หนังสือ ปลาที่ว่ายนอกสนามฟุตบอล (ปลาที่ว่ายในสนามฟุตบอล ภาค 2) อ่านแล้วครับ

หนังสือ ปลาที่ว่ายนอกสนามฟุตบอล

ชื่อหนังสือ ปลาที่ว่ายนอกสนามฟุตบอล (ปลาที่ว่ายในสนามฟุตบอล ภาค 2)
เขียนโดย วินทร์ เลียววาริณ
320 หน้า พิมพ์ครั้งที่ 1 : 2554
สำนักพิมพ์ 113
ราคา 215 บาท

หนังสือ “ปลาที่ว่ายนอกสนามฟุตบอล” เป็นภาคต่อของหนังสือ “ปลาที่ว่ายในสนามฟุตบอล” ซึ่งผมก็ได้อ่านมาก่อนหน้านี้แล้ว เป็นหนังสือที่อ่านสนุก เป็นการตั้งคำถาม และหาคำตอบจากความรู้ที่เรามี ณ ปัจจุบัน อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เราชอบเล่มแรก จึงไม่ค่อยลังเลที่จะอ่านเล่มที่สอง แต่ดองไว้นานมากกว่าจะถึงคิวโดนหยิบขึ้นมาอ่าน ถ้าช้ากว่านี้อาจจะหมดสนุกลงไปอีก โดยเฉพาะการตั้งคำถามเกี่ยวกับจักรวาลที่ไม่รู้ว่าชาตินี้เรา(มนุษยชาติ)จะหาคำตอบให้คำถามเหล่านั้นได้หรือไม่ แต่อย่างน้อยช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเรื่องของ Higgs boson (God(damn) particle) เพิ่งจะประกาศว่า “ถ้ามันมีจริง เราก็พบแล้ว!” ก็ช่วยเพิ่มความกระจ่างของคำถามในหนังสือเล่มนี้ได้เสี้ยวหน่อยหนึ่ง(นิดหนึ่งจริงๆ)

ขอแนะนำเลยว่าถ้าใครที่ชอบอ่านหนังสือแนวฟิสิกส์ จักรวาล มนุษย์ต่างดาว อะไรทำนองนี้ จะอ่านช่วงแรกสนุกมาก

นอกจากนี้ ยังมีคำถามเกี่ยวกับ ความเชื่อ ศาสนา การกลับชาติมาเกิด กฏแห่งกรรม จิต และอื่นๆอีก ต้องยอมรับว่าหลายๆคำถามค่อนข้างตรงกับ คำถามในใจของผมเอง และการพยายามหาคำตอบของคุณวินทร์จากข้อมูลที่มี ณ ปัจจุบัน ก็ต้องบอกว่ายอมรับได้กับคำตอบนั้น และค่อนข้างตรงใจ ตรงกับความคิดในหัวของผมพอจะคิดได้

หนังสือเล่มนี้จะอ่านเอาเพลินๆก็ได้ หรือจะเอาไปคิดต่อให้หัวแตกไปเลยก็ยังได้ มันแตกยอดความคิดไปได้ไกลเหลือเกิน ก็เพราะมันออกนอกสนามฟุตบอลไปแล้ว ไปไกลเกินกว่าสามัญสำนึกจะจินตนาการได้

จากใจผู้เขียน(วินทร์ เลียววาริณ) : “นี่เป็นหนังสือที่ดูจะ ‘หนัก’ แต่ไม่หนักเพราะไม่ใช่ตำรา เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ที่พยายามปรุงให้เสพง่ายที่สุดแล้ว และน่าจะให้ความรู้ในเรื่องวิทยาศาสตร์สายต่างๆ ในระดับหนึ่งที่หาอ่านไม่ค่อยได้ในบ้านเรา เช่น จักรวาลวิทยา ฟิสิกส์ดาราศาสตร์ พันธุกรรมศาสตร์ ฯลฯ ไปจนถึงเรื่อง ‘อจินไตย’ ทั้งหลาย

บางส่วนเก็บความจากหนังสือต่างประเทศที่ไม่ได้รับการแปลเป็นไทย โดยตั้งใจให้เป็นหนังสือคานอำนาจทางปัญญากับหนังสือตระกูลไสยศาสตร์ที่เกลื่อนบ้านกลาดเมืองในเวลานี้!”

Graphic Design Principle 2nd edition หนังสือ หลักการและกระบวนการออกแบบงานกราฟิกดีไซน์

Graphic Design Principle second edition

ชื่อหนังสือ Graphic Design Principle 2nd edition: หลักการและกระบวนการออกแบบงานกราฟิกดีไซน์
ผู้แต่ง ปาพจน์ หนุนภักดี
บรรณาธิการ ปิยะบุตร สุทธิดารา
352 หน้า พิมพ์ครั้งที่ 1 : มีนาคม 2555
สำนักพิมพ์ DIGI ART
ราคา 295 บาท

หนังสือเกี่ยวกับการออกแบบกราฟิกดีไซน์ มีหัวข้อที่หลากหลาย อ่านเพลิน ข้างในมีกรณีศึกษาแยกตามหัวข้อเยอะ หัวข้อเด่นที่ตัวเองชอบมากที่สุดก็คือ ตัวอักษรในงานกราฟิกดีไซน์ ทำให้รู้เรื่องเกี่ยวกับตัวอักษรเยอะขึ้น ทั้งประวัติ และแนวคิดของผู้ออกแบบ แม้จะไม่ละเอียดยิบแต่พอจับทางเรื่องของอักษรได้บ้าง และการออกแบบสัญลักษณ์ เป็นการยกตัวอย่างโลโก้ของบริษัทชื่อดังทั่วโลกที่เราคุ้นตาดี นำมาอธิบายแนวคิด บางอันมีพัฒนาการของโลโก้ของบริษัทที่มีการรีแบรนด์อยู่บ่อยครั้ง ส่วนใหญ่เอาข้อมูลมาจาก Goodlogo.com ซึ่งเราก็รู้จักเว็บไซต์นี้จากหนังสือเล่มนี้เอง นอกจากนี้ยังมีส่วนอื่นๆที่น่าสนใจ เช่น ความหมายประวัติความเป็นมาของกราฟิกดีไซน์ แนวความคิดในการออกแบบ การออกแบบสื่อสิ่งพิมพ์ เป็นต้น

ตัวอย่างเนื้อหา

ตัวอย่างการออกแบบโปสเตอร์หนัง

จัดกลุ่มตามรูปแบบการนำเสนอที่คล้ายกัน (เหมือนจะเคยเห็นที่ไหน?)

ตัวอักษรในงานกราฟิกดีไซน์

ได้ความรู้เกี่ยวกับตัวอักษรมากขึ้น เพิ่งจะรู้ว่า Serif คือตัวอักษรที่มีติ่งเล็กๆ ส่วน Sans-serif คือตัวอักษรที่ไม่มีติ่งยื่นออกมา Time New Roman ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อใช้ในหนังสือพิมพ์ The Times ตั้งแต่ปี คศ. 1931 ออกแบบโดย Victor Lardent เป็นฟอนต์อีกอันที่ใช้กันทั่วโลก และใช้งานต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน (คนออกแบบเนี้ย สุดยอดจริงๆ)

การออกแบบโลโก้

ตัวอย่างการออกแบบโลโก้รถยนต์ชื่อดังจากอิตาลี พร้อมประวัติความเป็นมาเป็นสั้นๆ น่าเสียดายหลายโลโก้กับระบุคนออกแบบเป็น นิรนาม ซึ่งในความคิดผมถ้าสืบค้นมากพอน่าจะหาเจอนะว่าใครเป็นคนออกแบบ หรือถ้าไม่รู้ ผมจะไม่ยกโลโก้นั้นมานำเสนอแม้จะเป็นกรณีศึกษาที่ดีก็ตาม

หัวข้อการออกแบบโลโก้ ทำให้รู้ว่าลุง Paul Rand มีงานออกแบบโลโก้ที่สุดยอดจริงๆ เช่น โลโก้ของ IBM, NeXT, Ford, YALE เป็นต้น

สรุปว่า เป็นหนังสืออีกเล่มที่อ่านสนุก เพลิดเพลิน ถ้าใครที่ทำงานเกี่ยวกับการออกแบบ หนังสือเล่มนี้น่าจะเป็นหนังสือที่รวม case study ไว้เยอะพอสมควรเลยครับ สามารถเข้ามาหาแนวคิด แรงบันดาลใจข้างในหนังสือเล่มนี้ได้ไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน ส่วนคนที่ชอบศิลปะทั่วไปก็อ่านสนุก และได้ความรู้เช่นกันครับ

