รีวิวหนังสือ เพื่อนเก่าที่หายสาบสูญ: สุขภาพดีด้วยการดูแลระบบนิเวศในร่างกาย

หนังสือ เพื่อนเก่าที่หายสาบสูญ: สุขภาพดีด้วยการดูแลระบบนิเวศในร่างกาย
ผู้เขียน นพ. ชัชพล เกียรติขจรธาดา

คุณหมอแอ่ว ชัชพล เกียรติขจรธาดา เขียนหนังสือสนุกขึ้นครั้งที่ออกเล่มใหม่และมีการพัฒนารูปแบบการเขียนหนังสืออย่างชัดเจน หนังสือเล่มนี้ในแต่ละเรื่องจะถูกซอยเป็นบทสั้นๆ ใช้เวลาอ่านไม่กี่นาทีจบ เนื้อหาสามารถจบได้ในบทนั้น แต่จะดึงดูดให้เราอยากอ่านต่อเนื่องไปที่บทต่อไปเรื่อยๆ เพื่อให้เนื้อหาที่กล่าวถึงสมบูรณ์ ด้วยการโยนคำโปรยไว้ช่วงท้ายๆของบท เช่น ในบทต่อไปจะ…
การเขียนแบบนี้ ค่อนข้างสอดคล้องกับการใช้ชีวิตปัจจุบัน เราสามารถหยิบขึ้นมาอ่านได้เรื่อยๆ เช่น ในช่วงเข้าห้องน้ำ รอรถเมล์/ไฟฟ้า นั่งรถไฟฟ้าไม่กี่สถานีก็จบบทได้แล้ว และอาจจะเป็นหนังสือที่อ่านไปพักเล่นโซเชียลไปด้วยได้ (เอาเนื้อหาบางส่วนไปแชร์)

หนังสือ เพื่อนเก่าที่หายสาบสูญ: สุขภาพดีด้วยการดูแลระบบนิเวศในร่างกาย
ผู้เขียน นพ. ชัชพล เกียรติขจรธาดา

ส่วนเนื้อหาของหนังสือ เพื่อนเก่าที่หายสาบสูญ ทำให้มีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับแบคทีเรียในร่างกายของมนุษย์ และความสำคัญของระบบนิเวศในร่างกายที่ประกอบไปด้วยแบคทีเรียที่หลากหลายสายพันธ์ ซึ่งอาศัยอยู่ในร่างกายของเรามาอย่างยาวนาน และถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น แต่การใช้ชีวิตของเราในปัจจุบันทำให้ระบบนิเวศนั้นเสียสมดุลไป ส่งผลกระทบต่อร่างกายทั้งทางตรงและทางอ้อมชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

บันทึกเกร็ดสั้นๆ บางส่วน

  • การให้เด็กในช่วงอายุ 1-3 ขวบ ได้ใช้ชีวิตคลุกคลีกับธรรมชาติ ดิน น้ำ ต้นไม้ หญ้า และคนในครอบครัวอย่างใกล้ชิด มีประโยชน์อย่างมากในการสร้างภูมิคุ้มกัน และสุขภาพของเขาในระยะยาว รวมทั้งพัฒนาการทางด้านสมองด้วย
  • โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ ในกลุ่มประชากรแถวแอฟริกามีน้อยมากๆ หรือแทบไม่มี ครั้งหนึ่ง ช่วบ้านทั่วไปก็แทบจะไม่พบ และเคยถูกเรียกว่าโรคของคนขาว หรือโรคของชนชั้นสูง
  • พยาธิในลำใส้ที่พบได้ในกลุ่มชนเผ่าบางกลุ่ม ไม่ได้มีโทษร้ายแรงอย่างที่เข้าใจ พยาธิบางตัวส่งผลดีกับร่างกาย สามารถช่วยป้องกันโรคบางอย่างได้ หรือการใช้พยาธิในการรักษาโรคบางโรคก็ได้ผลที่น่าสนใจเช่นกัน
  • การได้รับยาปฎิชีวนะอย่างต่อเนื่องยาวนาน ทั้งตามโดสรักษา และแบบน้อยๆก็ส่งผลกระทบกับสมดุลเชื้อแบคทีเรียในร่างกาย เช่นโรคทางเดินอาหาร รวมถึงโรคอ้วนด้วย
  • ชนเผ่าที่อาศัยในป่าไม่เคยติดต่อกับโรคภายนอก ไม่เคยได้รับยาปฎิชีวนะใด มีแบคทีเรียในลำใส้ที่หลากหลายกว่าคนในมืองอย่างมาก และบางชนิดเป็นชนิดมีความเฉพาะที่ไม่พบที่ใดอีกเลย
  • แสดงให้เห็นว่าแบคทีเรียในร่างกายเราในปัจจุบัน มีความหลากหลายลดลง และอาจมีบางส่วนที่สูญพันธืไปแล้ว อาจจะเป็นหนึ่งเหตุผลที่อุบัติการณ์ของโรคบางชนิดสูงขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงชีวิตไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมา
  • แนวโน้มในการนำเชื้อแบคเรียจากลำใส้ของอีกคนมาให้อีกคนเพื่อรักษาโรคบางชนิดที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีการปัจจุบันมีความสำเร็จอย่างสูง และอยู่ในความสนใจแพทย์ทั่วโลก

