ถ้าบ้านไฟไหม้ หิ้วของได้จำกัด จะหยิบอะไรออกไปด้วย?

เห็นจากทวีตของพี่ @kaninnit แนะนำเว็บไซต์ theburninghouse.com มีไอเดียเก๋มาก แต่บางคนอาจไม่ชอบก็ได้ ด้วยการตั้งคำถามว่า

“ถ้าบ้านของคุณไฟไหม้ อะไรคือสิ่งที่คุณจะเอาไปด้วย รับรองว่ามันจะเกิดเป็นความขัดแย้งในใจว่าจะเอาอะไรไปดี อะไรที่จำเป็น อะไรที่มีค่า และอะไรที่มีคุณค่าทางจิตใจมากที่สุด ไม่ว่าอะไรก็ตามที่คุณเอาไป จะสะท้อนถึงความสนใจของคุณ ภูมิหลัง และการให้ลำดับความสำคัญกับอะไรบางอย่างเป็นพิเศษ”

คิดซะว่ามันเป็นคำถามที่ถามถึงสิ่งต่างๆเหล่านั้นในคำถามเดียว แทนที่จะถามว่า คุณสนใจอะไร อะไรที่คุณให้ความสนใจเป็นอันดับหนึ่ง ชอบอะไรเป็นพิเศษ ถามเลยสั้นๆ “ไฟไหมบ้าน จะเอาอะไรไป?”

เป็นไอเดียที่เจ๋งมาก แล้วเขาก็เปิดให้คนทั่วไปเข้าไปแชร์อะไรที่คุณจะหยิบไป โดยให้บอกชื่อ ที่อยู่ ทำงานอะไร และบอกว่ารายการของสิ่งที่จะหยิบไป พร้อมทั้งถ่ายรูปมาให้ดูด้วย ส่วนใหญ่ก็ประมาณสิบกว่าชิ้น

ไม่น่าเชื่อว่าของแค่ไม่กี่ชิ้นบอกอะไรเกี่ยวกับเจ้าของได้เยอะมาก เราพอจะเดาได้เลยว่าคนนี้ชอบดนตรี รักสัตว์ (รายการของมีแมว หรือสุนัขด้วย!) นักเขียนที่เขารัก (หนังสือโปรด) ชอบถ่ายรูปเป็นชีวิตจิตใจ บางอันก็รู้เลยเนี้ยต้องเป็นผู้หญิงแน่ๆ (มีเครื่องสำอาง) บางคนถึงกับจัดฉากแสดงสถานการณ์จริงๆ เอาสีดำมาทาหน้าทาตัว พร้อมหอบข้าวของพะรุงพะรังเหมือนกำลังหนีเอาตัวรอดจากไฟไหม้บ้านจริงๆ ทำให้ยิ้มได้เหมือนกันนะ

สรุปว่าชอบไอเดียมากเลย ไม่คิดว่าเรื่องที่น่าจะเศร้าปานนั้นจะทำให้ยิ้มได้(เมื่อมันยังแค่เป็นเรื่องสมมติ) แต่อย่างน้อยก็เตือนใจเราว่าอะไรกันแน่ที่สำคัญกับเราจริงๆ ว่าแล้วเลยลองทำรายของตัวเองบ้าง ทำตามข้อบังคับของ theburninghouse ด้วย อาจจะเอาไปส่งร่วมแชร์กับคนอื่นที่เว็บไซต์ด้วย(คงต้องถ่ายรูปใหม่)

ถ้าบ้านไฟไหม้ จะเอาของต่อไปนี้ไปด้วย

ของที่จะเอาไป ในรูปไม่มีกล้องนะเพราะใช้ถ่ายรูปนี้อยู่

Name: Pongsak Sarapukdee
Age: 28
Location: BKK, Thailand
Occupation: Research Assistant
Website: https://www.amphur.in.th
List:

  • Macbook
  • Nokia N76
  • iPod
  • Headphone
  • Wallet
  • Momoo, Cocoa, Kekee (TEDDY BEAR)
  • Canon DSLR 600D(Kiss X5)
  • Wristwatch
  • External HDD

ลองคิดรายการสิ่งของที่คุณจะเอาไปด้วยดูนะครับ  แล้วเอามาแชร์ดูบ้าง มันบอกอะไรหลายอย่างในตัวคุณเองได้เยอะเลย ถ้าจะให้เข้ากับสถานการณ์ของไทย อาจบอกว่า “ถ้าน้ำท่วมบ้าน จะหยิบอะไรออกไปด้วย” ลองคิดเล่นๆดูสนุกดีครับ

อ้างอิงเว็บไซต์: https://theburninghouse.com

เมื่อ Extension บางตัวของ Chrome แอบเพิ่มโฆษณาลงในหน้าเว็บ

โฆษณานี้โผล่มาอยู่ด้านล่างของเว็บไซต์ได้ไง

แปลกใจมากที่อยู่ๆโฆษณาก็โผล่มาในเว็บได้ไง ทั้งๆที่ไม่ได้ติดอะไรลงไปเลย อันดับแรกเข้าไปดูในโค้ดเว็บไซต์ก่อน พบว่าไม่มี ลองเปิดด้วยบราวเซอร์ตัวอื่น (Safari, Firefox ใช้ Chrome เป็นตัวหลัก) พบว่าตัวอื่นไม่เจอ นอกจากนี้ลองเปิดเว็บไซต์อื่นๆก็มีขึ้นมาในลักษณะเดียวกันในบางเว็บไซต์ แสดงว่ามีปัญหาที่ Chrome แน่ๆ สิ่งต่อไปที่คิดถึงคือ น่าจะมี Extension บางตัวที่เป็นตัวใส่โฆษณานี้เข้ามา ดันลองไปปิด Extension ทีละตัวแล้วรีเฟรชดู ว่าหายไปหรือเปล่า ไม่ยอมอ่านข้างล่างโฆษณาที่เขียนบอกไว้แล้ว

“This ad is supporting your extension Enhancements for Gmail” ตัวการอยู่นี้เอง มันเป็น Extension ที่ทำให้ Gmail ไม่มีโฆษณา แต่ตัวเองดันเอาโฆษณามายัดให้คนดูซะงั้น แต่ทำได้เนียนมาก ถ้าไม่เขียนบอกไว้ข้างล่างโฆษณาคงหาลำบากมาก ว่ามันมาจากไหนเพราะติด Extension ไว้ประมาณสามสิบตัวกว่าๆ

