Die STAR TREK Physik (ฟิสิกส์ในสตาร์เทรค)

วันนี้เดินผ่านร้านหนังสือพบหนังสือที่น่าสนใจมากครับ เรื่อง “Die STAR TREK Physik” (ฟิสิกส์ในสตาร์เทรค) ของ Prof.Dr. Metin Tolan อยากอ่านมาก น่าจะสนุกๆแน่ๆเลย ทำให้จินตนาการถึง The Science of Interstellar ที่เอาเนื้อหาในหนังมาอธิบายในเชิงวิทยาศาสตร์ เสียดายมีแต่ภาษาเยอรมัน ซึ่งตอนนี้อ่อนมากๆ น่าจะมีเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษบ้าง

Die STAR TREK Physik (ฟิสิกส์ในสตาร์เทรค)

เพื่อนบอกว่านักเขียนท่านนี้เป็นอาจารย์ที่นี้นะ(Technischen Universität Dortmund) ผมนี่ตาลุกวาวเลย แล้วก็เหลือบไปเห็นป้ายโฆษณา มีพบปะนักเขียนด้วย เพื่อนบอกว่าเคยเรียนกับอาจารย์ด้วยสอนสนุกดี เขาเอาบางเคสที่เขียนในหนังสือมาสอนด้วยนะ นอกจากนี้ อาจารย์ยังมีหนังสือ อื่นๆ อีกด้วย

-Die Physik des Fußballspiels อธิบายหลักฟิสิกส์เกี่ยวกับการเล่นฟุตบอล
-Titanic: Mit Physik in den Untergang อธิบายหลักการฟิสิกส์เกี่ยวกับการจมของเรือไททานิค
-James Bond und die Physik อธิบายหลักการฟิสิกส์ในหนังเจมส์ บอนด์

นักเรียนที่นี้น่าจะสนุกกับเรียนหนังสือเนอะ (โคตรอิจฉาเลย)

ลิงค์รายชื่อหนังสือใน Amazon https://goo.gl/DCbpEk

สัญญาณบอกเวลาที่เยอรมัน

เหตุเกิดจากเพื่อนในเล็บเดินถือนาฬิกาไปมา เหมือนดังเราเดินหาคลื่นโทรศัพท์ประหนึ่งยุคมือถือ 2G จึงเกิดความสงสัยเลยถามกึ่งหยอกไปว่า

“เดินหาคลื่นหรือ?”
เพื่อนตอบ “ใช่ กำลังเดินหาสัญญาณ”
ตอนแรกนึกว่าเพื่อนอำเล่น “ตลกแล้ว หาคลื่นให้นาฬิกาเนี้ยนะ”
เพื่อนตอบ “ใช่ ไม่แน่ใจว่า สัญญาณไม่ดีหรือมันพัง” สีหน้าจริงจัง

จึงได้คุยถึงรายละเอียดต่างๆกัน มันเป็นคลื่นจริงๆครับ ที่เยอรมันมีการส่งคลื่นของสัญญาณนาฬิกาบอกเวลาจากหอส่งสัญญาณกระจายไปทั่วประเทศประหนึ่งเดียวกับคลื่นมือถือ หรือคลื่นโทรทัศน์นั้นแหละครับ

(ก็ตรูมาจากประเทศกำลังพัฒนาไม่มีอะไรแบบนี้หรอก)

German longwave time signal

รู้จักในชื่อสัญญาณ DCF77 ครับ อ่านใน wiki ได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/DCF77 เป็นสัญญาณนาฬิกาที่อ้างอิงกับนาฬิกาอะตอมอีกทีครับ แม่นยำในระดับ 10^-19 วินาที กันเลยทีเดียว แล้วส่วนใหญ่ในนาฬิกาของที่นี้จะมีตัวรับสัญญาณติดมาด้วยครับ เพื่อรับเอาสัญญาณเวลามาใช้งาน เรียกได้ว่านาฬิกาตรงกันทั่วทั้งประเทศกันเลยทีเดียว คงไม่มีช่วงเวลาเพลงชาติแข่งกันจบก่อนหลังเหมือนของไทยเป็นแน่แท้(ถ้ามีเปิดเพลงชาติเช้าเย็นเหมือนเรานะ) แล้วประโยชน์ของมันนอกจากจะให้เวลาที่ตรงกันทั้งประเทศแล้ว

สัญญาณนี้ยังมีประโยชน์เอาไว้ใช้สำหรับการปรับเวลา Daylight saving time (DST) ของยุโรปอีกด้วย โดยจะปรับให้เร็วขึ้น 1 ชั่วโมงในช่วงหน้าร้อน และปรับกลับมาปกติในช่วงหน้าหนาวอีกที จุดประสงค์เพื่อต้องการให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากแสงอาทิตย์ที่ขึ้นเร็วในช่วงหน้าร้อนให้ได้มากที่สุด ปีนี้เพิ่งปรับไปเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2016 ที่ผ่านมานี้ นาฬิกาที่อยู่ตามสถานีรถไฟต่างๆก็ปรับตามโดยอัตโนมัติ ถ้าต้องมาปรับกันเองคงลำบากกันน่าดู

พูดแล้วก็อยากให้บ้านเรามีแบบนี้กับเขาบ้างจัง

ลองเล่น BLE Wireless Sensor Tag Demo V1.1

เมื่อวานก่อนไปงาน Embedded World 2016 ที่ Nürnberg มาครับ งานใหญ่มาก มีบริษัทใหญ่ๆทั่วโลกมาออกบูธแสดงสินค้าและบริการของตัวเองเพียบ มีของแจกเยอะมากๆด้วย ได้ของแจกฟรีมาเยอะเลยครับ หนึ่งในนั้นที่โชว์อยู่คือ BLE(Bluetooth Low Energy) Wireless Sensor Tag เป็นของโชว์ IoT ของบริษัท TE connectivity มีบอร์ดอื่นๆอีกหลายอย่างให้เลือก แต่เลือกเอาตังนี้มาน่าจะเล่นได้เลย ส่วนบอร์ดอื่นบางอันต้องการ module อื่นเชื่อมต่ออีกที

