NAC2012 นิทรรศการ รู้ สู้ พิบัติภัย ไปกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

NAC2012 ประชุมวิชาการประจำปี สวทช.

NAC 2012(NSTDA Annual Conference 2012) เป็นงานประชุมวิชาการประจำปีของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในปีนี้ หัวข้อของการประชุมคือ “รู้ สู้ พิบัติภัย ไปกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” งานจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 24-28 มีนาคม 2555 ณ ห้องจัดแสดงนิทรรศการ อาคารศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ปทุมธานี แผนที่

กิจกรรมต่างๆที่ท่านจะพบในงานนี้

ประชุมวิชาการ

26-28 มีนาคม 2555 ตัวอย่างหัวข้อประชุม ที่น่าสนใจ

  • มองไปข้างหน้ากับอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ
  • จุดเปลี่ยนอุตสาหกรรมอาหารและภาคเกษตรไทย: บทเรียนและโอกาสจากภัยพิบัติ
  • การเตรียมความพร้อมรับมือกับ emerging technology (NanoSafety Roadmap)
  • แผนพลังงานทดแทนความท้าทายของชาติ
  • การปรับตัวของเกษตรกรในภาวะน้ำท่วม
  • สามารถเข้าไปดูรายละเอียดของหัวข้อประชุมวิชการทั้งหมดได้ที่  ประชุมวิชาการ NAC2012

นิทรรศการต่างๆมากมาย

  • นิทรรศการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย
  • รู้ สู้ ภัยพิบัติ ไปกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  • นิทรรศการการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการเจรจาธุรกิจ
  • นิทรรศการงานวิจัยและพัฒนา
  • ผลงานจากการประกวด นวัตกรรมไทยสู้ภัยน้ำท่วม ที่จะนำมาจัดแสดงที่นี้เป็นแห่งแรก

กิจกรรมครอบครัว “บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย…รู้ สู้ภัยพิบัติ” 

กิจกรรมครอบครัวที่ให้ผู้ปกครองนำลูกน้อยวัย 3-10 ขวบ มาเรียนรู้ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเสริมความรู้วิทยาศาสตร์และความสนุกไปพร้อมๆกัน ถือเป็นกิจกรรมสุดสัปดาห์ที่ยอดเยี่ยมเลยทีเดียว

กิจกรรมเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการ

เยี่ยมชมศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักวิจัย ชมการปฎิบัติงานจริงของนักวิจัย เพื่อช่วยให้เช้าใจเทคโนโลยีชีวภาพมากขึ้น

สามารถเข้าไปดูรายละเอียดและลงทะเบียนออนไลน์ฟรีได้ที่  https://www.nstda.or.th/nac2012//index.php

ถ้าหากใครไม่สะดวกร่วมงานทางผู้จัดงานยังมีระบบชมการถ่ายทอดสดออนไลน์ที่หน้าเว็บไซต์ได้ตลอดงานอีกด้วย

Wolfam Alpha and Unit Circle

ค่า tan3 แบบ radian และ tan3 แบบองศา

เมื่อสองสามวันก่อนได้ใช้งาน wolfram alpha ช่วยคำนวณหาค่าของ tan(3) ซึ่ง 3 ในที่นี้ของเราคือ มุม 3 องศา ก็พิมพ์เข้าไป พบว่าได้ค่าหนึ่งออกมา tan3 = -0.1425 ซึ่งเราก็เอาไปใช้งานต่ออย่างไม่ได้คิดอะไร เพราะคิดว่าน่าจะถูกต้องแล้ว พอนำข้อมูลที่ได้ไปโปรเกรสงาน กลับพบว่าค่าของ tan(3) ใน wolfram alpha กับเครื่องคิดเลขได้ค่าออกมาไม่เท่ากัน ซึ่งในเครื่องคิดเลขคำนวณ tan(3) = 0.0524 จึงได้รู้ว่าการหาค่า sin, cos, tan มันมีวิธีการใส่ค่าสองแบบ คือ แบบ radian(0-2π หรือ 0-6.283) กับ degree(องศา 0-360°) ซึ่งทั้งสองค่าก็สามารถเปลี่ยนกลับไปมาได้ด้วยการเทียบแบบธรรมดาคือ 2π =360° เขียนเป็นสมการในการแปลงค่าได้ว่า

degree = radian × π/180

radian = degree × 180/π

แบบที่เข้าใจได้ง่ายๆ คือ 1 radian = 57.295 องศา หรือ 1 องศา = 0.0174 radian

ดูรูปนี้แล้วน่าจะเข้าใจมากขึ้น

Unit circle ที่มา: https://www.flickr.com/photos/26661581@N07/

สรุปได้ว่า อะไรแบบนี้เราเรียนมาตั้งแต่มัธยมแล้วพอไม่ได้ใช้นานๆก็ลืม เลยต้องมาเตือนความจำไว้ว่า ตอนใส่ค่าลงไปคิดก่อนว่าเครื่องมือที่ใช้ในการคำนวณมันมีค่า default เป็นอะไร ใน wolfram เป็น radian ในเครื่องคิดเลขเป็น องศา (คงแล้วแต่รุ่นและการตั้งค่าด้วย) ทางที่ดีเช็คด้วยการคำนวณด้วยมืออีกทีเพื่อความมั่นใจ

ต่อไปถ้าจะคำนวณพวก sin, cos, tan ใน wolfram alpha ต้องคูณ π/180 เข้าไปด้วย อย่างเช่น tan 3° ให้พิมพ์แบบนี้ครับ tan(3*pi/180)

ข้อมูลเพิ่มเติ่ม radian to degree , Unit circle

ชมนิทรรศการผลงานวิจัยของเนคเทคเนื่องในโอกาสครบรอบ 25 ปี

The NECTEC 's 25th Anniversary

นิทรรศการผลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเนคเทคเนื่องในโอกาสครบรอบ 25 ปี

งานประชุมวิชาการและนิทรรศการของเนคเทคเนื่องในโอกาสครบรอบ ๒๕ ปี
(The NECTEC ‘s 25th Anniversary)

IT in Thailand: NECTEC “25 Years and Beyond”

วันที่ 14-16 กันยายน 2554 , เวลาประมาณ 8.30 น. – 20.00 น.

