Zombie Makers: เรื่องราวของ “หนอนควบคุมมนุษย์”

เรื่องราวของซอมบี้ในธรรมชาติจากหนังสือเรื่อง Zombie Makers อีกเรื่อง ที่หยิบมาเล่าให้ฟัง คือ “หนอนควบคุมมนุษย์” เรื่องก่อนหน้าเป็นเรื่องของ ซอมบี้หอยทาก

ตัวละครหลักมี 3 ตัว
ผู้ร้าย: หนอนพยาธิ guinea worm หรือ Dracunculus medinensis
ผู้เคราะห์ร้าย: มนุษย์ Homo Sapiens
ผู้สมรู้ร่วมคิด: โคพีพอด copepods (คล้ายตัวอ่อนกุ้ง, แพลงค์ตอน เป็นต้น)
สถานที่เกิดเหตุ: แอฟริกา

ตัวโคพีพอดที่ติดเชื้อหนอนพยาธิ

เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อมนุษย์ดื่มน้ำที่มีตัวโคพีพอดที่ติดเชื้อมีตัวอ่อนของหนอนพยาธิ D. medinensis เข้าไป หลังจากนั้นโคพีพอดจะตายและปล่อยตัวอ่อนของหนอนพยาธิออกมา ในท้องของคน หนอนพยาธิจะเจาะเข้าไปในกระเพาะอาหารและผนังลำไส้ของของคนและเข้าไปในช่องท้อง พอตัวหนอนเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยจะผสมพันธุ์กัน แล้วหนอนตัวผู้จะตายไป ส่วนตัวเมียซึ่งอาจยาวได้ถึง 1.2 เมตร จะมุดตัวซอนไซไปอยู่ในเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังโดยเฉพาะบริเวณขา

ตัวหนอนพยาธิที่ถูกดึงตัวออกมาจากแผล

สิ่งน่าสยดสยองคือตัวหนอนพยาธิสามารถควบคุมพฤติกรรมของคนที่ติดเชื้อให้ช่วยทำให้วงจรการขยายพันธุ์ของมันสมบูรณ์ นั้นคือเมื่อหนอนพร้อมที่จะวางไข่มันจะปล่อยสารเคมีบางตัวออกมา ทำให้เกิดตุ่มขนาดใหญ่บนผิวหนัง ไม่นานแผลพุพองก็แตกออกทำให้เจ็บแสบอย่างมาก ปลายหัวของหนอนจะมองเห็นได้ตรงที่กลางแผล แต่ก่อนที่ตัวหนอนจะออกมามีอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องเกิดขึ้นก่อน…

อาการเจ็บแสบที่ผิวหนังสามารถบรรเทาด้วยการเอาลงไปแช่น้ำ ผู้ติดเชื้อจึงพยายามหาแหล่งน้ำเพื่อนำขาลงไปแช่น้ำ (กลายเป็นซอมบี้เดินหาแหล่งน้ำ) เมื่อผู้ป่วยเอาขาแช่ลงน้ำหนอนตัวเมียก็จะรู้ว่าได้เวลาโผล่ออกมาแล้ว มันจะปล่อยตัวอ่อนลงแหล่งน้ำ ตัวอ่อนจะถูกตัวโคพีพอดกินอีกครั้ง หลังจากนั้นก็พัฒนาเป็นตัวอ่อน รอให้เหยื่อคนต่อไปกลืนกินมันเข้าไปอีกครั้ง เป็นอันครบวงจรชีวิตโดยสมบูรณ์ สยอง…

สิ่งที่น่าสยดสยองมากกว่านั้น คือไม่มีวัคซีนหรือยารักษา การรักษาทางการแพทย์เพียงอย่างเดียวที่ทำได้คือพยายามดึงหนอนออกอย่างช้า ๆ และระมัดระวัง โดยจับตัวหนอนพันรอบแท่งไม้เล็ก ๆ ค่อยดึงตัวมันออกมาทีละน้อย ๆ ทุก ๆ วัน (ดูภาพและวิดีโอประกอบ) การเอาตัวหนอนออกทั้งตัวอาจใช้เวลาหลายวันบางครั้งเป็นสัปดาห์ สิ่งที่ต้องระวังคือห้ามให้ตัวมันขาดโดยเด็ดขาด หากหนอนขาดเป็นชิ้นส่วนที่หลงเหลืออยู่ภายในอาจทำให้ติดเชื้อ ส่งผลให้พิการหรืออาจเสียชีวิตได้ สยอง…

แต่การป้องกันทำได้ง่ายมากๆ เพียงดื่มน้ำที่ผ่านการกรองด้วยผ้าบางธรรมดาก็ปลอดภัยแล้ว ในปัจจุบันเป็นที่น่ายินดีมาก หลังจาการต่อสู้และรณรงค์ให้ความรู้กันอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 80s ที่มีรายงานการติดเชื้อมากกว่า 3.5 ล้านรายในแอฟริกา แต่ในรายงานล่าสุดในปี 2018 มีรายงานการติดเชื้อเพียง 8-10 รายเท่านั้น เรียกได้ว่าตอนนี้เรากำลังนับถอยหลังโลกที่ปราศจากไอ้โรคหนอนซอมบี้นี้แล้ว (โล่งอกไปที)

จากหนังสือเรื่อง Zombie makers: true stories of nature’s undead / by Rebecca L. Johnson.

