การเลือกตั้ง 54 เลือกใครดี?

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

การเลือกตั้ง 54 ค่อนข้างได้รับความสนใจสูง เพราะถือเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังจากผ่านวิกฤตทางการเมืองหลายเหตุการณ์ การเลือกตั้งล่วงหน้าทั้งแบบในเขตและนอกเขตในวันที่ 26 มิถุนายน 2554 ที่ผ่านมา มีคนใช้สิทธิ์เพียงแค่ 55.65% ของคนทั้งหมดที่ลงทะเบียนล่วงหน้าไว้ น่าแปลกไหมว่าทำไมคนที่สนใจต้องการใช้สิทธิ์เลือกตั้งของตัวเองจนสละเวลาไปเดินเรื่องขอลงทะเบียนล่วงหน้าไว้ แต่กลับมีจำนวนที่ใช้สิทธิ์น้อยเพียงนั้น ตามที่ฟังจากข่าว ส่วนใหญ่ไปไม่ทัน 15.00 น. เวลาปิดหีบ ผมว่าอันนี้เป็นปัญหาที่ กกต. ต้องนำไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไขในการเลือกตั้งครั้งหน้า ถ้าอยากให้มีเปอร์เซ็นต์ของคนใช้สิทธิ์มากขึ้น

มีอีกเรื่องของกฏหมายที่ไม่ค่อยเข้าใจ คือ คนที่ลงทะเบียนใช้สิทธิ์ล่วงหน้าในวันที่ 26 มิถุนายน 2554 แต่หากว่าไม่ไปลงคะแนน ยังสามารถไปลงคะแนนได้อีกครั้งในวันที่ 3 กรกฏาคม 2554 ได้อีกครั้งในกรณีที่ขอลงคะแนนล่วงหน้าในเขตของตัวเอง(ตามทะเบียนบ้าน) แต่ถ้าขอลงคะแนนนอกเขตไว้ถือว่าหมดสิทธิ์ลงคะแนนไปแล้ว ต้องไปทำหนังสือชี้แจ้งเองถ้าไม่ต้องการเสียสิทธิทางการเมืองจากการไม่ไปเลือกตั้ง แต่ถ้าเราคิดแบบบ้านๆคือในเมื่อคนที่ขอลงคะแนนล่วงหน้าในเขตยังเลือกได้อีกครั้งในวันเลือกตั้งจริง แต่คนที่ลงทะเบียนล่วงหน้านอกเขตถึงหมดสิทธิ์เลือกแล้ว! หรือจะให้ใช้สิทธิ์ในเขตที่ขอลงทะเบียนไว้ก็ยังดี อันนี้ไม่เข้าใจว่าทำไมทำไม่ได้ ทั้งๆที่มันควรจะทำได้และควรจะอำนวยความสะดวกให้เต็มที! (ไม่ต้องยกข้ออ้างเรื่องการโอนชื่อนะ)

เอาล่ะ! มาถึงตัวผม ไม่ได้ลงทะเบียนล่วงหน้าอะไรไว้ทั้งนั้น จะกลับบ้านไปเลือกตั้งที่บ้านเกิด คำถามต่อมาว่าจะเลือกใครดี? ผมมีแนวทางในการพิจารณาแยกเป็นสองกรณีตามสิทธิในการเลือกตั้งคือ การเลือกตัวบุคคล(เขต)กับการเลือกพรรค(บัญชีรายชื่อ)

ขอพูดถึงการเลือกตัวบุคคลก่อน การพิจารณาของผมง่ายมากคือ ยกประโยชน์ให้คนในพื้นที่ เหล่าญาติพี่น้องที่บ้าน เพราะตัวเราดันมาใช้ชีวิตอยู่ กทม.จะกลับที่ก็เฉพาะช่วงเทศการหยุดยาว (อกกตัญญูจริง!) การสอบถามข้อมูลจากคนที่บ้านคงเป็นแนวทางที่ดีที่สุดแล้ว ครันจะไปเลือกตามใจตัวเองโดยไม่ดูคนที่เขาจะใช้ชีวิตตลอดที่บ้านคงไม่ใช่การดีเท่าไหร่นัก เพราะถือว่า ส.ส. เขต คือปากเสียงของคนในเขตนั้น แต่ความจริงคะแนนจากผมคนเดียวคงเปลี่ยนอะไรได้ไม่มากในพื้นที่แถวนั้น พรรคนั้นคงนอนมาอยู่แล้ว ประมาณเดียวกับ ฮีธ เลดเจอร์ เข้าชิงรางวัลออสการ์จากบทโจ๊กเกอร์ในแบตแมน ไร้คู่แข่ง

