วีธีตรวจสอบอายุของมือถือ Android แอนดรอยด์

ถ้าอยากรู้ว่ามือถือ Android แอนดรอยด์ที่ตัวเองใช้งานอยู่นั้นมีอายุเท่าไหร่แล้ว สามารถตรวจสอบวันที่เปิดใช้งานครั้งแรกได้ 2 วิธีดังนี้

วิธีที่ 1 เช็ควันที่ลงทะเบียนเข้าใช้งานผ่านทาง Google dashboard

  1. เข้าไปที่ Google dashboard เพื่อเข้าไปดูรายละเอียด ผ่านมือถือหรือเปิดผ่านเว็บก็ได้
  2. อาจจะต้องล็อกอินด้วยบัญชีของ Google
  3. เลื่อนลงไป จนเจอหัวข้อ Android (ไอคอนหุ่นกระป๋องสีเขียว)คลิกเข้าไปดู จะมีรายการอุปกรณ์ที่เปิดใช้งานอยู่ ณ ตอนนี้ รวมถึงพวกแทบเล็ตด้วยเช่นกัน (ดูที่ภาพประกอบ)
รายละเอียดของมือถือที่เปิดใช้งาน

ในตัวอย่างตรงรายละเอียดของ Registered: July 27, 2016 คือวันที่เปิดใช้งานครั้งแรก (ใกล้จะ 5 ปีแล้ว)

วิธีที่ 2 เข้าไปดูรายละเอียดของอุปกรณ์ที่ลงทะเบียนไว้ที่ Google play store

เปิดลิงค์ Google play store เพื่อดูรายละเอียด จะเจอส่วนของรายละเอียดอุปกรณ์ แสดงเป็นรายการ และวันที่เปิดใช้งานครั้งแรกจะแสดงที่ช่องสุดท้ายสุด ดูภาพประกอบ

แสดงรายละเอียดอุปกรณ์ที่ใช้ Google play

ทั้งสองวิธีตรวจสอบผ่านการใช้งานครั้งแรกในระบบแอนดรอยด์เท่านั้น ซึ่งก็เพียงพอที่จะตรวจสอบได้ว่ามือถือที่ใช้อยู่อายุกี่ปีแล้ว ยังมีอีกหลายวิธี เช่น ตรวจสอบผ่านทางเลข IMEI ซึ่งมันดูยุงยากเกิน

ถ้าอยากรู้วันที่ซื้อมาจริงๆ คงต้องไปค้นหาบิลที่จ่ายตอนซื้อ หรือดูในออเดอร์ที่สั่งซื้อในเว็บไซต์ ถ้าซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ หรือไม่ถ้าใครถ่าย unbox มือถือไว้น่าจะได้รู้วันที่เปิดกล่องจริงๆ แต่ปกติได้มือถือใหม่มาส่วนใหญ่ก็ลงทะเบียนใช้งานเลย ซึ่งก็เพียงพอสำหรับตรวจสอบอายุการใช้งานของมือถือแอนดรอยด์ที่ใช้อยู่แล้วครับ

การตรวจดูว่ามือถือของเราว่าอายุเท่าไหร่แล้ว? ยังพอใช้งานได้ไหม? ถึงเวลาจะซื้อเครื่องใหม่แล้วหรือยัง? การที่มือถือยังคงใช้งานได้ดีก็คงไม่มีเหตุผลที่จะซื้อเครื่องใหม่ แต่ในยุคที่เราทำแทบทุกอย่างผ่านมือถือ เช่น ธุรกรรมทางการเงิน อีเมล์ ข้อความ โซเชียลมีเดีย และอื่น ๆ

มือถือที่เก่าจะขาดการอัพเดทระบบความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงในการพิจารณาว่าต้องซื้อมือถือเครื่องใหม่หรือยัง โดยเฉลี่ยแล้ว ระยะเวลาในการซัพพอร์ตของ iPhone อายุประมาณ 4-5 ปี ส่วนมือแอนดรอยด์จะเฉลี่ยอยู่ที่ราว 2-3 ปีเท่านั้นขึ้นกับแบนด์และรุ่นด้วย

