HyperTerminal Private Edition for Windows 7 and Windows Vista

HyperTerminal Private Edition สำหรับ Windows 7

เคยเขียนเรื่อง ใส่ hyperterminal ให้กับ Windows 7 หรือ Vista ไว้ ถือว่ามีประโยชน์ มีหลายคนได้นำไปใช้ และมีอีกหลายคนที่ค้นหาเจอผ่านทางกูเกิล ที่จริงแล้วขั้นตอนดังกล่าวถือว่าง่ายในการติดตั้งอยู่แล้ว แต่อีกวิธีที่จะนำเสนอนี้ง่ายกว่า คือ ติดตั้งโปรแกรมชื่อ HyperTerminal Private Edition

ในเว็บไซต์ออกมาเป็น v. 7 แล้ว แต่เป็นแบบ Shareware ให้ทดลองใช้ 20 หรือ 30 วัน ประมาณนี้ จำไม่ได้แล้ว เลยเลือกตัว v. 5 เป็นแบบ Unlicensed แต่ใช้งานได้ตลอด ถึงจะเก่า แต่ก็ยังทำงานได้ดี ในระดับเพียงแค่รับค่าจาก Com Port มาแสดงผลถือว่าโอเคมาก ข้อมูลที่ผมลองเก็บแบบต่อเนื่อง สูงสุดเก็บได้ 525 ค่า เป็นข้อจำกัดนิดหน่อยสำหรับใครที่ทำการ sampling เร็วๆ แต่โดยรวมต้องบอกว่า เยี่ยม

ดาวน์โหลด HyperTerminal Private Edition V.5

พาเที่ยวงาน มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำปี 2553

มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำปี 2553 (National Science and Technology Fair 2010) “จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์” วันที่ 7 – 22 สิงหาคม 2553 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา

ที่จริงไปเฝ้าบูธมาตั้งแต่วันพุธที่แล้ว แอบแวะไปเดินเล่นในงานมา มีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย ในงานเหมาะกับคนทุกเพศทุกวัย ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะ ครู นักเรียน ผู้ใหญ่ทั่วไปก็ควรไปเยี่ยมชมสักครั้งสร้างแรงบันดาลใจ และความรู้ได้มากมาย เอารูปมาให้ดู บรรยายสั้นๆใต้รูปให้พอเข้าใจนะครับ ยังมีเวลาอีก 4 วัน ใครยังไม่ไปควรแวะไปดูหน่อยนะครับ งานเยี่ยมมากๆ

บรรยากาศ งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์

ภาพแรกอยู่ในส่วนของ เทคโนโลยีสำหรับผู้พิการ

น้องเด็กในชั้นประถมกำลังทดลองเล่น กระดาษกราฟอิเล็กทรอนิคสำหรับผู้พิการตาบอด

กระดานกราฟที่ช่วยผู้ตาบอดเรียนคณิตศาสตร์เบื้องต้น ผ่านทางการฟังเสียงและการสัมผัสปุ่ม น้องๆน่ารักมากระหว่างทดลองเครื่องมือ หลับตาด้วยเพื่อให้เข้าใจถึงความรู้สึกว่าถ้าตาบอดการเรียนรู้ทำได้ยากแค่ไหน จะได้เข้าใจและเห็นใจคนตาบอด

ทดลองเขียนอักษรเบล
สัญลักษณ์แทนตัวอักษร
อุปกรณ์ในการเขียนอักษรเบล

ส่วนนี้เป็นการทดลองเขียนอักษรเบล วิธีเขียนลำบากพอควร ที่โต๊ะจะมีบอกว่าอักษรแต่ละตัวเขียนแบบไหน เวลาเขียนจะใช้แท่งกดลงกระดาษบนแท่นพิมพ์ที่เป็นจุด 2×3 และต้องเขียนกลับด้าน เพราะเวลาอ่านจะพลิกกลับอีกด้าน เพื่อใช้นิ้วคล้ำจุดที่นูนขึ้นมา