ส่วนการเลือกพรรค ถือว่าเป็นการเลือกในระดับประเทศ อันนี้จึงจะเป็นวิจารญาณของตัวผมเองทั้งหมด นโยบายของแต่ละพรรคเข้าขั้นโม้เป็นส่วนใหญ่ แต่การเลือก Vote NO อย่างที่พันธมิตรพยายามเชิญชวน อันนี้ไม่ตอบโจทย์อะไรเลย สมมตินะสมมติว่า Vote NO ออกมาเยอะจนมีผลทางกฏหมาย แล้วจะทำอะไรต่อไป? จุดสุดท้ายคืออะไร? ซึ่งเหตุการณ์ Vote NO จะมหาศาลอันนี้เป็นไปได้น้อย ดังนั้น ผมไม่ Vote NO แน่นอน

รู้สึกไหมว่าเราเปลื้องตัวเกินไปกับการบอกว่าชอบใครไม่ชอบใคร โดยเฉพาะในสังคมที่บังคับให้เลือกข้าง เราคอยระวังตัวว่าคนรอบข้างอยู่ฝ่ายไหนกันแน่ ที่ต้องทำแบบนั้นก็เพื่อหลีกเลี่ยงการกระทบกระทั้งกันโดยไม่จำเป็นจากความเห็นต่างแบบสุดขั่ว ที่เขียนแบบนี้เพราะบางคนที่อยู่คนละฝ่ายคุยกันได้นะ บางกลุ่มเท่านั้นที่คุยด้วยไม่ได้ เป็นสังคมที่ดูอึดอัดไหมล่ะ!

ถ้าให้คาด พรรคนั้นคงนอนมาตามโพล ตอนนี้ก็คงมาคิดแล้วว่าจะเลือกพรรคไหนมาเป็นฝ่ายค้านดี…หวังว่าเราจะไม่ได้รัฐบาลจากพรรคอันดับสองแม้มันจะเป็น ครม.ที่ดูดีกว่าพรรคอันดับหนึ่งเยอะก็ตาม แต่มันช่างไม่สง่างามเอาซะเลย ให้เขาจัดตั้งไปเถอะ ยังไงประเทสไทยก็ไม่ล่มลงง่ายๆหรอก!

สุดท้ายไปเลือกตั้งกันเถอะครับ อย่างน้อยตอนวิพากวิจารณ์(ด่า)จะได้พูดได้เต็มปาก

บันทึกสัมมนาการจดสิทธิบัตร

ภาพประกอบจาก https://www.flickr.com/photos/95118988@N00/1497679352/

ไปฟังสัมมนาเกี่ยวกับการจดสิทธิบัตรที่ทางศูนย์บริการวิชาการ จุฬาฯ จัดให้นักวิจัย อาจารย์ นิสิต ได้เข้าอบรมฟรี ผมเห็นว่าน่าจะมีประโยชน์สำหรับคนทั่วไปด้วย จึงนำบันทึกมาเผยแพร่ต่อที่นี้ เผื่อจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นๆด้วย

บันทึกจากงานสัมมนา
เรื่องกระบวนการและแนวทางการจดสิทธิบัตร ผลงานวิจัยและทรัพย์สินทางปัญญา 
เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2554
ณ ห้อง 304 ชั้น 3 อาคารมาจักรีสิรินธร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สิทธิบัตร

-ปัจจุบันใช้ พรบ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 บังคับใช้เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2522 ปรับปรุง พ.ศ.2535, 2542
-เป็นกฏหมายที่มีข้อตกลงร่วมระหว่างประเทศภาคี แต่การจดสิทธิบัตรที่เดียวไม่ได้คุ้มครองทุกประเทศ แต่สามาถเลือกได้ว่าจะจดสิทธิบัตรในประเทศใดบ้างและต้องปฏิบัติตามกฏหมายของประเทศนั้นๆ โดยหน่วยงานของรัฐจะอำนวยความสะดวกให้ในระดับหนึ่ง