ถ้าสนใจเรื่องเกี่ยวกับ Android คลิกลิงค์ดูเพิ่มเติมได้ครับ

อ่าน ebook และ audiobook ฟรีออนไลน์ มากกว่า 4,000 เรื่อง

มีวิธีที่เราจะสามารถอ่าน ebook และ audiobook ได้ฟรี แบบถูกลิขสิทธิ์มาแนะนำครับ ตัวผมได้ใช้งานมาได้ราวเดือนกว่าๆ พบว่ามันดีมาก เพิ่มความสะดวกสบาย และเพิ่ม productivity ในการอ่านได้อย่างมาก เอาจริงๆ ไม่อยากแชร์ให้คนอื่นรู้ด้วยซ้ำ อยากแอบใช้งานอยู่แค่กลุ่มเล็กๆ (กลัวถูกแย่งใช้) แต่คิดไปคิดมา ยังเชื่อในสังคมแบ่งปัน เพราะมันดีจริงๆ อยากให้คนอื่นได้ลองใช้ดู เผื่อว่ามันจะขยายในวงกว้างขึ้นและเพิ่มปริมาณหนังสือและจำนวน copy ได้มากขึ้นตามความนิยม

เกริ่นมาเสียยืดยาว วิธีการที่ว่าคือ การเชื่อม application e-reader ในมือถือ หรือเทบเล็ตของเรากับห้องสมุดออนไลน์ที่เราเป็นสมาชิกอยู่ จากนั้นก็ยืม จอง หนังสือได้ในแบบเดียวกันกับที่เราไปใช้งานห้องสมุดสาธารณะทั่วไป ซึ่งต่างประเทศจะมีห้องสมุดที่สามารถเชื่อมเข้ากับระบบได้เยอะมาก มีเกือบจะทุกเมืองที่สามารถทำได้ โชคดีมากๆที่ในไทยก็มีห้องสมุดออนไลน์แห่งหนึ่งนั้นคือ TK Park ที่สามารถเชื่อมกับระบบได้ และฟรีค่าสมาชิกอีกด้วย

Libby free ebook and audiobook online

หวังว่าห้องสมุดของไทยที่อื่นๆเช่น ห้องสมุดสาธารณะ หรือ ห้องสมุดของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ จะเพิ่มเข้ามาในระบบได้ในอนาคต อีกอย่างต้องยอมรับว่าระบบอ่าน ebook ของไทยค่อนข้างแย่ และหนังสือที่อ่านได้ก็จำกัดมากๆ การใช้ระบบนี้จึงถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะเพิ่มโอกาสให้คนทั่วไปเข้าถึงและอ่านหนังสือได้มากขึ้น

ขั้นตอนการใช้งาน

  1. ให้ไปสมัครสมาชิกห้องสมุดออนไลน์ของ TK park สมัครได้ฟรี ไว้ก่อนเพราะจำเป็นต้องใช้ในขั้นตอนการเชื่อมต่อกับระบบ
  2. ดาวน์โหลด application ที่ชื่อ Libby มาติดตั้งให้เรียบร้อย มีทั้งฝั่ง Apple และ Google
  3. เข้าไปเพิ่ม สมาชิกห้องสมุด ใน Add A Library ในแอพโดยใช้รายละเอียดของ TK park ที่เราสมัครไว้แล้วตามข้อ 1
  4. เลือกหนังสือที่อยากอ่าน ที่มีมากกว่า 4,000 รายการ มีหนังสือทั้งเก่าใหม่ มีทั้งแบบหนังสือ เสียง และภาพ ยืมได้ไม่เกิน 4 เล่ม (ถ้าเกินโควต้าก็คืนเล่มที่ยืมก่อนแล้วค่อยยืมเล่มใหม่) ยืมได้เล่มละ 2 สัปดาห์ จองคิวได้ 2 เล่ม

ขอให้สนุกกับการอ่านหนังสือออนไลน์ ที่สำคัญใหม่ เยอะและฟรีด้วย

ตัวอย่างหนังสือที่สามารถยืมอ่านได้
หนังสือมีให้เลือกหลากหลายแนว

สนใจบทความเกี่ยวกับหนังสือตามอ่านได้ที่หัวข้อ หนังสือ ได้ครับ

Google Photos จะไม่ฟรีแล้ว ทำยังไงดี?

จากกรณีที่ Google Photo จะเลิกให้ backup ภาพฟรีแล้ว ตามนโยบายใหม่ ที่จะเริ่มใช้งานในกลางปีหน้า https://blog.google/products/photos/storage-changes/

ความจริงแล้วรูปที่จะอัพโหลดขึ้น Google Photos ได้ฟรีนั้นจะต้องเป็นภาพที่ขนาดไม่เกิน 16 MP ถ้าเกินกว่านั้นก็จะนับรวมกับ Google Storage ที่เรามี ถึงจะอัพโหลดภาพที่ใหญ่กว่านั้นขึ้นไป ก็ยังมี tool ที่สามารถย่อให้กลับให้มาอยู่ในขนาดที่กำหนดได้ แต่หลังจาก 1 มิถุนายน 2021 ปีหน้า บริการที่ว่านี้จะหมดลง ทำให้รูปที่อัพโหลดขึ้นไปหลังจากนั้นจะถูกคิดพื้นที่ทั้งหมด และจะให้พื้นที่ฟรีเริ่มต้น 15 GB

