หนังสือที่ได้จาก งานสัปดาห์หนังสือ 18-28 ตุลาคม 2555

เวลาที่ใช้ในการอ่านหนังสือของผมส่วนใหญ่จะอยู่บนรถระหว่างการเดินทางไปทำงาน ช่วงหลังๆที่ผ่านมาได้กำจัดกองหนังสือที่ต้องอ่านลงไปได้บ้าง แต่มันไม่เคยหมดเลย มีแต่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่อย่างน้อยอัตราการซื้อใหม่กับอัตราการอ่านอยู่ในภาวะที่สมดุล แต่ทุกๆ 2 ครั้งต่อปี จะมีเหตุการที่ทำให้สมดุลเสียไปบ้าง คือ สัปดาห์หนังสือ ที่เราจะได้หนังสือในกองต้องอ่านเพิ่มขึ้นมา

งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 17
จัดในช่วงวันที่ 18-28 ตุลาคม 2555 เวลา 10.00-21.00 น.
ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 

หนังสือที่ได้จาก งานสัปดาห์หนังสือ 18-28 ตุลาคม 2555

รายการหนังสือที่ได้

ส่วนใหญ่เป็นหนังสือ World Science Series ของสำนักพิมพ์มติชน ซึ่งเราค่อนข้างประทับในหนังสือในซีรี่นี้ที่เคยอ่านมาก่อนหน้านี้คือ ควอนตัมจักรวาลใหม่ นาโนเทคโนโลยี เลยวางใจได้ว่าซื้อมาแล้วน่าจะอ่านสนุก ไปงานครั้งนี้จึงตั้งใจจะไปดูหนังสือพวกนี้อยู่แล้ว

  1. ประวัติย่อของกาลเวลา (A Brief History of Time) – สตีเฟ่น ฮอว์กิ้ง, ดร.อรรถกฤต ฉัตรภูติ, ดร.ปิยบุตร บุรีคำ แปล
  2. ประวัติย่อของเอกภพ (The grand design) – สตีเฟ่น ฮอว์กิ้ง/เลียวนาร์ด มลอดิโนว์, รศ.ดร.ภาณุ ด่านวานิชกุล แปล
  3. ไอแซค นิวตัน มหาบุรุษโลกวิทยาศาสตร์ (Isaac Newton)-เจมส์ เกล็ก, ดร.ปิยบุตร ฉัตรภูติ แปล
  4. E=mc2 ชีวประวัติสมการปฏิวัติโลก – David Bodanis,  รศ.ดร. ภาณุ ด่านวานิชกุล แปล
  5. ฉีกขนบแอนิเมชั่น: เอกลักษณ์ของ ฮายาโอะ มิยาซากิ นักฝันแห่งโลกตะวันออก – นับทอง ทองใบ
  6. เส้นสมมุติ (รวมเรื่องสั้นแนว สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน) – วินทร์ เลียววาริณ
  7. ร้อยคม (รวมเรื่องสั้นหักมุมจบ ชุดที่ 2)– วินทร์ เลียววาริณ
  8. เล่านิทานเซ็น – อ.อภิปัญโญ

รวมแล้วค่าเสียหายประมาณ 1,400 บาท ส่วนใหญ่ลดราคาประมาณ 15-20% ซึ่งเช็คดูกับราคาสั่งออนไลน์แล้วที่งานสัปดาห์หนังสือถูกกว่า จึงตัดสินใจซื้อที่งานสัปดาห์หนังสือครับ

ส่วนเพื่อนๆได้เล่มไหนไปบ้าง แชร์ให้ดูบ้างครับ

หนังสือ โลกใหม่ อ่านแล้วครับ

 

หนังสือ โลกใหม่

ชื่อหนังสือ โลกใหม่
เขียนโดย รอฮีม ปรามาท
304 หน้า พิมพ์ครั้งที่ 1 : 2554
สำนักพิมพ์ Post Book
ราคา 285 บาท

เคยอ่านหนังสือของคุณรอฮีม ปรามาท เมื่อนานมาแล้วครับ ในชื่อเรื่อง “เอกภพ สรรพสิ่ง และมนุษยชาติ” เป็นอีกเล่มที่อ่านสนุก ยอมรับว่าการเลือกหนังสือช่วงหนึ่งค่อนข้างต้องดูชื่อคนเขียนเป็นพิเศษ เพราะเคยผิดหวังกับการดูปกกับเนื้อหาที่คำนำ พอซื้อมา อ่านได้ไม่ถึง 5 หน้าก็ต้องโยนทิ้งให้ไกลตัว อย่างคำคมที่ว่า “A bad book is like a bad friend, who may kill you : หนังสือที่ไม่ดีก็เหมือนกับเพื่อนเลวๆ ซึ่งอาจสังหารคุณได้” 

ดังนั้นมีนักเขียนเพียงแค่ไม่กี่คนที่เราเลือกหยิบได้โดยไม่ต้องคิดมากนัก รอฮีม ปรามาท คือหนึ่งในนั้น ซึ่งช่วงหลังๆมีผลงานแปลเล่มหนาๆออกมาเยอะเหมือนกัน แต่ยังไม่มีโอกาสได้อ่านในอนาคตอันใกล้คงจะได้อ่าน

หนังสือ โลกใหม่  เป็นหนังสือรวมบทความเกี่ยวกับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในทุกๆ ด้าน เป็นการแปลมาจากบทความสั้นๆของนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำระดับโลก ให้อารมณ์เหมือนการอ่านบล็อกยังไงยังงั้น สั้นๆได้ใจความ ถ้าใครเอาเข้าห้องน้ำก็อ่านจบทีละเรื่องสองเรื่องได้อย่างสบาย และเนื้อหาแต่ละบทไม่ได้รายยาวให้ต้องทำความเข้าใจต้องเนื่องกัน สรุปมันก็คือบล็อกดีๆนั้นแหละ

เนื้อหามีอยู่ 9 บท 

  • อภิแนวโน้มโลก 1980 – 2010 สามสิบปีที่เปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง
  • เรามาไกลแค่ไหน / เราจะไปยังจุดใด
  • 50 ไอเดียที่จะปฏิวัติโลกและวงการวิทยาศาสตร์ไปตลอดกาล
  • 20 สุดยอดนวตกรรมแห่งปี 2010
  • รถยนต์แห่งอนาคต
  • บ้านในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง
  • อนาคตประชาธิปไตย
  • โลกาวินาศ 30 รูปแบบ
  • 12 ปรากฏการณ์พลิกโลก

มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ชอบมากในหนังสือเล่มนี้คือการกล่าวถึงการทำนายอนาคตอันใกล้ของนักวิทยาศาสตร์ในแต่ละสาขาทุกๆ 5 ปี เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 1970 แล้ว โดยเป็นการช่วยกันทำนายสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตโดยมีผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขามาช่วยกันเขียนและช่วยกันโหวต เป็นการทำนายที่ใช้หลักวิทยาศาสตร์ไม่ใช่หมอดูนั่งเดา ก่อนจะทำเป็นข้อสรุปออกมาตีพิมพ์แผยแพร่ มีทั้งที่ถูกและผิดปนกันไป ผลบางอันดูล้ำยุคกว่าที่เราคิด ซึ่งมันค่อนข้างกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นของเราพอควร และคอยลุ้นว่าในอนาคตอันใกล้เราจะได้เห็นสิ่งที่เขาทำนายไว้หรือเปล่า

เป็นหนังสืออีกเล่มที่อ่านสนุกครับ หลายคนอาจจะคิดว่าหนังสือที่ผมเขียนถึงบอกสนุกทุกอันเลยนะ ถูกต้องครับ! เพราะถ้าไม่ดี โยนทิ้งตั้งแต่ 5 หน้าแรกแล้วครับ!

หนังสือ ปลาที่ว่ายนอกสนามฟุตบอล (ปลาที่ว่ายในสนามฟุตบอล ภาค 2) อ่านแล้วครับ

หนังสือ ปลาที่ว่ายนอกสนามฟุตบอล

ชื่อหนังสือ ปลาที่ว่ายนอกสนามฟุตบอล (ปลาที่ว่ายในสนามฟุตบอล ภาค 2)
เขียนโดย วินทร์ เลียววาริณ
320 หน้า พิมพ์ครั้งที่ 1 : 2554
สำนักพิมพ์ 113
ราคา 215 บาท

หนังสือ “ปลาที่ว่ายนอกสนามฟุตบอล” เป็นภาคต่อของหนังสือ “ปลาที่ว่ายในสนามฟุตบอล” ซึ่งผมก็ได้อ่านมาก่อนหน้านี้แล้ว เป็นหนังสือที่อ่านสนุก เป็นการตั้งคำถาม และหาคำตอบจากความรู้ที่เรามี ณ ปัจจุบัน อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เราชอบเล่มแรก จึงไม่ค่อยลังเลที่จะอ่านเล่มที่สอง แต่ดองไว้นานมากกว่าจะถึงคิวโดนหยิบขึ้นมาอ่าน ถ้าช้ากว่านี้อาจจะหมดสนุกลงไปอีก โดยเฉพาะการตั้งคำถามเกี่ยวกับจักรวาลที่ไม่รู้ว่าชาตินี้เรา(มนุษยชาติ)จะหาคำตอบให้คำถามเหล่านั้นได้หรือไม่ แต่อย่างน้อยช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเรื่องของ Higgs boson (God(damn) particle) เพิ่งจะประกาศว่า “ถ้ามันมีจริง เราก็พบแล้ว!” ก็ช่วยเพิ่มความกระจ่างของคำถามในหนังสือเล่มนี้ได้เสี้ยวหน่อยหนึ่ง(นิดหนึ่งจริงๆ)

ขอแนะนำเลยว่าถ้าใครที่ชอบอ่านหนังสือแนวฟิสิกส์ จักรวาล มนุษย์ต่างดาว อะไรทำนองนี้ จะอ่านช่วงแรกสนุกมาก

นอกจากนี้ ยังมีคำถามเกี่ยวกับ ความเชื่อ ศาสนา การกลับชาติมาเกิด กฏแห่งกรรม จิต และอื่นๆอีก ต้องยอมรับว่าหลายๆคำถามค่อนข้างตรงกับ คำถามในใจของผมเอง และการพยายามหาคำตอบของคุณวินทร์จากข้อมูลที่มี ณ ปัจจุบัน ก็ต้องบอกว่ายอมรับได้กับคำตอบนั้น และค่อนข้างตรงใจ ตรงกับความคิดในหัวของผมพอจะคิดได้

หนังสือเล่มนี้จะอ่านเอาเพลินๆก็ได้ หรือจะเอาไปคิดต่อให้หัวแตกไปเลยก็ยังได้ มันแตกยอดความคิดไปได้ไกลเหลือเกิน ก็เพราะมันออกนอกสนามฟุตบอลไปแล้ว ไปไกลเกินกว่าสามัญสำนึกจะจินตนาการได้

จากใจผู้เขียน(วินทร์ เลียววาริณ) : “นี่เป็นหนังสือที่ดูจะ ‘หนัก’ แต่ไม่หนักเพราะไม่ใช่ตำรา เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ที่พยายามปรุงให้เสพง่ายที่สุดแล้ว และน่าจะให้ความรู้ในเรื่องวิทยาศาสตร์สายต่างๆ ในระดับหนึ่งที่หาอ่านไม่ค่อยได้ในบ้านเรา เช่น จักรวาลวิทยา ฟิสิกส์ดาราศาสตร์ พันธุกรรมศาสตร์ ฯลฯ ไปจนถึงเรื่อง ‘อจินไตย’ ทั้งหลาย

บางส่วนเก็บความจากหนังสือต่างประเทศที่ไม่ได้รับการแปลเป็นไทย โดยตั้งใจให้เป็นหนังสือคานอำนาจทางปัญญากับหนังสือตระกูลไสยศาสตร์ที่เกลื่อนบ้านกลาดเมืองในเวลานี้!”

ผ่าตุ๊กตาบาร์บี้ดูอวัยวะภายใน

ตุ๊กตาบาร์บี้ที่น่ารักของเด็กๆ ทั้งสวยสง่า แต่งองค์ทรงเครื่องได้หลากหลายแบบ เมื่อ Jason Freeny จับตัวเธอมาผ่าดูอวัยวะภายในจะเป็นยังไง ทั้งน่ารักและน่ากลัวปนกันไป หรือถ้าคุณอยากให้ลูกหลานตัวน้อยๆของคุณเป็นหมอก็ซื้อไปให้เล่นตั้งแต่เด็กๆได้เลย โตขึ้นจะได้ชินกับอวัยวะภายใน(ฮา)

แต่ช้าก่อน นี้เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างการผ่าดู Anatomy ผลงานของ Jason Freeny เขายังผ่าตุ๊กตาตัวอื่นๆที่คุณรู้จักดี เช่น มาริโอ้ คิตตี้(ยังโดนเลย) มิกกี้เมาส์ ตุ๊กตาจาก troy story, Star wars ฯลฯ ตามไปดูผลงานของเขาได้ที่ Facebook page แสดงขั้นตอนการทำให้ดูอย่างละเอียดเลยทีเดียว หรืออยากสั่งซื้อเอามาเก็บไว้ดูเล่นก็เข้าไปที่เว็บ Moist Production (น้องบาร์บี้ยังมีแค่เวอร์ชั่น Print อยู่นะครับ)