มหัศจรรย์ดวงตา
มีภาพแปลกๆให้ดู

ภาพที่มองได้หลายมุมมอง มีให้ดูหลายรูป และบางอันเคยเห็นในเว็บบ้างแล้ว

สนามยิงปืนเลเซอร์

ตรงนี้เด็กเข้าคิวเล่นกันเยอะเลย เป็นสนามยิงปืนเลเซอร์ เมื่อยิงจะมีเสียง แล้วผลคะแนน ก็จะปรากฏบนจอทันที

ผลิตภํณฑ์จากฮาร์ดดิสพัง

ฮาร์ดดิสที่พังแล้วเก็บข้อมูลไม่ได้แต่มอเตอร์มันยังหมุนได้ เขาก็เอามาทำอะไรต่างๆได้มากมาย ทำหุ่นเล่นดนตรี เครื่องผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ ฯลฯ

เครื่องเล่นห่วงกล

เครื่องเล่นห่วงกล กว่าจะเอาออกได้นี้ต้องใช้เวลาพอดูเลย

แผนที่กรุงเทพจากดาวเทียม

ไปหาดูว่าตอนนี้ตัวเองอยู่ตรงไหน

ดาราศาสตร์

ส่วนของดาราศาสตร์ ทำความรู้จักดาวต่างๆ ส่วนต่างๆของจรวด ระบบสุริยะ ฯฯ

Augmented reality

ระบบ Augmented reality เชื่อมระหว่างโลกจริงกับโลกเสมือน

พับกระดาษ

พับกระดาษ เพิ่มความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ จะได้รู้ว่ากระดาษ

เรียนรู้เรื่องแสง

เรียนรู้เรื่องแสง มีหลายอย่างให้เรียนรู้ด้านใน การหักเหของแสง การผสมสีของแสง ทางเดินวงกตที่ทำจากกระจกเงา การเดินของแสงใน fiber optic

หนังสามมิติ

มีการอธิบายถึงการทำงานของภาพ 3 มิติ และฉายหนังสั้น 3 มิติ เกี่ยวกับไดโนเสาร์ ดูแล้วสนุกดี เพลินเลยทีเดียว

รถโตโยต้า ผ่าครึ่ง
ภาพรถยนต์

รถยนต์ ที่ผ่าให้เห็นถึงองค์ประกอบภายใน เบาะนั่งแบบต่างๆ

นาโนเทคโนโลยี

อธิบาย และให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับนาโนเทคโนโลยี

ส่วนของ TK Park มี iPad ให้เล่นด้วย

iPad ตรงอุทยานการเรียนรู้ TK Park มีหนังสือภาษาไทยให้ลองอ่านเล่น (พบว่า iPad มี Cydia ด้วย)

ยังมีอีกหลายจุดที่ผมไม่ได้ไป งานใหญ่มาก เดินทั้งวันก็ไม่หมด ถ้าจะให้ดีต้องมาหลายวัน เด็กๆมาแทบจะทั่วประเทศ โดนเด็กตั้งคำตามว่า “พี่ค่ะ อันนี้ตัวแปรต้น คืออะไร” ตอบไม่ถูกเลยทีเดียว

แผนที่ ไบเทค บางนา
ดู ไบเทค บางนา ในแผนที่ขนาดใหญ่กว่า

รายละเอียดเพิ่มเติม: https://www.nst2010.com/index.php

สถิติผู้ใช้ Facebook ในประเทศไทย พบว่าผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

สถิตินี้ผมเก็บมาจากตัวเลข Estimated Reach ตอนที่เลือกกลุ่มเป้าหมาย(Demographics) ในตอนสร้าง Facebook Ads เก็บข้อมูลในวันที่ 14 สิงหาคม 2010 เวลาประมาณ 22.15 น.  ข้อมูลจาก Facebook น่าจะเป็นการประมาณแบบคร่าวๆ เพราะเวลาเลือกแบบ All(Men+Women) พบว่าข้อมูลไม่ตรงกับที่เราเลือก Men หรือ Women แล้วค่อยเอามารวมกันทีหลัง ในตารางข้างล่างนี้ ข้อมูลในช่อง All จึงเป็นการรวมกันระหว่าง Men กับ Women ในไฟล์ที่ให้โหลดข้างล่างจะมีข้อมูลทั้งสองชุด

