หนังสือ หัวกลวงในหลุมดำ อ่านแล้วครับ

หนังสือ หัวกลวงในหลุมดำ

ชื่อหนังสือ หัวกลวงในหลุมดำ
เขียนโดย วินทร์ เลียววาริณ
288 หน้า พิมพ์ครั้งที่ 1 : 2554
สำนักพิมพ์ 113
ราคา 195 บาท

หนังสือ หัวกลวงในหลุมดำ มีความคล้ายกับ ปลาที่ว่ายนอกสนามฟุตบอล อยู่พอสมควร มีการวิพากษ์วิจารณ์สังคมอย่างเจ็บแสบ และค่อนข้างโดน! เป็นหนังสือที่น่าจะถูกเขียนขึ้นในช่วงที่ประเทศไทยมีเสื้อเหลือง-เสื้อแดงอยู่เต็มถนน คำว่า “หัวกลวงในหลุมดำ” หมายถึง คนโง่หรือแกล้งโง่ ไปอยู่ใกล้หลุมดำแต่ไม่รู้ว่าตัวเองอยู่ใกล้ จะถูกดูดลงหลุมอยู่แล้วยังไม่รู้ตัว (ลงไปแล้วขึ้นไม่ได้นะ แม้แต่แสงยังออกมาไม่ได้เลย ตายลูกเดียว!)

การวิจารณ์ของคุณวินทร์ ที่พยายามมองในแบบสังคมอุดมคติ หรือเรียกว่าพวกโลกสวย อยากเห็นสังคมไปแนวนั้น(เป็นเรื่องดีนะ) มีทั้งชี้ทางและชี้จุดผิด แต่ไม่ได้บอกทางแก้ทั้งหมด หรืออาจจะยังไม่รู้เหมือนกันว่าจะแก้ยังไง ในสังคมสองมาตรฐานของเรา/ไม่ใช่แค่สังคมเราแต่หมายถึงทั่วทั้งโลกนั้น มีแนวคิดสองมาตรฐานอยูู่แล้ว เราควรทำอะไรได้บ้างกับสังคมแบบนี้?

เรื่องการให้การศึกษาของเด็กในประเทศไทยที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้อย่างแท้จริง ตัวผมเองก็เป็นอย่างที่คุณวินทร์ วิจารณ์ไว้ไม่น้อย อย่างเช่นการ กลัวครู ไม่กล้าเถียง คงเพราะเราถูกปลูกฝั่งว่าการเถียงครูเป็นเด็กไม่ดี และนี้อาจทำให้การศึกษาของเราไม่พัฒนาและเชื่อคนง่าย

และมีหลายเรื่องที่น่าประทับใจ โดยเฉพาะเรื่องของ อ.แสงอรุณ รัตนกสิกร อาจารย์คณะสถาปัต จุฬาฯ ผู้รักธรรมชาติ รักต้นไม้ เป็นอีกบุคคลที่น่านับถือ

เนื้อหาภายในเล่ม 

  • เรากรอกอะไรใส่หัวเด็กในห้องเรียยน ?
  • ใครเป็นผู้ตีกรอบสังคม ?
  • ศาสนากับความเชื่อจะพาเราไปไหน ?
  • มนุษย์มีความสามารถเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีตหรือไม่ ?
  • เราสามารถก้าวพ้นสังคมหัวกลวงได้หรือไม่ ?
  • อะไรคือความหมายของชีวิต ?

หนังสืออ่านสนุกอีกแล้วครับ ขอแนะนำ

หนังสือ โลกใหม่ อ่านแล้วครับ

 

หนังสือ โลกใหม่

ชื่อหนังสือ โลกใหม่
เขียนโดย รอฮีม ปรามาท
304 หน้า พิมพ์ครั้งที่ 1 : 2554
สำนักพิมพ์ Post Book
ราคา 285 บาท

เคยอ่านหนังสือของคุณรอฮีม ปรามาท เมื่อนานมาแล้วครับ ในชื่อเรื่อง “เอกภพ สรรพสิ่ง และมนุษยชาติ” เป็นอีกเล่มที่อ่านสนุก ยอมรับว่าการเลือกหนังสือช่วงหนึ่งค่อนข้างต้องดูชื่อคนเขียนเป็นพิเศษ เพราะเคยผิดหวังกับการดูปกกับเนื้อหาที่คำนำ พอซื้อมา อ่านได้ไม่ถึง 5 หน้าก็ต้องโยนทิ้งให้ไกลตัว อย่างคำคมที่ว่า “A bad book is like a bad friend, who may kill you : หนังสือที่ไม่ดีก็เหมือนกับเพื่อนเลวๆ ซึ่งอาจสังหารคุณได้” 

ดังนั้นมีนักเขียนเพียงแค่ไม่กี่คนที่เราเลือกหยิบได้โดยไม่ต้องคิดมากนัก รอฮีม ปรามาท คือหนึ่งในนั้น ซึ่งช่วงหลังๆมีผลงานแปลเล่มหนาๆออกมาเยอะเหมือนกัน แต่ยังไม่มีโอกาสได้อ่านในอนาคตอันใกล้คงจะได้อ่าน

หนังสือ โลกใหม่  เป็นหนังสือรวมบทความเกี่ยวกับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในทุกๆ ด้าน เป็นการแปลมาจากบทความสั้นๆของนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำระดับโลก ให้อารมณ์เหมือนการอ่านบล็อกยังไงยังงั้น สั้นๆได้ใจความ ถ้าใครเอาเข้าห้องน้ำก็อ่านจบทีละเรื่องสองเรื่องได้อย่างสบาย และเนื้อหาแต่ละบทไม่ได้รายยาวให้ต้องทำความเข้าใจต้องเนื่องกัน สรุปมันก็คือบล็อกดีๆนั้นแหละ

เนื้อหามีอยู่ 9 บท 

  • อภิแนวโน้มโลก 1980 – 2010 สามสิบปีที่เปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง
  • เรามาไกลแค่ไหน / เราจะไปยังจุดใด
  • 50 ไอเดียที่จะปฏิวัติโลกและวงการวิทยาศาสตร์ไปตลอดกาล
  • 20 สุดยอดนวตกรรมแห่งปี 2010
  • รถยนต์แห่งอนาคต
  • บ้านในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง
  • อนาคตประชาธิปไตย
  • โลกาวินาศ 30 รูปแบบ
  • 12 ปรากฏการณ์พลิกโลก

มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ชอบมากในหนังสือเล่มนี้คือการกล่าวถึงการทำนายอนาคตอันใกล้ของนักวิทยาศาสตร์ในแต่ละสาขาทุกๆ 5 ปี เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 1970 แล้ว โดยเป็นการช่วยกันทำนายสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตโดยมีผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขามาช่วยกันเขียนและช่วยกันโหวต เป็นการทำนายที่ใช้หลักวิทยาศาสตร์ไม่ใช่หมอดูนั่งเดา ก่อนจะทำเป็นข้อสรุปออกมาตีพิมพ์แผยแพร่ มีทั้งที่ถูกและผิดปนกันไป ผลบางอันดูล้ำยุคกว่าที่เราคิด ซึ่งมันค่อนข้างกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นของเราพอควร และคอยลุ้นว่าในอนาคตอันใกล้เราจะได้เห็นสิ่งที่เขาทำนายไว้หรือเปล่า

เป็นหนังสืออีกเล่มที่อ่านสนุกครับ หลายคนอาจจะคิดว่าหนังสือที่ผมเขียนถึงบอกสนุกทุกอันเลยนะ ถูกต้องครับ! เพราะถ้าไม่ดี โยนทิ้งตั้งแต่ 5 หน้าแรกแล้วครับ!