มาดูตุ๊กตาบาร์บี้โดนผ่า อย่างน้อยผมก็รู้แล้วว่าเธอเป็นผู้หญิงแน่นอน(ฮา)

The Real Anatomy of Barbie
The Real Anatomy of Barbie
The Real Anatomy of Barbie
The Real Anatomy of Barbie
The Real Anatomy of Barbie
The Real Anatomy of Barbie
The Real Anatomy of Barbie

ที่มา: https://www.bitrebels.com  via: https://scienceroll.com

แนะนำบล็อกเกี่ยวกับ Medical Microbiology ของคนใกล้ตัว

Noobnim.in.th

ขอแนะนำบล็อกคนใกล้ตัวครับ Noobnim.in.th บล็อกของ @ac_nim แม้ว่าตอนแรกจะพยายามชักชวน ชักจูงยังไง ไม่เคยจะสนใจเขียนเลย(แรงดึงดูดไม่พอ!) สุดท้ายต้องขอบคุณบล็อกของ @khajochi https://www.khajochi.com ที่น่าจะเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้เธอลุกขึ้นมาเขียนบล็อกของตัวเองบ้าง (ก็ทั้งหวานและโรแมนติกซะขนาดนั้น) ผมเลยได้เป็นหน่วย support ให้อย่างเต็มที่ ทั้ง Domain และ Hosting ก่อนหน้าที่จะมาเป็นบล็อกส่วนตัว ให้ลองไปเขียนบน WordPress.com ก่อน ซึ่งเคยเตรียมไว้ให้นานแล้วเหมือนกัน ตอนแรกคิดว่าคงจะเห่อแค่พักๆ แต่ผ่านมา 4 เดือนกว่าแล้ว ยังเขียนอยู่เป็นระยะๆ แสดงว่าคงจุดติดไปแล้ว ในฐานะผู้สนับสนุนเลยจะช่วยโปรโมทให้อีกทางครับ

Noobnim.in.th เรื่องที่เธอเขียนเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวเธอโดยเฉพาะ(ก็มันบล็อกส่วนตัวนิ) แต่ที่เน้นสุดคงจะเป็นเรื่อง จุลชีววิทยา ทางการแพทย์ (Medical Microbiology) ในระดับ Advanced สุดๆ เอาไว้อ่านเตรียมสอบกันเลยทีเดียว แต่คนที่สนใจทั่วไปรู้เรื่องชีววิทยาบ้างก็อ่านสนุกได้เหมือนกันครับ บางเรื่องที่น่าสนใจผมก็ขออนุญาติเอาไปลงไว้ที่ Biomed.in.th เหมือนกัน แต่เราๆท่านๆอาจจะต้องทำความเข้าใจเป็นพิเศษสำหรับบ้างเรื่อง แต่ผมว่านี้คือสิ่งสำคัญนะ เมื่อบล็อกมันก็เหมือไดอารี่ส่วนตัวของเรา เราเน้นเขียนเตือนความจำตัวเอง พูดง่ายๆคือ เขียนให้ตัวเองอ่าน ส่วนการเปิดให้คนอื่นเข้ามาอ่านได้ จนกระทั้งมีคนคอยติดตามอ่านตลอดนั้นเป็นผลพลอยได้ต่างหาก ยังไงซะจะต้องมีคนสนใจในเรื่องที่เราเขียน แม้มันจะเฉพาะทางมากๆก็ตาม

ส่วนเรื่องเบาๆที่น่าติดตาม เช่น ฟุตบอล หนัง นิยาย หนังสือ ก็มีให้อ่านเหมือนกันครับ

ตัวอย่างโพสที่น่าสนใจ

ขอเชิญชวนให้ติดตาม Noobnim.in.th ได้ที่

  1. URL:  www.nobnim.in.th
  2. Feed: https://feeds.feedburner.com/noobnim
  3. Twitter: @ac_nim

ปล. ใครอยากลุกขึ้นมาเขียนบล็อกของตัวเองบ้าง ผมยินดีให้คำปรึกษาเต็มที่เลยนะครับ สนับสนุนเต็มที่

เปลี่ยนความยาวคลื่นแสงเป็นโค้ดสี

บันทึกงานแบบสั้นๆเก็บไว้ครับ ปัญหาเกิดตอนที่จะทำภาพแบบ Grayscale ที่ได้จากกล้องให้เป็นภาพสี เรารู้ว่าภาพที่ได้เกิดจากแสงที่มีความยาวคลื่นเท่าไหร่ในระดับนาโมเมตร คำถามที่ตามมา คือ แล้วแสงที่มีความยาวคลื่นเท่านี้ มันเป็นสีอะไร?

แสงที่ตาเรามองเห็นมีความยาวคลื่นประมาณ 390->750 นาโนเมตร ถ้านึกไม่ออกคิดถึงแฉดสีของรุ้งกินน้ำครับ

Spectrum

ม่วง->คราม->น้ำเงิน->เขียว->เหลือง->ส้ม->แดง

ยกตัวอย่าง ถ้าหากแสงที่ความยาวคลื่น 532 นาโมเมตร ตาเรามองที่เลเซอร์ก็รู้ว่าเป็นแสงสีเขียว แล้วจะใช้โค้ดสีตัวไหนดีในขั้นตอนใส่สีถึงจะถูกต้องหรือใกล้เคียงที่สุด? (เขียวเข้ม เขียวอ่อน เขียว ฯลฯ อะไรประมาณนี้)

นึกอยู่สักพักก็ทดลองเอาแผ่น color checker ไปถ่ายภาพคู่กับแสงที่อยากรู้ เอาเข้า photoshop ปรับแสงสีให้สีใน color checker ถูกต้อง แล้วหยิบเอาสีของแสงที่ต้องการออกมา ดูว่ามีโค้ดอะไร บันทึกเก็บไว้ ภายหลังรู้วิธีที่ง่ายกว่านี้ แต่โค้ดสี RGB ที่ได้จากวิธีนี้ก็ใกล้เคียงพอสมควร แต่คงลำบากมากถ้าต้องทำหลายๆตัว และยังมีปัจจัยอื่นอีกหลายๆอย่างที่เราควบคุมได้ยาก

