หนังสือรวมเรื่องสั้น เส้นสมมุติ โดย วินทร์ เลียววาริณ อ่านแล้วครับ

เส้นสมมุติ โดย วินทร์ เลียววาริณ

ชื่อหนังสือ: เส้นสมมุติ
เขียนโดย: วินทร์ เลียววาริณ
256 หน้า พิมพ์ครั้งที่ 1 : มีนาคม 2555 
สำนักพิมพ์: 113
ราคา 200 บาท

หนังสือ เส้นสมมุติ ของวินทร์ เลียววาริณ เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นแนว สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน หรือจะเรียกว่าเป็น สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน เล่ม 2 ก็ได้ครับ

ต้องบอกว่านักเขียนที่เล่าเรื่องโดยมีฉากหลังเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง จากข่าวในทีวี ข่าวหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์ เหตุการณ์เล็กๆที่เกิดขึ้นในสังคม สไตล์การเล่าเรื่องมีหลายเรื่องซ้อนหรือรวมอยู่ในเรื่องสั้นเรื่องเดียว แนวนี้ต้องยกให้คุณวินทร์เป็นหนึ่งในดวงใจเลยครับ ผมรู้สึกตื่นเต้น ประหลาดใจมากกว่าเรื่องสั้นแนวหักมุมเสียอีก เมื่ออ่านถึงหมายเหตุท้ายเรื่องว่า เหตุการณ์ดังกล่าวในเรื่องบางส่วนเกิดขึ้นจริง แม้จะเป็นความจริงเล็กๆในเรื่องแต่งก็สร้างอารมณ์ฉุกคิดให้เราคิดตามได้อย่างน่าประหลาดมาก

หนังสือรวมเรื่องสั้น เส้นสมมุติ เข้ามาอยู่ในใจผมได้อย่างง่ายดาย ทำให้หวนรำลึกถึงผลงานเก่าๆของคุณวินทร์ที่ตรึงใจผมอยู่อีกครั้ง และสไตล์การเดินเรื่องแบบนี้ที่ทำให้เรากลายเป็นแฟนหนังสือของเขา มันจริงจังเข้มข้นและตรึงเราให้อยู่ในเรื่องจนถึงบรรทัดสุดท้ายได้เลยครับ

เรื่องหนึ่งในเล่ม “เสือในสวนยาง” เป็นเรื่องราวของคนใต้ สวนยาง หน้าที่ การใช้ชีวิต ธรรมชาติ ความเชื่อ รวมกันอยู่ในเรื่องเดียว ผมเหมือนได้นั่งดูหนังดีๆสักเรื่อง ตอนอ่านเหมือนตัวลอยได้พออ่านจบเหมือนตกลงมาเจ็บ เหมือนมีบางอย่างติดอยู่ในหัวสะกิดไม่ออก สุดๆแล้วครับเรื่องสั้นเรื่องนี้

ความรู้สึกตอนที่ได้อ่านเรื่องสั้นผลงานของคุณวินทร์ครั้งแรกของผมยังจำได้ดีไม่เคยลืม เรื่องสั้นในชื่อว่า “เกม” อยู่ในรวมเรื่องสั้น “อาเพศกำสรวล” ตอนนั้นปกยังเป็นควาย กระท่อม หิมะ เป็นหนังสือของพี่สาวเอามาจากกทม. ผมเปิดดูเนื้อหาภายในแบบผ่านๆไปหยุดอยู่ที่รูปวาดนักมวย เลยหยุดลองอ่านดู แต่มันกลับอ่านสนุกอย่างไม่น่าเชื่อ แล้วก็อ่านเรื่องอื่นๆรวดเดียวจบทั้งเล่ม ปรากฏว่าเย็นวันนั้นไม่ได้กินข้าวเย็น และโดนแม่บ่นไปตามระเบียบ พอเปิดเรียนเลยต้องไปค้นหาผลงานเล่มอื่นของเขาในห้องสมุดที่โรงเรียนแต่โรงเรียนผมบ้านนอกมากครับไม่มีเล่มอื่นๆให้อ่านครับ

จนกระทั้งผมได้มีโอกาสเข้ามาเรียนในตัวเมืองค่อยได้พบเจอกับหนังสือ “สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน” และผลงานเล่มอื่นๆ และก็ติดตามผลงานของคุณวินทร์มาตลอด แต่ช่วงหลังๆ ต้องยอมรับว่าติดตามผลงานของคุณวินทร์แบบห่างๆ ไม่ใช่แบบที่ต้องอ่านตั้งแต่วันแรกที่วางขายเหมือนแต่ก่อนแล้ว รอซื้อเฉพาะช่วงสัปดาห์หนังสือเท่านั้น

คุณวินทร์เป็นนักเขียนที่มีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอมาก พอเราแวะไปอ่านหนังสือผลงานของนักเขียนท่านอื่นๆได้สักพักก็จะมีเล่มใหม่ของคุณวินทร์ออกมาให้อ่านต่ออีก เรียกได้ว่าเล่มเก่ายังไม่ทันลืมก็จะมีเล่มใหม่มากระตุ้นอีกครั้ง ผลงานที่มีก็หลากหลายแนว แต่ก็ใช่ว่าเราจะชอบทุกแนวของเขา อย่างเช่น หนังสืิิอชุดแนวให้กำลังใจเล่มหลังๆ กับชุดคุยกับคุณปราบดา หยุ่น ก็ไม่ค่อยชอบเท่าไหร่นัก