50 สุดยอดเว็บไซต์ ประจำปี 2012 คัดเลือกโดยนิตยสาร TIME

50 Best Websites 2012

เว็บไซต์ของนิตยสาร TIME จะรายงาน 50 สุดยอดเว็บไซต์ (50 Best websites ) เป็นประจำทุกปี เพราะมีเว็บไซต์ใหม่ๆ บริการออนไลน์ใหม่เกิดขึ้นทุกปี หรือบางทีก็ปรับปรุงเว็บไซต์เดิมใหม่จนแทบไม่เหลือเค้าโครงเดิมให้จดจำ แต่ทุกๆคนก็พยายามที่จะพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นตลอดเวลา เช่น เร็วขึ้น ประหยัดเงิน ประหยัดเวลามากขึ้น อำนวยความสะดวกมากขึ้น หรือบริการรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนเลย นิตยสาร TIME นั้นค่อนข้างคัดเลือกเว็บไซต์ได้ดีมากๆ เป็นเรื่องน่าเสียดายถ้าเราไม่เอามาบันทึกเก็บไว้ ต้องยอมรับว่าหลายเว็บไซต์พึ่งจะเคยได้ยินชื่อเหมือนกัน แต่พอเข้าไปสำรวจพบว่าเป็นเว็บไซต์ที่ยอดเยี่ยมจริงๆ โดยเฉพาะในหมวด Web Tools ช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงานที่ต้องพึ่งอินเทอร์เน็ตแทบจะตลอดเวลาของยุคนี้เป็นอย่างดี ขอเชิญชวนให้ท่านลองเข้าไปสำรวจเว็บไซต์สุดยอดเหล่านี้ดูครับ จะได้รู้ว่าเว็บไซต์ดีๆ ไม่ได้มีแค่ Google, Facebook, Twitter …

50 สุดยอดเว็บไซต์ ประจำปี 2012

แบ่งตามหมวดต่างๆ ได้ดังนี้ (อยากทราบรายละเอียดของแต่ละเว็บไซต์เข้าไปดูได้ที่ที่มาท้ายเรื่อง) Web Tools

Entertainment

Game

Education

News and Information

Family and Kids

Shopping

หนังสือ ปลาที่ว่ายนอกสนามฟุตบอล (ปลาที่ว่ายในสนามฟุตบอล ภาค 2) อ่านแล้วครับ

หนังสือ ปลาที่ว่ายนอกสนามฟุตบอล

ชื่อหนังสือ ปลาที่ว่ายนอกสนามฟุตบอล (ปลาที่ว่ายในสนามฟุตบอล ภาค 2)
เขียนโดย วินทร์ เลียววาริณ
320 หน้า พิมพ์ครั้งที่ 1 : 2554
สำนักพิมพ์ 113
ราคา 215 บาท

หนังสือ “ปลาที่ว่ายนอกสนามฟุตบอล” เป็นภาคต่อของหนังสือ “ปลาที่ว่ายในสนามฟุตบอล” ซึ่งผมก็ได้อ่านมาก่อนหน้านี้แล้ว เป็นหนังสือที่อ่านสนุก เป็นการตั้งคำถาม และหาคำตอบจากความรู้ที่เรามี ณ ปัจจุบัน อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เราชอบเล่มแรก จึงไม่ค่อยลังเลที่จะอ่านเล่มที่สอง แต่ดองไว้นานมากกว่าจะถึงคิวโดนหยิบขึ้นมาอ่าน ถ้าช้ากว่านี้อาจจะหมดสนุกลงไปอีก โดยเฉพาะการตั้งคำถามเกี่ยวกับจักรวาลที่ไม่รู้ว่าชาตินี้เรา(มนุษยชาติ)จะหาคำตอบให้คำถามเหล่านั้นได้หรือไม่ แต่อย่างน้อยช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเรื่องของ Higgs boson (God(damn) particle) เพิ่งจะประกาศว่า “ถ้ามันมีจริง เราก็พบแล้ว!” ก็ช่วยเพิ่มความกระจ่างของคำถามในหนังสือเล่มนี้ได้เสี้ยวหน่อยหนึ่ง(นิดหนึ่งจริงๆ)

ขอแนะนำเลยว่าถ้าใครที่ชอบอ่านหนังสือแนวฟิสิกส์ จักรวาล มนุษย์ต่างดาว อะไรทำนองนี้ จะอ่านช่วงแรกสนุกมาก

นอกจากนี้ ยังมีคำถามเกี่ยวกับ ความเชื่อ ศาสนา การกลับชาติมาเกิด กฏแห่งกรรม จิต และอื่นๆอีก ต้องยอมรับว่าหลายๆคำถามค่อนข้างตรงกับ คำถามในใจของผมเอง และการพยายามหาคำตอบของคุณวินทร์จากข้อมูลที่มี ณ ปัจจุบัน ก็ต้องบอกว่ายอมรับได้กับคำตอบนั้น และค่อนข้างตรงใจ ตรงกับความคิดในหัวของผมพอจะคิดได้

หนังสือเล่มนี้จะอ่านเอาเพลินๆก็ได้ หรือจะเอาไปคิดต่อให้หัวแตกไปเลยก็ยังได้ มันแตกยอดความคิดไปได้ไกลเหลือเกิน ก็เพราะมันออกนอกสนามฟุตบอลไปแล้ว ไปไกลเกินกว่าสามัญสำนึกจะจินตนาการได้

จากใจผู้เขียน(วินทร์ เลียววาริณ) : “นี่เป็นหนังสือที่ดูจะ ‘หนัก’ แต่ไม่หนักเพราะไม่ใช่ตำรา เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ที่พยายามปรุงให้เสพง่ายที่สุดแล้ว และน่าจะให้ความรู้ในเรื่องวิทยาศาสตร์สายต่างๆ ในระดับหนึ่งที่หาอ่านไม่ค่อยได้ในบ้านเรา เช่น จักรวาลวิทยา ฟิสิกส์ดาราศาสตร์ พันธุกรรมศาสตร์ ฯลฯ ไปจนถึงเรื่อง ‘อจินไตย’ ทั้งหลาย

บางส่วนเก็บความจากหนังสือต่างประเทศที่ไม่ได้รับการแปลเป็นไทย โดยตั้งใจให้เป็นหนังสือคานอำนาจทางปัญญากับหนังสือตระกูลไสยศาสตร์ที่เกลื่อนบ้านกลาดเมืองในเวลานี้!”