หลังจากนั้นเลยพยายามลองค้นหาข้อมูลดู คิดว่าเรื่องพื้นฐานแบบนี้ต้องมีคนเจอเหมือนกันสิ แล้วก็พบ เรื่องแบบนี้คนอื่นเขามีปัญหาเหมือนกัน และก็คิดทางออกไว้หมดแล้ว

Chromaticity coordinates
  • อันแรกใช้งานผ่านเว็บไซต์ได้เลยที่ Wavelength To RGB เว็บนี้ใส่ความยาวคลื่นแสงในหน่วยนาโนเมตรเข้าไป เว็บจะคำนวณแล้วรายงานรหัสสี RGB, Hex มาให้เลย ง่ายและสะดวกดี
  • มีคนทำโปรแกรมให้ใช้ง่ายๆ สำหรับ Windows ด้วยนะ ดาวน์โหลดได้ที่ wavelengthtoRGB เอา Algorithm มาจาก https://www.midnightkite.com ผลลัพท์ที่ได้ต่างกับตัวที่ใช้บนเว็บนิดหน่อย แต่ไม่ซีเรียสขนาดนั้น เพราะเราแยกสีสองอันไม่ออกหรอก!
  • มีรายละเอียดอื่นๆเกี่ยวกับ Spectrum&RGB ที่น่าสนใจ เกี่ยวกับสี วิธีการอนุมาณสีจากความยาวคลื่นในแบบต่างๆ ปัจจัยที่ทำให้สีที่ได้แตกต่างกัน ดูได้ที่ https://mintaka.sdsu.edu, https://www.fourmilab.chhttps://www.techmind.org
จบด้วยภาพเทียบระดับของ RGB, ความยาวคลื่น, สีที่มองเห็น
ความยาวคลื่นเทียบกับสีที่มองเห็น

ก่อนจะฉลาดต้องโง่ก่อนสินะ!

หนังสือ 10 สุดยอดนักฟิสิกส์โลก อ่านแล้วครับ

10 สุดยอดนักฟิสิกส์โลก

ชื่อหนังสือ 10 สุดยอดนักฟิสิกส์โลก
เขียนโดย ชัยวัฒน์ คุประตกุล
140 หน้า พิมพ์ครั้งที่ 1 : ตุลาคม 2549
สำนักพิมพ์ ประพันธ์สาส์น
ราคา 85 บาท

หนังสือเล่มเล็กๆ อ่านง่าย เป็นประวัติสั้นๆกับสิ่งที่เขาค้นพบ นักฟิสิกส์ส่วนใหญ่ที่เรารู้จักดีอยู่แล้วจะมีเนื้อหาแนะนำเพียงเล็กน้อย ส่วนคนที่ไม่คอยเป็นที่รู้จักในวงกว้างจะเพิ่มเนื้อหาเยอะเป็นพิเศษ ในตอนท้ายมีประวัติของนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ ไอแซค นิวตัน กับการค้นพบของเขา ที่มีเนื้อค่อนข้างเยอะและอ่านเพลิน เมื่ออ่านการค้นพบของนักวิทยาศาสตร์ผู้ที่เรียกได้ว่าการค้นพบของเขาเปลี่ยนโลกได้ เรามักจะอึ้ง ทึ่ง ตะลึง ว่าพวกเขาคิดได้ยังไง? ในบทสรุปของคำพูดของไอแซค นิวตัน ตอบคำถามนี้ได้อย่างดี คือ

ในสมองของเขาไม่เคยว่างเปล่า เขาจะมีปัญหาที่ต้องขบคิดอยู่ตลอดเวลา และเมื่อเขากำลังคิดแก้ปัญหาใดๆก็ตามอยู่ เขาก็จะพิจารณาคิดหาทางแก้ปัญหาอย่างไม่ยอมหยุดยั้ง เพราะเขามิได้แก้ปัญหาโดยรอให้เกิดความคิด มองเห็นลู่ทางขึ้นมาเอง หรือโดยบังเอิญ เขาจะโจมตีปัญหานั้นอย่างไม่ยอมหยุดยั้ง จนกระทั้งได้คำตอบ

มันคือ ความพยายาม สินะ!

อ้อ มีอีกอย่างหนึ่ง นักฟิกส์คนอื่นๆที่น่าสนใจดูที่ wiki รวบรวมไว้อย่างดีเลย https://en.wikipedia.org/wiki/Physicist

 

ไปดูมาแล้ว The Amazing Spider-Man (2012)

The Amazing Spider Man

The Amazing Spider Man (2012) หนังไอ้แมงมุมฉบับรีบูต ตีความกันใหม่ตั้งแต่ต้น โดย มาร์ค เว็บบ์ ทำให้เหมือนฉบับการ์ตูนมากกว่าฉบับแรกโดย แซม ไรมี แต่ให้ตายสิเราชอบทั้งสองแบบ!