Google Photos จะไม่สามารถ backup ภาพได้ฟรีแล้ว


ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับตัวเองโดยตรงคือ Google Photos ที่ใช้อยู่ปัจจุบันถูกใช้เป็นคลังเก็บรูปทั้งหมด แม้ว่ารูปที่อยู่ในคลัง ณ ตอนนี้จะยังอยู่ อันนี้ถือว่าโอเคมากๆ แต่ต้องมาคิดว่าในอนาคตจะทำยังไงต่อไป

จำนวนภาพที่เก็บไว้ใน Google Photos

ต้องคำนวณดูก่อนว่าที่ผ่านมาตลอด 5 ปีใช้พื้นที่ในการเก็บรูปไปประมาณเท่าไหร่ จะได้คำนวณพื้นที่เก็บในอนาคต ได้ถูกต้อง ณ ปัจจุบันคำนวณโดยคร่าวๆ จากปริมาณรูปและขนาด พบว่าใช้พื้นที่เก็บรูปไปประมาณ 380 GB โดยเฉลี่ยภาพ 3 ปีหลังจะต้องใช้พื้นที่ในการเก็บเพิ่มขึ้นประมาณ 100 GB ต่อปี

พอได้ความต้องการโดยคร่าวๆแล้วมาดูว่าจะจัดการกับภาพในอนาคตอย่างไรดี

ตัวเลือกที่ 1 ซื้อพื้นที่เพิ่มจาก google ซึ่งจะใช้รวมกับ Gmail, Drive, Photos ราคาดังนี้
-100 GB ราคา 70 บาทต่อเดือน (700 บาทต่อปี)
-200 GB ราคา 99 บาทต่อเดือน (990 บาทต่อปี)
-2 TB ราคา 350 บาทต่อเดือน (3500 บาทต่อปี)
ถ้าจะซื้อเป็นรายปีก็จ่ายในราคา 10 เดือน
ถ้าเลือกตัวเลือกนี้ ตัวเลือก 100 GB น่าจะพอในปีแรก แล้วค่อยอัพเกรดในปีต่อๆไป

ตัวเลือกที่ 2 ตอนนี้เป็นสมาชิก Amazon Prime ยังใช้งานได้
สามารถใช้พื้นที่ได้แบบไม่จำกัด โดยจ่ายค่าสมาชิกรายปี 69 Euro (2,500 บาท) ตอนนี้ถูกใช้เป็นพื้นที่เก็บภาพไฟล์ RAW เป็นส่วนใหญ่ ถ้าจะย้ายการเก็บภาพทั้งหมดมาไว้ที่นี้ แต่ความสะดวกก็จะลดลงนิดหน่อย เมื่อเทียบ Google photos
และอีกอย่างการเป็นสมาชิก Amazon Prime แต่ไม่ได้ใช้สิทธิการส่งของฟรี รู้สึกเหมือนว่าความคุ้มค่าจะลดลง ถึงจะยังได้ Free Video, E-book, Photos อยู่ก็ตาม

สรุป จ่าย 700 บาทต่อปีสำหรับ 100GB และยกเลิก Amazon Prime น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ทั้งๆที่เงินก็ไม่ได้มากมายอะไร แต่พอต้องจ่ายในสิ่งที่ไม่เคยจ่ายดันรู้สึกแพงขึ้นมาซะงั้น แต่รอดูสถาการณ์เมื่อใกล้ถึงกำหนดอีกว่า จะเปลี่ยนใจหรือไม่

ปล. ใครมีบริการอื่นๆ อยากแนะนำ บอกกันมาได้นะครับ

Google Pixel Buds หูฟังแปลภาษาแบบ real-time ใช้กับมือถือรุ่นอื่นได้ไหม?