ดูข้อมูลดิบที่เก็บมา

ข้อมูลทั้งหมด

ดูในตารางแล้วงง เลยต้องทำเป็นกราฟ จะได้วิเคราะห์ข้อมูลได้ (คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่)

กราฟ 1 สถิติของคนใช้ Facebook ในประเทศไทย ณ วันที่ 14 สิงหาคม 2010 (คลิกภาพเพื่อดูขนาดใหญ่)

ตามข้อมูลที่มีให้เลือกมีช่วงของอายุ ตั้งแต่ 13-64 ปี ทำเป็นกราฟแท่งให้ดู แยกตามช่วงอายุ

กราฟ 2 สถิติของคนใช้ Facebook ในประเทศไทย ณ วันที่ 14 สิงหาคม 2010 (คลิกภาพเพื่อดูขนาดใหญ่)

กราฟแบบเส้นจะได้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้นระหว่างหญิงและชาย ตามช่วงอายุ

และแบบดูเทียบเปอร์เซนต์ของชายและหญิง

สัดส่วนผู้ที่ใช้ Facebook ระหว่างผู้ชายและผู้หญิง

สรุปจากข้อมูลที่ได้มีดังนี้

  • ข้อมูลที่มีใน facebook ads มีข้อมูลเฉพาะช่วงอายุ 13-64 ปี ซึ่งผมเชื่อว่าคนที่มีอายุมากหรือน้อยกว่านี้มีอยู่แล้ว และข้อมูลน่าจะมีความคาดเคลื่อนบ้างแต่คิดว่าไม่น่าจะมาก เพราะบางคนกรอกข้อมูลส่วนตัวไม่ถูกต้อง
  • ในประเทศไทยกลุ่มคนที่มีอายุ 20 ปี ใช้ Facebook เยอะที่สุดในประเทศไทย คือประมาณ 284,400 คน หรือประมาณ 6% ของทั้งหมด
  • ช่วงอายุที่มีคนเล่นมากว่า 2 แสนคนคือ 18-26 ปี
  • จำนวนทั้งหมดของคนไทยที่ใช้ Facebook ณ วันที่ 14 สิงหาคม 2553 เวลาประมาณ 22.20 น. (ตอนผมเก็บข้อมูล) คือ 4,755,980 คน เป็นชาย 2,094,740 คน และเป็นผู้หญิง 2,661,240 คน หรือคิดเป็นเปอร์เซนต์ได้ว่า เป็นผู้หญิง 56% เป็นผู้ชาย 44%
  • ตอนนี้ผู้หญิงเล่น Facebook มากกว่าผู้ชายเกือบ 6 แสนคน ผมสรุปได้ว่าผู้หญิง ชอบการเข้าสังคม อยู่เป็นกลุ่มมากกว่าผู้ชาย ทั้งโลกจริงและโลกเสมือน
  • มีข้อสังเกตอีกนิดคือ ผู้ชายจะมีสัดส่วนผู้ใช้มากกว่าผู้หญิงเมื่ออายุมากขึ้น เริ่มตั้งแต่อายุ 38 ปี ขึ้นไป (ดูกราฟ 2)

ใครอยากได้เป็นตัวเลข เอาไปวิเคราะห์เผื่อมีประโยชน์ในการนำไปใช้งาน ดาวน์โหลดไปได้เลย
Facebook Thailand file

พอทำเสร็จงงกับตัวเอง ลุกขึ้นมา ทำไปเพื่ออะไร?  แว่วคำตอบ “แค่อยากรู้”