ณ บางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว

รายละเอียด https://www.nectec.or.th/ace2011

งานยังเหลืออีก 2 วัน ว่างๆ อยากเชิญให้ไปเที่ยวชมครับ งานจัดที่เซนทรัล ลาดพร้าว เดินทางค่อนข้างสะดวก ขึ้นรถไฟฟ้าใต้ติน MRT ลงที่สถานีพหลโยธิน เดินอีกนิดก็ถึงแล้ว ขึ้นไปที่ชั้น 5 งานแสดงอยู่ทั้ง Hall เลย มีงานวิจัยที่น่าสนใจมากมาย เข้างานได้ฟรี ผมเอาภาพบางส่วนมาให้ชมครับ

Bangkok Convention Hall

ส่วนนี้จะเป็น การประชุมวิชาการ การสัมมนา และการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ดูตารางสัมมนาคลิกลิงค์ครับ

ส่วนนิทรรศการ

นิทรรศการ ด้านหน้าแสดงผลงานวิจัยของในหลวง มีทั้งภาษาไทยและอังกฤษ

นิทรรศการแสดงผลงานวิจัย

แบ่งเป็นโซน แสดงผลงานทั้งโปสเตอร์ ร่วมกับโมเดลมีเจ้าหน้าที่อธิบายข้อมูลอย่างละเอียด ได้ความรู้เพิ่มขึ้นเยอะเลยครับ อยากให้นักเรียน นักศึกษาได้เข้าชมงานเยอะๆครับ

Mobile Application

ส่วนของ Mobile Application จะมีการสลับกันสาธิตการใช้งานโปรแกรมบนมือถือที่เป็นผลงานจากเนคเทคเกือบ 30 ตัว มีทั้ง Android และ iOS มีแบ่งเป็นหมวด Entertainment & Lifestyle, Agriculture, Health & Medication, Logistic & Traffic และอื่นๆ  มีแอพพลิเคชั่นหลายๆตัวที่ผมชอบ และน่าใช้ เดี๋ยวจะอธิบายต่อด้านล่าง

ประเมินรูปร่างโคกระบือ

ระบบประเมินรูปร่างโคกระบือแบบ 3 มิติ แค่จูงควายเข้าไปตรงกลางระบบก็วิเคราะห์ ชนาดรูปร่างออกมาเป็น 3 มิติ ให้เลย เจ๋งไหมล่ะ!

NECTEC Timeline

ลำดับการดำเนินงานของเนคเทคตั้งแต่ปี 2529 จนถึงปัจจุบัน มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นปีไหน มีผลงานอะไรออกมาบ้าง

สถานีวัดอากาศอัตโนมัติ

สถานีตรวจวัดอากาศอัตโนมัติ มีเซนเซอร์หลายอย่างรวมกัน เช่น วัดความชื่น ปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิ ความเร็วลม ความชื่นของดิน แล้วส่งข้อมูลผ่านทางอินเทอร์เน็ต(GPRS) เราสามารถดูข้อมูลหรือควบคุมการทำงานผ่านทางเว็บบราวเซอร์ได้เลย

พิพิธภัณฑ์แบบภาพ 360 องศา

พิพิธภัณฑ์แสดงภาพแบบ 360 องศาผ่านทางเว็บไซต์ เก็บภาพรอบตัวหมุนได้รอบทิศทาง

ห้องสัมมนา

ผมเข้าๆออกๆจากส่วนแสดงนิทรรศการกับห้องสัมมนาซึ่งจะมี speaker หลายคนขึ้นมาพูดในหัวข้อต่างๆ ที่ได้ฟังก็ผู้บริหารจาก intel, Cisco

กล้องวัดอณหภูมิ

ช่วงที่ไข้หวัดใหญ่ระบาดกล้องนี้ช่วยในการคัดกรองคนที่มีอุณหภูมิสูงออกจากคนปกติได้อย่างรวดเร็ว ใช้แสงอินฟราเร็ดตรวจจับที่บริเวณหน้า ตอนนี้มีติดตั้งอยู่ที่โรงพยาบาลบางแห่งแล้วเพื่อช่วยตรวจคัดกรองคนไข้

TangmoChecker

TangmoChecker เป็นแอพพลิเคชั่นบน Android มันจะวิเคราะห์เสียงจากการเคาะลูกแตงโมแล้วบอกว่าลูกไหนสุกพอดี ลูกไหนสุกงอมแล้ว พี่เจ้าหน้าที่สาธิตให้ดูกัน ใช้โปรแกรมวิเคราะห์แล้วผ่าแตงโมให้ดูกันเลย ว่าทำงานได้ดี เท่มาก! ยังมีโปรแกรมอื่นๆที่น่าสนใจ เช่น โปรแกรมค้นหาชื่อยา โปรแกรมดูการจราจร โปรแกรมบันทึกข้อมูลสุขภาพ โปรแกรมวิเคราะห์ธาตุไนโตรเจนในใบข้าว โปรแกรมแนะนำการท่องเที่ยวตามเทศการ โปรแกรมอ่านข่าว โปรแกรมบันทึกการกินอาหารของเรา เป็นต้น

เครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์

เครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์ เอาไปใช้งานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีอยู่หลายรุ่นตัดสัญญาณได้ทุกคลื่นความถี่ของไทย รัศมีระยะ 30 เมตร จนถึง 100 เมตร แล้วแต่รุ่น

เครื่องตรวจหาเชื่อไวรัสหรือโปรตีน

ส่วนของเครื่องมือแพทย์ก็มีให้ดูเยอะ เครื่องนี้ใช้หลักการของ SPR(Surface plasmon resonance) ทำงานคล้ายๆตัวนี้ เห็นไหมว่าคนไทยก็ทำได้เหมือนกัน

DeepScan

กล้องคอนโฟคอลแบบพกพา ถ่ายภาพในแนวลึกได้โดยไม่รุกล้ำร่างกาย ใช้ตรวจหามะเร็งที่ชั้นเยื่อบุผิว

ยังมีอีกหลายส่วนที่ยังไม่ได้ดู เดินวันเดียวอาจจะไม่หมด และมีหลายอันที่ไม่ได้เอามาให้ดูที่นี้ อต่เข้าไปดูภาพวันแรกที่ผมถ่ายไว้ทั้งหมดได้ที่นี้ครับ

