หนังสือ พุทธทาสกับเซ็น อ่านแล้วครับ

หนังสือ พุทธทาสกับเซ็น

ชื่อหนังสือ: พุทธทาสกับเซ็น
บรรณาธิการ: กัญญา ชะเอมเทศ 
224 หน้า พิมพ์ครั้งที่ 1 : กรกฎาคม 2552
สำนักพิมพ์: สุขภาพใจ บริษัท ตถาตา พับลิเคชั่น จำกัด 
ราคา 200 บาท

หนังสือ พุทธทาสกับเซ็น เป็นหนังสือรวบรวมภาพเซ็นต่างๆในโรงมหรสพทางวิญญาณประกอบคำอธิบายอันนี้จะอยู่บทแรก “ปริศนาธรรมเซ็น” ส่วนคำบรรยายของท่านพุทธทาส ซึ่งถอดมาจากการบรรยายธรรมของท่าน จะอยู่ในชุด บรรยายภาพปริศนาธรรมชุดจับวัว, ธรรมจากเชอร์แมน, โทรเลขเซ็น ท้ายเล่มมีซีดีเสียงบรรยายธรรมของท่านพุทธทาสแถมมาให้ได้ฟังด้วย ไม่อยากอ่านก็ฟังเอาก็ได้(ต้องดูภาพประกอบด้วยนะ)

ในบทสุทท้าย “เซ็น” เป็นบทกวีของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูล เป็นเรื่องราวของนิทานเซ็นที่คุ้นเคยกัน ในซีดีก็มีเสียงท่านมาอ่านบทกวีให้ฟังด้วยเช่นกัน

เนื้อหาเป็นภาพเซ็น พร้อมคำบรรยาย

ถ้าหากใครได้อ่านหนังสือ มังกรเซ็น ของวินทร์ เลียววาริณ มาก่อนจะอ่านเล่มนี้สนุกขึ้นอีกครับ เพราะเราจะรู้จักพระเซ็นที่ถูกกล่าวถึงในหนังสือเล่มนี้มากยิ่งขึ้น ส่วนตัวเองนั้นก็ไม่ใช่คนธรรมะธรรมโมอะไรมากมาย แต่ชอบศิลปะ โดยเฉพาะศิลปะที่เราเข้าใจว่าคนสร้างมันขึ้นมามีวัตถุประสงค์อะไร ถ้าเข้าใจศิลปะนั้นแม้สักนิด ผมว่าคนสร้างต้องดีใจ มีความสุขเป็นแน่ ว่าสิ่งที่เขาพยายามจะสื่อถึงเรานั้นเราเข้าใจนะ แม้จะมีคนมาชี้นำให้ก็ตาม คิดว่าคนทำงานศิลปะน่าจะมีความรู้สึกแบบนี้กันนะ

ท่านพุทธทาสและภาพเซ็น

บางทีการดูภาพแค่ไม่กี่ภาพอาจเข้าใจธรรมะได้มากกว่าอ่านพระไตรปิฎกทั้งเล่ม อย่างเช่น ท่านเหว่ยล่าง ท่านไม่รู้หนังสือ แต่รู้ธรรมะสูงสุดได้ น่าจะเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าการบรรลุธรรมนั้น จะดู อ่าน ฟัง ปฎิบัติ คิด ใช้ทุกอย่างรวมกันหรือขาดบางอย่างไปก็บรรลุได้เช่นกัน

ซีดีบรรยายธรรมอยู่ท้ายเล่ม

หนังสือ ใช้ภาพเซ็น ประกอบกับคำบรรยายสั้นๆ มีกลอนของท่านพุทธทาสแทรกอยู่ในช่วงที่ท่านบรรยายเอง โดยท่านจะบรรยายภาพก่อนแล้วค่อยอ่านเป็นคำกลอนใต้ภาพ คำบรรยายนั้นยาวกว่าคำกลอน กลอนยาวกว่าประโยคไม่กี่คำที่ติดอยู่ภาพ และก็ภาพที่ไม่คำบรรยายเลย

หนังสืออ่านสนุกแป๊ปเดียวก็จบ นี้เป็นรอบที่สองที่หยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่านจนจบอีกครั้ง

หนังสือ หัวกลวงในหลุมดำ อ่านแล้วครับ

หนังสือ หัวกลวงในหลุมดำ

ชื่อหนังสือ หัวกลวงในหลุมดำ
เขียนโดย วินทร์ เลียววาริณ
288 หน้า พิมพ์ครั้งที่ 1 : 2554
สำนักพิมพ์ 113
ราคา 195 บาท

หนังสือ หัวกลวงในหลุมดำ มีความคล้ายกับ ปลาที่ว่ายนอกสนามฟุตบอล อยู่พอสมควร มีการวิพากษ์วิจารณ์สังคมอย่างเจ็บแสบ และค่อนข้างโดน! เป็นหนังสือที่น่าจะถูกเขียนขึ้นในช่วงที่ประเทศไทยมีเสื้อเหลือง-เสื้อแดงอยู่เต็มถนน คำว่า “หัวกลวงในหลุมดำ” หมายถึง คนโง่หรือแกล้งโง่ ไปอยู่ใกล้หลุมดำแต่ไม่รู้ว่าตัวเองอยู่ใกล้ จะถูกดูดลงหลุมอยู่แล้วยังไม่รู้ตัว (ลงไปแล้วขึ้นไม่ได้นะ แม้แต่แสงยังออกมาไม่ได้เลย ตายลูกเดียว!)

