The Lord of the Rings ไปอยู่ไหนมาทำไมเพิ่งได้อ่าน

หนังสือชุด The Lord of the Rings ที่มี 3 เล่มจบ

เพิ่งจะอ่านหนังสือชุด The Lord of the Rings เล่มที่ 1 จบ ซึ่งปกติจะเป็นคนที่ทั้งอ่านและฟังไปพร้อมกัน เล่มนี้ audio book อ่านโดย Andy Serkis (คนที่แสดงเป็นกอลลั่มในฉบับหนัง) ซึ่งเขาก็ทำผลงานออกมาได้ดีมาก ๆ ทั้งร้องเพลง อ่านบทกวี ดัดเสียงตามตัวละคร จังหวะการอ่านดีมาก ๆ รวมแล้วประมาณ 22 ชั่วโมง ความจริงถ้าอ่านเองอาจจะใช้เวลาเร็วกว่านี้มาก แต่ได้ฟังเสียงไปด้วยมันเพลินมาก ไม่ปรับความเร็วด้วย

ส่วนเนื้อหาของหนังสือเล่มแรกของชุด 3 เล่มจบ The Fellowship of the Ring พบว่าเป็นหนังสือที่ดีงามมาก ๆ การเล่าเรื่อง ความแฟนตาซี ปรัชญา บทเพลง บทกวี ภาษาและอักขระเฉพาะ การเดินทางผจญภัย ความสัมพันธ์ของตัวละคร และโครงสร้างจักรวาลถูกวางและเขียนไว้ได้ดีมาก ๆ นี้คือหนังสือที่ควรอ่านสักครั้ง

คำถามต่อมาคือเราไปอยู่ไหนมาทำไมเพิ่งจะได้อ่านนะ (ดูแต่หนัง จำนวนรอบนั้นนับไม่ได้แล้ว)

หนังสือชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ ฉบับภาพประกอบ

หนังสือชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ ที่มีเขียนภาพประกอบโดย Jim Key

Harry Potter and the Philosopher’s Stone: Illustrated Edition

ภาพประกอบโดย Jim Kay

เป็นหนังสือชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ ที่มีเขียนภาพประกอบโดยจินตนาการตามตัวอักษรในหนังสือ หลายอันอาจจะไม่ได้เหมือนฉบับภาพยนตร์ที่เราคุ้นเคย (ซึ่งจริงๆหนังก็ตีความได้ดีมากเหมือนกัน)

ฉบับภาพประกอบของ Jim Kay ทำออกมาได้สวยมากๆ น่ามีเก็บไว้บนตู้หนังสือมาก ๆ ที่เห็นอยู่ในภาพเป็นฉบับ ebook ใน kindle ภาพมีแอนนิเมชั่นนิดๆ ขยับตัวได้ด้วย

สรุปว่าดูภาพประกอบตัวอย่างบางส่วนเอาแล้วกันสวยแค่ไหนตอนนี้ทำออกมายังไม่ครบทั้ง 7 เล่มนะ เล่ม 5 จะออกราวๆ กลางปีนี้ เล่มต่อไปคงจะทยอยตามเรื่อย ๆ ฉบับ hardcover ราคาประมาณ 25€

ข้อสังเกตเมื่อ เชอร์ล็อก โฮล์มส์ ทำ fasting

ถ้าได้อ่านหนังสือชุด เชอร์ล็อก โฮล์มส์ จะพบว่านักสืบอัจฉริยะคนนี้จะอดอาหารไม่ดื่มกินอะไรเลยในช่วงที่ต้องใช้ความคิดแก้ไขคดีที่ยากและซับซ้อนมาก ๆ
เหตุผลที่เขาให้ไว้คือ สมองต้องการเลือดไปหล่อเลี้ยงสูงขึ้นในช่วงที่ใช้ความคิดหนัก ๆ ถ้ากินอะไรลงไป เลือดจะไหลไปรวมกันที่ท้องมากขึ้น และเลือดที่ไหลไปเลี้ยงสมองจะลดลง ส่งผลให้ประสิทธิภาพทางความคิดด้อยลง มีหลายคร้ังเลยทีเดียวที่เขาต้องอดอาหารติดต่อกันหลายวัน

image ref. https://en.wikipedia.org/wiki/Sherlock_Holmes

เรื่องอดอาหารแล้วความคิดเฉียบแหลมขึ้น ในทางการแพทย์จริงเท็จแค่ไหน?