BLE Wireless Sensor Tag Demo V1.1

สิ่งที่ BLE Wireless Sensor Tag Demo V1.1 ทำได้คือ มีเซนเซอร์ตรวจวัด Humidity, Temperature, Pressure แล้วส่งข้อมูลผ่าน Bluetooth รองรับทั้ง Android และ Windows ลองเล่นดูแล้ว ถือว่าเจ๋งมากๆ เขาเครมว่าใช้ถ่าน CR2032 ก้อนกลมๆ นั้น อยู่ได้นาน 3 เดือนเลยครับ เจ๋งดีจริงๆ

รายละเอียดทั้วไปของบอร์ด BLE Wireless Sensor Tag Demo V1.1 download link

  • Bluetooth Low Energy Tag
  • Humidity (0-100%RH)
  • Temperature (-20°C + 85°C)
  • Pressure (300 to 1200mBar)
  • Android & Windows PC compatible แต่ใน App Store ก็มีแอพให้เล่นเหมือนกันนะแต่ไม่มีเครื่องลองเลยไม่รู้ว่าใช้ได้ไหม
  • อื่นๆ มี SDK ให้เอาไปพัฒนาต่อได้ด้วย

เขียนถึง (วิเคราะห์) Sony Pictures ถูกแฮคครั้งใหญ่

Sony Pictures hack

เรียกว่าวิเคราะห์ก็เขินเกินไปที่จะเขียนแบบนั้น ไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องคอมพิวเตอร์ขนาดนั้น เลยใช้คำว่า “เขียนถึง” ก็พอแล้วกัน ข่าววงการไอทีที่ได้รับความสนใจอย่างมากในช่วงนี้คือ ข่าวบริษัท Sony Pictures ถูกแฮคคอมพิวเตอร์ทั้งระบบ เรียกได้ว่าถูกเจาะทะลุปรุโปร่ง อีเมล ระบบงาน ไฟล์หนังสมบูรณ์ที่ยังไม่ได้ฉาย บทภาพยนต์ เอกสารเจรจาธุรกิจ ข้อมูลพนักงาน เอกสารลับในบริษัท และอื่นๆอีกมากมาย เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่สำคัญและน่าติดตาม จึงอยากจะบันทึกเรื่องต่างๆในมุมมองของตัวเองเก็บไว้

มีข่าวหลายที่ตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง

https://www.engadget.com/2014/12/10/sony-pictures-hack-the-whole-story/ 

https://www.bbc.com/news/technology-30530361

https://www.blognone.com/topics/sony-pictures (ภาษาไทย)

มีหลายสำนักโยงเรื่องการแฮคครั้งใหญ่นี้กับเกาหลีเหนือ ต้นเรื่องมาจากการทำหนังเรื่อง The Interview หนังตลกเกี่ยวกับการลอบสังหารผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ Kim Jong-un และการถูกขู่ให้ระงับการฉายหนังเรื่องนี้ก่อนที่เหตุการณ์การถูกแฮคจะเกิดขึ้น ยิ่งทำให้คนเชื่อว่ามีความเชื่อมโยงกัน แม้ว่าเกาหลีเหนือจะออกมาปฎิเสธแบบกรายๆว่าไม่ใช่ แต่จากการสืบสวนมีหลายอย่างที่มุงไปที่เกาหลีเหนือเป็นส่วนใหญ่ เรื่องนี้ไม่มีทีท่าว่าจบลงได้โดยง่าย แฮคเกอร์ยังมีข้อมูลหลายอย่างที่จะนำมาเผยแพร่ต่ออยู่อีกเรื่อยๆ

นามแฝงของแฮคเกอร์ #GOP

สิ่งที่พอจะมีความคิดเห็นกับเรื่องนี้ มีดังนี้

  1. ถ้าหากเป็นเกาหลีเหนือที่ทำจริง แสดงว่าเขามีทีมผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ที่แข่งแกร่งมาก พร้อมจะทำสงครามไซเบอร์กับใครก็ได้ ที่บอกว่าพร้อมจะโจมตีใครก็ได้เพราะดูจากการเลือกเป้าหมายที่โจมตีก่อน ไม่ใช่การเจอช่องโหว่ของระบบได้ด้วยความบังเอิญ หากแต่เป็นการมุ่งโจมตีเป้าหมายที่ต้องการจะโจมตี “ถ้าคุณยังยืนยันจะทำหนังล้อเลียนผู้นำของเราคุณจะถูกโจมตี” ในยุคที่ทุกอย่างแทบจะอยู่ในคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตหมดแล้ว ทำให้การโจมตีมาจากที่ไหนก็ได้ กลายเป็นว่าเกาหลีเหนือมีกองทัพไซเบอร์ที่น่ากลัวมาก
  2. โรงหนังของดฉายหนังเรื่อง The Interviews เพราะไม่อยากเป็นเป้าโจมตี ทำให้รู้สึกว่าเราอยู่ในยุคที่การโจมตี ไม่ใช่มาจากการโจมตีทางการทหารอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว การโจมตีทางไซเบอร์ทำความเสียหายให้กับเป้าหมายอย่างสูงมาก ในขณะที่ใช้กำลังพล กำลังทรัพย์น้อยกว่ามาก และการโจมตีเป้าหมายในระยะไกลคนละซีกโลกได้โดยง่าย
  3. ประเทศเรามีการพัฒนาหรือพร้อมกับเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน เท่าที่รู้เราไม่น่าจะมีกองกำลังที่จะโจมตีใครได้หรือจะดูแลตัวเองได้เลยด้วยซ้ำ ประเทศเราก็พึ่งพาคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตอยู่ไม่น้อย ทะเบียนราช ชื่อ-ที่อยู่ของทุกคนในประเทศ ระบบภาษี ธนาคาร งานบริการอื่นๆอีกมากมาย ระบบความปลอดภัยของเราพร้อมมากน้อยแค่ไหน เป็นอีกเรื่องที่น่าให้ความสนใจเป็นอย่างมาก
  4. ถ้าหากการแฮคครั้งใหญ่นี้เกิดจากช่องโหว่ในระบบที่มีการแจ้งเตือนก่อนหน้านี้แล้ว แต่ถูกเพิกเฉย เมื่อแฮคเกอร์ใช้ช่องโหว่นั้นแฮคได้สำเร็จ ได้ข้อมูลต่างๆไปมากมาย จากนั้นแค่นำเรื่องของเกาหลีเหนือมาเป็นข้ออ้างในการกระทำครั้งนี้ “Some Men Just Want to Watch the World Burn” ก็เป็นคราวซวยของ Sony Pictures ที่ฝ่ายไอทีเพิกเฉยกับเรื่องที่สำคัญเช่นนั้น แต่อย่างไรก็ตามผู้กระทำให้ผู้อื่นเสียหายดังกล่าวก็ควรได้รับการลงโทษตามกฏหมาย