วิดีโอการต่อสู้กับหนอนพยาธิในแอฟริกา

อ้างอิง
https://youtu.be/8nOuAUfXjzQ?t=116
https://www.who.int/dracunculiasis/disease/en/
https://www.cdc.gov/parasites/guineaworm/biology.html

Zombie makers: ซอมบี้หอยทาก ยอมฆ่าตัวตาย

เรื่องราวของซอมบี้หอยทาก (snail zombie) เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวของซอมบี้ในธรรมชาติจากหนังสือเรื่อง Zombie Maker มีหลายเรื่องที่น่าสยดสยองอยู่ในนั้น เช่น แมลงที่ติดพยาธิบางชนิดแล้วถูกควบคุมให้ฆ่าตัวตายด้วยการจมน้ำ หนูที่ติดเชื้อบางชนิดถูกตัดสัญชาติญาณในการกลัวแมวออกไป แล้วเดินไปให้แมวกินเฉยๆเสียอย่างงั้น เป็นต้น แต่เรื่องที่ดูน่าสนใจและอยากหยิบมาเล่าให้ฟังคือ “ซอมบี้หอยทาก”

ตัวละครหลักมี 3 ตัวละคร
ผู้ร้าย: หนอนพยาธิ ชื่อวิทยาศาสตร์ Leucochloridium paradoxum
ผู้เคราะห์ร้าย: หอยทาก ชื่อวิทยาศาสตร์ Succinea putris
ผู้สมรู้ร่วมคิด: นก
สถานที่เกิดเหตุ: ยุโรป และเอเชียเหนือ

เรื่องราวเกิดขึ้น เมื่อทากเผลอกินไข่พยาธิเข้าไป ไข่จะฝักตัวและโตในร่างกายของหอยทาก เมื่อโตถึงระดับหนึ่ง หนอนพยาธิมันจะไต่เข้ามาอยู่บริเวณตาของตัวทาก (ดูรูป) มันไม่อยู่นิ่งขยับตัวเหมือนปั๊มน้ำ (ดูในวิดีโอสยองมากๆ) สิ่งที่มันทำนอกจากนั้นคือ มันควบคุมสมองของหอยทากให้มีพฤติกรรมที่แปลกประหลาดจากหอยทากตัวอื่นๆทั่วไป คือ ทำให้มันไต่ขึ้นที่สูงโล่ง เพื่อล่อให้นกเห็นได้ง่ายขึ้น ประหนึ่งว่าเรียกร้องให้นกมากิน (ฆ่าตัวตายชัดๆ) แล้วเมื่อนกกินหอยทากพร้อมหนอนเข้าไป สภาวะต่างๆในลำใส้ของนกเหมาะสำหรับวางไข่ของหนอนตัวนี้อย่างมาก หนอนวางไข่ จากนั้นนกจะขี้ที่ปนไข่ของหนอนพยาธิออกมา แล้วทากตัวอื่นที่ไต่ไปมาบริเวณนั้นกินขี้นกเข้าไป วงจรก็จะครบสมบูรณ์อีกครั้ง

เป็นธรรมชาติที่น่าขนลุกอย่างมาก มีเรื่องที่น่าสนใจอีกหลายเรื่องตามไปอ่านได้ที่หนังสือเรื่อง Zombie makers: true stories of nature’s undead / by Rebecca L. Johnson.

หนอนพยาธิที่อยู่ส่วนตาของหอยทาก
วิดีโอเล่าเรื่องซอมบี้หอยทากจาก National Geographic

รีวิวหนังสือ Born a Crime by Trevor Noah

Born a Crime by Trevor Noah
เป็นหนังสือที่อ่านสนุกมากๆ ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 2016 แล้ว(ทำไมเพิ่งได้อ่านนะ?) และมีข่าวว่ากำลังพัฒนาเป็นหนังอยู่ด้วย น่าสนใจทีเดียว

Born a Crime by Trevor Noah

สิ่งที่น่าสนใจที่สุดของหนังสือเล่มนี้คือ เรื่องราวของการเกิดมาจากพ่อที่เป็นคนขาว(สวิสซ์)และมีแม่เป็นคนดำ(แอฟริกัน)ถือเป็นเรื่องผิดกฏหมาย ณ เวลานั้น (ยุค 80s) เรียกได้ว่ามีความผิดตั้งแต่เกิด

ในขณะนั้นแอฟริกาใต้มีกฎหมายที่ห้ามไม่ให้คนดำกับคนขาวมีความสัมพันธ์กัน ไม่สามารถแม้แต่จะอาศัยอยู่ในเขตเดียวกันได้ การมีความสัมพันธ์กันเชิงชู้สาวระหว่างเผ่าพันธ์ถือว่าผิดกฏหมาย หากถูกจับได้ มีโทษรุนแรงทั้งคู่ โทษคือจำคุก 4-5 ปี ทั้งคนขาวและคนดำ การมีลูกจึงเป็นเรื่องที่มีความผิดอย่างเลี่ยงไม่ได้ ลูกที่เกิดมาอาจจะไม่ได้การรับรองด้วยซ้ำ

เราจะได้เห็นการใช้ชีวิตวัยเด็กของ Travor ที่ต้องหลบๆซ้อนๆ และยากลำบากในการเข้าสังคมของการเป็นลูกครึ่ง ที่ไม่สามารถเข้ากับคนดำไม่ได้เพราะขาวเกิดไป แต่ก็ดำเกินไปที่จะเข้ากับคนขาว

ที่หนังสืออ่านสนุกมากๆเพราะ Travor มีชั้นเชิงในการเล่าเหมือนกับยก Stan up comedy ที่เป็นความสามารถที่เก่งกาจของเขามาไว้ในหนังสือยังไงยังงั้น มีเรื่องเปิด ตบมุก หักมุม ฮา และปนเศร้า หดหู่ ควบคู่กันไป ทำให้อ่านเพลินมากๆ (มีคนบอกว่าถ้าฟังแบบ Audio book ที่เขาอ่านเองจะยิ่งสนุกขึ้นอีกมาก)

อ่านเถอะเล่มนี้สนุกจริงๆ 5/5

V for Vendetta introduce himself with amazing dialogue

V for Vendetta

Last weekend, I read the masterpiece of Alan Moore, “V for Vendetta” again, then watched the same name’s film adaptation. And I realized how cool it was that V introduced himself to Evey in the film, not even seen this dialogue in the graphic novel version in the epic scene. (however, in the graphic novel preset all chapter title with V words)

I would say this is one of the best presents of the character in the film I’ve seen. In that scene, V answered the question that Evey asked him who he is. He responded to the question with many of the V words. How’s fantastic it was. Let you see and count them by yourself.

“On this most auspicious of nights permit me then, in lieu of the more commonplace sobriquet to suggest the character of this dramatis persona.

Voilà!

