รีวิวหนังสือภาพ Darwin: An Exceptional Voyage ภาพสวย เนื้อเรื่องประทับใจ

Darwin: An Exceptional Voyage
งานเขียนของ Fabien Grolleau (Autor)
ภาพประกอบโดย Jeremie Royer (Illustrator)

หนังสือภาพประวัติเรื่องราวของดาร์วิน เป็นเรื่องราวข้อมูลเกี่ยวกับผู้คนบนเรือ การเดินทางไปเกาะและพื้นที่ต่างๆในทวีปอเมริกาใต้บนเรือ HMS Beagle ตลอดการเดินทาง 5 ปี (จากที่ตั้งเป้าไว้แค่ 2 ปี) โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างการสำรวจหมู่เกาะกาลาปากอส อันเป็นหมุดหมายสำคัญสำหรับการพัฒนาทฤษฎีวิวัฒนาการที่สำคัญอย่างยิ่งของวงการวิทยาศาสตร์โลก การพบปะกับชนพื้นเมือง รวมถึงยุคของการค้าทาสในระหว่างการเดินทางนั้นก็มีเนื้อเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อยเช่นกัน

ผู้เขียนเคลมว่า หนังสือเล่มนี้ไม่ได้ยึดกับความถูกต้องทางประวัติศาสตร์อย่างเคร่งครัด มีเติมแต่งบ้าง แต่ได้เขียนอธิบายรายละเอียดไว้ด้านหลังของเล่มแล้ว ส่วนภาพประกอบนั้นสวยมาก ลองดูตัวอย่างจากภาพบางส่วนด้านล่างได้ เหมาะมีไว้ติดบ้าน แล้วหยิบจึ้นมาอ่านเล่นบ้างบางเวลา ยิ่งอ่านให้เด็กฟังน่าจะได้รับความสนใจไม่น้อยเพราะภาพสวยน่าดึงดูด

หนังสือเล่มนี้ได้มาเป็นฉบับภาษาอังกฤษ จากที่ได้รอเป็นเวลานานเป็นปีแต่ก็ไม่มีพิมพ์เพิ่มเลย สุดท้ายเลยซื้อแบบมือสองมาแทน ฉบับภาษาเยอรมันกับฝรั่งเศสยังเห็นมีอยู่ในสต็อค

อีกเล่มที่เป็นผลงานของสองนักเขียนนี้ เรื่องของ Audubon ก็น่าสนใจเหมือนกัน

รีวิว Humble Pi, คณิตคิดพลาด: รวมเรื่องวายป่วงในวันที่คณิตศาสตร์รู้พลั้ง

Humble Pi โดย Matt Parker (คณิตคิดพลาด: รวมเรื่องวายป่วงในวันที่คณิตศาสตร์รู้พลั้ง แปลโดย สกุลรัตน์ บวรสันติสุทธิ์) เป็นหนังสือที่อ่านสนุกมากและให้ข้อมูลที่น่าสนใจของความผิดพลาดของคำนวณคณิตศาสตร์ที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความเสียหายในระดับเล็กน้อยไปจนถึงความเสียหายในระดับหายนะ

สไตล์การเขียนของคนเขียนเน้นเล่าเรื่องให้สนุกและมีอารมณ์ขันแทรกเข้ามาอยู่ตลอด ยกตัวอย่างเช่น เรื่องของการคำนวนที่ผิดพลาดทางคณิตศาสตร์ที่ง่าย ๆ ก็สามารถนำไปสู่หายนะอันใหญ่หลวง ตั้งแต่สะพานถล่ม กระจกจากตึกสูงเกิดการรวมแสงแล้วเผารถยนต์ที่จอดอยู่ถนนฝั่งตรงข้าม หายนะของสายการบิน หรือความผิดพลาดของกระสวยอวกาศสำรวจดาวอังคาร โดยเขายกเคสมาจากเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นจากหลายแหล่ง รวมถึงประสบการณ์โดยตรงของเขาเองด้วย

คณิตคิดพลาด: รวมเรื่องวายป่วงในวันที่คณิตศาสตร์รู้พลั้ง

จุดเด่นของคนเขียนคือเขาเป็นนักคณิตศาสตร์และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่เก่งมาก ทำให้เรื่องคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อนเข้าถึงได้ง่ายและน่าสนใจสำหรับผู้อ่านทุกระดับ

สรุปว่าใครก็ตามที่สนใจที่จะเข้าใจบทบาทของคณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวันและศักยภาพของคณิตศาสตร์ทั้งในด้านความช่วยเหลือและอันตราย ควรอ่าน Humble Pi อย่างยิ่ง สนุกจริง ยกให้เป็นหนังสือที่ชอบมากเล่มแรกที่ได้อ่านของปีนี้

How to use Latexdiff to mark changes to Tex documents.