การ์ตูน ในวันที่ข้าพเจ้าเขียน Black Jack

Black Jack

หนังสือการ์ตูน ในวันที่ข้าพเจ้าเขียน Black Jack (เล่มเดียวจบ)
เรื่องและภาพ โดย มาซารุ มิยาซากิ  และ โคจิ โยชิโมโต้
สำนักพิมพ์ วิบูลย์กิจการพิมพ์
ราคา 55 บาท

เห็นจากบล็อกของ อ.ศุภเดช เกี่ยวกับการ์ตูน “ในวันที่ข้าพเจ้าเขียน Black Jack” เลยอยากอ่านบ้าง เมื่อเดินผ่านร้านการ์ตูนเลยไม่พลาดต้องหยิบติดมือมา เป็นเรื่องราวการทำงานของ อ.เท็ตสึกะ โอซามุ บุคคลสำคัญที่ได้รับฉายา “พระเจ้าแห่งวงการการ์ตูน” 

เรื่องราวในการ์ตูนเล่มนี้ เป็นการไปสัมภาษณ์บุคคลต่างๆที่เคยร่วมงานกับ อ.เท็ตสึกะ ในอดีต ซึ่งยังวนเวียนอยู่ในวงการการ์ตูน(ได้ดีกันทุกคนเลย) การทำงานของคนที่ถูกเรียกว่า “พระเจ้า” นั้นเป็นยังไง สิ่งที่ได้จากการ์ตูนเรื่องนี้คือ ได้รู้ว่าอาชีพนักเขียนการ์ตูนเขาทำงานกันยังไง การทำงานคือ อ.เท็ตสึกะ จะคิดเรื่อง วาดภาพตามเรื่องราวที่คิดไว้ จากนั้นผู้ช่วย(หลายคน)จะช่วยกันลงรายละเอียด เติมสี ใส่ฉากหลัง ฯลฯ แล้วส่งให้ผู้จัดการ เอาไปส่งให้ บ.ก.หนังสือรายสัปดาห์ ก่อนจะส่งพิมพ์ต่อไป มีเวลากำหนดที่แน่นอน เนื่องจาก อ.เท็ตสึกะ รับผิดชอบหลายเรื่อง จึงได้เห็นการทำงานแข่งกับเวลาในสถานการณ์ต่างๆ แม้เวลาจะบีบยังจะได้เห็นการทำงานอย่างเต็มสุดความสามารถจนถึงวินาทีสุดท้าย และไม่ยอมอ่อนข้อให้กับความไม่สมบูรณ์แบบ

นิสัยเฉพาะตัวหลายอย่างของ อ.เท็ตสึกะ ที่น่านับถืออย่างมาก คือ ถ่อมตัว ทำงานทุกวินาทีที่ทำได้อย่างเต็มที่ ช่างอยากรู้อยากเห็นทุกๆสิ่งทุกๆอย่างรอบตัวตลอดเวลา แต่จากเรื่องราวการทำงานของ อ.เท็ตสึกะ ก็มีข้อเสียอยู่มากเช่นกัน แต่อย่างไรก็ดีทั้งข้อดีและข้อเสีย เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการทำงานของเราได้เช่นกัน!

อ.เทะซึกะ โอะซะมุ

ผลงานของ อ.เท็ตสึกะ โอซามุ (ข้อมูลจาก wiki)

  • Ma-chan’s DiaryNew
  • Treasure Island 1947
  • Lost WorldNext WorldJungle
  • Taitei (Jungle Emperor / Kimba the White Lion), 1950
  • เจ้าหนูปรมาณู 1952-1968
  • Princess Knight, 1953
  • Story of a Street Corner, 1962
  • Memory, 1964
  • Mermaid, 1964
  • Ambassador Magma, 1965
  • Drop, 1965
  • W3 (Amazing 3), 1965
  • Pictures at an Exhibition, 1966
  • Dororo, 1967
  • The Phoenix, 1967
  • The Genesis, 1968
  • One Thousand and One Nights, 1969
  • Cleopatra,1970
  • Ode to Kirihito, 1970
  • A History of Birdmen, 1971
  • A Hundred Tales, 1971
  • Ayako, 1972
  • แบล็กแจ็ก หมอปีศาจ , 1973
  • Buddha, 1973
  • MW, 1976
  • ฮิโนโทริ วิหคเพลิง , 1980
  • A Tree in the Sun, 1981
  • Tell Adolph, 1983
  • Jumping, 1984
  • Broken Down Film, 1985
  • Legend of the Forest, 1987
  • Ludwig B., 1987
  • Murasama, 1987
  • Push, 1987
  • Neo Faust, 1988
  • Self-portrait, 1988
  • Metropolis(2002 by Tezuka Osamu Production)

หนังสือ คนกล้าฝัน (8 นักฝัน) อ่านแล้วครับ

หนังสือ คนกล้าฝัน (8 นักฝัน)

ชื่อ คนกล้าฝัน (8 นักฝัน)
เขียนและเรียบเรียงโดย ทศ คณนาพร
223 หน้า พิมพ์ครั้งที่ 3 ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ 2549
สำนักพิมพ์ RICH PUBLISHING
ราคา 120 บาท

หนังสือเล่มนี้ซื้อมือสองมาครับ หนังสือเก่าแต่ตัวอักษรคงไม่เก่าไปด้วยหรอกจริงไหม? หนังสือ คนกล้าฝัน (8 นักฝัน) เป็นการถ่ายทอดชีวิตของบุคคลที่ได้ชื่อว่าประสบความสำเร็จในชีวิต มีชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไปผ่านทางงานต่างๆที่เขาเหล่านั้นได้ทำ ได้สร้างสรรค์ออกมาสู่สาธารณะ ซึ่งก็เป็นกลุ่มของงานสร้างสรรค์ทั้งสิ้น (ศิลปะ เพลง รายการทีวี หนัง หนังสือ ฯลฯ) เป็นตัวอย่างของการหาเลี้ยงชีพตัวเองได้ด้วยงานที่ตัวเองรัก นักฝันทั้ง 8 คน เป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้วผ่านทางสื่อต่าง ได้แก่

  1. อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์
  2. ประภาส ชลศรานนท์
  3. วินทร์ เลียววาริณ
  4. วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์
  5. จิระ มะลิกุล
  6. สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ
  7. บอย โกสิยพงษ์
  8. สังคม ทองมี

สิ่งหนึ่งที่พอจะสรุปได้จากหนังสือเล่มนี้ก็คือ คนที่ทำงานในสิ่งที่ตัวเองรัก จะทำได้นาน มีความสุขในสิ่งที่ตัวเองทำ และจะไม่รู้สึกว่าตัวเองทำงานไม่หนัก(ในขณะที่คนอื่นมองว่าหนักมาก) ส่วนผลของ เงินทอง ชื่อเสียง ที่ได้มาเป็นเพียงส่วนเสริมที่ทำให้ใช้ชีวิตอยู่ได้(แบบมั่งมี) ในขณะที่ยังทำในสิ่งที่ตัวเองรักต่อไปได้ตลอดไปเรื่อยๆ

ส่วนตัวผมเป็นแฟนหนังสือของคุณวินทร์ เลียววาริณ ซื้อหนังสือเล่มนี้มาเพราะมีชื่อของเขาอยู่ปก แต่เนื้อเกี่ยวกับเขาส่วนใหญ่ก็พอๆรู้กันอยู่แล้ว แต่ก็ทำให้เราได้รู้จักนักฝันท่านอื่นๆเพิ่มมากขึ้นด้วย

ตอนที่เริ่มอ่านหนังสือเล่มนี้ไปสักพัก ก็ทำให้นึกถึงหนังสืออีกเล่มก่อนหน้าที่เพิ่งอ่านจบไป “หนังสือวิวาทะ” ที่ท่านพุทธทาสภิกขุ บรรยายธรรมเรื่อง การทำงานด้วยจิตว่าง พอจะเชื่อมโยงกันได้ดีทีเดียวเลย หรือจะเรียกว่าเป็น กรณีศึกษาของกลุ่มผู้ทำงานด้วยจิตว่าง ก็คงจะพอเรียกได้อยู่บ้าง

ท้ายเล่มมีเกร็ดเล็กๆ จากนักฝันต่างๆทั่วโลกเพิ่มเข้ามาด้วยนิดหน่อย

สุดท้ายฝันอย่างเดียวคงไม่เกิดผล ต้องปฎิบัติด้วย จึงจะเกิดผล

 

หนังสือวิวาทะ (ความเห็นไม่ตรงกัน) ระหว่าง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กับ ท่านพุทธทาสภิกขุ อ่านแล้วครับ

หนังสือวิวาทะ (ความเห็นไม่ตรงกัน) ระหว่าง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กับ ท่านพุทธทาสภิกขุ