แต่เมื่อได้อ่านเส้นสมมุติได้เพียงสามเรื่องแรกก็รู้สึกว่าตัวเองใจเต้น ดีใจ มีเสียงก้องในใจ “ฉันได้คุณวินทร์คนเก่าคนนั้นกลับมาแล้ว” อาจจะดูเหมือนผมพูดโอเวอร์เกินไป แต่ตอนนี้มันรู้สึกแบบนี้จริงๆนะ! อารมณ์ฟินที่เขาว่ากันคงเป็นแบบนี้นี่เองสินะ

ตอนที่อ่านไปได้ครึ่งเล่ม กลับรู้สึกว่าไม่อยากอ่านให้จบเล่มเลยซะอย่างงั้น ยังกับเด็กซ่อนซ็อกโกเล็ตลูกอมไว้ใต้หมอนเก็บไว้กินวันหลังยังไงยังงั้นเลยล่ะครับ

ถ้าคุณเป็นคนชอบเรื่องสั้นแนวเข้มข้น จริงจัง เดินเรื่องได้เฉียบคม และชอบผลงานของคุณวินทร์ในยุคแรกๆ รวมเรื่องสั้น “เส้นสมมุติ” เป็นอีกเล่มที่ขอแนะนำครับ

หนังสือที่ได้จาก งานสัปดาห์หนังสือ 18-28 ตุลาคม 2555

เวลาที่ใช้ในการอ่านหนังสือของผมส่วนใหญ่จะอยู่บนรถระหว่างการเดินทางไปทำงาน ช่วงหลังๆที่ผ่านมาได้กำจัดกองหนังสือที่ต้องอ่านลงไปได้บ้าง แต่มันไม่เคยหมดเลย มีแต่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่อย่างน้อยอัตราการซื้อใหม่กับอัตราการอ่านอยู่ในภาวะที่สมดุล แต่ทุกๆ 2 ครั้งต่อปี จะมีเหตุการที่ทำให้สมดุลเสียไปบ้าง คือ สัปดาห์หนังสือ ที่เราจะได้หนังสือในกองต้องอ่านเพิ่มขึ้นมา

งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 17
จัดในช่วงวันที่ 18-28 ตุลาคม 2555 เวลา 10.00-21.00 น.
ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 

หนังสือที่ได้จาก งานสัปดาห์หนังสือ 18-28 ตุลาคม 2555

รายการหนังสือที่ได้

ส่วนใหญ่เป็นหนังสือ World Science Series ของสำนักพิมพ์มติชน ซึ่งเราค่อนข้างประทับในหนังสือในซีรี่นี้ที่เคยอ่านมาก่อนหน้านี้คือ ควอนตัมจักรวาลใหม่ นาโนเทคโนโลยี เลยวางใจได้ว่าซื้อมาแล้วน่าจะอ่านสนุก ไปงานครั้งนี้จึงตั้งใจจะไปดูหนังสือพวกนี้อยู่แล้ว

  1. ประวัติย่อของกาลเวลา (A Brief History of Time) – สตีเฟ่น ฮอว์กิ้ง, ดร.อรรถกฤต ฉัตรภูติ, ดร.ปิยบุตร บุรีคำ แปล
  2. ประวัติย่อของเอกภพ (The grand design) – สตีเฟ่น ฮอว์กิ้ง/เลียวนาร์ด มลอดิโนว์, รศ.ดร.ภาณุ ด่านวานิชกุล แปล
  3. ไอแซค นิวตัน มหาบุรุษโลกวิทยาศาสตร์ (Isaac Newton)-เจมส์ เกล็ก, ดร.ปิยบุตร ฉัตรภูติ แปล
  4. E=mc2 ชีวประวัติสมการปฏิวัติโลก – David Bodanis,  รศ.ดร. ภาณุ ด่านวานิชกุล แปล
  5. ฉีกขนบแอนิเมชั่น: เอกลักษณ์ของ ฮายาโอะ มิยาซากิ นักฝันแห่งโลกตะวันออก – นับทอง ทองใบ
  6. เส้นสมมุติ (รวมเรื่องสั้นแนว สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน) – วินทร์ เลียววาริณ
  7. ร้อยคม (รวมเรื่องสั้นหักมุมจบ ชุดที่ 2)– วินทร์ เลียววาริณ
  8. เล่านิทานเซ็น – อ.อภิปัญโญ

รวมแล้วค่าเสียหายประมาณ 1,400 บาท ส่วนใหญ่ลดราคาประมาณ 15-20% ซึ่งเช็คดูกับราคาสั่งออนไลน์แล้วที่งานสัปดาห์หนังสือถูกกว่า จึงตัดสินใจซื้อที่งานสัปดาห์หนังสือครับ

ส่วนเพื่อนๆได้เล่มไหนไปบ้าง แชร์ให้ดูบ้างครับ

หนังสือ บองหลา อ่านแล้วครับ

หนังสือ บองหลา

ชื่อหนังสือ: บองหลา
เขียนโดย: พนม นันทพฤกษ์
173 หน้า พิมพ์ครั้งที่ 4 : มีนาคม 2550 (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2525)
สำนักพิมพ์: แพรวสำนักพิมพ์
ราคา 139 บาท