Latexdiff is a tool for highlighting changes between two latex documents. So, I remind myself how to use it.

  1. install Perl click
  2. download latexdiff and unzip it into the Perl > bin folder
  3. Optional: installing the latexdiff package in MiKTek appears to work as well.

How to use it:

  1. cmd
  2. cd to file folder
  3. latexdiff oldfile.tex newfile.tex > diff.tex

Enjoy!

Ref: https://www.overleaf.com/learn/latex/Articles/Using_Latexdiff_For_Marking_Changes_To_Tex_Documents

รีวิว What if? 2 จะเกิดอะไรขึ้นถ้า…เล่ม 2

what if2 จะเกิดอะไรขึ้นถ้า…เล่ม 2

หนังสือ what If? 2 ถ้าชอบเล่มหนึ่งแล้ว คิดว่าจะชอบเล่มสองด้วยแน่นอน Randall Monroe ตอบปัญหาที่กวนส้นได้สนุกและบันเทิงสุดๆ ความแตกต่างที่เรียกว่าเป็นสิ่งเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเล่มแรกมีหลายอย่าง เช่น นอกจากจะมีการตอบคำถามหลักที่ยาวและละเอียดแบบเล่มแรก ยังมีแทรกการตอบคำถามแบบสั้นๆไว้ด้วย เหมือนให้เราได้พักเบรคจากคำถามหลัก แต่คำถามก็น่าสนใจและบ้าบอเหมือนกัน

อีกอย่างใน what if? 2 เล่มนี้ ดูเหมือนว่าเขาจะใส่ใจและจริงจังกับการหาคำตอบให้กับคำถามกวนๆมากขึ้น เราจะได้เห็นการใส่อ้างอิงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์จากหลายแหล่งมากขึ้น รวมทั้งการได้ไปคุยกับผู้เชียวชาญเฉพาะในเรื่องนั้นๆโดยตรง แทนที่จะพยายามจะตอบคำถามด้วยตัวเองคนเดียว เราจึงได้เห็นการตอบคำถามที่หลากหลายมากกว่าแค่แนวฟิสิกส์ที่เขาเชี่ยวชาญ

หนังสือ What if? 1-2 ของ Randall Monroe เป็นหนังสือที่ตอบโจทย์อ่านเอาสนุก เอาฮา หรืออ่านเอาวิธีคิดในการหาคำตอบที่มีชั้นเชิงโดยอิงความรู้ทางวิทยาศาสตร์ก็ได้ แต่ข้อควรระวังคือเราจะเอาความจริงจังและความถูกต้องมากไปไม่ได้ เพราะส่วนใหญ่จะเป็นคำตอบแค่ในเชิงสมมุติฐาน ไม่มีการทดลองจริง (ก็แน่สิ คำถามบ้าบอสุดๆ) แต่ก็ไม่ใช่การตอบแบบมั่วๆเพราะยังอิงกับความรู้และข้อมูลที่มีในปัจจุบันอยู่ด้วย มันจึงเป็นหนังสือที่อ่านสนุกแบบไม่ไร้สาระและก็ไม่จริงจังเกินไป รวมทั้งมีการ์ตูนประกอบยิ่งทำให้อ่านเข้าใจง่ายและสนุกเพิ่มขึ้นอีก

เยี่ยมชมห้องคลีนรูม สำหรับทำงานวิจัยที่ Forschungszentrum Jülich (FZJ) เยอรมนี อย่างอลังการ