ตัวการเพิ่มโฆษณาเข้ามาในหน้าเว็บไซต์ที่เราเปิดดู

วิธีแก้ไขก็ไม่ยาก ก็ลบ Enhancements for Gmail หรือใครไม่อยากลบก็เข้าไปตั้งค่า Extension ดูตามลิงค์ข้างล่างของโฆษณา แต่ผมลบไปแล้ว

เมื่อลบทิ้งไปตอนนี้รีเฟรชเว็บไซต์ก็ไม่ขึ้นมาแล้ว ผมไม่แน่ใจว่าตอนติดตั้งมันได้เตือนเราหรือเปล่า ว่าจะมีโฆษณาแทรกไปในเว็บไซต์ที่เราเปิดดู แต่ถึงแจ้งก็ไม่ค่อยมีคนอ่านกัน คิดว่าน่าจะมี Extension แนวนี้อยู่อีกเพียบ  ใครเจอแจ้งเตือนด้วยนะครับ

ความจริงแล้วมันก็ไม่เป็นอันตรายอะไรกับเครื่องเราหรอกนะครับ แต่อาจสร้างความรำคาญในผู้ใช้บางคนเท่านั้นเอง เลยเอามาเล่าให้ฟัง

Mark Zuckerberg – Inside Facebook สารคดีจาก BBC

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก: ผู้ก่อตั้ง และซีอีโอ, Facebook

ภาพยนต์สารคดี Mark Zuckerberg – Inside Facebook ของ BBC ออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2011 ความยาว 59 นาที ออนไลน์มาเป็นเดือนแล้วแต่ไม่มีเวลาได้ดูวันนี้นึกยังไงไม่รู้มาเปิดดู เรื่องอาจจะเป็นเรื่องที่เราพอรู้อยู่บ้างแล้ว แต่ก็ดูได้เพลินๆ เนื้อหามีบทสัมภาษณ์พิเศษของ มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก, อาจารย์ ม.ฮาร์วาร์ด, เพื่อนสมัยเรียนมหาลัย(Joe Green-จำไม่ได้ว่าตาคนนี้อยู่ในหนังด้วยหรือเปล่า?) ,พนักงานใน Facebook  ประวัติความเป็นมาของ Facebook มีการหาความจริงจากหนังเรื่อง Social Network ด้วย (เป็นหนังอีกเรื่องที่เราชอบมาก) ที่สร้างจากหนังสือที่มองในมุมของคนคนเดียว มีข้อมูลค่อนข้างเป็นปัจจุบันเพราะมีทั้ง Timeline ที่เพิ่งเปิดตัวไป และสำนักงานแห่งใหม่

ในสารคดีชุดนี้แสดงให้เห็นว่า Facebook เอาข้อมูลของผู้ใช้อย่างเราไปทำมาหากินยังไง การโฆษณาที่เจาะเฉพาะกลุ่มได้ตรงเป้าที่สุดอย่างที่ Google เจ้าพ่อโฆษณาออนไลน์ทำไม่ได้ แม้ว่า Facebook จะเอาข้อมูลส่วนตัวเราไปใช้ แต่ก็เหมือนว่าทุกคนก็เต็มใจให้(หรือไม่รู้ว่าเอาไปใช้) อาจจะเป็นเพราะเราก็ได้ประโยชน์จาก Facebook เหมือนกันจะมองว่า Win Win ก็คงได้เพราะมันเป็นที่ทำให้เราได้พบปะเพื่อนของเรา และนี้อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เรามองข้ามเรื่องความเป็นส่วนตัวไป

เข้าไปดูสารคดีชุดนี้ได้ที่นี้ครับ https://www.youtube.com/watch?v=tlQbtNn3-vI

เปิด Facebook Page ให้บล็อก

ลิงค์ของ Facebook ที่อยู่ในช่องติดตาม Amphur Blog จะเป็นลิงค์ไปที่หน้า Profile ของผมโดยตรง ซึ่งตอนนี้มีเพื่อนอยู่หลายคนพันแล้ว เข้าใจว่ามีเพื่อนหลายคนที่เข้าไปผ่านทางบล็อกนี้ แต่ก่อนก็รับ friend request เกือบทุกคน แต่หลังๆไม่ไหวแล้ว มันจะเยอะแล้ว และยังมีคนส่ง request ไปประมาณวันละ 2-3 คน(ไม่รู้ว่าจากไหนแน่) เลยคิดว่าตัวเองจะรองรับปัญหานี้ยังไง รู้สึกว่ามันปนกันมั่วไปหมด ความจริงแล้ว facebook ทำไว้รองรับอยู่แล้ว แต่เราดันใช้ผิดประเภท เอา Profile ไปรวมกับ Page ตอนแรกคิดจะเปลี่ยนตัว Profile ให้เป็น Page ซะเลย! แต่ขี้เกียจจะต้องมา add friend ใหม่ เอาแบบนี้น่าจะดีสุด คือสร้าง Page ของบล็อกขึ้นมาดีกว่า แต่ส่วน facebook ส่วนตัวเพื่อนคนไหนอยากเป็นเพื่อนยังเข้าไปดูได้ที่ about me ครับ

Amphur Blog on Facebook

Amphur Blog Page : https://www.facebook.com/amphur.in.th

มีอีกอย่างที่เปลี่ยนแปลง ปกติจะดึง feed จากบล็อกไปแสดงที่ facebook ด้วย Networkblog แม้จะมีข้อดีหลายอย่าง เช่น คนอื่นสามารถ follow ได้ มี widget ให้ แต่มันก็มีข้อเสียที่ไม่ชอบคือมันย่อ URL เวลาคลิกเข้าไปแล้ว URL ที่เห็นยังเป็นของ Networkblog อยู่ อีกทั้งมันยังมีอาการส่ง feed ช้าบ้าง เร็วบ้าง ใน Page นี้เลยลองเปลี่ยนมาใช้อีกตัวคือ RSS Graffiti ซึ่งได้รับความนิยมไม่น้อยเช่นกัน ไม่รู้ว่าจะดีแค่ไหน? ต้องลองใช้ดูซักพักก่อน