บองหลา หนังสือเล่มนี้เป็นนวนิยายที่ถูกเขียนขึ้นและตีพิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 ตัวผมเองยังไม่เกิดเลยครับ แต่ไม่น่าเชื่อว่ายังอ่านสนุกอยู่เลยครับ และผมก็ค่อนข้างอินกับการใช้ชีวิตของบองหลา(ชื่อแปลว่างูจงอาง)เด็กกำพร้าที่อยู่กับยายและเพื่อนสนิทอีกคน ฉากหลังเป็นชีวิตของชาวชนบทภาคใต้ ที่มีอาชีพหลักคือทำนา นึกในใจว่าพี่น้องชาวภาคใต้ของเรายังมีใครปลูกข้าวกันอยู่หรือปล่าวนะ การใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติอย่างใกล้ชิด วิถีชีวิตที่พึ่งพาอาศัยกันของชุมชน การศึกษาที่จบกันแค่ป. 4 เทศการงานบุญ อาหารการกิน การรุกเข้ามาของวัฒนธรรมคนเมือง

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจอีกอย่างคือชีวิตของพี่น้องชาวใต้กับชาวอีสานเมื่อครั้งอดีต ก็ไม่ได้ต่างกันเลยนะ ผมคนอีสานครับ! ในวัยเด็กของผมเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนไม่ได้ต่างจากบองหลาเท่าไหร่นัก หนังสือมีทับศัพท์ภาษาใต้อยู่บ้าง แต่ก็มีคำอธิบายแทรกอยู่เล็กน้อย

“บองหลา” เป็นผลงานของ พนม นันทพฤกษ์ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ปี 2548 หนังสือได้รางวัลรางวัลชมเชยประเภทบันเทิงคดี สำหรับเยาวชนก่อนวัยรุ่น ปี พ.ศ.2525 สำนักพิมพ์นำมาพิมพ์ใหม่อีกครั้ง จึงทำให้เราได้อ่านหนังสือเก่าที่น่าประทับใจเล่มนี้ ยังมีผลงานอื่นๆอีกหลายเล่มของ พนม นันทพฤกษ์ ที่เขียนมานานแล้วแต่ก็อยากหามาอ่านบ้าง เช่น เด็กชายชาวเล ทุ่งหญ้าข้าวป่าสูงและวันรุ้งทอแสง ดงคนดี เป็นต้น คงต้องไปหาค้นในห้องสมุดมากกว่าร้านหนังสือแล้วล่ะ

เป็นหนังสือใสๆ อ่านง่าย เพลินๆ ได้รำลึกถึงอดีตเมื่อครั้งเยาว์วัยในบ้านนอกอันเป็นที่รักของเรา

หนังสือ พุทธทาสกับเซ็น อ่านแล้วครับ

หนังสือ พุทธทาสกับเซ็น

ชื่อหนังสือ: พุทธทาสกับเซ็น
บรรณาธิการ: กัญญา ชะเอมเทศ 
224 หน้า พิมพ์ครั้งที่ 1 : กรกฎาคม 2552
สำนักพิมพ์: สุขภาพใจ บริษัท ตถาตา พับลิเคชั่น จำกัด 
ราคา 200 บาท

หนังสือ พุทธทาสกับเซ็น เป็นหนังสือรวบรวมภาพเซ็นต่างๆในโรงมหรสพทางวิญญาณประกอบคำอธิบายอันนี้จะอยู่บทแรก “ปริศนาธรรมเซ็น” ส่วนคำบรรยายของท่านพุทธทาส ซึ่งถอดมาจากการบรรยายธรรมของท่าน จะอยู่ในชุด บรรยายภาพปริศนาธรรมชุดจับวัว, ธรรมจากเชอร์แมน, โทรเลขเซ็น ท้ายเล่มมีซีดีเสียงบรรยายธรรมของท่านพุทธทาสแถมมาให้ได้ฟังด้วย ไม่อยากอ่านก็ฟังเอาก็ได้(ต้องดูภาพประกอบด้วยนะ)

ในบทสุทท้าย “เซ็น” เป็นบทกวีของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูล เป็นเรื่องราวของนิทานเซ็นที่คุ้นเคยกัน ในซีดีก็มีเสียงท่านมาอ่านบทกวีให้ฟังด้วยเช่นกัน

เนื้อหาเป็นภาพเซ็น พร้อมคำบรรยาย

ถ้าหากใครได้อ่านหนังสือ มังกรเซ็น ของวินทร์ เลียววาริณ มาก่อนจะอ่านเล่มนี้สนุกขึ้นอีกครับ เพราะเราจะรู้จักพระเซ็นที่ถูกกล่าวถึงในหนังสือเล่มนี้มากยิ่งขึ้น ส่วนตัวเองนั้นก็ไม่ใช่คนธรรมะธรรมโมอะไรมากมาย แต่ชอบศิลปะ โดยเฉพาะศิลปะที่เราเข้าใจว่าคนสร้างมันขึ้นมามีวัตถุประสงค์อะไร ถ้าเข้าใจศิลปะนั้นแม้สักนิด ผมว่าคนสร้างต้องดีใจ มีความสุขเป็นแน่ ว่าสิ่งที่เขาพยายามจะสื่อถึงเรานั้นเราเข้าใจนะ แม้จะมีคนมาชี้นำให้ก็ตาม คิดว่าคนทำงานศิลปะน่าจะมีความรู้สึกแบบนี้กันนะ