สัปดาห์ก่อนได้ไปที่ Forschungszentrum Jülich (FZJ) ข้อมูลเบื้องต้นคือ เป็นสถาบันวิจัยระดับชาติของเยอรมันที่ทำวิจัยหลายด้านมาก มีพนักงานประมาณ 6,800 คน มีสถาบัน 10 แห่งและสถาบันย่อย 80 แห่ง ถือเป็นหนึ่งในสถาบันวิจัยที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ข้างในเปรียบเหมือนเป็นเมืองอีกหนึ่งเลยทีเดียว มีโรงพยาบาล มีสถานีดับเพลิง และสิ่งจำเป็นอื่นๆอยู่ภายใน

เราไปทำธุระอย่างอื่น แต่เนื่องจากว่าเพื่อนร่วมงานเคยทำงานที่นั้นและคุ้นเคยกับคนที่นั้นอย่างดี เขารู้ว่าเราสนใจงานทางด้าน Miro and Nanofabrication เลยอาสาพาทัวร์ตึกคลีนรูมของที่นั้น

Helmholtz Nano Facility (HNF) คือห้องคลีนรูมขนาด 1200 ตร.ม. ตามมาตรฐาน ISO 1-3 ทำงานตามมาตรฐาน VDI DIN 2083 และ DIN EN ISO 14644 ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 9001 ที่ศูนย์รับทั้งงานร่วมวิจัยภายในองค์กร และรับบริการภายนอกด้วย มีบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งเคยเข้ามาทำงานในนี้และบางบริษัทก็ยังเช่าห้องอยู่เพื่อทำงานวิจัยโดยใช้ Facility ของศูนย์ในการทำงาน หลายๆกลุ่มวิจัยก็ใช้ที่นี้สร้างชิพสำหรับควอนตัมคอมพิวเตอร์

ห้องคลีนรูมอธิบายให้เข้าใจง่ายๆคือห้องที่ควบคุมให้ห้องมีฝุ่นน้อยที่สุด การสร้างชิพหรือวงจรที่มีความละเอียดในระดับนาโน อนุภาคที่ปนเปื้อนเพียงเล็กน้อยก็ทำให้อุปกรณ์ที่สร้างอยู่เสียหายได้ จึงจำเป็นต้องสร้างห้องที่มีฝุ่นปนเปื้อนในอากาศให้น้อยที่สุด (ความจริงควบคุมหมดทั้ง อนุภาค ความชื่น อุณหภูมิ แรงดัน ทิศทางและการไหลของอากาศ)

คลีนรูมของที่นี้ต้องเรียกว่าอลังการมาก อาจเรียกได้ว่าทั้งตึกเป็นส่วนหนึ่งของคลีนรูม โดยสร้างตึกขึ้นมาครอบตึกอีกทีเพื่อให้สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมภายในได้ดียิ่งขึ้น เราจึงสามารถเดินชมห้องได้โดยรอบผ่านตรงจุดเชื่อมตึกที่ครอบและตึกด้านใน ด้านบนเป็นระบบควบคุมอากาศและอุณหภูมิ ชั้นกลางคือส่วนของห้องคลีนรูม ที่แบ่งย่อยเป็นห้องตามจุดประสงค์ในการทำงาน ด้านล่างเป็นส่วนของซัพพลาย เช่น ไฟฟ้า น้ำ แก๊ส ปั๊ม ฯลฯ เป็นระบบที่ออกแบบมาได้ดีมากๆ ลิสต์เครื่องมือมีพร้อมทุกอย่าง ตามไปดูในลิงค์ ภายในนี้สามารถออกแบบ ผลิตชิพ และร่วมทั้งทดสอบ งานจบได้ในที่นี่ เครื่องมือค่อนข้างใหม่มาก จนหลายคนที่นี้เรียกกันขำๆว่า โชว์รูมของ Oxford Instructions (บริษัทที่ออกแบบและผลิตอุปกรณ์งานทางด้านซิมคอนดักเตอร์) การได้เดินทัวร์ดูอุปกรณ์และระบบที่ออกแบบมาอย่างดีถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีทีเดียว คาดว่าน่าจะได้มีโอกาสเข้าไปใช้ Facility ของที่นี่ในอีกไม่นาน

เอาประสบการณ์มาเล่าให้ฟังประมาณนี้แล้วกันครับ

ปล. อยากเห็นศูนย์วิจัยของ TSMC จริงๆว่าจะอลังการขนาดไหนนะ

ข้อมูลเบื้องต้น
Wet bench
E-Beam Lithography
Surface characteristic
Air flow and temperature control center
ICP RIE, PECVD, SPUTTER
ปั๊มและเครื่องทำความเย็นแยกออกมาอยู่ด้านล่างของห้อง