In view, a humble vaudevillian veteran cast vicariously as both victim and villain by the vicissitudes of fate.

This visage, no mere veneer of vanity is a vestige of the vox populi, now vacant, vanished.

However, this valorous visitation of a bygone vexation stands vivified and has vowed to vanquish these venal and virulent vermin vanguarding vice and vouchsafing the violently vicious and voracious violation of volition.

The only verdict is vengeance, a vendetta held as a votive not in vain, for the value and veracity of such shall one day vindicate the vigilant and the virtuous.

Verily, this vichyssoise of verbiage veers most verbose. So let me simply add that it’s my very good honor to meet you and you may call me V.”

V for Vendetta film by Warner bros.

เกร็ดน่าสนใจจาก Jack Reacher: Killing floor

เกร็ดน่าสนใจจาก
Jack Reacher: Killing floor

Jack Reacher Vol. 1: Killing Floor

The traditional motto of the United States is “E Pluribus Unum” (Latin for “one from many”)

แบงค์ดอลล่าร์มีขนาดเท่ากันทุกมูลค่า เช่น แบงค์ 1 ดอลล่าร์ ขนาดก็เท่ากับ 50 หรือ 100 ดอลล่าร์, แบบพิมพ์ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง

ปริมาณเงินสดดอลล่าร์หมุนเวียนในระบบภายนอกประเทศมากกว่าในประเทศหลายเท่าตัว

ฝ่ายความมั่นคงของสหรัฐเคยมีการใช้เงินปลอมโจมตีเศรษฐกิจของประเทศเป้าหมาย (ไม่รู้จริงเท็จแค่ไหนต้องหาข้อมูลเพิ่ม)

คนที่ถูกฝากขังในเรือนจำ จะถูกปฎิบัติแตกต่างจากคนที่ถูกตัดสินโทษแล้ว จะให้ใส่เสื้อผ้าชุดเดิมไม่ต้องเปลี่ยนชุดเหมือนนักโทษ ไม่มีตัดผม ถูกจัดให้อยู่โซน(ชั้น)ห้องที่แยกออกมาจากนักโทษอื่นๆอย่างชัดเจนไม่ปะปนกัน (ระเบียบปฎิบัติต่างจากไทยมาก)

การต่อสู้กรณีไม่มีอาวุธ กระดูกตรงหน้าผากคือส่วนที่หนาและแข็งแรงที่สุด ถ้าต้องล้มคู่ต่อสู้ที่ตัวใหญ่กว่า ใช้หน้าผากโขกเข้าตรงจมูกศัตรูสุดแรงเกิด แบบไม่ให้ได้ตั้งตัว อีกฝั่งจะได้รับบาดเจ็บกระทบถึงสมอง การใช้กำปั้นทำให้นิ้วมือหักได้

Biological races in Human หรือ Human subspecies ถือเป็น pseudoscientific

มนุษย์เผ่าพันธุ์คอเคเซียน ได้แก่ คนยุโรป ผิวขาว …มองโกเลียน เผ่าพันธุ๋คนจีน …อะไรพวกนี้ เคยเรียนและท่องเพื่อไปสอบกันไหม? ปัจจุบันยังเรียนอยู่ไหมนะ?

Portrait of Blumenbach BMJ. 2007 Dec 22; 335(7633): 1308–1309.

ลุงผู้เป็นต้นคิด คือ Johann Friedrich Blumenbach หมอชาวเยอรมัน (1752-1840) ให้กำเนิดแนวคิดการจำแนกเผ่าพันธุ์ของมนุษย์
โดยใช้หลักสำคัญ คือ ถิ่นฐานและลักษณะร่างกาย(สีผิว สีผม ลักษณะกระโหลกศีรษะ) ซึ่งเขาแบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่

  • คอเคเซียน
  • มองโกเลียน
  • เอธิโอเปียน
  • อเมริกัน
  • และมาเลย์
ภาพกระโหลกของเผ่าพันธุ์ต่างๆโดย Blumenbach: Blumenbach’s Racial Geometry: Isis, 1998,89:498-50

เป็นการพยายามจำแนกที่มีคติและมีความผิดพลาดหลายอย่าง อ่านบทความรายละเอียดเกี่ยวกับความผิดพลาดนี้ได้จาก: The beautiful skull and Blumenbach’s errors: the birth of the scientific concept of race https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2151154/

การแยกมนุษย์ดัวยวัฒธรรม สังคม พอจะทำได้ แต่ในปัจจุบัน Biological races in Human หรือ Human subspecies การจำแนกเผ่าพันธุ์มนุษย์ตามหลักชีววิทยานั้นทำไม่ได้ และถือเป็น pseudoscientific ถ้ายังมีในตำราเรียนก็ควรถอดออก

เพิ่มเติม Biological Races in Humans https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3737365/

via: How to Argue With a Racist: What Our Genes Do (and Don’t) Say About Human Difference by Adam Rutherford

Cheddar Man บรรพบุรุษของชาวยุโรปเป็นคนดำ

The model of Cheddar Man rendered by Kennis & Kennis Reconstructions features in the Channel 4 television documentary The First Brit: Secrets of the 10,000 Year Old Man © Tom Barnes/Channel 4

Cheddar Man บรรพบุรุษของชาวยุโรป(มียีนร่วมราว 10%) มีชีวิตอยู่ราว 10.000 ปีก่อน เจอที่เกาะอังกฤษ นักวิจัยสกัด DNA จากกระดูกของเขา และวิเคราะห์พบว่า มีความเป็นไปได้ที่ เขาจะมีสีตาซีด สีฟ้าหรือเขียว มีผมสีน้ำตาลเข้ม และมีสีผิวดำใกล้เคียงกับคนแอฟริกาตอนใต้ งานวิจัยสนับสนุนทฤษฏีการอพยพของซาเปี้ยนที่เกิดตั้งแต่สีผิวยังไม่ได้ซีด
มีการสร้างแบบจำลองหน้าตา สีผิวของ Cheddar Man จากข้อมูลต่างๆประกอบกัน ออกมาเป็นดังภาพประกอบ