THE RISE OF NANOTECH : นวัตกรรมนาโน จากทฤษฎีสู่ชีวิตจริง

THE RISE OF NANOTECH

THE RISE OF NANOTECH : นวัตกรรมนาโน จากทฤษฎีสู่ชีวิตจริง
Scientific American : ดร.ยุทธนา  ตันติรุ่งโรจน์ชัย แปล
สำนักพิมพ์มติชน ,ตุลาคม 2552  ราคา 240 บาท

หนังสือเล่มนี้ เห็นผ่านตามานานแล้ว ได้เปิดดูสารบัญบ้าง แต่ยังไม่มีแรงจูงใจ ที่จะซื้อมาอ่าน หลังจากได้เขียนบทความใน Biomed.in.th เรื่องการใช้ nanopatch เป็นตัวให้วัคซีน เลยนึกอยากรู้จักเรื่องนาโนเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น และผมไม่อยากอ่านหนังสือที่ออกแนวเป็นหนังสือเรียนมากจนเกินไป หนังสือเล่มนี้น่าจะตอบโจทย์ เรื่องที่อยากรู้ ได้พอควร อาจจะไม่เท่าหนังสือเล่มโตในห้องสมุด

สารบัญ อาจเพิ่มแรงจูงใจ ให้อยากอ่านมากขึ้น

หน่วยย่อยนาโน

  • ยังมีที่ว่างอยู่อีกมาก
  • ศิลปะการผลิตโครงสร้างขนาดเล็ก
  • ตัวต่อเลโก้โมเลกุล

เครื่องจักรมีชีวิต

  • นาโนเทคโนโลยีของเกลียวคู่
  • กำเนิดคอมพิวเตอร์ดีเอ็นเอ

วงจรขนาดเล็กที่สุด

  • โครงข่ายนาโนคาร์บอนจุดประกายอิเล็กทรอนิกส์ชนิดใหม่
  • คำสัญญาของพลาสมอนิกส์
  • วงจรจิ๋วมหัศจรรย์

การเดินทางอันน่าอัศจรรย์

  • สิ่งเล็กๆ มีค่ามากมายในทางการแพทย์
  • พ่อมดนาโน
  • เกี่ยวกับผู้แปล

เนื้อหาแต่ละบท เขียนโดยนักวิทยาศาตร์แต่ละคนแตกต่างกันไป อ่านได้แบบเรื่อย เชิงพรรณา ไม่มีสูตรฟิสิกส์ เคมี คณิตศาสตร์ ให้ปวดหัว แต่ละบทจะมีแหล่งค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมให้ในตอนท้ายของบท หากสนใจในบทนั้นๆเป็นพิเศษก็สามารถตามไปอ่านต่อได้

ความฝันกับ Biomed.in.th เห็นเป็นรูปเป็นร่างแล้ว

เว็บ Biomed.in.th

Biomed.in.th ผมเริ่มทำเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว(2009) บล็อกเกี่ยวกับเว็บนี้ไว้ที่นี้ ตอนหลังทิ้งช่วงของการอัพเดตไปนาน เนื่องด้วยการเขียนบทความประเภทนี้ เราจะให้ความสำคัญ ใส่ใจในความถูกต้องเป็นพิเศษ เพราะมันเกี่ยวกับสุขภาพร่างกายโดยตรง อยากให้เป็นแหล่งความรู้จริงๆ ที่กล่าวอ้างได้ มีที่มาสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ ประกอบกับเวลาไม่ค่อยมี(ข้ออ้าง) แต่เมื่อไม่นานได้พูดคุยกับ @cherrykids เธอบอกว่าเนื้อหาในเว็บน่าสนใจ แต่ทำไมไม่ค่อยอัพเดตเลย สุดท้ายก็ชวนมาเป็นคนร่วมเขียน คิดอยู่ในหัว “มีคนสนใจมันด้วยแฮะ” ไฟในตัวเลยลุกโชนขึ้นอีกครั้ง เลยลงมือปรับปรุงเว็บใหม่เพียบ

