อยากรู้ว่า รูปสวยๆรูปนั้นถ่ายด้วยกล้องอะไร เลนส์อะไร เรามีตัวช่วย

หลายๆครั้งที่เราเห็นภาพสวยๆบนเว็บไซต์ต่างๆ ก็อยากจะรู้ขั้นตอนการได้มาซึ่งภาพสวยๆอันนั้น สิ่งหนึ่งที่พอจะทำให้เราเข้าใจการทำงานของช่างภาพได้บ้าง นั้นคือเขาใช้อุปกรณ์อะไรในการถ่ายภาพนั้น(Camera Model, Flash) เลนส์อะไร(Lens Model) ความยาวโฟกัสเท่าไหร่(Focal Length) ความเร็วชัตเตอร์เท่าไหร่(Exposure Time) เปิดรูรับแสงยังไง(F Number) ISO เท่าไหร่ ถ่ายที่ไหน(GPS) เมื่อไหร่(Date, Time) ทำให้เราเข้าใจภาพนั้นมากขึ้น

ค่าต่างๆเหล่านี้มีประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ที่อยากเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านทางผลงานของช่างภาพที่เราชื่นชอบ ซึ่งค่าต่างๆเหล่านี้จะถูกฝังไว้ในไฟล์ภาพนั้นๆตั้งแต่ที่กดถ่ายภาพอยู่แล้ว รายละเอียดเหล่านี้เรียกกันว่า Exchangeable image file format หรือ EXIF รายละเอียดดูได้ตามลิงค์

โดยปกติในโปรแกรมจัดการกับรูปภาพสามารถแสดงรายละเอียดของ EXIF ได้อยู่แล้ว แม้แต่ในบริการฝากรูป Flickr, Google+Photo ก็แสดงรายละเอียดของ EXIF โดยละเอียดได้ หรือใน OS X เวลากด file info ก็แสดงรายละเอียดได้เช่นกัน

แต่ภาพที่เราจะดูเอามาเป็นแรงบันดาลใจ เอาไว้เรียนรู้ ส่วนใหญ่ก็จะอยู่บนเว็บไซต์ การใช้งานแบบ offline จึงดูไม่ค่อยสะดวกมากนักเป็นการทำงานหลายขั้นตอนกว่าจะได้เห็นข้อมูล การกดดูแบบออนไลน์ทันที จึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า จึงเอา Extension สำหรับ Google Chrome ที่สามารถคลิกดูรายละเอียดของภาพได้โดยละเอียดมาแนะนำครับ ส่วนตัวก็ใช้โดยปกติอยู่แล้ว

Exif viewer extension for Google Chrome

Exif Viewer Extension สำหรับ Google Chrome

สามารถดาวน์โหลด EXIF Viewer สำหรับ Google Chrome มาใช้ได้ตามลิงค์ เมื่อติดตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว เวลาจะใช้งานเพียงแค่คลิกขวาบนรูปภาพที่ต้องการดูรายละเอียดของ EXIF จะมีเมนู Show EXIF data อยูในรายการ ให้คลิกเมนูนี่เลย

ตัวอย่างภาพจาก https://pantip.com/topic/32715141 รูปสวยดีครับ เลยอยากรู้ว่าถ่ายด้วยกล้องอะไร

คลิกขวาที่ภาพ จะมีเมนู Show Exif Data

เมื่อคลิกเมนูดังกล่าว รายละเอียดต่างๆของ EXIF ก็จะแสดงที่ด้านขวาของจอ บอกรายละเอียดอย่างครบถ้วน

รายละเอียดของ EXIF data ก็จะปรากฏที่ด้านขวาของจอทันที

นับว่ามีประโยชน์สำหรับมือใหม่ มือสมัครเล่น ที่หัดเรียนรู้ว่ามืออาชีพอย่างมาก อย่างไรก็ตามบางทีรูปก็จะไม่มีรายละเอียด EXIF เหมือนกัน ถ้าหากคนถ่ายภาพจะลบข้อมูลตรงนี้ออกไปซึ่งก็ทำได้เหมือนกัน

EXIF Viewer ตัวนี้ช่วยให้ได้เรียนรู้วิธีถ่ายภาพผ่านทางผลงานของมืออาชีพได้เยอะมากครับ นำเอามาประยุกต์ใช้และฝึกฝนตัวเองได้ดีเลยทีเดียว ขอแนะนำให้เพื่อนๆที่อยากฝึกฝนตนเองได้ลองติดตั้งลงเครื่องไว้ใช้งานครับ

