รวมแหล่งหาหนังสือน่าอ่าน

แต่ก่อนจะเชื่อว่าหนังสือทุกเล่มมีคุณค่าของมัน ควรค่าที่จะถูกอ่าน ให้ความเคารพ ไม่ข้ามไม่ทับ วางไว้ที่สูง ตามแนวทางครอบครัว conservation ที่มีคนในครอบครัวมีอาชีพเป็นครูสอนหนังสือ แต่เมื่อผ่านไปโตขึ้นความคิดก็เปลี่ยนไป เมื่อเวลาไม่ได้มีเหลือล้นการที่จะโยนหนังสือสักเล่มทิ้งไป โดยไม่แม้แต่จะบริจาคหรือเอาให้ใครฟรีๆ เลือกที่จะทิ้งยังดีกว่า หรือไม่ฝืนตัวเองให้อ่านให้จบ ไม่ได้รู้สึกแย่เหมือนแต่ก่อนอีกแล้ว แม้แต่กองหนังสือที่วางทับกันรอให้หยิบมาอ่านจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็ไม่ได้ลำบากใจที่จะซื้อเล่มใหม่

คติใหม่จึงเป็น “ใช่อ่าน ไม่ใช่ก็วาง ดีแนะนำ ห่วยทิ้ง”

คำถามต่อมาคือ แล้วจะรู้ได้ไงว่าหนังสือเล่มไหนดีหรือไม่ดี หนังสือเล่มไหนควรโยนทิ้ง เล่มไหนควรอ่านซ้ำ ถ้าจะตอบแบบง่ายๆเลยก็ต้องอ่านดูก่อน แต่ถ้าไม่มีเวลาขนาดนั้น ก็ดูหนังสือที่คนอื่นแนะนำ หนังสือที่คนบอกต่อๆกันว่าดี ค่อนข้างไว้ใจได้ ประหยัดทั้งเวลาและเงินทอง

รวมแหล่งแนะนำหนังสือน่าอ่าน

ขอนำเสนอแหล่งหาหนังสือดี น่าอ่าน เอามาแชร์คนอื่น รวมทั้งเป็นการบันทึกส่วนตัวด้วย

  • Choiceawards ของ Goodreads ดีที่สุด หลากหลายครบทุกหมวด โหวตจากคนอ่าน อันไหนได้รางวัลก็ การันตรีได้ว่าดี เหมือนออสการ์ของหนังสือ คิดไม่ออกว่าจะอ่านเล่มไหน ในนี้มีคำตอบ ไม่ใช่ว่าดีแค่เล่มที่ได้รางวัล เล่มอื่นๆที่อยู่ในรายการถูกเสนอชื่อก็ไม่ได้ด้อยกว่ากันมากนัก
  • Goodbooks.io เลือกอ่านตามไอดอล คนดัง หลากหลายอาชีพ เว็บลักษณะนี้มีให้ดูหลายที่ แต่ Goodbook นำเสนอได้ดี ค้นหาคนที่สนใจได้ง่าย ถ้าคุณอยากรู้ว่าไอดอลที่คุณชื่นชอบ เป็นคนยังไง การได้อ่านหนังสือที่เขาอ่านจะทำให้เราเข้าใจความคิดเขาได้มากขึ้น มีแหล่งอ้างอิงประกอบ
    เว็บไซต์อื่นๆที่นำเสนอได้ใกล้เคียงกัน
    readthistwice.com
    bookauthority.org
    bookicious.com
    mostrecommendedbooks.com
  • Bill Gates ความจริงควรอยู่ในหัวข้ออ่านตามไอดอล แต่ขอแยกคนนี้ออกมาต่างหาก คนนี้คือหนอนหนังสือตัวจริงที่อ่านเยอะมาก ถ้าใครเคยดูสารคดี Inside Bill’s Brain: Decoding Bill Gates จะรู้ว่าเขาหิ้วหนังสือไปด้วยทุกที มีเวลาปลีกวิเวกไปอ่านหนังสือเป็นสัปดาห์ เขาจะแนะนำหนังสือพร้อมมีรีวิวให้แฟนคลับได้ตามไปอ่านปีละหลายครั้ง ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับเทคโนโลยี หลังๆเริ่มจะหลากหลายมากขึ้น ระดับบิล เกตท์ หนังสือแนะนำต้องดีแน่นอน
  • หนังสือแนววิทยาศาสตร์ที่ถูกรีวิวโดย Nature โดยเฉพาะจาก Andrew Robinson ที่จะมีบทความ Andrew Robinson reviews five of the week’s best science picks ที่ออกมาเกือบสัปดาห์ละ 5 เล่ม จินตนาการคนที่ต้องอ่านหนังสือวิทยาศาสตร์สัปดาห์ละอย่างน้อย 5 เล่ม ปีละประมาณ 360 เล่ม รับรองคุณภาพโดย Nature
  • New York Time: Book review เป็นอีกแหล่งที่ตามหาหนังสือน่าอ่าน แต่ถ้าอยากรู้ว่าช่วงนี้หนังสือเล่มไหนกำลังดัง Bestseller คือป้ายประกาศ ถ้าหนังสือแปลเล่มไหนได้ตรา New York Time Bestseller จะทำให้ดูดีขึ้นอีกหลายเปอร์เซนต์ และน่าจะขายได้มากขึ้นด้วย