ท่านพุทธทาสและภาพเซ็น

บางทีการดูภาพแค่ไม่กี่ภาพอาจเข้าใจธรรมะได้มากกว่าอ่านพระไตรปิฎกทั้งเล่ม อย่างเช่น ท่านเหว่ยล่าง ท่านไม่รู้หนังสือ แต่รู้ธรรมะสูงสุดได้ น่าจะเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าการบรรลุธรรมนั้น จะดู อ่าน ฟัง ปฎิบัติ คิด ใช้ทุกอย่างรวมกันหรือขาดบางอย่างไปก็บรรลุได้เช่นกัน

ซีดีบรรยายธรรมอยู่ท้ายเล่ม

หนังสือ ใช้ภาพเซ็น ประกอบกับคำบรรยายสั้นๆ มีกลอนของท่านพุทธทาสแทรกอยู่ในช่วงที่ท่านบรรยายเอง โดยท่านจะบรรยายภาพก่อนแล้วค่อยอ่านเป็นคำกลอนใต้ภาพ คำบรรยายนั้นยาวกว่าคำกลอน กลอนยาวกว่าประโยคไม่กี่คำที่ติดอยู่ภาพ และก็ภาพที่ไม่คำบรรยายเลย

หนังสืออ่านสนุกแป๊ปเดียวก็จบ นี้เป็นรอบที่สองที่หยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่านจนจบอีกครั้ง

หนังสือ หัวกลวงในหลุมดำ อ่านแล้วครับ

หนังสือ หัวกลวงในหลุมดำ

ชื่อหนังสือ หัวกลวงในหลุมดำ
เขียนโดย วินทร์ เลียววาริณ
288 หน้า พิมพ์ครั้งที่ 1 : 2554
สำนักพิมพ์ 113
ราคา 195 บาท

หนังสือ หัวกลวงในหลุมดำ มีความคล้ายกับ ปลาที่ว่ายนอกสนามฟุตบอล อยู่พอสมควร มีการวิพากษ์วิจารณ์สังคมอย่างเจ็บแสบ และค่อนข้างโดน! เป็นหนังสือที่น่าจะถูกเขียนขึ้นในช่วงที่ประเทศไทยมีเสื้อเหลือง-เสื้อแดงอยู่เต็มถนน คำว่า “หัวกลวงในหลุมดำ” หมายถึง คนโง่หรือแกล้งโง่ ไปอยู่ใกล้หลุมดำแต่ไม่รู้ว่าตัวเองอยู่ใกล้ จะถูกดูดลงหลุมอยู่แล้วยังไม่รู้ตัว (ลงไปแล้วขึ้นไม่ได้นะ แม้แต่แสงยังออกมาไม่ได้เลย ตายลูกเดียว!)

การวิจารณ์ของคุณวินทร์ ที่พยายามมองในแบบสังคมอุดมคติ หรือเรียกว่าพวกโลกสวย อยากเห็นสังคมไปแนวนั้น(เป็นเรื่องดีนะ) มีทั้งชี้ทางและชี้จุดผิด แต่ไม่ได้บอกทางแก้ทั้งหมด หรืออาจจะยังไม่รู้เหมือนกันว่าจะแก้ยังไง ในสังคมสองมาตรฐานของเรา/ไม่ใช่แค่สังคมเราแต่หมายถึงทั่วทั้งโลกนั้น มีแนวคิดสองมาตรฐานอยูู่แล้ว เราควรทำอะไรได้บ้างกับสังคมแบบนี้?

เรื่องการให้การศึกษาของเด็กในประเทศไทยที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้อย่างแท้จริง ตัวผมเองก็เป็นอย่างที่คุณวินทร์ วิจารณ์ไว้ไม่น้อย อย่างเช่นการ กลัวครู ไม่กล้าเถียง คงเพราะเราถูกปลูกฝั่งว่าการเถียงครูเป็นเด็กไม่ดี และนี้อาจทำให้การศึกษาของเราไม่พัฒนาและเชื่อคนง่าย

และมีหลายเรื่องที่น่าประทับใจ โดยเฉพาะเรื่องของ อ.แสงอรุณ รัตนกสิกร อาจารย์คณะสถาปัต จุฬาฯ ผู้รักธรรมชาติ รักต้นไม้ เป็นอีกบุคคลที่น่านับถือ

เนื้อหาภายในเล่ม 

  • เรากรอกอะไรใส่หัวเด็กในห้องเรียยน ?
  • ใครเป็นผู้ตีกรอบสังคม ?
  • ศาสนากับความเชื่อจะพาเราไปไหน ?
  • มนุษย์มีความสามารถเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีตหรือไม่ ?
  • เราสามารถก้าวพ้นสังคมหัวกลวงได้หรือไม่ ?
  • อะไรคือความหมายของชีวิต ?