เรื่องที่พอจะคิดออกและอยากเขียนถึงก็มีเพียงเท่านี้ ตอนแรกแค่อยากจะเขียนลงทวิตเตอร์แต่เขียนไปเขียนมามันเริ่มยาวเกินไปจึงนำมาเขียนในบล็อกเก็บไว้เลยดีกว่า ถ้ามีประเด็นไหนที่คิดออกอีกจะนำมาเขียนต่ออีกทีครับ

แอพพลิเคชั่นช่วยคำนวณจำนวนเซลล์ใน Cell Counting Chamber

Cell Counting Calculator

Cell Counting Calculator เป็นแอพพลิเคชั่นเล็กๆที่เขียนขึ้นเพื่อใช้ช่วยคำนวณจำนวนเซลล์ใน Counting Chamber ซึ่งโดยปรกตินักวิจัย นักเรียน คนทำงานที่เกี่ยวข้องกับเซลล์ส่วนใหญ่จะต้องมีการนับจำนวนเซลล์กันอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่น การเลี้ยงเซลล์มะเร็งเพื่อใช้ในงานวิจัยเวลาจะนำไปทดสอบอะไรบ้างอย่าง ทดสอบยา ติดตามการแบ่งตัว จำเป็นจะต้องรู้ว่าเซลล์ที่ใช้นั้นมีจำนวนอยู่เท่าไหร่ มากน้อยเหมาะสมหรือไม่ หรือมีการเปลี่ยนอย่างไรบ้าง จึงต้องมาการนับเซลล์อยู่ตลอดแทบจะทุกกระบวนการทำงานวิจัย

คำถามต่อไปคือนับอย่างไร? ถ้าแลปไหนรวยก็มีเครื่องนับอัตโนมัติช่วยนับให้ เครื่องแพงมากและค่าใช้จ่ายต่อการนับหนึ่งครั้งก็สูงมากระดับหลักร้อยถึงหลายร้อยบาท ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันจึงยังมีการนับเองด้วยคน ผ่านทางกล้องจุลทรรศน์(เซลล์ขนาดเล็กต้องมองผ่านกล้องอีกที) โดยมีอุปกรณ์อย่างหนึ่งที่เรียกว่า Hemocytometer (ใช้นับเม็ดเลือด)หรือบางที่ก็เรียกกันว่า Counting chamber หน้าตาก็เหมือนในรูปด้านล่าง ถ้าอยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติมคลิกเข้าไปอ่านตามลิงค์ได้เลยครับ

Hemocytometer ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Hemocytometer

ใน Hemocytometer เมื่อมองผ่านกล้องจุลทรรศน์จะเห็นว่ามีกริดอยู่ด้านในแบ่งเป็นช่อง กำหนดเป็นพื้นที่ไว้ ส่วนขอบมันจะยกสูงขึ้นมาให้วางแผ่นแก้ว(cover slip) เพื่อกำหนดส่วนสูงให้ได้ 0.1 มิลลิเมตร เมื่อเรานำเซลล์ที่ละลายอยู่ในสารละลายเข้าไปในช่องว่างระหว่างแผ่นแก้วกับ chamber แล้ว เอาพื้นที่ตามตารางกริดคูณกับส่วนสูงก็จะทราบปริมาตรที่แน่นอน เมื่อนับจำนวนเซลล์จึงรู้ได้ว่าในสารละลายมีเซลล์มากน้อยเท่าไหร่ต่อหนึ่งหน่วยปริมาตร

กริดภายใน Counting chamber ภาพจาก https://www.nexcelom.com/Products/Disposable-Hemacytometer.html

อธิบายไปยึดยาวแล้ว เข้าสู่ปัญหาและเหตุผลที่ทำไมต้องทำแอพพลิเคชั่น Cells Calculator ขึ้นมา ปัญหาเริ่มจากว่าเมื่อเรานับตามพื้นที่ช่องที่แตกต่างกันปริมาตรที่ได้ก็จะเปลี่ยนไปด้วย เราต้องคำนวณปริมาตร รวมถึงคำนวณความเข้มข้นของเซลล์ที่เราอยากรู้พร้อมกันด้วย ในบางครั้งถ้าเซลล์มีความเข้มข้นสูง(หนาแน่นสูง) เราก็จะเลือกนับในช่องเล็กลง เพื่อประหยัดเวลา ลดความเมื่อยล้าของสายตา แต่ถ้าเซลล์มีความหนาแน่นต่ำก็จะเลือกนับในช่องใหญ่ขึ้นได้ เพื่อเพิ่มความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือให้กับข้อมูลที่ได้ (นับเยอะย่อมถูกต้องมากกว่า) การที่ต้องคำนวณพื้นที่ใหม่ในทุกๆครั้งที่นับ มันไม่โอเคแน่นอน บางคนก็จะทำเป็น Factor ไว้คูณกลับได้ง่ายๆ ใช้ได้ในกรณีที่นับกับเซลล์ที่มีความหนาแน่ใกล้เคียงกันทุกครั้งที่นับ แล้วเลือกนับในตำแหน่งเดิม แต่ถ้าต้องเปลี่ยนบ่อยๆ ก็ไม่โอเคแล้ว ซึ่งปัญหาดังกล่าวที่เปลี่ยนตำแหน่งพื้นที่นับบ่อยๆเกิดขึ้นกับเรา

จึงอยากได้ตัวช่วยที่สามารถให้เลือกได้ว่าจะนับตรงไหน ใส่ตัวเลขที่นับได้ เอาตัวคูณ Dilution Factor ใส่เข้าไป กดปุ่มแล้วคำนวณให้เลย อยากได้มาก น่าจะช่วยให้เราทำงานได้สะดวกขึ้นมากๆ บางครั้งการกดตัวเลขในเครื่องคิดเลขก็เกิดความผิดพลาดบ่อยๆ อยากจะลดปัญหาตรงนี้ด้วย