ปล. ถ้าไม่อยากกดคลิกเข้าไปในเมนู ขอแนะนำอีกตัว EXIF Reader ตัวนี้เป็น Extension เหมือนกัน แค่วางเมาส์ไว้บนภาพ รายละเอียดเบื้องต้นก็โชว์ออกมาให้เห็นแล้ว แต่รายละเอียดจะน้อยกว่า EXIF Viewer Extension

MyPermissions ตรวจสอบข้อมูลส่วนตัวของเราถูกใครดึงไปใช้งานบ้าง

MyPermissions เว็บไซต์ช่วยตรวจสอบบริการต่างๆดึงข้อมูลอะไรที่เป็นส่วนตัวของเราไปใช้บ้าง

หลายๆครั้งที่เราสมัครเข้าใช้งานเว็บไซต์ เกมส์ หรือบริการออนไลน์ตัวใหม่ๆ ด้วยบัญชีของ Facebook หรือ Twitter ตามแต่เจ้าของบริการจะเปิดให้เราเข้าใช้งานโดยการดึงข้อมูลของเราจาก social network ของเราเองมาใช้ ทำให้คนใช้งานก็สะดวก คนให้บริการก็ได้สมาชิกมากขึ้นจากความสะดวกนั้น จนหลายๆครั้งเราคนใช้งานไม่ได้ตรวจสอบดูเลยว่าในแต่ละครั้งบริการเหล่านั้นขอข้อมูลส่วนตัวอะไรของเราบ้าง และบางอันที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว ก็ควรหยุดให้เขาเข้ามาดึงข้อมูลของเราไปใช้ (ข้อมูลส่วนตัวของฉันนะ)

ความเป็นส่วนตัว(permission) ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือผู้ให้บริการจะแนะนำบริการต่างๆได้ตรงตามความต้องการของเราเพราะเราให้ข้อมูลที่ละเอียด ส่วนข้อเสียก็คือบางเรื่องที่เป็นเรื่องส่วนตัวมากๆเราก็ไม่อยากให้ใครได้ข้อมูลเหล่านั้นไป มันอาจจะหมายถึงความปลอดภัยทั้งทรัพย์สินและร่างกายของเรา ต้องระวังในการเปิดเผย ควรให้ข้อมูลเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

ถ้าเป็นคนที่ชอบท่องโลกอินเตอร์เน็ต ลองเล่นโน่นนี้นั้นไปเรื่อย ยากที่จะตามไปดูว่าให้ข้อมูลส่วนตัวของเราที่อยู่ใน social network ให้ใครไปบ้างและเขาได้ข้อมูลอะไรไปบ้าง ก็เป็นเรื่องน่ากังวลอยู่ไม่น้อย แล้วก็มาเจอเว็บไซต์นี้ครับ ตัวช่วยตรวจสอบ permission ให้เรา

เว็บไซต์ MyPermissions จะช่วยตรวจสอบให้เราว่าข้อมูลของเราใน social network เช่น Facebook, Twitter, Google+,Instagram ฯลฯ ถูกนำไปใช้ที่ไหนบ้าง และขอใช้ข้อมูลอะไรบ้าง เช่น location, contact list, photo เป็นต้น เยี่ยมมากๆ

ตัวอย่าง เข้าไปดูรายละเอียดการอนุญาติให้เข้าถึงข้อมูลส่วนตัว สามารถเพิกถอนการเข้าถึงได้

เมื่อตรวจดูแล้วบ้างอันที่เราไม่ได้ใช้งานแล้วก็ควรหยุดการให้เข้าถึงข้อมูลของเรา ซึ่งเราสามารถเข้าไปแก้ไขและเพิกถอนสิทธิ์(revoke)การเข้าถึงข้อมูลของแต่ละเว็บไซต์หรือบริการต่างๆที่ดึงไปใช้งานได้ ถ้าเราติดตั้งเป็น extension ของ MyPermission ใน browser ของเราก็จะมีการแจ้งเตือนทุกครั้งที่มีการขอใช้ข้อมูลส่วนตัวของเรา ถือว่ามีประโยชน์มากๆครับ

