Zombie makers: ซอมบี้หอยทาก ยอมฆ่าตัวตาย

เรื่องราวของซอมบี้หอยทาก (snail zombie) เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวของซอมบี้ในธรรมชาติจากหนังสือเรื่อง Zombie Maker มีหลายเรื่องที่น่าสยดสยองอยู่ในนั้น เช่น แมลงที่ติดพยาธิบางชนิดแล้วถูกควบคุมให้ฆ่าตัวตายด้วยการจมน้ำ หนูที่ติดเชื้อบางชนิดถูกตัดสัญชาติญาณในการกลัวแมวออกไป แล้วเดินไปให้แมวกินเฉยๆเสียอย่างงั้น เป็นต้น แต่เรื่องที่ดูน่าสนใจและอยากหยิบมาเล่าให้ฟังคือ “ซอมบี้หอยทาก”

ตัวละครหลักมี 3 ตัวละคร
ผู้ร้าย: หนอนพยาธิ ชื่อวิทยาศาสตร์ Leucochloridium paradoxum
ผู้เคราะห์ร้าย: หอยทาก ชื่อวิทยาศาสตร์ Succinea putris
ผู้สมรู้ร่วมคิด: นก
สถานที่เกิดเหตุ: ยุโรป และเอเชียเหนือ

เรื่องราวเกิดขึ้น เมื่อทากเผลอกินไข่พยาธิเข้าไป ไข่จะฝักตัวและโตในร่างกายของหอยทาก เมื่อโตถึงระดับหนึ่ง หนอนพยาธิมันจะไต่เข้ามาอยู่บริเวณตาของตัวทาก (ดูรูป) มันไม่อยู่นิ่งขยับตัวเหมือนปั๊มน้ำ (ดูในวิดีโอสยองมากๆ) สิ่งที่มันทำนอกจากนั้นคือ มันควบคุมสมองของหอยทากให้มีพฤติกรรมที่แปลกประหลาดจากหอยทากตัวอื่นๆทั่วไป คือ ทำให้มันไต่ขึ้นที่สูงโล่ง เพื่อล่อให้นกเห็นได้ง่ายขึ้น ประหนึ่งว่าเรียกร้องให้นกมากิน (ฆ่าตัวตายชัดๆ) แล้วเมื่อนกกินหอยทากพร้อมหนอนเข้าไป สภาวะต่างๆในลำใส้ของนกเหมาะสำหรับวางไข่ของหนอนตัวนี้อย่างมาก หนอนวางไข่ จากนั้นนกจะขี้ที่ปนไข่ของหนอนพยาธิออกมา แล้วทากตัวอื่นที่ไต่ไปมาบริเวณนั้นกินขี้นกเข้าไป วงจรก็จะครบสมบูรณ์อีกครั้ง

เป็นธรรมชาติที่น่าขนลุกอย่างมาก มีเรื่องที่น่าสนใจอีกหลายเรื่องตามไปอ่านได้ที่หนังสือเรื่อง Zombie makers: true stories of nature’s undead / by Rebecca L. Johnson.

หนอนพยาธิที่อยู่ส่วนตาของหอยทาก
วิดีโอเล่าเรื่องซอมบี้หอยทากจาก National Geographic

รวมแหล่งหาหนังสือน่าอ่าน

แต่ก่อนจะเชื่อว่าหนังสือทุกเล่มมีคุณค่าของมัน ควรค่าที่จะถูกอ่าน ให้ความเคารพ ไม่ข้ามไม่ทับ วางไว้ที่สูง ตามแนวทางครอบครัว conservation ที่มีคนในครอบครัวมีอาชีพเป็นครูสอนหนังสือ แต่เมื่อผ่านไปโตขึ้นความคิดก็เปลี่ยนไป เมื่อเวลาไม่ได้มีเหลือล้นการที่จะโยนหนังสือสักเล่มทิ้งไป โดยไม่แม้แต่จะบริจาคหรือเอาให้ใครฟรีๆ เลือกที่จะทิ้งยังดีกว่า หรือไม่ฝืนตัวเองให้อ่านให้จบ ไม่ได้รู้สึกแย่เหมือนแต่ก่อนอีกแล้ว แม้แต่กองหนังสือที่วางทับกันรอให้หยิบมาอ่านจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็ไม่ได้ลำบากใจที่จะซื้อเล่มใหม่

คติใหม่จึงเป็น “ใช่อ่าน ไม่ใช่ก็วาง ดีแนะนำ ห่วยทิ้ง”

คำถามต่อมาคือ แล้วจะรู้ได้ไงว่าหนังสือเล่มไหนดีหรือไม่ดี หนังสือเล่มไหนควรโยนทิ้ง เล่มไหนควรอ่านซ้ำ ถ้าจะตอบแบบง่ายๆเลยก็ต้องอ่านดูก่อน แต่ถ้าไม่มีเวลาขนาดนั้น ก็ดูหนังสือที่คนอื่นแนะนำ หนังสือที่คนบอกต่อๆกันว่าดี ค่อนข้างไว้ใจได้ ประหยัดทั้งเวลาและเงินทอง