หนังสือ เชอร์ล็อก โฮล์มส์ เขียนขึ้นในช่วงราว ๆ ปลายศตวรรษที่ 18 ทางการแพทย์อาจจะไม่ก้าวหน้าเท่ายุคนี้ แต่ปัจจุบันการทำ fasting มีให้เห็นกันทั่วไป (โดยเฉพาะพวกสายเทคโนโลยี เขียนโค้ด ฮิตกันมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา)

ดังนั้นคาดคะแนได้ว่าท่านเซอร์ อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์ คนเขียน เชอร์ล็อก โฮล์มส์ น่าจะได้ศึกษาเรื่องนี้มาก่อน (เป็นความรู้โดยทั่วไปในยุคนั้น) หรืออาจจะทดลองทำกับตัวเองมาก่อน (เป็นความรู้ในวงจำกัด) เลยสามารถเขียนถึงได้ละเอียด

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าจะดูเฉพาะที่มีการกล่าวถึงเรื่องการอดอาหารเพื่อเพิ่มพลังความคิดของ เชอร์ล็อก โฮล์มส์ ที่ถูกเขียนไว้ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 18 จนถึงปัจจุบันก็นับได้ว่า fasting นี้ทำกันมาหลักหลายร้อยปีแล้วทีเดียว

นี้เป็นข้อสังเกตเล็ก ๆ ที่ได้จากการอ่านวรรณกรรมคลาสสิคในช่วงที่นี้

หนังสือ The Handmaid’s Tale ฉบับ Graphic novel

เมื่อวานได้แนะนำหนังสือ หนังสือ To kill a mockingbird ฉบับ Graphic novel ไปแล้ว วันนี้มีอีกเล่มที่อยากแนะนำต่อ นั้นคือ The Handmaid’s Tale ฉบับ Graphic novel เหมือนกัน ดัดแปลงและวาดภาพโดย Renee Nault ตีพิมพ์เมื่อปี 2019 ภาพสีทั้งเล่มและน่าสะสมมาก

หนังสือ The Handmaid’s Tale ฉบับ Graphic novel

ทำความรู้จักกับหนังสือเล่มนี้ในเบื้องต้น
The Handmaid’s Tale เป็นนวนิยายแนวดิสโทเปีย โดย Margaret Atwood นักเขียนชาวแคนาดา ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 1985 แต่ถึงปัจจุบันก็ยังยอดเยี่ยมและเป็นที่นิยม ขอจัดอยู่ในกลุ่มหนังสือคลาสสิคแนวเดียวกับ 1984, Fahrenheit 451 ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับสังคมยุคที่ถูกกดขี่จากระบอบเผด็จการ ในหลาย ๆ สำนักถ้าจัดหนังสือหมวดดิสโทเปียที่ต้องอ่านจะต้องมีเล่มนี้ติด 1 ใน 5 แน่นอน