งานวิจัยนี้ สร้างความไม่พอใจให้กลุ่มเหยียดผิวอย่างมาก (จะมาว่าฉันเป็นพวกเดียวกันกับคนดำไม่ได้ ไม่ยอม ไม่ยอม)

via: How to Argue With a Racist: What Our Genes Do (and Don’t) Say About Human Difference by Adam Rutherford

รายละเอียดเพิ่มเติม https://www.nhm.ac.uk/discover/cheddar-man-mesolithic-britain-blue-eyed-boy.html

รวมแหล่งหาหนังสือน่าอ่าน

แต่ก่อนจะเชื่อว่าหนังสือทุกเล่มมีคุณค่าของมัน ควรค่าที่จะถูกอ่าน ให้ความเคารพ ไม่ข้ามไม่ทับ วางไว้ที่สูง ตามแนวทางครอบครัว conservation ที่มีคนในครอบครัวมีอาชีพเป็นครูสอนหนังสือ แต่เมื่อผ่านไปโตขึ้นความคิดก็เปลี่ยนไป เมื่อเวลาไม่ได้มีเหลือล้นการที่จะโยนหนังสือสักเล่มทิ้งไป โดยไม่แม้แต่จะบริจาคหรือเอาให้ใครฟรีๆ เลือกที่จะทิ้งยังดีกว่า หรือไม่ฝืนตัวเองให้อ่านให้จบ ไม่ได้รู้สึกแย่เหมือนแต่ก่อนอีกแล้ว แม้แต่กองหนังสือที่วางทับกันรอให้หยิบมาอ่านจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็ไม่ได้ลำบากใจที่จะซื้อเล่มใหม่

คติใหม่จึงเป็น “ใช่อ่าน ไม่ใช่ก็วาง ดีแนะนำ ห่วยทิ้ง”

คำถามต่อมาคือ แล้วจะรู้ได้ไงว่าหนังสือเล่มไหนดีหรือไม่ดี หนังสือเล่มไหนควรโยนทิ้ง เล่มไหนควรอ่านซ้ำ ถ้าจะตอบแบบง่ายๆเลยก็ต้องอ่านดูก่อน แต่ถ้าไม่มีเวลาขนาดนั้น ก็ดูหนังสือที่คนอื่นแนะนำ หนังสือที่คนบอกต่อๆกันว่าดี ค่อนข้างไว้ใจได้ ประหยัดทั้งเวลาและเงินทอง

รวมแหล่งแนะนำหนังสือน่าอ่าน

ขอนำเสนอแหล่งหาหนังสือดี น่าอ่าน เอามาแชร์คนอื่น รวมทั้งเป็นการบันทึกส่วนตัวด้วย

  • Choiceawards ของ Goodreads ดีที่สุด หลากหลายครบทุกหมวด โหวตจากคนอ่าน อันไหนได้รางวัลก็ การันตรีได้ว่าดี เหมือนออสการ์ของหนังสือ คิดไม่ออกว่าจะอ่านเล่มไหน ในนี้มีคำตอบ ไม่ใช่ว่าดีแค่เล่มที่ได้รางวัล เล่มอื่นๆที่อยู่ในรายการถูกเสนอชื่อก็ไม่ได้ด้อยกว่ากันมากนัก
  • Goodbooks.io เลือกอ่านตามไอดอล คนดัง หลากหลายอาชีพ เว็บลักษณะนี้มีให้ดูหลายที่ แต่ Goodbook นำเสนอได้ดี ค้นหาคนที่สนใจได้ง่าย ถ้าคุณอยากรู้ว่าไอดอลที่คุณชื่นชอบ เป็นคนยังไง การได้อ่านหนังสือที่เขาอ่านจะทำให้เราเข้าใจความคิดเขาได้มากขึ้น มีแหล่งอ้างอิงประกอบ
    เว็บไซต์อื่นๆที่นำเสนอได้ใกล้เคียงกัน
    readthistwice.com
    bookauthority.org
    bookicious.com
    mostrecommendedbooks.com
  • Bill Gates ความจริงควรอยู่ในหัวข้ออ่านตามไอดอล แต่ขอแยกคนนี้ออกมาต่างหาก คนนี้คือหนอนหนังสือตัวจริงที่อ่านเยอะมาก ถ้าใครเคยดูสารคดี Inside Bill’s Brain: Decoding Bill Gates จะรู้ว่าเขาหิ้วหนังสือไปด้วยทุกที มีเวลาปลีกวิเวกไปอ่านหนังสือเป็นสัปดาห์ เขาจะแนะนำหนังสือพร้อมมีรีวิวให้แฟนคลับได้ตามไปอ่านปีละหลายครั้ง ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับเทคโนโลยี หลังๆเริ่มจะหลากหลายมากขึ้น ระดับบิล เกตท์ หนังสือแนะนำต้องดีแน่นอน
  • หนังสือแนววิทยาศาสตร์ที่ถูกรีวิวโดย Nature โดยเฉพาะจาก Andrew Robinson ที่จะมีบทความ Andrew Robinson reviews five of the week’s best science picks ที่ออกมาเกือบสัปดาห์ละ 5 เล่ม จินตนาการคนที่ต้องอ่านหนังสือวิทยาศาสตร์สัปดาห์ละอย่างน้อย 5 เล่ม ปีละประมาณ 360 เล่ม รับรองคุณภาพโดย Nature
  • New York Time: Book review เป็นอีกแหล่งที่ตามหาหนังสือน่าอ่าน แต่ถ้าอยากรู้ว่าช่วงนี้หนังสือเล่มไหนกำลังดัง Bestseller คือป้ายประกาศ ถ้าหนังสือแปลเล่มไหนได้ตรา New York Time Bestseller จะทำให้ดูดีขึ้นอีกหลายเปอร์เซนต์ และน่าจะขายได้มากขึ้นด้วย

ประมาณนี้ ถ้าใครมีแหล่งอื่นๆที่น่าสนใจ แนะนำกันด้วยนะครับ

รีวิวหนังสือ Bad Blood บันทึกการฉ้อโกงครั้งใหญ่ที่สุดของ Silicon Valley

รีวิวหนังสือ Bad Blood : Secrets and Lies in a Silicon Valley Startup
เขียนโดย John Carreyrou ผู้สือข่าว The Wall Street Journal