รวมแหล่งแนะนำหนังสือน่าอ่าน

ขอนำเสนอแหล่งหาหนังสือดี น่าอ่าน เอามาแชร์คนอื่น รวมทั้งเป็นการบันทึกส่วนตัวด้วย

  • Choiceawards ของ Goodreads ดีที่สุด หลากหลายครบทุกหมวด โหวตจากคนอ่าน อันไหนได้รางวัลก็ การันตรีได้ว่าดี เหมือนออสการ์ของหนังสือ คิดไม่ออกว่าจะอ่านเล่มไหน ในนี้มีคำตอบ ไม่ใช่ว่าดีแค่เล่มที่ได้รางวัล เล่มอื่นๆที่อยู่ในรายการถูกเสนอชื่อก็ไม่ได้ด้อยกว่ากันมากนัก
  • Goodbooks.io เลือกอ่านตามไอดอล คนดัง หลากหลายอาชีพ เว็บลักษณะนี้มีให้ดูหลายที่ แต่ Goodbook นำเสนอได้ดี ค้นหาคนที่สนใจได้ง่าย ถ้าคุณอยากรู้ว่าไอดอลที่คุณชื่นชอบ เป็นคนยังไง การได้อ่านหนังสือที่เขาอ่านจะทำให้เราเข้าใจความคิดเขาได้มากขึ้น มีแหล่งอ้างอิงประกอบ
    เว็บไซต์อื่นๆที่นำเสนอได้ใกล้เคียงกัน
    readthistwice.com
    bookauthority.org
    bookicious.com
    mostrecommendedbooks.com
  • Bill Gates ความจริงควรอยู่ในหัวข้ออ่านตามไอดอล แต่ขอแยกคนนี้ออกมาต่างหาก คนนี้คือหนอนหนังสือตัวจริงที่อ่านเยอะมาก ถ้าใครเคยดูสารคดี Inside Bill’s Brain: Decoding Bill Gates จะรู้ว่าเขาหิ้วหนังสือไปด้วยทุกที มีเวลาปลีกวิเวกไปอ่านหนังสือเป็นสัปดาห์ เขาจะแนะนำหนังสือพร้อมมีรีวิวให้แฟนคลับได้ตามไปอ่านปีละหลายครั้ง ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับเทคโนโลยี หลังๆเริ่มจะหลากหลายมากขึ้น ระดับบิล เกตท์ หนังสือแนะนำต้องดีแน่นอน
  • หนังสือแนววิทยาศาสตร์ที่ถูกรีวิวโดย Nature โดยเฉพาะจาก Andrew Robinson ที่จะมีบทความ Andrew Robinson reviews five of the week’s best science picks ที่ออกมาเกือบสัปดาห์ละ 5 เล่ม จินตนาการคนที่ต้องอ่านหนังสือวิทยาศาสตร์สัปดาห์ละอย่างน้อย 5 เล่ม ปีละประมาณ 360 เล่ม รับรองคุณภาพโดย Nature
  • New York Time: Book review เป็นอีกแหล่งที่ตามหาหนังสือน่าอ่าน แต่ถ้าอยากรู้ว่าช่วงนี้หนังสือเล่มไหนกำลังดัง Bestseller คือป้ายประกาศ ถ้าหนังสือแปลเล่มไหนได้ตรา New York Time Bestseller จะทำให้ดูดีขึ้นอีกหลายเปอร์เซนต์ และน่าจะขายได้มากขึ้นด้วย

ประมาณนี้ ถ้าใครมีแหล่งอื่นๆที่น่าสนใจ แนะนำกันด้วยนะครับ

รีวิวหนังสือ Hello World: Being Human in the Age of Algorithms

หนังสือ Hello World: Being Human in the Age of Algorithms
เขียนโดย Hannah Fry รองศาสตราจารย์ด้านคณิตศาสตร์ จาก University College London
—-


ในหนังสือเกี่ยวกับอัลกอริทึมที่อ่านไปก่อนหน้านี้ Algorithms to Live By อาจจะต้องเข้าใจ Mathematics ในระดับหนึ่ง แต่สำหรับเล่มนี้ไม่ต้องเลย

Hello World จะเล่าเรื่องอีกแบบที่ไม่ได้ยกโมเดลทางคณิตศาสตร์มาให้ปวดหัวเลย คนธรรมดาอย่างเราอ่านสบายเลยทีนี้

เปิดเรื่องด้วยการนิยามของคำว่า Algorithms ให้คนอ่านเข้าใจร่วมกัน จากนั้น จะเล่าถึงการใช้งานในแง่มุมต่างๆ และผลกระทบที่เกิดขึ้น

หัวข้อหลักๆ
-ข้อมูล
-การตัดสินของศาล
-ทางการแพทย์
-รถยนต์
-อาญากรรม
-ศิลปะ

การนำ Algorithms ไปใช้ในหัวข้อต่างๆเหล่านี้เกิดผลกระทบในแง่ต่างๆอย่างไรบ้าง ในหนังสือจะยกตัวอย่างที่น่าสนใจมาให้ศึกษาและวิจารณ์ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น