ชื่อ หนังสือวิวาทะ (ความเห็นไม่ตรงกัน) ระหว่าง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กับ ท่านพุทธทาสภิกขุ
รวบรวมโดย อรุณ เวชสุวรรณ
232 หน้า พิมพ์ครั้งที่ 6 (พ.ศ. 2554) ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ 2520
สำนักพิมพ์ อรุณวิทยา
ราคา 120 บาท

หนังสือเล่มนี้เป็นการรวบรวมการถามตอบกันระหว่างผู้บรรยายธรรมกับผู้สนทนา ซักไซร้ สอบถามเพื่อเพิ่มความกระจ่างมากขึ้น หรือที่เรียกกันว่า ธรรมาสากัจฉา สถานที่จัดบรรยายอยู่ที่ หอ ประชุม ครุสภา โดยผู้บรรยาธรรมคือ ท่านพุทธทาสภิกขุ มีหัวข้อบรรยายคือ ธรรมในฐานะเครื่องมือ สร้างคน สร้างชาติ และสร้างโลก แบ่งเป็น 3 ครั้ง

  • ครั้งที่ 1 หัวข้อ งานคือการปฏิิบัติธรรม (6 ก.ค. 2506)ผู้ซักถามปัญหาธรรม คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, นายปุ๋ย โรจนะบุรานนท์ และนายฉันทิชย์ กระแสสินธุ์
  • ครั้งที่ 2 หัวข้อ การทำงานด้วยจิตว่าง (23 ก.พ. 2507) ผู้ซักถามปัญหาธรรม คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
  • ครั้งที่ 3 หัวข้อ หมวดธรรมที่พึ่งใช้ในการทำงานด้วยจิตว่าง (19 ม.ค. 2508) ไม่มีผู้ซักถามปัญหาธรรม

ในการบรรยายครั้งแรกที่เน้นไปที่การให้ความหมายของการธรรมและงาน (มีพูดถึงการเมืองและสภาบ้างเล็กน้อย) ซึ่งท่านพุทธทาสฯได้บรรยายถึงธรรมคือหน้าที่ (Duty) และหน้าที่ก็คือธรรม ดังนั้นไม่ว่า ชาวนา ชาวสวน ราชการ พ่อค้า ฯลฯ ที่ทำหน้าที่ของตนนั้นก็เหมือนการปฎิบัติธรรมแล้ว และเจาะจงลงไปที่ การปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะที่ถูกต้อง ซึ่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ก็เห็นด้วยอย่างยิ่ง และกล่าวสนับสนุนโดยตลอด

แต่ในการบรรยายครั้งที่สองที่บรรยายถึงการทำงานด้วยจิตว่าง(ว่างจากกิเลส ว่างจากความเห็นแก่ตัวทุกชนิด ว่างการยึดติดว่าเป็นของเอง) “ทำงานให้ความว่าง” ในครั้งนี้ ทั้งสองท่านค่อนข้างมีความเห็นที่แตกต่างกัน ซักไซ้กันไปมา คิดว่าคนในสมัยนั้นอาจมองว่าเป็นการสนทนาที่ค่อนข้างขัดแย้งรุนแรง อย่างเช่น “กระผมขอสอนพระสักวันเถิดครับ!” แต่เท่าที่อ่านดูก็ไม่ได้แตกต่างมากกันมายนัก โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ท่านมองว่าการทำงานด้วยจิตว่างนั้นเป็นธรรมที่ดีอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ไม่เหมาะเลยที่จะนำมาใช้กับฆราวาส ซึ่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เชื่อว่าต้องอาศัยอุปทาน หรือความอยาก(รวย เงิน สุขสบาย) ช่วยผลักดันให้ทำงานออกมาได้ดี ส่วนการทำงานด้วยจิตว่างนั้นใช้ได้เฉพาะผู้อยู่ในสถานะสมณะเท่านั้น ประเทศจะพัฒนาได้อย่างไรถ้าทำงานให้ความว่าง แต่ท่านพุทธทาสฯนั้นยังคงยืนยันว่าเหมาะสมและจำเป็นต้องทำด้วย ซึ่งท่านพุทธทาสฯมองว่าทั้งสองเห็นต่างกันเพียงเล็กน้อย

ภายหลัง การบรรยายครั้งต่อไป ดูเหมือนว่าท่านพุทธทาสฯพบว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ นั้นเห็นต่างและเข้าใจผิดอยู่มาก ซึ่งน่าจะรับรู้ผ่านทางการเขียนลงหนังสือพิมพ์ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ หลายครั้งหลังจากการสนทนาธรรมในครั้งนั้น

ตอนท้ายเล่มยังมีบทความที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ พูดถึงพระพุทธศาสนาในแง่มุมต่างๆ ซึ่งถือว่าแนวคิดค่อนข้างแหวกแนวกับขนบธรรมเนียมในยุคนั้นมากพอสมควรเลยทีเดียว เช่น การกล่าวว่าพระเวสสันดร ผิดทั้งศีลกษัตริย์ ศีลสามี ศีลมารดา ไม่น่านับถือ และในหนังสือก็มีบทความโต้แย้งแนวคิดต่างๆของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ประกอบอยู่ด้วย

ในหนังสือเล่มนี้ถ้าเราอ่านแบบใจเป็นกลางจะพบว่าผู้เขียนค่อนข้างเอียงไปทางท่านพุทธทาสฯค่อนข้างชัดเจน ดูจากบทความท้ายเล่ม และการกล่าวถึง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ในเนื้อหาบางครั้งออกแนวโจมตีนิดๆ (แต่ไม่มากมายอะไรนะ) แต่อ่านก็รู้ว่าสนับสนุนท่านพุทธทาสฯเต็มที่ (ซึ่งส่วนตัวก็สนับสนุนท่านเช่นกันนะ) แต่การวิจารณ์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ และบทความท้ายเล่มออกจะไม่ค่อยจำเป็นเท่าไหร่ สิ่งที่อยากเห็นมากกว่าคือ ในบทนำได้กล่าวว่าหลังจากวิวาทะครั้งนั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ และลูกศิษย์ ได้เขียนบทความกระแนะกระแหนท่านพุทธทาสฯออกมาเป็นระยะๆ อยากอ่านบทความเหล่านั้นมากกว่า (ถ้าจะรวบรวมใหม่อีกครั้งครอบคลุมถึงส่วนนี้ด้วย คงเป็นอะไรที่สุดยอดมากๆ)

สรุปว่า หนังสือเล่มนี้อ่านสนุกครับ (หนังสือที่อ่านจบมักจะสนุก เพราะไม่สนุกจะวางแล้วเปลี่ยนเล่มใหม่) อีกอย่างที่ชอบมากคือ สำนวนการพูดคุยของคนยุคนั้นต่างจากปัจจุบันเยอะพอสมควร แต่ผมชอบลักษณะการใช้คำของคนยุคนั้นนะ สำนวนฟังไพเพราะ ลื่นหูดีแท้

ใครที่ชอบเรื่องดราม่า ลองอ่านนักปราชญ์ถกเถียงในเรื่องที่มีความเห็นต่างกันดูครับ สนุกและได้ความรู้เพิ่มขึ้นอีกด้วยครับ

ปล. เมื่อได้อ่านหนังสือเล่มถัดไป คนกล้าฝัน(8 นักฝัน) ยิ่งเป็นการตอกย้ำ และเป็นข้อพิสูจน์อย่างดีว่า แนวทางของท่านพุทธทาสภิกขุ ว่าด้วยการทำงานด้วยจิตว่างนั้นได้ผลอย่างดีเยี่ยม และสร้างสรรค์ให้โลกเราน่าอยู่ยิ่งขึ้นอีก

หนังสืออัตชีวประวัติของ สตีฟ จ็อบส์ โดย วอลเตอร์ ไอแซคสัน อ่านแล้วครับ

Steve Jobs by Walter Isaacson

หนังสือ Steve Jobs by Walter Isaacson, สตีฟ จ็อบส์ โดย วอลเตอร์ ไอแซคสัน
ผู้เขียน: Walter Isaacson
บรรณาธิการ: สุทธิชัย หยุ่น
ผู้แปล: ณงลักษณ์ จารุวัฒน์ และคณะ
720 หน้า ราคา 595 บาท
สำนักพิมพ์ เนชั่นบุ๊คส์

หนังสืออัตชีวประวัติของ สตีฟ จ็อบส์ โดย วอลเตอร์ ไอแซคสัน (Steve Jobs by Walter Isaacson) อ่านจบไปแล้วเมื่อสองสามวันก่อน เลยขอเขียนถึงหน่อยครับ นานๆจะได้อ่านหนังสือที่หนาๆขนาดนี้จบสักที ขอขอบคุณพี่มิค ที่ให้ยืมหนังสือเล่มนี้มาอ่านก่อนเจ้าตัวจะได้อ่านเสียอีก ใจดีมากๆ เวลาส่วนใหญ่ที่ใช้ในการอ่านยังคงอยู่บนรถตู้ และ BTS ต้องหิ้วไป-กลับระหว่างหอพักกับที่ทำงานตลอดหนึ่งอาทิตย์หนักพอสมควรเลย

หนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องชีวิตของ สตีฟ จ็อบส์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Apple ที่เคยใช้โรงรถในการทำคอมพิวเตอร์ขาย แล้วก็กลายมาเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก(ปี 2011) หนังสือที่เกี่ยวกับสตีฟ จ็อบส์ เราจะพบว่ามีอยู่มากมายหลายเล่ม แต่เล่มนี้ิถือว่าเป็นเล่มแรกและเล่มเดียวที่สตีฟ จ็อบส์ เป็นคนร้องขอ วอลเตอร์ ไอแซคสัน ให้มาเขียนชีวประวัติของตัวเอง โดยได้รับการสนับสนุนเต็มที่จากสตีฟ จ๊อบส์ ผ่านการสัมภาษณ์กว่า 40 ครั้ง และคนรอบตัวเขากว่า 100 คน คนในครอบครัว เพื่อน คู่แข่ง ซึ่งส่วนใหญ่สตีฟ จ็อบส์ จะเป็นคนยุให้คนเหล่านั้นออกมาพูดเรื่องต่างๆเกี่ยวกับเขาเอง

ในหนังสือ สตีฟ จ็อบส์ ให้สัมภาษณ์ว่า เหตุผลที่เขาอยากทำหนังสืออัตชีวประวัติของตัวเองนั้น เพราะเขาอยากให้ลูกๆรู้จักตัวเขาให้มากขึ้น ผ่านทางมุมมองของตัวเอง ไม่ใช่ใครก็ไม่รู้มาเล่าให้ฟัง ซึ่งเขารู้ว่าตัวเองใกล้จะตายแล้ว ความจริงแล้วในตอนที่สตีฟ จ๊อบส์กำลังตามจีบให้ วอลเตอร์ ไอแซคสัน มาเขียนหนังสือให้นั้น ไอแซคสัน ยังไม่อยากเขียนเขาบอกว่า ถ้าจะเขียนจริงๆ เขาคิดว่าคงอีกประมาณสัก 10 ปี ต่อจากนี้น่าจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม (คงประมาณว่าให้คุณเป็นตำนานก่อน) ตอนนั้นไอแซคสันยังไม่รู้ว่าสตีฟป่วยเป็นมะเร็งแล้ว สุดท้ายด้วยหลายๆอย่างทำให้หนังสือเล่มนี้เกิดขึ้น และพิมพ์ออกมาได้หลังจากสตีฟ จ๊อบส์ เสียชีวติได้ไม่นานหนัก หนังสือเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์โดยที่สตีฟ จ็อบส์ บอกว่าเขาจะไม่อ่านมันก่อน และเขาคิดว่าเนื้อหาข้างในมันต้องมีหลายอันที่จะทำให้เขาโกรธมากแน่ๆ เพราะเขาอยากให้มันเป็นมุมมองที่คนอื่นๆมองเขา

สตีฟ จ็อบส์ เป็นผู้ชายที่ลึกลับ มีอารมณ์ฉุนเฉียว เกรี้ยวกราด เหี้ยม ดื้อรัน ดุดัน หยาบคาย สบถแรงๆแบบไม่ไว้หน้าใคร บางทีก็อ่อนไหว ร้องไห้ เป็นคนนิยมความสมบูรณ์แบบ มินิมัลลิซั่ม เชื่อว่าอะไรยิ่งน้อยยิ่งดี ในหัวเขาข้างในเหมือนจะแบบไบนารี่คือมีแค่ 1 กับ 0 ทุกๆอย่างในโลกนี้ในสายตาเขามีอยู่แค่สองแบบคือ “ยอดเยี่ยมสุดๆ” กับ “ห่วยสุดๆ” ไม่ว่าอะไรก็ตามจะถูกแบ่งเป็นแค่สองอย่างเท่านั้น เช่น พนักงานก็มีแค่เกรดเอ กับห่วยแตก(มักจะโดนไล่ออก) ถ้าอะไรที่เกิดมีระหว่างกลางขึ้นมาเขาจะทำเป็นไม่สนใจไปเลยเหมือนพยายามจะตัดสิ่งนั้นออกจากชีวิตไปเลย

เกี่ยวกับสตีฟ จ๊อบส์ และคนอื่นๆที่ถูกกล่าวถึง

  • เขาเคยไปแสวงบุญที่อินเดียนานถึง 7 เดือน นับถือพระพุทธศาสนา นิกายเซน
  • เป็นมังสวิรัติผลไม้ ครั้งหนึ่งแม่ทนไม่ไหวกับพฤติกรรมการกินของเขา แต่สตีฟก็บ่นแม่กลับไปว่า “แม่ ผมเป็นนักมังสวิรัติผลไม้ กินแต่ใบไม้ที่สาวพรหมจรรย์เด็ดจากต้นกลางแสงจันทร์” (ติสต์แตกจริงๆ)
  • สตีฟ วอซเนียก เป็นวิศวกรที่ร่วมก่อตั้งบริษัทมาพร้อมกัน เป็นคนขี้อาย ใจดี สุภาพ เก่งมาก เป็นคนซื่อสัตย์ ที่น่านับถือมาก เป็นคนออกแบบ Apple I,II ที่ทำเงินให้บริษัทมากกว่า 75% ในช่วงเริ่มต้นบริษัทช่วงที่อยู่ในระหว่างการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ ต่างใช้เงินจากรายได้ของผลิตภัณฑ์ที่สตีฟ วอซเนียก คิดค้นขึ้นมา แต่กลับได้รับความสนใจน้อยมาก (แต่ดูเหมือนเขาจะไม่สนใจเรื่องนี้เท่าไหร่)
  • สตีฟ จ๊อบส์ มีลูกสาวชื่อ ลิซ่า และก็ทิ้งเธอไปตอนที่สตีฟอายุ 23 ปี ซึ่งเป็นอายุที่เท่ากับอายุของแม่ของเขาทิ้งเขาไปพอดี (ตอนหลังก็กลับไปรับผิดชอบ)
  • ดูเหมือนว่าเขาจะรักลูกชายมากกว่าลูกผู้หญิง และค่อนข้างจะฝากความหวังไว้กับลูกชายหลายอย่าง เช่น พาไปประชุมด้วย เคยบอกว่า อยากจะให้ดูแลบริษัท Apple ด้วย
  • หลายคนลงความเห็นว่า สตีฟ จ็อบส์ เป็นคนที่ทำงานด้วยได้ยากลำบากมาก ซึ่งเหมือนเขาจะรู้ตัวนะแต่ก็ยังทำพฤติกรรมเหมือนเดิม สตีฟบอกว่าเขามีหน้าที่บอกคนนั้นว่า “ห่วย” (ด่าแรงๆ) เพราะมันเป็นหน้าที่ของเขา ถ้าไม่ทำก็ไม่มีใครทำ สุดท้ายก็จะได้ผลงานห่วยๆ แต่คนอื่นก็คิดว่าไม่จำเป็นต้องใช้วิธีแบบนี้
  • กรรมการบริษัทชุดที่เคยไล่เขาออก เมื่อเขากับมาอีกครั้ง ถูกเขากดดันให้ลาออกหมดทั้งชุดเลย แล้วก็สรรหาชุดใหม่เข้ามาแทน ซึ่งค่อนข้างสนับสนุนตัวเขาเป็นอย่างดี
  • คนที่อยู่ใกล้เขาจะเหมือนว่าถูกดูดเขาไปอยู่ใน “สนามความจริงที่ถูกบิดเบือน” (Reality distortion field) ว่ากันว่า จะรู้สึกคล้อยตาม เชื่อใจและมีพลัง ลุกขึ้นมาทำอะไรที่ตัวเองไม่คิดว่าจะทำได้ให้สำเร็จลงได้อย่างไม่น่าเชื่อ
  • ในการพรีเซนต์เปิดตัวสิ้นค้าแต่ละครั้งของเขา ที่เราเห็นเรียบง่าย ตื่นเต้นนั้น เบื้องหลังนั้นผ่านการซ้อมมาอย่างดี มีการแก้ไข ให้คนรอบรอบข้างช่วยดู สรุปว่าเขาเตรียมตัวมาอย่างดีมากๆ เหมือนซ้อมละครเวที ยังไงยังงั้นเลย
  • สตีฟ จ๊อบส์ หมดเงินไปกับ Pixar ประมาณ 50 ล้านเหรียญซึ่งเป็นเงินครึ่งหนึ่งของเงินที่ได้มาจากการขายหุ้น Apple ทิ้งตอนที่ถูกไล่ออกจากบริษัท(เหลือไว้ 1 หุ้น) ถือว่าเป็นช่วงที่ยากลำบากของบริษัท Pixar ที่รอเงินสนับสนุนจากนายทุนและรอขายกิจการ
  • สตีฟ จ็อบส์ ปฎิเสธการรักษาตั้งแต่ตอนต้นที่ตรวจพบมะเร็งตับอ่อน คนในครอบครัว และเพื่อนๆคนสนิท ต่างขอร้องให้เขาเข้ารับการรักษาด้วยวิธีการแพทย์สมัยใหม่ แต่ดูเหมือนว่าเขาจะทำเป็นไม่สนใจ และปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปกว่า 9 เดือน จนมะเร็งลุกลาม ทำให้ยากต่อการรักษา บางทีถ้าไม่รั้นก็คงอาจจะยังมีชีวิตอยู่
  • ช่วงที่ป่วยหนักมีหลายคนเข้ามาพบเขา เช่น ลาร์รี่ เพจ ผู้ร่วมก่อตั้งกูเกิลเคยเข้ามาขอคำแนะนำจากสตีฟ จ๊อบส์ เขาพูดถึงการจะยึดอำนาจกลับจากเอริก ชมิดต์ ส่วนสตีฟแนะนำให้เขาโฟกัสแค่บางผลิตภัณฑ์ไม่ใช่คุมเป็นร้อยๆตัว ซึ่งผมคิดว่าลาร์รี่ เพจ ก็เอาข้อแนะนำของสตีฟมาทำจริงๆจากที่เราได้เห็นช่วงหลังๆที่ผ่านมา เมื่อลาร์รี่ เพจ ขึ้นเป็นซีอีโอ กูเกิล ไล่ปิดบริการต่างๆเยอะมาก
  • บิล เกตส์ คู่แข่งทางธุรกิจตลอดกาล ก็เข้ามาพบสตีฟ จ๊อบส์ เหมือนกัน โดยเขายอมรับว่าระบบปิดของสตีฟที่คุมทุกอย่างทั้งฮาร์ตแวร์ ซอร์ฟแวร์ก็ได้ผลเหมือนกัน ส่วนระบบเปิด(Windows)ของเขานั้นก็ได้ผลเป็นที่ประจักอยู่แล้ว แต่เขาคิดว่าระบบปิดของสตีฟนั้นจะได้ผลดีก็เฉพาะตอนที่เขายังมีชีวิตอยู่เท่านั้น!

เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์

  • ที่บริษัท Apple พนักงานด้านออกแบบดูเหมือนจะมีอำนาจมากกว่าพวกพนักงานวิศวกร โดยเฉพาะ โจนาธาน ไอฟฟ์ จะรับคำสั่งจากสตีฟ จ๊อบส์โดยตรง ถ้ามีการถกเถียงกันระหว่างฝ่ายวิศกรกับนักออกแบบ นักออกแบบมักจะชนะเพราะสตีฟถือหางข้างนี้อยู่
  • ที่บริษัท Apple มีรางวัลมอบให้แก่คนที่กล้าเถียงสตีฟ จ๊อบส์ ด้วยนะ ซึ่งสตีฟ จ๊อบส์เองก็ดูเหมือนจะชอบเสียด้วยซ้ำ แต่ใครที่จะเถียงต้องเตรียมตัวมาดีมากๆๆๆ ถ้าเถียงแล้วอาจรุ่งไปเลย หรืออาจจะดับไปเลยก็ได้
  • การสร้างผลิตภัณฑ์ต่างๆมักจะเริ่มต้นด้วยการ ระดมสมองกันว่า ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่มันห่วยแตกยังไง แล้วทุกคนก็จะรุมด่าว่าไม่ดียังไงบ้าง แล้วค่อยคิดหาวิธีแก้ไข ออกแบบใหม่ ส่วนใหญ่ระดมสมองกันในแคมป์ช่วงพักผ่อน
  • iPad เป็นโครงการที่เกิดมาก่อน iPhone แต่ถูกพักไว้ก่อน แล้วเปลี่ยนมาทำ iPhone ก่อน สุดท้ายหลายๆอย่างที่ได้จาก iPhone ก็นำไปต่อยอดอีกทีกับ iPad
  • เริ่มต้นโครงการ iPhone มีการพัฒนาสองโครงการพร้อมกันคือ แบบที่พัฒนาต่อจาก iPod ที่มี click wheel (หน้าตาคงเท่น่าดู) ซึ่งทำให้ใช้งานยาก กับแบบที่เป็นจอทัชสกินที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน
  • App Store ตอนแรกสตีฟ จ๊อบส์ ไม่เห็นด้วยอย่างมาก เถียงกันหลายรอบมาก เพราะไม่อยากให้คนอื่นเอาโปรแกรมมาใส่ในเครื่องของตัวเอง จนสุดท้ายก็ยอม แต่ยอมแบบมีเงือนไข ต้องให้อยู่ในมาตรฐานที่ Apple กำหนดขึ้น
  • สตีฟ จ็อบส์ อยากปฎิวัติวงการทีวี ซึ่งเขาคิดว่าตัวเองคิดออกแล้ว(คิดว่าตอนนี้ Apple น่าจะเริ่มโครงการไปแล้ว)

ยังมีอีกหลายเรื่องที่อ่านแล้วสนุกมากในหนังสือเล่มนี้ โดยเฉพาะช่วงหลังๆที่เราได้เห็นข่าวหลายๆอย่างที่เกิดขึ้นของโลกไอที เราได้อ่านเบื้องหน้าของสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นผ่านทางสื่อต่างๆ แต่หนังสือเล่มนี้เปิดเผยให้เห็นเบื้องหลังที่เกิดขึ้นของเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น

สุดท้ายมานั่งคิดว่า เคยได้ฟังปาฐกถาของสตีฟ จ๊อบส์ ในงานรับปริญญาของแสตนฟอร์ดเมื่อนานมาแล้ว ในหนังสือมีเขียนถึงเหตุการณ์นั้นเหมือนกัน โดยเผยให้เห็นว่าตอนแรกเขาพยายามจะให้นักเขียนบทมืออาชีพมาช่วยเขียน แต่สุดท้ายก็เขียนขึ้นเองแล้วก็ให้คนรอบข้างช่วยดูอีกที ผมมานั่งดูอีกครั้ง พบว่าสามเรื่องที่เขาพูดถึงในการปาฐกถาครั้งนั้นมันครอบคุมชีวิตของเขาได้อย่างดีอย่างไม่นาเชื่อ กลายเป็นว่าหนังสืออัตชีวประวัติเล่มนี้เป็นส่วนขยายการพูดครั้งนั้นให้ชัดเจนยิ่งขึ้น หรือเรียกได้ว่า ถ้าจะสรุปหนังสือเล่มหนาขนาด 720 หน้าให้สั้นที่สุด และดีที่สุด ก็คือปาฐกถาอันนี้แหละ ใช่เลย!

สรุปส่งท้าย ถึงจะรวย เก่ง อัจฉริยะ มากแค่ไหน ก็หนีไม่พ้นความตาย แต่สิ่งที่เหลือไว้ก็คือ ผลงาน และความสร้างสรรค์ ที่ทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลัง

เป็นหนังสือที่อ่านสนุก และได้แรงบันดาลใจดีเยี่ยมครับ

หนังสือ “The Drunkard’s walk ชีวิตนี้ฟ้าลิขิต” อ่านแล้วจ้า

หนังสือ The drunkard’s walk ชีวิตนี้ฟ้าลิขิต

หนังสือ The drunkard’s walk ชีวิตนี้ฟ้าลิขิต
ผู้เขียน: Leonard Mlodinow
ผู้แปล: กฤตยา รามโกมุต, นพดล เวชสวัสดิื
จำนวน 288 หน้า ราคา 250 บาท
สำนักพิมพ์ โพสต์บุ๊กส์

ค้นพบอย่างหนึ่งว่าตอนอยู่บนรถตู้ที่ต้องนั่งไปทำงานทุกวัน คือช่วงเวลาที่เราใช้อ่านหนังสือ อ่านเปเปอร์ได้เยอะเลย แถมมีสมาธิในการอ่านมากกว่าอยู่ที่ห้องหรือที่ทำงานเสียอีก ซึ่งโดยปกติแล้วการอ่านหนังสือบนรถถือเป็นเรื่องปกติที่ติดนิสัยมาตั้งนานแล้ว เพราะตัวเองอยู่บ้านนอกต้องนั่งรถไกลๆไปเรียน ช่วงเวลานั้นก็เลยไม่รู้จะทำอะไรนอกจากหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านเล่น แต่พอเข้ามาอยู่ในเมืองกรุงการใช้ชีวิตแบบนั้นเลยหายไป แล้วมันก็กลับมาอีกครั้ง เมื่อที่ทำงานกับที่นอนอยู่กันไกลมาก นอกเรื่องไปไกลแล้ว เข้าสู่เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้กันดีกว่า