การวิจารณ์ของคุณวินทร์ ที่พยายามมองในแบบสังคมอุดมคติ หรือเรียกว่าพวกโลกสวย อยากเห็นสังคมไปแนวนั้น(เป็นเรื่องดีนะ) มีทั้งชี้ทางและชี้จุดผิด แต่ไม่ได้บอกทางแก้ทั้งหมด หรืออาจจะยังไม่รู้เหมือนกันว่าจะแก้ยังไง ในสังคมสองมาตรฐานของเรา/ไม่ใช่แค่สังคมเราแต่หมายถึงทั่วทั้งโลกนั้น มีแนวคิดสองมาตรฐานอยูู่แล้ว เราควรทำอะไรได้บ้างกับสังคมแบบนี้?

เรื่องการให้การศึกษาของเด็กในประเทศไทยที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้อย่างแท้จริง ตัวผมเองก็เป็นอย่างที่คุณวินทร์ วิจารณ์ไว้ไม่น้อย อย่างเช่นการ กลัวครู ไม่กล้าเถียง คงเพราะเราถูกปลูกฝั่งว่าการเถียงครูเป็นเด็กไม่ดี และนี้อาจทำให้การศึกษาของเราไม่พัฒนาและเชื่อคนง่าย

และมีหลายเรื่องที่น่าประทับใจ โดยเฉพาะเรื่องของ อ.แสงอรุณ รัตนกสิกร อาจารย์คณะสถาปัต จุฬาฯ ผู้รักธรรมชาติ รักต้นไม้ เป็นอีกบุคคลที่น่านับถือ

เนื้อหาภายในเล่ม 

  • เรากรอกอะไรใส่หัวเด็กในห้องเรียยน ?
  • ใครเป็นผู้ตีกรอบสังคม ?
  • ศาสนากับความเชื่อจะพาเราไปไหน ?
  • มนุษย์มีความสามารถเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีตหรือไม่ ?
  • เราสามารถก้าวพ้นสังคมหัวกลวงได้หรือไม่ ?
  • อะไรคือความหมายของชีวิต ?

หนังสืออ่านสนุกอีกแล้วครับ ขอแนะนำ

หนังสือ โลกใหม่ อ่านแล้วครับ

 

หนังสือ โลกใหม่

ชื่อหนังสือ โลกใหม่
เขียนโดย รอฮีม ปรามาท
304 หน้า พิมพ์ครั้งที่ 1 : 2554
สำนักพิมพ์ Post Book
ราคา 285 บาท

เคยอ่านหนังสือของคุณรอฮีม ปรามาท เมื่อนานมาแล้วครับ ในชื่อเรื่อง “เอกภพ สรรพสิ่ง และมนุษยชาติ” เป็นอีกเล่มที่อ่านสนุก ยอมรับว่าการเลือกหนังสือช่วงหนึ่งค่อนข้างต้องดูชื่อคนเขียนเป็นพิเศษ เพราะเคยผิดหวังกับการดูปกกับเนื้อหาที่คำนำ พอซื้อมา อ่านได้ไม่ถึง 5 หน้าก็ต้องโยนทิ้งให้ไกลตัว อย่างคำคมที่ว่า “A bad book is like a bad friend, who may kill you : หนังสือที่ไม่ดีก็เหมือนกับเพื่อนเลวๆ ซึ่งอาจสังหารคุณได้” 

ดังนั้นมีนักเขียนเพียงแค่ไม่กี่คนที่เราเลือกหยิบได้โดยไม่ต้องคิดมากนัก รอฮีม ปรามาท คือหนึ่งในนั้น ซึ่งช่วงหลังๆมีผลงานแปลเล่มหนาๆออกมาเยอะเหมือนกัน แต่ยังไม่มีโอกาสได้อ่านในอนาคตอันใกล้คงจะได้อ่าน

หนังสือ โลกใหม่  เป็นหนังสือรวมบทความเกี่ยวกับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในทุกๆ ด้าน เป็นการแปลมาจากบทความสั้นๆของนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำระดับโลก ให้อารมณ์เหมือนการอ่านบล็อกยังไงยังงั้น สั้นๆได้ใจความ ถ้าใครเอาเข้าห้องน้ำก็อ่านจบทีละเรื่องสองเรื่องได้อย่างสบาย และเนื้อหาแต่ละบทไม่ได้รายยาวให้ต้องทำความเข้าใจต้องเนื่องกัน สรุปมันก็คือบล็อกดีๆนั้นแหละ

เนื้อหามีอยู่ 9 บท 

  • อภิแนวโน้มโลก 1980 – 2010 สามสิบปีที่เปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง
  • เรามาไกลแค่ไหน / เราจะไปยังจุดใด
  • 50 ไอเดียที่จะปฏิวัติโลกและวงการวิทยาศาสตร์ไปตลอดกาล
  • 20 สุดยอดนวตกรรมแห่งปี 2010
  • รถยนต์แห่งอนาคต
  • บ้านในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง
  • อนาคตประชาธิปไตย
  • โลกาวินาศ 30 รูปแบบ
  • 12 ปรากฏการณ์พลิกโลก

มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ชอบมากในหนังสือเล่มนี้คือการกล่าวถึงการทำนายอนาคตอันใกล้ของนักวิทยาศาสตร์ในแต่ละสาขาทุกๆ 5 ปี เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 1970 แล้ว โดยเป็นการช่วยกันทำนายสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตโดยมีผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขามาช่วยกันเขียนและช่วยกันโหวต เป็นการทำนายที่ใช้หลักวิทยาศาสตร์ไม่ใช่หมอดูนั่งเดา ก่อนจะทำเป็นข้อสรุปออกมาตีพิมพ์แผยแพร่ มีทั้งที่ถูกและผิดปนกันไป ผลบางอันดูล้ำยุคกว่าที่เราคิด ซึ่งมันค่อนข้างกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นของเราพอควร และคอยลุ้นว่าในอนาคตอันใกล้เราจะได้เห็นสิ่งที่เขาทำนายไว้หรือเปล่า

เป็นหนังสืออีกเล่มที่อ่านสนุกครับ หลายคนอาจจะคิดว่าหนังสือที่ผมเขียนถึงบอกสนุกทุกอันเลยนะ ถูกต้องครับ! เพราะถ้าไม่ดี โยนทิ้งตั้งแต่ 5 หน้าแรกแล้วครับ!