Google เปิดตัวผลิตภัณฑ์หลายอย่างจาก Event ในเดือนตุลาคม เอาเป็นว่าเข้าไปดูได้ที่ https://store.google.com แต่มีอย่างหนึ่งที่น่าสนใจมากจนต้องมาเขียนถึงเลย คือ Google Pixel Buds หูฟังไร้สายที่ทำงานร่วมกับมือถือเพื่อแปลภาษาแบบ real-time ทำให้คนที่คุยกันคนละภาษาสามารถคุยโต้ตอบกันได้เลย มันเจ๋งมาก

Google Pixel Buds

มันทำงานแบบไหน และเจ๋งแค่ไหนลองดูได้ที่วิดีโอสาธิตการใช้งาน

ก่อนจะกดสั่งซื้อ เลยตั้งคำถามสำคัญก่อน

  • หูฟังแปลภาษาตัวนี้ใช้กับมือถือรุ่นอื่นได้หรือไม่?
    คำตอบ: ไม่ได้

เมื่อเข้าไปดูใน รายละเอียดของ Google Pixel Buds Requirements & Specifications

  • ระบุไว้ดังนี้ ใช้สำหรับเป็นหูฟังไร้สาย Bluetooth ใช้ได้กับ
    -Android 5.0 ขึ้นไป
    -iOS 10.0 ขึ้นไป
  • ถ้าอยากใช้ผู้ช่วย Google Assistant
    -Android 6.0 ขึ้นไป
  • แต่ตัวสำคัญ ถ้าต้องใช้ Google Translate เพื่อแปลภาษาแบบ real-time (ฟีเจอร์ที่อยากใช้)
    – ต้องใช้ร่วมกับมือถือ Pixel หรือ Pixel 2 เท่านั้น

สรุปว่ามันคือ Exclusive feature สำหรับ Google Pixel Phone ใช้ได้ทั้งรุ่นแรก และรุ่น 2 แต่ไม่รองรับมือถือแอนดรอยด์รุ่นอื่น

(เสียใจ)

Google Trips แอพช่วยวางแผนก่อนเที่ยว

เมื่อสุดสัปดาห์ได้ไปเที่ยวที่เบลเยี่ยมแบบ one day trip เราไปกัน 2 เมือง คือ Bruges และ Brussels ทั้งสองเมืองเรียกได้ว่าไปเมืองท่องเที่ยวอันดับต้นๆของโลกเลยทีเดียว สวยและมีที่ท่องเที่ยวเยอะมากสำหรับวันเดียว

Grand Place in Brussels

แต่สิ่งที่อยากจะเล่าไม่ใช่เมืองที่ไปเที่ยวนะครับ แต่จะเล่าว่าได้ใช้แอพพลิเคชั่นตัวหนึ่งที่เพิ่งจะเปิดตัวได้ไม่นานนักชื่อ Google Trips เป็นช่วยตัวนำทาง ซึ่งถือว่ามันโอเคมากๆ

เมื่อเราจะไปเที่ยวเมืองๆหนึ่ง ทุกเมืองก็มักจะมี สิ่งที่ต้องทำ ที่ที่ต้องไป ร้านอาหารเครื่องดื่ม ฯลฯ ถ้าเอาแบบดั้งเดิม เราคงค้นดูในรีวิวที่คนอื่นไปมาแล้ว เอามาเล่าต่อแล้วพยายามไปตามนั้น พันทิพคงเป็นทางออก แต่ยอมรับว่าต้องเสียเวลาและพลังงานในการวางแผนเยอะ

ส่วนตัวแอพ Google Trips จะแนะนำสิ่งต่างๆเหล่านั้นให้เรา แล้วแนะนำได้ดีมากๆด้วยนะ

Google Trips – Travel Planner

Google มีฐานข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่มหาศาลอยู่แล้ว จึงสามารถแนะนำข้อมูลได้ดี(กว่าคนอื่น) นอกจากนี้ตัวฟีเจอร์ที่เยี่ยมที่สุด ที่ใช้กับทริปเบลเยี่ยมนี้ คือ โหมด offline ครับ เพราะในการเที่ยวเพียงวันเดียว ไม่อยากเปิด Data Roaming หรือซื้อซิมใหม่เพียงเพื่อจะใช้แค่วันเดียว แต่ส่วนจำเป็นที่สุดของการท่องเที่ยว คือ แผนที่ โหมด offline ที่โหลดข้อมูลต่างๆเก็บไว้ใช้ในวันเดินทาง ในตอนที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตใช้นั้น มันดีและใช้ประโยชน์ได้จริง

Google Trips – Travel Planner

ในความจริงแล้ว Google Maps มีโหมด offline เหมือนกันครับ เราสามารถโหลดแผนที่ของเมืองที่เราจะไปมาเก็บได้ แต่ Google Trips จะต่างกันตรงที่ มีการจัดทริปให้ มีการเรียงลำดับสถานที่ท่องเที่ยวในที่ต่างๆให้ พร้อมดาวน์โหลดแผนที่แบบ offline ให้ ซึ่งมันมีประโยชน์มากสำหรับการเดินเที่ยวแล้วเปิด GPS ไปด้วย ทำให้ไม่หลงทาง หรือการเลือกสถานีรถไฟที่ใกล้กับจุดต่างๆที่อยากไปก็ง่ายขึ้น และยังบอกเวลาเปิด-ปิดของสถานที่ต่างๆ รวมทั้งประมาณระยะเวลาในการเดินทางระหว่างจุดท่องเที่ยวให้