โดยสรุป หนังสืออ่านสนุก และแนะนำให้อ่านครับ

รวมแหล่งหาหนังสือน่าอ่าน

แต่ก่อนจะเชื่อว่าหนังสือทุกเล่มมีคุณค่าของมัน ควรค่าที่จะถูกอ่าน ให้ความเคารพ ไม่ข้ามไม่ทับ วางไว้ที่สูง ตามแนวทางครอบครัว conservation ที่มีคนในครอบครัวมีอาชีพเป็นครูสอนหนังสือ แต่เมื่อผ่านไปโตขึ้นความคิดก็เปลี่ยนไป เมื่อเวลาไม่ได้มีเหลือล้นการที่จะโยนหนังสือสักเล่มทิ้งไป โดยไม่แม้แต่จะบริจาคหรือเอาให้ใครฟรีๆ เลือกที่จะทิ้งยังดีกว่า หรือไม่ฝืนตัวเองให้อ่านให้จบ ไม่ได้รู้สึกแย่เหมือนแต่ก่อนอีกแล้ว แม้แต่กองหนังสือที่วางทับกันรอให้หยิบมาอ่านจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็ไม่ได้ลำบากใจที่จะซื้อเล่มใหม่

คติใหม่จึงเป็น “ใช่อ่าน ไม่ใช่ก็วาง ดีแนะนำ ห่วยทิ้ง”

คำถามต่อมาคือ แล้วจะรู้ได้ไงว่าหนังสือเล่มไหนดีหรือไม่ดี หนังสือเล่มไหนควรโยนทิ้ง เล่มไหนควรอ่านซ้ำ ถ้าจะตอบแบบง่ายๆเลยก็ต้องอ่านดูก่อน แต่ถ้าไม่มีเวลาขนาดนั้น ก็ดูหนังสือที่คนอื่นแนะนำ หนังสือที่คนบอกต่อๆกันว่าดี ค่อนข้างไว้ใจได้ ประหยัดทั้งเวลาและเงินทอง

รวมแหล่งแนะนำหนังสือน่าอ่าน

ขอนำเสนอแหล่งหาหนังสือดี น่าอ่าน เอามาแชร์คนอื่น รวมทั้งเป็นการบันทึกส่วนตัวด้วย

  • Choiceawards ของ Goodreads ดีที่สุด หลากหลายครบทุกหมวด โหวตจากคนอ่าน อันไหนได้รางวัลก็ การันตรีได้ว่าดี เหมือนออสการ์ของหนังสือ คิดไม่ออกว่าจะอ่านเล่มไหน ในนี้มีคำตอบ ไม่ใช่ว่าดีแค่เล่มที่ได้รางวัล เล่มอื่นๆที่อยู่ในรายการถูกเสนอชื่อก็ไม่ได้ด้อยกว่ากันมากนัก
  • Goodbooks.io เลือกอ่านตามไอดอล คนดัง หลากหลายอาชีพ เว็บลักษณะนี้มีให้ดูหลายที่ แต่ Goodbook นำเสนอได้ดี ค้นหาคนที่สนใจได้ง่าย ถ้าคุณอยากรู้ว่าไอดอลที่คุณชื่นชอบ เป็นคนยังไง การได้อ่านหนังสือที่เขาอ่านจะทำให้เราเข้าใจความคิดเขาได้มากขึ้น มีแหล่งอ้างอิงประกอบ
    เว็บไซต์อื่นๆที่นำเสนอได้ใกล้เคียงกัน
    readthistwice.com
    bookauthority.org
    bookicious.com
    mostrecommendedbooks.com
  • Bill Gates ความจริงควรอยู่ในหัวข้ออ่านตามไอดอล แต่ขอแยกคนนี้ออกมาต่างหาก คนนี้คือหนอนหนังสือตัวจริงที่อ่านเยอะมาก ถ้าใครเคยดูสารคดี Inside Bill’s Brain: Decoding Bill Gates จะรู้ว่าเขาหิ้วหนังสือไปด้วยทุกที มีเวลาปลีกวิเวกไปอ่านหนังสือเป็นสัปดาห์ เขาจะแนะนำหนังสือพร้อมมีรีวิวให้แฟนคลับได้ตามไปอ่านปีละหลายครั้ง ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับเทคโนโลยี หลังๆเริ่มจะหลากหลายมากขึ้น ระดับบิล เกตท์ หนังสือแนะนำต้องดีแน่นอน
  • หนังสือแนววิทยาศาสตร์ที่ถูกรีวิวโดย Nature โดยเฉพาะจาก Andrew Robinson ที่จะมีบทความ Andrew Robinson reviews five of the week’s best science picks ที่ออกมาเกือบสัปดาห์ละ 5 เล่ม จินตนาการคนที่ต้องอ่านหนังสือวิทยาศาสตร์สัปดาห์ละอย่างน้อย 5 เล่ม ปีละประมาณ 360 เล่ม รับรองคุณภาพโดย Nature
  • New York Time: Book review เป็นอีกแหล่งที่ตามหาหนังสือน่าอ่าน แต่ถ้าอยากรู้ว่าช่วงนี้หนังสือเล่มไหนกำลังดัง Bestseller คือป้ายประกาศ ถ้าหนังสือแปลเล่มไหนได้ตรา New York Time Bestseller จะทำให้ดูดีขึ้นอีกหลายเปอร์เซนต์ และน่าจะขายได้มากขึ้นด้วย