คำคม หมวดการอ่าน

ได้หนังสือเกี่ยว “คำคม” จากงานสัมมนาแห่งหนึ่งมาครับ เป็นหนังสือเล่มเล็กๆ ข้างในมีคำคมหลากหลายหมวด เช่น หมวดความรู้ หมวดวิทยาศาสตร์ หมวดศิลปะ หมวดอุดมการณ์ เป็นต้น ในหนึ่งคำคมจะมีถึง 3 ภาษาให้ได้อ่านกัน ได้แก่ ไทย อังกฤษ และจีน

พอได้อ่านแล้วมันช่างเพลิดเพลินและกินใจเหลือเกิน จึงอยากเอามาแชร์ต่อให้คนอื่นได้อ่านบ้าง ในหนังสือไม่ได้อ้างถึงว่าคำคมเหล่านี้ใครเป็นคนคิดหรือพูดไว้แต่อย่างใด หรือบางทีอาจจะหาที่มาไม่ได้แล้วก็เป็นได้

ขออนุญาติคัดหมวดที่เกี่ยวกับการอ่านมาให้ได้ดูดดื่มกันก่อนครับ คัดมาเฉพาะคำคมที่ตัวเองชอบเป็นการส่วนตัวครับ

หนังสือ คำคม
หนังสือ คำคม

หนังสือคือที่ปรึกษาใกล้ตัว
Books are the advisor in hand anytime.

หนังสือและเพื่อนไม่จำเป็นต้องมีมากแต่ต้องดี
Books and friends should be few but good.

หนังสือคือขั้นบันไดแห่งความก้าวหน้าของมนุษย์
Books are a flight of stairs for the human progress.

การพิจารณาหนังสือเพียงหนึ่งหน้าย่อมดีกว่าการกวาดตาหนังสือทั้งเล่ม
Digesting a page of book carefully is beter than reading a book hurriedly.

หนังสือเก็บซ่อนจิตวิญญาณแห่งอดีต
The soul of the past times hides in the books.

หนังสือทุกเล่มมีไว้เพื่อช่วยเสริมสร้างความคิด หากไม่ได้มีไว้เพื่อแทนที่ความคิดของคุณ
All books are written for helping your idea but not for replacing your idea.

หนังสือที่ดีควรมอบประสบการณ์จำนวนมากให้แก่คุณรวมทั้งความเหนื่อยล้าเพียงเล็กน้อยเมื่ออ่านจบ เพราะคุณผ่านการใช้ชีวิตมาหลายชีวิตขณะอ่านมัน
A great book should leave you with many experiences, and slightly exhausted at the end. You live several lives while reading it.

หนังสือไม่ได้มีไว้เพื่อประดับบ้าน แต่ก็ไม่มีเครื่องประดับชิ้นไหนจะงดงามเท่าหนังสือ
Books are not made for furniture, but there is nothing else that so beautifully furnishes a house.

หนังสือคือสิ่งมหัศจรรย์ที่เก็บซ่อนจิตวิญญาณของนักเขียน เมื่อเปิดหนังสือและปลดปล่อยจิตวิญญาณนั้นออกมา เขาจะแอบสนทนากับคุณอย่างลับๆ
A book is a miracle where the author’s soul is hidden. Open the book and release this soul and it will talk with you mysteriously.

หนังสือที่ไม่ดีก็เหมือนกับเพื่อนเลวๆ ซึ่งอาจสังหารคุณได้
A bad book is like a bad friend, who may kill you.

อ่านหนังสือดีๆ ทุกวันก็เหมือนกับการใช้เปลงเพลิงขจัดความโง่ทั้งหลายออกไปทีละเล็กทีละน้อย
All stupid thing will be gradually method in the reading of good books every day as if by a fire.

วัยเยาว์อ่านหนังสือเหมือนแอบมองพระจันทร์ผ่านช่องหน้าต่าง วัยกลางคนอ่านหนังสือดั่งแหงนมองพระจันทร์ใต้ลานบ้าน วัยชราอ่านหนังสือเหมือนดั่งชมจันทร์อยู่บนหอคอย
Reading in youth is like peeping the moon through a crack; at middle age, like looking over it in a courtyard; at old age, like playing it on platform.

ครั้งแรกที่ฉันได้อ่านหนังสือ ฉันรู้สึกดั่วได้รู้จักเพื่อนใหม่ เมื่อฉันได้อ่านมันเป็นครั้งที่สอง ก็เหมือนกับได้พบเพื่อนเก่า
The first time I read a book, I felt like knowing a new friend. When I read it a second time, it is like meeting with an old friend.

คุณเรียนรู้ความรัก การหัวเราะ และการก้าวเดินจากพ่อแม่แต่เมื่อเปิดหนังสือ คุณจะพบว่าตัวเองมีปีก
From your parent you learn love and laughter and how to put one foot before the other. But when books are opened you discover that you have wings.

ผู้มากด้วยประสบการณ์จะอ่านหนังสือด้วยดวงตาทั้งสองข้าง ข้างหนึ่งมองคำพูดของบนแผ่นกระดาษ ส่วนอีกข้างเห็นความหมายที่มีอยู่ในนั้น
An experienced man reads with two eyes, one seeing the literal word, the other seeing through the back.