หนังสืออ่านสนุกอีกแล้วครับ ขอแนะนำ

คำคม หมวดการอ่าน

ได้หนังสือเกี่ยว “คำคม” จากงานสัมมนาแห่งหนึ่งมาครับ เป็นหนังสือเล่มเล็กๆ ข้างในมีคำคมหลากหลายหมวด เช่น หมวดความรู้ หมวดวิทยาศาสตร์ หมวดศิลปะ หมวดอุดมการณ์ เป็นต้น ในหนึ่งคำคมจะมีถึง 3 ภาษาให้ได้อ่านกัน ได้แก่ ไทย อังกฤษ และจีน

พอได้อ่านแล้วมันช่างเพลิดเพลินและกินใจเหลือเกิน จึงอยากเอามาแชร์ต่อให้คนอื่นได้อ่านบ้าง ในหนังสือไม่ได้อ้างถึงว่าคำคมเหล่านี้ใครเป็นคนคิดหรือพูดไว้แต่อย่างใด หรือบางทีอาจจะหาที่มาไม่ได้แล้วก็เป็นได้

ขออนุญาติคัดหมวดที่เกี่ยวกับการอ่านมาให้ได้ดูดดื่มกันก่อนครับ คัดมาเฉพาะคำคมที่ตัวเองชอบเป็นการส่วนตัวครับ

หนังสือ คำคม
หนังสือ คำคม

หนังสือคือที่ปรึกษาใกล้ตัว
Books are the advisor in hand anytime.

หนังสือและเพื่อนไม่จำเป็นต้องมีมากแต่ต้องดี
Books and friends should be few but good.

หนังสือคือขั้นบันไดแห่งความก้าวหน้าของมนุษย์
Books are a flight of stairs for the human progress.

การพิจารณาหนังสือเพียงหนึ่งหน้าย่อมดีกว่าการกวาดตาหนังสือทั้งเล่ม
Digesting a page of book carefully is beter than reading a book hurriedly.

หนังสือเก็บซ่อนจิตวิญญาณแห่งอดีต
The soul of the past times hides in the books.

หนังสือทุกเล่มมีไว้เพื่อช่วยเสริมสร้างความคิด หากไม่ได้มีไว้เพื่อแทนที่ความคิดของคุณ
All books are written for helping your idea but not for replacing your idea.

หนังสือที่ดีควรมอบประสบการณ์จำนวนมากให้แก่คุณรวมทั้งความเหนื่อยล้าเพียงเล็กน้อยเมื่ออ่านจบ เพราะคุณผ่านการใช้ชีวิตมาหลายชีวิตขณะอ่านมัน
A great book should leave you with many experiences, and slightly exhausted at the end. You live several lives while reading it.

หนังสือไม่ได้มีไว้เพื่อประดับบ้าน แต่ก็ไม่มีเครื่องประดับชิ้นไหนจะงดงามเท่าหนังสือ
Books are not made for furniture, but there is nothing else that so beautifully furnishes a house.

หนังสือคือสิ่งมหัศจรรย์ที่เก็บซ่อนจิตวิญญาณของนักเขียน เมื่อเปิดหนังสือและปลดปล่อยจิตวิญญาณนั้นออกมา เขาจะแอบสนทนากับคุณอย่างลับๆ
A book is a miracle where the author’s soul is hidden. Open the book and release this soul and it will talk with you mysteriously.

หนังสือที่ไม่ดีก็เหมือนกับเพื่อนเลวๆ ซึ่งอาจสังหารคุณได้
A bad book is like a bad friend, who may kill you.

อ่านหนังสือดีๆ ทุกวันก็เหมือนกับการใช้เปลงเพลิงขจัดความโง่ทั้งหลายออกไปทีละเล็กทีละน้อย
All stupid thing will be gradually method in the reading of good books every day as if by a fire.

วัยเยาว์อ่านหนังสือเหมือนแอบมองพระจันทร์ผ่านช่องหน้าต่าง วัยกลางคนอ่านหนังสือดั่งแหงนมองพระจันทร์ใต้ลานบ้าน วัยชราอ่านหนังสือเหมือนดั่งชมจันทร์อยู่บนหอคอย
Reading in youth is like peeping the moon through a crack; at middle age, like looking over it in a courtyard; at old age, like playing it on platform.

ครั้งแรกที่ฉันได้อ่านหนังสือ ฉันรู้สึกดั่วได้รู้จักเพื่อนใหม่ เมื่อฉันได้อ่านมันเป็นครั้งที่สอง ก็เหมือนกับได้พบเพื่อนเก่า
The first time I read a book, I felt like knowing a new friend. When I read it a second time, it is like meeting with an old friend.

คุณเรียนรู้ความรัก การหัวเราะ และการก้าวเดินจากพ่อแม่แต่เมื่อเปิดหนังสือ คุณจะพบว่าตัวเองมีปีก
From your parent you learn love and laughter and how to put one foot before the other. But when books are opened you discover that you have wings.

ผู้มากด้วยประสบการณ์จะอ่านหนังสือด้วยดวงตาทั้งสองข้าง ข้างหนึ่งมองคำพูดของบนแผ่นกระดาษ ส่วนอีกข้างเห็นความหมายที่มีอยู่ในนั้น
An experienced man reads with two eyes, one seeing the literal word, the other seeing through the back.

หนังสือบางเล่มมีไว้เพื่อลิ้มรส หนังสือบางเล่มมีไว้เพื่อกลืนกิน แต่หนังสือไม่กี่เล่มมีไว้เพื่อเคี้ยวและย่อย ซึ่งนั้นหมายถึงหนังสือบางเล่มมีไว้เพื่ออ่านเพียงบางส่วน หนังสือบางเล่มมีไว้เพื่ออ่านอย่างคร่าวๆ และแน่นอนว่าหนังสือไม่กี่เล่มมีไว้เพื่อใช้สติปัญญาและความตั้งใจในการอ่านทั้งเล่ม
Some books are to be tasted, others to be swallowed, and some few to be chewed and digested; that is, some books are to be read only in parts, others to be read, but not curiously, and some few to be read wholly, and with diligence and attention.