จึงเริ่มค้นหาแอพใน Google Play เพราะคิดว่าถ้ามีติดในมือถือน่าจะสะดวกในการใช้งาน สรุปคือไม่มี มีใกล้เคียงบ้าง แต่ไม่ใช่ในแบบที่ต้องการ สุดท้าย เมื่อไม่มีก็เขียนเองเลยสิ อยากได้แบบไหนก็เขียนเองเลย

สำหรับเราที่ไม่ใช่โปรแกรมเมอร์ พอรู้ภาษาคอมพิวเตอร์อยู่บ้าง จะให้ฮาร์ดโค้ดเลยคงอีกนานกว่าจะได้ใช้ อีกอย่างแอพฯไม่น่าซับซ้อนมากนัก จึงเลือกใช้ App Inventor เป็นตัวช่วยในการเขียน ซึ่งก็เพียงพอกับสิ่งที่ต้องการและสิ่งที่ได้มา

จึงออกมาเป็น Chamber calculator ตัวแรก ที่ช่วยให้เราทำงานได้ง่ายขึ้นมาก

Chamber calculator

ใช้ไปสักพักหนึ่ง มีคนเห็นเราใช้บอกว่าสะดวกดีขอมั้งได้ไหม ตอนนั้นมันยังเป็นแอพที่ไม่ได้จัดเรียงดีอย่างที่เห็นในรูปนะ มั่วกว่านี้เยอะ แต่ใช้งานได้ แต่พอจะเอาไปให้คนอื่นใช้เลยต้องนั่งปรับแต่งเพิ่มเติมอีกหน่อย จะได้ใช้ได้ง่ายขึ้น คราวนี้เราคิดว่าถ้าเอาไปแจกให้คนทั่วไปได้ลองใช้ดูเลยจะเป็นไง พอมีคนได้ลองใช้ก็จะได้ feedback กับมา เราก็จะได้เอามาปรับเพิ่มเข้าไปได้อีก พอมีคนเห็นพอคนได้ลองใช้ก็จะมี request เพิ่มมาว่าอยากได้ตัวนับเซลล์เป็น-เซลล์ตายที่ใช้กันบ่อยๆในงานวิจัยด้วยได้ไหม ก็เห็นว่าน่าจะทำให้แอพมีประโยชน์มากยิ่งขึ้น ก็เลยพัฒนาตัวนี้เพิ่มเข้ามาด้วยให้อยู่ในแอพเดียวกันไปเลย อยากใช้ตัวไหนค่อยสลับหน้าจอใช้งานเอา เลยได้อีกโหมดเป็นอีกโหมดคือ Viability calculator

viability calculator

ในโหมดนี้ก็มีปุ่มให้กดคลิกนับไปในตัวได้เลย ตามคำเรียกร้องของคนใช้ พร้อมเสียง และการสั่นเมื่อกดนับ ซึ่งทำให้ทำงานได้สะดวกมากยิ่งขึ้น หลังจากนั้นได้ลองปล่อยออกไปทาง Facebook ให้คนที่สนใจลองโหลดไปใช้ดูบ้าง เพราะอยากได้ feedback เอามาทำต่อให้สมบูรณ์มากขึ้นอีก ก็ได้เพื่อนๆหลายคนช่วยลองใช้ให้และได้คอมเม้นต์ที่ดีกลับมาค่อนข้างเยอะเลย และสุดท้ายเลยคิดว่าไหนๆก็ทำมาแล้วเอาขึ้น Google Play Store ไปเลยแล้วกัน เผื่อมีประโยชน์กับคนอื่นด้วย

เข้าไปโหลดแอพพลิเคชั่น Cells Calculator ได้ฟรีที่

QR Code

หลังจากปล่อยไป ก็ได้โพสให้เพื่อนๆใน Facebook ได้รู้เผื่อว่าจะมีคนสนใจ ผ่านไป 3 วัน พบว่ามีคนโหลดไปแล้วประมาณร้อยกว่าครั้ง ซึ่งก็ถือว่าเหนือความคาดหมายมาก เพราะเป็นแอพเล็กๆ ง่ายๆ และก็ค่อนข้างเฉพาะทางมากๆ มีแค่ไม่กี่คนที่จะได้ทำงานเกี่ยวกับเซลล์และไม่กี่คนจะมีโอกาสได้ใช้งานในลักษณะนี้ ถือว่าทะลุเป้าที่ตั้งไว้มากๆครับ

ส่วนวิธีใช้แบบง่ายๆก็ได้ลองอัดคลิปมาให้ได้ดูกันด้วย

วิธีการใช้แอพพลิเคชั่น Cells calculator 

รายการที่ต้องปรับปรุงเพิ่มเติม

  • เพิ่มปุ่มนับให้โหมด Chamber Calculator
  • ปรับให้เลือกช่องกริดได้หลากหลายมากขึ้น
  • เพิ่มสีสัน และภาพให้ดูน่าใช้มายิ่งขึ้น

หนังสือที่ได้จาก งานสัปดาห์หนังสือ 29 มีนาคม – 8 เมษายน 2556

หนังสือที่ได้มาจากงานสัปดาห์หนังสือ

งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 41 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 11
(41st National Book Fair and 11th Bangkok International Book Fair 2013)
ระยะเวลาแสดงงาน วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม – วันอาทิตย์ที่ 8 เมษายน 2556 
สถานที่ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ตามธรรมเนียมของเรา ไปงานสัปดาห์หนังสือแล้วก็เอามาอวดว่าเราได้หนังสืออะไรมาบ้าง ถึงแม้ว่าตอนนี้จะมีหนังสือที่ค้างอ่านอยู่แล้ว 3 เล่ม แต่มีความตั้งใจจะไปซื้อ “ไอน์สไตน์ โดย วอลเตอร์ ไอแซคสัน” แค่เล่มเดียว แต่สุดท้ายได้กลับมาหลายเล่มเลย มีหนังสือเก่าที่น่าอ่านปนอยู่ด้วย เห็นว่าราคาถูกและน่าสนใจเลยหยิบติดมือมาครับ