ประมาณนี้ ถ้าใครมีแหล่งอื่นๆที่น่าสนใจ แนะนำกันด้วยนะครับ

รีวิวหนังสือ Bad Blood บันทึกการฉ้อโกงครั้งใหญ่ที่สุดของ Silicon Valley

รีวิวหนังสือ Bad Blood : Secrets and Lies in a Silicon Valley Startup
เขียนโดย John Carreyrou ผู้สือข่าว The Wall Street Journal

หนังสือ Bad Blood เป็นบันทึกการสืบสวนเคสของบริษัท Theranos สตาร์ทอัพตรวจเลือดจากปลายนิ้ว มูลค่าทางการตลาดกว่า 9 พันล้านดอลลาร์ แต่กลายเป็นเรื่องการฉ้อโกงที่ใหญ่ที่สุดของ Silicon Valley ปิดกิจการไปในเดือนกันยายน 2018 และมีคดีความและการฟ้องร้องตามมาอีกจำนวนมาก

หนังสือ Bad Blood บันทึกการฉ้อโกงครั้งใหญ่ที่สุดของ Silicon Valley

มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ โดยเฉพาะคนที่ทำงานวิจัยทางด้านการแพทย์ เช่น
-นำมาสู่การถูกแฉได้อย่างไร?
-หลักการตรวจและเครื่องมือที่พัฒนา
-หลุดการตรวจสอบของหน่วยงานควบคุมอาหารและยา FDA ได้อย่างไร
-ทำให้นักลงทุนและบริษัทใหญ่ๆเชื่อใจและรวมลงทุนได้อย่างไร

ทำความรู้จักกับ Theranos Theranos
มาจากสองคำรวมกัน Therapy + Diagnosis
Theranos เป็นอีกหนึ่งไอเดียความพยายามของคนทำงานทางด้าน Health care มานานมากแล้ว เราอยากได้วิธีการตรวจที่ทำให้คนตรวจบาดเจ็บน้อยที่สุด ในขณะที่ได้ผลการตรวจที่ครอบคลุมมากที่สุด Lab-on-a-chip และ Microfluidics ถูกพูดถึงมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ใช้เลือดหยดเดียวตรวจผลแล็บได้นับสิบตัว เป็นอีกหนึ่ง Challenge ที่ทั้งหมอและคนไข้ใฝ่ฝัน

ไอเดียที่อยากจะปฎิวัติวงการสุขภาพดังกล่าวโผล่มาในช่วงที่ Startup กำลังบูมสุดๆ Facebook, Uber, Twitter กำลังเติบโตอย่างมาก นักลงทุนกำลังมองหาโอกาสใหม่ๆ พื้นที่ใหม่ๆ สินค้าตัวใหม่ที่จะเข้ามา Disrupt วิธีการเดิมๆ หลายบริษัทหายไปจากตลาดภายในไม่กี่ปีจากการเกิดใหม่ของ Startup หน้าใหม่ที่เพิ่งก่อตั้งเพียงไม่กี่ปี

Theranos มาได้ถูกจังหวะมากๆ Elizabeth Holmes ในปี 2003 เด็กสาววัย 19 ปี นักเรียน Chemical Engineering ที่เรียนได้แค่ 2 เทอม ที่ Stanford university กับไอเดีย ที่อยากจะย่อวิธีการตรวจเลือดทั้งหมดในห้องแล็บมาไว้ในชิพและเครื่องตรวจเพียงเครื่องเดียว และตรวจจากเลือดที่เจาะจากปลายนิ้วเพียงไม่กี่หยด เพราะเธอเป็นคนกลัวเข็มและถูกเจาะเลือดเพื่อไปทดสอบหลายครั้งช่วงที่เดินทางในเอเชียช่วงที่มีการระบาดของ SARS

Elizabeth Holmes; CEO Theranos

มันเป็นไอเดียที่น่าสนใจและตลาดใหญ่มากๆอย่างไม่ต้องสงสัย บริษัทใหญ่ๆและนักลงทุนที่กลัวตกขบวนของช่วงที่บริษัทใหม่กำลังเติบโต กลัวบริษัทตัวเองจะถูกลืมแล้วหายไปจากตลาด จึงเสี่ยงลงทุนไปกับบริษัทหน้าใหม่ ทำให้บริษัท Theranos เติบโตอย่างรวดเร็ว การเติบโตอย่างรวดเร็ว และมูลค่าที่สูงอย่างก้าวกระโดด ต้องมาพร้อมกับความคาดหวังที่สูงๆมากๆเช่นกัน

The technology behind the product
เครื่องมือที่ Theranos พัฒนาขึ้นรุ่นแรกมีชื่อเรียกว่า Edison (ตั้งตาม Thomas Edison) ใช้วิธีการตรวจแบบ Immunoassays เป็นหลัก ใช้ antibody ในการตรวจหา substances ต่างๆในเลือด สร้างชุดตรวจหา Vitamin D หรือ ตัวบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก ส่วนพวกตรวจ routine ต่างๆ เช่น cholesterol, blood sugar จะใช้วิธีที่แตกต่างออกไป