หนังสือบางเล่มมีไว้เพื่อลิ้มรส หนังสือบางเล่มมีไว้เพื่อกลืนกิน แต่หนังสือไม่กี่เล่มมีไว้เพื่อเคี้ยวและย่อย ซึ่งนั้นหมายถึงหนังสือบางเล่มมีไว้เพื่ออ่านเพียงบางส่วน หนังสือบางเล่มมีไว้เพื่ออ่านอย่างคร่าวๆ และแน่นอนว่าหนังสือไม่กี่เล่มมีไว้เพื่อใช้สติปัญญาและความตั้งใจในการอ่านทั้งเล่ม
Some books are to be tasted, others to be swallowed, and some few to be chewed and digested; that is, some books are to be read only in parts, others to be read, but not curiously, and some few to be read wholly, and with diligence and attention.

หนังสือ ปลาที่ว่ายนอกสนามฟุตบอล (ปลาที่ว่ายในสนามฟุตบอล ภาค 2) อ่านแล้วครับ

หนังสือ ปลาที่ว่ายนอกสนามฟุตบอล

ชื่อหนังสือ ปลาที่ว่ายนอกสนามฟุตบอล (ปลาที่ว่ายในสนามฟุตบอล ภาค 2)
เขียนโดย วินทร์ เลียววาริณ
320 หน้า พิมพ์ครั้งที่ 1 : 2554
สำนักพิมพ์ 113
ราคา 215 บาท

หนังสือ “ปลาที่ว่ายนอกสนามฟุตบอล” เป็นภาคต่อของหนังสือ “ปลาที่ว่ายในสนามฟุตบอล” ซึ่งผมก็ได้อ่านมาก่อนหน้านี้แล้ว เป็นหนังสือที่อ่านสนุก เป็นการตั้งคำถาม และหาคำตอบจากความรู้ที่เรามี ณ ปัจจุบัน อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เราชอบเล่มแรก จึงไม่ค่อยลังเลที่จะอ่านเล่มที่สอง แต่ดองไว้นานมากกว่าจะถึงคิวโดนหยิบขึ้นมาอ่าน ถ้าช้ากว่านี้อาจจะหมดสนุกลงไปอีก โดยเฉพาะการตั้งคำถามเกี่ยวกับจักรวาลที่ไม่รู้ว่าชาตินี้เรา(มนุษยชาติ)จะหาคำตอบให้คำถามเหล่านั้นได้หรือไม่ แต่อย่างน้อยช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเรื่องของ Higgs boson (God(damn) particle) เพิ่งจะประกาศว่า “ถ้ามันมีจริง เราก็พบแล้ว!” ก็ช่วยเพิ่มความกระจ่างของคำถามในหนังสือเล่มนี้ได้เสี้ยวหน่อยหนึ่ง(นิดหนึ่งจริงๆ)

ขอแนะนำเลยว่าถ้าใครที่ชอบอ่านหนังสือแนวฟิสิกส์ จักรวาล มนุษย์ต่างดาว อะไรทำนองนี้ จะอ่านช่วงแรกสนุกมาก

นอกจากนี้ ยังมีคำถามเกี่ยวกับ ความเชื่อ ศาสนา การกลับชาติมาเกิด กฏแห่งกรรม จิต และอื่นๆอีก ต้องยอมรับว่าหลายๆคำถามค่อนข้างตรงกับ คำถามในใจของผมเอง และการพยายามหาคำตอบของคุณวินทร์จากข้อมูลที่มี ณ ปัจจุบัน ก็ต้องบอกว่ายอมรับได้กับคำตอบนั้น และค่อนข้างตรงใจ ตรงกับความคิดในหัวของผมพอจะคิดได้

หนังสือเล่มนี้จะอ่านเอาเพลินๆก็ได้ หรือจะเอาไปคิดต่อให้หัวแตกไปเลยก็ยังได้ มันแตกยอดความคิดไปได้ไกลเหลือเกิน ก็เพราะมันออกนอกสนามฟุตบอลไปแล้ว ไปไกลเกินกว่าสามัญสำนึกจะจินตนาการได้

จากใจผู้เขียน(วินทร์ เลียววาริณ) : “นี่เป็นหนังสือที่ดูจะ ‘หนัก’ แต่ไม่หนักเพราะไม่ใช่ตำรา เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ที่พยายามปรุงให้เสพง่ายที่สุดแล้ว และน่าจะให้ความรู้ในเรื่องวิทยาศาสตร์สายต่างๆ ในระดับหนึ่งที่หาอ่านไม่ค่อยได้ในบ้านเรา เช่น จักรวาลวิทยา ฟิสิกส์ดาราศาสตร์ พันธุกรรมศาสตร์ ฯลฯ ไปจนถึงเรื่อง ‘อจินไตย’ ทั้งหลาย

บางส่วนเก็บความจากหนังสือต่างประเทศที่ไม่ได้รับการแปลเป็นไทย โดยตั้งใจให้เป็นหนังสือคานอำนาจทางปัญญากับหนังสือตระกูลไสยศาสตร์ที่เกลื่อนบ้านกลาดเมืองในเวลานี้!”