รวมภาพงาน The NECTEC ‘s 25th Anniversary

วิธีเปลี่ยนรูปแบบการอ้างอิงเซลล์แบบ R1C1 เป็น A1 ใน Excel

ในสัปดาห์นี้ได้มีโอกาสได้ใช้ Excel เยอะพอสมควร แต่ใช้ Office for Mac น่าตาการใช้งานเป็นแบบ Ribbon ก็จริงแต่มันไม่คุ้นเคยเหมือนอยู่ใน Windows ต้องพยายามใช้อยู่หลายวันค่อยหาเครื่องมือที่ใช้ประจำเจอ โดยเฉพาะวันนี้ได้ความรู้ใหม่เพิ่มขึ้นมาอีกอย่างซึ่งต้องขอบคุณเพื่อนใน Twitter ที่หลายครั้งๆที่เราบ่นออกไป มักจะมีคนเก่งๆมาช่วยเราเสมอ ความรู้ใหม่ครั้งนี้ขอขอบคุณ @ds2kGTS

เรื่องมีอยู่ว่าใน Excel ใน Mac ค่าเริ่มต้นของรูปแบบการอ้างอิงตำแหน่งจะเป็น R1C1 คือ มันจะอ้างอิงเซลล์โดยอิงจากเซลล์ที่เรากำลังทำงานอยู่อีกที โดยจะให้ตำแหน่งที่เราอยู่เป็น R[0]C[0] จุดที่เราจะอ้างถึงต่ำลงไปค่า R จะเป็นบวก ถ้าสูงขึ้นจะเป็นลบ ส่วนค่า C ไปทางขวาจะเป็นบวก ทางซ้ายจะเป็นลบ เอาง่ายๆเลยเหมือนการระบุตำแหน่งแบบ x,y สี่ช่อง แต่ให้ค่า y กลับกันให้บวกอยู่ล่าง ดูรูปแล้วจะเข้าใจ (แต่เวลาใช้งงมาก!)

การอ้างอิงเซลล์แบบ R1C1

ตอนแรกคิดว่าเป็นการอ้างอิงเฉพาะใน Excel for Mac เลยใช้ไปเรื่อยๆ จนเมื่อต้องมาเริ่มมีการใส่สูตร วิเคราะห์ข้อมูล มันเริ่มงง และดูไม่รู้ว่าเอาข้อมูลตรงไหนมาคิด แต่ก็มารู้ภายหลังว่ามันเป็นแค่รูปแบบหนึ่งของการตั้งค่าการอ้างอิงเซลล์(Reference Style)ของโปรแกรมพวก Spreadsheet เราสามารถที่จะเลือกให้เป็นแบบ A1 อย่างที่ตัวเองใช้ประจำ ซึ่งจะระบุตำแหน่งแบบโดยรวมไม่ได้อ้างอิงตามจุดที่ทำงานอย่างเช่น R1C1

จุดสังเกตง่ายๆ ถ้าตั้งเป็นแบบ R1C1 ชื่อของคอมลัมน์จะเป็นตัวเลข ส่วนแบบ A1 จะเป็นตัวอักษร

การตั้งค่ารูปแบบเซลล์ R1C1 และ A1 (คลิกดูรูปขนาดใหญ่)

แต่ทั้งสองรูปแบบสามารถตั้งค่าได้ว่าจะใช้งานแบบไหน วิธีการสลับรูปแบบระหว่าง R1C1 กับ A1 มีวิธีดังนี้ครับ

วิธีการตั้งค่ารูปแบบการอ้างอิงเซลล์ใน Excel 2010 for Mac

1. คลิก Excel >>Preference

Preferences

2. เลือก General

คลิก General

3. ในหน้าของการตั้งค่า ให้เอาเครื่องหมายติ๊กหน้าคำว่า Use R1C1 reference style ออก ถ้าต้องการใช้งานแบบ A1 ถ้าต้องการใช้ R1C1 ก็ติ๊กเลือก

ส่วนการตั้งค่า

4. ในที่นี้ ผมต้องการใช้แบบ A1 เลยเอาเครื่องหมายออก แล้วคลิก OK ไป

เลือกใช้งานแบบ A1

การเปลี่ยนรูปแบบการอ้างอิงเซลล์ไม่มีผลกระทบกับไฟล์เอกสารของเรานะครับ ไฟล์ที่ทำจากรูปแบบ R1C1 ก็เอามาใช้งานในการตั้งค่าแบบ A1 ได้ปกติ ไม่มีปัญหาอะไร

สำหรับใน Windows ก็มีขั้นตอนการเปลี่ยนรูปแบบคล้ายๆกัน ดังนี้ครับ

วิธีการตั้งค่ารูปแบบการอ้างอิงเซลล์ใน Excel 2007

คลิกปุ่ม Excel  เลือก Excel Options >>Formulas tab เลื่อนไปในส่วนของ Working with formulas

R1C1 reference style

เอาเครื่องหมายออก ก็ใช้งาน A1 style ได้แล้วครับ

ความจริงบล็อกนี้จะเขียนแบบสั้นๆก็ได้นะ แค่อธิบายว่าคลิกตรงไหน เลือกตรงไหน แต่ตอนที่ผมค้นหาวิธีการตั้งค่าแบบนี้ ไม่รู้ทำไมหายากจัง ส่วนใหญ่บอกใน Windows ซึ่งมันจะเข้าไปตั้งค่าใน Excel Options ใน Mac จะเรียกว่า Preferences เลยงมหาไม่เจอสักที ก็เลยเก็บกดเขียนให้มันละเอียดแบบนี้เลยได้ไหม (ผมโง่ครับ!) คนอื่นๆจะได้ทำตามได้ง่ายๆ หวังว่าจะมีประโยชน์นะครับ

ข้อมูลจาก https://www.lytebyte.com

Science Illustrated นิตยสารวิทยาศาสตร์ เล่ม 1

นิตยสาร Science Illustrated

เมื่อวานเดินไปแผงหนังสือ ไปเจอนิตยสารเล่มหนึ่งเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ชื่อ Science Illustrated ออกเป็นเล่มแรกด้วย เลยลองซื้อมาในราคา 110 บาท มีหน้าเนื้อหาอยู่ราว 80 หน้า บรรณาธิการกล่าวถึงว่าเป็นนิตยสารที่จะมีเนื้อหาหลักเกี่ยวกับ 4 ด้าน(เสาหลัก) คือ เทคโนโลยี การแพทย์ ธรรมชาติ และวัฒนธรรม บรรณาธิการเขียนถึงเนื้อหาของเล่มนี้เป็นส่วนใหญ่ แต่ไม่ได้แนะนำนิตยสารเล่มใหม่ให้คนอ่านได้รู้จักเลย(นี้มันเล่มแรกนะ!)