Google Trips – Travel Planner แนะนำสถานที่และร้านอาหารนิยม

ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถทำ Get direction สร้าง Route การเดินทางได้ แต่แผนที่แบบ offline พร้อมกับมีตำแหน่งสถานที่ท่องเที่ยวให้ นั้นใช้ได้จริง และมีประโยชน์มาก ใครที่ท่องเที่ยวบ่อยๆลองทดลองใช้ดูเลยครับ ใช้ดีจึงแนะนำ

ดาวน์โหลด Google Trips สำหรับ Android หรือ iOS

Wallpapers โดย Google เปลี่ยนพื้นหลังใหม่ให้มือถือในทุกๆวัน

เมื่อสัปดาห์ก่อน Google เปิดให้ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นที่ชื่อ Wallpapers สำหรับ Android ซึ่งเป็นแอพที่จะเปลี่ยนพื้นหลังของมือถือให้เราอัตโนมัติในทุกๆวัน

Daily wallpapers by Google

ผมได้ลองติดตั้งและลองใช้งานดูเกือบจะครบสัปดาห์แล้ว ชอบมากเลยมาเขียนเก็บไว้ ในตอนเช้าที่ตื่นมา มีแอบลุ้นนิดๆว่าภาพพื้นหลังวันนี้จะเป็นยังไง ในแอพ Wallpapers นั้นมีหมวดหมู่ต่างๆให้เลือกหลายอัน เช่น Earth, Landscapes, Cityscapes, Life, etc. แล้วแต่ชอบใจ

Daily wallpapers by Google

หมวดหมู่ที่ผมชอบเป็นพิเศษคือ Landscapes เพราะภาพแต่อันที่ถูกคัดมานั้น สวยงามมากๆ

มีอยู่หลายครั้งเปิดไปดูภาพในแอพ แล้วอยากรู้ว่ารายละเอียดของภาพนั้น ว่าเป็นผลงานของใคร เมื่อคลิก Explore เข้าไป เราจะเห็นรายละเอียดของคนถ่ายภาพนั้น รวมทั้งผลงานอื่นๆของเขาอีกด้วย เรียกได้ว่าเพลินดีเลยทีเดียว

Daily wallpapers by Google

อยากลองเล่นบ้างเข้าไปโหลดได้ที่ Google Play

เอาพื้นที่จาก Google Photos กลับมาใช้งาน

Google Photos ให้พื้นที่ในการเก็บภาพฟรีแบบ Unlimited ถ้าภาพขนาดไม่เกิน 16 megapixels (MP) สำหรับภาพนิ่งและ 1080p สำหรับวิดีโอ แต่ถ้าอัพโหลดภาพเกินกว่าข้อกำหนดดังกล่าวก็จะใช้พื้นที่ Google storage ของเรา

ก่อนที่ Google จะเปิดให้ผู้ใช้เก็บภาพแบบ Unlimited ผมได้อัพโหลดภาพไว้เยอะพอสมควร เลยอยากจะได้พื้นที่ส่วนนั้นกลับมา เพราะ 16 MP ถือว่าเพียงพอสำหรับการใช้งานแล้ว จะโหลดออกมาอัดเป็นอัลบั้มก็ยังคงคมชัดใช้ได้ แต่จะให้ตามไปเปลี่ยนภาพขนาด 21MP ให้เป็น 16MP ทุกภาพก็คงจะไม่ไหว เลยต้องปล่อยทิ้งไว้อย่างนั้นเรื่อยมา วันนี้เลยเอาวิธีมาบอก

Google Photos ให้พื้นที่คืนกลับมาเยอะเลย

เมื่อวานค้นไปค้นมาไปเจอว่า Google photos มีเครื่องมือที่จะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถลดขนาดภาพในพื้นที่ของเราได้ โดยการเปลี่ยน(Converting) ภาพที่ขนาดใหญ่ของเราให้เป็นภาพ High quality ที่ 16 MP แล้วให้พื้นที่ส่วนนั้นกลับมาให้เราได้ใช้งาน แล้วทำง่ายมากแค่คลิกเดียว ขั้นตอนดังนี้ครับ