Graphic Design Principle 2nd edition หนังสือ หลักการและกระบวนการออกแบบงานกราฟิกดีไซน์

Graphic Design Principle second edition

ชื่อหนังสือ Graphic Design Principle 2nd edition: หลักการและกระบวนการออกแบบงานกราฟิกดีไซน์
ผู้แต่ง ปาพจน์ หนุนภักดี
บรรณาธิการ ปิยะบุตร สุทธิดารา
352 หน้า พิมพ์ครั้งที่ 1 : มีนาคม 2555
สำนักพิมพ์ DIGI ART
ราคา 295 บาท

หนังสือเกี่ยวกับการออกแบบกราฟิกดีไซน์ มีหัวข้อที่หลากหลาย อ่านเพลิน ข้างในมีกรณีศึกษาแยกตามหัวข้อเยอะ หัวข้อเด่นที่ตัวเองชอบมากที่สุดก็คือ ตัวอักษรในงานกราฟิกดีไซน์ ทำให้รู้เรื่องเกี่ยวกับตัวอักษรเยอะขึ้น ทั้งประวัติ และแนวคิดของผู้ออกแบบ แม้จะไม่ละเอียดยิบแต่พอจับทางเรื่องของอักษรได้บ้าง และการออกแบบสัญลักษณ์ เป็นการยกตัวอย่างโลโก้ของบริษัทชื่อดังทั่วโลกที่เราคุ้นตาดี นำมาอธิบายแนวคิด บางอันมีพัฒนาการของโลโก้ของบริษัทที่มีการรีแบรนด์อยู่บ่อยครั้ง ส่วนใหญ่เอาข้อมูลมาจาก Goodlogo.com ซึ่งเราก็รู้จักเว็บไซต์นี้จากหนังสือเล่มนี้เอง นอกจากนี้ยังมีส่วนอื่นๆที่น่าสนใจ เช่น ความหมายประวัติความเป็นมาของกราฟิกดีไซน์ แนวความคิดในการออกแบบ การออกแบบสื่อสิ่งพิมพ์ เป็นต้น

ตัวอย่างเนื้อหา

ตัวอย่างการออกแบบโปสเตอร์หนัง

จัดกลุ่มตามรูปแบบการนำเสนอที่คล้ายกัน (เหมือนจะเคยเห็นที่ไหน?)

ตัวอักษรในงานกราฟิกดีไซน์

ได้ความรู้เกี่ยวกับตัวอักษรมากขึ้น เพิ่งจะรู้ว่า Serif คือตัวอักษรที่มีติ่งเล็กๆ ส่วน Sans-serif คือตัวอักษรที่ไม่มีติ่งยื่นออกมา Time New Roman ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อใช้ในหนังสือพิมพ์ The Times ตั้งแต่ปี คศ. 1931 ออกแบบโดย Victor Lardent เป็นฟอนต์อีกอันที่ใช้กันทั่วโลก และใช้งานต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน (คนออกแบบเนี้ย สุดยอดจริงๆ)

การออกแบบโลโก้

ตัวอย่างการออกแบบโลโก้รถยนต์ชื่อดังจากอิตาลี พร้อมประวัติความเป็นมาเป็นสั้นๆ น่าเสียดายหลายโลโก้กับระบุคนออกแบบเป็น นิรนาม ซึ่งในความคิดผมถ้าสืบค้นมากพอน่าจะหาเจอนะว่าใครเป็นคนออกแบบ หรือถ้าไม่รู้ ผมจะไม่ยกโลโก้นั้นมานำเสนอแม้จะเป็นกรณีศึกษาที่ดีก็ตาม

หัวข้อการออกแบบโลโก้ ทำให้รู้ว่าลุง Paul Rand มีงานออกแบบโลโก้ที่สุดยอดจริงๆ เช่น โลโก้ของ IBM, NeXT, Ford, YALE เป็นต้น

สรุปว่า เป็นหนังสืออีกเล่มที่อ่านสนุก เพลิดเพลิน ถ้าใครที่ทำงานเกี่ยวกับการออกแบบ หนังสือเล่มนี้น่าจะเป็นหนังสือที่รวม case study ไว้เยอะพอสมควรเลยครับ สามารถเข้ามาหาแนวคิด แรงบันดาลใจข้างในหนังสือเล่มนี้ได้ไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน ส่วนคนที่ชอบศิลปะทั่วไปก็อ่านสนุก และได้ความรู้เช่นกันครับ

การ์ตูน ในวันที่ข้าพเจ้าเขียน Black Jack

Black Jack

หนังสือการ์ตูน ในวันที่ข้าพเจ้าเขียน Black Jack (เล่มเดียวจบ)
เรื่องและภาพ โดย มาซารุ มิยาซากิ  และ โคจิ โยชิโมโต้
สำนักพิมพ์ วิบูลย์กิจการพิมพ์
ราคา 55 บาท

เห็นจากบล็อกของ อ.ศุภเดช เกี่ยวกับการ์ตูน “ในวันที่ข้าพเจ้าเขียน Black Jack” เลยอยากอ่านบ้าง เมื่อเดินผ่านร้านการ์ตูนเลยไม่พลาดต้องหยิบติดมือมา เป็นเรื่องราวการทำงานของ อ.เท็ตสึกะ โอซามุ บุคคลสำคัญที่ได้รับฉายา “พระเจ้าแห่งวงการการ์ตูน” 

เรื่องราวในการ์ตูนเล่มนี้ เป็นการไปสัมภาษณ์บุคคลต่างๆที่เคยร่วมงานกับ อ.เท็ตสึกะ ในอดีต ซึ่งยังวนเวียนอยู่ในวงการการ์ตูน(ได้ดีกันทุกคนเลย) การทำงานของคนที่ถูกเรียกว่า “พระเจ้า” นั้นเป็นยังไง สิ่งที่ได้จากการ์ตูนเรื่องนี้คือ ได้รู้ว่าอาชีพนักเขียนการ์ตูนเขาทำงานกันยังไง การทำงานคือ อ.เท็ตสึกะ จะคิดเรื่อง วาดภาพตามเรื่องราวที่คิดไว้ จากนั้นผู้ช่วย(หลายคน)จะช่วยกันลงรายละเอียด เติมสี ใส่ฉากหลัง ฯลฯ แล้วส่งให้ผู้จัดการ เอาไปส่งให้ บ.ก.หนังสือรายสัปดาห์ ก่อนจะส่งพิมพ์ต่อไป มีเวลากำหนดที่แน่นอน เนื่องจาก อ.เท็ตสึกะ รับผิดชอบหลายเรื่อง จึงได้เห็นการทำงานแข่งกับเวลาในสถานการณ์ต่างๆ แม้เวลาจะบีบยังจะได้เห็นการทำงานอย่างเต็มสุดความสามารถจนถึงวินาทีสุดท้าย และไม่ยอมอ่อนข้อให้กับความไม่สมบูรณ์แบบ