ส่วนตัวผมคิดว่าเล่มแรกควรจะแนะนำก่อนว่ามันมีที่มายังไง จะออกรายเดือนหรือรายสัปดาห์ แทนที่จะไปบอกว่าเล่มนี้มีเนื้อหาอะไร(บอกนิดเดียวพอ) ยกตัวอย่างจาก นิตยสารเล่มแรกของ Computer Art ที่เคยซื้อเล่มแรกเหมือนกัน แนะนำได้ดีกว่ามาก บอกเลยว่านำเข้ามาแล้วปรับปรุงส่วนไหนบ้างเพื่อให้เข้ากับคนไทยมากขึ้น แบบนั้นดูน่าดึงดูดมากกว่า ทำให้สนใจอยากติดตามอ่านในเล่มถัดไป

ลองค้นดูพบว่า Science Illustrated เป็นนิตยสารแนว popular science พิมพ์ขายครั้งแรกตั้งแต่ คศ.1984 ปัจจุบันมีการขายอยู่หลายสิบประเทศทั่วโลก จุดเด่นของมันคือการมีภาพประกอบเนื้อหา 4 ด้านหลัก ที่สวยงาม ถูกออกแบบมาอย่างดี ทั้งภาพถ่ายและภาพกราฟิก หลังจากเปิดดูแบบผ่านๆถือว่าสวย และทำให้เนื้อหาทางด้านวิทยาศาสตร์ดูน่าสนใจมากขึ้นอีกโข ถ้าอยากเห็นภาพให้ลองนึกถึงเปเปอร์ของเนเจอร์ที่ภาพประกอบถูกออกแบบมาอย่างดี แล้วมันก็ทำให้เราเข้าใจเนื้อหายากๆได้ง่ายมากขึ้น

น่าจะเป็นการดีที่เราจะมีนิตยสารด้านวิทยาศาสตร์ การแพทย์ ให้ได้เลือกอ่านเพิ่มขึ้นอีกเล่ม

ส่วนเนื้อหาภายในโดยละอียดยังไม่ได้อ่านครับ (2-3 วันนี้คงไม่ได้อ่านแน่นอน)

ปล. เล่มแรกมีแถมหนังสือภาพประกอบเล่มเล็กๆมาให้ด้วยอีกหนึ่งเล่ม

TED Talks ที่มีซับภาษาไทย

TED Talks ที่มีซับภาษาไทย

TED Talks เป็นที่นำเสนอไอเดียของเหล่าผู้มีชื่อเสียงในสังคมโลก เขียนถึงไปหลายครั้งแล้วดูได้ที่ tag TED แนวคิดของ TED คือกระจายแนวคิดออกไปให้ได้มากที่สุด จึงมีส่วนของการแปลภาษาเข้าไปด้วยเพื่อให้เข้าถึงคนทั่วโลกได้มากขึ้น ล่าสุดวีดีโอ TED Talks ที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยมีอยู่ 165 คลิป แต่ละคลิปมีประโยชน์และน่าสนใจทั้งนั้น อยากให้ลองไปเปิดดู รับรองว่าจะเปิดมุมมองของเราให้กว้างเพิ่มขึ้นแน่นอน หัวข้อใหญ่ๆแยกเป็นหมวดหมู่ให้เลือกติดตาม คือ Technology, Entertainment, Design, Business, Science, Global issues ส่วนตัวผมชอบหัวข้อ Design กับ Science เป็นพิเศษ ถ้าสนใจแล้วอยากลองเข้าไปดูบ้างแล้ว ก็คลิกเลย TED Talks ที่มีซับภาษาไทย

นอกจากจะเชิญชวนให้ไปดูแล้ว อยากจะเชิญชวนคนที่มีความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษด้วยเช่นกัน TED เปิดรับอาสาสมัคร ให้ไปช่วยกันแปลการนำเสนอของเหล่า Speaker ระดับโลกที่ถูกบันทึกไว้ เพื่อให้สิ่งที่มีประโยชน์เหล่านั้นเข้าถึงคนในท้องถิ่นของตัวเองให้ได้มากขึ้นครับ (ผมฟังออกบางคำก็ดีแล้วครับ) คนที่เป็น TED Translator เท่าที่เห็นมี @fringer(คุณสฤณี อาชวานันทกุล)ครับ อยากจะให้คนก่งๆไปช่วยกันแปลเยอะๆครับ เข้าไปสมัครได้เลยที่ Become a translator

Wolfram|Alpha เปิด Tumbr เอาไว้โชว์ตัวอย่างการใช้งาน

Wolfram|Alpha on Tumblr

Wolfram|Alpha คือรูปแบบการค้นหาคำตอบแทนการค้นหาในแบบธรรมดา อยากรู้จักมากกว่านี้เคยเขียนไว้แล้ว (รีวิว Wolfram alpha (Google killer)ไม่ใช่การค้นแต่เป็นการตอบ) ปกติจะติดตามวิธีการใช้งานรูปแบบใหม่ๆ หรือข่าวการพัฒนาผ่านทาง blog ทางการของทีม Wolfram|Alpha ล่าสุดเขาเปิดที่ Tumbr เพิ่มอีกที่ด้วย เอาไว้แชร์การใช้งาน ตัวอย่างการใช้งาน จับภาพผลลัพธ์ของการคำนวณมาให้ดู

โดยการใช้งาน Wolfram|Alpha ถือว่าต้องศึกษาพอสมควร เพราะต้องป้อนข้อมูลอย่างถูกต้องจึงจะได้ผลลัพธ์ตามต้องการ และนี้คืออีกหนึ่งปัญหาที่มันถูกใช้งานในวงจำกัดเพราะมันใช้ยากพอควร ถ้าใช้งานคล่องแล้วมันช่วยลดงานได้เยอะเลยทีเดียว ถ้าดูบ่อยๆให้คุ้นตาเดี๋ยวมันซึมเอง ดูชาวบ้านเขาใช้เดี๋ยวก็ใช้เป็น (บอกตัวเอง)