วิเคราะห์การใช้งาน Facebook ของคุณด้วย Wolfram|Alpha

Wolfram|Alpha เป็นระบบค้นหาคำตอบอัจริยะ มันเก่งขึ้นเรื่อยๆ Siri ของ Apple ก็ดึงข้อมูลบางส่วนจาก Wolfram|Alpha ไปใช้งาน ถ้าอยากรู้จักมันให้ดีขึ้นลองอ่านบทความเก่าๆ ใน Tag  Wolframalpha ได้ครับ ผมเขียนถึงมันอยู่บ้างและก็ได้ใช้งานอยู่เป็นระยะ ความสามารถล่าสุดที่น่าสนใจของ Wolfram|Alpha ที่เพิ่งจะเปิดตัวไปไม่นาน คือ “Facebook report” ครับ ลองมาดูว่ามันทำอะไรได้บ้าง

Facebook report by Wolfram|Alpha

Facebook report คือการวิเคราะห์การใช้งาน Faceook ของเรา โดยละเอียด ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ยกตัวอย่าง ผลการวิเคราะห์

  • ข้อมูลส่วนตัว เกิดวันไหน ปีอะไร อีกกี่วันจะถึงวันเกิดอีกครั้ง
  • Activity ในแต่ละปีที่ใช้งานมา อัตราการโพส แชร์ลิงค์ อัพโหลดภาพ
  • ช่วงเวลาที่ใช้งานมากที่สุดในการโพส คำนวณคำที่ใช้โพส มีคีย์เวิร์ดอะไรเยอะที่สุดในโพส
  • เพื่อนคนไหนคอมเม้นต์ ใครแชร์ในโพสของคุณมากที่สุด
  • อัตราการใช้แอฟพิเคชั่น
  • ภาพไหนที่คุณโพสมีการคอมเมนต์และแชร์มากที่สุด
  • อัตราส่วนเพื่อนผู้หญิง-ผู้ชาย เฉลี่ยเพื่อนคุณมีสถานะอะไรบ้าง (โสด,แต่งงาน ฯลฯ)
  • ช่วงอายุของเพื่อน ใครแก่สุด ใครเเด็กสุด
  • เพื่อนอยู่ในประเทศอะไรบ้าง ใช้ภาษาอะไร ศาสนาอะไร
  • และอื่นๆ

วิธีการใช้งาน

เข้าไปที่เว็บไซต์ Wolfram|Alpha พิมพ์คำว่า facebook report ลงในช่องค้นหา enter

Facebook report

จากนั้นก็คลิกปุ่ม “Analyze My Facebook Data” ซึ่งระบบจะขออนุญาติเข้าถึงข้อมูล Facebook ของเราก็กดยอมรับไป สักพักระบบจะดึงข้อมูลของเราเข้ามา และรายงานผลการวิเคราะห์ให้ได้เห็น

Facebook report

ตัวอย่างการวิเคราะห์บัญชีของผมเอง คิดว่าถ้าเป็นบัญชี Wolfram|Alpha แบบ Professional คงจะได้ข้อมูลที่ละเอียดมากกว่า เพราะเทียบกับข้อมูลจากด้านบนของ Stephen Wolfram ของเขาเป็น account แบบ Pro ได้ข้อมูลการเชื่อมโยงของเพื่อน และอื่นๆที่ละเอียดกว่า

นอกจากนี้ยังสามารถกดแชร์ผลการวิเคราะห์ไปที่ social network อย่าง facebook, twitter, google+, linkedin ฯลฯ ได้ทันที

Share ผลการวิเคราะห์

ข้อมูลเพิ่มเติม https://www.wolframalpha.com/facebook

Graphic Design Principle 2nd edition หนังสือ หลักการและกระบวนการออกแบบงานกราฟิกดีไซน์

Graphic Design Principle second edition

ชื่อหนังสือ Graphic Design Principle 2nd edition: หลักการและกระบวนการออกแบบงานกราฟิกดีไซน์
ผู้แต่ง ปาพจน์ หนุนภักดี
บรรณาธิการ ปิยะบุตร สุทธิดารา
352 หน้า พิมพ์ครั้งที่ 1 : มีนาคม 2555
สำนักพิมพ์ DIGI ART
ราคา 295 บาท

หนังสือเกี่ยวกับการออกแบบกราฟิกดีไซน์ มีหัวข้อที่หลากหลาย อ่านเพลิน ข้างในมีกรณีศึกษาแยกตามหัวข้อเยอะ หัวข้อเด่นที่ตัวเองชอบมากที่สุดก็คือ ตัวอักษรในงานกราฟิกดีไซน์ ทำให้รู้เรื่องเกี่ยวกับตัวอักษรเยอะขึ้น ทั้งประวัติ และแนวคิดของผู้ออกแบบ แม้จะไม่ละเอียดยิบแต่พอจับทางเรื่องของอักษรได้บ้าง และการออกแบบสัญลักษณ์ เป็นการยกตัวอย่างโลโก้ของบริษัทชื่อดังทั่วโลกที่เราคุ้นตาดี นำมาอธิบายแนวคิด บางอันมีพัฒนาการของโลโก้ของบริษัทที่มีการรีแบรนด์อยู่บ่อยครั้ง ส่วนใหญ่เอาข้อมูลมาจาก Goodlogo.com ซึ่งเราก็รู้จักเว็บไซต์นี้จากหนังสือเล่มนี้เอง นอกจากนี้ยังมีส่วนอื่นๆที่น่าสนใจ เช่น ความหมายประวัติความเป็นมาของกราฟิกดีไซน์ แนวความคิดในการออกแบบ การออกแบบสื่อสิ่งพิมพ์ เป็นต้น

ตัวอย่างเนื้อหา

ตัวอย่างการออกแบบโปสเตอร์หนัง

จัดกลุ่มตามรูปแบบการนำเสนอที่คล้ายกัน (เหมือนจะเคยเห็นที่ไหน?)

ตัวอักษรในงานกราฟิกดีไซน์

ได้ความรู้เกี่ยวกับตัวอักษรมากขึ้น เพิ่งจะรู้ว่า Serif คือตัวอักษรที่มีติ่งเล็กๆ ส่วน Sans-serif คือตัวอักษรที่ไม่มีติ่งยื่นออกมา Time New Roman ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อใช้ในหนังสือพิมพ์ The Times ตั้งแต่ปี คศ. 1931 ออกแบบโดย Victor Lardent เป็นฟอนต์อีกอันที่ใช้กันทั่วโลก และใช้งานต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน (คนออกแบบเนี้ย สุดยอดจริงๆ)

การออกแบบโลโก้

ตัวอย่างการออกแบบโลโก้รถยนต์ชื่อดังจากอิตาลี พร้อมประวัติความเป็นมาเป็นสั้นๆ น่าเสียดายหลายโลโก้กับระบุคนออกแบบเป็น นิรนาม ซึ่งในความคิดผมถ้าสืบค้นมากพอน่าจะหาเจอนะว่าใครเป็นคนออกแบบ หรือถ้าไม่รู้ ผมจะไม่ยกโลโก้นั้นมานำเสนอแม้จะเป็นกรณีศึกษาที่ดีก็ตาม