—-
ยกตัวอย่างบางอันมาให้อ่าน ในกรณีของการใช้ Algorithms ไปจัดการกับข้อมูลของลูกค้า เมื่อสมาชิกของร้านค้า ซื้อของแล้วใช้บัตรสมาชิกเพื่อสะสมแต้ม บริษัทก็จะได้ข้อมูลการซื้อสินค้าของลูกค้าไปเป็นการแลกเปลี่ยน ซื่งข้อมูลเหล่านี้มีประโยชน์อย่างมากกับผู้ประกอบการ ทำให้รู้ถึงพฤติกรรมของลูกค้าตัวเอง ลูกค้ามีที่อยู่ที่ไหนบ้างที่มาซื้อของจากสาขานี้ รวมถึงประมาณสินค้าในสต็อคได้อีกด้วย และยังใช้ข้อมูลในด้านอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งลูกค้าไม่รู้ตัวเลยว่าข้อมูลของตัวเองถูกใช้ไปทำอะไรบ้าง

กรณีนี้คือ เมื่อ Algorithms สามารถเดาได้ว่า ถ้าลูกค้าซื้อสินค้าเหล่านี้แล้ว ในครั้งต่อไปจะซื้ออะไร วันหนึ่งคุณพ่อท่านหนึ่งโทรไปโวยวายบริษัท เพราะได้รับคูปองลดราคาจากบริษัทดังกล่าวที่เป็นสินค้าเกี่ยวกับเด็กแรกเกิดเป็นจำนวนมาก ทั้งๆที่ไม่มีเด็กในบ้านเลย ยกเว้นลูกสาวที่เป็นวัยรุ่นแล้ว อีกวันเมื่อผู้จัดการทราบเรื่อง จึงโทรกลับไปขอโทษกับคุณพ่อท่านนี้ ปรากฏว่าชายที่เสียงแข็งเมื่อวานกลับขอโทษบริษัทแทน เพราะจากการซักไซร้กับลูกสาวของตนพบว่า เธอกำลังตั้งครรภ์อยู่!

เป็นไปได้อย่างไร? บริษัทขายของรู้ว่าลูกสาวมีท้องก่อนคุณพ่อของเธอเอง คำตอบ คือ Algorithms สามารถเดาได้จากพฤติกรรมการซื้อสินค้าของสมาชิก ผ่านข้อมูลจำนวนมากที่เก็บได้จากสมาชิก เช่น ถ้าเธอซื้อ แป้ง ผ้า อาหารเสริมหรือครีมบางชนิด Algorithms สามารถบ่งชี้ได้ว่าเธออาจจะตั้งท้อง และระบบก็จัดส่งสินค้าเกี่ยวกับเด็กแรกคลอดไปให้เธอ เพื่อกระตุ้นให้เธอกลับมาซื้อของที่ร้านอีก
—-
หรืออีกหนึ่งตัวอย่าง แม่บ้านโทรไปโวยวายกับโลตัส ว่าทำไมมีลิงค์ถุงยางอนามัยขึ้นมาบนหน้าโปรไฟล์ในหน้าเว็บซื้อของออนไลน์ของเธอ บริษัทตรวจสอบ ข้อมูลถูกต้อง แต่บริษัทยอมเอาลิงค์ลงให้ เธอไม่ได้ซื้อแต่สามีเธอซื้อแล้วไปใช้กับใคร? แต่ไม่ได้ใช้กับเธอแน่นอน
—–

แม้แต่กรณีของข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ Facebook ที่ถูกบริษัท Analytica เอาไปใช้ในการหาเสียงทางการเมือง ที่ทำให้ FB ถูกปรับไปเป็นจำนวนเงินมหาศาล เราจะได้เรียนรู้ว่า Algorithms ถูกนำมาใช้ได้อย่างไรในทางการเมือง

ในหนังสือมีเคสตัวอย่างแบบนี้ยกขึ้นมา ให้เราได้คิดตามถึงผลกระทบของยุคที่มี Algorithms ถูกนำมาใช้แทบจะทุกที่ ไม่ว่าเราต้องการหรือไม่แต่มันจะเกี่ยวข้องกับชีวิตเราเสมอไม่ทางตรงก็ทางอ้อม
—-
อ่านสนุกมาก ข้อยกให้เป็น หนังสือแนววิทยาศาสตร์ที่ชอบที่สุดของปีนี้
คะแนน 5/5

โค้ดสั่นๆลดงาน 3 วัน เหลือ 1 นาที

# Ruby version:2.4

layout = RBA::Layout::new()
top = layout.create_cell(“TOP”)
l1 = layout.layer(1, 0)
top.shapes(l1).insert(RBA::Box::new(0, 0, 1000, 2000))
.
layout.write(“2D-gradient.gds”)

ตัวโค้ดไม่กี่บรรทัดนี้ ทำให้งานที่พยายามทำมาตลอด 3 วันจบลงใน 1 นาที แต่ความจริงมันไม่ได้ง่ายอย่างนั้น เพราะเวลาที่ต้องศึกษาการใช้งานก็ใช้เวลาพอๆกับทำเองด้วยมือเหมือนกัน แต่สิ่งที่ได้มาถือว่าคุ้มค่าเพราะพลิกแพลงเป็นอะไรก็ได้ ในอนาคต