เข้าไปใช้งาน MyPermissions ได้ที่เว็บไซต์ https://mypermissions.com

Gmail Attachments To Drive เซฟข้อมูลจาก Gmail ไปที่ Drive

Gmail Attachments To Drive

Gmail Attachments To Drive เป็น Chrome Extension เมื่อติดตั้งเข้าไปแล้ว จะเพิ่มเมนู Save To Drive เข้ามาอีกอันใต้ไฟล์ที่ถูกแนบมากับอีเมล (Gmail) จากปกติที่มีเพียง View และ Download

หลังจาก Google เปิดตัว Google Drive ออกมาให้ใช้ได้ไม่นาน พวก extension ต่างๆที่จะคอยช่วยให้เราทำงานได้สะดวกมากขึ้นก็คงจะทยอยออกมาเรื่อยๆ ตัวแรกที่เห็นและได้ลองติดตั้งดูแล้ว ก็คือ Gmail Attachments To Drive ตัวนี้นี่เอง มีประโยชน์ไม่น้อยเลย เมื่อมีเมนูลัดเซฟข้อมูลจาก Gmail ไปที่ Drive ในคลิกเดียว บางคนอาจคิดว่าในอีเมลก็ถือว่าเซฟข้อมูลอยู่แล้ว แล้วจะเอาเซฟไปที่ Drive อีกทำไมให้เปลื้องที่ อยากตอบว่า การจัดการเอกสารและไฟล์ต่างๆของ Drive สะดวกและค้นหาง่ายกว่ามาก แถมยังแก้ไขไฟล์ได้อีกด้วย ถ้าใครมีอีเมลในแต่ละวันหลายฉบับ ยิ่งปวดหัวไปกันใหญ่ แยกเซฟบางตัวที่สำคัญไว้ที่ Drive สะดวกกว่าเยอะ แนะนำให้แยกเป็นโฟล์เดอร์ไว้ด้วยจะยิ่งดี นอกจากนั้นการเปิดด้วยอุปกรณ์อื่นๆ(Smart Device)ยังง่ายและสะดวกกว่าด้วย

เมื่อติดตั้งเสร็จแล้วจะมีลิงค์เพิ่มขึ้นมาใต้ไฟล์ที่แนบมากับอีเมลแบบนี้

Save To Drive

ดาวน์โหลดได้ที่ https://chrome.google.com/webstore/detail/epoohehjbaenldfbahgcegdmlogakgin 

เมื่อ Extension บางตัวของ Chrome แอบเพิ่มโฆษณาลงในหน้าเว็บ

โฆษณานี้โผล่มาอยู่ด้านล่างของเว็บไซต์ได้ไง

แปลกใจมากที่อยู่ๆโฆษณาก็โผล่มาในเว็บได้ไง ทั้งๆที่ไม่ได้ติดอะไรลงไปเลย อันดับแรกเข้าไปดูในโค้ดเว็บไซต์ก่อน พบว่าไม่มี ลองเปิดด้วยบราวเซอร์ตัวอื่น (Safari, Firefox ใช้ Chrome เป็นตัวหลัก) พบว่าตัวอื่นไม่เจอ นอกจากนี้ลองเปิดเว็บไซต์อื่นๆก็มีขึ้นมาในลักษณะเดียวกันในบางเว็บไซต์ แสดงว่ามีปัญหาที่ Chrome แน่ๆ สิ่งต่อไปที่คิดถึงคือ น่าจะมี Extension บางตัวที่เป็นตัวใส่โฆษณานี้เข้ามา ดันลองไปปิด Extension ทีละตัวแล้วรีเฟรชดู ว่าหายไปหรือเปล่า ไม่ยอมอ่านข้างล่างโฆษณาที่เขียนบอกไว้แล้ว

“This ad is supporting your extension Enhancements for Gmail” ตัวการอยู่นี้เอง มันเป็น Extension ที่ทำให้ Gmail ไม่มีโฆษณา แต่ตัวเองดันเอาโฆษณามายัดให้คนดูซะงั้น แต่ทำได้เนียนมาก ถ้าไม่เขียนบอกไว้ข้างล่างโฆษณาคงหาลำบากมาก ว่ามันมาจากไหนเพราะติด Extension ไว้ประมาณสามสิบตัวกว่าๆ

ตัวการเพิ่มโฆษณาเข้ามาในหน้าเว็บไซต์ที่เราเปิดดู

วิธีแก้ไขก็ไม่ยาก ก็ลบ Enhancements for Gmail หรือใครไม่อยากลบก็เข้าไปตั้งค่า Extension ดูตามลิงค์ข้างล่างของโฆษณา แต่ผมลบไปแล้ว