หัวข้อการออกแบบโลโก้ ทำให้รู้ว่าลุง Paul Rand มีงานออกแบบโลโก้ที่สุดยอดจริงๆ เช่น โลโก้ของ IBM, NeXT, Ford, YALE เป็นต้น

สรุปว่า เป็นหนังสืออีกเล่มที่อ่านสนุก เพลิดเพลิน ถ้าใครที่ทำงานเกี่ยวกับการออกแบบ หนังสือเล่มนี้น่าจะเป็นหนังสือที่รวม case study ไว้เยอะพอสมควรเลยครับ สามารถเข้ามาหาแนวคิด แรงบันดาลใจข้างในหนังสือเล่มนี้ได้ไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน ส่วนคนที่ชอบศิลปะทั่วไปก็อ่านสนุก และได้ความรู้เช่นกันครับ

การออกแบบ หน้าแรกของ 7 เว็บไซต์ข่าวเทคโนโลยี

ตอนที่จะเปลี่ยนธีมใหม่ให้บล็อก มีอย่างหนึ่งที่อยากรู้คือส่วนใหญ่แล้วเว็บไซต์ดังๆเขาออกแบบหน้าแรกยังไง เว็บไซต์ส่วนใหญ่ที่เข้าไปดูเป็นประจำก็คงหนีไม่พ้น 7 เว็บไซต์นี้ คือ AllThingsD, Engadget, Gizmodo, Mashable, SlashGear, TechCrunch และ The Verge ซึ่งสิ่งที่สนใจคือ หน้าแรกที่เราเปิดเข้ามาเจอเลย โดยที่ยังไม่เลื่อนลงด้านล่าง

ก็ใช้เครื่องตัวเองเป็น reference คือ แสดงผลใน Google Chrome ขนาดจอ 1280 x 800  ดังนั้นเอาทั้ง 7 เว็บไซต์มาดูทีละอัน ซึ่งเว็บไซต์ที่ชอบหน้าแรกมากที่สุด ขอยกให้ AllThingsD ส่วนเว็บไซต์อันอื่นดูดีในแบบของตัวเอง แต่ที่ชอบน้อยที่สุดก็ขอยกให้ SlashGear ที่ไม่ค่อยมีเอกลักษณ์มากนัก

ลองมาดูหน้าแรกของแต่ละเว็บไซต์

AllThingsD

AllThingsD หน้าแรกเป็นแบบเรียบง่าย ไม่มีโฆษณามารบกวนสายตา มีโพสเด่นสุดอยู่อันหนึ่ง กับลิงค์บทความอื่นๆด้านข้างอีก 3 อัน มีลิงค์หมวดต่างๆด้านบน มีช่องค้นหา เป็นหน้าแรกที่มีทุกอย่างที่ควรจะมีโดยที่ไม่ต้องเลื่อนดูด้านล่างก็ได้พอที่จะรู้ว่าเว็บนี้มีอะไรอยู่บ้าง จึงทำให้ชอบมากที่สุดเมื่อเทียบกับเว็บไซต์อื่นๆ

TechCrunch

TechCrunch มีโพสที่เป็นเรื่อง Hot Topic ให้เลือกคลิกอยู่ 4 เรื่อง แล้วก็เหลือบเห็นหัวข้อของโพสด้านล่างโผล่มานิดหน่อย ด้านบนยังมีเมนู และหมวดหมู่ให้คลิกได้ ที่น่าสนใจอีกอย่างคือทำส่วนของโฆษณาได้ลงตัวกลมกลืนไปกับเนื้อหา ดูมีช่องว่าง ไม่แออัดจนเกินไป

The Verge

The Verge  เป็นอีกเว็บหนึ่งที่ชอบ ทำหน้าแรกออกมาได้ค่อนข้างน่าสนใจ มีหัวข้อที่เป็นฟีเจอร์อยู่ด้านหน้ามีภาพประกอบโพสและสีพื้นหลังจางๆ มีหัวข้อให้คลิก มีช่องค้นหา ไม่มีโฆษณาให้เห็น

Gizmodo ดูเรียบๆ มองเห็นโพสอันใหญ่โดดเด่นอันเดียว มีโฆษณาเด่นที่ด้านขวา มองเห็นโพสล่าสุดด้านขวาประมาณ 3 อัน เป็นหน้าแรกที่เรียบและดูดีทีเดียว

Mashable

Mashable เน้นเรื่องการแชร์มาก แทบทุกโพสจะมีลิงค์แชร์ บางครั้งทำให้ดูรกตาไปหน่อย แต่มีโพสจุดเด่นอันใหญ่อันหนึ่ง กับอีกสองอันด้านข้าง มีลิสต์ของ Most shared ให้เห็น มีโฆษณาชัดเจนเป็นแบนเนอร์ด้านบนแต่ค่อนข้างกลมกลืน

Engadget

Engadget มีส่วนของแบนเนอร์โฆษณาที่อยู่ด้านบนเหมือนเป็นส่วนเกินของเว็บไซต์ไปเลย แต่ค่อนข้างดึงดูดให้คนดูเป็นพิเศษ และยังกระตุ้นให้ต้องเลื่อนลงข้างล่างด้วยสิ แต่ส่วนตัวไม่ค่อยชอบเท่าไหร่นัก ความฉลาดในการออกแบบอีกอย่าง นั้นคือการเอาโพสมาเป็นส่วนเฮดเดอร์ที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ มีเมนูหมวดหมู่ให้คลิก มี Top Stories ให้เลือก

SlashGear

SlashGear คล้ายกับ Engadget มีโฆษณาอยู่ด้านบนอย่างชัดเจน แต่ไม่น่าดึงดูดเท่า มีฟีเจอร์โพสเรียงกันให้เลื่อนซ้ายขวาได้ มีเมนูของหมวดหมู่ และมองเห็นหัวข้อใหญ่ของโพสล่าสุดโผล่มานิดหน่อย

สรุป 
แต่ละเว็บมีแนวทางของตัวเองชัดเจน มีสีเฉพาะตัว มีโพสที่น่าสนใจไว้เด่นที่สุด เป็นกรณีศึกษาที่ดีได้ทั้งสิ้น แล้วเอามาปรับใช้กับเว็บของตัวเองต่อไป

บทความ “ทำเงินบนโลกไอที (84) : So.cl อีกทางเลือกที่ไม่ใช่เฟซบุ๊ก”

เป็นบทความที่ได้เขียนไว้กับทาง CyberBiz : ผู้จัดการ Online ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2555 ยังไม่ได้เอามาบันทึกไว้ในนี้เลย ก็เลยมาเขียนถึงสั้นๆเก็บไว้