ข้อสังเกตเมื่อ เชอร์ล็อก โฮล์มส์ ทำ fasting

ถ้าได้อ่านหนังสือชุด เชอร์ล็อก โฮล์มส์ จะพบว่านักสืบอัจฉริยะคนนี้จะอดอาหารไม่ดื่มกินอะไรเลยในช่วงที่ต้องใช้ความคิดแก้ไขคดีที่ยากและซับซ้อนมาก ๆ
เหตุผลที่เขาให้ไว้คือ สมองต้องการเลือดไปหล่อเลี้ยงสูงขึ้นในช่วงที่ใช้ความคิดหนัก ๆ ถ้ากินอะไรลงไป เลือดจะไหลไปรวมกันที่ท้องมากขึ้น และเลือดที่ไหลไปเลี้ยงสมองจะลดลง ส่งผลให้ประสิทธิภาพทางความคิดด้อยลง มีหลายคร้ังเลยทีเดียวที่เขาต้องอดอาหารติดต่อกันหลายวัน

image ref. https://en.wikipedia.org/wiki/Sherlock_Holmes

เรื่องอดอาหารแล้วความคิดเฉียบแหลมขึ้น ในทางการแพทย์จริงเท็จแค่ไหน?

หนังสือ เชอร์ล็อก โฮล์มส์ เขียนขึ้นในช่วงราว ๆ ปลายศตวรรษที่ 18 ทางการแพทย์อาจจะไม่ก้าวหน้าเท่ายุคนี้ แต่ปัจจุบันการทำ fasting มีให้เห็นกันทั่วไป (โดยเฉพาะพวกสายเทคโนโลยี เขียนโค้ด ฮิตกันมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา)

ดังนั้นคาดคะแนได้ว่าท่านเซอร์ อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์ คนเขียน เชอร์ล็อก โฮล์มส์ น่าจะได้ศึกษาเรื่องนี้มาก่อน (เป็นความรู้โดยทั่วไปในยุคนั้น) หรืออาจจะทดลองทำกับตัวเองมาก่อน (เป็นความรู้ในวงจำกัด) เลยสามารถเขียนถึงได้ละเอียด

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าจะดูเฉพาะที่มีการกล่าวถึงเรื่องการอดอาหารเพื่อเพิ่มพลังความคิดของ เชอร์ล็อก โฮล์มส์ ที่ถูกเขียนไว้ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 18 จนถึงปัจจุบันก็นับได้ว่า fasting นี้ทำกันมาหลักหลายร้อยปีแล้วทีเดียว

นี้เป็นข้อสังเกตเล็ก ๆ ที่ได้จากการอ่านวรรณกรรมคลาสสิคในช่วงที่นี้

หุ่นยนต์อัตโนมัติ ต้นแบบของ Automaton ในหนัง Hugo(2012)

Artificial Intelligence: An Illustrated History

ได้อ่านอ่านหนังสือ Artificial Intelligence: An Illustrated History: From Medieval Robots to Neural Networks by Clifford A. Pickover เป็นหนังสือที่เล่าถึงการพัฒนาหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ จนถึงปัญญาประดิษฐ์ โดยเล่าย้อนตั้งแต่รากฐานของนวัตกรรมในอดีตผ่านสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ เกือบ 100 รายการที่พัฒนาต่อยอดขึ้นมากเรื่อย ๆ ตลอดช่วงเวลาระหว่าง 1300 ก่อนคริสตศักราชจนถึงยุคปัจจุบัน

Jaquet-Droz automata

สิ่งที่สะดุดตามากจนต้องหยิบมาเขียนเก็บไว้ คือ สิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า Jaquet-Droz automata ที่ถูกสร้างขึ้นโดยช่างทำนาฬิกาชาวสวิซต์ชื่อ Pierre Jaquet-Droz และลูกของเขา โดยถูกสร้างในช่วงปี 1768-1774 โดยประกอบด้วย automata ทั้งหมด 3 ตัว ได้แก่ หุ่นนักเขียน หุ่นนักดนตรี และหุ่นร่างแบบ หุ่นแต่ละตัวมีความซับซ้อนสูงมาก มีชิ้นส่วนประกอบตั้งแต่ 2,000-6,000 ชิ้นต่อตัว