สิทธิบัตรไทย แบ่งเป็น 3 ประเภท

  • สิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์
  • สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์
  • อนุสิทธิบัตร (ไม่มีตรวจสอบว่าใหม่จริง)

สิทธิบัตร เป็นเหมือนทรัพย์สิน(โฉนดที่ดิน, หุ้นบริษัทฯ) สามารถโอนให้คนอื่นได้
อนุสิทธิบัตร เป็นการคุ้มครองแบบหลวมๆ ไม่มีการตรวจสอบว่าเป็นสิ่งใหม่จริง ให้ประกาศไปก่อนเพื่อความรวดเร็ว ถ้าหากใครคิดว่าตัวเองทำก่อนก็ค่อยมาฟ้องเพิกถอนสิทธิ (เป็นปัญหามาก) ในการเลือกจดสิทธิบัตรจะเลือกได้เพียงอย่างเดียวว่าจะจดสิทธิบัตร หรืออนุสิทธิบัตร

หลักการขอจดสิทธิบัตร

มีอยู่ 3 ข้อ มีอย่างใดอย่างหนึ่งก็ขอจดสิทธิบัตรได้แล้ว

  • เป็นสิ่งประดิษฐ์ขึ้นใหม่(Novelty)
  • มีขั้นตอนการประดิษฐ์สูงขึ้น(Inventive step)
  • สามารถประยุกต์ทางอุตาหกรรม(Industrial Applicable)

งานที่ไม่สามารถจดสิทธิบัตรได้

มีจุดที่น่าสนใจอยู่คือ สิ่งต่างๆเหล่านี้เรียกว่า “‘งานที่มีอยู่แล้ว” หรือ “ไม่ใหม่” ไม่รับจดสิทธิบัตร

  • มีการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ หรือแสดงผลงานในงานประชุมวิชาการแล้ว แต่มีข้อยกเว้นให้ จะต้องจดสิทธิบัตรภายใน 12 เดือนหลังทำการเผยแพร่ ถ้าเกินเวลาจากนี้แล้วจะจดสิทธิบัตรไม่ได้ เพราะถือว่าได้ประกาศโฆษณาไปแล้ว และถ้าหากยื่นขอจดสิทธิบัตรการคุ้มครองจะย้อนไปถึงวันที่เผยแพร่ผลงาน มีข้อแนะนำจากวิทยากรคือ ให้ยื่นจดสิทธิบัตรไปพร้อมกับส่งตีพิมพ์ในวารสารไปพร้อมกันเลย
  • ถ้่าไปขอจดสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรที่ต่างประเทศแล้ว จะต้องจดในประเทศภายใน 18 เดือน หลังจากนี้จะจดสิทธิบัตรไม่ได้ (ถือว่าลอกผลงานตัวเอง) เช่นเดียวกันเมื่อจดสิทธิบัตรการคุ้มครองจะย้อนไปถึงวันที่ยื่นจดสิทธิบัตรที่ต่างประเทศ

การประดิษฐ์ขึ้นใหม่และขั้นตอนประดิษฐ์ที่สูงขึ้น

การประดิษฐ์เราจะเห็นตัวตนของสิ่งประดิษฐ์ชัดเจน ส่วนขั้นตอนการประดิษฐ์อาจจะมองเห็นไม่ชัดเจนนัก แต่กฏหมายก็คุ้มครองหรือสามาถจดสิทธิบัตรได้ ในกลุ่มที่มีขั้นตอนการประดิษฐ์สูงขึ้น ไม่ได้หมายถึง การใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น แต่หมายถึงการใช้วิธีแก้ปัญหาที่ดีขึ้น ง่ายขึ้น หรือเป็นการแก้ไขปัญหาเดิมด้วยวิธีใหม่ที่ดีขึ้น เช่น การทำไวน์ด้วยวิธีใหม่ การถนอมอาหารแบบใหม่ เป็นต้น

ส่วนการประดิษฐ์ที่สามารถนำมาใช้ในประโยชน์ทางอุตสาหกรรมในต่างประเทศจะมีเพียงในทางอุตสาหกรรม แต่ในประเทศไทยจะเพิ่มส่วนของ หัตถกรรม เกษตรกรรม พาณิชกรรม เข้าไปด้วย ทำเพื่อให้เหมาะสมกับวิถีีชีวิตของคนไทยมากขึ้น