นิสัยเฉพาะตัวหลายอย่างของ อ.เท็ตสึกะ ที่น่านับถืออย่างมาก คือ ถ่อมตัว ทำงานทุกวินาทีที่ทำได้อย่างเต็มที่ ช่างอยากรู้อยากเห็นทุกๆสิ่งทุกๆอย่างรอบตัวตลอดเวลา แต่จากเรื่องราวการทำงานของ อ.เท็ตสึกะ ก็มีข้อเสียอยู่มากเช่นกัน แต่อย่างไรก็ดีทั้งข้อดีและข้อเสีย เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการทำงานของเราได้เช่นกัน!

อ.เทะซึกะ โอะซะมุ

ผลงานของ อ.เท็ตสึกะ โอซามุ (ข้อมูลจาก wiki)

  • Ma-chan’s DiaryNew
  • Treasure Island 1947
  • Lost WorldNext WorldJungle
  • Taitei (Jungle Emperor / Kimba the White Lion), 1950
  • เจ้าหนูปรมาณู 1952-1968
  • Princess Knight, 1953
  • Story of a Street Corner, 1962
  • Memory, 1964
  • Mermaid, 1964
  • Ambassador Magma, 1965
  • Drop, 1965
  • W3 (Amazing 3), 1965
  • Pictures at an Exhibition, 1966
  • Dororo, 1967
  • The Phoenix, 1967
  • The Genesis, 1968
  • One Thousand and One Nights, 1969
  • Cleopatra,1970
  • Ode to Kirihito, 1970
  • A History of Birdmen, 1971
  • A Hundred Tales, 1971
  • Ayako, 1972
  • แบล็กแจ็ก หมอปีศาจ , 1973
  • Buddha, 1973
  • MW, 1976
  • ฮิโนโทริ วิหคเพลิง , 1980
  • A Tree in the Sun, 1981
  • Tell Adolph, 1983
  • Jumping, 1984
  • Broken Down Film, 1985
  • Legend of the Forest, 1987
  • Ludwig B., 1987
  • Murasama, 1987
  • Push, 1987
  • Neo Faust, 1988
  • Self-portrait, 1988
  • Metropolis(2002 by Tezuka Osamu Production)

หนังสือ 10 สุดยอดนักฟิสิกส์โลก อ่านแล้วครับ

10 สุดยอดนักฟิสิกส์โลก

ชื่อหนังสือ 10 สุดยอดนักฟิสิกส์โลก
เขียนโดย ชัยวัฒน์ คุประตกุล
140 หน้า พิมพ์ครั้งที่ 1 : ตุลาคม 2549
สำนักพิมพ์ ประพันธ์สาส์น
ราคา 85 บาท

หนังสือเล่มเล็กๆ อ่านง่าย เป็นประวัติสั้นๆกับสิ่งที่เขาค้นพบ นักฟิสิกส์ส่วนใหญ่ที่เรารู้จักดีอยู่แล้วจะมีเนื้อหาแนะนำเพียงเล็กน้อย ส่วนคนที่ไม่คอยเป็นที่รู้จักในวงกว้างจะเพิ่มเนื้อหาเยอะเป็นพิเศษ ในตอนท้ายมีประวัติของนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ ไอแซค นิวตัน กับการค้นพบของเขา ที่มีเนื้อค่อนข้างเยอะและอ่านเพลิน เมื่ออ่านการค้นพบของนักวิทยาศาสตร์ผู้ที่เรียกได้ว่าการค้นพบของเขาเปลี่ยนโลกได้ เรามักจะอึ้ง ทึ่ง ตะลึง ว่าพวกเขาคิดได้ยังไง? ในบทสรุปของคำพูดของไอแซค นิวตัน ตอบคำถามนี้ได้อย่างดี คือ

ในสมองของเขาไม่เคยว่างเปล่า เขาจะมีปัญหาที่ต้องขบคิดอยู่ตลอดเวลา และเมื่อเขากำลังคิดแก้ปัญหาใดๆก็ตามอยู่ เขาก็จะพิจารณาคิดหาทางแก้ปัญหาอย่างไม่ยอมหยุดยั้ง เพราะเขามิได้แก้ปัญหาโดยรอให้เกิดความคิด มองเห็นลู่ทางขึ้นมาเอง หรือโดยบังเอิญ เขาจะโจมตีปัญหานั้นอย่างไม่ยอมหยุดยั้ง จนกระทั้งได้คำตอบ

มันคือ ความพยายาม สินะ!