ประมาณนี้ ถ้าใครมีแหล่งอื่นๆที่น่าสนใจ แนะนำกันด้วยนะครับ

รีวิวหนังสือ Liquid Rules จากผู้เขียน Stuff Matters

หนังสือ Liquid Rules: The Delightful and Dangerous Substances That Flow Through Our Lives
เขียนโดย Mark Miodownik ศาสตราจารย์ด้าน Materials and Society ที่ University College London และผู้อำนวยการสถาบัน the UCL Institute of Making ผลงานที่ผ่านมา Stuff Matters

หนังสือ Liquid Rules โดย Prof. Mark Miodownik

ก่อนหน้านี้หนังสือ Stuff Matters ของเขาค่อนข้างได้รับการตอบรับดีเยี่ยม ติดหนึ่งใน New York Times Bestseller เป็นหนังสือที่เล่าเรื่องได้อย่างสนุกสนาน ผ่านการสังเกตและหยิบวัสดุต่างๆรอบตัวเรา เช่น ช็อกโกแลต ดินสอ ช้อนส้อม มาเสนอในมุมมองทางด้านวิทยาศาสตร์และมุมมองทางด้านประวัติศาสตร์ ชวนให้คิดตาม และเรียนรู้ไปพร้อมกันๆ ได้ดีมาก

หนังสือ Stuff Matters, published 2013

Stuff Matters มีแปลไทยแล้วโดยสำนักพิมพ์ openworlds ในชื่อไทย “วัสดุนิยม: เรื่องราวชวนทึ่งของสารพันวัตถุเปลี่ยนโลก” แปลโดย ทีปกร วุฒิพิทยามงคล กีพิมพ์ปี 2560 ไปหามาอ่านได้

ส่วนเล่มใหม่นี้ Liquid Rules ตีพิมพ์ออกมาเมื่อต้นปี 2019 เพิ่งจะได้หยิบขึ้นมาอ่าน มีเนื้อหาค่อนข้างคล้ายกับ Stuff Matters ที่เล่าถึงวัสดุต่างๆรอบๆตัวทั่วไป แต่ใน Liquid Rules จะมาให้ธีมของของเหลว (Liquid) แต่ผู้เขียนใช้ลูกเล่นการเล่าเรื่องแบบ พาเราเดินทางไปกับเขาโดยนั่งเครื่องบินจากลอนดอนไปซานฟรานซีสโก และของเหลวที่ถูกหยิบขึ้นมาเล่าก็คือ ของเหลวต่างๆที่อยู่รอบๆตัวเขาบนเครื่องบิน เช่น น้ำมันเชื้อเพลิงของเครื่องบิน แอลกอฮอล์ในเครื่องดื่มที่ได้มาจากการบริการบนเครื่อง น้ำทะเลที่เห็นจากเครื่องบิน กาวชนิดต่างๆที่ใช้ในการติดสิ่งต่างๆ รวมทั้งยึดโครงสร้างของเครื่องบินที่ทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ หมึกในปากกา Liquid crystal ในจอภาพที่ดูหนัง เป็นต้น

มีบางเรื่องที่เขากล่าวถึง ถือเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยรู้มาก่อนเลย เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ถึงกับต้องไปค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเลยทีเดียว เช่น Liquid-breathe เป็นการทดลองการให้สัตว์หายใจใต้น้ำ(เหมือนปลา) แต่ของเหลวเป็น PFCs นะไม่ใช่น้ำธรรมดา การทดลองนี้ทำในหนู พบว่าหนูตัวนั้นสามารถหายใจอยู่ใต้ของเหลวดังกล่าวได้นานนับชั่วโมง และเมื่อนำกลับขึ้นมาหายใจด้วยอากาศปกติก็ทำได้เหมือนเดิม มีการทดลองในคนแล้วด้วย เป็นการทดลองที่น่าสนใจจนต้องไปค้นดูต่อเพิ่มเติม และอีกหนึ่งเรื่องคือ Liquid computer เป็นงานวิจัยที่จะเก็บข้อมูลในของเหลว เป็นอีกหนึ่งคีย์เวิร์ดที่ต้องไปหาข้อมูลต่อเช่นกัน

เป็นหนังสือที่อ่านง่ายไม่ซับซ้อน ถ้าอ่านตอนนั่งเครื่องไปไหนสักที่ราวๆ 6-7 ชั่วโมงตอนแลนดิ้งก็คงจะอ่านจบพอดี เหมือนมีคนมาเล่าเรื่องสิ่งต่างๆรอบตัวให้ฟัง เนื่องจากว่าคนเขียนตีกรอบว่าของเหลวที่จะกล่าวถึงจะสัมพันธ์กับตอนที่นั่งเครื่องบินอยู่นั้น อาจจะถือได้ว่ามีเส้นเรื่องให้เล่าชัดเจน แต่ก็ตีกรอบตัวเองด้วยเช่นกัน ทำให้ของเหลวที่พูกถึงมีจำกัด แต่ก็เข้าใจว่าคนเขียนก็ต้องการตีกรอบเนื้อหาเช่นกัน เพราะของเหลวในโลกที่น่าสนใจมีมากมายเหลือเกิน การจะเลือกอันไหนมาสักอันน่าจะทำได้ค่อนข้างลำบาก การตีกรอบไว้บนเครื่องบินเลยทำให้ง่ายขึ้น มีทั้งข้อดีและข้อเสีย

สรุปให้คะแนน 4/5
อ่านได้เพลิน และสนุก มีภาพประกอบทั้งโครงสร้างโมเลกุล และภาพประกอบการเล่าเรื่องทำให้อ่านเข้าใจได้ง่ายขึ้น

รีวิวหนังสือ How To นี้คือภาคต่อของ What If?