  • หนังดูสนุก แต่มีอยู่แว่บหนึ่งเข้ามาให้หัวตอนเริ่มเรื่องที่รู้สึกว่าเดินเรื่องช้าจัง แล้วมันก็หายไป
  • นักแสดงที่รับบทเป็นสไปเดอร์แมนฉบับนี้คือ แอนดริว การ์ฟิลด์ (ยังจำเสียงของเขาตอนร้องเรียก มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ค ใน The social network ได้ติดหูอยู่เลย) ผมชอบ รูปร่าง ผอม สูง และบุคคลิกแบบนี้มากกว่าฉบับแรก ขี้เล่น มันดูเหมือนในการ์ตูนมากกว่า โทบี้ แม็คไกวร์ รูปร่างออกจะเตี้ยล่ำไปนิด
  • ในฉบับใหม่นี้ ลุงเบ็นผ่าน แต่ป้าเมย์ไม่ผ่าน เราชอบฉบับแรกมากกว่า ผมขาวและดูอบอุ่นมากกว่า
  • ชอบเครื่องยิงใยแมงมุม มากกว่าใยที่ออกมาจากตัว
  • บอกที่มาของชุดสไปเดอร์แมนชัดเจนกว่าฉบับแรก
  • มีฉากอลังการ ในตอนท้ายที่ทำให้ขนลุกได้กัน เหมือนฉากที่ผู้คนในรถไฟยกสไปเดอร์แมนลอยเนื้อหัวหลังจากเขาช่วยหยุดรถไฟไม่ให้ตกลางในสไปเดอร์แมน ภาค 2 ของเวอร์ชั่นแรก
  • ตัวร้ายลิซาร์ด(กิ้งก่ายักษ์) คือ ดร.เคิร์ท คอนเนอร์ เพื่อนของพ่อปีเตอร์ พาร์คเกอร์ เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่เชื่อในสิ่งที่ตัวเองคิดว่าถูกต้อง มีสองบุคคลิก(ดี/ชั่ว)ภายในตัว คุยกับตัวเอง คล้ายๆกับตัวร้าย ด๊อกออค ในสไปเดอร์แมน ภาค 2 เวอร์ชั่นแรก
  • ทั้งสไปเดอร์แมน และลิซาร์ด ใช้เวลาในการกลายสภาพเร็วมาก ไม่กี่ชั่วโมง (จากคนปกติเป็นอะไรที่พิเศษ) หลังจากโดนแมงมุมกัดกับฉีดยาเข้าไป
  • หนังทำฉากต่อสู้ได้สนุก ตื่นเต้น โดยเฉพาะสู้กับลิซาร์ดในโรงเรียน ได้เห็นทักษะการต่อสู้ของสไปเดอร์แมนที่ทำตัวเหมือนแมงมุมจริงๆอย่างที่ไม่เคยเห็นในหนังทั้งสามภาคก่อนหน้านี้ (ห่อคู่ต่อสู้ด้วยใยแมงมุม)
  • มีฉากฮาๆปนอยู่นิดหน่อย
  • นางเอก เกว็น สเตซี่ (เอ็มม่า สโตน จำเธอในบทนักเขียนเรื่องคนใช้ผิวสีใน The Help ได้ไหม) สวยมาก ในฉบับการ์ตูนเป็นแฟนคนแรกของปีเตอร์และโดนคนร้ายฆ่า ก่อนที่ปีเตอร์จะมาพบเอ็มเจภายหลัง
  • มีฉากหลังเครดิต เกริ่นการนำเข้าภาคต่อไป คือ นอร์แมน ออสบอร์น กรีนกอบลินคู่ปรับตลอดการของสไปเดอร์แมน ทำให้นึกถึงหนังชุดของมาร์เวลสตูดิโอ ซึ่งตอนนี้ลิขสิทธิ์สไปเดอร์แมนยังอยู่ที่โซนี่พิคเจอร์ และยากที่จะหลุดมือไปได้ง่ายๆ แม้จะมีโอกาสอันน้อยนิดที่จะได้ไปรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ The Avengers แต่ก็อยากให้เกิดขึ้นจริงๆนะ
  • คะแนน 8/10 ตัดไม่ชอบป้าเมย์ เดินเรื่องช้านิดหนึ่งตอนต้น

ดูตัวอย่างหนัง The Amazing Spider Man (2012)

ตัวอย่าง The Amazing Spider Man (2012 ) ฉากแกล้งเพื่อนนักบาสเก็ตบอล

ตัวอย่าง The Amazing Spider Man (2012) ฉากหนีการล้อมจับของตำรวจ

ตัวอย่าง The Amazing Spider Man (2012) ฉากช่วยเด็กบนสะพาน

ฉากยังไม่รู้ตัวว่าตัวเองได้พลังแมงมุมมา
เกวน สเตซี่ แฟนสาวสุดสวยของปีเตอร์ พาร์คเกอร์
ปีเตอร์ พาร์คเกอร์ ในชุดสไปเดอร์แมน เท่ และเกรียนมาก
ลุงเบ็น กับป้าเมย์
พ่อของปีเตอร์ พาร์คเกอร์ นำเขามาทิ้งไว้กับลุงและป้า แล้วจากไปพร้อมกับแม่ แล้วก็ไม่กลับมาอีกเลย
ปีเตอร์ พาร์คเกอร์ ในหนังไม่ใส่แว่นนะ ใส่คอนแทคเลนส์
ต่อสู้กับวายร้ายมาอย่างหนักหน่วง สไปเดอร์แมนสะพายเป้ เท่มาก
ดร.เคิร์ท คอนเนอร์ พิการมีแขนข้างเดียว เขาพยายามสร้างแขนใหม่ให้ตัวเองด้วยการนำความสามารถของอีกสปีซี่หนึ่งมาให้อีกสปีซี่ เขาเอาความสามารถในการงอกหางใหม่ของสัตว์เลื่อยคลานมาเพิ่มความสามารถให้กับตัวเอง ผลค้างเขียงทำให้กลายเป็นลิซาร์ด
ปีเตอร์ พาร์คเกอร์ กับลุงและป้าในบ้าน ตอนค้นพบกระเป๋าลับของพ่อ
บาดเจ็บจากการต่อสู้ แวะมาให้แฟนสาวช่วยดูแล
เกวน สเตซี่ ในฉากหลังงานศพ(ของใครไปดูเอง)
ปีเตอร์ พาร์คเกอร์ ในชุดออกไล่ล่าคนที่ฆ่าลุงเบ็น
พ่อของเกวน นายตำรวจคนดี ที่ต้องการจับสไปเดอร์แมน และก็บอกเหตุผลที่แทงใจดำปีเตอร์มากว่า การจับผู้ร้ายขโมยรถของเขาไม่ได้ช่วยเหลืออะไรตำรวจเลย!
แฟนสาวนเกวน สเตซี่ เรียนในห้องเรียนเดียวกัน
แอบมาฝึกทักษะ แต่พ่นใยแมงมุมเองไม่ได้นะ แต่รู้วิธีโหนแล้วเหวี่ยงตัวเองโดยบังเอิญ จึงคิดเครื่องพ่นใยขึ้นมา
ไอ้แมงมุมฉบับบนี้เกรียน และชอบแกล้งเพื่อนที่เคยทำร้ายเขากลับ
ชุดนี้เท่ไปเลย ในหนังมีเฉลยด้วยนะว่าไอ้หน้ากากที่มีตาเป็นแบบนั้นมันทำมาจากอะไร และได้แรงบันดาลใจมาจากไหน

ภาพประกอบจาก : https://www.theamazingspiderman.com

หนังสือ “The Drunkard’s walk ชีวิตนี้ฟ้าลิขิต” อ่านแล้วจ้า

หนังสือ The drunkard’s walk ชีวิตนี้ฟ้าลิขิต

หนังสือ The drunkard’s walk ชีวิตนี้ฟ้าลิขิต
ผู้เขียน: Leonard Mlodinow
ผู้แปล: กฤตยา รามโกมุต, นพดล เวชสวัสดิื
จำนวน 288 หน้า ราคา 250 บาท
สำนักพิมพ์ โพสต์บุ๊กส์