เมื่อลบทิ้งไปตอนนี้รีเฟรชเว็บไซต์ก็ไม่ขึ้นมาแล้ว ผมไม่แน่ใจว่าตอนติดตั้งมันได้เตือนเราหรือเปล่า ว่าจะมีโฆษณาแทรกไปในเว็บไซต์ที่เราเปิดดู แต่ถึงแจ้งก็ไม่ค่อยมีคนอ่านกัน คิดว่าน่าจะมี Extension แนวนี้อยู่อีกเพียบ  ใครเจอแจ้งเตือนด้วยนะครับ

ความจริงแล้วมันก็ไม่เป็นอันตรายอะไรกับเครื่องเราหรอกนะครับ แต่อาจสร้างความรำคาญในผู้ใช้บางคนเท่านั้นเอง เลยเอามาเล่าให้ฟัง

ควบคุมคอมพิวเตอร์ของคนอื่นด้วย Chrome Remote Desktop

Chrome Remote Desktop

แต่ก่อนผมจะใช้บริการของ LogMeIn ในการควบคุมคอมพิวเตอร์อีกเครื่องในระยะไกลผ่านทางอินเทอร์เน็ต มันทำงานได้ค่อนข้างช้า และภาพไม่ค่อยชัด การป้อนข้อมูลเข้ามีผิดพลาดบ้าง แต่พอแก้ขัดได้ ส่วนใหญ่เอาไว้ควบคุมเครื่องวินโดว์เวลาเครื่องเราทำงานไม่ได้ หรือแก้ไขปัญหาคอมพิวเตอร์เล็กๆน้อยๆให้เพื่อน

เมื่อหลายวันก่อน Google เปิดตัวส่วนเสริมของ Google Chrome ชื่อ Chrome Remote Desktop ความสามารถของมัน คือเราสามารถควบคุมคอมพิวเตอร์อีกเครื่องที่ลง Google Chrome ไว้ในเครื่องรองรับทุกแฟลตฟอร์ม Windows, Linux, Mac รวมถึง Chromebooks ด้วยนะ ผมลงไว้ในเครื่องหลายวันแล้วแต่ยังไม่มีเวลาได้ลอง และยังหาเครื่องคอมอีกตัวมาลองไม่ได้ วันนี้ฤกษ์ดีเลยหยิบคอมที่เป็น Windows มาเอาควบคุม Mac OSX ดู

ขั้นตอนการใช้งาน  Chrome Remote Desktop

  1. เครื่องต้องมี Google Chrome ก่อน ดาวน์โหลด
  2. ติดตั้งส่วนเสริม Chrome Remote Desktop ขนาดประมาณ 19 MB (ใหญ่กว่าส่วนเสริมทั่วไปที่เคยลงมาเลย)

    Chrome Remote Desktop App

  3. เปิดเข้าไปใช้งาน จะมีสองหมวดให้ใช้งาน นั้นคือ จะควบคุมเครื่องของคนอื่น ซึ่งเครื่องปลายทางต้องแชร์เครื่องของเขาแล้วส่ง Access code มาให้เรา หรือ จะให้คนอื่นควบคุมเครื่องของเรา(Share this computer)

    Share This Computer

  4. ในการทดลองนี้ ผมจะให้เครื่องที่เป็น Windows เข้าควบคุมเครื่อง Mac ดังนั้นผมก็เลือก share this computer แล้วระบบจะสร้างโค้ดมาให้ 12 ตัว แล้วเราก็ส่งโค้ดให้เครื่องที่จะควบคุมเครื่องเรา
    Code ที่จะใช้ในการควบคุมเครื่องที่เรากดแชร์

    **ข้อดีของ Chrome Remote Desktop คือ มันจะนับเวลาถอยหลัง ถ้าคอมพิวเตอร์ไม่ Access เข้ามาในเวลาที่กำหนด โค้ดชุดนี้จะหมดอายุแล้วก็ใช้ไม่ได้ ต้องกดแชร์ใหม่