  1. เข้าไปที่ลิงค์ photos.google.com/settings
  2. คลิก RECOVER STORAGE

แล้วก็รอผล ใช้เวลาในการ converting ตามปริมาณภาพที่มีครับ

Reduce the size of your photos & videos

วิธีแสดงภาพขนาดใหญ่ด้วย Google Maps Viewer

ถ้าหากต้องการแสดงภาพที่มีขนาดใหญ่มากๆ อย่างเช่น ภาพพาราโนมา ภาพแผนที่ขนาดใหญ่ สไลด์ชิ้นเนื้อที่ถ่ายแบบทั้งสไลด์ เป็นต้น ต้องการแสดงผลแบบที่เห็นภาพโดยรวมของภาพทั้งหมดก่อน และเมื่ออยากดูรายละเอียดที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น สามารถซูมเข้าไปดูได้ พูดง่ายๆคือแสดงเหมือนแผนที่ใน Google Maps เมื่อเลือกตำแหน่งที่สนใจได้แล้ว ก็สามารถซูมเข้าไปดูใกล้ๆได้ เพื่อดูรายละเอียดที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ในความเป็นจริงถ้าเราแสดงภาพที่มีความละเอียดสูงตั้งแต่แรกจะทำให้การโหลดข้อมูลทำได้ช้ามากเพราะภาพจะมีขนาดใหญ่ วิธีดังกล่าวนี้จะเลือกโหลดภาพเฉพาะส่วนที่จำเป็นมาแสดงทำให้การแสดงผลทำได้ราบรื่นกว่ามาก เช่น ถ้าหากต้องการดูพื้นที่โดยรวมทั้งหมดก็จะโหลดภาพที่มีความละเอียดต่ำมาแสดงผล ถ้าต้องการดูส่วนที่ละเอียดมากขึ้นเมื่อกดซูมระบบจะดึงภาพที่มีความละเอียดสูงกว่ามาแสดงเฉพาะส่วนตรงจุดที่เราสนใจ เมื่อเราคลิกเลื่อนตำแหน่งไปเรื่อยๆก็จะโหลดภาพส่วนนั้นเพิ่มเข้ามาแสดงผล

ตัวอย่างเว็บไซต์ที่ใช้ Google Maps Viewer มาใช้งาน มีหลากหลายเว็บไซต์ ยกตัวอย่างเช่น https://www.pathobin.com

ขั้นตอนการใช้ Google Maps Viewer แสดงภาพขนาดใหญ่

  1. ดาวน์โหลดโปรแกรม GMap Image Cutter  ลงไว้ในเครื่อง แตกไฟล์ที่อยู่ใน zip ออกมา
  2. เปิดโปรแกรมที่ชื่อ GMapImageCutter.jar ขึ้นมา ในเครื่องจะต้องมี Java ติดตั้งไว้ด้วย ถ้าไม่มีดาวน์โหลดและติดตั้งได้ที่ https://java.com/en/download/index.jsp
  3. คลิกเลือก File → Open เลือกไฟล์ภาพที่ต้องการนำมาแสดงด้วย Google Maps Viewer ในส่วนของ Max Zoom Level ควรตั้งไว้ตามค่าเดิม แต่ถ้าต้องการเพิ่มให้ซูมได้มากยิ่งขึ้นสามารถปรับเพิ่มได้ แต่ก็จะทำให้ต้องใช้เวลาในการสร้างไฟล์นานยิ่งขึ้น จากนั้นคลิกปุ่ม Create

    Gmap cutter

  4. เมื่อโปรแกรมสร้างไฟล์เสร็จแล้ว จะได้ไฟล์ HTML และโฟลเดอร์ที่เก็บภาพที่โปรแกรมสร้างขึ้นมาใหม่จำนวนจะมากน้อยตามความละเอียดที่ตั้งไว้ สามารถแสดงผลได้ทันทีโดยการคลิกเปิดไฟล์ HTML ด้วยบราวเซอร์ท่องเว็บไซต์ทั้วไป เช่น Internet Explorer, Google chrome, Safari เป็นต้น สามารถดูในแบบ Offline ได้ทันที

    ภาพที่พร้อมใช้งาน

  5. ถ้าต้องการนำภาพดังกล่าวไปแสดงบนเว็บไซต์สามารถทำได้โดยการอัพโหลดไฟล์ HTML และโฟลเดอร์ภาพขึ้นไปไว้บนเซิร์ฟเวอร์จากนั้นเรียกการแสดงผลโดยการใช้โค้ด