การออกแบบผลิตภัณฑ์ ลวดลาย สี รูปร่าง ได้รับการคุ้มครองสามารถจดสิทธิบัตรได้

มีความแตกต่างกันระหว่างการประดิษฐ์กับการออกแบบ คือ การประดิษฐ์เป็นการคุ้มครองโครงสร้างภายในผลิตภัณฑ์ ส่วนการออกแบบเป็นการคุ้มครองโครงสร้างภายนอกของผลิตภัณฑ์

ผู้มีสิทธิในสิทธิบัตร

  • ผู้ประดิษฐ์ ผู้ออกแบบ
  • ผู้ที่ได้รับการโอนสิทธิ์
  • นายจ้างของผู้ประดิษฐ์ หมายความว่า นายจ้างของผู้ประดิษฐ์จะเป็นคนถือสิทธิ์ แต่ถ้าสิ่งประดิษฐ์นั้นสามารถสร้างรายได้ในทางการค้าได้ ผู้ประดิษฐ์มีสิทธิรับบำเหน็จจากนายจ้างได้ตามสมควร (ถ้าไม่ได้สามารถฟ้องได้ แต่ต้องเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ก่อให้เกิดรายได้)
  • ถ้ามีผู้ประดิษฐ์ร่วมหลายคน ทุกคนมีสิทธิขอรับสิทธิบัตรได้ตามสัดส่วนที่ได้ระบุไว้

สิ่งที่ไม่สามารถจดสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตรได้

  • จุลชีพและส่วนประกอบ ในประเทศไทยถือว่าเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ในต่างประเทศสามารถจดสิทธิบัตรจุลชีพได้ แต่ในไทยไม่อนุญาติและไม่คุ้มครอง มีข้อยกเว้นถ้าจุลชีพนั้นมีการตัดต่อ ตกแต่งให้แตกต่างจากดั้งเดิม สามารถจดสิทธิบัตรได้
  • ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์ เพื่อการพัฒนาของวิทยาการ การถือถือสิทธิบัตรผู้เดียว ถือว่าขัดต่อการพัฒนาทางด้านองค์ความรู้
  • Software จะจดสิทธิบัตรไม่ได้ แต่จะเป็นกฏหมายอีกตัวคือ ลิขสิทธิ์ ซึ่งจะใช้ได้ชั่วชีวิต และต่ออีก 50 ปี หลังผู้ประดิษฐ์เสียชีวิต
  • วิธีการวินิจฉัย บำบัด หรือวิธีรักษาโรคในมนุษย์หรือสัตว์ ข้อนี้ถือเป็นการให้ประโยชน์แก่ทุกคน
  • การประดิษฐ์ที่ผิดต่อศิลธรรม อนามัย สวัสดิภาพของประชาชน

การจดสิทธิบัตรมีค่าธรรมเนียม

  • ค่าธรรมเนียมในแต่ละประเภท(ประดิษฐ์, ออกแบบ, อนุสิทธิบัตร)มีค่าธรรมเนียมต่างกัน แต่จะแพงขึ้นเรื่อยๆในปีหลังเหมือนกัน เป็นการแสดงว่าผู้ถือครองสิทธิได้รับประโยชน์จากสิทธิบัตร
  • อายุของสิทธิบัตรการประดิษฐ์มีอายุ 20 ปี, การออกแบบ มีอายุ 10 ปี ทั้งสองต่ออายุไม่ได้ ส่วนอนุสิทธิบัตรมีอายุ 6 ปี ต่ออายุได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ปี

ผลงานวิจัยกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

การคุ้มครองงานวิจัย มีแนวทางการคุ้มครองได้ 5 ลักษณะ

  • ลิขสิทธิ์ จะเป็นการคุ้มครองทันทีที่ผลิตผลงานออกมาเช่น ข้อความใน paper, รูปภาพ ฯลฯ แต่จะไม่คุ้มครองเนื้องานภายใน
  • แบบผังภูมิวงจรรวม หมายถึงการออกแบบวงจรใหม่ แต่ยังใช้ IC จากคนอื่น เช่น เมื่อนำ Microchip ของ intel มาประดิษฐ์อุปกรณ์ขึ้นมาใหม่ สามารถจดสิทธิบัตรได้ซึ่งจะคุ้มครองส่วนวงจรรวมแต่ไม่ได้คุ้มครอง IC แต่ละตัวที่นำมาใช้
  • ความลับทางการค้า เรียกว่าการจดแจ้ง เปิดเผยข้อมูลบ้างส่วนเท่านั้น เป็นกลุ่มของ Know How ที่เปิดเผยให้คนอื่นรู้ไม่ได้ ในการจดแจ้งจะต้องระบุวิธีการเก็บข้อมูลด้วย เช่น ให้รู้กี่คน เก็บเอกสารยังไง ถ้าไม่ปฏิบัติตามวิธีการเก็บความลับนั้น หากเกิดความลับรั่วไหลจะฟ้องดำเนินคดีไม่ได้
  • การคุ้มครองพันธุ์พืช จะใช้ในงานของกระทรวงเกษตรฯ เป็นกฏหมายอีกฉบับ
  • สิทธิบัตร กลุ่มที่เหมาะสมคือ กลุ่มสิ่งประดิษฐ์ที่เมื่อทำวิศวกรรมย้อนกลับแล้วรู้ว่าทำขึ้นได้อย่างไร เป็นกลุ่มที่ควรจดสิทธิบัตรไว้ เพื่อปกป้องสิทธิของตัวเอง เช่น การประดิษฐ์เครื่องยนต์ การประดิษฐ์อุปกรณ์อำนวยความสะดวก เป็นต้น

ข้อแนะนำก่อนการจดสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร

  • ควรรีวิวมาก่อนว่าเคยมีการประดิษฐ์มาก่อนหรือไม่ ต้องตรวจสอบให้ด วิธีการตรวจสอบคือ การค้นหาสิทธิบัตรในประเทศต่างๆ จากแหล่งข้อมูลเหล่านี้
    -ประเทศไทย https://www.ipthailand.org
    -ประเทศสหรัฐอเมริกา https://www.uspto.gov
    -ประเทศญี่ปุ่น https://www.jpo.go.jp
    -กลุ่มประเทศยุโรป https://ep.espacenet.com
  • ต้องพิจารณาให้ดีว่าจะเลือกจดสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร วิเคราะห์ให้ดีว่าแบบไหนตรงกับงานที่ตัวเองประดิษฐ์
  • ในสิ่งประดิษฐ์ของเราต้องระบุว่าจะคุ้มครองตรงไหนบ้าง การระบุกว้างไปก็ไม่ดี จะทำให้ระบุได้ยากว่าผู้อื่นละเมิดสิทธิบัตรของเราส่วนไหนบ้าง หากระบุแคบเกินไปก็เป็นการจำกัดสิทธิของตัวเอง ข้อนี้สามารถขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ หรือดูตัวอย่างสิทธิบัตรของคนอื่นก่อนหน้าเป็นตัวอย่างได้
  • ในประเทศไทยใครยื่นก่อนมีสิทธิก่อน ต่างจากของอเมริกาจะถือว่าผู้ประดิษฐ์ก่อนคนแรกจะได้ถือครองสิทธิบัตร แต่จะมีขั้นตอนการพิสูจน์ที่ค่อนข้างยุ่งยาก ในไทยจึงตัดปัญหา ให้ใครยื่นก่อนได้ก่อน
  • การเขียนรูปประกอบจะต้องเขียนตามหลักการเขียนแบบ มีเลขหมายระบุแสดงชิ้นส่วนชัดเจน 
(มีเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำถ้าไม่มีความรู้แต่อยากจดสิทธิบัตร)
  • การระบุชื่อสิ่งประดิษฐ์จะไม่ใช้ชื่อเฉพาะ เช่น แว่นตาสุดมหัสจรรย์(ไม่รู้ว่ามหัสจรรย์ตรงไหน) การระบุชื่อจะต้องชัดเจนและสื่อความหมายชัดเจน จะยาวสั้นไม่ว่า เช่น “แว่นตาที่ขาพับเก็บได้”
  • การจดสิทธิบัตรเป็นการตรจสอบความใหม่ ไม่ได้เป็นการตรวจสอบประสิทธิภาพ มีสิทธิบัตรบางอันที่ทำงานจริงได้ไม่ดี แต่เมื่อมีคนนำไปต่อยอดให้ทำงานได้ดีขึ้นเขาจะต้องขอสิทธิจากงานดั้งเดิมเสียก่อน เป็นการสนับสนุนให้คนไทยสนใจการจดสิทธิบัตรมากขึ้น?