ภาพวาดจากหุ่นร่างแบบ

พวกเขาสร้างขึ้นเพื่อใช้โฆษณาสำหรับขายนาฬิกาและสร้างความบันเทิงให้หมู่ชนชั้นสูงที่เป็นลูกค้า ปัจจุบันนาฬิกาแบรนด์ Jaquet-Droz ก็ยังมีอยู่นะ และที่พิเศษกว่านั้น automata ทุกตัวปัจจุบันยังทำงานได้ดี ถูกเก็บรักษาอย่างดีและเปิดให้เข้าชมได้ที่พิพิธภัณฑ์ Musée d’Art et d’Histoire of Neuchâtel ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

Hugo (2011)

เหตุที่ตัวเองสนใจ Jaquet-Droz automata เป็นพิเศษ ทั้ง ๆ ที่ในหนังสือกล่าวถึงระบบหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติอีกหลายอย่าง เพราะว่าหุ่น Jaquet-Droz ทำให้นึกถึงหนังเรื่องหนึ่งที่ชอบมาก ๆ นั้นคือ Hugo (2011) ของมาร์ติน สกอร์เซซี เป็นเรื่องของเด็กกำพร้าฮิวโก้ที่อาศัยอยู่บนหอนาฬิกาของสถานีรถไฟ และพยายามหาชิ้นส่วนเพื่อซ่อม automaton หุ่นที่เป็นเหมือนตัวแทนสิ่งที่เหลือไว้ของพ่อผู้จากไป ในท้ายที่สุดตัวหุ่นก็ถูกซ่อมให้กลับมาทำงานได้อีกครั้ง และมันก็วาดภาพฉากหนึ่งของหนังอันโด่งดัง A Trip to the Moon ของ Georges Méliès เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งตัวละครสำคัญของเรื่องเลยทีเดียว

ภาพที่ Automaton วาดออกมา

เกร็ดหลังจากได้ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ automaton ในหนัง Hugo ก็ไม่แปลกใจเลย ที่หนังเรื่องนี้ก็ได้รับแรงบรรดาลใจมาจากหุ่น Jaquet-Droz automata และหุ่นกลไกตัวนั้นถูกสร้างโดยนักสร้างพร๊อพ Dick George และมันสามารถทำงานได้จริง ตัวหุ่นถูกควบคุมผ่านคอมพิวเตอร์ที่อยู่ใต้โต๊ะ มือของหุ่นถูกเชื่อมต่อกับกลไกผ่านชุดแม่เหล็ก มันสามารถวาดภาพทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบได้ แต่ใช้เวลานานถึง 46-47 นาที

อยากรู้ว่ามีใครชอบหนังเรื่องนี้เหมือนกันไหมนะ

Short book reviews: Lifespan

Lifespan: Why We Age—and Why We Don’t Have To
by David A. Sinclair

Lifespan: Why We Age—and Why We Don’t Have To

Short reviews:
This book reveals the theory about “Aging is a disease”, which means it is treatable. The main problem of aging is the loss of information. Dr. Sinclair believes that if DNA is a form of digital information, and aging is caused by the loss of analog information known as the epigenome that is decoded from digital information.

To understand that, you can imagine listening to music. CD represents digital information, and the sound is decoded by a CD player is physical or analog information which sometimes is imperfect. That is the loss of analog information.

For this book, you will get the knowledge of aging and Dr. Sinclair’s life at the same time. He takes us to his research to prove the concept and his passion to study this topic from the beginning. It is not a science textbook, but it is a science story. In the second part, the solutions to increase lifespan were also presented.

You can check others review in the goodreads website here and check my others short book reviews.

