่วยตรวจสอบให้เราว่าข้อมูลของเราใน social network เช่น Facebook, Twitter, Google+,Instagram ฯลฯ ถูกนำไปใช้ที่ไหนบ้าง และขอใช้ข้อมูลอะไรบ้าง เช่น location, contact list, photo เป็นต้น เยี่ยมมากๆ

ตัวอย่าง เข้าไปดูรายละเอียดการอนุญาติให้เข้าถึงข้อมูลส่วนตัว สามารถเพิกถอนการเข้าถึงได้

เมื่อตรวจดูแล้วบ้างอันที่เราไม่ได้ใช้งานแล้วก็ควรหยุดการให้เข้าถึงข้อมูลของเรา ซึ่งเราสามารถเข้าไปแก้ไขและเพิกถอนสิทธิ์(revoke)การเข้าถึงข้อมูลของแต่ละเว็บไซต์หรือบริการต่างๆที่ดึงไปใช้งานได้ ถ้าเราติดตั้งเป็น extension ของ MyPermission ใน browser ของเราก็จะมีการแจ้งเตือนทุกครั้งที่มีการขอใช้ข้อมูลส่วนตัวของเรา ถือว่ามีประโยชน์มากๆครับ

เข้าไปใช้งาน MyPermissions ได้ที่เว็บไซต์ https://mypermissions.com

Exit mobile version