ค้นพบอย่างหนึ่งว่าตอนอยู่บนรถตู้ที่ต้องนั่งไปทำงานทุกวัน คือช่วงเวลาที่เราใช้อ่านหนังสือ อ่านเปเปอร์ได้เยอะเลย แถมมีสมาธิในการอ่านมากกว่าอยู่ที่ห้องหรือที่ทำงานเสียอีก ซึ่งโดยปกติแล้วการอ่านหนังสือบนรถถือเป็นเรื่องปกติที่ติดนิสัยมาตั้งนานแล้ว เพราะตัวเองอยู่บ้านนอกต้องนั่งรถไกลๆไปเรียน ช่วงเวลานั้นก็เลยไม่รู้จะทำอะไรนอกจากหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านเล่น แต่พอเข้ามาอยู่ในเมืองกรุงการใช้ชีวิตแบบนั้นเลยหายไป แล้วมันก็กลับมาอีกครั้ง เมื่อที่ทำงานกับที่นอนอยู่กันไกลมาก นอกเรื่องไปไกลแล้ว เข้าสู่เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้กันดีกว่า

หนังสือ The drunkard’s walk ชีวิตนี้ฟ้าลิขิต เป็นหนังสือวิทยาศาสตร์นะครับ ไม่ใช้เรื่องอะไรเกี่ยวกับการทำนายดวง พรหมลิขิตอะไรทำนองนั้น(แม้จะพูดถึงบ้างในตอนท้ายๆ) คนเขียนคือ เลนเนิร์ด มลาห์ดินาว เป็นนักฟิสิกส์สอนหนังสือที่สถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย เคยมีผลงานร่วมกับ สตีเฟน ฮอว์กิง ด้วยนะ(A Briefer History of Time) ในปกหลังจึงมีคำนิยมจากสตีเฟน ฮอว์กิง อยู่ด้วย แล้วยังมีผลงานเขียนบทซีรีโทรทัศน์,ภาพยนต์อีกด้วย(Star Trek: The Next Generation) ไม่แปลกที่จะเขียนหนังสือได้สนุกขนาดนี้

The drunkard’s walk ชีวิตนี้ฟ้าลิขิต หนังสือเสนอแนวคิดพื้นฐานของการสุ่มเลือก ความน่าจะเป็น มุมมองผลกระทบของการสุ่มเลือกที่เกิดขึ้นแทบจะตลอดเวลาของการมีชีวตอยู่ของเรา การเข้าใจและปรับตัวเพื่อเตรียมรับกับสถานการณ์ต่างๆ ผู้เขียนยกตัวอย่างเกี่ยวกับการสุ่มเลือกผ่านเหตุการณ์ต่างที่อยู่ใกล้ตัว ได้อย่างสนุกสนาน และเข้าใจได้ง่าย หนังสืออ้างอิงสถานการณ์ต่างๆ งานวิจัยต่างๆมากมาย ด้านหลังของเล่มเกือบ 20 หน้าจึงเป็นพื้นที่ให้แหล่งอ้างอิง ที่เราจะตามไปอ่านต้นฉบับจริงๆของเรื่อง หรืองานวิจัยนั้นๆได้

ในตอนแรกนั้นไม่คิดว่าตัวเองจะชอบคณิตศาสตร์ที่เราเรียนมาตั้งแต่มัธยมอย่าง ความน่าจะเป็นของการโยนเหรียญ ความน่าจะเป็นในเกมโชว์ทางทีวี ผมว่าเลนเนิร์ด มลาห์ดินาว คงเป็นนักวิทยาศาสตร์อีกคนหนึ่งที่หมกมุ่นกับเรื่องนี้อย่างมาก ไม่งั้นในสายตาของเขาคงจะไม่มองเห็นเรื่องต่างๆรอบตัวเป็นเรื่องความน่าจะเป็น และการสุ่มเลือกไปได้ บางทีเราคิดว่าควบคุมสิ่งต่างๆในชีวิตได้แต่ความจริงเลิกคิดเถอะ มันหาระเบียบแบบแผนไม่ได้เลย อย่างเช่นการเดินของขี้เมา(The drunkard’s walk) ไร้ทิศทาง ไร้แบบแผน

หนังสือเล่มนี้เปิดโลกแคบๆของผมให้กว้างออกไปได้อีกโขเลยทีเดียว ขอยกตัวอย่าง เรื่องเล่าเรื่องหนึ่งที่อยู่ในหนังสือมาให้ท่านได้อ่านกันครับ มันสร้างความประหลาดใจให้ผมได้มากเลย

เรื่องมีอยู่ว่า(ผมเขียนตามความเข้าใจของตัวเอง อาจไม่เหมือนในหนังสือนะครับ ในหนังสือสนุกกว่านี้มากเพราะมีเรื่องดราม่ายาว มีการถกเถียงกันในระดับประเทศ) ในเกมโชว์รายการหนึ่ง มีประตูอยู่สามบาน ด้านหลังประตูของหนึ่งในนั้นเป็นของรางวัลรถยนต์คันงาม อีกสองประตูที่เหลือเป็นเพียงความว่างเปล่า พิธีกรให้ผู้เข้าแข่งขันเลือกหนึ่งประตู เมื่อผู้เข้าแข่งขันเลือกแล้ว พิธีกรเดินไปเปิดประตูอันหนึ่งที่ว่างเปล่าหนึ่งประตูออก แล้วหันกลับมาถามผู้เข้าแข่งขันว่า “ตอนนี้เหลือสองประตู ด้านหลังหนึ่งอันในนี้มีรถคันงามกับอีกอันที่ว่างเปล่า คุณจะเปลี่ยนใจเลือกใหม่หรือไม่?” มีคนเขียนจดหมายไปถามมาริลีนคอมลัมนิสต์ชื่อดังที่ได้ชื่อว่าเฉลียวฉลาดไอคิวสูงระดับโลก คำตอบของเธอคือ “ควรเปลี่ยน!”

การจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนคำตอบผลที่ได้ก็ไม่ควรจะต่างกันสิ คำตอบมันควรจะเป็น 50/50 อยู่แล้ว (สามัญสำนึกของผมก็คิดเช่นนั้น) คำตอบที่บอกว่าให้เปลี่ยนใจของเธอทำให้ดอกเตอร์คณิตศาสตร์หลายคนในประเทศเดือดจัด บางคนถึงกับบอกหมดศัทธาในตัวเธอแล้ว แต่เธอก็ยังคงยืนในคำตอบของเธอ บางคนถึงกับเขียนจดหมายด่า จนเวลาผ่านไปเนิ่นนานเธอบอกจะไม่พูดถึงเรื่องนี้อีกแล้ว และแล้วก็มีนักคณิตศาสตร์เอาปัญหานี้ไปจำลองสถานการณ์และทดสอบผลซ้ำหลายรอบ ผลออกมาคือ มาริลีน เป็นฝ่ายถูก! เปลี่ยนใจมีโอกาสถูกมากกว่า 2 ต่อ 1 (ห่ะ!)