ปัญหาใหญ่สำคัญคือปริมาณของตัวอย่างเลือด เมื่อเลือดจากปลายนิ้วมีปริมาณน้อย แต่อยากจะทำการทดสอบหลายอย่าง เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเจือจางตัวอย่าง เพื่อให้ปริมาณเพียงพอต่อการทดสอบ เมื่อมีการเจือจางสิ่งที่ตามมาคือ ทั้ง Accuracy, precision ต้องตกลงอย่างแน่นอน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่นักวิจัยต้องการแก้ปัญหามาตลอด

แต่ Elizabeth เคลมว่าเครื่องตรวจของพวกเขาตรวจเลือดได้หลักร้อยชนิดจากเลือดเพียงไม่กี่หยด ซึ่งวิธีการตรวจแบบเดิมใน Edison ไม่รองรับทุกการตรวจในแล็บ จึงต้องมีการพัฒนาเครื่องใหม่ขึ้นมา ใช้ชื่อว่า miniLab ซึ่งมีวิธีการตรวจหลายแบบรวมอยู่ในเครื่องเดียวขนาดพอๆกับเครื่อง PC วิธีการคือ นำ Spectrophotometer, Cytometer, Fluoresce-based isothermal detector, Luminometer, Fluorometer, Thermocycler, ย่อส่วนลงแล้วจับยัดลงในเครื่องเดียว (เอาจริงๆก็น่าสนใจทีเดียวเลยนะ)

ส่วนประกอบของเครื่อง miniLab

ในเครื่อง miniLab สามารถตรวจเลือดด้วย 4 วิธีหลัก ได้แก่ Immunoassays, chemistry assays, hematology assays และ วิธีการตรวจผ่านทางการ Amplified DNA

วิธีการดังกล่าวย่อส่วนเครื่องมือต่างๆและรวมไว้ในเครื่องเดียว ไม่ได้มีอะไรใหม่นัก เพราะระบบ portable blood analyzer มีอยู่บ้างแล้วในตลาด อย่างเช่น เครื่องของบริษัท Piccolo Xpress ที่สามารถตรวจเลือดได้ราว 30 ชนิด แต่เครื่องที่มียังไม่ตรงกับความต้องการของ Elisabeth มากนัก เพราะเธออยากให้เครื่องทำงานได้ที่บ้านของผู้ใช้ทั่วไปได้

การที่บอกว่าเครื่องตัวเองตรวจได้มากกว่า 200 ชนิด แต่ทำได้จริงเพียงหลักสิบ แถมยังมีปัญหาเรื่องความถูกต้องและความแม่นยำอีกด้วย แต่เมื่อต้องนำออกไปให้บริการในจุดให้บริการตามร้านขายยาของผู้ร่วมลงทุนอย่าง Walgreens ที่กระจายอยู่ทั่วอเมริกา สิ่งที่ Theranos นำมาใช้คือ เอาเครื่องตรวจที่มีในตลาดมาใช้งาน เช่นเครื่องจาก Seimens แต่กลับรายงานว่าใช้เครื่องของตัวเองตรวจ

นำมาสู่การถูกแฉได้อย่างไร
Adam Clapper หมอ Pathology จาก Columbia, Missouri ที่ใช้เวลาว่างในการเขียนบล็อกให้ความรู้ ชื่อ Pathology Blawg ได้เห็นบทความพิเศษของ The New Yorker, December 15, 2014 เกี่ยวกับ Theranos ในช่วงที่บริษัทและ Elisabeth Holmes,CEO กำลังรุ่งสุดๆ ถูกสัมภาษณ์และได้รับเชิญไปเวทีต่างๆมากมาย รวมถึง TED ก็เคยขึ้นพูดมาแล้ว(คลิปโดนลบทิ้งไปแล้ว)

จากประสบการณ์ในการทำงานและการหาความรู้ในการเขียนบทความมากมาย คำโฆษณาของ Theranos สำหรับ Adam มันดูดีเกินไปที่จะเป็นจริงได้ ความสามารถในการตรวจเลือดจากเลือดเพียงไม่กี่หยดจากปลายนิ้วน่าจะตรวจได้ราวสิบกว่าอย่างเท่านั้น ไม่ใช่หลักร้อยอย่างที่บริษัทอ้าง

ในบทความของ The New Yorker มีอ้างอิงถึงนักวิทยาศาสตร์อาวุโสจาก Quest บอกว่าบริษัทแทบไม่มีการตีพิมพ์งานวิจัย peer-review data เลย แต่ Elizabeth ก็ได้อ้างอิงงานที่เธอเป็นผู้เขียนร่วมในวารสารชื่อ Hematology Reports ซึ่งเขาอยู่ในวงการมานาน แต่แทบจะไม่รู้จักวารสารนี้เลย เขาค้นต่อจนเจอว่าเป็นวารสารในอิตาลี มีระบบ open access ที่สามารถจ่าย 500 ดอลลาร์เพื่อตีพิมพ๋ได้(เป็นเรื่องปกตินะ วารสารใหญ่ๆก็มีระบบนี้) แต่ที่เขาช็อคคือ เป็นข้อมูลที่ตรวจเลือดเพียงแค่ 1 การตรวจ จากคนไข้ 6 คนเท่านั้น ห่างไกลจากการโฆษณามาก เขาเขียนข้อสังสัยต่างๆเหล่านี้ลงบล็อกของเขา แต่ก็มีคนไม่มากที่ติดตามงานของเขา มันจึงไม่ได้เป็นกระแสอะไรมากนัก