  • ปรับหน้าแรกให้อ่านง่ายขึ้น เรียงแบบธรรมดา จากคำแนะนำของเพื่อนคนหนึ่ง ที่บอกว่ามันดูงงๆ ตอนนี้น่าจะง่ายขึ้น
  • ทำหน้า Biomed.in.th on Facebook page มีคนมา Like เยอะแล้ว
  • ทำ Biomed.in.th on NetworkedBlogs ใครที่เล่น Facebook เข้าไป Follow ได้เลยครับ
  • ทำปุ่ม Like ใน single post เมื่อกด Like จะขึ้นไปที่ facebook ของเราทันที ลองดูที่ด้านล่างของโพสนั้นๆ
  • ทำ https://twitter/biomedinth เพื่อกระจายเนื้อหา ที่จริงสมัครมาตั้งนานแล้วแต่ยังไม่ได้โปรโมท
  • ทำ feedburner และ subscript ผ่านทางอีเมล ไปดูได้ที่หน้าหลัก
  • เปิดหน้ารับสมัครนักเขียน ใครสนใจเข้ามาสมัคร และลองเขียนบทความดูนะครับ มาช่วยกันเผยแพร่ความรู้สู่สังคมไทยกันนะครับ ตอนนี้เรามีนักเขียนแล้ว 8 คน เมื่อมีเวลาอันเหมาะสมผมจะนัดพบปะกันของกลุ่มคนเขียนบทความนะครับ
  • พยายามชวนพี่ๆเพื่อนที่รู้จักมาช่วยกันทำ ได้รับการตอบรับอย่างดี

ความฝันที่จะสร้างแหล่งให้ความรู้ และที่พบปะ พูดคุย ที่แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างผู้สนใจในวิศวกรมมชีวเวช และวิทยาศาสตร์สุขภาพ ดูจะเห็นเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ใครสนใจอยากเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนา Biomed.in.th ขอเชิญเลยนะครับ ยินต้อนรับทุกท่านครับ

dipity.com เว็บนี้บอกว่า คุณทำอะไรเมื่อไหร่!

การแสดงผลของ dipity.com

เจอบล็อกของ @iannnnn “พลังไพร่ใน Social Network” เห็นเว็บหนึ่งในพรีเซ็นต์มันช่างน่าสนใจเหลือเกิน (ตามไปดูเอง) มีบางอย่างผุดขึ้นมาในหัวว่า ถ้าอยากรู้ว่าวันนี้ของปีที่แล้ว เราทำอะไรอยู่ ก็เลือนไปดูเลยน่าจะดี เว็บที่ว่าคือ dipity.com สมัครง่าย แล้วก็ import ข้อมูล Timeline ของเราเข้าไป รองรับ Twitter, Flickr, Picasa, Youtube, WordPress, Blogger, Delicious, RSS บล็อกของเรา อื่นๆดูในรูป แต่แปลกตรงที่ ไม่มี Facebook ไม่รู้ทำไม?
หน้าเลือก source เข้ามาแสดงใน dipity

เมื่อเราใส่เนื้อหาเข้าไป ทุกอย่างจะถูกแสดงผลตามเวลาที่เราเผยแพร่เนื้อหานั้นสู่สาธารณะ การซูมเข้า-ออกที่อยู่ด้านซ้ายของมันคือ การขยายย่อเวลาให้แสดงเป็น ชั่วโมง วัน สัปดาห์ เดือน ปี หรือร้อยปี อีกอย่างที่ชอบมากเลยคือ Embed มาโชว์ในบล็อกได้ด้วย (ดูด้านล่าง)
ประโยชน์ของมันผมเห็นหลายอย่าง เอาไว้บันทึกเหตุการณ์ต่างๆได้ ง่ายต่อการย้อนมาดูในภายหลัง ติด geotagging ก็จะสามารถแสดงในแผนที่ได้ด้วย เราเล่น social network หลายที่ก็สามารถดึงมันมารวมกันแล้วแบ่งตามช่วงของเวลา สรุปว่าลองไปเล่นดูแล้วกัน

Pongsak S. on Dipity.