สถานที่ขอจดสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร

ส่วนบริหารงานจดสิทธิบัตร สำนักงานสิทธิบัตร กรมทรัพย์สินทางปัญญา โทร 0-2547-4637
หรือ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกแห่ง
https://www.ipthailand.go.th/ipthailand สายด่วน 1368

ภายในจุฬาฯ มีหน่วยงานดูแลเรื่องการขอจดสิทธิบัตร ติดต่อได้ที่
สถาบันทรัพย์สินทางปัญญา แห่งจุฬาฯ อาคารเทพทวาราวดี (คณะนิติศาสตร์) ชั้น 9 หมายเลขโทรศัพท์ 0-2218-2895 https://www.ipi.chula.ac.th

บันทึกโดย พงษ์ศักดิ์ สาระภักดี
วันที่ 17 มิถุนายน 2554
sarapukdee@gmail.com

ดาวน์โหลด บันทึกการขอจดสิทธิบัตร(PDF)

กฎหมายไทย บริจาคหนังสือเสรี มีดีมากกว่าเสีย

ภาพประกอบ โดย libraryman

ได้อ่าน “บริจาคหนังสือเสรี” ประเทศชาติจะฉิบหายจริงหรือ จากประชาไท กล่าวถึงกฎหมายใหม่ที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และถูกประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายแล้ว เป็นกฎหมายส่งเสริมให้คนบริจาคหนังสือให้สถานศึกษา ผ่านทางการขอยกเว้นภาษีจากมูลค่าของหนังสือที่บริจาคได้ถึง 200%

มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย อย่างเช่น มกุฎ อรดี ที่ออกมาให้ความเห็นว่า การบริจาคหนังสือเสรีจะนำมาสู่ความเสียหายของชาติอย่างใหญ่หลวง โดยเน้นไปที่ เป็นช่องทางในการคอรัปชั่น ประโยชน์จากการหักภาษี หนังสือบริจาคที่ด้อยคุณภาพ การครอบงำ-โฆษณาตัวเองของนักการเมืองผ่านหนังสือ มีข้อโต้งแย้งของความเห็นนี้ จากหลายส่วนดูจะฟังขึ้น และเห็นว่ากฎหมายนี้มีดีมากกว่าเสีย ยกตัวอย่าง

“คุณมกุฎบอกว่าการบริจาคหนังสือเป็นช่องทางหนึ่งของการคอรัปชั่น เช่น ไปซื้อหนังสือราคาถูกๆ แล้วเอามาหักภาษีเต็มๆ กับราคาปกหนังสือ มันก็เป็นธรรมดาของประเทศไทยอยู่แล้วที่จะมีการคอรัปชั่น”

-ธนาพล อิ๋วสกุล กองบรรณาธิการวารสารฟ้าเดียวกัน (3)

อันนี้ฟังขี้นมาก ใช้แย้งกรณีคอรัปชั่น คนไม่ดี ยังไงก็หาช่องให้ตัวเองได้เสมอ อีกทั้งยังมองแง่ร้ายแต่ทางเดียว

“ปัญหาคือเราเอาอะไรไปวัดว่า ‘ข้อมูล’ หรือ ‘อุดมการณ์ใด’ เป็นอุดมการณ์ที่ ‘ดี’ ที่ ‘ถูก’ และอุดมการณ์หรือข้อมูลใด ‘ผิด’ หรือเป็น ‘อันตรายต่อความมั่นคงของชาติ’ ? ถ้าเราใช้เหตุผลเช่นนั้นในการ ‘เฝ้าระวัง’ หนังสือ เท่ากับเราก็ยอมรับในแนวคิด ‘พี่ใหญ่’ หรือ ‘คุณพ่อรู้ดี’ เราก็จะไม่มีเหตุผลใดที่จะไปเรียกร้องต่อสู้เวลาที่เขาบล็อกเว็บหรือเซนเซอร์หนัง เพราะนั่นเขาก็อ้างว่าทำเพื่อ ‘ความมั่นคง’ ของชาติ (ประกอบศีลธรรมอันดีด้วย) เช่นกัน”