แต่เมื่อ Joseph Fuisz ค้นเจอบทความนี้ผ่านทาง Google และเอาบทความไปให้พ่อของเขา Dr. Richard Fuisz เป็นจิตแพทย์นักประดิษฐ์และอดีตเจ้าหน้าที่ CIA เพื่อนบ้านของ Elizabeth รู้จักกันมานาน ซึ่งมีปัญหาฟ้องร้องกับ Theranos เรื่องสิทธิบัตร โดยมีทนายชื่อดังอย่าง David Boies เป็นคนทำคดี Richard เสียเงินไปจำนวนมากกับการสู้คดี มันจึงเป็นอีกหนึ่งเคสตัวอย่างที่ทำให้พนักงานหลายๆคนไม่กล้าเปิดเผยข้อมูลอะไรเลย ถึงแม้จะรู้ความผิดปรกติของบริษัท

Richard Fuisz ได้อ่านบทความ และติดต่อกับ Adam Clapper ทันที และพูดคุยให้ข้อมูลต่างๆ ความผิดปรกติที่เขามีข้อมูล รวมถึงการเสียชีวิตของ Ian Gibbon พนักงานกลุ่มแรกๆของบริษัท แต่ Adam ตอบกลับเขาไปว่าเรื่องต่างๆเหล่านั้นมันอยู่เหนือจากสิ่งที่เขาสงสัย เขาอยากได้หลักฐานในการพิสูจน์มากกว่า

Richard Fuisz พบว่ามีคนเข้ามาดู Profile LinkIn ของเขา คนนั้นคือ Alam Beam ซึ่งเข้ามาเป็น Lab director ของ Theranos ได้ไม่นาน Richard Fuisz พยายามติดต่อกับ Alan Beam ผ่านทางอีเมล และได้พูดคุยกันในเวลาต่อมา Alan พูดกับ Richard Fuisz ด้วยน้ำเสียงค่อนข้างตื่นกลัว

“เหตุผลที่ผมตั้งใจที่จะคุยกับคุณ เพราะคุณเป็นหมอ ผมและคุณได้กล่าวคำสัตย์สาบานฮิปพอคราทีส(Hippocratic Oath) ข้อแรกคือไม่ทำอันตราย(First do no harm)กับคนไข้ แต่ Theranos กำลังทำสิ่งนั้น”

แล้วเริ่มเล่าถึงข้อกังวลต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแล็บที่ตัวเองดูแล
การเล่าถึงการโกหกเจ้าหน้าที่รัฐ
ผลตรวจจากนิ้วที่ไม่ถูกต้อง
ใช้ผลตรวจจากเครื่องอื่นมาอ้างเป็นผลจากเครื่องของตัวเอง
ผลผิดพลาดในการตรวจไทรอยฮอร์โมน
ผลตรวจการตั้งครรภ์ที่ผิดพลาด
การใช้เลือดจากผู้ป่วยมะเร็ง และอื่นๆ

สิ่งสำคัญเขาบอก Elizabeth ว่าเครื่องมือยังไม่มีความพร้อมใช้งานเลย แต่เธอยังต้องการจะนำไปใช้กับผู้ป่วย ซึ่งมันทำให้เขากลัวกับการมีส่วนร่วมตรงนั้น เขาไม่สามารถพูดคุยกับใครได้มาก ไม่งั้นอาจจะถูก David Boies ตามฟ้อง แบบที่ Richard Fuisz โดน
Richard Fuisz กลับไปติดต่อกับ Adam Clapper อีกครั้ง ครั้งนี้เขามีข้อมูลมากขึ้น และ Adam เห็นว่าเรื่องมีมูลอย่างมาก แต่เรื่องมันใหญ่เกินตัวเขาแล้ว เขาเป็นแค่บล็อกเกอร์มือสมัครเล่น ทำงานเป็นแพทย์เต็มเวลา ไม่มีเวลาสืบสวนอย่างจริงจัง และคงไม่สามารถต่อกรกับบริษัทระดับ 9 พันล้าน ที่มี David Boies ทนายอันดับต้นๆของวงการทำงานให้

เขาจึงเริ่มมองหานักสืบสวนและผู้สื่อข่าวมืออาชีพ จนกระทั้งมาเจอ John Carreyrou ผู้สื่อ The Wall Street Journal แล้วการสืบสวน อันยากลำบากและการถูกขู่มากมาย จึงเริ่มขึ้น จนนำมาสู่การแฉการหลอกลวงในวงการ Startup ที่ใหญ่ที่สุดใน Silicon Valley เท่าที่เคยมีมา

มุมมองต่อ Elizabeth Holmes
Elizabeth ถูกมองหรือเปรียบเทียบกับ CEO ผู้สร้างบริษัทที่เป็นสัญลักษณ์ของ Silicon vally อย่าง Steve Jobs, Bill Gates, Mark Zuckerberg ที่หยุดเรียนออกมาก่อนจะเรียนจบ บางคนเรียกเธอ the next Steve Jobs ด้วยซ้ำไป