Zombie Makers: เรื่องราวของ “หนอนควบคุมมนุษย์”

เรื่องราวของซอมบี้ในธรรมชาติจากหนังสือเรื่อง Zombie Makers อีกเรื่อง ที่หยิบมาเล่าให้ฟัง คือ “หนอนควบคุมมนุษย์” เรื่องก่อนหน้าเป็นเรื่องของ ซอมบี้หอยทาก

ตัวละครหลักมี 3 ตัว
ผู้ร้าย: หนอนพยาธิ guinea worm หรือ Dracunculus medinensis
ผู้เคราะห์ร้าย: มนุษย์ Homo Sapiens
ผู้สมรู้ร่วมคิด: โคพีพอด copepods (คล้ายตัวอ่อนกุ้ง, แพลงค์ตอน เป็นต้น)
สถานที่เกิดเหตุ: แอฟริกา

ตัวโคพีพอดที่ติดเชื้อหนอนพยาธิ

เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อมนุษย์ดื่มน้ำที่มีตัวโคพีพอดที่ติดเชื้อมีตัวอ่อนของหนอนพยาธิ D. medinensis เข้าไป หลังจากนั้นโคพีพอดจะตายและปล่อยตัวอ่อนของหนอนพยาธิออกมา ในท้องของคน หนอนพยาธิจะเจาะเข้าไปในกระเพาะอาหารและผนังลำไส้ของของคนและเข้าไปในช่องท้อง พอตัวหนอนเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยจะผสมพันธุ์กัน แล้วหนอนตัวผู้จะตายไป ส่วนตัวเมียซึ่งอาจยาวได้ถึง 1.2 เมตร จะมุดตัวซอนไซไปอยู่ในเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังโดยเฉพาะบริเวณขา

ตัวหนอนพยาธิที่ถูกดึงตัวออกมาจากแผล

สิ่งน่าสยดสยองคือตัวหนอนพยาธิสามารถควบคุมพฤติกรรมของคนที่ติดเชื้อให้ช่วยทำให้วงจรการขยายพันธุ์ของมันสมบูรณ์ นั้นคือเมื่อหนอนพร้อมที่จะวางไข่มันจะปล่อยสารเคมีบางตัวออกมา ทำให้เกิดตุ่มขนาดใหญ่บนผิวหนัง ไม่นานแผลพุพองก็แตกออกทำให้เจ็บแสบอย่างมาก ปลายหัวของหนอนจะมองเห็นได้ตรงที่กลางแผล แต่ก่อนที่ตัวหนอนจะออกมามีอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องเกิดขึ้นก่อน…

อาการเจ็บแสบที่ผิวหนังสามารถบรรเทาด้วยการเอาลงไปแช่น้ำ ผู้ติดเชื้อจึงพยายามหาแหล่งน้ำเพื่อนำขาลงไปแช่น้ำ (กลายเป็นซอมบี้เดินหาแหล่งน้ำ) เมื่อผู้ป่วยเอาขาแช่ลงน้ำหนอนตัวเมียก็จะรู้ว่าได้เวลาโผล่ออกมาแล้ว มันจะปล่อยตัวอ่อนลงแหล่งน้ำ ตัวอ่อนจะถูกตัวโคพีพอดกินอีกครั้ง หลังจากนั้นก็พัฒนาเป็นตัวอ่อน รอให้เหยื่อคนต่อไปกลืนกินมันเข้าไปอีกครั้ง เป็นอันครบวงจรชีวิตโดยสมบูรณ์ สยอง…

สิ่งที่น่าสยดสยองมากกว่านั้น คือไม่มีวัคซีนหรือยารักษา การรักษาทางการแพทย์เพียงอย่างเดียวที่ทำได้คือพยายามดึงหนอนออกอย่างช้า ๆ และระมัดระวัง โดยจับตัวหนอนพันรอบแท่งไม้เล็ก ๆ ค่อยดึงตัวมันออกมาทีละน้อย ๆ ทุก ๆ วัน (ดูภาพและวิดีโอประกอบ) การเอาตัวหนอนออกทั้งตัวอาจใช้เวลาหลายวันบางครั้งเป็นสัปดาห์ สิ่งที่ต้องระวังคือห้ามให้ตัวมันขาดโดยเด็ดขาด หากหนอนขาดเป็นชิ้นส่วนที่หลงเหลืออยู่ภายในอาจทำให้ติดเชื้อ ส่งผลให้พิการหรืออาจเสียชีวิตได้ สยอง…