หนังสือ How To: Absurd Scientific Advice for Common Real-World Problems
เขียนโดย Randall Munroe นักเขียน นักวิทยาศาสตร์ วิศกร ชาวอเมริกัน ผลงานที่ผ่านมา xkcd, What If?, Thing Explainer

รีวิวหนังสือ How To: Absurd Scientific Advice for Common Real-World Problems

ได้รู้จักผลงานของ Randall Munroe ครั้งแรกผ่านทางหนังสือ What If? เป็นหนังสือตอบปัญหาประหลาดๆ ด้วยหลักและความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่มีในปัจจุบัน มีเขียนการ์ตูนแทรกเป็นเป็นระยะๆ มีความตลก ขำขัน ซึ่งมันสนุกมากๆ

พอผลงานเล่มถัดมาของเขา Thing Explainer ด้วยความพยายามตั้งเงื่อนไข ใช้คำศัพท์เพียง 1,000 คำในการเขียน และรูปแบบในการนำเสนอเชิงอธิบายสิ่งต่างๆด้วยภาพ พร้อมคำอธิบายในหนึ่งหน้ากระดาษ มันเลยออกมาเหมือน blue print ของสิ่งที่เขียนถึง มันเป็นหนังสือที่ดี แต่ความสนุก การมีอารมณ์ขันขอคนเขียนมันหายไป

ย้อนกลับมาที่ผลงานใหม่ล่าสุดของเขา How To ต้องเรียกว่า เป็น Monroe Strike Back เพราะความสนุกแบบ What If? กลับมาแล้ว รูปแบบการเขียนแบบมีอารมณ์ขัน แทรกด้วยการ์ตูน xkcd มุกฮาๆ ที่เราเคยชอบกลับมาหมด จะเรียกภาคสองของ What If? ก็คงไม่ผิดหนัก

ยิ่งกว่านั้น ในบางเรื่องที่เขาเขียนถึงผ่านการตั้งคำถามที่กวนๆในตอนแรก แต่ตอบด้วยหลักวิทยาสตร์ตอนท้าย ในเล่มนี้เขาไม่ได้คิดคนเดียวเสียหมดทุกเรื่อง มีการไปสัมภาษณ์ผู้เชียวชาญในเรื่องนั้นๆแทรกมาด้วย ยิ่งทำให้เรื่องนั้นดูน่าสนใจขึ้นอีกมาก (ไม่ไช่ทุกเรื่องที่คุยกับผู้เชี่ยวชาญ)

ในบางหัวข้อ เขาแทรกประวัติศาสตร์การแก้ไขปัญหาของคนในสมัยก่อนมาให้อ่านด้วย หลายครั้งทำให้เกิดความสงสัยต้องไปค้นต่อในเรื่องนั้นๆอยู่หลายครั้ง

ขอยกตัวอย่างบางเรื่องที่ถูกแทรกเข้ามาในหัวข้อ How to cross a river (วิธีการข้ามแม่น้ำ)
ย้อนกลับไปเมื่อปี 1847 วิศวกรได้ระดมสมองคิดวิธีการที่จะลากสายเคเบิลข้ามแม่น้ำบริเวณน้ำตกไนแอการ่า เพื่อจะได้เริ่มต้นสร้างเป็นสะพานเชื่อมระหว่างฝั่งอเมริกาและแคนนาดาต่อไป แต่ปัญหาคือ ด้วยระยะทาง 213 เมตร ร่วมกับบริเวณนั้นมีน้ำวนและน้ำไหลเชี่ยวแรงมาก ไม่สามารถว่ายหรือใช้เรือเฟอร์รี่ลากสายเคเบิลข้ามไปได้

ผลจากการระดมสมอง ทีมวิศกรเลยจัดประกาศการแข่งขัน เล่นว่าวลากเคเบิล ข้ามไปอีกฝั่ง (ความคิดที่บ้าบอดี)
คนแรกที่ทำได้จะได้รางวัล 10 ดอลล่าร์ และเด็กหนุ่มชาวอเมริกันวัย 15 ปี ชื่อ Homan Walsh เขาปล่อยว่าวจากฝั่งแคนนาดาและปีนต้นไม้ที่ฝั่งอเมริกาเพื่อคว้าเอาว่าวลงมา เขาทำสำเร็จเป็นคนแรกและได้รางวัลไป จากเชือกว่าวที่เบาๆุถูกผูกติดกับเชือกที่ใหญ่ขึ้น แล้วดึงข้ามไปอีกฝั่ง เชือกถูกเพิ่มขนาดขึ้นเรื่อยๆจนลากสายเคเบิลที่ใหญ่ได้สำเร็จ