Mark Zuckerberg เขียนโปรแกรมตั้งอายุ 10 ขวบจากคอมพิวเตอร์ของพ่อที่บ้าน จนเขาจะเข้ามหาลัย เขาเขียนโค้ดได้ด้วยตนเองแล้ว แต่ศาสตร์ทางด้านการแพทย์ มีปัจจัยที่ต่างออกไป มันเป็นศาสตร์ที่ไม่สามารถสอนตัวเองได้ที่บ้าน มันต้องมีฝึกฝนและทำการทดลองกับเครื่องมือต่างๆที่จำเพาะนานหลายปี นั้นเป็นเหตุผลที่นักวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ที่ได้รับรางวัลโนเบลอายุเกิน 60 ปีกันหมด ที่กว่าจะค้นพบสิ่งใหม่ที่สามารถเปลี่ยนโลกได้ต้องใช้เวลาพิสูนจ์อย่างยาวนาน

มุมมองต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
การ treat medical company แบบเดียวกับ tech company เป็นอะไรที่ผิดพลาดมากๆ คุณอาจจะเริ่มเขียนโค้ดในแอพมือถือวันนี้ แล้วในอีกหนึ่งสัปดาห์ข้างหน้า ปล่อย pre-beta ให้คนทดลองใช้ได้ แต่จะทำแบบนี้กับ medical technology ไม่ได้ เพราะผลกระทบมันมากกว่านั้นมาก มันกระทบกับชีวิตคนอย่างมาก ถ้าผลการตรวจบอกว่าคุณเป็นโรคแต่คุณไม่ได้เป็นอะไร(false positive) คุณอาจจะได้รับการรักษา(over treatment)เสียทั้งเงิน เวลา และอาจเกิดผลกระทบอื่นๆตามมา แต่จะแย่กว่านั้นถ้าผลบอกว่าคุณปกติแต่จริงๆคุณเป็นโรค(false negative) คุณอาจจะตายได้เพราะไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที เปรียบเทียบได้ว่า บริษัทคิดสร้างรถบัสพร้อมกับนำไปรับผู้โดยสาร คนจะตายได้ถ้ารถบัสมันล้อหลุด และนั้นคือสิ่งที่ผิดพลาดที่เกิดขึ้น “First Do no harm”

ตอนแรกก็มีความคิดเชียร์อยากให้มี Startup ทางด้าน medical ประสบความสำเร็จเหมือน Startup ด้านอื่นๆ อยากให้มีการปฎิวัติทางด้านการแพทย์ออกมาให้เห็น แม้ว่า Theranos จะล้มเหลว แต่ก็บางอย่างและมีสิทธิบัตรหลายรายการออกมาตลอดที่บริษัทดำเนินการ มองว่ามันก็ได้อะไรกลับมาบ้าง มันทำให้นักลงทุนสนใจมาลงทุนงานทางด้านการแพทย์บ้าง แต่พอได้เห็นความเห็นจากสำนักข่าวหนึ่งที่สรุปการหลอกลวงของ Theranos ครั้งนี้ เกิดความเสียอย่างมาก มี Startup ทางด้านการแพทย์อยู่มากมาย ที่ทำงานวิจัยอย่างจริงจังและทำอย่างถูกต้อง โปร่งใส มีเทคโนโลยีที่ควรได้รับการสนุน กับเสียโอกาสนั้นไป การลงทุนเหล่านั้นกลับสูญเสียไปกับการหลอกลวงของ Theranos ในครั้งนี้ ความคิดเชียร์นั้นก็หายไปทันที

รีวิวหนังสือ Liquid Rules จากผู้เขียน Stuff Matters

หนังสือ Liquid Rules: The Delightful and Dangerous Substances That Flow Through Our Lives
เขียนโดย Mark Miodownik ศาสตราจารย์ด้าน Materials and Society ที่ University College London และผู้อำนวยการสถาบัน the UCL Institute of Making ผลงานที่ผ่านมา Stuff Matters

หนังสือ Liquid Rules โดย Prof. Mark Miodownik

ก่อนหน้านี้หนังสือ Stuff Matters ของเขาค่อนข้างได้รับการตอบรับดีเยี่ยม ติดหนึ่งใน New York Times Bestseller เป็นหนังสือที่เล่าเรื่องได้อย่างสนุกสนาน ผ่านการสังเกตและหยิบวัสดุต่างๆรอบตัวเรา เช่น ช็อกโกแลต ดินสอ ช้อนส้อม มาเสนอในมุมมองทางด้านวิทยาศาสตร์และมุมมองทางด้านประวัติศาสตร์ ชวนให้คิดตาม และเรียนรู้ไปพร้อมกันๆ ได้ดีมาก

หนังสือ Stuff Matters, published 2013

Stuff Matters มีแปลไทยแล้วโดยสำนักพิมพ์ openworlds ในชื่อไทย “วัสดุนิยม: เรื่องราวชวนทึ่งของสารพันวัตถุเปลี่ยนโลก” แปลโดย ทีปกร วุฒิพิทยามงคล กีพิมพ์ปี 2560 ไปหามาอ่านได้