คลิก Like ได้ที่ด้านข้างเลยครับ สุดท้ายฝากแชร์ Amphur Blog Page ด้วยนะครับ

รีวิวสมุดหน้าเหลืองออนไลน์ TYPLive.com

ในโพสนี้ได้รับการสนับสนุนจาก Yellowpages.co.th ในการรีวิวการใช้งานสมุดหน้าเหลืองออนไลน์ครับ ต้องขอขอบคุณทีมงานมา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ ที่ให้โอกาสและไว้วางใจให้รีวิวครับ

ผมเชื่อว่าหลายคนน่าจะมีโอกาสได้เคยใช้สมุดหน้าเหลืองที่เป็นเล่มกระดาษ มันอยู่มานานมาก ถ้าพูดถึงสมุดหน้าเหลือง สิ่งแรกที่คิดถึง คือ หาเบอร์โทรศัพท์ของบริษัทหรือคนทั่วไป จำได้ว่าล่าสุดเคยใช้ตอนที่อยู่ในตู้โทรศัพท์สาธารณะเมื่อนานมาแล้ว ตอนนี้ที่ใต้ตึกอพาร์ตเม้นต์ก็ยังมีอยู่เล่มหนึ่ง น่าจะเป็นแนวทางการทำธุรกิจของสมุดหน้าเหลืองที่เอามาวางไว้ตามที่พักอาศัย ให้คนได้ใช้กันเยอะๆ อันนี้อยากรู้ที่มาของรายได้ของสมุดหน้าเหลืองเหมือนกันนะว่ามีช่องทางการทำธุรกิจอย่างไร? แต่ก่อนเราเคยใช้เฉพาะเป็นเล่ม ก็เพิ่งรู้เหมือนกันว่ามีเวอร์ชั่นออนไลน์ด้วย น่าจะมีมานานแล้วเช่นกัน (ตั้งแต่ปี 2000)

ในโพสนี้จะเป็นการแนะนำการใช้งาน สมุดหน้าเหลืองฉบับออนไลน์ ใช้งานผ่านทางอินเตอร์เน็ต โดยเรียกกันสั้นๆว่า เว็บหน้าเหลือง ใช้สำหรับค้นหาเบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่ของห้างร้านต่างๆ รวมถึงที่ตั้ง แผนที่ และช่องทางการติดต่อกับบริษัทที่เราสนใจ ในขั้นต้นจะทำความรู้จักก่อนว่าเว็บหน้าหลืองทำอะไรได้บ้าง ผมได้คู่มือการใช้งานมา ได้อ่านและได้ทดลองใช้จริงๆ อยู่พักหนึ่ง เพื่อดูว่ามันทำงานได้ดีมากน้อยแต่ไหน และน่าจะมีประโยชน์กับใครบ้าง ทีมงานจากเว็บหน้าเหลืองค่อนข้างให้อิสระในการรีวิวตามความเป็นจริง เราทดลองใช้แล้วรู้สึกยังไงกับผลิตภัณฑ์ก็ให้เขียนได้เต็มที่ ติดตามการรีวิวได้เลยครับ

แนะนำการใช้งานสมุดหน้าเหลืองออนไลน์

1. เข้าใช้งานเว็บหน้าเหลืองได้ที่ Yellowpages.co.th หรือ TYPLive.com
2. หน้าแรก ออกแบบเน้นโทนสีเหลืองตามคอนเซ็ปต์(ดูรูป) หลังบ้านใช้ระบบค้นหาข้อมูล Fast search & Transfer  ของบริษัทจากนอร์เวย์ ที่ตอนนี้เป็นของ Microsoft แล้ว ซื้อมาตอนปี 2008 ($1.2 billion)
หน้าหลักของเว็บสมุดหน้าเหลืองออนไลน์
จุดเด่นของหน้าหลักที่ชอบเป็นพิเศษคงเป็นช่องค้นหาที่ใหญ่ ตักษรตัวใหญ่ ใช้ฟอนต์ RSURegular อ่านง่ายดีครับ(ต้องลองเอาไปใช้บ้าง) เป็นเว็บไซต์ที่ได้รางวัล ผู้เข้าชมมากที่สุดในหมวดเว็บไซต์ธุรกิจในปี 2010

3. ฟังก์ชั่นหลักในเว็บหน้้าเหลือง คือการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจต่างๆในประเทศไทย สามารถเลือกค้นหาตามคีย์เวิร์ด สถานที่ หรือตามหมวดหมู่ก็ได้ เรื่องของข้อมูลบนเว็บไซต์ ทีมงานเว็บหน้าเหลืองเคลมว่าข้อมูลผ่านการตรวจสอบแล้วว่า มีความถูกต้องและมีอยู่จริง!!!
ช่องค้นหา
  • ค้นหาเยลโล่เพจเจส คือ การค้นหาข้อมูลธุรกิจตามคีย์เวิร์ด พร้อมกับระบุที่อยู่ได้ตามต้องการ (ช่องใหญ่ดี)
การค้นหาข้อมูลธุรกิจแบบแบ่งตามหมวดหมู่
  • ค้นหาตามหมวดหมู่ จะแยกหมวดหมู่ของธุรกิจตามตัวอักษรนำหน้า อันนี้คล้ายกับตอนเลือกเพลงร้องคาราโอเกะ
ค้นหาด้วยภาพ
  • ค้นหาด้วยภาพ ในฐานข้อมูลธุรกิจบ้างอันมีภาพประกอบ เช่น วัสดุก่อสร้าง การจัดดอกไม้ ค้นที่นี้จะเจอภาพประกอบเหล่านั้น จากนั้นเราก็เข้าไปดูรายละเอียดของบริษัทที่เราสนใจได้เลย การค้นหาด้วยภาพน่าจะนำคนเข้าถึงข้อมูลที่สนใจได้ง่ายขึ้น
ค้นหาจากเบอร์โทรศัพท์
  • แต่ถ้ามีเฉพาะเบอร์โทรแต่ไม่รู้ว่าเป็นเบอร์โทรของบริษัทอะไร อยู่ที่ไหนก็ให้ใช้ช่องค้นหาแบบ ค้นหาจากเบอร์โทร
ค้นหาชื่อ
  • ค้นหาบุคคล ส่วนนี้ใช้ค้นหาบุคคลตามชื่อ-นามสกุล เพื่อหาเบอร์โทรศัพท์ของเขา ซึ่งจะได้รายละเอียดเป็นเบอร์โทรบ้าน
4. ส่วนต่อไปที่น่าสนใจอีกอย่าง คือ ค้นหาตามแผนที่ เมื่อคลิกที่ ค้นหาด้วยแผนที่ จะนำเข้าสู่ https://map.yellowpages.co.th ซึ่งจะเป็นส่วนของธุรกิจที่อยู่บนแผนที่ ทำให้เราสามารถเลือกกลุ่มธุรกิจที่สนใจตามแผนที่ได้สะดวกมากขึ้น
ค้นหาธุรกิจบนแผนที่
5. ส่วนค้นหา ร้านค้าออนไลน์ จะเป็นการค้นหาร้านค้าที่มีสินค้าขายออนไลน์ หรือ e-commerce โดยจะลิงค์ข้อมูลกับเว็บ https://www.marketthai.com  เพิ่มความสะดวกในการจะสั่งซื้อสิ้นค้าและบริการผ่านทางหน้าเว็บไซต์