หนังสือ Bad Blood เป็นบันทึกการสืบสวนเคสของบริษัท Theranos สตาร์ทอัพตรวจเลือดจากปลายนิ้ว มูลค่าทางการตลาดกว่า 9 พันล้านดอลลาร์ แต่กลายเป็นเรื่องการฉ้อโกงที่ใหญ่ที่สุดของ Silicon Valley ปิดกิจการไปในเดือนกันยายน 2018 และมีคดีความและการฟ้องร้องตามมาอีกจำนวนมาก

หนังสือ Bad Blood บันทึกการฉ้อโกงครั้งใหญ่ที่สุดของ Silicon Valley

มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ โดยเฉพาะคนที่ทำงานวิจัยทางด้านการแพทย์ เช่น
-นำมาสู่การถูกแฉได้อย่างไร?
-หลักการตรวจและเครื่องมือที่พัฒนา
-หลุดการตรวจสอบของหน่วยงานควบคุมอาหารและยา FDA ได้อย่างไร
-ทำให้นักลงทุนและบริษัทใหญ่ๆเชื่อใจและรวมลงทุนได้อย่างไร

ทำความรู้จักกับ Theranos Theranos
มาจากสองคำรวมกัน Therapy + Diagnosis
Theranos เป็นอีกหนึ่งไอเดียความพยายามของคนทำงานทางด้าน Health care มานานมากแล้ว เราอยากได้วิธีการตรวจที่ทำให้คนตรวจบาดเจ็บน้อยที่สุด ในขณะที่ได้ผลการตรวจที่ครอบคลุมมากที่สุด Lab-on-a-chip และ Microfluidics ถูกพูดถึงมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ใช้เลือดหยดเดียวตรวจผลแล็บได้นับสิบตัว เป็นอีกหนึ่ง Challenge ที่ทั้งหมอและคนไข้ใฝ่ฝัน

ไอเดียที่อยากจะปฎิวัติวงการสุขภาพดังกล่าวโผล่มาในช่วงที่ Startup กำลังบูมสุดๆ Facebook, Uber, Twitter กำลังเติบโตอย่างมาก นักลงทุนกำลังมองหาโอกาสใหม่ๆ พื้นที่ใหม่ๆ สินค้าตัวใหม่ที่จะเข้ามา Disrupt วิธีการเดิมๆ หลายบริษัทหายไปจากตลาดภายในไม่กี่ปีจากการเกิดใหม่ของ Startup หน้าใหม่ที่เพิ่งก่อตั้งเพียงไม่กี่ปี

Theranos มาได้ถูกจังหวะมากๆ Elizabeth Holmes ในปี 2003 เด็กสาววัย 19 ปี นักเรียน Chemical Engineering ที่เรียนได้แค่ 2 เทอม ที่ Stanford university กับไอเดีย ที่อยากจะย่อวิธีการตรวจเลือดทั้งหมดในห้องแล็บมาไว้ในชิพและเครื่องตรวจเพียงเครื่องเดียว และตรวจจากเลือดที่เจาะจากปลายนิ้วเพียงไม่กี่หยด เพราะเธอเป็นคนกลัวเข็มและถูกเจาะเลือดเพื่อไปทดสอบหลายครั้งช่วงที่เดินทางในเอเชียช่วงที่มีการระบาดของ SARS

Elizabeth Holmes; CEO Theranos

มันเป็นไอเดียที่น่าสนใจและตลาดใหญ่มากๆอย่างไม่ต้องสงสัย บริษัทใหญ่ๆและนักลงทุนที่กลัวตกขบวนของช่วงที่บริษัทใหม่กำลังเติบโต กลัวบริษัทตัวเองจะถูกลืมแล้วหายไปจากตลาด จึงเสี่ยงลงทุนไปกับบริษัทหน้าใหม่ ทำให้บริษัท Theranos เติบโตอย่างรวดเร็ว การเติบโตอย่างรวดเร็ว และมูลค่าที่สูงอย่างก้าวกระโดด ต้องมาพร้อมกับความคาดหวังที่สูงๆมากๆเช่นกัน

The technology behind the product
เครื่องมือที่ Theranos พัฒนาขึ้นรุ่นแรกมีชื่อเรียกว่า Edison (ตั้งตาม Thomas Edison) ใช้วิธีการตรวจแบบ Immunoassays เป็นหลัก ใช้ antibody ในการตรวจหา substances ต่างๆในเลือด สร้างชุดตรวจหา Vitamin D หรือ ตัวบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก ส่วนพวกตรวจ routine ต่างๆ เช่น cholesterol, blood sugar จะใช้วิธีที่แตกต่างออกไป

ปัญหาใหญ่สำคัญคือปริมาณของตัวอย่างเลือด เมื่อเลือดจากปลายนิ้วมีปริมาณน้อย แต่อยากจะทำการทดสอบหลายอย่าง เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเจือจางตัวอย่าง เพื่อให้ปริมาณเพียงพอต่อการทดสอบ เมื่อมีการเจือจางสิ่งที่ตามมาคือ ทั้ง Accuracy, precision ต้องตกลงอย่างแน่นอน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่นักวิจัยต้องการแก้ปัญหามาตลอด

แต่ Elizabeth เคลมว่าเครื่องตรวจของพวกเขาตรวจเลือดได้หลักร้อยชนิดจากเลือดเพียงไม่กี่หยด ซึ่งวิธีการตรวจแบบเดิมใน Edison ไม่รองรับทุกการตรวจในแล็บ จึงต้องมีการพัฒนาเครื่องใหม่ขึ้นมา ใช้ชื่อว่า miniLab ซึ่งมีวิธีการตรวจหลายแบบรวมอยู่ในเครื่องเดียวขนาดพอๆกับเครื่อง PC วิธีการคือ นำ Spectrophotometer, Cytometer, Fluoresce-based isothermal detector, Luminometer, Fluorometer, Thermocycler, ย่อส่วนลงแล้วจับยัดลงในเครื่องเดียว (เอาจริงๆก็น่าสนใจทีเดียวเลยนะ)