หนังสือ The drunkard’s walk ชีวิตนี้ฟ้าลิขิต เป็นหนังสือวิทยาศาสตร์นะครับ ไม่ใช้เรื่องอะไรเกี่ยวกับการทำนายดวง พรหมลิขิตอะไรทำนองนั้น(แม้จะพูดถึงบ้างในตอนท้ายๆ) คนเขียนคือ เลนเนิร์ด มลาห์ดินาว เป็นนักฟิสิกส์สอนหนังสือที่สถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย เคยมีผลงานร่วมกับ สตีเฟน ฮอว์กิง ด้วยนะ(A Briefer History of Time) ในปกหลังจึงมีคำนิยมจากสตีเฟน ฮอว์กิง อยู่ด้วย แล้วยังมีผลงานเขียนบทซีรีโทรทัศน์,ภาพยนต์อีกด้วย(Star Trek: The Next Generation) ไม่แปลกที่จะเขียนหนังสือได้สนุกขนาดนี้

The drunkard’s walk ชีวิตนี้ฟ้าลิขิต หนังสือเสนอแนวคิดพื้นฐานของการสุ่มเลือก ความน่าจะเป็น มุมมองผลกระทบของการสุ่มเลือกที่เกิดขึ้นแทบจะตลอดเวลาของการมีชีวตอยู่ของเรา การเข้าใจและปรับตัวเพื่อเตรียมรับกับสถานการณ์ต่างๆ ผู้เขียนยกตัวอย่างเกี่ยวกับการสุ่มเลือกผ่านเหตุการณ์ต่างที่อยู่ใกล้ตัว ได้อย่างสนุกสนาน และเข้าใจได้ง่าย หนังสืออ้างอิงสถานการณ์ต่างๆ งานวิจัยต่างๆมากมาย ด้านหลังของเล่มเกือบ 20 หน้าจึงเป็นพื้นที่ให้แหล่งอ้างอิง ที่เราจะตามไปอ่านต้นฉบับจริงๆของเรื่อง หรืองานวิจัยนั้นๆได้

ในตอนแรกนั้นไม่คิดว่าตัวเองจะชอบคณิตศาสตร์ที่เราเรียนมาตั้งแต่มัธยมอย่าง ความน่าจะเป็นของการโยนเหรียญ ความน่าจะเป็นในเกมโชว์ทางทีวี ผมว่าเลนเนิร์ด มลาห์ดินาว คงเป็นนักวิทยาศาสตร์อีกคนหนึ่งที่หมกมุ่นกับเรื่องนี้อย่างมาก ไม่งั้นในสายตาของเขาคงจะไม่มองเห็นเรื่องต่างๆรอบตัวเป็นเรื่องความน่าจะเป็น และการสุ่มเลือกไปได้ บางทีเราคิดว่าควบคุมสิ่งต่างๆในชีวิตได้แต่ความจริงเลิกคิดเถอะ มันหาระเบียบแบบแผนไม่ได้เลย อย่างเช่นการเดินของขี้เมา(The drunkard’s walk) ไร้ทิศทาง ไร้แบบแผน

หนังสือเล่มนี้เปิดโลกแคบๆของผมให้กว้างออกไปได้อีกโขเลยทีเดียว ขอยกตัวอย่าง เรื่องเล่าเรื่องหนึ่งที่อยู่ในหนังสือมาให้ท่านได้อ่านกันครับ มันสร้างความประหลาดใจให้ผมได้มากเลย

เรื่องมีอยู่ว่า(ผมเขียนตามความเข้าใจของตัวเอง อาจไม่เหมือนในหนังสือนะครับ ในหนังสือสนุกกว่านี้มากเพราะมีเรื่องดราม่ายาว มีการถกเถียงกันในระดับประเทศ) ในเกมโชว์รายการหนึ่ง มีประตูอยู่สามบาน ด้านหลังประตูของหนึ่งในนั้นเป็นของรางวัลรถยนต์คันงาม อีกสองประตูที่เหลือเป็นเพียงความว่างเปล่า พิธีกรให้ผู้เข้าแข่งขันเลือกหนึ่งประตู เมื่อผู้เข้าแข่งขันเลือกแล้ว พิธีกรเดินไปเปิดประตูอันหนึ่งที่ว่างเปล่าหนึ่งประตูออก แล้วหันกลับมาถามผู้เข้าแข่งขันว่า “ตอนนี้เหลือสองประตู ด้านหลังหนึ่งอันในนี้มีรถคันงามกับอีกอันที่ว่างเปล่า คุณจะเปลี่ยนใจเลือกใหม่หรือไม่?” มีคนเขียนจดหมายไปถามมาริลีนคอมลัมนิสต์ชื่อดังที่ได้ชื่อว่าเฉลียวฉลาดไอคิวสูงระดับโลก คำตอบของเธอคือ “ควรเปลี่ยน!”

การจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนคำตอบผลที่ได้ก็ไม่ควรจะต่างกันสิ คำตอบมันควรจะเป็น 50/50 อยู่แล้ว (สามัญสำนึกของผมก็คิดเช่นนั้น) คำตอบที่บอกว่าให้เปลี่ยนใจของเธอทำให้ดอกเตอร์คณิตศาสตร์หลายคนในประเทศเดือดจัด บางคนถึงกับบอกหมดศัทธาในตัวเธอแล้ว แต่เธอก็ยังคงยืนในคำตอบของเธอ บางคนถึงกับเขียนจดหมายด่า จนเวลาผ่านไปเนิ่นนานเธอบอกจะไม่พูดถึงเรื่องนี้อีกแล้ว และแล้วก็มีนักคณิตศาสตร์เอาปัญหานี้ไปจำลองสถานการณ์และทดสอบผลซ้ำหลายรอบ ผลออกมาคือ มาริลีน เป็นฝ่ายถูก! เปลี่ยนใจมีโอกาสถูกมากกว่า 2 ต่อ 1 (ห่ะ!)

คำตอบของปัญหานี้แก้ได้ตั้งนานหลายร้อยปีแล้วโดย คาร์ดาโน นักพนันมืออาชีพ ว่าด้วย “แซมเปิลสเปซ” ลองมานั่งคิดแบบใจเย็นๆนะ

  • ประตูมี 3 บาน มีรางวัลอยู่หลังประตูหนึ่งอัน แสดงว่าโอกาสที่จะเลือกถูกคือ 1/3
  • และโอกาสที่จะเลือกผิดคือ 2/3
  • พิธีกรแทรกแซงการสุ่มเลือกโดยอิสระโดยเอาที่ผิดออกไปหนึ่งอัน แสดงว่าเขาเหลืออันที่ถูกไว้ให้เสมอ(อาจจะอยู่หลังประตูที่คุณเลือกหรือประตูอีกอันก็ได้)
  • แสดงว่าการเปลี่ยนใจ จะได้ผลแตกต่างจากเดิมแน่นอน นั้นคือ ผิด–>ถูก หรือ ถูก–>ผิด
  • ลองคิดเทียบกันดูว่า โอกาสที่คุณเลือกในครั้งแรกผิด(2/3) กับเลือกถูก(1/3) อันไหนมีโอกาสเกิดมากกว่า
  • คำตอบ คือ คุณมีโอกาสเลือกผิดสูงกว่าเลือกถูกตั้งแต่แรก 2:1 ทำให้การเลือกใหม่มีโอกาสที่จะเปลี่ยนจาก ผิด–>ถูก มากกว่า ถูก–>ผิด เป็น 2:1 เช่นกัน
  • ถ้าเริ่มแรกมีสองประตูให้เลือกคำตอบก็คงเป็น 50/50 แน่นอน มาริลีน คงไม่เถียง แต่นี้มีเหตุการณ์ที่เกิดต่อเนื่องกันมาก่อนแล้ว ความน่าจะเป็นจึงเปลี่ยนไป
  • ถ้าคุณยังงงอยู่ลองเพิ่มประตูเป็น 100 ประตู คุณเลือกหนึ่งอัน แล้วให้เพื่อนตัดอันที่ผิดออกเหลือไว้สองประตูจะพบว่าการเปลี่ยนใจมีโอกาสถูกกว่า 99/100 กลับกันถ้าคุณมั่นใจว่าตัวเองเลือกถูก(ฟ้าลิขิต)ตั้งแต่แรกก็ไม่ต้องเปลี่ยนใจเพราะโอกาสที่จะถูกยังคงเป็น 1/100