ส่วนเล่มใหม่นี้ Liquid Rules ตีพิมพ์ออกมาเมื่อต้นปี 2019 เพิ่งจะได้หยิบขึ้นมาอ่าน มีเนื้อหาค่อนข้างคล้ายกับ Stuff Matters ที่เล่าถึงวัสดุต่างๆรอบๆตัวทั่วไป แต่ใน Liquid Rules จะมาให้ธีมของของเหลว (Liquid) แต่ผู้เขียนใช้ลูกเล่นการเล่าเรื่องแบบ พาเราเดินทางไปกับเขาโดยนั่งเครื่องบินจากลอนดอนไปซานฟรานซีสโก และของเหลวที่ถูกหยิบขึ้นมาเล่าก็คือ ของเหลวต่างๆที่อยู่รอบๆตัวเขาบนเครื่องบิน เช่น น้ำมันเชื้อเพลิงของเครื่องบิน แอลกอฮอล์ในเครื่องดื่มที่ได้มาจากการบริการบนเครื่อง น้ำทะเลที่เห็นจากเครื่องบิน กาวชนิดต่างๆที่ใช้ในการติดสิ่งต่างๆ รวมทั้งยึดโครงสร้างของเครื่องบินที่ทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ หมึกในปากกา Liquid crystal ในจอภาพที่ดูหนัง เป็นต้น

มีบางเรื่องที่เขากล่าวถึง ถือเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยรู้มาก่อนเลย เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ถึงกับต้องไปค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเลยทีเดียว เช่น Liquid-breathe เป็นการทดลองการให้สัตว์หายใจใต้น้ำ(เหมือนปลา) แต่ของเหลวเป็น PFCs นะไม่ใช่น้ำธรรมดา การทดลองนี้ทำในหนู พบว่าหนูตัวนั้นสามารถหายใจอยู่ใต้ของเหลวดังกล่าวได้นานนับชั่วโมง และเมื่อนำกลับขึ้นมาหายใจด้วยอากาศปกติก็ทำได้เหมือนเดิม มีการทดลองในคนแล้วด้วย เป็นการทดลองที่น่าสนใจจนต้องไปค้นดูต่อเพิ่มเติม และอีกหนึ่งเรื่องคือ Liquid computer เป็นงานวิจัยที่จะเก็บข้อมูลในของเหลว เป็นอีกหนึ่งคีย์เวิร์ดที่ต้องไปหาข้อมูลต่อเช่นกัน

เป็นหนังสือที่อ่านง่ายไม่ซับซ้อน ถ้าอ่านตอนนั่งเครื่องไปไหนสักที่ราวๆ 6-7 ชั่วโมงตอนแลนดิ้งก็คงจะอ่านจบพอดี เหมือนมีคนมาเล่าเรื่องสิ่งต่างๆรอบตัวให้ฟัง เนื่องจากว่าคนเขียนตีกรอบว่าของเหลวที่จะกล่าวถึงจะสัมพันธ์กับตอนที่นั่งเครื่องบินอยู่นั้น อาจจะถือได้ว่ามีเส้นเรื่องให้เล่าชัดเจน แต่ก็ตีกรอบตัวเองด้วยเช่นกัน ทำให้ของเหลวที่พูกถึงมีจำกัด แต่ก็เข้าใจว่าคนเขียนก็ต้องการตีกรอบเนื้อหาเช่นกัน เพราะของเหลวในโลกที่น่าสนใจมีมากมายเหลือเกิน การจะเลือกอันไหนมาสักอันน่าจะทำได้ค่อนข้างลำบาก การตีกรอบไว้บนเครื่องบินเลยทำให้ง่ายขึ้น มีทั้งข้อดีและข้อเสีย

สรุปให้คะแนน 4/5
อ่านได้เพลิน และสนุก มีภาพประกอบทั้งโครงสร้างโมเลกุล และภาพประกอบการเล่าเรื่องทำให้อ่านเข้าใจได้ง่ายขึ้น

รีวิวหนังสือ How To นี้คือภาคต่อของ What If?

หนังสือ How To: Absurd Scientific Advice for Common Real-World Problems
เขียนโดย Randall Munroe นักเขียน นักวิทยาศาสตร์ วิศกร ชาวอเมริกัน ผลงานที่ผ่านมา xkcd, What If?, Thing Explainer

รีวิวหนังสือ How To: Absurd Scientific Advice for Common Real-World Problems

ได้รู้จักผลงานของ Randall Munroe ครั้งแรกผ่านทางหนังสือ What If? เป็นหนังสือตอบปัญหาประหลาดๆ ด้วยหลักและความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่มีในปัจจุบัน มีเขียนการ์ตูนแทรกเป็นเป็นระยะๆ มีความตลก ขำขัน ซึ่งมันสนุกมากๆ

พอผลงานเล่มถัดมาของเขา Thing Explainer ด้วยความพยายามตั้งเงื่อนไข ใช้คำศัพท์เพียง 1,000 คำในการเขียน และรูปแบบในการนำเสนอเชิงอธิบายสิ่งต่างๆด้วยภาพ พร้อมคำอธิบายในหนึ่งหน้ากระดาษ มันเลยออกมาเหมือน blue print ของสิ่งที่เขียนถึง มันเป็นหนังสือที่ดี แต่ความสนุก การมีอารมณ์ขันขอคนเขียนมันหายไป