Macro development

โจทย์มีอยู่ว่าต้องสร้าง object ราว 1500-2000 อัน ซึ่งมีขนาด ระยะ แตกต่างกัน วางตำแหน่งในรูปแบบที่เป็น pattern ตามกำหนด

ในตอนแรกนั้น พยายามจะหาวิธีที่สามารถสร้างได้ใน KLayout แบบที่มีในเมนู วิธีที่ใกล้เคียงที่สุดที่ทำได้ คือ make array แต่ไม่สามารถสร้างให้ระยะระหว่าง object เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆได้ กำหนดได้แค่ค่าเดียว

จึงพยายามหาวิธีอื่นๆอยู่สักพัก เลยรู้ว่าสามารถใช้ Ruby ใน KLayout สร้าง object ได้ แต่มันไม่ง่ายสำหรับผู้ไม่เคยใช้นะสิ ต้องใช้เวลาศึกษาพอสมควร

ทางออกเพื่อให้ได้งานที่รวดเร็วที่สุดคือ เขียนเองทีละชิ้น ผลคือทำอยู่ 3 วัน เสร็จจริง แต่งานที่ได้มีความเสี่ยงที่จะผิดพลาดเยอะมาก เพราะต้องกำหนดตัวเลขต่างๆด้วยมือ แล้วยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าผิดตรงไหน อันนี้ไม่โอเค

คราวนี้ จำต้องกลับมาศึกษาวิธีเขียนโค้ดใหม่ ค่อยๆอ่าน ค่อยๆทำความเข้าใจไปทีละขั้น ใช้เวลาไปหลายวันพอๆกัน แต่ใช้ความพยายามต่างกันอันหนึ่งใช้หัวคิด อีกอันใช้แรงงาน

สรุปสุดท้ายว่า เราได้ชุดโค้ดที่สามารถสร้างงานที่เราใช้เวลาทำ 3 วันให้เสร็จภายใน 1 นาที แต่การจะลดงานให้เหลือ 1 นาที ก็ใช้เวลา 3 วันเพื่อศึกษาเหมือนกัน

อ้างอิง: https://www.klayout.de/index.html

Die STAR TREK Physik (ฟิสิกส์ในสตาร์เทรค)

วันนี้เดินผ่านร้านหนังสือพบหนังสือที่น่าสนใจมากครับ เรื่อง “Die STAR TREK Physik” (ฟิสิกส์ในสตาร์เทรค) ของ Prof.Dr. Metin Tolan อยากอ่านมาก น่าจะสนุกๆแน่ๆเลย ทำให้จินตนาการถึง The Science of Interstellar ที่เอาเนื้อหาในหนังมาอธิบายในเชิงวิทยาศาสตร์ เสียดายมีแต่ภาษาเยอรมัน ซึ่งตอนนี้อ่อนมากๆ น่าจะมีเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษบ้าง

Die STAR TREK Physik (ฟิสิกส์ในสตาร์เทรค)

เพื่อนบอกว่านักเขียนท่านนี้เป็นอาจารย์ที่นี้นะ(Technischen Universität Dortmund) ผมนี่ตาลุกวาวเลย แล้วก็เหลือบไปเห็นป้ายโฆษณา มีพบปะนักเขียนด้วย เพื่อนบอกว่าเคยเรียนกับอาจารย์ด้วยสอนสนุกดี เขาเอาบางเคสที่เขียนในหนังสือมาสอนด้วยนะ นอกจากนี้ อาจารย์ยังมีหนังสือ อื่นๆ อีกด้วย

-Die Physik des Fußballspiels อธิบายหลักฟิสิกส์เกี่ยวกับการเล่นฟุตบอล
-Titanic: Mit Physik in den Untergang อธิบายหลักการฟิสิกส์เกี่ยวกับการจมของเรือไททานิค
-James Bond und die Physik อธิบายหลักการฟิสิกส์ในหนังเจมส์ บอนด์

นักเรียนที่นี้น่าจะสนุกกับเรียนหนังสือเนอะ (โคตรอิจฉาเลย)

ลิงค์รายชื่อหนังสือใน Amazon https://goo.gl/DCbpEk

รายชื่อหนังสือที่อยากอ่าน หมวดวิทยาศาสตร์ และ หมวดชีวประวัติ

รวมหนังสือวิทยาศาสตร์ที่อยากอ่าน

ขอทำลิสต์รายชื่อหนังสือไว้ดีกว่าครับ เป็นของสำนักพิมพ์มติชน ที่มีการแปลหนังสือวิทยาศาสตร์ออกมาอย่างต่อเนื่องและน่าสนใจทุกเรื่องเลย ไม่รู้ว่าสำนักพิมพ์อื่นๆมีแบบนี้บ้างหรือเปล่านะ ใครรู้ก็แนะนำบ้างนะครับ หนังสือเหล่านี้ในประเทศไทยหาอ่านยากครับ ไม่งั้นก็ต้องหาต้นฉบับบมาอ่านซึ่งเล่มหนึ่งก็แพงมาก หาซื้อยากอีกต่างหาก พอมีฉบับบแปลและราคาถูกกว่ามากอย่างนี้ไม่สนใจก็ไม่รู้จะว่ายังไงแล้ว!