นี่เป็นขั้นตอนแรกในการสร้างสะพานแขวนแห่งแรกเหนือแม่น้ำไนแองการ่า ซึ่งเปิดใช้ในปี 1848 ปัจจุบันสะพานดังกล่าวถูกแทนที่ด้วย สะพาน Whirlpool Rapids ซึ่งเปิดใช้ในปี 1897 จนถึงปัจจุบัน

flying-kite contest in 1847

แม้ Randall Munroe จะเขียนไว้ตั้งแต่ต้นว่า อย่าทดลองทำตามที่หนังสือแนะนำเด็ดขาด ไม่รับรองความปลอดภัย และไม่รับรองผลสำเสร็จ รวมทั้งอันตรายที่จะเกิดขึ้นได้ด้วย แต่บางเรื่องเมื่อลองคิดดูแล้ว มันก็มีโอกาสสำเร็จสูงเหมือนกันเลยทีเดียว แม้มันจะเป็นความคิดที่ค่อนข้างจะบ้าบอไปหน่อยก็เถอะ เช่น วิธีการจะชาร์ตแบบมือถือยังไงในอาคาร ถ้าหาปลั๊กไฟไม่ได้ หนึ่งในแหล่งพลังงานที่พอจะแปลงออกมาเป็นพลังงานให้ชาร์ตมือถือได้ คือ บันไดเลื่อน ถ้าเราเอา generator ไปติดกับล้อและให้ล้อติดกับบันไดเลื่อนอีกที บันไดจะหมุนล้อไปเรื่อยๆ ปั่นไฟฟ้าออกมาให้เราได้ชาร์ตมือถือได้ ดูบ้าบอแต่มีความเป็นไปได้นะ

How to Charge Your Phone (when you can’t find an outlet)

โดยสรุป สนุก ตลก มีสาระแทรก ยิ่งถ้าคุณเคยเป็นคนที่ชอบ อารมณ์ขันใน What If? ยิ่งไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

ให้คะแนน 4.5/5
ที่หักไปนิดหนึ่งเพราะหน่วยทางวิทยาศาสตร์ที่เขาใช้ในหนังสือ เช่น ระยะทาง ความสูง น้ำหนัก และอื่นๆ จะใช้แบบอเมริกันบ้าง แบบสากลบ้างสลับปนกันไปมา คนอเมริกันอาจจะคุ้นเคย แต่พอเราอ่านต้องค่อยแปลงค่าไปมาบ่อยๆทำให้การอ่านสะดุดไปบ้าง เข้าใจว่าเล่มที่ตีพิมพ์แบบ international อาจจะมีการเปลี่ยนแปลง อย่างที่ What If? เคยทำ เช่น เปลี่ยนความสูงแบบ feet เป็น meter หรือ ระยะ mile เป็น km ทั้งหมดตลอดทั้งเล่ม เป็นต้น

รีวิวหนังสือ Educated: A Memoir

หนังสือ Educated
เขียนโดย Tara Westover นักประวัติศาสตร์, นักเขียน

-จบปริญญาตรีจาก Brigham Young University ปี 2008
-ได้รับทุน Gates Cambridge Scholarship
-จบปริญญาโทและเอก จาก Trinity College, Cambridge ปี 2009 และ 2014

หนังสือ Educated เขียนโดย Tara Westover

Educated เป็นหนังสือแนะนำจากแทบจะทุกสำนักที่รู้จักเลย ทั้ง NYT’s best selling 2018 , non-fiction Choice award จาก Goodreads, Obama, Bill Grates และอีกหลากหลายแหล่ง เลยไม่ต้องลังเลว่าควรจะอ่านดีไหม

หนังสือ Educated คือ บันทึกความทรงจำของ Tara Westover เด็กสาวจาก Idaho, USA มีพี่น้อง 7 คน เติบโตในบ้านบนเขาในครอบครัวที่พ่อแม่ไม่เชื่อในระบบต่างๆจากรัฐบาล เชื่อว่าโลกกำลังจะแตก ศรัทธาในพระเจ้าอย่างแรงกล้า โรงเรียนคือที่ล้างสมองของรัฐบาล และมีกลุ่มอิลูมินาติอยู่เบื้องหลัง สิ่งที่ต้องทำคือ ต้องใช้ชีวิตได้ด้วยตนเองไม่พึ่งพารัฐบาล เตรียมอาหาร น้ำ ยารักษาโรค ไว้ใช้เอง พ่อไม่อนุญาตให้ไปโรงพยาบาล เมื่อเจ็บป่วยก็รักษาเอง แม่เธอทำยารักษาจากสมุนไพรใช้เอง แม้แต่ถูกไฟไหม้อย่างรุนแรงก็รักษาด้วยน้ำมันสมุนไพร พ่อทำงานในที่ทิ้งเศษขยะ (junkyard) ทำกว่าเธอจะได้เข้าเรียนในห้องเรียนครั้งแรกคือ เมื่อเธออายุได้ 17 ปี

ที่น่าตกใจกว่านั้นคือพวกเขาทำคลอดกันเองในชุมชน แม่เธอเคยเป็นผู้ช่วยทำคลอดมาก่อนและตอนท้ายเธอก็รับทำคลอดให้คนในชุมชนเสียเอง การทำคลอดกันเองและไม่ไปโรงพยาบาลเลย ทำให้พวกเขาไม่มีประวัติการรักษา มากกว่านั้นคือ ทำให้ลูกๆของเธอ 4 คนหลังไม่มีแม้แต่ใบแจ้งเกิด