6. เว็บไทย จะเป็นส่วนของการค้นหาเว็บไซต์ของบริษัทต่างๆที่มีข้อมูลอยู่ในเว็บหน้าเหลือง เมื่อกดลิงค์จะนำเข้าสู่เว็บไซต์ของบริษัทนั้นๆเลย

7. หมายเลขฉุกเฉิน-หมายเลขสำคัญ เป็นหน้ารวมหมายเลขแจ้งเหตุ เช่น เหตุด่วนเหตุร้าย ไฟไหม้ หน่วยกู้ชีพ ตำรวจทางหลวง ฯลฯ
หมายเลขฉุกเฉิน
8. หมวดหมู่ที่ค้นหามากที่สุด จะแสดงอยู่ในส่วนด้านล่างของ หมายเลขฉุกเฉิน ส่วนนี้ทำให้รู้ว่าส่วนใหญ่คนที่เข้ามาในเว็บหน้าเหลืองใช้งานส่วนไหนเยอะสุด ทำให้การเข้าถึงข้อมูลส่วนนั้นๆทำได้ง่ายขึ้น

9. ส่วนอื่นๆที่น่าสนใจ เช่น สาระน่ารู้ และ ข้อมูลทางด้านธุรกิจ เช่น อัตราการแลกเปลี่ยนเงิน ราคาน้ำมัน ราคาทองคำ ฯลฯ จะอยู่ส่วนล่างของหน้าเว็บหน้าเหลือง

TYP LIVE CONNECT

ส่วนนี้ถือว่าเป็นอีกหนึ่งฟีเจอร์ที่น่าจะมีประโยชน์กับการติดต่อกันระหว่างลูกค้ากับบริษัทที่มีข้อมูลอยู่บนเว็บหน้าเหลือง คือ การติดต่อกับบริษัทที่อยู่บนเว็บไซต์ได้โดยตรง ผ่านทางหน้าเว็บไซต์ได้เลย ถ้าเราเป็นเจ้าของธุรกิจก็ต้องโหลดโปรแกรม TYP LIVE ไปติดตั้งที่เครื่องก่อน เมื่อออนไลน์เหมือนเล่น MSN ที่หน้าเว็บหน้าเหลืองส่วนที่แสดงรายละเอียดของบริษัทจะแสดงสถานะให้ลูกค้าเห็นว่า ตอนนี้เจ้าของธุรกิจออนไลน์อยู่ สามารถสนทนาผ่านทางข้อความหรือเสียงได้เลยทันที ส่วนนี้ถือว่าเพิ่มโอกาสให้กับธุรกิจของตัวเองอย่างมาก สำหรับการติดต่อกับลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว ช่วงที่ลูกค้าเข้ามาค้นข้อมูล คือ ช่วงที่เขาต้องการรายละเอียดมากที่สุด บริษัทไหนเสนอข้อมูลมาก่อน ให้รายละเอียดได้ดีกว่า ลูกค้าย่อมให้ความสนใจมากกว่าเช่นกัน ผู้ใช้งานที่เป็นลูกค้าก็พอใจที่ได้ข้อมูลตามต้องการ อีกทั้งยังได้รายละเอียดครบถ้วนมากกว่าอยู่บนเว็บไซต์ อันนี้เป็นฟีเจอร์ที่มีแนวคิดดีมาก

ถ้าเป็นเจ้าของธุรกิจเมื่อเริ่มทำงานก็ล็อกอินรอลูกค้าติดต่อมาได้เลย หรือจะออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อรอให้บริการ ถือเป็นผลดีต่อบริษัทแน่นอน

รายละเอียดโปรแกรม ดาวน์โหลดและติดตั้งโปรแกรม TYP Live Connect ได้ที่ https://connect.typlive.com
 
YellowPages on mobile
Yellowpage on mobile
การใช้งานสมุดหน้าเหลือออนไลน์สามารถใช้งานได้ผ่านทางมือถือได้เช่นกัน ตอนนี้มี App ให้ดาวน์โหลดฟรีทั้งบน iPhone/iPad, Android, Blackberry เริ่มเห็นมีหลายบล็อกรีวิวเหมือนกันครับลองค้นดู รูปแบบการใช้งานครอบคลุมเหมือนอยู่บนเว็บไซต์ แต่เข้าถึงได้ง่ายกว่า ดูลิงค์ดาวน์โหลดได้ที่นี้ครับ https://www.yellowpages.co.th/mobile

การใช้งานจริง หน้าหลักค้นหาบริษัท

ส่วนที่เป็นการค้นหาหลักของเว็บหน้าเหลืองที่ได้ลองใช้งานจริง เอาตัวอย่างมาให้ดูครับ
ทดลองใช้งาน
เมื่อพิมพ์คำค้นหาเข้าไปก็จะมีคำแนะนำขึ้นมาให้เพื่อง่ายต่อการค้นหา ผมพิมพ์คำว่า ก่อสร้าง คำแนะนำที่เกี่ยวข้องก็จะแสดงขึ้นมาให้เลือก หลายอย่างเช่น ก่อสร้าง-นั่งร้าน ก่อสร้าง-วัสดุ ก่อสร้างรับเหมาทั่วไป เป็นต้น