คำตอบของปัญหานี้แก้ได้ตั้งนานหลายร้อยปีแล้วโดย คาร์ดาโน นักพนันมืออาชีพ ว่าด้วย “แซมเปิลสเปซ” ลองมานั่งคิดแบบใจเย็นๆนะ

  • ประตูมี 3 บาน มีรางวัลอยู่หลังประตูหนึ่งอัน แสดงว่าโอกาสที่จะเลือกถูกคือ 1/3
  • และโอกาสที่จะเลือกผิดคือ 2/3
  • พิธีกรแทรกแซงการสุ่มเลือกโดยอิสระโดยเอาที่ผิดออกไปหนึ่งอัน แสดงว่าเขาเหลืออันที่ถูกไว้ให้เสมอ(อาจจะอยู่หลังประตูที่คุณเลือกหรือประตูอีกอันก็ได้)
  • แสดงว่าการเปลี่ยนใจ จะได้ผลแตกต่างจากเดิมแน่นอน นั้นคือ ผิด–>ถูก หรือ ถูก–>ผิด
  • ลองคิดเทียบกันดูว่า โอกาสที่คุณเลือกในครั้งแรกผิด(2/3) กับเลือกถูก(1/3) อันไหนมีโอกาสเกิดมากกว่า
  • คำตอบ คือ คุณมีโอกาสเลือกผิดสูงกว่าเลือกถูกตั้งแต่แรก 2:1 ทำให้การเลือกใหม่มีโอกาสที่จะเปลี่ยนจาก ผิด–>ถูก มากกว่า ถูก–>ผิด เป็น 2:1 เช่นกัน
  • ถ้าเริ่มแรกมีสองประตูให้เลือกคำตอบก็คงเป็น 50/50 แน่นอน มาริลีน คงไม่เถียง แต่นี้มีเหตุการณ์ที่เกิดต่อเนื่องกันมาก่อนแล้ว ความน่าจะเป็นจึงเปลี่ยนไป
  • ถ้าคุณยังงงอยู่ลองเพิ่มประตูเป็น 100 ประตู คุณเลือกหนึ่งอัน แล้วให้เพื่อนตัดอันที่ผิดออกเหลือไว้สองประตูจะพบว่าการเปลี่ยนใจมีโอกาสถูกกว่า 99/100 กลับกันถ้าคุณมั่นใจว่าตัวเองเลือกถูก(ฟ้าลิขิต)ตั้งแต่แรกก็ไม่ต้องเปลี่ยนใจเพราะโอกาสที่จะถูกยังคงเป็น 1/100

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาอื่นๆที่มีคำอธิบายไว้อย่างสนุก เช่น การหาว่าทำไมแต้มของลูกเต๋าสามลูกรวมกันได้ 9 จึงเกิดได้น้อยกว่าแต้มที่รวมกันได้ 10 ปัญหานี้กาลิเลโอถูกหัวหน้าใช้ให้ไปหาคำตอบ  รวมถึงการนำความน่าจะเป็นมากล่าวอ้างใช้ชั้นศาล เช่น DNA  โอกาสที่คนสองคนที่ไม่ใช่แฝดจะเหมือนกันนั้นแถบจะเป็นไปไม่ได้(1/20,000,000) แต่กลับไม่คิดว่าโอกาสที่คนทำการวิเคราะห์จะทำผิดพลาดเสียเองมีเท่าไหร่ อาจจะเหลืออแค่ 1/100 หรือ 1/1000 เท่านั้น, มีคนร้ายกล่าวอ้าง ภรรยาที่โดนสามีหรือแฟนตบตีแล้วจะพัฒนาไปถึงการฆาตกรรมมีเพียง 1/2500 เท่านั้น แต่กลับไม่คิดว่าหญิงที่ถูกฆาตกรรมโดยสามีเคยถูกสามีตบตีมาก่อนสูงถึง 95% และเรื่องอื่นๆอีกหลายเรื่องที่น่าคิดตามอีกมาก อยากให้ลองอ่านหนังสือเล่มนี้ดูครับ สำหรับผมแล้วชอบหนังสือเล่มนี้มากครับ

หนังสือ เจาะ CERN-เซิร์น อ่านแล้ว

หนังสือ เจาะ CERN-เซิร์น

หนังสือ เจาะ CERN – เซิร์น 
ผู้เขียน ดร. บุรินทร์ อัศวพิภพ, นรพัทธ์ ศรีมโนภาษ
192 หน้า, พิมพ์ครั้งที่ 2, ราคา 199 บาท
สำนักพิมพ์ สารคดี 

เมื่อวานตอนกลับจากที่ทำงานเดินผ่านแผงขายหนังสือเก่าวางกองบนพื้นที่อนุเสาวรีย์ชัยฯ ตาแอบแว้บไปเห็นหนังสือ เจาะ CERN-เซิร์น เป็นหนังสือที่ออกมานานแล้วตั้งแต่ปี 2552 ช่วงที่ LHC กำลังเป็นที่สนใจของคนทั่วโลกรวมทั้งคนไทยด้วย เคยเห็นตามร้านหนังสือเหมือนกัน แต่ไม่ยักกะอยากซื้อราคาที่ปก 199 บาท แต่เราซื้อมาราคา 40 บาท (หนังสือเก่า) ตอนที่หนังสือออกมาใหม่ๆทำไมไม่สนใจซื้อ? จะบอกว่าตอนนั้นก็เปิดดูบ้าง และติดตามข่าวการเดินเครื่อง LHC มาตลอด เป็นอะไรที่น่าตื่นเต้น ส่วนตัวชอบเรื่องฟิสิกส์ จักรวาล อวกาศ อยู่มิน้อย แต่ตอนนั้นดูตามเว็บไซต์ต่างๆก็รู้ว่าเพียงพอแล้ว มันคือความคิดใน ณ ตอนนั้น

แต่เหตุที่สนใจซื้อหนังสือเล่มนี้(นอกจากมันถูกแล้ว)เพราะว่า เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ สวทช. มีบรรยายพิเศษโดย ศ.ดร. อัลเบิร์ต ดี รอคก์ นักวิทยาศาสตร์อาวุโส จากสถาบัน CERN และ ดร.บุรินทร์ อัศวพิภพ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ แล้วเราเองก็ได้มีโอกาสเข้าร่วมฟังการบรรยายในครั้งนั้นด้วย มีหลายอย่างที่ทำให้เรางง และสงสัยจึงเป็นตัวกระตุ้นให้อยากอ่านหนังสือเล่มนี้มากขึ้น