อ้อ มีอีกอย่างหนึ่ง นักฟิกส์คนอื่นๆที่น่าสนใจดูที่ wiki รวบรวมไว้อย่างดีเลย https://en.wikipedia.org/wiki/Physicist

 

หนังสือ คนกล้าฝัน (8 นักฝัน) อ่านแล้วครับ

หนังสือ คนกล้าฝัน (8 นักฝัน)

ชื่อ คนกล้าฝัน (8 นักฝัน)
เขียนและเรียบเรียงโดย ทศ คณนาพร
223 หน้า พิมพ์ครั้งที่ 3 ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ 2549
สำนักพิมพ์ RICH PUBLISHING
ราคา 120 บาท

หนังสือเล่มนี้ซื้อมือสองมาครับ หนังสือเก่าแต่ตัวอักษรคงไม่เก่าไปด้วยหรอกจริงไหม? หนังสือ คนกล้าฝัน (8 นักฝัน) เป็นการถ่ายทอดชีวิตของบุคคลที่ได้ชื่อว่าประสบความสำเร็จในชีวิต มีชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไปผ่านทางงานต่างๆที่เขาเหล่านั้นได้ทำ ได้สร้างสรรค์ออกมาสู่สาธารณะ ซึ่งก็เป็นกลุ่มของงานสร้างสรรค์ทั้งสิ้น (ศิลปะ เพลง รายการทีวี หนัง หนังสือ ฯลฯ) เป็นตัวอย่างของการหาเลี้ยงชีพตัวเองได้ด้วยงานที่ตัวเองรัก นักฝันทั้ง 8 คน เป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้วผ่านทางสื่อต่าง ได้แก่

  1. อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์
  2. ประภาส ชลศรานนท์
  3. วินทร์ เลียววาริณ
  4. วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์
  5. จิระ มะลิกุล
  6. สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ
  7. บอย โกสิยพงษ์
  8. สังคม ทองมี

สิ่งหนึ่งที่พอจะสรุปได้จากหนังสือเล่มนี้ก็คือ คนที่ทำงานในสิ่งที่ตัวเองรัก จะทำได้นาน มีความสุขในสิ่งที่ตัวเองทำ และจะไม่รู้สึกว่าตัวเองทำงานไม่หนัก(ในขณะที่คนอื่นมองว่าหนักมาก) ส่วนผลของ เงินทอง ชื่อเสียง ที่ได้มาเป็นเพียงส่วนเสริมที่ทำให้ใช้ชีวิตอยู่ได้(แบบมั่งมี) ในขณะที่ยังทำในสิ่งที่ตัวเองรักต่อไปได้ตลอดไปเรื่อยๆ

ส่วนตัวผมเป็นแฟนหนังสือของคุณวินทร์ เลียววาริณ ซื้อหนังสือเล่มนี้มาเพราะมีชื่อของเขาอยู่ปก แต่เนื้อเกี่ยวกับเขาส่วนใหญ่ก็พอๆรู้กันอยู่แล้ว แต่ก็ทำให้เราได้รู้จักนักฝันท่านอื่นๆเพิ่มมากขึ้นด้วย

ตอนที่เริ่มอ่านหนังสือเล่มนี้ไปสักพัก ก็ทำให้นึกถึงหนังสืออีกเล่มก่อนหน้าที่เพิ่งอ่านจบไป “หนังสือวิวาทะ” ที่ท่านพุทธทาสภิกขุ บรรยายธรรมเรื่อง การทำงานด้วยจิตว่าง พอจะเชื่อมโยงกันได้ดีทีเดียวเลย หรือจะเรียกว่าเป็น กรณีศึกษาของกลุ่มผู้ทำงานด้วยจิตว่าง ก็คงจะพอเรียกได้อยู่บ้าง

ท้ายเล่มมีเกร็ดเล็กๆ จากนักฝันต่างๆทั่วโลกเพิ่มเข้ามาด้วยนิดหน่อย

สุดท้ายฝันอย่างเดียวคงไม่เกิดผล ต้องปฎิบัติด้วย จึงจะเกิดผล

 

หนังสือวิวาทะ (ความเห็นไม่ตรงกัน) ระหว่าง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กับ ท่านพุทธทาสภิกขุ อ่านแล้วครับ

หนังสือวิวาทะ (ความเห็นไม่ตรงกัน) ระหว่าง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กับ ท่านพุทธทาสภิกขุ

ชื่อ หนังสือวิวาทะ (ความเห็นไม่ตรงกัน) ระหว่าง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กับ ท่านพุทธทาสภิกขุ
รวบรวมโดย อรุณ เวชสุวรรณ
232 หน้า พิมพ์ครั้งที่ 6 (พ.ศ. 2554) ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ 2520
สำนักพิมพ์ อรุณวิทยา
ราคา 120 บาท

หนังสือเล่มนี้เป็นการรวบรวมการถามตอบกันระหว่างผู้บรรยายธรรมกับผู้สนทนา ซักไซร้ สอบถามเพื่อเพิ่มความกระจ่างมากขึ้น หรือที่เรียกกันว่า ธรรมาสากัจฉา สถานที่จัดบรรยายอยู่ที่ หอ ประชุม ครุสภา โดยผู้บรรยาธรรมคือ ท่านพุทธทาสภิกขุ มีหัวข้อบรรยายคือ ธรรมในฐานะเครื่องมือ สร้างคน สร้างชาติ และสร้างโลก แบ่งเป็น 3 ครั้ง

  • ครั้งที่ 1 หัวข้อ งานคือการปฏิิบัติธรรม (6 ก.ค. 2506)ผู้ซักถามปัญหาธรรม คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, นายปุ๋ย โรจนะบุรานนท์ และนายฉันทิชย์ กระแสสินธุ์
  • ครั้งที่ 2 หัวข้อ การทำงานด้วยจิตว่าง (23 ก.พ. 2507) ผู้ซักถามปัญหาธรรม คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
  • ครั้งที่ 3 หัวข้อ หมวดธรรมที่พึ่งใช้ในการทำงานด้วยจิตว่าง (19 ม.ค. 2508) ไม่มีผู้ซักถามปัญหาธรรม