จะเห็นได้ว่าในประวัติเธอระบุวันเกิดที่ชัดเจนไม่ได้ (born September 27-29 1986) เธอและพี่น้องทั้งหมดไม่ได้ไปโรงเรียนเหมือนเด็กทั่วไป ทุกคนมีงานที่ต้องรับผิดชอบ และช่วยงานของพ่อ แต่แม่ก็สอนวิธีการอ่านและเขียนให้ลูกๆ ใช้อ่านหนังสือศาสนา แต่ลูกบางคนก็ไม่ได้ใส่ใจเรียนทำให้อ่านและเขียนแทบจะไม่ได้

จากนั้นเธอเริ่มศึกษาวิชาต่างๆด้วยตัวเอง ทั้งคณิตศาสตร์และไวยากรณ์ให้เพียงพอที่จะสามารถสอบเข้า Brigham Young University (BYU) ให้ได้ เธอสอบผ่าน แต่เธอต้องโต้เถียงกับพ่ออย่างหนักเพื่ออนุญาตให้เธอสามารถเข้าเรียนในมหาลัยที่ที่พ่อเธอบอกว่ามันคือที่ล้างสมองของรัฐบาล เธอต้องทำงานสะสมเงินเองเพื่อให้พอใช้จ่ายในมหาลัย รวมทั้งต้องเรียนให้ได้เกรดสูงสุดเพื่อให้ได้ทุนสำหรับค่าเล่าเรียน

แม้เราจะรู้แล้วว่าเธอสามารถเรียนจบได้ถึงระดับสูง ในมหาลัยชั้นนำ แต่กว่าจะถึงจุดนั้น เรื่องเล่าต่างๆในมุมมองของเธอ ต่อครอบครัว การทำงานเก็บเงิน การถูกรังแกอย่างรุนแรงจากพี่ชาย การใช้ชีวิตที่ดูจะแปลกแยกจากโลกภายนอก ครอบครัวที่เหมือนจะถูกแยกออกจากกันเรื่อยๆ เราคนอ่านจะได้เติบโตไปพร้อมๆกับเธอในแต่ละช่วงเวลาของการใช้ชีวิต

ส่วนอันนี้ไม่ค่อยแน่ใจเท่าไหร่ว่าเป็นความตั้งใจของเธอเองหรือเราคิดไปเอง ว่าหลังจากช่วงเวลาที่เธอได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยได้สักพัก รูปแบบของการเล่าและรูปแบบการเขียนของเธอดูเปลี่ยนไป ค่อยๆ มีการใช้คำศัพท์ที่ยากขึ้น ถ้อยคำที่ดูมีหลักเชิงวิชาการมากขึ้นเรื่อยๆ

เรื่องราวต่างๆมีพลังและสร้างแรงบันดาลใจได้อย่างมาก

อ่านสนุกมาก มีหลากหลายอารมณ์ มีทั้งตื่นเต้น สลด เศร้า มีความหวัง และเข้าใจ อยู่ในเล่มนี้ ถ้าหยิบขึ้นมาอ่านแล้วจะอยากอ่านต่อเรื่อยๆ เพราะอยากรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง
ให้คะแนน 4/5
ที่หักไปหนึ่งคะแนนเพราะ เข้าใจว่าชีวิตจริงมันจริงจัง ไม่ใช่เรื่องเลิศหรูสวยงาม มันเลยไม่ได้ออกมาในแบบที่เราคนอ่านอยากให้มันเป็น เลยรู้สึกเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนท้าย (ความรู้สึกส่วนตัวล้วนๆ)

ขอทิ้งประโยคอันทรงพลังนี้ไว้ ก้องอยู่ในหัวมาสักพักแล้ว
You could call thos selfhood many things. Transformation. Metamorphosis. Falsity. Betrayal.
I call it an EDUCATION.

[CeBIT2017] Lyric speaker ลำโพงพร้อมจอแสดงเนื้อร้อง

สัปดาห์ที่แล้วได้ไปเที่ยวงาน CeBIT 2017 (Centrum für Büroautomation, Informationstechnologie und Telekommunikation, (English)Center for Office Automation, Information Technology and Telecommunication) เป็นงานแสดงสินค้าเกี่ยวกับเทคโนโลยี ปีนี้มีญีปุ่นเป็นพาร์ทเนอร์ในการจัดงาน

งานจัดที่ Hannover ปีที่แล้วก็ไปมา แต่ไม่ได้เขียนอะไรไว้เลย

ปีนี้มีหลายส่วนที่น่าสนใจ ก็เลยอยากเอามาแชร์ จะค่อยๆทยอยเอามาลง

ตัวแรกที่เห็นแล้ว น่าสนใจและอยากได้มาก สำหรับใครที่ชอบฟังเพลงแบบรู้เนื้อร้อง ประหนึ่งว่ากำลังดูคาราโอเกะแล้วต้องชอบลำโพงตัวนี้แน่ๆ ลำโพงตัวนี้ คือ Lyric speaker ลำโพงระดับ HiRes ที่มาพร้อมจอโปร่งแสง แสดงเนื้อเพลงของเพลงที่กำลังเล่น