ยกตัวอย่างโค้ด

<iframe src="panorama.html" width="800" height="600" frameborder="0" marginwidth="0" marginheight="0" scrolling="no">
 </iframe>

หรืออัพโหลดขึ้น Dropbox ซึ่งสามารถแสดงไฟล์ที่เป็น HTML ได้เลยเช่นกัน ต้องใส่ไว้ใน public folder ยกตัวอย่าง https://dl.dropboxusercontent.com/u/1622318/Tissue-section.html

ข้อมูลจาก https://www.labnol.org

Flickr for Android ดาวน์โหลดไปใช้งานกัน

Flickr for Android

แปลกมากที่จะโหลด Flickr ลงมือถือแต่ดันฟ้องขึ้นมาว่าที่ประเทศไทยใช้ไม่ได้ ทำเอางงมากๆ ทำไมยังไม่เปิด Worldwide ทำให้เข้าไปค้นใน Google play ก็ไม่เจอ ต้องเข้าผ่านลิงค์ตรง Flickr for Android เข้าไปก็จะรู้ว่าติดตั้งไม่ได้ ใน iOS ก็ดาวน์โหลดไม่ได้เช่นกันนะ

Flickr ใน Google Play ติดตั้งไม่ได้

Flickr เป็นที่เก็บภาพถ่ายที่ให้พื้นที่ฟรีเยอะมาก 2TB บางครั้งภาพที่ต้องการเก็บแบบเต็มขนาดไฟล์ ใหญ่ๆ ก็จะเข้ามาใช้งาน Flickr บางครั้งก็อยากเข้าใช้งานผ่านมือถือ แต่ติดที่มันไม่ให้บ้านเราดาวน์โหลดผ่านทาง Google play ดังนั้นจึงได้ไปค้นหาไฟล์ APK มาติดตั้งเสียเลย

ค้นจาก Google ได้จากเว็บไซต์นี้ https://www.apk4fun.com ก็ดาวน์โหลดแล้วติดตั้งได้เลย ติดตั้งจากตัว APK ก็ใช้งานได้ดีเลยทีเดียว

ตัว Flickr for Android ก็มีฟีเจอร์ Auto Sync อยู่ด้วยซึ่งต้องระวังเรื่องการใช้ดาต้ากันให้ด้วย สามารถปิดได้ หรือเลือกให้ Sync เฉพาะตอนต่อ Wi-Fi ก็ได้ แต่ที่สำคัญกว่าคือ ค่า Privacy รูปที่ถ่ายจะเป็น Public เป็นค่าเริ่มต้น ควรเข้าไปตั้งค่าให้เหมาะสม เดี๋ยวใครที่ชอบถ่ายภาพแบบลับๆจะโชว์ให้ชาวบ้านเห็นในทันที ระบบ Auto Sync ทำงานได้ดีมาก เร็วทันใจ

Flickr for Android เมนูต่างๆ

ส่วนการใช้งานอื่นๆการถ่ายภาพ แล้วใส่ฟิวเตอร์ทำได้ง่ายและเร็ว แชร์ไปที่ Facebook, Tumblr, Twitter ได้พร้อมกันทันที ตัวแก้ไขภาพก็มีให้ใช้งานอย่างครบครันทั้งปรับสี ตัดภาพ ความสว่าง หมุนภาพ ฯลฯ

ตัวปรับแก้ไขภาพ และตัวเลือกฟิวเตอร์

ส่วนที่ใช้ปรับแต่ง แก้ไขภาพ และส่วนฟิวเตอร์ในแบบต่างๆ และการแชร์ภาพ

การถ่ายภาพ เมนูด้านขวาใส่ฟิวเตอร์ เมนูฝั่งขวาปรับแต่งภาพ และจบด้วยการแชร์ภาพ

Flickr for Android ทำให้เราสามารถเข้าถึงบัญชี Flickr ของเราได้ง่ายชึ้น และยังเป็นแอพที่ใช้ถ่ายภาพ ตกแต่งภาพ ที่ใช้ง่าย สมควรมีติดไว้ในสมาร์ทโฟนของท่านอย่างยิ่ง