  5. นำตัวโค้ดที่ได้จากเครื่องที่จะให้เราควบคุม ใส่เข้าไปในช่อง Access code แล้วกด connect เพียงเท่านี้เราก็ควบคุมเครื่องปลายทางได้แล้ว
    -ผมใช้คอมพิวเตอร์อีกตัว(Windows) เพื่อทดลองควบคุมคอมพิวเตอร์เครื่องที่แชร์(Mac)
    ใส่โค้ดเข้าไป ตอนนี้เครื่อง Windows ก็ใช้เครื่อง Mac ได้แล้ว
    ที่เครื่องที่ถูกควบคุมจะบอกว่าตอนนี้เครื่องถูกควบคุมอยู่

    ยังมีข้อดีอีกอย่างคือ เครื่องที่ถูกควบคุมอยู่ จะตัดการเชื่อมต่อเมื่อไหร่ก็ได้ และส่วนแจ้งเตือนที่เป็นบ๊อบอัพจะอยู่ด้านหน้าตลอด ทำให้รู้ว่าเครื่องถูกนี้ถูกควบคุมอยู่

  6. หน้าต่างส่วนควบคุมจะอยู่ใน Tab  ถ้าเปิด Chrome เป็นแบบ Full screen จะเหมือนเราใช้คอมเครื่องปลายทางเลย

    เครื่องที่เป็น Windows ควบคุมเครื่องที่เป็น Mac

สิ่งที่ประทับใจ

-ภาพละเอียด เหมือนเราใช้งานเครื่องปลายทางอยู่จริงๆ

Compaq ควบคุมเครื่อง Macbook

-เร็วมาก ลองเปิดวีดีโอดูพบว่ามันวิ่งพร้อมกันเลย เสียดายที่เสียงไม่มาด้วยไม่งั้นแหล่มมาก (เน็ต 4 Mb)

ลองเปิดวีดีโอที่เครื่อง Macbook ที่เครื่อง compaq ก็ชัดและสตรีมแทบจะพร้อมกัน แยกไม่ออกว่าเลยว่า delay

-และมันให้งานฟรี ชอบ google ก็ตรงนี้แหละ

ลองเอาไปประยุกต์ใช้กับงานของคุณดูนะครับ น่าจะมีประโยชน์ไม่น้อยเลย

เพิ่มปุ่มเล่นซ้ำอัตโนมัติให้ Youtube

Youtube auto play extension

เคยไหมดูมิวสิควีดีโอเพลงเพราะๆ หรือคลิปฮาๆ แล้วอยากดูซ้ำ แต่เบื่อการต้องมากดปุ่มเล่นซ้ำอีกครั้ง โดยเฉพาะคลิปที่เราอยากฟังเสียงมากกว่าดูภาพ ตัว playlist ของ youtube ถือว่าเป็นตัวที่ทำให้เราฟังเพลงได้ต่อเนื่องโดยไม่ต้องกลับมาเปิดหน้า youtube อีกครั้ง แต่บางครั้งอยากฟังที่เราชอบเพลงเดียวสัก 100 รอบ คุณเคยเป็นไหม? อาการนี้ผมเป็นบ่อยเลยล่ะ! ความต้องการอยากได้ปุ่ม replay ใน youtube ค้างคาในใจมานาน วันนี้เลยลองค้นดูในกูเกิล ปัญหาง่ายๆแบบนี้น่าจะมีคนที่คิดเหมือนเราสิ และต้องมีวิธีแก้ไขด้วยสิ ก็ไปเจอ extension สำหรับ Firefox และ Chrome จึงเอามาแชร์ให้คนที่อยากฟังเพลงซ้ำอย่างเช่นผม

Auto Replay for YouTube ดาวน์โหลดได้ที่ Chrome Extension และ Firefox Add-on

YouTube Auto Replay

เมื่อติดตั้ง extension แล้ว เมื่อเราเปิดไปที่ youtube ในหน้าวิดีโอที่เราอยากเล่น ที่ด้านล่างซ้ายของวีดีโอจะมี Auto Replay ปรากฏขึ้นมา เมื่อเราติ๊กในช่องข้างหน้า วีดีโอนั้นจะเล่นซ้ำทันทีเมื่อเล่นจบ

นอกจากนั้นเราสามารถกำหนดช่วงเวลาที่อยากให้เล่นซ้ำได้ กด + ที่อยู่หน้า Auto Replay จะมีช่องเวลาให้ใส่ว่าจะกำหนดให้เล่นตั้งแต่เวลาไหน ถึงเวลาไหน ใช้ปุ่มขึ้น-ลงเพื่อเลื่อนเวลา(1 sec) หรือกด Shift ด้วยขณะกดขึ้น-ลง (5 sec) ได้