เมื่อเลือกค้นหาตามที่ต้องการได้แล้ว ผลการค้นหาจะแสดงรายละเอียดดังนี้ครับ
การแสดงผลการค้นหา
ข้อมูลที่แสดง มีชื่อบริษัท ทำธุรกิจหรือบริการอะไร ตัวอย่างภาพที่เกี่ยวข้องกับงานของบริษัท และข้อมูลที่จะติดต่อกับบริษัทได้ทางใดได้บ้าง (มีอีเมล มีเว็บไซต์ มีเบอร์โทรศัพท์ ฯลฯ) ถ้าบริษัทไหนมี TYP Live Connect ก็จะแสดงสถานะว่าออนไลน์บนหน้านี้ด้วย(ต้องลงโฆษณา) จากหน้านี้เราสามารถคลิกเลือกเพื่อเข้าไปดูรายละเอียดแบบสมบูรณ์ได้ หรือจะเลือกหลายๆบริษัทเพื่อเปรียบเทียบกันได้(เหมือนกำลังเลือกซื้อสิ้นค้า)
หมวดหมู่ย่อย
นอกจากนี้เรายังสามารถทำการเจาะผลการค้นหาเพิ่มเติมได้อีก โดยระบุจังหวัดที่ตั้งของบริษัทได้ หรือ เลือกหมวดหมู่ย่อยของคำค้นหานั้นได้อีก เช่น ถ้าค้นคำว่า ก่อสร้าง ก็จะมีหมวดหมู่ย่อยให้เลือกอีก เช่น หมวดหมู่ ไม้ เหล็ก ผู้รับเหมา วิศวกร ที่ปรึกษา เป็นต้น

ตัวอย่างหน้าแสดงรายละเอียดของบริษัท มีชื่อ เบอร์โทร โทรสาร อีเมล แผนที่ ฯลฯ
ตัวอย่างรายละเอียดของบริษัทในสมุดปกเหลืองออนไลน์
การค้นหาจากแผนที่

การทดลองค้นหาในเมนูค้นหาจากแผนที่ เราสามารถระบุคีย์เวิร์ดพร้อมกับสถานที่ลงไปในช่องค้นหาได้เลย  รูปแบบการใช้งานจะใกล้เคียงกับบนแผนที่กูเกิลครับ ทดลองค้นคำว่า ก่อสร้าง สถานที่ กรุงเทพ ผลการการค้นหาแสดงดังรูปด้านล่าง
ผลการค้นหาด้วยแผนที่
การค้นหาจะแสดงที่ตั้งของบริษัทบนแผนที่ประเทศไทย มีทุกจังหวัดนะครับ ไม่ใช้เฉพาะในกรุงเทพฯ ทำให้เราเลือกดูได้เฉพาะกลุ่มบริษัทที่อยู่ใกล้ที่อยู่ของเราได้ ส่วนแถบด้านซ้ายเป็นรายชื่อของบริษัทตามคำค้นหาที่เราใส่เข้าไป  (ถ้าเอาเมาส์ไปวางที่รายชื่อบริษัทตรงแถบซ้าย แล้วมีเอฟเฟ็กบอกตำแหน่งบนแผนที่เลย จะดีมาก)
แสดงรายละเอียดของบริษัท
เมื่อเราคลิกที่ตำแหน่งของที่ตั้งบริษัทจะแสดงรายละเอียดของบริษัทนั้นขึ้นมา มีชื่อ เบอร์โทร สามารถคลิกไปดูรายละเอียดแบบสมบูรณ์ได้ และสามารถขอเส้นทางไปยังที่ตั้งของบริษัทนั้นได้เลย
ของเส้นทางไปบริษัท
ลองคลิกขอเส้นทางไปที่บริษัทหนึ่ง ระบุตำแหน่งที่เราอยู่(A) ไปสถานที่ตั้งบริษัท(ฺB) ระบบจะแสดงเส้นทาง และรายละเอียดของการเดินทางให้

ความเห็นเพิ่มเติม

ในขั้นตอนการใช้งานจริงผมได้ทดลองเล่นอยู่หลายวัน และบันทึกสั้นๆเกี่ยวกับการใช้งานไว้มีทั้งที่ชอบไม่ชอบ และคิดว่าจะเป็นประโยชน์กับทีมพัฒนาให้มีการปรับปรุงแก้ไขต่อไปครับ

