กฎหมายไทย บริจาคหนังสือเสรี มีดีมากกว่าเสีย

, , 4 Comments

ภาพประกอบ โดย libraryman

ได้อ่าน “บริจาคหนังสือเสรี” ประเทศชาติจะฉิบหายจริงหรือ จากประชาไท กล่าวถึงกฎหมายใหม่ที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และถูกประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายแล้ว เป็นกฎหมายส่งเสริมให้คนบริจาคหนังสือให้สถานศึกษา ผ่านทางการขอยกเว้นภาษีจากมูลค่าของหนังสือที่บริจาคได้ถึง 200%

มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย อย่างเช่น มกุฎ อรดี ที่ออกมาให้ความเห็นว่า การบริจาคหนังสือเสรีจะนำมาสู่ความเสียหายของชาติอย่างใหญ่หลวง โดยเน้นไปที่ เป็นช่องทางในการคอรัปชั่น ประโยชน์จากการหักภาษี หนังสือบริจาคที่ด้อยคุณภาพ การครอบงำ-โฆษณาตัวเองของนักการเมืองผ่านหนังสือ มีข้อโต้งแย้งของความเห็นนี้ จากหลายส่วนดูจะฟังขึ้น และเห็นว่ากฎหมายนี้มีดีมากกว่าเสีย ยกตัวอย่าง

“คุณมกุฎบอกว่าการบริจาคหนังสือเป็นช่องทางหนึ่งของการคอรัปชั่น เช่น ไปซื้อหนังสือราคาถูกๆ แล้วเอามาหักภาษีเต็มๆ กับราคาปกหนังสือ มันก็เป็นธรรมดาของประเทศไทยอยู่แล้วที่จะมีการคอรัปชั่น”

-ธนาพล อิ๋วสกุล กองบรรณาธิการวารสารฟ้าเดียวกัน (3)

อันนี้ฟังขี้นมาก ใช้แย้งกรณีคอรัปชั่น คนไม่ดี ยังไงก็หาช่องให้ตัวเองได้เสมอ อีกทั้งยังมองแง่ร้ายแต่ทางเดียว

“ปัญหาคือเราเอาอะไรไปวัดว่า ‘ข้อมูล’ หรือ ‘อุดมการณ์ใด’ เป็นอุดมการณ์ที่ ‘ดี’ ที่ ‘ถูก’ และอุดมการณ์หรือข้อมูลใด ‘ผิด’ หรือเป็น ‘อันตรายต่อความมั่นคงของชาติ’ ? ถ้าเราใช้เหตุผลเช่นนั้นในการ ‘เฝ้าระวัง’ หนังสือ เท่ากับเราก็ยอมรับในแนวคิด ‘พี่ใหญ่’ หรือ ‘คุณพ่อรู้ดี’ เราก็จะไม่มีเหตุผลใดที่จะไปเรียกร้องต่อสู้เวลาที่เขาบล็อกเว็บหรือเซนเซอร์หนัง เพราะนั่นเขาก็อ้างว่าทำเพื่อ ‘ความมั่นคง’ ของชาติ (ประกอบศีลธรรมอันดีด้วย) เช่นกัน”

และอีกประโยค “เราเคยเชื่อหนังสือบางเล่มอย่างหัวปักหัวปำ แต่พออ่านหนังสืออีกเล่ม มันล้างความคิดของหนังสือเล่มก่อนหน้านั้นไปเลย ไม่มีหนังสือเล่มใดหรอกที่จะครอบงำเราได้ตลอดไป และมันมีหนังสือใหม่ๆ รอมาครอบงำเราตลบหลังได้เรื่อยๆ”

-นักเขียนหนุ่มผู้ไม่ประสงค์จะออกนาม (4)