ส่วนประกอบของเครื่อง miniLab

ในเครื่อง miniLab สามารถตรวจเลือดด้วย 4 วิธีหลัก ได้แก่ Immunoassays, chemistry assays, hematology assays และ วิธีการตรวจผ่านทางการ Amplified DNA

วิธีการดังกล่าวย่อส่วนเครื่องมือต่างๆและรวมไว้ในเครื่องเดียว ไม่ได้มีอะไรใหม่นัก เพราะระบบ portable blood analyzer มีอยู่บ้างแล้วในตลาด อย่างเช่น เครื่องของบริษัท Piccolo Xpress ที่สามารถตรวจเลือดได้ราว 30 ชนิด แต่เครื่องที่มียังไม่ตรงกับความต้องการของ Elisabeth มากนัก เพราะเธออยากให้เครื่องทำงานได้ที่บ้านของผู้ใช้ทั่วไปได้

การที่บอกว่าเครื่องตัวเองตรวจได้มากกว่า 200 ชนิด แต่ทำได้จริงเพียงหลักสิบ แถมยังมีปัญหาเรื่องความถูกต้องและความแม่นยำอีกด้วย แต่เมื่อต้องนำออกไปให้บริการในจุดให้บริการตามร้านขายยาของผู้ร่วมลงทุนอย่าง Walgreens ที่กระจายอยู่ทั่วอเมริกา สิ่งที่ Theranos นำมาใช้คือ เอาเครื่องตรวจที่มีในตลาดมาใช้งาน เช่นเครื่องจาก Seimens แต่กลับรายงานว่าใช้เครื่องของตัวเองตรวจ

นำมาสู่การถูกแฉได้อย่างไร
Adam Clapper หมอ Pathology จาก Columbia, Missouri ที่ใช้เวลาว่างในการเขียนบล็อกให้ความรู้ ชื่อ Pathology Blawg ได้เห็นบทความพิเศษของ The New Yorker, December 15, 2014 เกี่ยวกับ Theranos ในช่วงที่บริษัทและ Elisabeth Holmes,CEO กำลังรุ่งสุดๆ ถูกสัมภาษณ์และได้รับเชิญไปเวทีต่างๆมากมาย รวมถึง TED ก็เคยขึ้นพูดมาแล้ว(คลิปโดนลบทิ้งไปแล้ว)

จากประสบการณ์ในการทำงานและการหาความรู้ในการเขียนบทความมากมาย คำโฆษณาของ Theranos สำหรับ Adam มันดูดีเกินไปที่จะเป็นจริงได้ ความสามารถในการตรวจเลือดจากเลือดเพียงไม่กี่หยดจากปลายนิ้วน่าจะตรวจได้ราวสิบกว่าอย่างเท่านั้น ไม่ใช่หลักร้อยอย่างที่บริษัทอ้าง

ในบทความของ The New Yorker มีอ้างอิงถึงนักวิทยาศาสตร์อาวุโสจาก Quest บอกว่าบริษัทแทบไม่มีการตีพิมพ์งานวิจัย peer-review data เลย แต่ Elizabeth ก็ได้อ้างอิงงานที่เธอเป็นผู้เขียนร่วมในวารสารชื่อ Hematology Reports ซึ่งเขาอยู่ในวงการมานาน แต่แทบจะไม่รู้จักวารสารนี้เลย เขาค้นต่อจนเจอว่าเป็นวารสารในอิตาลี มีระบบ open access ที่สามารถจ่าย 500 ดอลลาร์เพื่อตีพิมพ๋ได้(เป็นเรื่องปกตินะ วารสารใหญ่ๆก็มีระบบนี้) แต่ที่เขาช็อคคือ เป็นข้อมูลที่ตรวจเลือดเพียงแค่ 1 การตรวจ จากคนไข้ 6 คนเท่านั้น ห่างไกลจากการโฆษณามาก เขาเขียนข้อสังสัยต่างๆเหล่านี้ลงบล็อกของเขา แต่ก็มีคนไม่มากที่ติดตามงานของเขา มันจึงไม่ได้เป็นกระแสอะไรมากนัก

แต่เมื่อ Joseph Fuisz ค้นเจอบทความนี้ผ่านทาง Google และเอาบทความไปให้พ่อของเขา Dr. Richard Fuisz เป็นจิตแพทย์นักประดิษฐ์และอดีตเจ้าหน้าที่ CIA เพื่อนบ้านของ Elizabeth รู้จักกันมานาน ซึ่งมีปัญหาฟ้องร้องกับ Theranos เรื่องสิทธิบัตร โดยมีทนายชื่อดังอย่าง David Boies เป็นคนทำคดี Richard เสียเงินไปจำนวนมากกับการสู้คดี มันจึงเป็นอีกหนึ่งเคสตัวอย่างที่ทำให้พนักงานหลายๆคนไม่กล้าเปิดเผยข้อมูลอะไรเลย ถึงแม้จะรู้ความผิดปรกติของบริษัท

Richard Fuisz ได้อ่านบทความ และติดต่อกับ Adam Clapper ทันที และพูดคุยให้ข้อมูลต่างๆ ความผิดปรกติที่เขามีข้อมูล รวมถึงการเสียชีวิตของ Ian Gibbon พนักงานกลุ่มแรกๆของบริษัท แต่ Adam ตอบกลับเขาไปว่าเรื่องต่างๆเหล่านั้นมันอยู่เหนือจากสิ่งที่เขาสงสัย เขาอยากได้หลักฐานในการพิสูจน์มากกว่า

Richard Fuisz พบว่ามีคนเข้ามาดู Profile LinkIn ของเขา คนนั้นคือ Alam Beam ซึ่งเข้ามาเป็น Lab director ของ Theranos ได้ไม่นาน Richard Fuisz พยายามติดต่อกับ Alan Beam ผ่านทางอีเมล และได้พูดคุยกันในเวลาต่อมา Alan พูดกับ Richard Fuisz ด้วยน้ำเสียงค่อนข้างตื่นกลัว