  • มี bug อยู่บ้าง เช่น ถ้าอยู่หน้าแสดงรายละเอียดของบริษัท(https://profile.yellowpages.co.th/xxxxxx) จะไม่สามารถใช้งานการค้นหาตามหมวดหมู่ได้
  • ถ้าคิดจะค้นหาหลายครั้งต่อเนื่องกัน จะรู้สึกว่าการซ่อนช่องค้นหาในหน้าแสดงผลจะไม่ค่อยสะดวก ที่ต้องมาเปิดกล่องใหม่ทุกครั้ง อยากให้ทำแบบเดียวกับกูเกิลคือทำให้ช่องค้นหาเล็กลง(เฉพาะหน้าแสดงผลการค้นหา)แต่ไม่ต้องซ่อน
  • หน้าเว็บโหลดช้าไปนิด น่าจะทำได้เร็วกว่านี้  page speed  ได้ 71/100
  • หน้าแสดงผลการค้นหาโชว์เนื้อหาได้น้อยไป ทำให้ต้องเลื่อนลงมาดูตั้งแต่ครั้งแรก เพราะมองไม่เห็นข้อมูลเลย โดยเฉพาะหน้าที่มีการค้นหาเยอะจะมีโฆษณาเข้ามาขั้นอีก
ค้นคำว่า ก่อสร้าง ต้องเลื่อนหาข้อมูลตั้งแต่แรกเพราะอยู่ล่างเกินไป
  • หน้าค้นหาในแผนที่ ช่องค้นหาใหญ่เกินไป หรือจะบอกว่าส่วน header มันใหญ่ไป ทำให้แผนที่ที่แสดงในหน้าเว็บถูกกินเนื้อที่เหลือช่องดูแผนที่น้อยลง ถ้าเอาขึ้นไปอยู่แถบเหลืองด้านบนได้จะดีมาก
หน้าค้นหาด้วยแผนที่
– ในหน้าของ category (ยกตัวอย่าง ) คิดว่าด้านบนควรมีให้เลือกจังหวัดได้ด้วย เพื่อความสะดวกในการค้นหา เหมือนการค้นหาในหน้าหลัก
ผลการค้นหาจากการเลือกหมวด(ด้านบน) ไม่มีการค้นหาแบบเจาะจงจังหวัดได้
  • ในหน้าแสดงข้อมูลแบบหมวดหมู่ จะเลือกเปรียบเทียบตัวเลือกไม่ได้
  • การค้นหาด้วยภาพ ค่อนข้างให้ผลไม่ตรงเท่าไหร่ ในกรณีที่คำค้นนั้นมีธุรกิจน้อย เช่น ค้นคำว่า จักรยาน จะเจอภาพไม่เกี่ยวข้องเยอะกว่าจักรยาน แต่ถ้าลองค้นคำว่า เสาปูน หรือดอกไม้ ค่อนข้างให้ผลการค้นหาที่ถูกต้อง
  • ในหน้าหลัก หมายเลขฉุกเฉิน-หมายเลขสำคัญ ผมว่าหาความแตกต่างได้น้อย รวมกันน่าจะดีกว่า ผมเองกดเข้าไปดูหลายครั้งยังจำไม่ได้เลยว่า เบอร์โทรแจ้งไฟไหม้ต้องคลิกปุ่มไหน?
  • ส่วนค้นหาบุคคล ส่วนนี้ลองค้นดูแล้ว มันจะแสดงผลการค้นหาเรียงตามตัวอักษรของชื่อ เช่น เมื่อค้นด้วยคำว่า “สมศักดิ์”  จะเจอชื่อ “กมล  อรุณโชคสมศักดิ์ ” มาก่อน “สมศักดิ์  กิ่งรัตน์”
สรุป
เว็บหน้าเหลืองถือว่าตอบโจทย์การค้นหาบริษัท ห้างร้าน ธุรกิจ ในประเทศไทยค่อนข้างครบถ้วน เราคงหาผลการค้นหาแบบเป็นเฉพาะบริษัทล้วนๆในกูเกิลไม่ได้แน่นอน ถือว่าสนับสนุนธุรกิจของประเทศไทยได้อย่างดี ทำให้ลูกค้ากับผู้ให้บริการเจอกันได้ง่ายขึ้น แต่คิดว่ายังมีหลายส่วนที่ต้องพัฒนาเพิ่มเติมตามที่ได้กล่าวถึงข้างบน โดยเฉพาะการค้นหาที่รวดเร็วยิ่งขึ้น และคิดว่าเอารูปแบบการแสดงผลการค้นหาของกูเกิล หรือ Bing มาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบน่าจะดีนะครับ จะทำให้ประสบการณ์การใช้งานของคนใช้ทั่วไปไม่รู้สึกว่าแปลกแยกมากนัก(ส่วนใหญ่คุ้นเคยกับกูเกิล)

ผมพอจะรู้แล้วว่าเยลโล่เพจเจส หาเงินจากไหน มันคือธุรกิจที่เป็นเหมือนช่องทางเชื่อมระหว่างลูกค้ากับผู้ให้บริการ ห้างร้าน ฯลฯ คนที่ยอมจ่ายตังค์ให้ คือ ผู้ให้บริการที่อยากให้บริษัทตัวเองเป็นที่รู้จักมากขึ้นนั้นเอง

รวมเครื่องมือทดสอบการแสดงผลเว็บไซต์

Browser test

Smashing Magazine รวมเครื่องมือทดสอบการแสดงผลเว็บไซต์ของแต่ละ browser ไว้อย่างครบถ้วน ละเอียดมาก เห็นว่าน่าสนใจและเคยเขียนถึงตัวหนึ่งไว้เหมือนกันลองดูได้ที่ Adobe BrowserLab เครื่องมือทดสอบการแสดงผลเว็บไซต์ ในลิสต์ที่เขารวบรวมไว้จะมีทั้งตัวที่สามารถใช้ได้เลยผ่านทางเว็บไซต์ และตัวที่ต้องติดตั้งลงเครื่อง ตัวไหนที่ดีมี suport รองรับก็ต้องจ่ายตังค์ บริษัททำเว็บใหญ่ๆอาจจะต้องใช้ สำหรับใช้ในงานไม่ใหญ่มากแบบฟรีก็คงเป็นอะไรที่เหมาะสมแล้ว

ผมดึงมาเฉพาะตัวที่มีเวอร์ชั่นฟรีให้ใช้ หากใครสนใจอยากดูรายละเอียดแบบเต็มตามไปดูบทความของ Cameron Chapman ได้ที่ Review Of Cross-Browser Testing Tools คิดว่าน่าจะมีประโยชน์กับคนทำเว็บ

Tool Number of browser versions supported IE? Interactive testing? Side-by-side testing? Pricing
Adobe BrowserLab 13 IE6+ No Yes Free
Browsershots 60+ IE6+ No No Free
SuperPreview Varies IE6+ Yes Yes Free
Lunascape 3 IE6+ Yes Yes Free
IETester 6 versions of IE IE5.5+ Yes Yes Free
IE NetRenderer 5 versions of IE IE5.5+ No No Free
Spoon 16+ no IE Yes No Free
Browsera 9 IE6+ No Yes Free – $99/month
Browserling 9 IE5.5+ No No Free – $20/month

Google search by image ใช้ภาพแทนข้อความในการค้นหา

Search by image หรือ การค้นหาด้วยภาพ เป็นอีกหนึ่งบริการค้นหาข้อมูลของ Google ที่ใช้ภาพแทนข้อความในการค้นหา

เราน่าจะคุ้นกับบริการของ Google gogles ที่ใช้กล้องมือถือถ่ายภาพแล้วค้นหาข้อมูลของภาพนั้นได้ทันที ถือว่าเพิ่มความสะดวกได้อย่างมาก เคยคิดว่าน่าจะใช้งานผ่านหน้าเว็บไซต์ได้บ้างนะ จนบังเอิญไปเจอ extension ของ Chrome ที่ใช้สำหรับค้นหาด้วยภาพ ก็ใช้งานมาเรื่อย แต่ช่วงเดือนที่แล้วได้ใช้งานเยอะและเห็นประโยชน์จากมันเยอะพอสมควร เลยอยากเขียนเก็บไว้