ผมอยากรู้เหมือนกันว่าทำไมหนังสือเรียนของเราทำไมมันอ่านไม่สนุกเหมือนหนังสือเหล่านี้บ้างนะ ถ้าสนุกแบบนี้ตอนสอบคงได้เกรดดีกว่าที่เป็นอยู่เป็นแน่แท้

เล่มไหนที่มีและอ่านไปแล้วก็จะมาขีดทิ้งไปเรื่อยจนกว่าจะหมด ตั้งเป้าว่าจะต้องอ่านให้ครบนะ ความจริงก็ไม่ได้ฝืนบังคับใจให้อ่านสักเท่าไหร่ มันน่าสนใจจริงๆเลยอยากอ่านมากกว่า

รายการหนังสือที่อยากอ่าน (มีวิทยาศาสตร์ ชีวประวัติ และนิยายแทรกมาด้วยเล่มหนึ่ง)

  • คู่มือท่องโลกวิทยาศาสตร์ฉบับสมบูรณ์ (Science: The Difinitive Guide) 360.00 บาท
  • วิทยาศาสตร์มหัศจรรย์แห่งการค้นพบ 414.00 บาท
  • มโนทัศน์แห่งอนาคต 297.00 บาท
  • มายากลศาสตร์ 180.00 บาท
  • ประวัติย่อของกาลเวลา (A Brief History of Time) ฉบับปรับปรุง 189.00 บาท
  • คิว-อี-ดี ทฤษฎีมหัศจรรย์ของแสงและสสาร (QED: The Strange Theory of Light and Matter 153.00 บาท
  • มหัศจรรย์แห่งร่างกาย (THE ODD BODY 1) 198.00 บาท
  • ลวดลายสีสัน มหัศจรรย์วิวัฒนาการชีวิต (Endless Forms Most Beautiful) 252.00 บาท
  • มหัศจรรย์แห่งร่างกาย (THE ODD BODY 2) 216.00 บาท
  • ประวัติย่อของหลุมดำ (Black Holes and Time Warps) 360.00 บาท
  • เรื่องของเวลา (A MATTER OF TIME) 198.00 บาท
  • นวัตกรรมนาโนจากทฤษฏีสู่ชีวิตจริง (THE RISE OF NANOTECH) 216.00 บาท
  • ทอถักจักรวาล (The Fabric of The Cosmos) 360.00 บาท
  • จักรวาลคู่ขนาน (Parallel Worlds) 297.00 บาท
  • กำเนิดเอกภพ (ORIGINS) 261.00 บาท
  • ไอแซค นิวตัน มหาบุรุษโลกวิทยาศาสตร์ (Isaac Newton) 216.00 บาท
  • ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) 113.00 บาท
  • เบนจามิน แฟรงคลิน บุรุษหลายมิติ (Stealing God’s Thunder) 234 บาท
  • คลิน บุรุษหลายมิติ (Stealing God’s Thunder) 234.00 บาท
  • วิด็อค สายลับบันลือโลก 234.00 บาท
  • เลโอนาร์โด ดา วินชี วิถีอัจฉริยะ (Leonardo da Vinci : The Flights of the Mind) 360.00 บาท
  • ฟายน์แมน อัจฉริยะอารมณ์ดี (“WHAT DO YOU CARE WHAT OTHER PEOPLE THINK?”) 198.00 บาท
  • ฟายน์แมน อัจฉริยะโลกฟิสิกส์ (“SURELY YOU RE JOKING MR.FEYNMAN!”) 261.00 บาท
  • โคเปอร์นิคัส ผู้ปฏิวัติดาราศาสตร์ (The Book Nobody Read) 225.00 บาท
  • ไวโอลินของไอน์สไตน์ (Einstein s violin) 261.00 บาท
  • 30 นักประดิษฐ์ กับชีวิตนอกกรอบ 171.00 บาท
  • แฟรงก์ อบาเนล ยอดนักตุ๋น (Catch Me If You Can) 198.00 บาท
  • ผู้ชายที่หลงรักตัวเลข (The Man Who Loved Only Numbers) 189.00 บาท
  • รามานุจัน อัจฉริยะไม่รู้จบ 315.00 บาท
  • เจงกิสข่าน มหาบุรุษผู้เปลี่ยนโลก (Genghis Khan and the Making of the Modern World) 252.00 บาท
  • The Big Questions: Mathematics 20 คำถามสำคัญของคณิตศาสตร์ 207.00 บาท
  • บนเส้นทางหนังสือพิมพ์ 198.00 บาท
  • เมฆาสัญจร (CLOUD ATLAS) 342.00 บาท
  • ก้าวพ้นกรอบไอน์สไตน์(ฉบับพิเศษ) 176.00 บาท
  • เหตุผลของธรรมชาติ 195.00 บาท
  • เรื่องเล่าจากร่างกาย 275.00 บาท

last updated Apr 23, 2013

หนังสือ เจาะ CERN-เซิร์น อ่านแล้ว

หนังสือ เจาะ CERN-เซิร์น

หนังสือ เจาะ CERN – เซิร์น 
ผู้เขียน ดร. บุรินทร์ อัศวพิภพ, นรพัทธ์ ศรีมโนภาษ
192 หน้า, พิมพ์ครั้งที่ 2, ราคา 199 บาท
สำนักพิมพ์ สารคดี 