หนังสือ ปลาที่ว่ายนอกสนามฟุตบอล (ปลาที่ว่ายในสนามฟุตบอล ภาค 2) อ่านแล้วครับ

หนังสือ ปลาที่ว่ายนอกสนามฟุตบอล

ชื่อหนังสือ ปลาที่ว่ายนอกสนามฟุตบอล (ปลาที่ว่ายในสนามฟุตบอล ภาค 2)
เขียนโดย วินทร์ เลียววาริณ
320 หน้า พิมพ์ครั้งที่ 1 : 2554
สำนักพิมพ์ 113
ราคา 215 บาท

หนังสือ “ปลาที่ว่ายนอกสนามฟุตบอล” เป็นภาคต่อของหนังสือ “ปลาที่ว่ายในสนามฟุตบอล” ซึ่งผมก็ได้อ่านมาก่อนหน้านี้แล้ว เป็นหนังสือที่อ่านสนุก เป็นการตั้งคำถาม และหาคำตอบจากความรู้ที่เรามี ณ ปัจจุบัน อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เราชอบเล่มแรก จึงไม่ค่อยลังเลที่จะอ่านเล่มที่สอง แต่ดองไว้นานมากกว่าจะถึงคิวโดนหยิบขึ้นมาอ่าน ถ้าช้ากว่านี้อาจจะหมดสนุกลงไปอีก โดยเฉพาะการตั้งคำถามเกี่ยวกับจักรวาลที่ไม่รู้ว่าชาตินี้เรา(มนุษยชาติ)จะหาคำตอบให้คำถามเหล่านั้นได้หรือไม่ แต่อย่างน้อยช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเรื่องของ Higgs boson (God(damn) particle) เพิ่งจะประกาศว่า “ถ้ามันมีจริง เราก็พบแล้ว!” ก็ช่วยเพิ่มความกระจ่างของคำถามในหนังสือเล่มนี้ได้เสี้ยวหน่อยหนึ่ง(นิดหนึ่งจริงๆ)

ขอแนะนำเลยว่าถ้าใครที่ชอบอ่านหนังสือแนวฟิสิกส์ จักรวาล มนุษย์ต่างดาว อะไรทำนองนี้ จะอ่านช่วงแรกสนุกมาก

นอกจากนี้ ยังมีคำถามเกี่ยวกับ ความเชื่อ ศาสนา การกลับชาติมาเกิด กฏแห่งกรรม จิต และอื่นๆอีก ต้องยอมรับว่าหลายๆคำถามค่อนข้างตรงกับ คำถามในใจของผมเอง และการพยายามหาคำตอบของคุณวินทร์จากข้อมูลที่มี ณ ปัจจุบัน ก็ต้องบอกว่ายอมรับได้กับคำตอบนั้น และค่อนข้างตรงใจ ตรงกับความคิดในหัวของผมพอจะคิดได้

หนังสือเล่มนี้จะอ่านเอาเพลินๆก็ได้ หรือจะเอาไปคิดต่อให้หัวแตกไปเลยก็ยังได้ มันแตกยอดความคิดไปได้ไกลเหลือเกิน ก็เพราะมันออกนอกสนามฟุตบอลไปแล้ว ไปไกลเกินกว่าสามัญสำนึกจะจินตนาการได้

จากใจผู้เขียน(วินทร์ เลียววาริณ) : “นี่เป็นหนังสือที่ดูจะ ‘หนัก’ แต่ไม่หนักเพราะไม่ใช่ตำรา เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ที่พยายามปรุงให้เสพง่ายที่สุดแล้ว และน่าจะให้ความรู้ในเรื่องวิทยาศาสตร์สายต่างๆ ในระดับหนึ่งที่หาอ่านไม่ค่อยได้ในบ้านเรา เช่น จักรวาลวิทยา ฟิสิกส์ดาราศาสตร์ พันธุกรรมศาสตร์ ฯลฯ ไปจนถึงเรื่อง ‘อจินไตย’ ทั้งหลาย

บางส่วนเก็บความจากหนังสือต่างประเทศที่ไม่ได้รับการแปลเป็นไทย โดยตั้งใจให้เป็นหนังสือคานอำนาจทางปัญญากับหนังสือตระกูลไสยศาสตร์ที่เกลื่อนบ้านกลาดเมืองในเวลานี้!”

Graphic Design Principle 2nd edition หนังสือ หลักการและกระบวนการออกแบบงานกราฟิกดีไซน์

Graphic Design Principle second edition

ชื่อหนังสือ Graphic Design Principle 2nd edition: หลักการและกระบวนการออกแบบงานกราฟิกดีไซน์
ผู้แต่ง ปาพจน์ หนุนภักดี
บรรณาธิการ ปิยะบุตร สุทธิดารา
352 หน้า พิมพ์ครั้งที่ 1 : มีนาคม 2555
สำนักพิมพ์ DIGI ART
ราคา 295 บาท