“เหตุผลที่ผมตั้งใจที่จะคุยกับคุณ เพราะคุณเป็นหมอ ผมและคุณได้กล่าวคำสัตย์สาบานฮิปพอคราทีส(Hippocratic Oath) ข้อแรกคือไม่ทำอันตราย(First do no harm)กับคนไข้ แต่ Theranos กำลังทำสิ่งนั้น”

แล้วเริ่มเล่าถึงข้อกังวลต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแล็บที่ตัวเองดูแล
การเล่าถึงการโกหกเจ้าหน้าที่รัฐ
ผลตรวจจากนิ้วที่ไม่ถูกต้อง
ใช้ผลตรวจจากเครื่องอื่นมาอ้างเป็นผลจากเครื่องของตัวเอง
ผลผิดพลาดในการตรวจไทรอยฮอร์โมน
ผลตรวจการตั้งครรภ์ที่ผิดพลาด
การใช้เลือดจากผู้ป่วยมะเร็ง และอื่นๆ

สิ่งสำคัญเขาบอก Elizabeth ว่าเครื่องมือยังไม่มีความพร้อมใช้งานเลย แต่เธอยังต้องการจะนำไปใช้กับผู้ป่วย ซึ่งมันทำให้เขากลัวกับการมีส่วนร่วมตรงนั้น เขาไม่สามารถพูดคุยกับใครได้มาก ไม่งั้นอาจจะถูก David Boies ตามฟ้อง แบบที่ Richard Fuisz โดน
Richard Fuisz กลับไปติดต่อกับ Adam Clapper อีกครั้ง ครั้งนี้เขามีข้อมูลมากขึ้น และ Adam เห็นว่าเรื่องมีมูลอย่างมาก แต่เรื่องมันใหญ่เกินตัวเขาแล้ว เขาเป็นแค่บล็อกเกอร์มือสมัครเล่น ทำงานเป็นแพทย์เต็มเวลา ไม่มีเวลาสืบสวนอย่างจริงจัง และคงไม่สามารถต่อกรกับบริษัทระดับ 9 พันล้าน ที่มี David Boies ทนายอันดับต้นๆของวงการทำงานให้

เขาจึงเริ่มมองหานักสืบสวนและผู้สื่อข่าวมืออาชีพ จนกระทั้งมาเจอ John Carreyrou ผู้สื่อ The Wall Street Journal แล้วการสืบสวน อันยากลำบากและการถูกขู่มากมาย จึงเริ่มขึ้น จนนำมาสู่การแฉการหลอกลวงในวงการ Startup ที่ใหญ่ที่สุดใน Silicon Valley เท่าที่เคยมีมา

มุมมองต่อ Elizabeth Holmes
Elizabeth ถูกมองหรือเปรียบเทียบกับ CEO ผู้สร้างบริษัทที่เป็นสัญลักษณ์ของ Silicon vally อย่าง Steve Jobs, Bill Gates, Mark Zuckerberg ที่หยุดเรียนออกมาก่อนจะเรียนจบ บางคนเรียกเธอ the next Steve Jobs ด้วยซ้ำไป

Mark Zuckerberg เขียนโปรแกรมตั้งอายุ 10 ขวบจากคอมพิวเตอร์ของพ่อที่บ้าน จนเขาจะเข้ามหาลัย เขาเขียนโค้ดได้ด้วยตนเองแล้ว แต่ศาสตร์ทางด้านการแพทย์ มีปัจจัยที่ต่างออกไป มันเป็นศาสตร์ที่ไม่สามารถสอนตัวเองได้ที่บ้าน มันต้องมีฝึกฝนและทำการทดลองกับเครื่องมือต่างๆที่จำเพาะนานหลายปี นั้นเป็นเหตุผลที่นักวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ที่ได้รับรางวัลโนเบลอายุเกิน 60 ปีกันหมด ที่กว่าจะค้นพบสิ่งใหม่ที่สามารถเปลี่ยนโลกได้ต้องใช้เวลาพิสูนจ์อย่างยาวนาน

มุมมองต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
การ treat medical company แบบเดียวกับ tech company เป็นอะไรที่ผิดพลาดมากๆ คุณอาจจะเริ่มเขียนโค้ดในแอพมือถือวันนี้ แล้วในอีกหนึ่งสัปดาห์ข้างหน้า ปล่อย pre-beta ให้คนทดลองใช้ได้ แต่จะทำแบบนี้กับ medical technology ไม่ได้ เพราะผลกระทบมันมากกว่านั้นมาก มันกระทบกับชีวิตคนอย่างมาก ถ้าผลการตรวจบอกว่าคุณเป็นโรคแต่คุณไม่ได้เป็นอะไร(false positive) คุณอาจจะได้รับการรักษา(over treatment)เสียทั้งเงิน เวลา และอาจเกิดผลกระทบอื่นๆตามมา แต่จะแย่กว่านั้นถ้าผลบอกว่าคุณปกติแต่จริงๆคุณเป็นโรค(false negative) คุณอาจจะตายได้เพราะไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที เปรียบเทียบได้ว่า บริษัทคิดสร้างรถบัสพร้อมกับนำไปรับผู้โดยสาร คนจะตายได้ถ้ารถบัสมันล้อหลุด และนั้นคือสิ่งที่ผิดพลาดที่เกิดขึ้น “First Do no harm”

ตอนแรกก็มีความคิดเชียร์อยากให้มี Startup ทางด้าน medical ประสบความสำเร็จเหมือน Startup ด้านอื่นๆ อยากให้มีการปฎิวัติทางด้านการแพทย์ออกมาให้เห็น แม้ว่า Theranos จะล้มเหลว แต่ก็บางอย่างและมีสิทธิบัตรหลายรายการออกมาตลอดที่บริษัทดำเนินการ มองว่ามันก็ได้อะไรกลับมาบ้าง มันทำให้นักลงทุนสนใจมาลงทุนงานทางด้านการแพทย์บ้าง แต่พอได้เห็นความเห็นจากสำนักข่าวหนึ่งที่สรุปการหลอกลวงของ Theranos ครั้งนี้ เกิดความเสียอย่างมาก มี Startup ทางด้านการแพทย์อยู่มากมาย ที่ทำงานวิจัยอย่างจริงจังและทำอย่างถูกต้อง โปร่งใส มีเทคโนโลยีที่ควรได้รับการสนุน กับเสียโอกาสนั้นไป การลงทุนเหล่านั้นกลับสูญเสียไปกับการหลอกลวงของ Theranos ในครั้งนี้ ความคิดเชียร์นั้นก็หายไปทันที