อีกอย่างที่ชอบคือการออกแบบ Tumbr ดูเท่และสวยมาก จับภาพมาให้ดูแล้ว

ติดตาม Wolfram|Alpha บน Tumbr ได้ที่ลิงค์ https://wolframalpha.tumblr.com/

บันทึกสัมมนาการจดสิทธิบัตร

ภาพประกอบจาก https://www.flickr.com/photos/95118988@N00/1497679352/

ไปฟังสัมมนาเกี่ยวกับการจดสิทธิบัตรที่ทางศูนย์บริการวิชาการ จุฬาฯ จัดให้นักวิจัย อาจารย์ นิสิต ได้เข้าอบรมฟรี ผมเห็นว่าน่าจะมีประโยชน์สำหรับคนทั่วไปด้วย จึงนำบันทึกมาเผยแพร่ต่อที่นี้ เผื่อจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นๆด้วย

บันทึกจากงานสัมมนา
เรื่องกระบวนการและแนวทางการจดสิทธิบัตร ผลงานวิจัยและทรัพย์สินทางปัญญา 
เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2554
ณ ห้อง 304 ชั้น 3 อาคารมาจักรีสิรินธร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สิทธิบัตร

-ปัจจุบันใช้ พรบ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 บังคับใช้เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2522 ปรับปรุง พ.ศ.2535, 2542
-เป็นกฏหมายที่มีข้อตกลงร่วมระหว่างประเทศภาคี แต่การจดสิทธิบัตรที่เดียวไม่ได้คุ้มครองทุกประเทศ แต่สามาถเลือกได้ว่าจะจดสิทธิบัตรในประเทศใดบ้างและต้องปฏิบัติตามกฏหมายของประเทศนั้นๆ โดยหน่วยงานของรัฐจะอำนวยความสะดวกให้ในระดับหนึ่ง

สิทธิบัตรไทย แบ่งเป็น 3 ประเภท

  • สิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์
  • สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์
  • อนุสิทธิบัตร (ไม่มีตรวจสอบว่าใหม่จริง)

สิทธิบัตร เป็นเหมือนทรัพย์สิน(โฉนดที่ดิน, หุ้นบริษัทฯ) สามารถโอนให้คนอื่นได้
อนุสิทธิบัตร เป็นการคุ้มครองแบบหลวมๆ ไม่มีการตรวจสอบว่าเป็นสิ่งใหม่จริง ให้ประกาศไปก่อนเพื่อความรวดเร็ว ถ้าหากใครคิดว่าตัวเองทำก่อนก็ค่อยมาฟ้องเพิกถอนสิทธิ (เป็นปัญหามาก) ในการเลือกจดสิทธิบัตรจะเลือกได้เพียงอย่างเดียวว่าจะจดสิทธิบัตร หรืออนุสิทธิบัตร

หลักการขอจดสิทธิบัตร

มีอยู่ 3 ข้อ มีอย่างใดอย่างหนึ่งก็ขอจดสิทธิบัตรได้แล้ว

  • เป็นสิ่งประดิษฐ์ขึ้นใหม่(Novelty)
  • มีขั้นตอนการประดิษฐ์สูงขึ้น(Inventive step)
  • สามารถประยุกต์ทางอุตาหกรรม(Industrial Applicable)

งานที่ไม่สามารถจดสิทธิบัตรได้

มีจุดที่น่าสนใจอยู่คือ สิ่งต่างๆเหล่านี้เรียกว่า “‘งานที่มีอยู่แล้ว” หรือ “ไม่ใหม่” ไม่รับจดสิทธิบัตร

  • มีการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ หรือแสดงผลงานในงานประชุมวิชาการแล้ว แต่มีข้อยกเว้นให้ จะต้องจดสิทธิบัตรภายใน 12 เดือนหลังทำการเผยแพร่ ถ้าเกินเวลาจากนี้แล้วจะจดสิทธิบัตรไม่ได้ เพราะถือว่าได้ประกาศโฆษณาไปแล้ว และถ้าหากยื่นขอจดสิทธิบัตรการคุ้มครองจะย้อนไปถึงวันที่เผยแพร่ผลงาน มีข้อแนะนำจากวิทยากรคือ ให้ยื่นจดสิทธิบัตรไปพร้อมกับส่งตีพิมพ์ในวารสารไปพร้อมกันเลย
  • ถ้่าไปขอจดสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรที่ต่างประเทศแล้ว จะต้องจดในประเทศภายใน 18 เดือน หลังจากนี้จะจดสิทธิบัตรไม่ได้ (ถือว่าลอกผลงานตัวเอง) เช่นเดียวกันเมื่อจดสิทธิบัตรการคุ้มครองจะย้อนไปถึงวันที่ยื่นจดสิทธิบัตรที่ต่างประเทศ

การประดิษฐ์ขึ้นใหม่และขั้นตอนประดิษฐ์ที่สูงขึ้น

การประดิษฐ์เราจะเห็นตัวตนของสิ่งประดิษฐ์ชัดเจน ส่วนขั้นตอนการประดิษฐ์อาจจะมองเห็นไม่ชัดเจนนัก แต่กฏหมายก็คุ้มครองหรือสามาถจดสิทธิบัตรได้ ในกลุ่มที่มีขั้นตอนการประดิษฐ์สูงขึ้น ไม่ได้หมายถึง การใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น แต่หมายถึงการใช้วิธีแก้ปัญหาที่ดีขึ้น ง่ายขึ้น หรือเป็นการแก้ไขปัญหาเดิมด้วยวิธีใหม่ที่ดีขึ้น เช่น การทำไวน์ด้วยวิธีใหม่ การถนอมอาหารแบบใหม่ เป็นต้น

ส่วนการประดิษฐ์ที่สามารถนำมาใช้ในประโยชน์ทางอุตสาหกรรมในต่างประเทศจะมีเพียงในทางอุตสาหกรรม แต่ในประเทศไทยจะเพิ่มส่วนของ หัตถกรรม เกษตรกรรม พาณิชกรรม เข้าไปด้วย ทำเพื่อให้เหมาะสมกับวิถีีชีวิตของคนไทยมากขึ้น