ถ้าลิงค์จากด้านบนโหลดไม่ได้ คลิกโหลดจากนี้ได้ครับ Flickr for Android V3.1.3

อยากรู้ว่า รูปสวยๆรูปนั้นถ่ายด้วยกล้องอะไร เลนส์อะไร เรามีตัวช่วย

หลายๆครั้งที่เราเห็นภาพสวยๆบนเว็บไซต์ต่างๆ ก็อยากจะรู้ขั้นตอนการได้มาซึ่งภาพสวยๆอันนั้น สิ่งหนึ่งที่พอจะทำให้เราเข้าใจการทำงานของช่างภาพได้บ้าง นั้นคือเขาใช้อุปกรณ์อะไรในการถ่ายภาพนั้น(Camera Model, Flash) เลนส์อะไร(Lens Model) ความยาวโฟกัสเท่าไหร่(Focal Length) ความเร็วชัตเตอร์เท่าไหร่(Exposure Time) เปิดรูรับแสงยังไง(F Number) ISO เท่าไหร่ ถ่ายที่ไหน(GPS) เมื่อไหร่(Date, Time) ทำให้เราเข้าใจภาพนั้นมากขึ้น

ค่าต่างๆเหล่านี้มีประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ที่อยากเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านทางผลงานของช่างภาพที่เราชื่นชอบ ซึ่งค่าต่างๆเหล่านี้จะถูกฝังไว้ในไฟล์ภาพนั้นๆตั้งแต่ที่กดถ่ายภาพอยู่แล้ว รายละเอียดเหล่านี้เรียกกันว่า Exchangeable image file format หรือ EXIF รายละเอียดดูได้ตามลิงค์

โดยปกติในโปรแกรมจัดการกับรูปภาพสามารถแสดงรายละเอียดของ EXIF ได้อยู่แล้ว แม้แต่ในบริการฝากรูป Flickr, Google+Photo ก็แสดงรายละเอียดของ EXIF โดยละเอียดได้ หรือใน OS X เวลากด file info ก็แสดงรายละเอียดได้เช่นกัน

แต่ภาพที่เราจะดูเอามาเป็นแรงบันดาลใจ เอาไว้เรียนรู้ ส่วนใหญ่ก็จะอยู่บนเว็บไซต์ การใช้งานแบบ offline จึงดูไม่ค่อยสะดวกมากนักเป็นการทำงานหลายขั้นตอนกว่าจะได้เห็นข้อมูล การกดดูแบบออนไลน์ทันที จึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า จึงเอา Extension สำหรับ Google Chrome ที่สามารถคลิกดูรายละเอียดของภาพได้โดยละเอียดมาแนะนำครับ ส่วนตัวก็ใช้โดยปกติอยู่แล้ว

Exif viewer extension for Google Chrome

Exif Viewer Extension สำหรับ Google Chrome

สามารถดาวน์โหลด EXIF Viewer สำหรับ Google Chrome มาใช้ได้ตามลิงค์ เมื่อติดตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว เวลาจะใช้งานเพียงแค่คลิกขวาบนรูปภาพที่ต้องการดูรายละเอียดของ EXIF จะมีเมนู Show EXIF data อยูในรายการ ให้คลิกเมนูนี่เลย

ตัวอย่างภาพจาก https://pantip.com/topic/32715141 รูปสวยดีครับ เลยอยากรู้ว่าถ่ายด้วยกล้องอะไร

คลิกขวาที่ภาพ จะมีเมนู Show Exif Data

เมื่อคลิกเมนูดังกล่าว รายละเอียดต่างๆของ EXIF ก็จะแสดงที่ด้านขวาของจอ บอกรายละเอียดอย่างครบถ้วน

รายละเอียดของ EXIF data ก็จะปรากฏที่ด้านขวาของจอทันที

นับว่ามีประโยชน์สำหรับมือใหม่ มือสมัครเล่น ที่หัดเรียนรู้ว่ามืออาชีพอย่างมาก อย่างไรก็ตามบางทีรูปก็จะไม่มีรายละเอียด EXIF เหมือนกัน ถ้าหากคนถ่ายภาพจะลบข้อมูลตรงนี้ออกไปซึ่งก็ทำได้เหมือนกัน

EXIF Viewer ตัวนี้ช่วยให้ได้เรียนรู้วิธีถ่ายภาพผ่านทางผลงานของมืออาชีพได้เยอะมากครับ นำเอามาประยุกต์ใช้และฝึกฝนตัวเองได้ดีเลยทีเดียว ขอแนะนำให้เพื่อนๆที่อยากฝึกฝนตนเองได้ลองติดตั้งลงเครื่องไว้ใช้งานครับ

ปล. ถ้าไม่อยากกดคลิกเข้าไปในเมนู ขอแนะนำอีกตัว EXIF Reader ตัวนี้เป็น Extension เหมือนกัน แค่วางเมาส์ไว้บนภาพ รายละเอียดเบื้องต้นก็โชว์ออกมาให้เห็นแล้ว แต่รายละเอียดจะน้อยกว่า EXIF Viewer Extension

Exit mobile version