กรณีที่เกรงว่าหนังสือนี้ควรเฝ้าระวัง กลัวเด็กถูกครอบงำ อธิบายได้เห็นภาพ นอกจากนั้น เขายังเสนอการพิมพ์หนังสือออกมาสองเวอร์ชั่นคือราคาถูก กับราคาแพง โดยใช้คุณภาพของกระดาษที่ต่างกัน เพราะหนังสือยังไงมันก็เป็นแค่ตัวหนังสือ มีคุณค่าที่ตัวหนังสือไม่ใช่กระดาษ นี้จะเป็นการเพิ่มเสรีให้ผู้อ่านมากขึ้น นักเขียนท่านนี้เขียนได้ถูกใจมาก อยากรู้จังว่าเป็นใคร

นี้เป็นความเห็นส่วนตัว เมื่อครั้งเราอยู่ชนบทห่างใกล้ ตอนเรียนประถมยังจำได้เลยว่า โรงเรียนเรามีหนังสือในห้องสมุดเพียงไม่กี่เล่ม ตอนมัธยมต้นหนังสือในห้องสมุดถือว่าน้อยมาก ใครยืมไปคนอื่นก็คงไม่ได้อ่าน จนจำกัดการยืมให้แค่ 3 วัน

หนังสือนอกตำราเรียนเรียกว่าน้อยมาก เคยอ่านหนังสือของ ชัยคุปต์ ชื่อเรื่อง มนุษย์และอวกาศ ตอนนั้นบอกได้เลยว่ามันสร้างความตื่นตาตื่นใจให้มาก และเราตั้งคำถามว่าอยากอ่านชุดอื่นๆอีกทำไมไม่มี พอได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาในเมือง ที่มีหนังสือเยอะกว่ามากเรียกได้ว่าเทียบกันไม่ติด เราก็ตั้งคำถามอีกว่า ทำไมที่โรงเรียนเก่าเราไม่มีแบบนี้บ้าง นี้ต่างหากที่เรียกว่าเสรีในการอ่าน ไม่มีให้อ่านแล้วจะเรียกเสรีได้อย่างไร ถ้ากฎหมายนี้จะกระตุ้นให้ภาคเอกชนได้บริจาคหนังสือมากขึ้น เราก็เห็นแสงสว่างเล็กๆที่จะเกิดขึ้น จะได้เห็นหนังสือในห้องสมุดนอกเมืองมากขึ้น การบริจาคหนังสือเสรี คือบริจาคเสรีในการอ่านด้วย

ส่วนเรื่องของหนังสือที่บริจาคจากคนทั่วไปเห็น ถ้าคนที่ตั้งใจจะบริจาคจริงๆ มันคงเยอะกว่าคนที่ตั้งใจหาผลประโยชน์ ไม่อย่างนั้นสังคมมันคงอยู่ไม่ได้มาถึงขนาดนี้หรอก คนเหล่านี้ย่อมต้องคัดเลือกหนังสือที่ตัวเองเห็นว่ามีประโยชน์ให้ห้องสมุด หรือแม้ว่าจะเป็นหนังสือมือสองถูกๆ แต่หนังสือเล่มนั้นก็เคยเป็นหนังสือมือหนึ่งมาก่อน มีคุณค่าที่ตัวหนังสืออยู่แล้วไม่ใช่กระดาษหรือปก

จึงขอสนับสนุนกฎหมายนี้ ป่วยการที่เราจะมัวคำนึงแต่ผลเสียที่จะเกิดจากคนไม่ดีในสังคม

ข้อมูลเพิ่มเติม-voicetv.co.th

 

4 Responses

  1. Momja2522

    24 สิงหาคม 2011 5:36 am

    อยากได้หนังสือบ้างครับ  ไว้ให้เด็กนักเรียนมรโรงเรียนที่ผมสอนอยู่ เพราะห้องสมุดนั้นเพิ่งกำลังจะพัฒนาให้เป็นเเหล่งเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชน อยากให้ท่านผู้ใจบุญร่วมบุญในครั้งนี้  ติดต่อได้ที่ โรงเรียนเอกอโยธยา 377 ม.2 ต.สามเรือน อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา 13160 โทร 035-719078-9 หรือโทร 086-6668333  (ครูมงคล  ไพรวรรณ)

    ตอบกลับ

Leave a Reply