การออกแบบผลิตภัณฑ์ ลวดลาย สี รูปร่าง ได้รับการคุ้มครองสามารถจดสิทธิบัตรได้

มีความแตกต่างกันระหว่างการประดิษฐ์กับการออกแบบ คือ การประดิษฐ์เป็นการคุ้มครองโครงสร้างภายในผลิตภัณฑ์ ส่วนการออกแบบเป็นการคุ้มครองโครงสร้างภายนอกของผลิตภัณฑ์

ผู้มีสิทธิในสิทธิบัตร

  • ผู้ประดิษฐ์ ผู้ออกแบบ
  • ผู้ที่ได้รับการโอนสิทธิ์
  • นายจ้างของผู้ประดิษฐ์ หมายความว่า นายจ้างของผู้ประดิษฐ์จะเป็นคนถือสิทธิ์ แต่ถ้าสิ่งประดิษฐ์นั้นสามารถสร้างรายได้ในทางการค้าได้ ผู้ประดิษฐ์มีสิทธิรับบำเหน็จจากนายจ้างได้ตามสมควร (ถ้าไม่ได้สามารถฟ้องได้ แต่ต้องเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ก่อให้เกิดรายได้)
  • ถ้ามีผู้ประดิษฐ์ร่วมหลายคน ทุกคนมีสิทธิขอรับสิทธิบัตรได้ตามสัดส่วนที่ได้ระบุไว้

สิ่งที่ไม่สามารถจดสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตรได้

  • จุลชีพและส่วนประกอบ ในประเทศไทยถือว่าเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ในต่างประเทศสามารถจดสิทธิบัตรจุลชีพได้ แต่ในไทยไม่อนุญาติและไม่คุ้มครอง มีข้อยกเว้นถ้าจุลชีพนั้นมีการตัดต่อ ตกแต่งให้แตกต่างจากดั้งเดิม สามารถจดสิทธิบัตรได้
  • ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์ เพื่อการพัฒนาของวิทยาการ การถือถือสิทธิบัตรผู้เดียว ถือว่าขัดต่อการพัฒนาทางด้านองค์ความรู้
  • Software จะจดสิทธิบัตรไม่ได้ แต่จะเป็นกฏหมายอีกตัวคือ ลิขสิทธิ์ ซึ่งจะใช้ได้ชั่วชีวิต และต่ออีก 50 ปี หลังผู้ประดิษฐ์เสียชีวิต
  • วิธีการวินิจฉัย บำบัด หรือวิธีรักษาโรคในมนุษย์หรือสัตว์ ข้อนี้ถือเป็นการให้ประโยชน์แก่ทุกคน
  • การประดิษฐ์ที่ผิดต่อศิลธรรม อนามัย สวัสดิภาพของประชาชน

การจดสิทธิบัตรมีค่าธรรมเนียม

  • ค่าธรรมเนียมในแต่ละประเภท(ประดิษฐ์, ออกแบบ, อนุสิทธิบัตร)มีค่าธรรมเนียมต่างกัน แต่จะแพงขึ้นเรื่อยๆในปีหลังเหมือนกัน เป็นการแสดงว่าผู้ถือครองสิทธิได้รับประโยชน์จากสิทธิบัตร
  • อายุของสิทธิบัตรการประดิษฐ์มีอายุ 20 ปี, การออกแบบ มีอายุ 10 ปี ทั้งสองต่ออายุไม่ได้ ส่วนอนุสิทธิบัตรมีอายุ 6 ปี ต่ออายุได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ปี

ผลงานวิจัยกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

การคุ้มครองงานวิจัย มีแนวทางการคุ้มครองได้ 5 ลักษณะ

  • ลิขสิทธิ์ จะเป็นการคุ้มครองทันทีที่ผลิตผลงานออกมาเช่น ข้อความใน paper, รูปภาพ ฯลฯ แต่จะไม่คุ้มครองเนื้องานภายใน
  • แบบผังภูมิวงจรรวม หมายถึงการออกแบบวงจรใหม่ แต่ยังใช้ IC จากคนอื่น เช่น เมื่อนำ Microchip ของ intel มาประดิษฐ์อุปกรณ์ขึ้นมาใหม่ สามารถจดสิทธิบัตรได้ซึ่งจะคุ้มครองส่วนวงจรรวมแต่ไม่ได้คุ้มครอง IC แต่ละตัวที่นำมาใช้
  • ความลับทางการค้า เรียกว่าการจดแจ้ง เปิดเผยข้อมูลบ้างส่วนเท่านั้น เป็นกลุ่มของ Know How ที่เปิดเผยให้คนอื่นรู้ไม่ได้ ในการจดแจ้งจะต้องระบุวิธีการเก็บข้อมูลด้วย เช่น ให้รู้กี่คน เก็บเอกสารยังไง ถ้าไม่ปฏิบัติตามวิธีการเก็บความลับนั้น หากเกิดความลับรั่วไหลจะฟ้องดำเนินคดีไม่ได้
  • การคุ้มครองพันธุ์พืช จะใช้ในงานของกระทรวงเกษตรฯ เป็นกฏหมายอีกฉบับ
  • สิทธิบัตร กลุ่มที่เหมาะสมคือ กลุ่มสิ่งประดิษฐ์ที่เมื่อทำวิศวกรรมย้อนกลับแล้วรู้ว่าทำขึ้นได้อย่างไร เป็นกลุ่มที่ควรจดสิทธิบัตรไว้ เพื่อปกป้องสิทธิของตัวเอง เช่น การประดิษฐ์เครื่องยนต์ การประดิษฐ์อุปกรณ์อำนวยความสะดวก เป็นต้น