รายการหนังสือที่ได้มาจากงานสัปดาห์หนังสือครับ

  1. ไอน์สไตน์ โดย วอลเตอร์ ไอแซคสัน – ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ และคณะ แปล, สำนักพิมพ์เนชั่นบุ๊ค
  2. โลกเครือข่าย – รอฮีม ปรามาท, สำนักพิมพ์โพสต์บุ๊ค
  3. ชีวิตคือปาฎิหาริย์! (หนังสือเสริมกำลังใจ ชุด 8) – วินทร์ เลียววาริณ, สำนักพิมพ์ 113
  4. คดีล่าคนเจ้าชู้ (นิยายนักสืบ พุ่มรัก พานสิงค์ ชุด 5) – วินทร์ เลียววาริณ, สำนักพิมพ์ 113
  5. เซนว่าง-ว่างเซน – วินทร์ เลียววาริณ, สำนักพิมพ์ 113 (หนังสือแถม ถ้าซื้อครบ 2 เล่ม)
  6. ปฎิบัติการหนังทุนข้ามชาติ-filmvirus – สนธยา ทรัพย์เย็น, ทีฆะเดช วัชรธานินท์, สำนักพิมพ์ openbooks
  7. 151CINEMA-filmvirus – อุทิศ เหมะมูล, ธเนศน์ นุ่นมัน, สำนักพิมพ์ openbooks
  8. The Chemistry of Movie: มหา’ลัย เหมืองแร่ – ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา บรรณาธิการ, สำนักพิมพ์ openbooks
  9. โมเลกุล เปลี่ยนประวัติศาสตร์ กระดุม นโปเลียน เปลี่ยนโลก – Penny Le Couteur, Jay Burreson เขียน, ดร.ยุทธนา ตันติรุ่งโรจน์ชัย แปล, สำนักพิมพ์มติชน
  10. ฟายน์ แมน อัจฉริยะโลกฟิสิกส์ – Ralph Leighton เขียน, นรา สุภัคโรจน์ แปล, สำนักพิมพ์มติชน
  11. ฟายน์ แมน อัจฉริยะอารมณ์ดี – Ralph Leighton เขียน, นรา สุภัคโรจน์ แปล, สำนักพิมพ์มติชน

แจกแอพ WBC Counter for Android ฟรีครับ (แอพเขียนเอง)

แอพพลิเคชั่น WBCCounter

WBCCounter เป็นแอพพลิเคชั่นสำหรับมือถือ Android ครับ ไอเดียง่ายๆครับ นักเทคนิคการแพทย์จะเป็นคนแยกชนิดของเม็ดเลือดขาวจากเลือดตัวอย่างหลังจากย้อมสีแล้วโดยใช้กล้องจุลทรรศน์มองด้วยตาเปล่า อาศัยความเชี่ยวชาญ และทักษะในการคัดแยกชนิด โดยจะรายงานแยกเป็นเปอร์เซนต์ ในโรงพยาบาลทั่วไปในปัจจุบันมือเครื่องอัตโนมัติวิเคราะห์ให้อยู่แล้ว แต่วิธีมาตรฐานที่ต้องย้อมสีและดูโดยผู้เชียวชาญนั้นยังต้องทำควบคู่กันไป

เวลานับแยกชนิดของเม็ดเลือดขวาเราจะเลื่อนสไลด์ไปเรื่อยๆเมื่อเจอเม็ดเลือดขาวเราจะจำแนกชนิด และเลื่อนเพื่อหาตัวถัดไป ทำไปเรื่อยๆจนครบหนึ่งร้อยตัว จึงจะสรุปออกมาว่าในหนึ่งร้อยตัวมีเม็ดเลือดขาวชนิดต่างๆคิดเป็นร้อยละเท่าไหร่ ปัญหาคือ อยู่ในแลปจะมีเครื่องกดเหมือนเครื่องคิดเลขให้ครับ ครบร้อยมันก็จะร้องเตือน แต่ที่ทำงานไม่มีครับ จะเอามือขีดนับทีละตัวก็กะไรอยู่ มือถือก็มี แอพก็ไม่น่าจะยาก สรุปเลยเขียนมาเป็นแอพไว้ใช้เองเลยดีกว่า แต่เขียนแล้วก็อยากจะแชร์ด้วย

ขั้นตอนการเขียน

เนื่องจากเป็นแอพไม่ยากนัก ใช้ https://appinventor.mit.edu ช่วยเขียนก็เอาอยู่ เขียนไปเขียนมาเริ่มสนุก เลยเพิ่มฟีเจอร์เล็กๆน้อยๆเข้าไป เพื่อความสนุก เช่น กดแล้วมีเสียง ก็ใช้ iPod Touch อัดเสียงเพื่อนๆที่ทำงานมาใส่ ต้องขอบคุณ พี่ๆน้องๆทุกท่านมา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ เป็นเสียงดีดนิ้ว ผิวปาก อะไรทำนองนี้ ต้องลองเดาดูว่าเป็นเสียงอะไร เพิ่มกดแล้วสั่น ตอนรายงานผล บอกด้วยว่าค่าที่ได้ปกติหรือผิดปกติหรือไม่ ใช้เวลาเขียนจริงๆไม่นานประมาณ 2-3 ชั่วโมง

วิธีใช้

มันเป็นแอพสำหรับนักเทคนิคการแพทย์ คิดว่าแค่เห็นก็น่าจะใช้เป็นอยู่แล้ว แต่ก็ได้ทำลำดับบังคับอยู่นิดๆว่าต้องทำยังไงก่อน ถ้าไม่กดปุ่มนี้ก่อนก็ทำงานต่อไม่ได้ อะไรประมาณนี้

  1. โหลดโปรแกรมมาติดตั้งก่อน WBCCounter.apk ดาวน์โหลด รับรองความปลอดภัยครับ ไม่มีไวรัส ไม่มีโฆษณา
  2. ติดตั้ง แล้วเปิดแอพขึ้นมา
    แอพพลิเคชั่น WBCCounter