เหตุที่ได้ใช้งานการค้นหาด้วยภาพมากช่วงเดือนที่ผ่านมา คือ ได้ทั้งเขียนและรวมบทความจากหลายๆคน ซึ่งส่วนใหญ่ภาพที่ใช้ประกอบบทความจะต้องมีอ้างอิง แต่ตัวเองค้นมาเยอะรวมอยู่ที่เดียว แล้วเลือกเอาเฉพาะภาพที่เหมาะสมมาใช้ พอจะอ้างอิงก็หาไม่เจอว่าเอามาจากไหน ตัวค้นหาด้วยภาพเลยช่วยได้เยอะเลย ไม่งั้นคงงมอีกนาน

ค้นหาด้วยภาพ

โดยปกติการค้นหาภาพ ผมมักจะค้นจากหน้าหลักของ Google แล้วค่อยคลิกที่เมนู image จากผลการค้นหา คิดว่าหลายคนน่าจะเป็นเหมือนผม น้อยคนนักที่จะเข้าไปใช้งานที่หน้าหลักของการค้นหาภาพที่ images.Google.com ทำให้ไม่ค่อยรู้ว่าที่หน้านั้นมันทำอะไรได้บ้าง(ผมเป็นหนึ่งในนั้น) ความแตกต่างของการค้นที่หน้าหลัก Google กับที่หน้าค้นหาภาพ คือ นอกจากจะใช้คีย์เวิร์ดในการค้นหาได้เหมือนกัน แต่ที่หน้าค้นหาภาพ จะใช้ภาพแทนข้อความในการค้นหาได้

การใช้งานงานค้นหาด้วยภาพ

สามารถใช้งานได้ 4 ช่องทาง ผ่านทางเว็บไซต์ images.Google.com ดังนี้ครับ

  1. Drag and Drop
    Drag and Drop

    การใช้งานแบบนี้ คือ เปิดหน้าเว็บค้นหาภาพขึ้นมา แล้วลากภาพจากหน้าเว็บไซต์หรือจากเครื่องที่ต้องการค้นหารายละเอียดเกี่ยวกับภาพนั้นมาวางที่ช่องค้นหาได้เลย

  2. Upload  an image
    อัพโหลดภาพเพื่อค้นหา

    การใช้งาน ให้คลิกที่ปุ่มรูปกล้องที่ช่องค้นหา จะมีช่องให้อัพโหลดโผล่ขึ้นมาเพื่อให้อัพโหลดภาพในเครื่องของเราขึ้นไปเพื่อทำการค้นหา

    อัพโหลดภาพเพื่อค้นหา

  3. Copy and paste the URL for an image
    ใส่ที่อยู่ของภาพเพื่อค้นหา

    เมื่อเจอภาพไหนที่หน้าเว็บต้องการค้นหารายละเอียดเกี่ยวกับภาพนั้น ก็คลิกขวาที่ภาพนั้นแล้วก๊อปปี้ URL ของภาพนั้นมา จากนั้นคลิกที่ปุ่มกล้องที่ช่องค้นหา(เหมือนในข้อ 2)วางไว้ในช่องใส่ URL คลิก search ได้เลย

    ใส่ที่อยู่ของ URL เพื่อค้นหา

  4. Right-click an image on the web
    extesion

    ใช้งานผ่านทางส่วนเสริมของ Chrome หรือ Firefox เมื่อติดตั้งส่วนเสริมแล้ว เวลาคลิกขวาที่ภาพบนหน้าเว็บจะมีไอคอนค้นหาด้วยภาพมาให้คลิกใช้งานได้ทันที

    extension for Chrome

การใช้งานจริง

เกิดจากเหตุการณ์จริงครับ ผมไปอ่านเจอเว็บหนึ่งเขียนถึงเกมส์ DotA 2 ผมอยากอ่านที่ต้นฉบับของที่มาของข่าว แต่เขาไม่ได้ใส่ที่มาของเนื้อหาไว้ แต่มีภาพประกอบนั้นอยู่ เลยใช้การค้นหาด้วยภาพช่วย ถือว่าให้ผลน่าพอใจ และสะดวกดีมาก

ภาพในเนื้อหาบทความที่ไม่ได้อ้างอิงที่มา

ได้ผลการค้นหาออกมาดังนี้ครับ

ผลการค้นหา

อีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ผมประทับใจมากคือ มันค้นหาภาพที่ครั้งหนึ่งผมเคยเอามาใช้ทำภาพประกอบในปกหนังสือเมื่อ 4 ปีที่แล้ว แต่ดันไม่ได้ใส่ที่มาไว้ แต่เมื่อเร็วๆนี้อยากรู้ว่าเราเอามาจากไหน ก็ค้นเจอด้วยตัวนี้ ถ้าให้ลองค้นด้วยตัวเองคงหาไม่เจอแน่นอน เพราะไม่รู้ว่าตอนนั้นใส่คีย์เวิร์ดว่าอะไรไป

Google search by image เป็นอีกช่องทางที่ใช้ค้นหาข้อมูลที่สะดวกมาก คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับทุกท่าน และเลือกใช้ให้เหมาะสมกับงานที่ทำครับ

ดูวีดีโอแนะนำ Search by image

What do you love (WDYL) บริการใหม่จาก Google

What do you love (WDYL)

What Do You Love? เขียนย่อเป็น WDYL บริการใหม่ล่าสุดจาก Google ที่ขยันออกของใหม่อยู่เรื่อย แล้วก็ขยันปิดด้วยเช่นกัน ล่าสุดก็ Google Health กับ Google PowerMeter ก็ถูกปิดตัวลงไปแล้ว เป็นไปตามวัฎจักรอันไหนไม่ประสบความสำเร็จก็ปิดไป ทำใหม่ไปเรื่อยๆต้องมีซักอันที่มันจะต้องตูมตาม

WDYL คือบริการรวมผลการค้นหาจากบริการต่างๆของ Google อย่างเช่น Google Books, Google Images, Blogs, Google Maps, News, YouTube, Patents, Translate, Google Trend เป็นต้น และจะเพิ่มขึ้นมาอีกเรื่อยๆ เรียกได้ว่าค้นที่เดียวโผล่มาหมด! แต่มันก็แสดงเนื้อหาบางส่วนเท่านั้นนะ โดยรวมก็มีประโยชน์ทำให้เห็นรายละเอียดโดยรวมของสิ่งที่เราสนใจ ถ้าอยากจะดูเพิ่มเติมค่อยไปดูที่บริการต้นฉบับอีกที