หรือง่ายกว่านั้น ให้คลิกในช่อง Replay From ก่อน เมื่อเล่นวีดีโอถึงจุดที่จะให้เริ่มเล่นซ้ำ ให้กด Shift+Enter เวลานั้นจะเข้าไปในช่องนั้น จากนั้นคลิกในช่อง Play Till และกด Shift+Enter อีกครั้งเมื่อวีดีโอเล่นถึงจุดสุดท้ายที่อยากให้เล่นซ่ำ แล้วคลิปนี้จะวนซ้ำเฉพาะจุดที่กด Shift+Enter ครั้ง 1 กับครั้งที่ 2 เท่านั้น เหมาะสำหรับวีดีโอที่มีหัวท้ายที่ไม่อยากฟังหรืออยากดู

ขอให้สนุกกับการดูซ้ำครับ

Google search by image ใช้ภาพแทนข้อความในการค้นหา

Search by image หรือ การค้นหาด้วยภาพ เป็นอีกหนึ่งบริการค้นหาข้อมูลของ Google ที่ใช้ภาพแทนข้อความในการค้นหา

เราน่าจะคุ้นกับบริการของ Google gogles ที่ใช้กล้องมือถือถ่ายภาพแล้วค้นหาข้อมูลของภาพนั้นได้ทันที ถือว่าเพิ่มความสะดวกได้อย่างมาก เคยคิดว่าน่าจะใช้งานผ่านหน้าเว็บไซต์ได้บ้างนะ จนบังเอิญไปเจอ extension ของ Chrome ที่ใช้สำหรับค้นหาด้วยภาพ ก็ใช้งานมาเรื่อย แต่ช่วงเดือนที่แล้วได้ใช้งานเยอะและเห็นประโยชน์จากมันเยอะพอสมควร เลยอยากเขียนเก็บไว้

เหตุที่ได้ใช้งานการค้นหาด้วยภาพมากช่วงเดือนที่ผ่านมา คือ ได้ทั้งเขียนและรวมบทความจากหลายๆคน ซึ่งส่วนใหญ่ภาพที่ใช้ประกอบบทความจะต้องมีอ้างอิง แต่ตัวเองค้นมาเยอะรวมอยู่ที่เดียว แล้วเลือกเอาเฉพาะภาพที่เหมาะสมมาใช้ พอจะอ้างอิงก็หาไม่เจอว่าเอามาจากไหน ตัวค้นหาด้วยภาพเลยช่วยได้เยอะเลย ไม่งั้นคงงมอีกนาน

ค้นหาด้วยภาพ

โดยปกติการค้นหาภาพ ผมมักจะค้นจากหน้าหลักของ Google แล้วค่อยคลิกที่เมนู image จากผลการค้นหา คิดว่าหลายคนน่าจะเป็นเหมือนผม น้อยคนนักที่จะเข้าไปใช้งานที่หน้าหลักของการค้นหาภาพที่ images.Google.com ทำให้ไม่ค่อยรู้ว่าที่หน้านั้นมันทำอะไรได้บ้าง(ผมเป็นหนึ่งในนั้น) ความแตกต่างของการค้นที่หน้าหลัก Google กับที่หน้าค้นหาภาพ คือ นอกจากจะใช้คีย์เวิร์ดในการค้นหาได้เหมือนกัน แต่ที่หน้าค้นหาภาพ จะใช้ภาพแทนข้อความในการค้นหาได้

การใช้งานงานค้นหาด้วยภาพ

สามารถใช้งานได้ 4 ช่องทาง ผ่านทางเว็บไซต์ images.Google.com ดังนี้ครับ

  1. Drag and Drop
    Drag and Drop

    การใช้งานแบบนี้ คือ เปิดหน้าเว็บค้นหาภาพขึ้นมา แล้วลากภาพจากหน้าเว็บไซต์หรือจากเครื่องที่ต้องการค้นหารายละเอียดเกี่ยวกับภาพนั้นมาวางที่ช่องค้นหาได้เลย

  2. Upload  an image
    อัพโหลดภาพเพื่อค้นหา

    การใช้งาน ให้คลิกที่ปุ่มรูปกล้องที่ช่องค้นหา จะมีช่องให้อัพโหลดโผล่ขึ้นมาเพื่อให้อัพโหลดภาพในเครื่องของเราขึ้นไปเพื่อทำการค้นหา