แต่การป้องกันทำได้ง่ายมากๆ เพียงดื่มน้ำที่ผ่านการกรองด้วยผ้าบางธรรมดาก็ปลอดภัยแล้ว ในปัจจุบันเป็นที่น่ายินดีมาก หลังจาการต่อสู้และรณรงค์ให้ความรู้กันอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 80s ที่มีรายงานการติดเชื้อมากกว่า 3.5 ล้านรายในแอฟริกา แต่ในรายงานล่าสุดในปี 2018 มีรายงานการติดเชื้อเพียง 8-10 รายเท่านั้น เรียกได้ว่าตอนนี้เรากำลังนับถอยหลังโลกที่ปราศจากไอ้โรคหนอนซอมบี้นี้แล้ว (โล่งอกไปที)

จากหนังสือเรื่อง Zombie makers: true stories of nature’s undead / by Rebecca L. Johnson.

วิดีโอการต่อสู้กับหนอนพยาธิในแอฟริกา

อ้างอิง
https://youtu.be/8nOuAUfXjzQ?t=116
https://www.who.int/dracunculiasis/disease/en/
https://www.cdc.gov/parasites/guineaworm/biology.html

Zombie makers: ซอมบี้หอยทาก ยอมฆ่าตัวตาย

เรื่องราวของซอมบี้หอยทาก (snail zombie) เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวของซอมบี้ในธรรมชาติจากหนังสือเรื่อง Zombie Maker มีหลายเรื่องที่น่าสยดสยองอยู่ในนั้น เช่น แมลงที่ติดพยาธิบางชนิดแล้วถูกควบคุมให้ฆ่าตัวตายด้วยการจมน้ำ หนูที่ติดเชื้อบางชนิดถูกตัดสัญชาติญาณในการกลัวแมวออกไป แล้วเดินไปให้แมวกินเฉยๆเสียอย่างงั้น เป็นต้น แต่เรื่องที่ดูน่าสนใจและอยากหยิบมาเล่าให้ฟังคือ “ซอมบี้หอยทาก”

ตัวละครหลักมี 3 ตัวละคร
ผู้ร้าย: หนอนพยาธิ ชื่อวิทยาศาสตร์ Leucochloridium paradoxum
ผู้เคราะห์ร้าย: หอยทาก ชื่อวิทยาศาสตร์ Succinea putris
ผู้สมรู้ร่วมคิด: นก
สถานที่เกิดเหตุ: ยุโรป และเอเชียเหนือ

เรื่องราวเกิดขึ้น เมื่อทากเผลอกินไข่พยาธิเข้าไป ไข่จะฝักตัวและโตในร่างกายของหอยทาก เมื่อโตถึงระดับหนึ่ง หนอนพยาธิมันจะไต่เข้ามาอยู่บริเวณตาของตัวทาก (ดูรูป) มันไม่อยู่นิ่งขยับตัวเหมือนปั๊มน้ำ (ดูในวิดีโอสยองมากๆ) สิ่งที่มันทำนอกจากนั้นคือ มันควบคุมสมองของหอยทากให้มีพฤติกรรมที่แปลกประหลาดจากหอยทากตัวอื่นๆทั่วไป คือ ทำให้มันไต่ขึ้นที่สูงโล่ง เพื่อล่อให้นกเห็นได้ง่ายขึ้น ประหนึ่งว่าเรียกร้องให้นกมากิน (ฆ่าตัวตายชัดๆ) แล้วเมื่อนกกินหอยทากพร้อมหนอนเข้าไป สภาวะต่างๆในลำใส้ของนกเหมาะสำหรับวางไข่ของหนอนตัวนี้อย่างมาก หนอนวางไข่ จากนั้นนกจะขี้ที่ปนไข่ของหนอนพยาธิออกมา แล้วทากตัวอื่นที่ไต่ไปมาบริเวณนั้นกินขี้นกเข้าไป วงจรก็จะครบสมบูรณ์อีกครั้ง

เป็นธรรมชาติที่น่าขนลุกอย่างมาก มีเรื่องที่น่าสนใจอีกหลายเรื่องตามไปอ่านได้ที่หนังสือเรื่อง Zombie makers: true stories of nature’s undead / by Rebecca L. Johnson.

หนอนพยาธิที่อยู่ส่วนตาของหอยทาก
วิดีโอเล่าเรื่องซอมบี้หอยทากจาก National Geographic

Exit mobile version