นั่งเล่น so.cl อยู่หลายวัน พยายามหาแง่มุมต่างๆของมัน เขียนส่งไปทั้งข้อความรวมกับภาพประกอบ 8 หน้ากระดาษ A4 เลยทีเดียว น่าจะยาวสุดเท่าที่เคยเขียนอะไรแนวนี้แล้วล่ะ กว่าจะเขียนออกมาได้ใช้พลังงานไปเยอะพอสมควรเลย ได้ค่าเรื่องมากินขนมนิดหน่อย แต่ไม่ค่อยใส่ใจเรื่องนั้นเท่าไหร่ ตอนตอบตกลงไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีค่าเรื่องให้ด้วย แต่รู้สึกดีที่ได้ทำมากกว่า ขอบคุณ @goople ที่ให้โอกาสได้ทำครับ

ตัดมาแปะไว้บางส่วน ตามไปอ่านต้นฉบับได้ที่ ลิงค์นี้ ครับ

ทำความรู้จัก So.cl สังคมออนไลน์เพื่อการศึกษาของไมโครซอฟท์

       ***ทำความรู้จัก So.cl สังคมออนไลน์เพื่อการศึกษาของไมโครซอฟท์
(บทความโดย พงษ์ศักดิ์ สาระภักดี)

ก่อนที่เราจะหาช่องทางทำเงินจากเว็บไซต์ใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นให้ได้นั้น สิ่งสำคัญที่สุดคงต้องรู้ก่อนว่ามันสามารถทำอะไรได้บ้าง แต่ละส่วนนั้นมีคุณสมบัติอย่างไร ถูกสร้างมาเพื่อจุดประสงค์อะไร ข้อมูลเหล่านี้จะทำให้ง่ายต่อการนำไปต่อยอด หรือนำไปใช้ประโยชน์กับธุรกิจของเราให้แข็งแกร่งขึ้นได้ยังไง ดังนั้นการแนะนำสิ่งต่างเหล่านี้ก่อน น่าจะเป็นการชี้นำสู่ช่องทางทำเงินที่ดีที่สุด ดังนั้นเรามาทำความรู้จัก So.cl กันก่อนดีกว่าครับ

 So.cl (อ่านว่า “social”) เป็นสังคมออนไลน์จากไมโครซอฟท์ที่เปิดให้คนทั่วไปได้ใช้งานเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2555 ที่ผ่านมา หลังจากที่ปล่อยให้ใช้ในวงจำกัดมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2554 ไมโครซอฟท์ออกตัวชัดเจนว่าไม่ได้ออกแบบมาเพื่อแข่งกับ Facebook หรือ Twitter ที่ถือว่าเป็นสองเว็บไซต์สังคมออนไลน์ที่มีคนใช้งานมากที่สุดในโลกในตอนนี้

Facebook/Twitter ถูกเรียกว่าเป็น ”เครือข่ายทางสังคม”(social networking) ซึ่งเราค่อนข้างคุ้นเคยดีอยู่แล้ว เราสร้างสัมพันธ์กับคนรอบข้างด้วย ข้อความ คอมเม้นท์ ภาพถ่าย เกม ฯลฯ แต่ไมโครซอฟท์วางตัวให้ So.cl เป็น “สังคมแห่งการค้นหา” (social searching) กล่าวคือ สังคมออนไลน์ที่ผู้ใช้งานจะปฏิส้มพันธ์กันด้วยการแชร์ผลการค้นหาในสิ่งที่ตัวเองสนใจให้กันและกัน จะเห็นได้ว่าทั้งสองอย่างนี้มีจุดเหมือนและจุดต่างกันอยู่ในตัว

So.cl เกิดขึ้นจาก FUSE Labs ของไมโครซอฟท์ (ตัวอย่างผลงานของแล็บนี้ เช่น Docs.com, CompanyCrowd, Bing Social, Montage, Spindex เป็นต้น) เราจะเห็นว่าในปัจจุบันนั้นเว็บไซต์สังคมออนไลน์ได้รับความนิยมอย่างสูง โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นในวัยเรียน ทางทีมงานของ Fuse Labs มองเห็นถึงศักยภาพของสังคมออนไลน์เป็นอย่างดี จึงพยายามที่จะเปลี่ยนเว็บไซต์ในลักษณะนี้ให้เข้าไปอยู่ในห้องเรียนให้ได้

So.cl จึงถูกออกแบบมาเพื่อเป็นสังคมออนไลน์สำหรับนักเรียน/นักศึกษาโดยเฉพาะ เป็นสังคมออนไลน์ที่จะแชร์ประสบการณ์ทางด้านการศึกษา ว่าในขณะนั้นพวกเขากำลังเรียนรู้อะไร อย่างไรบ้างโดยสามารถที่จะโพสเนื้อหาที่มีองค์ประกอบได้หลายอย่างพร้อมกัน เช่น ผลการค้นหา รูปภาพ วิดีโอ ข้อความ ลิงค์ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนมากที่สุดให้เพื่อนๆในกลุ่ม หรือในชั้นเรียนของตัวเอง เพื่อให้เกิดเป็นศูนย์รวมของการเรียนรู้ร่วมกัน โดยที่นักเรียน/นักศึกษาสามารถที่จะสร้างและปรับแต่งชุมชนออนไลน์ใน So.cl ให้เหมาะสมกับความสนใจของตัวเองและเพื่อนๆได้เอง

ใช้ iPad เพื่อการศึกษา ความรู้อยู่ที่เนื้อหาและสิ่งแวดล้อม

iPad เพื่อการศึกษา

ถ้าจะพูดถึงเครื่องมือหรืออุปกรณ์เพื่อการศึกษาที่จะมาช่วยเสริมสร้าง พัฒนาการเรียนรู้ ของผู้ที่เป็นนักเรียนรู้ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึง นักเรียน นักศึกษา อย่างเดียวนะครับ รวมถึงทุกคนที่มีใจไฝ่เรียนรู้ อุปกรณ์ที่จะช่วยให้การเรียนรู้นั้นทำได้ดีและมีประสิทธิภาพมากที่สุด ณ ตอนนี้ น่าจะเป็น iPad ของ Apple  เพราะถือว่ามีองค์ประกอบที่สมบูรณ์ที่สุด ทั้งหนังสือดิจิตอล(ebook) แอพพลิเคชั่น(Apps Store) คลังความรู้(iTunes U) นอกจากนั้นยังมีตัว Textbook ที่มีชุดโปรแกรมที่จะช่วยให้การสร้างหนังสือแบบที่มีการโต้ตอบกับผู้ใช้ได้อย่างน่าตื่นเต้น นับว่า iPad นำหน้าคู่แข่ง Android, Windows 8 ในเรื่องของการสนับสนุนทางการศึกษาไปหลายช่วงตัว

iPad in Education

Apple ได้วางให้ iPad เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ผลิตมาเพื่อสนับสนุนการศึกษาอย่างเต็มที่ เห็นได้จากงาน Education Event เมื่อ 19 มกราคา 2012 ในงานมีการเปิดตัวหนังสือเรียนแบบที่มี interactive โต้ตอบกับผู้อ่านได้อย่างดี พร้อมโปรแกรมสร้างหนังสืออิเล็กทรอนิกส์สำหรับ iPad โดยเฉพาะ และยังแจกให้ทุกคนใช้โปรแกรมนี้ได้ฟรีอีกด้วย ยิ่งทำให้ iPad เหมาะกับงานทางด้านการศึกษามากขึ้น