หนังสือเกี่ยวกับการออกแบบกราฟิกดีไซน์ มีหัวข้อที่หลากหลาย อ่านเพลิน ข้างในมีกรณีศึกษาแยกตามหัวข้อเยอะ หัวข้อเด่นที่ตัวเองชอบมากที่สุดก็คือ ตัวอักษรในงานกราฟิกดีไซน์ ทำให้รู้เรื่องเกี่ยวกับตัวอักษรเยอะขึ้น ทั้งประวัติ และแนวคิดของผู้ออกแบบ แม้จะไม่ละเอียดยิบแต่พอจับทางเรื่องของอักษรได้บ้าง และการออกแบบสัญลักษณ์ เป็นการยกตัวอย่างโลโก้ของบริษัทชื่อดังทั่วโลกที่เราคุ้นตาดี นำมาอธิบายแนวคิด บางอันมีพัฒนาการของโลโก้ของบริษัทที่มีการรีแบรนด์อยู่บ่อยครั้ง ส่วนใหญ่เอาข้อมูลมาจาก Goodlogo.com ซึ่งเราก็รู้จักเว็บไซต์นี้จากหนังสือเล่มนี้เอง นอกจากนี้ยังมีส่วนอื่นๆที่น่าสนใจ เช่น ความหมายประวัติความเป็นมาของกราฟิกดีไซน์ แนวความคิดในการออกแบบ การออกแบบสื่อสิ่งพิมพ์ เป็นต้น

ตัวอย่างเนื้อหา

ตัวอย่างการออกแบบโปสเตอร์หนัง

จัดกลุ่มตามรูปแบบการนำเสนอที่คล้ายกัน (เหมือนจะเคยเห็นที่ไหน?)

ตัวอักษรในงานกราฟิกดีไซน์

ได้ความรู้เกี่ยวกับตัวอักษรมากขึ้น เพิ่งจะรู้ว่า Serif คือตัวอักษรที่มีติ่งเล็กๆ ส่วน Sans-serif คือตัวอักษรที่ไม่มีติ่งยื่นออกมา Time New Roman ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อใช้ในหนังสือพิมพ์ The Times ตั้งแต่ปี คศ. 1931 ออกแบบโดย Victor Lardent เป็นฟอนต์อีกอันที่ใช้กันทั่วโลก และใช้งานต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน (คนออกแบบเนี้ย สุดยอดจริงๆ)

การออกแบบโลโก้

ตัวอย่างการออกแบบโลโก้รถยนต์ชื่อดังจากอิตาลี พร้อมประวัติความเป็นมาเป็นสั้นๆ น่าเสียดายหลายโลโก้กับระบุคนออกแบบเป็น นิรนาม ซึ่งในความคิดผมถ้าสืบค้นมากพอน่าจะหาเจอนะว่าใครเป็นคนออกแบบ หรือถ้าไม่รู้ ผมจะไม่ยกโลโก้นั้นมานำเสนอแม้จะเป็นกรณีศึกษาที่ดีก็ตาม

หัวข้อการออกแบบโลโก้ ทำให้รู้ว่าลุง Paul Rand มีงานออกแบบโลโก้ที่สุดยอดจริงๆ เช่น โลโก้ของ IBM, NeXT, Ford, YALE เป็นต้น

สรุปว่า เป็นหนังสืออีกเล่มที่อ่านสนุก เพลิดเพลิน ถ้าใครที่ทำงานเกี่ยวกับการออกแบบ หนังสือเล่มนี้น่าจะเป็นหนังสือที่รวม case study ไว้เยอะพอสมควรเลยครับ สามารถเข้ามาหาแนวคิด แรงบันดาลใจข้างในหนังสือเล่มนี้ได้ไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน ส่วนคนที่ชอบศิลปะทั่วไปก็อ่านสนุก และได้ความรู้เช่นกันครับ

การ์ตูน ในวันที่ข้าพเจ้าเขียน Black Jack

Black Jack

หนังสือการ์ตูน ในวันที่ข้าพเจ้าเขียน Black Jack (เล่มเดียวจบ)
เรื่องและภาพ โดย มาซารุ มิยาซากิ  และ โคจิ โยชิโมโต้
สำนักพิมพ์ วิบูลย์กิจการพิมพ์
ราคา 55 บาท

เห็นจากบล็อกของ อ.ศุภเดช เกี่ยวกับการ์ตูน “ในวันที่ข้าพเจ้าเขียน Black Jack” เลยอยากอ่านบ้าง เมื่อเดินผ่านร้านการ์ตูนเลยไม่พลาดต้องหยิบติดมือมา เป็นเรื่องราวการทำงานของ อ.เท็ตสึกะ โอซามุ บุคคลสำคัญที่ได้รับฉายา “พระเจ้าแห่งวงการการ์ตูน” 

เรื่องราวในการ์ตูนเล่มนี้ เป็นการไปสัมภาษณ์บุคคลต่างๆที่เคยร่วมงานกับ อ.เท็ตสึกะ ในอดีต ซึ่งยังวนเวียนอยู่ในวงการการ์ตูน(ได้ดีกันทุกคนเลย) การทำงานของคนที่ถูกเรียกว่า “พระเจ้า” นั้นเป็นยังไง สิ่งที่ได้จากการ์ตูนเรื่องนี้คือ ได้รู้ว่าอาชีพนักเขียนการ์ตูนเขาทำงานกันยังไง การทำงานคือ อ.เท็ตสึกะ จะคิดเรื่อง วาดภาพตามเรื่องราวที่คิดไว้ จากนั้นผู้ช่วย(หลายคน)จะช่วยกันลงรายละเอียด เติมสี ใส่ฉากหลัง ฯลฯ แล้วส่งให้ผู้จัดการ เอาไปส่งให้ บ.ก.หนังสือรายสัปดาห์ ก่อนจะส่งพิมพ์ต่อไป มีเวลากำหนดที่แน่นอน เนื่องจาก อ.เท็ตสึกะ รับผิดชอบหลายเรื่อง จึงได้เห็นการทำงานแข่งกับเวลาในสถานการณ์ต่างๆ แม้เวลาจะบีบยังจะได้เห็นการทำงานอย่างเต็มสุดความสามารถจนถึงวินาทีสุดท้าย และไม่ยอมอ่อนข้อให้กับความไม่สมบูรณ์แบบ