ขอบคุณ @iannnnn ที่ทำให้รู้จัก dipity
อันนี้ของผม https://www.dipity.com/sarapuk/

ได้อีเมลตอบรับเข้าร่วมงาน TEDxBKK แล้ว

TEDxBKK

หลังจากสมัครเข้าร่วมงาน “TEDxBKK ครั้งแรกของไทย” วันนี้ได้อีเมลตอบกลับมาแล้วครับ ใครได้ลงทะเบียนไปมั้งเจอกันที่งานเลยครับ วันงานจะเก็บภาพและบรรยายกาศมาฝากครับ

บันทึกการแก้ปัญหาเรื่อง Authentication Required

บันทึกไว้สำหรับการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น กับ server

สาเหตุ คิดว่าเกิดจากการลบ User ตัวใดตัวหนึ่งออก หรืออะไรไม่รู้ เวลาล็อกอิน Admin เข้าไปแล้วแต่เกิด Access denied ใน folder ที่เก็บ root ของเว็บ เมื่อเข้าไปที่เว็บทำให้เกิดการถามรหัส พาสเวิร์ด ทำเอางง และงมอยู่กับมันอยู่พักใหญ่

วิธีแก้ไข ไปที่ folder เก็บไฟล์ที่เข้าไม่ได้ (Access denied) คลิกขวา >Properties >Security มันจะฟ้องว่าเราไม่มีสิทธิเข้ามาแก้ไข ช่องติ๊กกำหนด Permission จะไม่สามารถ Add ,Remove ได้  ก็ให้เข้าไปที่ Advance >>Owner เมื่อดูแล้วจะเห็นว่า Administrator ไม่ได้เป็นเจ้าของ folder นี้ให้เราคลิกเลือก Administrator แล้วก่อนจะคลิก Apply ให้ติ๊กเลือก Replace owner on subcontainers and objects ด้วย คือให้เปลี่ยนทุกอย่างที่อยู่ข้างในด้วย ตอนแรกโง่นิดหน่อยดันไม่เลือกแล้วงงว่าทำไมมันเปลี่ยนอันเดียว แล้วก็โง่อีกเข้าไปแก้ไขทีละอันจนเหนื่อยเลยเขามาดูรายละเอียดอีกทีว่ามันน่าจะสะดวกว่านี้ เลยเจอ โง่ได้ใจจริง

ตอนนี้ folder ของเว็บที่แต่ก่อนไม่มีเจ้าของ ตอนนี้ Administrator ก็เป็นเจ้าของแล้ว จะปรับแต่งยังไงก็แล้วแต่เราแล้ว จะเพิ่ม user ใหม่เข้ามาก็ add เข้าได้ แล้วถ้าต้องการให้ Permission เหมือนกันทุกไฟล์ ให้เข้าไปที่ Advance >> Permission จะกำหนดใครก็เลือก แต่ก่อน Apply ก็เลือก  Replace permission entries on all.. ด้วยเป็นอันเรียบร้อย

บล็อกไม่เป็นลำดับสงสัยเวลาย้อนกับมาอ่านคงงงแน่เลย

งาน TEDx ครั้งแรกในไทย

TEDxBKK

TED คืออะไรดูได้ที่บล็อกที่เขียนไว้เมื่อนานมาแล้วชื่อ TED Talk : Conference ระดับโลก ส่วน TEDx นั้น  x มาจากคำว่า “independently organized TED event” งานจะจัดในระดับท้องถิ่นโดยได้รับการสนับสนุนจาก TED ในการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ให้ โดยหลักแล้วเน้นไปที่การกระจายแนวความคิดแบบ TED ให้กระจายออกไปทั่วโลก