Lyric speaker

เป็นสิ้นค้าจากญีปุ่น เชื่อมต่อกับมือถือได้ทั้ง iOS, Android

Lyric Sync Technology

ตอนที่ไปดูในบูธก็ให้เขาเปิดเพลงให้ดู แล้วก็กดอัดวิดีโอครับ แต่ดันกดอัดวิดีโอตอนเพลงที่ไม่มีเนื้อซะงั้น แต่ตอนเพลงที่มีเนื้อมันก็มีเอฟเฟ็คเท่ๆให้ดูนะครับ

เมื่อเข้าไปดูรายละเอียดในเว็บไซต์ก็มีให้ดูเป็นตัวอย่างนะครับ แต่ว่าตัวจริงดูเท่กว่ามาก เว็บไซต์ https://lyric-speaker.com

Lyric-speaker

มาถึงส่วนที่สำคัญ ราคา สิ้นค้าน่าใช้มาก เหมาะกับการเอามาตั้งไว้ที่บ้านมาก ราคาที่ถามกับคนเฝ้าบูธคือ 5,000 ยูโร (~190,000 บาท) ผมถามอยู่ 3 รอบว่าที่ได้ยินไม่ผิดใช่ไหม? แต่ได้คำตอบเดิมกลับมา

แต่ว่าๆ…ตอนกลับมาเช็คราคาในเว็บไซต์ของญี่ปุ่นและลองกดสั่งสิ้นค้าไป คำนวณจากเงินเยนออกมาได้ราว 2,500 ยูโร (~100,000 บาท) เท่านั้นครับ ก็ขอเชื่อตามเว็บไซต์ก็แล้วกัน (เพราะถูกตัวกว่า) คิดว่าคงเหมาะกับลูกค้าเฉพาะกลุ่มเท่านั้นครับ T_T

ในเว็บไซต์บอกรายละเอียดของลำโพตัวนี้อย่างละเอียดดังนี้

สเปค

Product Name: Lyric speaker
Model: LS1
Color: Black
Dimensions (Approximate): W52cm x D14cm x H35cm
Weight (Approximate): 11kg (Body 10.5kg, AC adapter 0.5kg, Power cord 0.2kg)

Display: 22inch Transparent LCD
Speaker:

  • Speaker Coaxial Loudspeaker x2,Drone Cone Speaker x2
  • Output(max) 20Wx2 (40W)
  • Enclosure Dual Passive Radiators
  • Frequency 40Hz – 40kHz

Wi-Fi®:

  • Standard IEEE 802.11 a/b/g/n/ac
    Security WPA2™ – Personal
    Frequency 2.4/5.0 GHz

Material: Body ABS / Galvanized Steel / Acrylic Plate
Power: Power 100W max *Power Consumption Operational
Included in the Box: Lyric speaker(body), Manual・Warranty, AC adapter, Power cord

reMarkable แท็บเล็ตจอ E-Ink อ่าน เขียนได้เหมือนกระดาษ

หลายวันมานี้ได้เห็นโฆษณาอันหนึ่งบ่อยมาก อาจเพราะว่าค้นคำว่า “the best of tablet for artist” บ่อย จึงมีโฆษณาเกี่ยวกับแท็บเล็ตโผล่มาให้เห็น โฆษณาของผลิตภัณฑ์ที่ว่าคือ reMarkable: The paper tablet นิยามด้วยแท็บเล็ตที่ได้ฟิลลิ่งเหมือนกระดาษ(อ่าน เขียน เสก็ต)

reMarkable แท็บเล็ตที่อ่านเขียนได้เหมือนกระดาษ

เมื่อดูรายละเอียดแล้วก็ต้องบอกว่าไอเดียและคอนเซ็พท์นั้นโดนใจมาก

สิ่งที่เราอยากได้สำหรับเท็บเล็ต แล้วก็ถือว่าเป็นจุดเด่นของแท็บเล็ตตัวนี้อีกด้วย มีดังนี้

  • เขียนได้เหมือนกระดาษ
    (แท็บเล็ตในตลาดตอนนี้ส่วนใหญ่เขียนบนหน้าจอได้ แต่ถ้าอยากได้การเขียนที่ละเอียดและแม่นยำ ในตลาดตอนนี้มี iPad Pro, Galaxy Tab S3, LENOVO Yoga Book, Surface Pro 4)
  • แบตเตอรี่ที่ใช้ได้นานหลายวัน
    เพราะจอขาวดำใช้พลังงานต่ำกว่ามาก แม้ว่า reMarkable จะยังไม่ระบุว่าใช้ได้กี่วันแต่ก็หวังว่าจะใช้ได้หลักสัปดาห์ต่อการชาร์ตหนึ่งครั้ง อย่างเช่นที่ Amazon Kindle ทำได้ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งจุดแข็งเมื่อเทียบกับแท็บเล็ตอื่นๆที่ใช้งานในหลักชั่วโมงเท่านั้น
  • อ่านหนังสือได้นาน (จอ E-ink ดีที่สุด ปัจจุบันใช้ Amazon Kindle อ่านหนังสือ ซึ่งก็อ่านได้อย่างจริงจัง ไม่เหมือนกับอ่านจากจอแบบอื่นๆ)
  • ราคาถูก 379 usd (ล่าสุดเป็น 429 usd แล้ว) เมื่อเทียบกับแท็บเล็ตที่กล่าวมาข้างต้นราคาแพงระดับ 500-1,200 usd