ข้อแนะนำก่อนการจดสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร

  • ควรรีวิวมาก่อนว่าเคยมีการประดิษฐ์มาก่อนหรือไม่ ต้องตรวจสอบให้ด วิธีการตรวจสอบคือ การค้นหาสิทธิบัตรในประเทศต่างๆ จากแหล่งข้อมูลเหล่านี้
    -ประเทศไทย https://www.ipthailand.org
    -ประเทศสหรัฐอเมริกา https://www.uspto.gov
    -ประเทศญี่ปุ่น https://www.jpo.go.jp
    -กลุ่มประเทศยุโรป https://ep.espacenet.com
  • ต้องพิจารณาให้ดีว่าจะเลือกจดสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร วิเคราะห์ให้ดีว่าแบบไหนตรงกับงานที่ตัวเองประดิษฐ์
  • ในสิ่งประดิษฐ์ของเราต้องระบุว่าจะคุ้มครองตรงไหนบ้าง การระบุกว้างไปก็ไม่ดี จะทำให้ระบุได้ยากว่าผู้อื่นละเมิดสิทธิบัตรของเราส่วนไหนบ้าง หากระบุแคบเกินไปก็เป็นการจำกัดสิทธิของตัวเอง ข้อนี้สามารถขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ หรือดูตัวอย่างสิทธิบัตรของคนอื่นก่อนหน้าเป็นตัวอย่างได้
  • ในประเทศไทยใครยื่นก่อนมีสิทธิก่อน ต่างจากของอเมริกาจะถือว่าผู้ประดิษฐ์ก่อนคนแรกจะได้ถือครองสิทธิบัตร แต่จะมีขั้นตอนการพิสูจน์ที่ค่อนข้างยุ่งยาก ในไทยจึงตัดปัญหา ให้ใครยื่นก่อนได้ก่อน
  • การเขียนรูปประกอบจะต้องเขียนตามหลักการเขียนแบบ มีเลขหมายระบุแสดงชิ้นส่วนชัดเจน 
(มีเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำถ้าไม่มีความรู้แต่อยากจดสิทธิบัตร)
  • การระบุชื่อสิ่งประดิษฐ์จะไม่ใช้ชื่อเฉพาะ เช่น แว่นตาสุดมหัสจรรย์(ไม่รู้ว่ามหัสจรรย์ตรงไหน) การระบุชื่อจะต้องชัดเจนและสื่อความหมายชัดเจน จะยาวสั้นไม่ว่า เช่น “แว่นตาที่ขาพับเก็บได้”
  • การจดสิทธิบัตรเป็นการตรจสอบความใหม่ ไม่ได้เป็นการตรวจสอบประสิทธิภาพ มีสิทธิบัตรบางอันที่ทำงานจริงได้ไม่ดี แต่เมื่อมีคนนำไปต่อยอดให้ทำงานได้ดีขึ้นเขาจะต้องขอสิทธิจากงานดั้งเดิมเสียก่อน เป็นการสนับสนุนให้คนไทยสนใจการจดสิทธิบัตรมากขึ้น?

สถานที่ขอจดสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร

ส่วนบริหารงานจดสิทธิบัตร สำนักงานสิทธิบัตร กรมทรัพย์สินทางปัญญา โทร 0-2547-4637
หรือ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกแห่ง
https://www.ipthailand.go.th/ipthailand สายด่วน 1368

ภายในจุฬาฯ มีหน่วยงานดูแลเรื่องการขอจดสิทธิบัตร ติดต่อได้ที่
สถาบันทรัพย์สินทางปัญญา แห่งจุฬาฯ อาคารเทพทวาราวดี (คณะนิติศาสตร์) ชั้น 9 หมายเลขโทรศัพท์ 0-2218-2895 https://www.ipi.chula.ac.th

บันทึกโดย พงษ์ศักดิ์ สาระภักดี
วันที่ 17 มิถุนายน 2554
sarapukdee@gmail.com

ดาวน์โหลด บันทึกการขอจดสิทธิบัตร(PDF)

รวมภาพแผ่นดินไหว และคลื่นสึนามิถล่มญี่ปุ่น

ภาพน้ำวนชายฝั่งใกล้เมืองโอเรอิ (REUTERS/Kyodo )

ภาพน้ำวนเกิดขึ้นที่ชายฝั่งบริเวณใกล้เมืองโออาราอิ จังหวัดอิบารากิ ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ในวันที่ 11 มีนาคม 2554 ในช่วงเกิดแผ่นดินครั้งใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ทำให้เกิดคลื่นสึนามิสูงกว่า 10 เมตร พัดเข้าทำลายเรือ รถ อาคารบ้านเรือน สิ่งต่างๆ สร้างความเสียหายอย่างมาก

ภาพไฟไฟม้บ้านหลังโดนทั้งแผ่นดินไหว และคลื่นสึนามิ (REUTERS/KYODO)

ภาพบ้านที่ถูกไฟไหม้ จากเมืองนาโตริ จังหวัดมิยะงิ หลังจากโดนทั้งแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว และคลื่นสึนามิขนาดใหญ่

คลื่นสึนามิขนาดยักษ์(REUTERS/KYODO)

ภาพคลื่นสึนามิขนาดใหญ่ขณะพัดเข้าถล่มเมือง Iwanuma จังหวัดมิยะงิ

สนามบินเซ็นได โดนคลื่นสึนามิ (REUTERS/KYODO)

สภาพสนามบินเซ็นได โดนน้ำท่วมหนัก หลังโดนสึนามิพัดถล่มเข้าใส่

คลื่นสึนามิจากทะเลกำลังเคลื่อนตัวเข้าฝั่ง (Reuters)

ภาพคลื่นสึนามิขนาดใหญ่กำลังเคลื่อนตัวด้วยความเร็วสูงเข้าหาชายฝั่งที่เมืองนาโตริ จังหวัดมิยะงิ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ญึ่ปุ่น วันที่ 11 มีนาคม 2554

คลื่นสึนามิขนาดใหญ่กำลังพัดเข้าชายฝั่ง ( Reuters)

ภาพนี้เป็นภาพคลื่นยักษ์ขนาดใหญ่กำลังพัดขึ้นฝั่ง ภาพนี้ทำให้เห็นความน่ากลัว ขนาดของคลื่นที่ทรงพลังและสูงใหญ่เทียบกับต้นไม้ริมฝั่ง บ้านเรือน รถยนต์ ที่ยากจะต้านทานพลังอำนาจอันน่ากลัวนี้ได้ ที่ชายฝั่งเมืองนาโตริ จังหวัดมิยะงิ

ผู้คนออกจากอาคารสูงมาอยู่ในที่โล่ง (Reuters)

ภาพของผู้คนอพยพออกจากอาคารมาอยู่บริเวณถนนที่โล่ง ในช่วงเกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 8.9 ริกเตอร์ ในเมืองเซ็นได จังหวัดมิยะงิ