มาที่เนื้อหาในหนังสือ เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้หลังสงครามกลางเมืองของอเมริกา ผลคือเมืองถูกปกครองโดยระบอบเผด็จการทหารแบบเบ็ดเสร็จ และยังมีภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อมและอัตราการเกิดที่ลดลงเข้ามาเสริมด้วย เผด็จการทหารได้บังคับใช้บทบาททางสังคมที่เข้มงวดและคลั่งศาสนาสุด ๆ ใช้ระบบที่มีผู้ชายเป็นใหญ่ ส่วนผู้หญิงถูกกดขึ่และถูกบังคับให้ทำงานในบทบาทที่จำกัด แต่ละกลุ่มมีหน้าที่แตกต่างกัน มีชุดที่สวมใส่ที่แตกต่างกันด้วย ผู้หญิงบางกลุ่มที่ถูกเรียกว่า “Handmaid; สาวใช้” จะถูกบังคับให้ทำหน้าที่ผลิตเด็ก เพื่อเพิ่มประชากรป้องกันการสูญพันธ์ุ(โดยเฉพาะเผ่าพันธุ์ของคนระดับสูง) สาวใช้จะไม่อนุญาติให้มีทรัพย์สินหรือแม้แต่ชื่อตัวเอง แต่จะถูกเรียกว่า เป็นของใคร (Of-) เช่น ออฟเฟรด (Of-fred หมายถึง เธอเป็นของผู้บัญชาการชื่อเฟรด) ตัวเอกของเรื่องก็เป็นหนึ่งในคนใช้ มีหน้าที่ต้องผลิตลูกให้กับผู้บัญชาการคนหนึ่งของกลุ่มเผด็จการทหาร

ชีวิตของกลุ่มสาวใช้จะต้องอยู่ในเขตกักกัน พวกเธอจะออกไปทำหน้าที่ตามบ้านของเจ้าหน้าที่ระดับสูงตามเวลาที่กำหนด มีหลาย ๆ ฉากของการทำหน้าที่ของเธอ ที่อ่านแล้วสะเทือนใจอย่างมาก เช่น ขั้นตอนการทำหน้าที่ผสมพันธุ์ที่ทำเหมือนเป็นหนึ่งในพิธีกรรม ต้องมีภรรยาของผู้ชายผู้กระทำอยู่ในขั้นตอนนั้นด้วย ถูกปฏิบัติเหมือนเครื่องจักรผลิตเด็ก ส่วนใครที่พยายามหลบหนีจะถูกทำโทษอย่างรุนแรงต่อหน้าคนใช้คนอื่น ๆ แต่หลายคนก็ไม่ยอมจำนนและพยายามที่จะหลบหนีให้ได้

ปัจจุบัน The Handmaid’s Tale มีฉบับซี่รี่ย์ให้ได้ชมแล้ว สร้างตั้งแต่ปี 2017 ตอนนี้มี 4 ซีซั่นแล้ว (ยังไม่ได้ดูเหมือนกัน)

ฉบับ Graphic novel ที่เห็นอยู่นี้ ดัดแปลงและวาดภาพโดย Renee Nault ทำออกมาได้ดีมาก อ่านง่าย ภาพสวยมีสไตล์เฉพาะตัว แต่ฉากความรุนแรงนั้นไม่ได้ลดลงเลย (เห็นเป็นภาพสีสวยก็จริง แต่ไม่เหมาะกับเด็กเล็กนะ)

ขอแนะนำสำหรับคนที่อยากซื้อเก็บสะสมในหมวดหนังสือที่ต้องอ่านครับ

รายละเอียดหนังสือ The Handmaid’s Tale ฉบับ Graphic novel
ราคา 16 ยูโร สั่งมาจาก Amazon.de
Publisher ‏ : ‎ Nan A. Talese; Illustrated edition (26 Mar. 2019)
Language ‏ : ‎ English
Hardcover ‏ : ‎ 240 pages
Dimensions ‏ : ‎ 16.69 x 2.26 x 24.18 cm