    อัพโหลดภาพเพื่อค้นหา

  3. Copy and paste the URL for an image
    ใส่ที่อยู่ของภาพเพื่อค้นหา

    เมื่อเจอภาพไหนที่หน้าเว็บต้องการค้นหารายละเอียดเกี่ยวกับภาพนั้น ก็คลิกขวาที่ภาพนั้นแล้วก๊อปปี้ URL ของภาพนั้นมา จากนั้นคลิกที่ปุ่มกล้องที่ช่องค้นหา(เหมือนในข้อ 2)วางไว้ในช่องใส่ URL คลิก search ได้เลย

    ใส่ที่อยู่ของ URL เพื่อค้นหา

  4. Right-click an image on the web
    extesion

    ใช้งานผ่านทางส่วนเสริมของ Chrome หรือ Firefox เมื่อติดตั้งส่วนเสริมแล้ว เวลาคลิกขวาที่ภาพบนหน้าเว็บจะมีไอคอนค้นหาด้วยภาพมาให้คลิกใช้งานได้ทันที

    extension for Chrome

การใช้งานจริง

เกิดจากเหตุการณ์จริงครับ ผมไปอ่านเจอเว็บหนึ่งเขียนถึงเกมส์ DotA 2 ผมอยากอ่านที่ต้นฉบับของที่มาของข่าว แต่เขาไม่ได้ใส่ที่มาของเนื้อหาไว้ แต่มีภาพประกอบนั้นอยู่ เลยใช้การค้นหาด้วยภาพช่วย ถือว่าให้ผลน่าพอใจ และสะดวกดีมาก

ภาพในเนื้อหาบทความที่ไม่ได้อ้างอิงที่มา

ได้ผลการค้นหาออกมาดังนี้ครับ

ผลการค้นหา

อีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ผมประทับใจมากคือ มันค้นหาภาพที่ครั้งหนึ่งผมเคยเอามาใช้ทำภาพประกอบในปกหนังสือเมื่อ 4 ปีที่แล้ว แต่ดันไม่ได้ใส่ที่มาไว้ แต่เมื่อเร็วๆนี้อยากรู้ว่าเราเอามาจากไหน ก็ค้นเจอด้วยตัวนี้ ถ้าให้ลองค้นด้วยตัวเองคงหาไม่เจอแน่นอน เพราะไม่รู้ว่าตอนนั้นใส่คีย์เวิร์ดว่าอะไรไป

Google search by image เป็นอีกช่องทางที่ใช้ค้นหาข้อมูลที่สะดวกมาก คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับทุกท่าน และเลือกใช้ให้เหมาะสมกับงานที่ทำครับ

ดูวีดีโอแนะนำ Search by image

Google ออก extension สำหรับผู้ใช้ Chrome ช่วยบล็อคเว็บไม่พึงประสงค์

Personal Blocklist Extension for Google Chrome

ช่วงนี้มี Content farms ระบาดในโลกอินเทอร์เน็ตยากหนัก มันคือกลุ่มเว็บที่มีเนื้อหาคุณภาพต่ำ แต่ปั๊มออกมาเป็นจำนวนมาก ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อทำอันดับในการค้นหา มีธุรกิจจ้างเขียนเนื้อหาในลักษณะนี้ออกมามากมาย มันจึงกระทบกับผู้ใช้ แทนที่จะเจอเว็บที่ดี มีเนื้อหาตามต้องการ กับเจอแต่เว็บขยะ Google ก็คิดวิธีใหม่ขึ้นมา(น่าจะมีวิธีอื่นอีกมากมาย) คือให้คนที่เจอช่วยแจ้ง ช่วยกันบล็อค ด้วยการสร้างส่วนเสริมสำหรับ Google Chrome เป็นเครื่องมือช่วยให้ผู้ใช้ได้แจ้งบล็อคเว็บไซต์เหล่านั้นได้ง่ายขึ้น Google Chrome Extension ตัวที่ว่าคือ Personal Blocklist (by Google) ใครที่ใช้ Google Chrome อยู่เข้าไปติดตั้งได้เลย