List Even ของประเทศต่างๆ สามารถดูได้ตามลิงค์ ผมรอลุ้นอยู่ว่าเมื่อไหร่ในไทยจะมีรายละเอียดของงานบ้าง ก่อนหน้านี้มีงาน TEDindia ,TEDMed เราก็ติดตามงานอย่างต่อเนื่องทั้ง บล็อกและวิดีโอ มันน่าสนใจอย่างที่สุด และแล้วได้เห็น @ripmilla ทวีตถึงงาน TEDxBKK ทำเอาตื่นเต้นสุดขีด เลยไม่รอช้าเข้าไปดูรายละเอียดและสมัครไปทันที ได้ไม่ได้อีกเรื่อง(หวังลึกๆว่าจะได้ไป) รายละเอียดงาน TEDxBKK ครั้งแรกในประเทศไทย

  • งานจะจัดในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2553
  • สถานที่ Ruamrudee International School
  • ลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 มกราคม 2553 ลงทะเบียนร่วมงาน TEDxBKK
  • ถ้าได้รับการพิจารณาจะได้รับอีเมลตอบรับการเชิญทางอีเมลต้นเดือนกุมภาพันธ์
  • ค่าเข้างานฟรี แต่สามารถบริจาคได้หน้างาน ไม่เกิน 500 บาท
  • Speakers เข้าไปดูเลยมีทั้งคนไทย และฝรั่ง

งานน่าสนใจอย่างนี้อย่างพลาดเชียว ขอให้ได้ไปทีเฮอะ!!

อ้างอิง : https://www.tedxbkk.com

ใส่ hyperterminal ให้กับ Windows 7 หรือ Vista

hyperterminal ใน windows7 และ vista

Hyperterminal เป็นโปรแกรมที่ใช้ในการรับสัญญาณจากอุปกรณ์ต่างๆที่เราทำขึ้นเพื่อติดต่อกับคอมพิวเตอร์ของเรา ใครทำเครื่องที่มี Microcontroller จำเป็นอย่างยิ่ง ใน Windows XP มีอยู่แล้ว แต่ใน Vista กับ Windows 7 กับไม่มีมาให้ตัดออกไปซะงั้น ตอนแรกก็พยายามหาว่าจะทำไงดี หลายกระทู้ที่ลองค้นดูแนะนำให้ใช้ Putty แต่ลองแล้วใช้ได้ครับ แต่มันไม่สามารถเก็บค่าที่เครื่องส่งมาเอามาวิเคราะห์ต่อได้ (ใครรู้วิธีบอกด้วย) เลยกลับมาหา Hyperterminal วิธีการทำนี้ง่ายมาก เลยเขียนไว้เพราะเห็นหลายคนชอบถามว่าทำไง ต่อไปจะบอกว่าไปดูในบล็อกผมนะ เขียนไว้แล้ว

วิธีคือเข้าไปเอามาจาก Windows XP นั้นแหละ ใช้ได้ทั้ง Windows Vista และ Windows 7

  1. เข้าไป copy ไฟล์ที่ชื่อ hypertrm.exe อยู่ที่ C:\Program Files\Windows NT ในเครื่อง Windows XP ไปวางใน C:\Program Files\Windows NT ในเครื่อง Windows Vista หรือ Windows 7
  2. เข้าไป coppy ไฟล์ที่ชื่อ hypertrm.dll อยู่ที่ C:\Windows\System32 ในเครื่อง Windows XP ไปวางใน C:\Windows\System32 ในเครื่อง Windows Vista หรือ Windows 7
  3. ทำ Shotcut เรียกใช้งาน hypertrm.exe ให้คลิกง่ายๆตามตำแหน่งที่ต้องการ

สำหรับใครที่ไม่มี Windows XP ดาวน์โหลดไฟล์ทั้งสอง คลิกที่นี้  hyperterminal

(via: https://jimdoylemcse.WordPress.com)

อีกวิธีหนึ่งคือลงโปรแกรม Hyperterminal private edition ดูวิธีติดตั้งตามลิงค์

Exit mobile version