หนังสือพิมพ์ครั้งแรก เมื่อมีนาคม 2552 ผ่านมาแล้ว 3 ปี เนื้อหา 192 หน้า เนื้อหาก็ไม่ถือว่าเก่ามาก LHC เดินเครื่องไม่กี่ครั้งนับจากหนังสือเล่มนี้ออก

เนื้อหาเป็นแบบ Popular Science อ่านไม่ยาก เป็นการเขียนแบบตั้งคำถามแล้วตอบเป็นข้อๆ สั้นๆ เป็นหนังสือเชิงตอบคำถามสังคมว่า สร้าง LHC ทำไม? เราจะได้อะไรจากมัน? อธิบายเรื่องฟิสิกส์ยากๆโดยเปรียบเทียบกับเรื่องใกล้ตัว อ่านเพลินแป็บเดียวจบ หลังอ่านจบมีความรู้เกี่ยวกับอนุภาคพื้นฐานเพิ่มขึ้น เข้าใจสิ่งที่นักฟิสิกส์กำลังสนใจและพยายามหาตอบให้คำถามนั้น เสียดายนิดหนึ่งถ้าได้อ่านก่อนคงฟังบรรยายสนุกขึ้น อ่านหนังสือจบถึงรู้ว่า ดร.บุรินทร์ บรรยายเหมือนเนื้อหาในหนังสือเลย(ก็คนเขียนนิน่า) รวมทั้งภาพประกอบบนสไลด์ก็เหมือนที่อยู่ในหนังสือเลย

สิ่งที่อ่านแล้วน่าทึ่งในหนังสือ เจาะ CERN

  • เป็นความร่วมมือที่ยิ่งใหญ่มาก หลายประเทศร่วมมือกันอย่างแข็งขัน ผมประทับใจกับผู้โน้มน้าวให้นักวิทยาศาสตร์คนอื่นยอมลงทุนด้วยมากๆ
  • 30% ของรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ เป็นกลุ่มนักฟิสิกส์อนุภาค
  • นอกจาก LHC ขนาดเส้นรอบวง 27 กิโลเมตร CERN มีท่อส่งอนุภาคนิวติโนข้ามไปอิตาลียาว 732 กิโลเมตร ลึกลงไปใต้ดิน 11.4 กิโลเมตร
  • WWW เกิดขึ้นที่ CERN จากแนวคิดแชร์ข้อมูลจากเครื่องเร่งอนุภาคให้นักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆให้ช่วยกันวิเคราะห์
  • เครื่องสแกนสมอง PET เป็นหนึ่งในวิทยาการที่ประยุกต์มาจากเครื่องเร่งอนุภาค
  • ครั้งแรกที่ปล่อยลำอนุภาคโปรตอนเข้า LHC นักวิทยาศาสตร์ยืนลุ้นกันเป็นร้อยๆคน

    นั่งดูครั้งแรก พวกคุณดีใจอะไรกันนักหนา? ตบมือกันเกรียวกาว ต้องวนดูหลายรอบ สิ่งที่เขาลุ้นคือลำแสงที่ปล่อยเข้าไปใน LHC แบบสวนทางกัน ถ้าทำสำเร็จมันจะเกิดเป็นแสงสว่างขึ้นในจอทั้งสองด้านซ้ายในคลิปครับ ต้องตั้งใจดูนิดหนึ่ง เป็นการยิงลำแสงเข้าไปครั้งแรกหลังจากใช้เวลาสร้างนานกว่า 20 ปี ไม่ให้ดีใจหรือตื่นเต้นได้อย่างไร!
  • มีเครื่องตรวจวัดอนุภาคทั้งหมด 6 สถานี ที่ทำงานได้อย่างแม่นยำมากๆ แต่ละสถานีมีเป้าหมายและหน้าที่แตกต่างกัน ต้องนับถือคนรุ่นก่อนที่ปูทางวิธีวัดอนุภาคไว้ให้
  • อนุภาคที่ใช้คืออนุภาคโปรตอนจากไฮโดรเจน ถูกเร่งจากวงเล็กๆแล้วขยายเป็นวงที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆตามลำดับ ซึ่งพลังงานก็เพิ่มขึ้นตามลำดับเช่นกัน หน่วยเป็นอิเล็กตรอนโวลต์(eV) เริ่มจาก LINAC2(50 MeV)>>Booter(1.4 GeV)>>PS(25 GeV)>>SPS(450 GeV)>>LHC(7 TeV) ที่พลังงาน 7 TeV โปรตอนวิ่งด้วยความเร็ว 99.9999991% ของความเร็วแสงในสูญญากาศ!
  • ในประเทศไทยมีเครื่องเร่งอนุภาคที่ใช้ในงานวิจัยขนาดเล็กอยู่ 2 แห่ง คือ ที่ศูนย์ปฎิบัติการวิจัยเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนแห่งชาติ จ.นครราชสีมา และอีกเครื่องอยู่ที่ ม.เชียงใหม่
  • แต่ละลำโปรตอนที่ถูกเร่งไม่ได้มีตัวเดียวนะ ไปเป็นขบวนประมาณ 3,000 ขบวน ยิงออกไปเรื่อยๆ ห่างกันประมาณ 7 เมตร ขบวนหนึ่งมีประมาณ 1 แสนล้านตัว เมื่อสองขบวนมาชนกันจะเกิดการชนกันจริงๆแค่ประมาณ 20 คู่เท่านั้นเอง! จากทั้งหมด 1 แสนล้านคู่ รวบรัดเลยแล้วกัน สุดท้ายแล้วในหนึ่งวินาทีจะชนกันประมาณ 600 ล้านครั้ง

น่าประหลาดใจอย่างยิ่งที่เราชาวชีววิทยากำลังตื่นเต้นกับนาโนเทคโนโลยี(10^-9) แต่ชาวฟิสิกส์กำลังวิจัยในระดับอัตโต(10^-18) ซึ่งเล็กต่างกันราว 1 พันล้านเท่า คงเป็นเพราะเรามองมันเป็นโมเลกุลที่ควบคุมและสั่งงานได้ ไม่ใช่การหาว่ามีอยู่หรือไม่ ก็คงตอบกันเองว่าเราต่างกันที่จุดประสงค์ครับ การหาคำตอบหนึ่งเรื่อง ได้ความรู้จากการเก็บตามรายทางมากมายนัก หาสิ่งหนึ่งได้อีกหลายสิ่งตามมา วิทยาศาสตร์น่าทึ่งจริงๆ สนุกด้วย

Exit mobile version