วิธีการใช้งานก็ง่ายๆ เมื่อติดตั้ง ส่วนเสริมนี้แล้ว เวลาค้นข้อมูลในเว็บ Google ในส่วนของผลลัพธ์ของการค้นหาจะมีลิงค์ให้คลิกบล็อคเพิ่มเข้ามาใต้รายการเว็บไซต์ ถ้าเห็นแล้วว่ามันเป็นพวก content farms ก็คลิกบล็อคมันซะ แล้วเว็บไซต์นั้นจะไม่โผล่มาในหน้าค้นหาของคุณอีกเลย และข้อมูลส่วนนี้ที่เราคลิกบล็อคไป Google เขาจะเอาไปจัดการปรับปรุงผลการค้นหาใหม่ให้ดีขึ้น (เว็บไซต์ที่โดนคลิกบล็อคเยอะๆ คงหายไปจากผลการค้นหาเป็นแน่แท้)

เห็นว่าไม่เหมาะสมก็คลิกบล็อคมันซะ

แล้วถ้าเผลอคลิกบล็อคเว็บไซต์ธรรมดา ที่ไม่ใช่พวกเว็บ Content farms มันหายไปแล้วจะทำไง? ง่ายๆครับ เลื่อนลงไปข้างล่างสุด จะมีปุ่ม Show เว็บที่เรากดบล็อค

แสดงเว็บไซต์ที่ถูกบล้อค และยกเลิกการบล็อค

เมื่อกดมันจะแสดงจะแสดงเว็บไซต์ที่เราคลิกบล็อคออกมาในกล่องสีแดงๆ จากนั้นคลิก Unblock แล้วมันก็จะกลับมาดังเดิม นอกจากนั้นยังเข้าไปจัดการกับรายชื่อเว็บไซต์ที่เราคลิกบล็อคเพิ่มเติมได้อีกเมื่อคลิกที่ icon ของ Extension ด้านบนขวาของ Google Chrome ได้ด้วยนะ

ขอให้ค้นเจอในสิ่งที่ต้องการนะครับ

ข้อมูลจาก: https://Googleblog.blogspot.com

FeedSquares ตัวอ่าน Feed ของ Google Reader

FeedSquares extension for Google Chrome

FeedSquares เป็น Extension สำหรับ Google Chrome มันดึง Feed ใน Google Reader ของเรามาแสดงในแบบที่เห็นดังรูป เป็นเหลี่ยมๆ มันจะดึงเว็บที่ unread เยอะๆมาไว้ตรงกลาง ส่วน folder ต่างๆที่เราสร้างไว้ก็เรียงเป็นเมนูด้านบน แถบด้านล่างเลื่อนออกซ้ายขวาได้ เวลาคลิกที่กล่องสี่เหลี่ยมจะขึ้น list มาให้ดู แล้วก็เลือกดูตามต้องการได้ อ่านได้ แชร์ได้ Mark all as read ได้ ผมชอบการออกแบบการแสดงผลของมัน ดูเท่ดี คิดว่าน่าจะเหมาะกับคนที่มี Feed เข้ามารายวันสัก 100-200 อัน กำลังดี มีเวอร์ชั่นบน Android ด้วยนะ

ใครสนใจอยากลองเล่น ก็ติดตั้งแล้วคลิกเล่นดูได้เลยครับ ส่วนรายละเอียดวิธีการใช้แบบละเอียดดูได้ที่ https://blog.rocketinbottle.com

Sharkzapper for Google Chrome ตัวควบคุม Grooveshark

Sharkzapper for Google Chrome

Sharkzapper เป็น Extension สำหรับ Google Chrome ใช้ควบคุม Grooveshark จากหน้าไหนก็ได้ สะดวกดี ใครยังไม่รู้จักเว็บฟังเพลงออนไลน์ Grooveshark เคยเขียนแนะนำไว้นิดหน่อยที่ Grooveshark ฟังเพลงสากลออนไลน์

วิธีใช้งานก็ง่ายๆ เข้าไปที่ Grooveshark แล้วเปิดเพลงอย่างที่เคยเปิด จากนั้นก็ซ่อนๆมันไว้ เล่นเว็บอื่นๆไปเรื่อย เมื่อต้องการควบคุมการ หยุด เล่น เลื่อนเพลง คลิกชอบ บันทึกเข้า Playlist ก็ทำผ่านทาง extension ตัวนี้ได้ สะดวกดีเหมือนกันนะเวลาเปิดหน้าเว็บไว้เยอะๆ

ดาวน์โหลดและติดตั้ง คลิกเลย Sharkzapper

Exit mobile version