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาอื่นๆที่มีคำอธิบายไว้อย่างสนุก เช่น การหาว่าทำไมแต้มของลูกเต๋าสามลูกรวมกันได้ 9 จึงเกิดได้น้อยกว่าแต้มที่รวมกันได้ 10 ปัญหานี้กาลิเลโอถูกหัวหน้าใช้ให้ไปหาคำตอบ  รวมถึงการนำความน่าจะเป็นมากล่าวอ้างใช้ชั้นศาล เช่น DNA  โอกาสที่คนสองคนที่ไม่ใช่แฝดจะเหมือนกันนั้นแถบจะเป็นไปไม่ได้(1/20,000,000) แต่กลับไม่คิดว่าโอกาสที่คนทำการวิเคราะห์จะทำผิดพลาดเสียเองมีเท่าไหร่ อาจจะเหลืออแค่ 1/100 หรือ 1/1000 เท่านั้น, มีคนร้ายกล่าวอ้าง ภรรยาที่โดนสามีหรือแฟนตบตีแล้วจะพัฒนาไปถึงการฆาตกรรมมีเพียง 1/2500 เท่านั้น แต่กลับไม่คิดว่าหญิงที่ถูกฆาตกรรมโดยสามีเคยถูกสามีตบตีมาก่อนสูงถึง 95% และเรื่องอื่นๆอีกหลายเรื่องที่น่าคิดตามอีกมาก อยากให้ลองอ่านหนังสือเล่มนี้ดูครับ สำหรับผมแล้วชอบหนังสือเล่มนี้มากครับ

หนังสือ REWORK ยกเครื่องความคิด อ่านแล้วจ้า

หนังสือ ยกเครื่องความคิด Rework

หนังสือ ยกเครื่องความคิด Rework
ผู้เขียน:  Jason Fried, David Heinemeier Hansson
ผู้แปล: อาสยา ฐกัดกุล
จำนวน 288 หน้า ราคา 180 บาท 
สำนักพิมพ์ วีเลิร์น 

หนังสือ REWORK ผมได้ยินชื่อครั้งแรกจาก @imenn แล้วยังใจดี เขียนไว้ให้เราอ่านตั้งหลายตอนในบล็อกของบริษัทสามย่าน ในหัวข้อ “หนังสือ Rework, คำภีร์ของบริษัทสมัยใหม่” ลองตามไปอ่านตามลิงค์ดูได้ครับ เมื่อหลายวันก่อนเจอทวีตอันหนึ่งของ @arjin บอกว่า Rework ฉบับภาษาไทยออกแล้ว ด้วยความที่ไม่สะดวกเดินไปดูตามร้านหนังสือเท่าไหร่นัก จึงลองสั่งแบบออนไลน์ครั้งแรกจากเว็บไซต์ของ Se-ed ซึ่งถือว่าเป็นการสั่งซื้อหนังสือออนไลน์ครั้งแรกของเราด้วย ราคาที่ปก 180 บาท สั่งออนไลน์ราคา 171 บาท + 30 บาท(ค่าจัดส่ง) รวมเป็น 201 บาท รอประมาณ 5 วัน ก็ได้หนังสือห่ออย่างดี ถือว่าค่อนข้างโอเคกับประสบการณ์สั่งหนังสือออนไลน์ครั้งแรก

หนังสือ Rework เป็นการเล่าประสบการณ์ในการทำงานของบริษัท 37 Singals บริษัทผลิตซอร์ฟแวร์ขนาดเล็กมีพนักงานไม่กี่คน และยังอยู่กันคนละเมือง บางคนอยู่กันคนละทวีปด้วย(ทำงานกันได้ยังไง?) เป็นบริษัทที่คุมขนาดของบริษัทไม่ให้ใหญ่มาก แต่ก็ทำกำไรมาตลอดทุกปี แม้ในช่วงที่เกิดวิกฤตด้านการเงินที่สำคัญๆของโลก บริษัทก็ผ่านพ้นมาได้ด้วยดี

เนื้อหาของหนังสือจะมีลักษณะคล้ายกับเรากำลังนั่งอ่านบล็อกของใครซักคน ที่กำลังเล่าเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นในบริษัทของตัวเอง แบบสั้นๆเข้าใจง่าย เนื่องจากเขาเล่าจากประสบการณ์จริง เหตุการณ์ต่างๆเหล่านั้นเกิดขึ้นจริงๆ พออ่านถึงบางบทเราจะสะดุ้งเฮือก! เฮ้ย! ไอ้แบบนี้ที่ทำงานของเราก็เป็นว่ะ แล้วไอ้อาการสะดุ้งแบบนี้ก็เกิดขึ้นตลอดการอ่านหนังสือเล่มนี้

สิ่งที่น่าประทับใจมากของหนังสือ Rework คือ เขารู้ว่าสิ่งนี้คือปัญหาของบริษัท เขาด่าสิ่งนี้ห่วย การกระทำแบบนี้แย่ แล้วก็ตบท้ายด้วยวิธีแก้ไขในแบบฉบับของพวกเขา แล้วก็บอกผลลัพท์ที่ได้ด้วยว่าเป็นอย่างไร

ในความคิดของผมหนังสือเล่มนี้เหมาะกับบริษัทเล็กๆไม่ใหญ่มาก หรือบริษัทที่เพิ่งก่อตั้ง(Startup) แต่คนทำงานแบบมนุษย์เงินเดือนก็อ่านได้ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในที่ทำงานของตัวเองได้แน่นอน อยากได้เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษเหมือนกันนะ เพราะบทท้ายๆมีพูดถึงการใช้คำต่างๆในการสนทนา การโต้ตอบกับลูกค้า พอแปลเป็นภาษาไทยแล้วยังสื่อได้ไม่ค่อยดีนัก อยากรู้ว่าฝรั่งเขาสื่อสารกันยังไงด้วย

สรุปสั้นๆได้ว่า หนังสือ Rework เล่มนี้ ชอบมาก เป็นหนังสือที่จุดไฟในตัวเราได้ เหมาะสำหรับคนที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์แต่ยังไม่เริ่มทำ ให้ได้ฉุกคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว อ่านง่าย สนุก มีแนวคิดใหม่ๆในการทำงานเพียบ อ่านทบทวนหลายรอบได้

หนังสือ เจาะ CERN-เซิร์น อ่านแล้ว

หนังสือ เจาะ CERN-เซิร์น

หนังสือ เจาะ CERN – เซิร์น 
ผู้เขียน ดร. บุรินทร์ อัศวพิภพ, นรพัทธ์ ศรีมโนภาษ
192 หน้า, พิมพ์ครั้งที่ 2, ราคา 199 บาท
สำนักพิมพ์ สารคดี 

เมื่อวานตอนกลับจากที่ทำงานเดินผ่านแผงขายหนังสือเก่าวางกองบนพื้นที่อนุเสาวรีย์ชัยฯ ตาแอบแว้บไปเห็นหนังสือ เจาะ CERN-เซิร์น เป็นหนังสือที่ออกมานานแล้วตั้งแต่ปี 2552 ช่วงที่ LHC กำลังเป็นที่สนใจของคนทั่วโลกรวมทั้งคนไทยด้วย เคยเห็นตามร้านหนังสือเหมือนกัน แต่ไม่ยักกะอยากซื้อราคาที่ปก 199 บาท แต่เราซื้อมาราคา 40 บาท (หนังสือเก่า) ตอนที่หนังสือออกมาใหม่ๆทำไมไม่สนใจซื้อ? จะบอกว่าตอนนั้นก็เปิดดูบ้าง และติดตามข่าวการเดินเครื่อง LHC มาตลอด เป็นอะไรที่น่าตื่นเต้น ส่วนตัวชอบเรื่องฟิสิกส์ จักรวาล อวกาศ อยู่มิน้อย แต่ตอนนั้นดูตามเว็บไซต์ต่างๆก็รู้ว่าเพียงพอแล้ว มันคือความคิดใน ณ ตอนนั้น

แต่เหตุที่สนใจซื้อหนังสือเล่มนี้(นอกจากมันถูกแล้ว)เพราะว่า เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ สวทช. มีบรรยายพิเศษโดย ศ.ดร. อัลเบิร์ต ดี รอคก์ นักวิทยาศาสตร์อาวุโส จากสถาบัน CERN และ ดร.บุรินทร์ อัศวพิภพ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ แล้วเราเองก็ได้มีโอกาสเข้าร่วมฟังการบรรยายในครั้งนั้นด้วย มีหลายอย่างที่ทำให้เรางง และสงสัยจึงเป็นตัวกระตุ้นให้อยากอ่านหนังสือเล่มนี้มากขึ้น