เมื่อวานตอนกลับจากที่ทำงานเดินผ่านแผงขายหนังสือเก่าวางกองบนพื้นที่อนุเสาวรีย์ชัยฯ ตาแอบแว้บไปเห็นหนังสือ เจาะ CERN-เซิร์น เป็นหนังสือที่ออกมานานแล้วตั้งแต่ปี 2552 ช่วงที่ LHC กำลังเป็นที่สนใจของคนทั่วโลกรวมทั้งคนไทยด้วย เคยเห็นตามร้านหนังสือเหมือนกัน แต่ไม่ยักกะอยากซื้อราคาที่ปก 199 บาท แต่เราซื้อมาราคา 40 บาท (หนังสือเก่า) ตอนที่หนังสือออกมาใหม่ๆทำไมไม่สนใจซื้อ? จะบอกว่าตอนนั้นก็เปิดดูบ้าง และติดตามข่าวการเดินเครื่อง LHC มาตลอด เป็นอะไรที่น่าตื่นเต้น ส่วนตัวชอบเรื่องฟิสิกส์ จักรวาล อวกาศ อยู่มิน้อย แต่ตอนนั้นดูตามเว็บไซต์ต่างๆก็รู้ว่าเพียงพอแล้ว มันคือความคิดใน ณ ตอนนั้น

แต่เหตุที่สนใจซื้อหนังสือเล่มนี้(นอกจากมันถูกแล้ว)เพราะว่า เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ สวทช. มีบรรยายพิเศษโดย ศ.ดร. อัลเบิร์ต ดี รอคก์ นักวิทยาศาสตร์อาวุโส จากสถาบัน CERN และ ดร.บุรินทร์ อัศวพิภพ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ แล้วเราเองก็ได้มีโอกาสเข้าร่วมฟังการบรรยายในครั้งนั้นด้วย มีหลายอย่างที่ทำให้เรางง และสงสัยจึงเป็นตัวกระตุ้นให้อยากอ่านหนังสือเล่มนี้มากขึ้น

หนังสือพิมพ์ครั้งแรก เมื่อมีนาคม 2552 ผ่านมาแล้ว 3 ปี เนื้อหา 192 หน้า เนื้อหาก็ไม่ถือว่าเก่ามาก LHC เดินเครื่องไม่กี่ครั้งนับจากหนังสือเล่มนี้ออก

เนื้อหาเป็นแบบ Popular Science อ่านไม่ยาก เป็นการเขียนแบบตั้งคำถามแล้วตอบเป็นข้อๆ สั้นๆ เป็นหนังสือเชิงตอบคำถามสังคมว่า สร้าง LHC ทำไม? เราจะได้อะไรจากมัน? อธิบายเรื่องฟิสิกส์ยากๆโดยเปรียบเทียบกับเรื่องใกล้ตัว อ่านเพลินแป็บเดียวจบ หลังอ่านจบมีความรู้เกี่ยวกับอนุภาคพื้นฐานเพิ่มขึ้น เข้าใจสิ่งที่นักฟิสิกส์กำลังสนใจและพยายามหาตอบให้คำถามนั้น เสียดายนิดหนึ่งถ้าได้อ่านก่อนคงฟังบรรยายสนุกขึ้น อ่านหนังสือจบถึงรู้ว่า ดร.บุรินทร์ บรรยายเหมือนเนื้อหาในหนังสือเลย(ก็คนเขียนนิน่า) รวมทั้งภาพประกอบบนสไลด์ก็เหมือนที่อยู่ในหนังสือเลย

สิ่งที่อ่านแล้วน่าทึ่งในหนังสือ เจาะ CERN

  • เป็นความร่วมมือที่ยิ่งใหญ่มาก หลายประเทศร่วมมือกันอย่างแข็งขัน ผมประทับใจกับผู้โน้มน้าวให้นักวิทยาศาสตร์คนอื่นยอมลงทุนด้วยมากๆ
  • 30% ของรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ เป็นกลุ่มนักฟิสิกส์อนุภาค
  • นอกจาก LHC ขนาดเส้นรอบวง 27 กิโลเมตร CERN มีท่อส่งอนุภาคนิวติโนข้ามไปอิตาลียาว 732 กิโลเมตร ลึกลงไปใต้ดิน 11.4 กิโลเมตร
  • WWW เกิดขึ้นที่ CERN จากแนวคิดแชร์ข้อมูลจากเครื่องเร่งอนุภาคให้นักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆให้ช่วยกันวิเคราะห์
  • เครื่องสแกนสมอง PET เป็นหนึ่งในวิทยาการที่ประยุกต์มาจากเครื่องเร่งอนุภาค
  • ครั้งแรกที่ปล่อยลำอนุภาคโปรตอนเข้า LHC นักวิทยาศาสตร์ยืนลุ้นกันเป็นร้อยๆคน