หนังสือ To kill a mockingbird ฉบับ Graphic novel

มีเรื่องราวข้อพิพาทที่รุนแรงเกิดขึ้นระหว่างคนผิวสีกับคนขาว มีทนายความคนหนึ่งได้เข้ามาว่าความให้คนผิวสี เนื้อเรื่องค่อนข้างซีเรียสแต่เรื่องราวถูกเล่าเรื่องผ่านกลุ่มเด็ก ๆ ลูกของเขาที่การมองโลกเป็นไปแบบซื่อ ๆ และตรงไปตรงมา ดังนั้นสิ่งที่เด็ก ๆ พบเห็นในเรื่อง มันแสดงให้พวกเขาเห็นถึงสิ่งที่พวกผู้ใหญ่ทำไม่มีความถูกต้องเป็นอย่างมาก และมันก็สะท้อนกลับไปที่ตัวของเด็กเองว่าเมื่อพวกเขาโตไปจะไม่ทำอะไรแบบผู้ใหญ่ทำกัน และส่วนสำคัญของหนังสือเล่มนี้ คือทนายความได้สอนวิธีการมองโลกและการใช้ชีวิตในสังคมให้กับลูก ๆ ของเขาได้ดีมาก ๆ

หนังสือเล่มถูกตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1960 และถูกแนะนำให้เป็นหนึ่งในหนังสืออ่านนอกเวลาของเด็กอเมริกัน ซึ่งเป็นความพยายามสร้างค่านิยมการไม่เหยียดความเป็นมนุษย์ของคนอื่น และเรียนรู้ที่จะอยู่ด้วยกันอย่างเห็นอกเห็นใจ
แม้ว่าการเหยียดกันในสังคมปัจจุบันยังคงมีอยู่ แต่ถ้าคนในยุคนั้นบอกว่าในอนาคตจะมีประธานาธิบดีของอเมริกาเป็นคนผิวสีคงไม่มีใครเชื่อแน่ ๆ เพราะคุณค่าของคนผิวสีในยุคนั้นมันถูกมองว่าต่ำมาก ๆ อย่างไรก็ตามไม่มากก็น้อยหนังสือเล่มนี้มีส่วนในการผลักดันค่านิยมการยอมรับผู้อื่นอย่างเป็นธรรมให้ดีขึ้นอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอย่างแน่นอน

หนังสือ To kill a mockingbird ฉบับ Graphic novel

ในปีที่แล้วได้อ่านหนังสือเล่มนี้และก็จัดให้เป็นหนึ่งในหนังสือที่ชอบในปี 2021 อีกด้วย ส่วนอันที่ได้มานี้คือฉบับ Graphic novel ดัดแปลงและวาดโดย Fred Fordham ทำออกมาตั้งแต่ปี 2018 รีวิวสั้น ๆ ว่าภาพสวยและเนื้อหาครบถ้วนดีมาก
ตอนที่อ่านฉบับหนังสือธรรมดาเราก็จะพยายามจินตนาการตามตัวอักษร ถึงสภาพแวดล้อม ผู้คน หรือการแต่งตัวของคนอเมริกันในยุคนั้น แต่ว่าเราไม่ใช่คนพื้นถิ่น บางครั้งจึงนึกภาพตามได้ลำบาก ฉบับสมุดภาพทำออกมาให้ได้เห็นสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้น ทำให้เห็นภาพชัดเจนและง่ายมากยิ่งขึ้น ดังนั้นการมีอีกฉบับเก็บไว้และนำมาเปิดอ่านอีกครั้งน่าจะดีไม่น้อย

และสุดท้ายขอแนะนำสำหรับใครที่ไม่ชอบอ่านหนังสือที่มีแต่ตัวหนังสือ อ่านแบบเป็นภาพประกอบก็ได้ เพราะนี้เป็นหนังสืออีกเล่มที่ควรค่าที่จะได้อ่านจริง ๆ

รายละเอียดหนังสือ To kill a mockingbird ฉบับ Graphic novel
ราคา 15 ยูโร สั่งมาจาก Amazon.de
Publisher ‏ : ‎ William Heinemann; 1st edition (30 Oct. 2018)
Language ‏ : ‎ English
Hardcover ‏ : ‎ 288 pages
Dimensions ‏ : ‎ 17.1 x 3.1 x 24.2 cm

Exit mobile version