ลำดับต่อไปอยากนำส่วนต่างๆที่เป็นองค์ประกอบทำให้ iPad เหมาะกับการศึกษามาแจกแจงทีละข้อ ดังนี้ครับ

1. Textbooks หนังสือที่โต้ตอบกับผู้อ่านได้

หนังสือที่มาพร้อมภาพนิ่ง ภาพ 3 มิติ วีดีโอ เสียง ฯลฯ

คุณสมบัติของตัว Textbook ที่จะทำให้การเรียนรู้นั้นมีประสิทธิภาพ มีดังนี้

  • Textbooks ของสำนักพิมพ์ใหญ่ๆอย่าง McGraw-Hill, Person Education, Houghon Mifflin Harcourt ผู้ผลิตหนังสือมีคุณภาพ ทั้งรายวิชา เคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยา ภูมิศาสตร์ มีให้ดาวน์โหลดแล้ว และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
  • เราสามารถพกหนังสือเล่มใหญ่หลายๆเล่ม ด้วยมือข้างเดียวได้ คงไม่ต้องแบกใส่เป้ให้เมื่อยหลังกันแล้ว โดยเฉพาะหนังสือพวก Textbook ถ้าถือเล่มจริงได้ 2 เล่มก็ถือว่าสุดยอดแล้ว แต่เมื่อเป็นแบบดิจิตอลทำให้เราง่ายต่อการพกพา และสะดวกในการใช้งานมากยิ่งขึ้น
  • Textbooks ใน iPad เป็นหนังสือแบบมัลติทัช สามารถหมุนมุมมอง ซูมได้ มีภาพ ไดอะแกรม วีดีโอ ภาพสามมิติที่สามารถใช้นิ้วหมุนโมเดลได้รอบด้าน จดบันทึกลงหนังสือ ขีดเขียนลงหนังสือ เขียนโน๊ตสั้นๆ หรือใส่สีให้ตัวอักษรได้
  • ชมวีดีโอแนะนำ iBooks Textbooks

2. iPad Apps เพื่อการศึกษา

แอฟพิเคชั่น ที่เสริมการเรียนรู้มีมากมาย

ตัวแอพพลิเคชั่นของ iPad เฉพาะกลุ่มทางด้านการศึกษามีมากกว่า 20,000 แอพพลิเคชั่น น่าจะถือว่าเป็นจุดที่ได้เปรียบคู่แข่งรายอื่นๆ อีกทั้งแอพพลิเคชั่นที่ออกแบบมาสำหรับงานทางด้านการศึกษาถูกออกแบบมาอย่างดี แม้จะมีราคาแพงอยู่บ้าง ก็นับว่ามีความคุ้มค่าเมื่อแลกกับการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตัวอย่าง แอพพลิเคชั่นเพื่อการศึกษาที่น่าสนใจ โดยแบ่งเป็นกลุ่มต่างๆได้ดังนี้

iWork กลุ่มของแอพพลิเคชั่นที่ช่วยทำงานทางด้านเอกสาร พรีเซนเตชั่น เอกสารตารางคำนวณ

English Language Arts กลุ่มแอพพลิเคชั่นที่ช่วยสอนภาษาอังกฤษให้เด็กด้วยภาพศิลปะ

Mathematics กลุ่มแอพลิเคชั่นช่วยเรียนคณิตศาสตร์

Science กลุ่มแอพพลิเคชั่นช่วยเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์

History and Geography กลุ่มแอพลิเคชั่นช่วยเรียนรู้ทางด้านประวัติศาสตร์และภูมิประเทศ

Language Development เรียนภาษาอื่นๆ เช่น ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ซึ่งมีทั้งพูด ฟัง อ่าน เขียน หรือท่องคำศัพท์

Art, Music, and Creativity กลุ่มแอพพลิเคชั่นส่งเสริมศิลปะ วาดภาพ ดนตรี และงานสร้างสรรค์

Reference, Productivity, and Collaboration กลุ่มแอพพลิเคชั่น เอกสารอ้างอิง ดิกชั่นนารี จดบันทึก

Accessibility กลุ่มแอพพลิเคชั่นที่ช่วยให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ด้วยข้อมูลต่างๆหลากหลายวิธี

นอกจากนี้ยังมีแอพพลิเคชั่นที่เกี่ยวกับการศึกษาอีกมากมาย เข้าไปดูได้ใน Apps Store ในหมวด iPad Education

3. iTunes U เรียนหนังสือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกผ่านทาง iPad

iTunes U for iPad

iTunes U เป็นศูนย์รวมข้อมูลทางด้านการศึกษาแบบออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งในแต่ละหลักสูตรมีทุกอย่างที่จำเป็นสำหรับการเรียนในรายวิชานั้นๆ ทั้งวิดีโอบรรยาย เอกสารประกอบการเรียน เสียง พรีเซนเทชั่น ซึ่งมีอยู่มากกว่า 500,000 รายการ หลักสูตรครอบคุมทุกรายวิชา ทั้งวิศวกรรม วิทยาศาสตร์ ภาษา วัฒนธรรม การแพทย์ ศิลปะ ฯลฯ ซึ่งมีทั้งวิทยาลัย มหาวิทยาลัยชื่อดังทั่วโลก เช่น Stanford, Yale, MIT, Oxford, UC Berkeley เป็นต้น มหาวิทยาลัยต่างๆทั่วโลกเข้ามาเปิดห้องเรียนออนไลน์ให้ทุกคนสามารถเข้ามาเรียนได้ฟรี ถือว่าเป็นคลังความรู้ที่ใหญ่และมีประโยชน์มาก เป็นอีกช่องทางและโอกาสอันดีที่เราสามารถเข้าไปเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยต่างๆได้อย่างใกล้ชิด เหมือนนั่งอยู่ในห้องเรียนนั้นๆเหมือนนักเรียนคนอื่นๆเลยทีเดียว

4. ใช้ iPad สอนในห้องเรียน

ต่อ iPad ออกจอภาพขนาดใหญ่

เราสามารถที่จะใช้ iPad ประกอบการสอนได้อย่างง่าย ผ่านทางการแสดงผลด้วยจอภาพขนาดใหญ่ เช่น HDTV หรือ จอโปรเจคเตอร์ ช่วยให้นักเรียนได้เห็นสิ่งที่คุณเห็นไปพร้อมๆกัน หรือใช้แสดงสไลด์พรีเซนเตชั่นแทนคอมพิวเตอร์ก็ได้ ทำให้การอธิบายหรือการเรียนรู้ไปพร้อมกันนั้นทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ด้วยปัจจัยต่างๆเหล่านี้ช่วยให้ระบบและสภาพแวดล้อม(เนื้อหา) ของ iPad นั้น ถือเป็นเครื่องมือที่สนับสนุนทางการศึกษาได้เป็นอย่างดี เรียกได้ว่าพร้อมกว่า tablet เพื่อการศึกษาของคู่แข่งรายอื่นๆอย่างมาก อย่างที่บอกไว้ข้างต้นว่าการเรียนรู้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะนักเรียน นักศึกษา เท่านั้น ผู้ที่ไฝ่เรียนรู้ก็สามารถที่จะใช้ iPad เพื่อเสริมความรู้ให้ตัวเองได้ตลอดเวลาผ่านทางช่องทางอื่นๆได้อีกมากมาย เช่น ข่าวสาร เนื้อหาเว็บไซต์ ฐานข้อมูลทางห้องสมุด หรือสื่อบันเทิงต่างๆ เช่น ภาพยนต์ เพลง เกม ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนมีความรู้แทรกอยู่เสมอๆ เพียงเรามีเครื่องมือที่ดีสนับสนุนการเรียนรู้และความใฝ่รู้ของผู้ใช้งานร่วมกัน