    นั่งดูครั้งแรก พวกคุณดีใจอะไรกันนักหนา? ตบมือกันเกรียวกาว ต้องวนดูหลายรอบ สิ่งที่เขาลุ้นคือลำแสงที่ปล่อยเข้าไปใน LHC แบบสวนทางกัน ถ้าทำสำเร็จมันจะเกิดเป็นแสงสว่างขึ้นในจอทั้งสองด้านซ้ายในคลิปครับ ต้องตั้งใจดูนิดหนึ่ง เป็นการยิงลำแสงเข้าไปครั้งแรกหลังจากใช้เวลาสร้างนานกว่า 20 ปี ไม่ให้ดีใจหรือตื่นเต้นได้อย่างไร!
  • มีเครื่องตรวจวัดอนุภาคทั้งหมด 6 สถานี ที่ทำงานได้อย่างแม่นยำมากๆ แต่ละสถานีมีเป้าหมายและหน้าที่แตกต่างกัน ต้องนับถือคนรุ่นก่อนที่ปูทางวิธีวัดอนุภาคไว้ให้
  • อนุภาคที่ใช้คืออนุภาคโปรตอนจากไฮโดรเจน ถูกเร่งจากวงเล็กๆแล้วขยายเป็นวงที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆตามลำดับ ซึ่งพลังงานก็เพิ่มขึ้นตามลำดับเช่นกัน หน่วยเป็นอิเล็กตรอนโวลต์(eV) เริ่มจาก LINAC2(50 MeV)>>Booter(1.4 GeV)>>PS(25 GeV)>>SPS(450 GeV)>>LHC(7 TeV) ที่พลังงาน 7 TeV โปรตอนวิ่งด้วยความเร็ว 99.9999991% ของความเร็วแสงในสูญญากาศ!
  • ในประเทศไทยมีเครื่องเร่งอนุภาคที่ใช้ในงานวิจัยขนาดเล็กอยู่ 2 แห่ง คือ ที่ศูนย์ปฎิบัติการวิจัยเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนแห่งชาติ จ.นครราชสีมา และอีกเครื่องอยู่ที่ ม.เชียงใหม่
  • แต่ละลำโปรตอนที่ถูกเร่งไม่ได้มีตัวเดียวนะ ไปเป็นขบวนประมาณ 3,000 ขบวน ยิงออกไปเรื่อยๆ ห่างกันประมาณ 7 เมตร ขบวนหนึ่งมีประมาณ 1 แสนล้านตัว เมื่อสองขบวนมาชนกันจะเกิดการชนกันจริงๆแค่ประมาณ 20 คู่เท่านั้นเอง! จากทั้งหมด 1 แสนล้านคู่ รวบรัดเลยแล้วกัน สุดท้ายแล้วในหนึ่งวินาทีจะชนกันประมาณ 600 ล้านครั้ง

น่าประหลาดใจอย่างยิ่งที่เราชาวชีววิทยากำลังตื่นเต้นกับนาโนเทคโนโลยี(10^-9) แต่ชาวฟิสิกส์กำลังวิจัยในระดับอัตโต(10^-18) ซึ่งเล็กต่างกันราว 1 พันล้านเท่า คงเป็นเพราะเรามองมันเป็นโมเลกุลที่ควบคุมและสั่งงานได้ ไม่ใช่การหาว่ามีอยู่หรือไม่ ก็คงตอบกันเองว่าเราต่างกันที่จุดประสงค์ครับ การหาคำตอบหนึ่งเรื่อง ได้ความรู้จากการเก็บตามรายทางมากมายนัก หาสิ่งหนึ่งได้อีกหลายสิ่งตามมา วิทยาศาสตร์น่าทึ่งจริงๆ สนุกด้วย

Convert Units แอฟฟรีแปลงหน่วยวัด

Convert Unit App

เจอปัญหาต้องแปลงหน่วยของปริมาตรสารเคมีอยู่บ่อยครั้ง อย่างเช่น ลิตร(L) ลูกบาตรเซ็นติเมตร(cu cm) เป็น ลูกบาตรเมตร(cu m) หรือ ลูกบาตรนิ้ว(cu in) นั่งคิดนานมาก คงโง่โดยแหละ! กลัวคำนวณผิดด้วย เลยลองหาเครื่องมือช่วย ค้นไปเจอแอฟฟรีตัวหนึ่ง ชื่อ Convert Units for Free พบว่านอกจากจะมีตัวแปลงหน่วยปริมาตรที่เราต้องการแล้ว ยังมีหน่วยวัดอื่นๆด้วย เช่น มุม พื้นที่ พลังงาน อุณหภูมิ เวลา น้ำหนัก ความยาว เป็นต้น ถือว่าเป็นแอฟฟรีตัวเล็กๆที่มีประโยชน์มาก ตอบโจทย์ตามที่ต้องการเลยล่ะ เลยเอามาบันทึกและแชร์ให้คนที่สนใจโหลดติดเครื่องไว้ไม่เสียหลายขนาด 5.7 MB รองรับทั้ง iPhone, iPod, iPad iOS 4.0 ขึ้นไป

ดาวน์โหลด Convert Unit for Free (iOS)