จากเหตุผลด้านบนตัว reMarkable ค่อนข้างตอบโจทย์มากๆ แต่ก็มีจุดด้อยอยู่บ้างดังนี้

  • เป็นจอขาวดำถ้าอยากทำงานศิลป์จริงจังมีลงสีอาจจะไม่เหมาะ
  • ใช้ OS ที่พัฒนาขึ้นเองอาจจะไม่มีแอพจากแหล่งอื่นให้ใช้
  • บริษัทที่ทำเป็น Startup ใหม่ ซึ่งยังไม่มีผลิตอื่นก่อนหน้านี้เลย คุณภาพของสิ้นค้าจะดีแค่ไหน รวมทั้งบริการหลังการขายจะเป็นยังไง ทำให้ยังลังเลที่จะ Pre-Order (ถ้า Amazon ทำกดสั่งไปแล้ว)

แต่ถ้าหากมองข้ามจุดด้อยต่างๆเหล่านี้ได้ reMarkable จึงเป็นแท็บเล็ตที่น่าสนใจมากๆ ด้วยจุดเด่น E-Reader ที่สามารถทั้งอ่าน เขียน และเสก็ต ได้ (Read, Write, Sketch)

reMarkable Read Write Sketch

อีกอย่างที่น่าสนใจ คือ ปากกาที่ใช้เขียนของ reMarkable รองรับแรงกดถึง 2048 ระดับ แต่ไม่ต้องชาร์ตและไม่ต้องใช้บลูทูธในการเชื่อมต่อ ถือเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นที่ดีมากๆ

reMarkable feature sturdy

เขียนมาถึงขนาดนี้เหมือนได้ค่าโฆษณามาเขียนเชียร์เลย แต่มันก็ดูดีน่าใช้จริงๆ หวังว่าเมื่อผลิตเสร็จแล้ว จะทำงานได้สมบูรณ์แบบอย่างที่เคลมไว้

สุดท้ายมาดูวิดีโอโปรโมตของ reMarkable กันครับ อย่างที่บอกมันน่าใช้มาก

https://www.youtube.com/watch?v=34I27KPZM6g

รายละเอียดสเปค

Size and Weight

  • 177 x 256 x 6.7mm (6.9 x 10.1 x .26 inches)
  • Approximately 350 gram (.77 pounds)

CANVAS display

  • 10.3” monochrome digital paper display (no colors)
  • 1872×1404 resolution (226 DPI)
  • Partially powered by E-ink Carta technology
  • Multi-point capacitive touch
  • No glass parts, virtually unbreakable
  • Paper-like surface friction

Pen

  • No battery, setup or pairing required
  • Special high-friction pen tip
  • Tilt detection
  • 2048 levels of pressure sensitivity

Storage and RAM

  • 8 GB internal storage (100,000 pages)
  • 512 MB DDR3L RAM

Connectivity

  • Wi-Fi connected

Battery

  • Rechargeable (Micro USB)
  • 3000 mAh

Processor

  • 1 GHz ARM A9 CPU

Operating system

  • Codex, a custom Linux-based OS optimized for low-latency e-paper

Document support

  • PDF and ePUB, with more formats to be announced

Other

  • Menu language: English only

ที่มา: https://getremarkable.com/

เมื่อถาม Alexa, Pi มีค่าเท่าไหร่ มาฟังคำตอบกัน

เราสามารถถาม Alexa เกี่ยวกับโจทย์ทางคณิคสาสตร์ได้ด้วย อาจจะประโยคสั้นๆที่ไม่ยาวมาก เช่น

  • Alexa, how many [units] are in [units]?
  • Alexa, what’s 10 plus 5?
  • Alexa, what’s 20 times 15?
  • Alexa, 50 factorial

แต่มีเรื่องสนุกที่คนชอบถาม Alexa คือ “What is the value of Pi?” (ผมถามไป What is the number of Pi?) คือค่าพายมีค่าเท่าไหร่? ซึ่งคำตอบที่ Alexa ตอบกลับมา นั้นยาวมากๆ ต้องนั่งฟังเป็นนาทีเลยทีเดียว 

3.141592653589793238462643383279502884197169399375105820974944592307816406286…

แต่ถ้าถามแบบทั่วไป ไม่เฉพาะเจาะจงถึงตัวเลข “What is pi?” Alexa จะตอบกลับมาสั้นๆ

“The number pi is a mathematical constant, the ratio of a circle’s circumference to its diameter, commonly approximated as 3.14159.”