    ใส่ชื่อ subject, reporter อันนี้ไม่ได้บังคับใส่

  3. กด Start ต้องกดก่อน ไม่งั้นปุ่มกดนับจะไม่สามารถกดได้ แล้วเราก็พร้อมนับแล้ว

    WBCCounter เริ่มกดนับได้แล้ว

  4. เมื่อเราดูสไลด์และนับจำแนกไปเรื่อยๆจนครบ 100 ตัว โปรแกรมจะเตือนว่า “ครบแล้วครับ” และไม่สามารถกดปุ่มชนิดของเม็ดเลือดขาวได้อีก จากนั้นกดปุ่ม Report ครับ

    ครบ 100 ตัวแล้ว

  5. หน้าตาของการรายงานผลเป็นแบบนี้ครับ
    รายงานผล

    มีบอกช่วงปกติ ถ้าแสดงสีตัวอักษรเป็นสีแดง แสดงว่ามีค่าที่ผิดปกติไป

  6. กด back กลับไปหน้าที่แล้ว ถ้าจะเริ่มนับใหม่ก็กดปุ่ม Reset และกด Start เพื่อเริ่มนับใหม่อีกครั้ง

พอลองเล่นไปสักพัก ต้องมีเขียนเพิ่มอีกนิดคือ ให้มันมีปุ่มปิดเสียง กับปุ่ม undo ไว้ใช้ตอนกดผิดปุ่ม และชนิดของเม็ดเลือดขาวทั้ง 5  ชนิด จะพบได้ในคนปกติทั่วไป ซึ่งยังมีเม็ดเลือดขาวและเซล์ชนิดอื่นๆที่อาจพบได้ แต่ไม่ได้เอาเข้ามาด้วย ในอนาคตอาจทำปุ่มแยกต่างหากเข้ามาด้วย

หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับคนที่สนใจนะครับ

QRCode WBCCounter

ไปดูมาแล้ว Cloud Atlas (2012) หยุดโลกข้ามเวลา

หนังเรื่อง Cloud Atlas

Cloud Atlas (2012) ผลงานของ 3 ผู้กำกับร่วม Tom Tykwer กับ The Wachowski Brothers(Andy, Lana) สองคนหลังโด่งดังมาจาก The Matrix หนังที่เราดูหลายรอบมาก และก็ติดตามผลงานของสองพี่น้องนี้มาตลอด น่าจะเป็นอีกหนึ่งเหตุที่ทำให้สนใจ และอยากดูหนังเรื่อง Cloud Atlas มาก

Cloud Atlas เป็นหนังที่สร้างจากนิยายของ David Mitchell ในชื่อเดียวกัน ฉบับภาษาไทยแปลโดย จุฑามาศ แอนเนียน ใช้ชื่อว่า “เมฆาสัญจร” เป็นหนึ่งในหนังสือที่ต้องอ่านของผม!  หนังเล่าเรื่อง 6 เรื่อง 6 ยุคสมัย แม้แต่ละเรื่องแต่ละเหตุการณ์จะอยู่คนละช่วงเวลาแต่การกระทำของแต่ละคนส่งผลกระทบและเชื่อมโยงถึงกันอย่างต่อเนื่อง

  • เรื่องที่ 1 (คศ.1849) มหาสมุทรแปซิฟิค, เรื่องราวการเดินทางกลับบ้านของทนายหนุ่มที่กำลังป่วยหนักบนเรือ และเพื่อนใหม่คนผิวดำ
  • เรื่องที่ 2 (คศ.1936) สก๊อตแลนด์, ชายหนุ่มผู้ช่วยนักแต่งเพลง ที่เฝ้ารอผลงานที่ตัวเองสร้างขึ้นจะโด่งดัง
  • เรื่องที่ 3 (คศ.1973) ซานฟานซิสโก, เรื่องราวของนักข่าวสาวที่กำลังสืบเรื่องที่ไม่ชอบมาพากลของการควบคุมทิศทางการใช้พลังงานของคนบางกลุ่มเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง
  • เรื่องที่ 4 (คศ.2012) อังกฤษ, เจ้าของสำนักพิมพ์ในวัยชรา ที่ถูกเจ้าหนี้ไล่บี้ให้ใช้เงินที่กู้ยืมมา สุดท้ายต้องไปติดอยู่บ้านพักคนชราที่ไม่ต่างจากคุก
  • เรื่อง 5 (คศ.2144) กรุงโซล, มนุษย์สังเคราะห์ที่ทำงานเหมือนหุ่นยนต์ กับการช่วยเหลือของหนุ่มนักปฎิวัติ
  • เรื่อง 6 (คศ.2321) ฮาวาย, ยุคหลังการล่มสลายของมนุษยชาติ ชาวเผ่าหุบเขาและการมาของหญิงสาวผู้มีอุปกรณ์ที่ล้ำสมัย เพื่อจุดประสงค์บางอย่าง

หนังได้เรต 18+ มีฉากรุนแรงในบางเรื่อง การเดินเรื่องเป็นแบบสลับไปมา ตอนแรกเริ่มเดินเรื่องช้าๆ พยายามนำเราเข้าสู่เรื่องราวทั้ง 6 ซึ่งอาจทำให้บางคนเบื่อได้เลยเพราะใช้เวลานานพอสมควรเลย แต่พอเริ่มเข้าเรื่องได้ก็สนุกขึ้นเรื่อยๆ ตื่นเต้นขึ้นเรื่อยๆ หนังแต่ละเรื่องมีโทนในการเล่าที่ต่างกันนิดหน่อย บางเหตุการณ์ที่มีจุดร่วมในแต่ละเรื่องก็จะตัดสลับไม่มาสอดคล้องกัน ในทั้งหมด 6 เรื่อง บางเรื่องดูดราม่า บางเรื่องสนุกสนานและฮา บางเรื่องตื่นเต้นเป็นหนังแอคชั่นไปเลย แม้จะมีถึง 6 เรื่องดำเนินไปพร้อมกัน ตอนแรกอาจจะสับสนนิดหน่อย แต่พอเข้าใจเรื่องง ก็เปลี่ยนสนุกไปแล้ว