และอีกประโยค “เราเคยเชื่อหนังสือบางเล่มอย่างหัวปักหัวปำ แต่พออ่านหนังสืออีกเล่ม มันล้างความคิดของหนังสือเล่มก่อนหน้านั้นไปเลย ไม่มีหนังสือเล่มใดหรอกที่จะครอบงำเราได้ตลอดไป และมันมีหนังสือใหม่ๆ รอมาครอบงำเราตลบหลังได้เรื่อยๆ”

-นักเขียนหนุ่มผู้ไม่ประสงค์จะออกนาม (4)

กรณีที่เกรงว่าหนังสือนี้ควรเฝ้าระวัง กลัวเด็กถูกครอบงำ อธิบายได้เห็นภาพ นอกจากนั้น เขายังเสนอการพิมพ์หนังสือออกมาสองเวอร์ชั่นคือราคาถูก กับราคาแพง โดยใช้คุณภาพของกระดาษที่ต่างกัน เพราะหนังสือยังไงมันก็เป็นแค่ตัวหนังสือ มีคุณค่าที่ตัวหนังสือไม่ใช่กระดาษ นี้จะเป็นการเพิ่มเสรีให้ผู้อ่านมากขึ้น นักเขียนท่านนี้เขียนได้ถูกใจมาก อยากรู้จังว่าเป็นใคร

นี้เป็นความเห็นส่วนตัว เมื่อครั้งเราอยู่ชนบทห่างใกล้ ตอนเรียนประถมยังจำได้เลยว่า โรงเรียนเรามีหนังสือในห้องสมุดเพียงไม่กี่เล่ม ตอนมัธยมต้นหนังสือในห้องสมุดถือว่าน้อยมาก ใครยืมไปคนอื่นก็คงไม่ได้อ่าน จนจำกัดการยืมให้แค่ 3 วัน

หนังสือนอกตำราเรียนเรียกว่าน้อยมาก เคยอ่านหนังสือของ ชัยคุปต์ ชื่อเรื่อง มนุษย์และอวกาศ ตอนนั้นบอกได้เลยว่ามันสร้างความตื่นตาตื่นใจให้มาก และเราตั้งคำถามว่าอยากอ่านชุดอื่นๆอีกทำไมไม่มี พอได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาในเมือง ที่มีหนังสือเยอะกว่ามากเรียกได้ว่าเทียบกันไม่ติด เราก็ตั้งคำถามอีกว่า ทำไมที่โรงเรียนเก่าเราไม่มีแบบนี้บ้าง นี้ต่างหากที่เรียกว่าเสรีในการอ่าน ไม่มีให้อ่านแล้วจะเรียกเสรีได้อย่างไร ถ้ากฎหมายนี้จะกระตุ้นให้ภาคเอกชนได้บริจาคหนังสือมากขึ้น เราก็เห็นแสงสว่างเล็กๆที่จะเกิดขึ้น จะได้เห็นหนังสือในห้องสมุดนอกเมืองมากขึ้น การบริจาคหนังสือเสรี คือบริจาคเสรีในการอ่านด้วย

ส่วนเรื่องของหนังสือที่บริจาคจากคนทั่วไปเห็น ถ้าคนที่ตั้งใจจะบริจาคจริงๆ มันคงเยอะกว่าคนที่ตั้งใจหาผลประโยชน์ ไม่อย่างนั้นสังคมมันคงอยู่ไม่ได้มาถึงขนาดนี้หรอก คนเหล่านี้ย่อมต้องคัดเลือกหนังสือที่ตัวเองเห็นว่ามีประโยชน์ให้ห้องสมุด หรือแม้ว่าจะเป็นหนังสือมือสองถูกๆ แต่หนังสือเล่มนั้นก็เคยเป็นหนังสือมือหนึ่งมาก่อน มีคุณค่าที่ตัวหนังสืออยู่แล้วไม่ใช่กระดาษหรือปก

จึงขอสนับสนุนกฎหมายนี้ ป่วยการที่เราจะมัวคำนึงแต่ผลเสียที่จะเกิดจากคนไม่ดีในสังคม

ข้อมูลเพิ่มเติม-voicetv.co.th

Exit mobile version