ข้อมูลอ้างอิง: https://www.apple.com/education/ipad/

iPod Touch ทำอะไรได้บ้างเมื่อไม่มีอินเทอร์เน็ต

iPod Touch music player

ได้ iPod Touch มาโดยบังเอิญ ใช้มาได้เกือบจะ 3 เดือนแล้ว แต่ไม่ได้เขียนถึงมันเลย ตัวที่ได้มาเป็น iPod Touch Gen 4 สีขาว ความจุ 8 GB บางมากจำได้ว่าตอนที่จับครั้งแรกกลัวทำตกมากเพราะมันถือไม่กระชับมือเอาซะเลย แต่พอหาเคสมาใส่ก็ช่วยได้บ้างเล็กน้อย แต่ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยได้ถือมันเท่าไหร่จะยัดมันลงกระเป๋ากางเกง บางทีไม่รู้สึกด้วยซ้ำว่ามันอยู่ข้างในต้องเอามือล้วงดูบ่อยๆ หลังจากที่ใช้มานานพอสมควรเลยอยากจะบันทึกไว้ว่าได้ใช้งานมันคุ้มค่าดังราคาค่าตัวของมันหรือป่าว? เนื่องจาก iPod Touch สามารถที่จะเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ผ่านทาง Wifi เท่านั้น ผมจึงจะแบ่งสิ่งที่มันทำได้เป็นสองส่วนคือ แบบออฟไลน์ และแบบออนไลน์ ซึ่งแบบออนไลน์นั้นทำอะไรได้มากกว่าหลายเท่า แต่สิ่งที่เราได้ใช้งานจริงๆกลับเป็นส่วนที่อยู่ในแบบออฟไลน์ซะเป็นส่วนใหญ่ ลองมาดูกันครับว่าผมใช้มันทำอะไรบ้าง เมื่อไม่ได้ต่ออินเทอร์เน็ต

iPod Touch ทำอะไรได้บ้างเมื่อไม่มีอินเทอร์เน็ต (ออฟไลน์)

สิ่งที่มันทำได้ หรือทำได้ดีก็จะขึ้นกับ App ที่อยู่ในเครื่องทั้งที่เป็น App ที่มาพร้อมกับเครื่องและ App ที่โหลดเพิ่มเข้ามา แต่ที่ผมนึกออกและได้ใช้งานจริงๆมีดังนี้ครับ

  1. ฟังเพลง/ดูหนัง
    iPod Touch Gen4 8 GB

    แน่นอนว่ามันคือ iPod เครื่องเล่นมัลติมีเดีย เพลง หนัง นี้คือฟีเจอร์หลักของมัน และผมก็ใช้มันทำสิ่งนี้มากที่สุด เพลงอยู่ในเครื่องมีอยู่ราว 1,000 กว่าเพลง ใช้พื้นที่ไปราว 4 GB กินพื้นที่เยอะที่สุดจากพื้นที่ว่างที่มีให้ใช้งานจริง 6.4 GB แม้ว่าอยากจะฟังเพลงแบบ 320 kbps เป็นอย่างน้อย ซึ่งจะใส่เข้าไปได้ราว 200-300 เพลง ด้วยข้อจำกัดเรื่องของความจุจำกัดเลยต้อง convert ไฟล์ระดับ flac ในเครื่องเป็น 128 kbps AAC แต่เท่าที่ฟังดูก็ไม่ได้เลวร้ายอะไรมากมายนัก ผมใช้ร่วมกับหูฟัง Sony MDRZX300 นะครับ ประทับใจกับหูฟังตัวนี้มาก เสียงที่ได้กำลังดีเลย ทั้งเบส เสียงแหลม เสียงกลาง เยี่ยม! ส่วนหนังนั้นต้องใช้โปรแกรม HandBrake ช่วยแปลงไฟล์หนังก่อนจึงจะเอาเข้า iPod ได้ เอาลงทดสอบดูแล้วก็เอาออก(เปลืองเนื้อที่) ระบบสั่งงานด้วยเสียงของ iPod ถูกผมใช้งานเพื่อเปิดเพลงมากที่สุด สะดวกมากตอนที่เรามีเพลงในเครื่องเยอะๆ ทำเป็น playlist ไว้ แล้วเลือกเปิดตามใจ ณ ขณะนั้นๆ ตัวอย่างคำสั่งที่ใช้บ่อยที่สุด (กดปุ่ม home ค้างไว้ 3 วินาที) “play playlist …ชื่อ playlist…”

  2. เล่นเกม
    เกม cut the robe

    เกมใน iPod Touch ของผมมีไม่เยอะส่วนใหญ่เล่นจบแล้วก็ลบออก บางตัวยอมจ่ายตังค์ซื้อ ตัวอย่างเกมที่เล่นแล้วชอบ Fruit Ninja, Cut the Robe, Sudoku, Tap Tap Revenge, Infinity Blade, Jetpack joyride เป็นต้น

  3. วาดรูป/ตกแต่งภาพ
    วาดใน SketchBook

    มีโปรแกรมสองตัวที่เอาไว้วาดรูปเล่นคือ DrawCast (ฟรี) และ SketchBook ตัวนี้ยอมจ่ายตังค์ซื้อมาราคาไม่แพง แต่ทำอะไรได้เยอะมาก ถือว่าคุ้มเลยทีเดียว

  4. กล้องถ่ายรูป/วีดีโอ/อัดเสียง
    Photosynth ถ่ายภาพแบบรอบทิศทาง

    กล้องของ iPod ความละเอียด ประมาณ 1.2 MB ถ่ายภาพนิ่งได้ห่วย ถ่ายวีดีโอได้ในระดับ HD ใช้ถ่ายเล่นๆได้ จับ iPod ขึ้นมาสไลด์แล้วถ่ายได้เลย มีโหมด unlock เข้าแอฟถ่ายภาพได้เลย แต่ส่วนใหญ่จะใช้ผ่านทาง App ถ่ายภาพแปลกๆเสียมากกว่า เช่น DMD ทำเป็นภาพ 360 องศา, Photosynth ทำเป็นภาพกึ่งๆ 3D และ Instagram ที่เอาไว้ใส่ฟิวเตอร์แบบเท่ๆ ภาพที่ถ่ายใน iPod Touch ผมทำให้ Sync กับ iCloud ไว้เมื่อต่อเน็ตมันจะอัพโหลดอัตโนมัติสะดวกดี ส่วนการอัดเสียงไม่ค่อยได้ใช้งานเลย เคยลองอัดครั้งหนึ่ง เสียงก็พอใช้ได้ ไมค์ของ iPod Touch อยู่ข้างๆกล้องด้านหลังเครื่องเป็นรูเล็กๆ ถ้าจะอัดเสียงก็ต้องเอารูนั้นไปให้ใกล้แหล่งกำเนิดเสียง รวมทั้งตอนสั่งงานด้วยเสียงเช่นกันก็ต้องเอาไปให้ใกล้ๆไมค์