Science Illustrated นิตยสารวิทยาศาสตร์ เล่ม 1

นิตยสาร Science Illustrated

เมื่อวานเดินไปแผงหนังสือ ไปเจอนิตยสารเล่มหนึ่งเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ชื่อ Science Illustrated ออกเป็นเล่มแรกด้วย เลยลองซื้อมาในราคา 110 บาท มีหน้าเนื้อหาอยู่ราว 80 หน้า บรรณาธิการกล่าวถึงว่าเป็นนิตยสารที่จะมีเนื้อหาหลักเกี่ยวกับ 4 ด้าน(เสาหลัก) คือ เทคโนโลยี การแพทย์ ธรรมชาติ และวัฒนธรรม บรรณาธิการเขียนถึงเนื้อหาของเล่มนี้เป็นส่วนใหญ่ แต่ไม่ได้แนะนำนิตยสารเล่มใหม่ให้คนอ่านได้รู้จักเลย(นี้มันเล่มแรกนะ!)

ส่วนตัวผมคิดว่าเล่มแรกควรจะแนะนำก่อนว่ามันมีที่มายังไง จะออกรายเดือนหรือรายสัปดาห์ แทนที่จะไปบอกว่าเล่มนี้มีเนื้อหาอะไร(บอกนิดเดียวพอ) ยกตัวอย่างจาก นิตยสารเล่มแรกของ Computer Art ที่เคยซื้อเล่มแรกเหมือนกัน แนะนำได้ดีกว่ามาก บอกเลยว่านำเข้ามาแล้วปรับปรุงส่วนไหนบ้างเพื่อให้เข้ากับคนไทยมากขึ้น แบบนั้นดูน่าดึงดูดมากกว่า ทำให้สนใจอยากติดตามอ่านในเล่มถัดไป

ลองค้นดูพบว่า Science Illustrated เป็นนิตยสารแนว popular science พิมพ์ขายครั้งแรกตั้งแต่ คศ.1984 ปัจจุบันมีการขายอยู่หลายสิบประเทศทั่วโลก จุดเด่นของมันคือการมีภาพประกอบเนื้อหา 4 ด้านหลัก ที่สวยงาม ถูกออกแบบมาอย่างดี ทั้งภาพถ่ายและภาพกราฟิก หลังจากเปิดดูแบบผ่านๆถือว่าสวย และทำให้เนื้อหาทางด้านวิทยาศาสตร์ดูน่าสนใจมากขึ้นอีกโข ถ้าอยากเห็นภาพให้ลองนึกถึงเปเปอร์ของเนเจอร์ที่ภาพประกอบถูกออกแบบมาอย่างดี แล้วมันก็ทำให้เราเข้าใจเนื้อหายากๆได้ง่ายมากขึ้น

น่าจะเป็นการดีที่เราจะมีนิตยสารด้านวิทยาศาสตร์ การแพทย์ ให้ได้เลือกอ่านเพิ่มขึ้นอีกเล่ม

ส่วนเนื้อหาภายในโดยละอียดยังไม่ได้อ่านครับ (2-3 วันนี้คงไม่ได้อ่านแน่นอน)

ปล. เล่มแรกมีแถมหนังสือภาพประกอบเล่มเล็กๆมาให้ด้วยอีกหนึ่งเล่ม

BME CONCEPT แลกเปลี่ยนแนวคิดวิศวกรรมชีวเวช

BME CONCEPT 2010

BME CONCEPT 2010
วันที่ 30 พฤษศจิกายน 2010 ห้อง 203 ตึก 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์
ตั้งแต่เวลา 08.00 น. – 16.00 น.

เป็นงานที่คิดอยากจะจัดมานานแล้ว ประกอบกับทางหลักสูตรวิศวกรรมชีวเวช จุฬาฯ มีทุนสนับสนุนให้ ผมจึงคิดจะจัดงานสัมมนากึ่งวิชาการ แนวคิดคือ Biomedical engineering ประกอบปด้วยสาขาย่อยภายในหลายสาขา ส่วนใหญ่แยกจากกันชัดเจน เช่น Rehabilitation engineering กับ Tissue engineering แทบจะแยกเป็นคนละคณะได้เลย แต่ถ้ามองลึกๆแล้วเราจะพบว่า ทุกสาขามันเชื่อมโยงกันได้ แนวคิดของสาขาหนึ่งสามารถประยุกต์ใช้กับอีกสาขาได้ ถ้าเรามีเวลาพบปะพูดคุยกันมากพอ

รายละเอียดทั้งหมดดูที่ Biomed.in.th

ตอนนี้กำลังเตรียมงาน ไม่ว่าจะเป็นของที่ระลึก และโลโก้ ที่ได้เห็นนี้แหละ ที่ทำเสร็จแล้ว งานมีงบสนับสนุนจากหลักสูตรฯ จึงน่าจะมีอะไรพร้อมกว่าครั้งที่เคยลองจัดดูเมื่อนานมาแล้วดูที่นี้ มีอาหารเลี้ยง มีของว่าง มีของที่ระลึก อุปกรณ์ต่างๆที่พร้อมมากขึ้น คนพูดก็มากขึ้นด้วย (เพราะกึ่งบังคับ) งานนี้มีการจำกัดคนเข้าดังนั้นใครสนใจติดต่อมาที่ผมโดยตรง sarapukdee@gmail.com

Exit mobile version