รีวิวหนังสือ Liquid Rules จากผู้เขียน Stuff Matters

หนังสือ Liquid Rules: The Delightful and Dangerous Substances That Flow Through Our Lives
เขียนโดย Mark Miodownik ศาสตราจารย์ด้าน Materials and Society ที่ University College London และผู้อำนวยการสถาบัน the UCL Institute of Making ผลงานที่ผ่านมา Stuff Matters

หนังสือ Liquid Rules โดย Prof. Mark Miodownik

ก่อนหน้านี้หนังสือ Stuff Matters ของเขาค่อนข้างได้รับการตอบรับดีเยี่ยม ติดหนึ่งใน New York Times Bestseller เป็นหนังสือที่เล่าเรื่องได้อย่างสนุกสนาน ผ่านการสังเกตและหยิบวัสดุต่างๆรอบตัวเรา เช่น ช็อกโกแลต ดินสอ ช้อนส้อม มาเสนอในมุมมองทางด้านวิทยาศาสตร์และมุมมองทางด้านประวัติศาสตร์ ชวนให้คิดตาม และเรียนรู้ไปพร้อมกันๆ ได้ดีมาก

หนังสือ Stuff Matters, published 2013

Stuff Matters มีแปลไทยแล้วโดยสำนักพิมพ์ openworlds ในชื่อไทย “วัสดุนิยม: เรื่องราวชวนทึ่งของสารพันวัตถุเปลี่ยนโลก” แปลโดย ทีปกร วุฒิพิทยามงคล กีพิมพ์ปี 2560 ไปหามาอ่านได้

ส่วนเล่มใหม่นี้ Liquid Rules ตีพิมพ์ออกมาเมื่อต้นปี 2019 เพิ่งจะได้หยิบขึ้นมาอ่าน มีเนื้อหาค่อนข้างคล้ายกับ Stuff Matters ที่เล่าถึงวัสดุต่างๆรอบๆตัวทั่วไป แต่ใน Liquid Rules จะมาให้ธีมของของเหลว (Liquid) แต่ผู้เขียนใช้ลูกเล่นการเล่าเรื่องแบบ พาเราเดินทางไปกับเขาโดยนั่งเครื่องบินจากลอนดอนไปซานฟรานซีสโก และของเหลวที่ถูกหยิบขึ้นมาเล่าก็คือ ของเหลวต่างๆที่อยู่รอบๆตัวเขาบนเครื่องบิน เช่น น้ำมันเชื้อเพลิงของเครื่องบิน แอลกอฮอล์ในเครื่องดื่มที่ได้มาจากการบริการบนเครื่อง น้ำทะเลที่เห็นจากเครื่องบิน กาวชนิดต่างๆที่ใช้ในการติดสิ่งต่างๆ รวมทั้งยึดโครงสร้างของเครื่องบินที่ทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ หมึกในปากกา Liquid crystal ในจอภาพที่ดูหนัง เป็นต้น

มีบางเรื่องที่เขากล่าวถึง ถือเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยรู้มาก่อนเลย เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ถึงกับต้องไปค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเลยทีเดียว เช่น Liquid-breathe เป็นการทดลองการให้สัตว์หายใจใต้น้ำ(เหมือนปลา) แต่ของเหลวเป็น PFCs นะไม่ใช่น้ำธรรมดา การทดลองนี้ทำในหนู พบว่าหนูตัวนั้นสามารถหายใจอยู่ใต้ของเหลวดังกล่าวได้นานนับชั่วโมง และเมื่อนำกลับขึ้นมาหายใจด้วยอากาศปกติก็ทำได้เหมือนเดิม มีการทดลองในคนแล้วด้วย เป็นการทดลองที่น่าสนใจจนต้องไปค้นดูต่อเพิ่มเติม และอีกหนึ่งเรื่องคือ Liquid computer เป็นงานวิจัยที่จะเก็บข้อมูลในของเหลว เป็นอีกหนึ่งคีย์เวิร์ดที่ต้องไปหาข้อมูลต่อเช่นกัน

เป็นหนังสือที่อ่านง่ายไม่ซับซ้อน ถ้าอ่านตอนนั่งเครื่องไปไหนสักที่ราวๆ 6-7 ชั่วโมงตอนแลนดิ้งก็คงจะอ่านจบพอดี เหมือนมีคนมาเล่าเรื่องสิ่งต่างๆรอบตัวให้ฟัง เนื่องจากว่าคนเขียนตีกรอบว่าของเหลวที่จะกล่าวถึงจะสัมพันธ์กับตอนที่นั่งเครื่องบินอยู่นั้น อาจจะถือได้ว่ามีเส้นเรื่องให้เล่าชัดเจน แต่ก็ตีกรอบตัวเองด้วยเช่นกัน ทำให้ของเหลวที่พูกถึงมีจำกัด แต่ก็เข้าใจว่าคนเขียนก็ต้องการตีกรอบเนื้อหาเช่นกัน เพราะของเหลวในโลกที่น่าสนใจมีมากมายเหลือเกิน การจะเลือกอันไหนมาสักอันน่าจะทำได้ค่อนข้างลำบาก การตีกรอบไว้บนเครื่องบินเลยทำให้ง่ายขึ้น มีทั้งข้อดีและข้อเสีย

สรุปให้คะแนน 4/5
อ่านได้เพลิน และสนุก มีภาพประกอบทั้งโครงสร้างโมเลกุล และภาพประกอบการเล่าเรื่องทำให้อ่านเข้าใจได้ง่ายขึ้น

Exit mobile version