นิสัยเฉพาะตัวหลายอย่างของ อ.เท็ตสึกะ ที่น่านับถืออย่างมาก คือ ถ่อมตัว ทำงานทุกวินาทีที่ทำได้อย่างเต็มที่ ช่างอยากรู้อยากเห็นทุกๆสิ่งทุกๆอย่างรอบตัวตลอดเวลา แต่จากเรื่องราวการทำงานของ อ.เท็ตสึกะ ก็มีข้อเสียอยู่มากเช่นกัน แต่อย่างไรก็ดีทั้งข้อดีและข้อเสีย เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการทำงานของเราได้เช่นกัน!

อ.เทะซึกะ โอะซะมุ

ผลงานของ อ.เท็ตสึกะ โอซามุ (ข้อมูลจาก wiki)

  • Ma-chan’s DiaryNew
  • Treasure Island 1947
  • Lost WorldNext WorldJungle
  • Taitei (Jungle Emperor / Kimba the White Lion), 1950
  • เจ้าหนูปรมาณู 1952-1968
  • Princess Knight, 1953
  • Story of a Street Corner, 1962
  • Memory, 1964
  • Mermaid, 1964
  • Ambassador Magma, 1965
  • Drop, 1965
  • W3 (Amazing 3), 1965
  • Pictures at an Exhibition, 1966
  • Dororo, 1967
  • The Phoenix, 1967
  • The Genesis, 1968
  • One Thousand and One Nights, 1969
  • Cleopatra,1970
  • Ode to Kirihito, 1970
  • A History of Birdmen, 1971
  • A Hundred Tales, 1971
  • Ayako, 1972
  • แบล็กแจ็ก หมอปีศาจ , 1973
  • Buddha, 1973
  • MW, 1976
  • ฮิโนโทริ วิหคเพลิง , 1980
  • A Tree in the Sun, 1981
  • Tell Adolph, 1983
  • Jumping, 1984
  • Broken Down Film, 1985
  • Legend of the Forest, 1987
  • Ludwig B., 1987
  • Murasama, 1987
  • Push, 1987
  • Neo Faust, 1988
  • Self-portrait, 1988
  • Metropolis(2002 by Tezuka Osamu Production)

หนังสือ 10 สุดยอดนักฟิสิกส์โลก อ่านแล้วครับ

10 สุดยอดนักฟิสิกส์โลก

ชื่อหนังสือ 10 สุดยอดนักฟิสิกส์โลก
เขียนโดย ชัยวัฒน์ คุประตกุล
140 หน้า พิมพ์ครั้งที่ 1 : ตุลาคม 2549
สำนักพิมพ์ ประพันธ์สาส์น
ราคา 85 บาท

หนังสือเล่มเล็กๆ อ่านง่าย เป็นประวัติสั้นๆกับสิ่งที่เขาค้นพบ นักฟิสิกส์ส่วนใหญ่ที่เรารู้จักดีอยู่แล้วจะมีเนื้อหาแนะนำเพียงเล็กน้อย ส่วนคนที่ไม่คอยเป็นที่รู้จักในวงกว้างจะเพิ่มเนื้อหาเยอะเป็นพิเศษ ในตอนท้ายมีประวัติของนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ ไอแซค นิวตัน กับการค้นพบของเขา ที่มีเนื้อค่อนข้างเยอะและอ่านเพลิน เมื่ออ่านการค้นพบของนักวิทยาศาสตร์ผู้ที่เรียกได้ว่าการค้นพบของเขาเปลี่ยนโลกได้ เรามักจะอึ้ง ทึ่ง ตะลึง ว่าพวกเขาคิดได้ยังไง? ในบทสรุปของคำพูดของไอแซค นิวตัน ตอบคำถามนี้ได้อย่างดี คือ

ในสมองของเขาไม่เคยว่างเปล่า เขาจะมีปัญหาที่ต้องขบคิดอยู่ตลอดเวลา และเมื่อเขากำลังคิดแก้ปัญหาใดๆก็ตามอยู่ เขาก็จะพิจารณาคิดหาทางแก้ปัญหาอย่างไม่ยอมหยุดยั้ง เพราะเขามิได้แก้ปัญหาโดยรอให้เกิดความคิด มองเห็นลู่ทางขึ้นมาเอง หรือโดยบังเอิญ เขาจะโจมตีปัญหานั้นอย่างไม่ยอมหยุดยั้ง จนกระทั้งได้คำตอบ

มันคือ ความพยายาม สินะ!

อ้อ มีอีกอย่างหนึ่ง นักฟิกส์คนอื่นๆที่น่าสนใจดูที่ wiki รวบรวมไว้อย่างดีเลย https://en.wikipedia.org/wiki/Physicist

 

Exit mobile version