ในการบรรยายครั้งแรกที่เน้นไปที่การให้ความหมายของการธรรมและงาน (มีพูดถึงการเมืองและสภาบ้างเล็กน้อย) ซึ่งท่านพุทธทาสฯได้บรรยายถึงธรรมคือหน้าที่ (Duty) และหน้าที่ก็คือธรรม ดังนั้นไม่ว่า ชาวนา ชาวสวน ราชการ พ่อค้า ฯลฯ ที่ทำหน้าที่ของตนนั้นก็เหมือนการปฎิบัติธรรมแล้ว และเจาะจงลงไปที่ การปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะที่ถูกต้อง ซึ่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ก็เห็นด้วยอย่างยิ่ง และกล่าวสนับสนุนโดยตลอด

แต่ในการบรรยายครั้งที่สองที่บรรยายถึงการทำงานด้วยจิตว่าง(ว่างจากกิเลส ว่างจากความเห็นแก่ตัวทุกชนิด ว่างการยึดติดว่าเป็นของเอง) “ทำงานให้ความว่าง” ในครั้งนี้ ทั้งสองท่านค่อนข้างมีความเห็นที่แตกต่างกัน ซักไซ้กันไปมา คิดว่าคนในสมัยนั้นอาจมองว่าเป็นการสนทนาที่ค่อนข้างขัดแย้งรุนแรง อย่างเช่น “กระผมขอสอนพระสักวันเถิดครับ!” แต่เท่าที่อ่านดูก็ไม่ได้แตกต่างมากกันมายนัก โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ท่านมองว่าการทำงานด้วยจิตว่างนั้นเป็นธรรมที่ดีอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ไม่เหมาะเลยที่จะนำมาใช้กับฆราวาส ซึ่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เชื่อว่าต้องอาศัยอุปทาน หรือความอยาก(รวย เงิน สุขสบาย) ช่วยผลักดันให้ทำงานออกมาได้ดี ส่วนการทำงานด้วยจิตว่างนั้นใช้ได้เฉพาะผู้อยู่ในสถานะสมณะเท่านั้น ประเทศจะพัฒนาได้อย่างไรถ้าทำงานให้ความว่าง แต่ท่านพุทธทาสฯนั้นยังคงยืนยันว่าเหมาะสมและจำเป็นต้องทำด้วย ซึ่งท่านพุทธทาสฯมองว่าทั้งสองเห็นต่างกันเพียงเล็กน้อย

ภายหลัง การบรรยายครั้งต่อไป ดูเหมือนว่าท่านพุทธทาสฯพบว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ นั้นเห็นต่างและเข้าใจผิดอยู่มาก ซึ่งน่าจะรับรู้ผ่านทางการเขียนลงหนังสือพิมพ์ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ หลายครั้งหลังจากการสนทนาธรรมในครั้งนั้น

ตอนท้ายเล่มยังมีบทความที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ พูดถึงพระพุทธศาสนาในแง่มุมต่างๆ ซึ่งถือว่าแนวคิดค่อนข้างแหวกแนวกับขนบธรรมเนียมในยุคนั้นมากพอสมควรเลยทีเดียว เช่น การกล่าวว่าพระเวสสันดร ผิดทั้งศีลกษัตริย์ ศีลสามี ศีลมารดา ไม่น่านับถือ และในหนังสือก็มีบทความโต้แย้งแนวคิดต่างๆของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ประกอบอยู่ด้วย

ในหนังสือเล่มนี้ถ้าเราอ่านแบบใจเป็นกลางจะพบว่าผู้เขียนค่อนข้างเอียงไปทางท่านพุทธทาสฯค่อนข้างชัดเจน ดูจากบทความท้ายเล่ม และการกล่าวถึง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ในเนื้อหาบางครั้งออกแนวโจมตีนิดๆ (แต่ไม่มากมายอะไรนะ) แต่อ่านก็รู้ว่าสนับสนุนท่านพุทธทาสฯเต็มที่ (ซึ่งส่วนตัวก็สนับสนุนท่านเช่นกันนะ) แต่การวิจารณ์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ และบทความท้ายเล่มออกจะไม่ค่อยจำเป็นเท่าไหร่ สิ่งที่อยากเห็นมากกว่าคือ ในบทนำได้กล่าวว่าหลังจากวิวาทะครั้งนั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ และลูกศิษย์ ได้เขียนบทความกระแนะกระแหนท่านพุทธทาสฯออกมาเป็นระยะๆ อยากอ่านบทความเหล่านั้นมากกว่า (ถ้าจะรวบรวมใหม่อีกครั้งครอบคลุมถึงส่วนนี้ด้วย คงเป็นอะไรที่สุดยอดมากๆ)

สรุปว่า หนังสือเล่มนี้อ่านสนุกครับ (หนังสือที่อ่านจบมักจะสนุก เพราะไม่สนุกจะวางแล้วเปลี่ยนเล่มใหม่) อีกอย่างที่ชอบมากคือ สำนวนการพูดคุยของคนยุคนั้นต่างจากปัจจุบันเยอะพอสมควร แต่ผมชอบลักษณะการใช้คำของคนยุคนั้นนะ สำนวนฟังไพเพราะ ลื่นหูดีแท้

ใครที่ชอบเรื่องดราม่า ลองอ่านนักปราชญ์ถกเถียงในเรื่องที่มีความเห็นต่างกันดูครับ สนุกและได้ความรู้เพิ่มขึ้นอีกด้วยครับ

ปล. เมื่อได้อ่านหนังสือเล่มถัดไป คนกล้าฝัน(8 นักฝัน) ยิ่งเป็นการตอกย้ำ และเป็นข้อพิสูจน์อย่างดีว่า แนวทางของท่านพุทธทาสภิกขุ ว่าด้วยการทำงานด้วยจิตว่างนั้นได้ผลอย่างดีเยี่ยม และสร้างสรรค์ให้โลกเราน่าอยู่ยิ่งขึ้นอีก

Exit mobile version