หนังสือพิมพ์ครั้งแรก เมื่อมีนาคม 2552 ผ่านมาแล้ว 3 ปี เนื้อหา 192 หน้า เนื้อหาก็ไม่ถือว่าเก่ามาก LHC เดินเครื่องไม่กี่ครั้งนับจากหนังสือเล่มนี้ออก

เนื้อหาเป็นแบบ Popular Science อ่านไม่ยาก เป็นการเขียนแบบตั้งคำถามแล้วตอบเป็นข้อๆ สั้นๆ เป็นหนังสือเชิงตอบคำถามสังคมว่า สร้าง LHC ทำไม? เราจะได้อะไรจากมัน? อธิบายเรื่องฟิสิกส์ยากๆโดยเปรียบเทียบกับเรื่องใกล้ตัว อ่านเพลินแป็บเดียวจบ หลังอ่านจบมีความรู้เกี่ยวกับอนุภาคพื้นฐานเพิ่มขึ้น เข้าใจสิ่งที่นักฟิสิกส์กำลังสนใจและพยายามหาตอบให้คำถามนั้น เสียดายนิดหนึ่งถ้าได้อ่านก่อนคงฟังบรรยายสนุกขึ้น อ่านหนังสือจบถึงรู้ว่า ดร.บุรินทร์ บรรยายเหมือนเนื้อหาในหนังสือเลย(ก็คนเขียนนิน่า) รวมทั้งภาพประกอบบนสไลด์ก็เหมือนที่อยู่ในหนังสือเลย

สิ่งที่อ่านแล้วน่าทึ่งในหนังสือ เจาะ CERN

  • เป็นความร่วมมือที่ยิ่งใหญ่มาก หลายประเทศร่วมมือกันอย่างแข็งขัน ผมประทับใจกับผู้โน้มน้าวให้นักวิทยาศาสตร์คนอื่นยอมลงทุนด้วยมากๆ
  • 30% ของรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ เป็นกลุ่มนักฟิสิกส์อนุภาค
  • นอกจาก LHC ขนาดเส้นรอบวง 27 กิโลเมตร CERN มีท่อส่งอนุภาคนิวติโนข้ามไปอิตาลียาว 732 กิโลเมตร ลึกลงไปใต้ดิน 11.4 กิโลเมตร
  • WWW เกิดขึ้นที่ CERN จากแนวคิดแชร์ข้อมูลจากเครื่องเร่งอนุภาคให้นักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆให้ช่วยกันวิเคราะห์
  • เครื่องสแกนสมอง PET เป็นหนึ่งในวิทยาการที่ประยุกต์มาจากเครื่องเร่งอนุภาค
  • ครั้งแรกที่ปล่อยลำอนุภาคโปรตอนเข้า LHC นักวิทยาศาสตร์ยืนลุ้นกันเป็นร้อยๆคน

    นั่งดูครั้งแรก พวกคุณดีใจอะไรกันนักหนา? ตบมือกันเกรียวกาว ต้องวนดูหลายรอบ สิ่งที่เขาลุ้นคือลำแสงที่ปล่อยเข้าไปใน LHC แบบสวนทางกัน ถ้าทำสำเร็จมันจะเกิดเป็นแสงสว่างขึ้นในจอทั้งสองด้านซ้ายในคลิปครับ ต้องตั้งใจดูนิดหนึ่ง เป็นการยิงลำแสงเข้าไปครั้งแรกหลังจากใช้เวลาสร้างนานกว่า 20 ปี ไม่ให้ดีใจหรือตื่นเต้นได้อย่างไร!
  • มีเครื่องตรวจวัดอนุภาคทั้งหมด 6 สถานี ที่ทำงานได้อย่างแม่นยำมากๆ แต่ละสถานีมีเป้าหมายและหน้าที่แตกต่างกัน ต้องนับถือคนรุ่นก่อนที่ปูทางวิธีวัดอนุภาคไว้ให้
  • อนุภาคที่ใช้คืออนุภาคโปรตอนจากไฮโดรเจน ถูกเร่งจากวงเล็กๆแล้วขยายเป็นวงที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆตามลำดับ ซึ่งพลังงานก็เพิ่มขึ้นตามลำดับเช่นกัน หน่วยเป็นอิเล็กตรอนโวลต์(eV) เริ่มจาก LINAC2(50 MeV)>>Booter(1.4 GeV)>>PS(25 GeV)>>SPS(450 GeV)>>LHC(7 TeV) ที่พลังงาน 7 TeV โปรตอนวิ่งด้วยความเร็ว 99.9999991% ของความเร็วแสงในสูญญากาศ!
  • ในประเทศไทยมีเครื่องเร่งอนุภาคที่ใช้ในงานวิจัยขนาดเล็กอยู่ 2 แห่ง คือ ที่ศูนย์ปฎิบัติการวิจัยเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนแห่งชาติ จ.นครราชสีมา และอีกเครื่องอยู่ที่ ม.เชียงใหม่
  • แต่ละลำโปรตอนที่ถูกเร่งไม่ได้มีตัวเดียวนะ ไปเป็นขบวนประมาณ 3,000 ขบวน ยิงออกไปเรื่อยๆ ห่างกันประมาณ 7 เมตร ขบวนหนึ่งมีประมาณ 1 แสนล้านตัว เมื่อสองขบวนมาชนกันจะเกิดการชนกันจริงๆแค่ประมาณ 20 คู่เท่านั้นเอง! จากทั้งหมด 1 แสนล้านคู่ รวบรัดเลยแล้วกัน สุดท้ายแล้วในหนึ่งวินาทีจะชนกันประมาณ 600 ล้านครั้ง

น่าประหลาดใจอย่างยิ่งที่เราชาวชีววิทยากำลังตื่นเต้นกับนาโนเทคโนโลยี(10^-9) แต่ชาวฟิสิกส์กำลังวิจัยในระดับอัตโต(10^-18) ซึ่งเล็กต่างกันราว 1 พันล้านเท่า คงเป็นเพราะเรามองมันเป็นโมเลกุลที่ควบคุมและสั่งงานได้ ไม่ใช่การหาว่ามีอยู่หรือไม่ ก็คงตอบกันเองว่าเราต่างกันที่จุดประสงค์ครับ การหาคำตอบหนึ่งเรื่อง ได้ความรู้จากการเก็บตามรายทางมากมายนัก หาสิ่งหนึ่งได้อีกหลายสิ่งตามมา วิทยาศาสตร์น่าทึ่งจริงๆ สนุกด้วย

ฟรีหนังสือ E-book จากห้องสมุดคณะแพทย์ฯ จุฬาฯ

รายการหนังสือ E-book โดยห้องสมุดคณะแพทย์

เคยแนะนำแหล่งดาวน์โหลดหนังสือออนไลน์ (เฉพาะนิสิตจุฬาฯ)ฟรีหนังสือ E-book มากกว่า 7 พันรายการ ไว้แล้วลองเข้าไปดูและดาวน์โหลดเก็บไว้ได้ครับ อีกแหล่งหนึ่งที่ทางห้องสมุดคณะแพทย์ จุฬาฯ ทำไว้ให้เป็นรายการหนังสือที่สามารถดาวน์โหลดได้ฟรี จากแหล่งต่างๆเช่น SpringerLink ebook, SciDirect ebook, NetLibrary, PubMedBookShelf เป็นต้น โดยเรียงตามตัวอักษรให้ง่ายต่อการค้นหา เพิ่มความสะดวกได้อย่างมาก

แต่หนังสือฟรีที่โหลดได้จากที่นี้ เนื่องจากเป็นรายการที่ห้องสมุดของคณะแพทย์เป็นผู้จัดทำขึ้น เนื้อหาจึงเป็นทางด้านการแพทย์ ชีววิทยา เป็นหลัก ต่างจาก CRCnetbase ที่จะมีทุกสาขา

การดาวน์โหลดหนังสือยังต้องอาศัยการใช้เน็ตในจุฬาฯ หรือใช้ VPN ครับ เป็นอีกช่องทางในการค้นหาหนังสือที่ตนสนใจแบบไม่ต้องเสียตังค์ ยิ่งถ้ามี E-book Reader ด้วยแล้วน่าจะถูกใจมากขึ้นแน่นอนครับ (ถ้าใครสนใจเล่มไหน จะฝากเพื่อนน้องๆโหลดให้ก็ได้นะ)

เข้าไปโหลดหนังสือ E-book จากห้องสมุดคณะแพทย์ฯ จุฬาฯได้ที่ https://library.md.chula.ac.th/e-book/ebook-list.html

หวังว่าจะเป็นโยชน์ครับ

Exit mobile version