  • เห็นได้ชัดว่าพี่น้องวาโซวสกี้ ชอบดาราเกาหลี อย่างเช่น เรน (Speed Race, Ninja Assassin) และเรื่องนี้ดาราสาว เบย ดู นา ในบทมนุษย์สังเคราะห์ ได้บทเด่น และเธอก็ทำได้ดีทีเดียว
  • อีกคนที่ขอบอกว่าเกิดมาก Ben Whishaw ก่อนหน้านี้เจอเขาในบท Q หนัง 007 เรื่องล่าสุด Skyfall ใน Cloud Atlas เขารับบทเป็น โรเบิร์ต โฟรบิเชอร์ นักแต่งเพลง แสดงได้เด่นมาก น่าจับตามองว่าจะเป็นดาวดวงใหม่ของฮอลลีวูด
  • และ Jim Sturgess ในบทนักปฎิวัติ แฮ โจ แชง ที่คอยช่วยเหลือมนุษย์สังเคราะห์ซอนมี-451 สาวๆเห็นแล้วต้องกรี๊ดแน่ๆ
  • หนังเรื่องนี้น่าจะได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาแต่งหน้ายอดเยี่ยม (Best Makeup)
  • ทั้ง 6 เรื่องแสดงให้เห็นผลของการกระทำอย่างชัดเจน ทั้งในปัจจุบันและอนาคต และหนังก็ย้ำในจุดนี้ได้ดีมาก
  • ตอนแรกคิดว่าจะได้ดูหนังแนวระลึกชาติอะไรทำนองนั้น แต่ไม่ใช่เลย!
  • เพลง Cloud Atlas Sextet ที่เป็นเพลงสำคัญ น่าเสียดายที่ทำได้ไม่ดีนัก ไม่ติดหู จำซาวด์ของมันไม่ได้ด้วยซ้ำ
  • ตอนดูจบกลับมานั่งดูว่ามันมีกี่เรื่องย่อยกันนะ พอไล่เรียงดู ถึงได้รู้ว่ามีถึง 6 เรื่องย่อเลยหรือนี้! แต่ตอนดูหนังรู้สึกว่ามันต่อเนื่องกัน ไม่ใช่คนละเรื่องอย่างเช่นหนังที่เราเคยดู อย่างเช่น 4 แพร่ง, 5 แพร่ง อะไรทำนองนั้นครับ
  • มีเซอร์ไพรส์ตอนจบ ที่ทำให้คนดูในโรงหนังอ้างปากค้างและตบมือกันเกรียวกร้าวเลยทีเดียวครับ

สรุปเป็นหนังครบทุกรส ทั้งดราม่า ตื่นเต้น แอคชั่น เศร้า และฮา รวมกันอยู่ในเรื่องนี้ ให้คะแนน 8/10 ครับ

ขอบคุณกิจกรรมพาบล็อกเกอร์ไปดูหนังของ Nuffnang ด้วยนะครับ ดูบล็อกของ @ac_nim ที่ไปดูด้วยกันได้ที่ https://noobnim.in.th/cloud-atlas

ตัวอย่างหนังเรื่อง Cloud Atlas ฉายจริงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2555

Cloud Atlas
Cloud Atlas
Cloud Atlas
Cloud Atlas
Cloud Atlas
Cloud Atlas

รายชื่อหนังสือที่อยากอ่าน หมวดวิทยาศาสตร์ และ หมวดชีวประวัติ

รวมหนังสือวิทยาศาสตร์ที่อยากอ่าน

ขอทำลิสต์รายชื่อหนังสือไว้ดีกว่าครับ เป็นของสำนักพิมพ์มติชน ที่มีการแปลหนังสือวิทยาศาสตร์ออกมาอย่างต่อเนื่องและน่าสนใจทุกเรื่องเลย ไม่รู้ว่าสำนักพิมพ์อื่นๆมีแบบนี้บ้างหรือเปล่านะ ใครรู้ก็แนะนำบ้างนะครับ หนังสือเหล่านี้ในประเทศไทยหาอ่านยากครับ ไม่งั้นก็ต้องหาต้นฉบับบมาอ่านซึ่งเล่มหนึ่งก็แพงมาก หาซื้อยากอีกต่างหาก พอมีฉบับบแปลและราคาถูกกว่ามากอย่างนี้ไม่สนใจก็ไม่รู้จะว่ายังไงแล้ว!

ผมอยากรู้เหมือนกันว่าทำไมหนังสือเรียนของเราทำไมมันอ่านไม่สนุกเหมือนหนังสือเหล่านี้บ้างนะ ถ้าสนุกแบบนี้ตอนสอบคงได้เกรดดีกว่าที่เป็นอยู่เป็นแน่แท้

เล่มไหนที่มีและอ่านไปแล้วก็จะมาขีดทิ้งไปเรื่อยจนกว่าจะหมด ตั้งเป้าว่าจะต้องอ่านให้ครบนะ ความจริงก็ไม่ได้ฝืนบังคับใจให้อ่านสักเท่าไหร่ มันน่าสนใจจริงๆเลยอยากอ่านมากกว่า

รายการหนังสือที่อยากอ่าน (มีวิทยาศาสตร์ ชีวประวัติ และนิยายแทรกมาด้วยเล่มหนึ่ง)