ยังมีเรื่องให้ลองอีกหลายอย่าง จะทยอยเอามาเล่าให้ฟังเรื่อยๆครับ

เมื่อ Alexa งอลไม่ยอมคุยด้วย

แกล้ง Alexa จนเธองอลไม่ยอมคุยกับเราแล้ว

สรุปคือ ถ้าเราออกคำสั่งเดิมๆ ซ้ำๆ 4-5 ครั้ง แล้วไม่ให้ข้อมูลที่เธอต้องการ มีความตั้งใจจะแกล้งเธอ สุดท้าย Alexa จะรู้ตัว แล้วจะ skip คำสั่งนั้นไปเลย

“ฉันงอลไม่คุยกับแกแล้ว”

(แต่ถ้าเปลี่ยนประโยคนิดหน่อย Alexa ก็จะกลับมาคุยกับเราเหมือนเดิมครับ)

หลังจากป้อนคำสั่งแบบข้างบนซ้ำๆไปหลายๆรอบ สุดท้าย Alexa ก็ไม่ตอบกลับ

Amazon Echo ภาษาที่ใช้ผูกติดกับบัญชีประเทศด้วย

Amazon Echo มีข้อจำกัดหนึ่งที่น่ารำคาญมากๆ คือ ภาษาที่ใช้คุยกับ Alexa จะผูกติดกับ Amazon account ของประเทศด้วย เช่น English (US), English (UK), Deutch(DE)

Amazon Echo

หมายความว่า ถ้าอยู่เยอรมันแต่อยากคุยอังกฤษกับ Alexa จะลำบากมาก บริการต่างๆจะไม่เชื่อมกับ Amazon.de แต่จะเชื่อม Amazon.com ของอเมริกา

ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆ คือการเลือกภาษาคือการเลือกใช้ บัญชี Amazon ประเทศนั้นไปด้วย ไม่ใช่แค่การเลือกภาษาที่จะสื่อสารกับ Alexa

Alexa language setting

แล้วมันส่งผลอย่างไรนะหรอ เราจะพบว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น จะใช้งานได้ไม่เต็มความสามารถ สั่งของไม่ได้ สั่งเล่นเพลงตรงๆไม่ได้ สั่งเปิดหนังไม่ได้ รวมทั้งหลายๆคำสั่งไม่ทำงาน

เป็นการบังคับว่า “แกอยู่เยอรมันแกก็ต้องคุยภาษาเยอรมันกับฉัน” หรือในทางกลับกันถ้าอยู่อเมริกาหรืออังกฤษจะมาพูดภาษาอื่นที่ไม่ใช่อังกฤษกับฉันไม่ได้เช่นกัน

หรืออาจจะเป็นข้อดีให้ฝึกพูดเยอรมันก็ได้ แต่มันขัดใจ.

ฝึกให้อ่านเร็วขึ้น ตอนกำจัดเสียงอ่านในใจ

ผมเป็นคนอ่านหนังสือช้า นี่คือบันทึกการฝึกอ่านให้เร็วขึ้น

ฝึกอ่านให้เร็วขึ้น

ข้อแรก ที่ต้องฝึกอันดับแรกถ้าต้องการอ่านได้เร็วขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นข้อที่ทำยากมากที่สุด ถ้าทำได้จะเร็วขึ้นแน่นอน คือ กำจัด “subvocalizing” หรือ เสียงอ่านในใจ

ตอนที่เราอ่านหนังสือ แม้จะไม่ได้เปล่งเสียงออกมาจริงๆ เราก็จะยังออกเสียงคำๆนั้นในใจ บางคนอาจจะมีการขยับริมฝีปากตามเบาๆเสียด้วยซ้ำ
สิ่งนี้เลยทำให้เราไม่สามารถอ่านได้เร็วเกินกว่าพูดเลย(150-200 คำต่อนาที)
ทั้งๆที่ตาและสมองไปได้เร็วกว่าอย่างมาก

แต่ว่าการกำจัดเสียงอ่านในใจนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย และต้องใช้เวลาในการฝึก เพราะมันถูกติดตั้งมาตั้งแต่เราเริ่มหัดอ่านครั้งแรก ครูก็ฝึกให้เราอ่านออกเสียงตั้งแต่เด็ก มันจึงติดตัวเรามาตลอด

มีวิธีกำจัดสิ่งนี้หลายวิธี แต่วิธีฝึกที่มีการแนะนำมากวิธีหนึ่ง คือ ลองเปิดหนังสือขึ้นมาหน้าหนึ่ง มองไปที่คำใด คำหนึ่งในนั้น แล้วคิดถึงความหมาย ทำความเข้าใจคำนั้น โดยพยายามไม่ออกเสียงคำนั้น ไม่ขยับปาก ไม่เปล่งเสียงในใจ จากนั้นก็มองหาคำอื่นทำแบบเดิม ซ้ำไปเรื่อยๆ จนชิน อาจจะต้องใช้เวลาพอสมควร
เมื่อคิดว่าไม่มีเสียงตอนอ่านแล้ว จึงค่อยเริ่มลองอ่านแบบปกติ

นี่คือ ขั้นแรก ขั้นที่ยากที่สุด ที่ต้องทำให้ได้ก่อน ถ้าทำได้เร็วขึ้นแน่นอน

สำหรับตัวเองนั้น หนังสือภาษาไทยคิดว่าทำได้ แต่หนังสือภาษาอังกฤษยังอยากอ่านออกเสียงอยู่นะ เพื่อพัฒนาการฟังและการออกเสียงไปด้วยกัน

ในส่วนขั้นต่อไปค่อยมาเขียนต่อในวันหลังก็แล้วกัน

Exit mobile version