  5. สมุดโน๊ต/เตือนความจำ
    บันทึกส่วนตัว

    กลายเป็นว่าจดอะไรลง iPod เยอะมากเพราะเวลาคิดอะไรออก อยากจะจดไว้ที่ไหนสักที่แบบเร่งด่วน ทิ้งไว้นานกลัวลืม iPod Touch กลายเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้มือที่สุด จดง่ายสุด แถม Sync ขึ้น Google กับ iCloud ไว้ให้ด้วย พวกหมายเลขอะไรแปลกๆที่ไม่รู้จะจดไว้ที่ไหน จะอยู่ในนี้หมด เช่น รหัส wifi , serial ของกล้อง, หมายเลขสมุดบัญชีธนาคาร ฯลฯ ส่วน Reminder นั้นใช้บ้างเป็นบางครั้ง นานๆเปิดเข้าไปดูที ส่วนใหญ่เป็นการเตือนความจำว่าอยากทำอะไร แต่ไม่ได้สำคัญมากนัก เช่นเขียนบล็อกเกี่ยวกับเรื่องนี้ดีกว่า คือไม่เขียนก็ไม่เสียหายอะไร พอทำเสร็จก็ค่อยลากทิ้ง

  6. ดิกชันน่ารี
    ดิกชันนารี ใน iPod Touch

    ใน iPod Touch ของผมใช้ดิกชันน่ารีของ Longdo Dict ซึ่งแปลได้ทั้งอังกฤษ-ไทย และไทย-อังกฤษ ซึ่งอันหลังต้องต่อเน็ตก่อนถึงจะทำงานได้ แต่ส่วนใหญ่ก็มักจะใช้งาน อังกฤษ-ไทย โดยเฉพาะตอนนอนดูหนังในคอม จะ pause หนังไว้เพื่อมาเปิดศัพท์เนี้ยก็ขัดจังหวะเกิดไป ดิกชันน่ารีใน iPod Touch เลยกลายเป็นหนึ่งอุปกรณ์ที่ต้องถือไว้ตอนดูหนัง

  7. เครื่องคิดเลข
    เครื่องคิดเลขอย่างง่าย

    เครื่องคิดเลขใน iPod Touchจะถูกใช้งานมากที่สุด ตอนหลังอาหารมื้อที่ไปกันหลายคน แล้วต้องช่วยกันจ่าย เคยโดนเพื่อนร่วมโต๊ะว่าเอาแบบปนฮานิดๆว่า “พวกคุณจบระดับมาสเตอร์กันทุกคนค่าอาหารแค่นี้ต้องใช้เครื่องคิดเลขช่วยทุกทีเลยนะ” แล้วก็ฮากัน ก็มันจริงนิ พอเราไม่ใช้งานมัน(สมอง)บ่อยๆ มันจะคิดช้ามากแถมยังไม่แม่นยำอีกต่างหาก เครื่องคิดเลขเลยเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตไปแล้ว ในเครื่องมีเครื่องคิดเลขแบบ Pro ด้วย ซึ่งมีพวกการคำนวณทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ แต่นานๆใช้ที

  8. ปฏิทิน/นาฬิกาจับเวลา
    นาฬิกาจับเวลา

    ส่วนของปฏิทิน/นาฬิกาปลุก/จับเวลา อาจจะไม่ค่อยได้ใช้บ่อย แต่ก็มีประโยชน์มาก ปฏิทินใน iPod Touch ผม Sync ไว้กับ Google Calendar ซึ่งทุกอย่างอยู่ในนั้นทั้งหมด นัดหมาย กำหนดการ วันสำคัญต่างๆ ส่วนใหญ่ใช้งานบนคอม แต่ใน iPod Touch เปิดใช้บ้างตอนไม่ได้อยู่หน้าคอม ส่วนนาฬิกาจับเวลาตัวนี้ถูกเรียกใช้บ่อยๆช่วงทำแล็บเปียก ที่จำเป็นต้องจับเวลาแบบเป๊ะๆ

  9. อ่านหนังสือดิจิตอล
    iBook อ่านหนังสือดิจิตอล

    เคยโหลดหนังสือเข้ามาอ่าน 2-3 เล่ม แต่อ่านไม่จบซักเล่มเพราะมันจอเล็กและเวลาจ้องนานๆปวดตา รวมทั้งเวลาที่อ่านหนังสือส่วนใหญ่อยู่บนรถซะเป็นส่วนใหญ่ เวียนหัวได้อีก ที่ยังเหลือค้างไว้ในเครื่องเลยเป็นแค่หนังสือภาพ พวก CG, Computer Art เป็นส่วนใหญ่

  10. รีโมท Keynote/iTunes
    ใช้ iPod ควบคุมการเปลี่ยนสไลด์ในคอม

    iPod Touch สามารถเอามาทำเป็นเครื่องเลื่อนสไลด์ได้ด้วยนะ ต้องโหลด App ชื่อ Remote (เสียตังค์)มาก่อน แล้วใช้ร่วมกับ Keynote ในเครื่อง Mac OSX ข้อดีคือเราสามารถควบคุมการนำเสนอผ่านทาง iPod Touch ได้ มีโน๊ตให้ดูได้ด้วย เคยทำอยู่ครั้งหนึ่งใช้เลื่อนสไลด์อย่างเดียว ดูโน๊ตด้านล่างไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ต้องก้มไปดูอาจทำให้คนพรีเซ็นต์ดูไม่ดีเท่าไหร่ ส่วนการใช้เป็นรีโมทควบคุม iTunes ใช้แบบนี้ครับ เปิดคอมไว้ เสียบลำโพง เปิดเพลงให้ดังก้องบ้าน วาง iPod Touch ไว้ใกล้ตัว นั่งพักที่มุมไหนซักมุมของห้อง อยากเปลี่ยนเพลง หรือเลือกเพลงที่ชอบผ่านทาง iPod Touch ก็จิ้มเลย เยี่ยมไหมล่ะ

ยังมีอีกหลายอย่างที่มันทำได้ เช่น การเชื่อมกับรองเท้า Nike ตัดต่อวีดีโอ ทำเอกสาร แต่ที่เอามาแชร์ในโพสนี้เป็นอันที่เราได้ใช้จริงๆ ซึ่งอาจจะแตกต่างจากคนอื่นๆบ้างก็ได้ ลองคิดดูว่า iPod Touch ในมือของคุณใช้ทำอะไรบ้าง แล้วเอามาแชร์กันครับ

Exit mobile version