  • คู่มือท่องโลกวิทยาศาสตร์ฉบับสมบูรณ์ (Science: The Difinitive Guide) 360.00 บาท
  • วิทยาศาสตร์มหัศจรรย์แห่งการค้นพบ 414.00 บาท
  • มโนทัศน์แห่งอนาคต 297.00 บาท
  • มายากลศาสตร์ 180.00 บาท
  • ประวัติย่อของกาลเวลา (A Brief History of Time) ฉบับปรับปรุง 189.00 บาท
  • คิว-อี-ดี ทฤษฎีมหัศจรรย์ของแสงและสสาร (QED: The Strange Theory of Light and Matter 153.00 บาท
  • มหัศจรรย์แห่งร่างกาย (THE ODD BODY 1) 198.00 บาท
  • ลวดลายสีสัน มหัศจรรย์วิวัฒนาการชีวิต (Endless Forms Most Beautiful) 252.00 บาท
  • มหัศจรรย์แห่งร่างกาย (THE ODD BODY 2) 216.00 บาท
  • ประวัติย่อของหลุมดำ (Black Holes and Time Warps) 360.00 บาท
  • เรื่องของเวลา (A MATTER OF TIME) 198.00 บาท
  • นวัตกรรมนาโนจากทฤษฏีสู่ชีวิตจริง (THE RISE OF NANOTECH) 216.00 บาท
  • ทอถักจักรวาล (The Fabric of The Cosmos) 360.00 บาท
  • จักรวาลคู่ขนาน (Parallel Worlds) 297.00 บาท
  • กำเนิดเอกภพ (ORIGINS) 261.00 บาท
  • ไอแซค นิวตัน มหาบุรุษโลกวิทยาศาสตร์ (Isaac Newton) 216.00 บาท
  • ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) 113.00 บาท
  • เบนจามิน แฟรงคลิน บุรุษหลายมิติ (Stealing God’s Thunder) 234 บาท
  • คลิน บุรุษหลายมิติ (Stealing God’s Thunder) 234.00 บาท
  • วิด็อค สายลับบันลือโลก 234.00 บาท
  • เลโอนาร์โด ดา วินชี วิถีอัจฉริยะ (Leonardo da Vinci : The Flights of the Mind) 360.00 บาท
  • ฟายน์แมน อัจฉริยะอารมณ์ดี (“WHAT DO YOU CARE WHAT OTHER PEOPLE THINK?”) 198.00 บาท
  • ฟายน์แมน อัจฉริยะโลกฟิสิกส์ (“SURELY YOU RE JOKING MR.FEYNMAN!”) 261.00 บาท
  • โคเปอร์นิคัส ผู้ปฏิวัติดาราศาสตร์ (The Book Nobody Read) 225.00 บาท
  • ไวโอลินของไอน์สไตน์ (Einstein s violin) 261.00 บาท
  • 30 นักประดิษฐ์ กับชีวิตนอกกรอบ 171.00 บาท
  • แฟรงก์ อบาเนล ยอดนักตุ๋น (Catch Me If You Can) 198.00 บาท
  • ผู้ชายที่หลงรักตัวเลข (The Man Who Loved Only Numbers) 189.00 บาท
  • รามานุจัน อัจฉริยะไม่รู้จบ 315.00 บาท
  • เจงกิสข่าน มหาบุรุษผู้เปลี่ยนโลก (Genghis Khan and the Making of the Modern World) 252.00 บาท
  • The Big Questions: Mathematics 20 คำถามสำคัญของคณิตศาสตร์ 207.00 บาท
  • บนเส้นทางหนังสือพิมพ์ 198.00 บาท
  • เมฆาสัญจร (CLOUD ATLAS) 342.00 บาท
  • ก้าวพ้นกรอบไอน์สไตน์(ฉบับพิเศษ) 176.00 บาท
  • เหตุผลของธรรมชาติ 195.00 บาท
  • เรื่องเล่าจากร่างกาย 275.00 บาท

last updated Apr 23, 2013

50 ปี ของการเดินเครื่อง สทน. เปิดให้บุคคลทั่วไปเยี่ยมชมเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูของจริง!

เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูของไทย

สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) หรือ สทน. ได้จัดกิจกรรมเปิดบ้าน(Open house) เชิญชวนผู้สนใจเยี่ยมชมเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย ซึ่งเป็น “เครื่องแรกและเครื่องเดียวของไทย”  เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี ของการเดินเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2505

เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยในไทยนั้นมีกำลังน้อยมากครับ เมื่อเทียบกับเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าในต่างประเทศ จึงมีความปลอดภัยสูงกว่ามาก เชื่อว่าหลายคนอาจยังไม่รู้ว่าเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูตั้งอยู่ในกรุงเทพฯของเรานี้เอง

หน้าที่หลักของเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูถูกใช้ในงานบริการประชาชน และงานวิจัยในหลายๆด้าน เช่น อุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ ยารักษาโรค อัญมณี การเกษตร ฯลฯ นับว่าตลอดเวลาที่เริ่มเดินเครื่องจนถึงปัจจุบันได้สร้างคุณประโยชน์ให้กับงานวิจัยและช่วยพัฒนาประเทศในด้านต่างๆได้มากมาย

ในโอกาสที่เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยมีอายุครบ 50 ปี สทน. จึงจัดกิจกรรมและนิทรรศการต่างๆมากมาย อาทิเช่น การจัดแสดงแกลอรี่ภาพสำคัญๆของ สทน. การจัดแสดงนิทรรศการเครื่องทางวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ที่ใช้ในปฏิบัติงานในอดีต ระบบการควบคุมความปลอดภัย ซุ้มกิจกรรมต่างๆ เกมการละเล่นพร้อมของรางวัล การแสดงบนเวที

พิเศษสุดของงานนี้! คือ การเปิดให้เยี่ยมชมเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยของจริงครับ ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสพิเศษอย่างมากที่บุคคลทั่วไปจะเข้าชมเครื่องได้ (รับประกันปลอดภัย แน่นอน!)

เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณู เครื่องแรกและเครื่องเดียวของไทย
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) ขอเชิญชวนท่านร่วมงาน ครบรอบ 50ปี การเดินเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย

รายละเอียดของงาน

50 ปี เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย กับความก้าวหน้า เทคโนโลยีนิวเคลียร์ไทย

จัดใน วันที่ 29-30 ตุลาคม 2555 ตั้งแต่เวลา 9.30-16.00น. ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าชม

งานจัดขึ้นที่ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) ถ.วิภาวดีรังสิต ติดกับ ม.กษตรศาสตร์ คลิกดูแผนที่

สำหรับผู้ที่สนใจ เดินทางไปด้วยรถสาธารณะ ใช้ BTS หมอชิต แล้วต่อด้วยรถเมย์ที่่วิ่งบนถนนวิภาวดีมุ่งหน้าไปดอนเมือง พ้นแยกงามวงศ์วาม มาประมาณ 2 ป้าย ก็จะถึงที่จัดงาน ซึ่งอยู่ระหว่าง ม.เกษตร กับ โรงงานยาคูลท์ ครับ

สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) เบอร์โทร 02-5967600 https://www.tint.or.th

แผนที่สถานที่จัดงาน

[googlemaps https://maps.google.co.th/maps/ms?msa=0&msid=213544067488530788156.0004ccf60f314bb9d6f4a&hl=en&ie=UTF8&t=m&ll=13.854226,100.56608&spn=0.004167,0.006427&z=17&output=embed&w=600&h=400]

Exit mobile version