ลองค้นหาคำว่า Apple iPhone ได้ผลแสดงดังรูปครับ ทดลองใช้ WDYL ได้ที่ https://www.WDYL.com

ตัวอย่างการค้นหาใน WDYL.com

Wolfram|Alpha เปิด Tumbr เอาไว้โชว์ตัวอย่างการใช้งาน

Wolfram|Alpha on Tumblr

Wolfram|Alpha คือรูปแบบการค้นหาคำตอบแทนการค้นหาในแบบธรรมดา อยากรู้จักมากกว่านี้เคยเขียนไว้แล้ว (รีวิว Wolfram alpha (Google killer)ไม่ใช่การค้นแต่เป็นการตอบ) ปกติจะติดตามวิธีการใช้งานรูปแบบใหม่ๆ หรือข่าวการพัฒนาผ่านทาง blog ทางการของทีม Wolfram|Alpha ล่าสุดเขาเปิดที่ Tumbr เพิ่มอีกที่ด้วย เอาไว้แชร์การใช้งาน ตัวอย่างการใช้งาน จับภาพผลลัพธ์ของการคำนวณมาให้ดู

โดยการใช้งาน Wolfram|Alpha ถือว่าต้องศึกษาพอสมควร เพราะต้องป้อนข้อมูลอย่างถูกต้องจึงจะได้ผลลัพธ์ตามต้องการ และนี้คืออีกหนึ่งปัญหาที่มันถูกใช้งานในวงจำกัดเพราะมันใช้ยากพอควร ถ้าใช้งานคล่องแล้วมันช่วยลดงานได้เยอะเลยทีเดียว ถ้าดูบ่อยๆให้คุ้นตาเดี๋ยวมันซึมเอง ดูชาวบ้านเขาใช้เดี๋ยวก็ใช้เป็น (บอกตัวเอง)

อีกอย่างที่ชอบคือการออกแบบ Tumbr ดูเท่และสวยมาก จับภาพมาให้ดูแล้ว

ติดตาม Wolfram|Alpha บน Tumbr ได้ที่ลิงค์ https://wolframalpha.tumblr.com/

Safari อ่านโดเมนภาษาไทยได้ด้วย

เมื่อสัปดาห์ก่อนได้จดโดเมนที่ชื่อเป็นภาษาไทยแนวเดียวกับ ช่วยชาติ.com อะไรทำนองนี้ครับ การ config กับโฮสก็ทำเอามึนๆอยู่เล็กน้อย ดีที่มี support บริการดี ก็เนื่องจากว่ามาตรฐาน IDN (Internationalized Domain Name) จะเปลี่ยนชื่อเป็นอะไรที่ประหลาดๆอ่านไม่รู้เรื่องขึ้นต้นด้วย xn-- แทนที่จะจำง่ายกลับจำยากเมื่อคนที่เข้าเผลอเข้ามา ไม่พิมพ์เข้ามาเอง

ยกตัวอย่างเหตุการณ์หนึ่งที่เจอกับตัวเอง ผมเข้าที่เว็บของททท.มีแบนเนอร์อันหนึ่งสวยมาก พอคลิกเข้าไปก็เจอเว็บที่รวมรูปสถานที่ท่องเที่ยวสวยๆเยอะเลย แต่ว่าเว็บไซต์นี้ถูกจดด้วยชื่อโดเมนภาษาไทย แล้วในเว็บก็ไม่มีชื่อเว็บไว้ด้วย สรุปว่าเปิดไปเปิดมาตั้งนานยังไม่รู้ว่าเว็บไซต์นี้ชื่ออะไร! จะจำตัวอักขระ xn--… ก็คงจำไม่ได้ ทางเดียวคือต้อง bookmark บอกต่อคนอื่นได้ค่อนข้างยากเหมือนกัน ผมเลยมองว่าแทนที่จะเป็นจุดแข็งที่สามารถใช้ชื่อโดเมนเป็นภาษาท้องถิ่นได้ กลับเป็นจุดด้อยไปอย่างน่าเสียดาย

ปัญหานี้ผมมองข้ามมันไปแล้วว่าน่าจะเป็นที่ระบบคงแก้ไขอะไรมากไม่ได้ ทางที่ดีคือเพิ่มชื่อเว็บไซต์ลงไปในเว็บไซต์ให้เห็นด้วย แต่วันนี้ดันลองเปิดเว็บด้วย Safari 5 เฮ้ย! (สะดุ้ง ตกใจ) บน address bar ของ Safari แสดงชื่อเว็บไซต์เป็นภาษาไทยเลย!

มาดูภาพเปรียบเทียบการแสดงที่อยู่ของเว็บไซต์ใน Safari 5.0, Firefox 5.0 และ Chrome 12

Safari 5.0 อ่านชื่อโดเมนภาษาไทยได้
firefox 5.0 แสดงที่อยู่ของเว็บไซต์เป็นโค้ด
Chrome 12 แสดงที่อยู่เว็บไซต์เป็นโค้ด

ทั้งหมดในเครื่อง Mac ครับ ส่วนใน IE และ Windows ผมไม่ได้ลอง ถ้าใครลองแล้วเขียนคอมเม้นต์บอกด้วยนะครับ อยากรู้เหมือนกัน

แสดงว่ามันขึ้นอยู่กับ Web browser ต่างหากที่จะแสดงผลแบบไหน ในอนาคตคิดว่าตัวอื่นๆนอกจาก Safari ก็น่าจะอัพเดตให้แสดงผลเป็นชื่อของภาษาถิ่นได้เหมือนกัน ถึงตอนนั้นเราอาจจะลบจุดด้อยที่กล่าวไว้ข้างต้นได้

สรุป ถ้าอยากรู้ว่าชื่อเว็บไซต์ที่เป็นภาษาไทยชื่ออะไร อ่านใน Firefox, Chrome ไม่ได้ ต้องเปิด Safari มาอ่านดูครับ

ลองทดสอบเข้าไปที่เว็บ https://www.ปฏิบัติการสร้างหัวใจใหม่.com/ แล้วดูว่าที่เครื่องของคุณอ่านได้หรือปล่าว

Exit mobile version