เรือถูกคลื่นยักษ์พัด (Reuters)

ภาพเรือถูกแรงของคลื่นยักษ์สึนามิพัดขึ้นฝั่ง จากเมืองอะซาฮิคาวา

บ้านถูกไฟโหมลุกไหม้อย่างหนัก (Reuters)

ภาพบ้านถูกไฟไหม้อย่างหนัก หลังจากแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง ที่จังหวัดอิวะเตะ ประเทศญี่ปุ่น

โรงกลั่นน้ำมันธรรมชาติถูกไฟไหม้ (Reuters)
ไฟไหม้โรงกลั่นน้ำมัน (Reuters)

ถังเก็บก๊าซธรรมชาติไฟไหม้หลังเกิดแผ่นดินไหว ที่โรงกลั่นคอสโม ในเมืองอิชิฮาระ จังหวัดชิบะ ประเทศญี่ปุ่น

คลื่นยักษ์สึนามิ

คลื่นยักษ์สึนามิพัดขึ้นฝั่งที่เมือง Iwanuma จังหวัดมิยะงิ

สนามบินเซ็นได (Reuters)

สนามบินเซ็นได หลังถูกถล่มด้วยคลื่นยักสึนามิ สถาพถูกน้ำท้วมเสียงหายอย่างหนัก

บ้านเรือนจมน้ำ (Reuters)

บ้านเรือน และขยะมากมาย จมน้ำ และมีไฟลุกไหม้ ที่อยู่ใกล้ๆกับสนามบินเซ็นได

บ้านไฟไหม้เป็นบริเวณกว้าง

บ้านเรือนถูกไฟลุกไหม้เป็นบริเวณกว้างหลังแผ่นดินไหว และคลื่นสึนามิถล่ม ที่เมืองนาโตริ จังหวัดมิยะงิ

สนามบินเซ็นได (Reuters)

ผู้คนอพยพขึ้นไปที่ดาดฟ้าสูงของตึก ขณะที่คลื่นสึนามิพัดเอาเครื่องบิน รถยนต์และอื่นๆมากมายไปกับคลื่นยักษ์ ที่สนามบินเซ็นได

ผู้คนบนทางรถไฟฟ้า (Reuters)

ผู้คนเดินทางไปตามทางรถไฟฟ้าหลังจากเกิดแผ่นดินไหว แล้วรถไฟฟ้าหยุดเดินรถทันที

ภาพต่างๆเหล่านี้เป็นภาพที่สลดใจ และแสดงให้เห็นถึงพลังอำนาจของธรรมชาติที่มนุษย์ตัวเล็กๆจะต่อกรได้ ถึงแม้จะมีเทคโนโลยีที่เลิศล้ำปานใดก็ตาม ก็สามารถทำได้เพียงแค่บรรเทาความเสียหายได้เท่านั้น ยากที่จะหยุดยั้งหรือต่อสู้เอาชนะได้

ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนผ่านพ้นเรื่องเลวร้ายนี้ไปได้อย่างเข้มแข็ง

ส่วนภาพเคลื่อนไหวดูได้ที่ คลิปคลื่นสึนามิ หลังแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่น

ที่มา-https://boingboing.net

คลิปคลื่นสึนามิ หลังแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่น

แผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่น ทำให้เกิดสึนามิสูง 4-6 เมตร

ได้ดูคลิปสึนามิ หลังเกิดแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่นในวันที่ 11 มีนาคม 2554 ทำเอาซ็อค ตาค้าง ขนลุก ไปเลย เพราะนี้เป็นครั้งแรกที่ได้เห็นภาพการทำลายล้างของสึนามิ หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว 8.9 ริกเตอร์ แบบชัดๆจากภาพในมุมสูง

ข้อมูลจากช่องเนชั่น กล่าวว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีระบบเตือนภัยที่ดีที่สุดในโลก โดยมีระบบสายเคเบิลและสถานีใต้น้ำ(ไทยใช้ทุ่นลอยน้ำ ล้าหลังกว่ามาก) สามารถเตือนภัยได้ภายใน 4-5 นาทีหลังเกิดเหตุ และเมื่อเกิดแรงสั่นสะเทือนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และรถไฟฟ้า จะถูกปิดตัวอัตโนมัติ และภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ ถือว่าเป็นครั้งร้ายแรงที่สุดของญี่ปุ่น และถูกจัดให้เป็นภัยร้ายแรงอันดับที่ 7 ของโลก

อันที่จริงประเทศญี่ปุ่นได้ประเมินและเตรียมการณ์ว่าแผ่นไหวมีแนวโน้มจะเกิดภายใน 20 ปีนี้ แน่นอนว่าไม่มีระบบใดจะสามารถทำนายการเกิดแผ่นดินไหวได้ ซึ่งญี่ปุ่นคาดการณ์ไว้ที่ 7 ริกเตอร์ ต่ำกว่าความเป็นจริง 8.9 ริกเตอร์ มาก (แตกต่าง 1 ริกเตอร์ พลังงานต่างกัน 30 เท่า)

ใครมีเพื่อนๆหรือญาติติดต่อยังไม่ได้ ให้ติดต่อ ศูนย์ช่วยเหลือคนไทยในญี่ปุ่น 02-575-1046-9 และ 02-643-5000

ผลกระทบสำหรับประเทศไทยจากแผ่นดินไหวครั้งร้ายแรงนี้ กรมอุตุฯ ประเทศไทย บอกว่า คลื่นจะถึงประเทศไทยที่จังหวัดนราธิวาสประมาณตีห้าของพรุ่งนี้ คลื่นจะมีพลังน้อยมากสูงประมาณ 15 เซนติเมตร หรือเรียกได้ว่าแทบไม่รู้สึก แต่อย่างไรก็ตามก็ขอให้ติดตามประกาศจากศูนย์เตือนภัยอย่างต่อเนื่องต่อไปครับ

สามารถดูภาพนิ่งได้ที่ รวมภาพแผ่นดินไหว และคลื่นสึนามิถล่มญี่ปุ่น

ดูคลิปสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่น 1

ดูคลิปสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่น 2

ดูคลิปสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่น 3

ดูคลิปสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่น 4

ที่มา-เนชั่นแชนแนล

Exit mobile version