ย้อนกลับมาที่ผลงานใหม่ล่าสุดของเขา How To ต้องเรียกว่า เป็น Monroe Strike Back เพราะความสนุกแบบ What If? กลับมาแล้ว รูปแบบการเขียนแบบมีอารมณ์ขัน แทรกด้วยการ์ตูน xkcd มุกฮาๆ ที่เราเคยชอบกลับมาหมด จะเรียกภาคสองของ What If? ก็คงไม่ผิดหนัก

ยิ่งกว่านั้น ในบางเรื่องที่เขาเขียนถึงผ่านการตั้งคำถามที่กวนๆในตอนแรก แต่ตอบด้วยหลักวิทยาสตร์ตอนท้าย ในเล่มนี้เขาไม่ได้คิดคนเดียวเสียหมดทุกเรื่อง มีการไปสัมภาษณ์ผู้เชียวชาญในเรื่องนั้นๆแทรกมาด้วย ยิ่งทำให้เรื่องนั้นดูน่าสนใจขึ้นอีกมาก (ไม่ไช่ทุกเรื่องที่คุยกับผู้เชี่ยวชาญ)

ในบางหัวข้อ เขาแทรกประวัติศาสตร์การแก้ไขปัญหาของคนในสมัยก่อนมาให้อ่านด้วย หลายครั้งทำให้เกิดความสงสัยต้องไปค้นต่อในเรื่องนั้นๆอยู่หลายครั้ง

ขอยกตัวอย่างบางเรื่องที่ถูกแทรกเข้ามาในหัวข้อ How to cross a river (วิธีการข้ามแม่น้ำ)
ย้อนกลับไปเมื่อปี 1847 วิศวกรได้ระดมสมองคิดวิธีการที่จะลากสายเคเบิลข้ามแม่น้ำบริเวณน้ำตกไนแอการ่า เพื่อจะได้เริ่มต้นสร้างเป็นสะพานเชื่อมระหว่างฝั่งอเมริกาและแคนนาดาต่อไป แต่ปัญหาคือ ด้วยระยะทาง 213 เมตร ร่วมกับบริเวณนั้นมีน้ำวนและน้ำไหลเชี่ยวแรงมาก ไม่สามารถว่ายหรือใช้เรือเฟอร์รี่ลากสายเคเบิลข้ามไปได้

ผลจากการระดมสมอง ทีมวิศกรเลยจัดประกาศการแข่งขัน เล่นว่าวลากเคเบิล ข้ามไปอีกฝั่ง (ความคิดที่บ้าบอดี)
คนแรกที่ทำได้จะได้รางวัล 10 ดอลล่าร์ และเด็กหนุ่มชาวอเมริกันวัย 15 ปี ชื่อ Homan Walsh เขาปล่อยว่าวจากฝั่งแคนนาดาและปีนต้นไม้ที่ฝั่งอเมริกาเพื่อคว้าเอาว่าวลงมา เขาทำสำเร็จเป็นคนแรกและได้รางวัลไป จากเชือกว่าวที่เบาๆุถูกผูกติดกับเชือกที่ใหญ่ขึ้น แล้วดึงข้ามไปอีกฝั่ง เชือกถูกเพิ่มขนาดขึ้นเรื่อยๆจนลากสายเคเบิลที่ใหญ่ได้สำเร็จ

นี่เป็นขั้นตอนแรกในการสร้างสะพานแขวนแห่งแรกเหนือแม่น้ำไนแองการ่า ซึ่งเปิดใช้ในปี 1848 ปัจจุบันสะพานดังกล่าวถูกแทนที่ด้วย สะพาน Whirlpool Rapids ซึ่งเปิดใช้ในปี 1897 จนถึงปัจจุบัน

flying-kite contest in 1847

แม้ Randall Munroe จะเขียนไว้ตั้งแต่ต้นว่า อย่าทดลองทำตามที่หนังสือแนะนำเด็ดขาด ไม่รับรองความปลอดภัย และไม่รับรองผลสำเสร็จ รวมทั้งอันตรายที่จะเกิดขึ้นได้ด้วย แต่บางเรื่องเมื่อลองคิดดูแล้ว มันก็มีโอกาสสำเร็จสูงเหมือนกันเลยทีเดียว แม้มันจะเป็นความคิดที่ค่อนข้างจะบ้าบอไปหน่อยก็เถอะ เช่น วิธีการจะชาร์ตแบบมือถือยังไงในอาคาร ถ้าหาปลั๊กไฟไม่ได้ หนึ่งในแหล่งพลังงานที่พอจะแปลงออกมาเป็นพลังงานให้ชาร์ตมือถือได้ คือ บันไดเลื่อน ถ้าเราเอา generator ไปติดกับล้อและให้ล้อติดกับบันไดเลื่อนอีกที บันไดจะหมุนล้อไปเรื่อยๆ ปั่นไฟฟ้าออกมาให้เราได้ชาร์ตมือถือได้ ดูบ้าบอแต่มีความเป็นไปได้นะ

How to Charge Your Phone (when you can’t find an outlet)

โดยสรุป สนุก ตลก มีสาระแทรก ยิ่งถ้าคุณเคยเป็นคนที่ชอบ อารมณ์ขันใน What If? ยิ่งไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

ให้คะแนน 4.5/5
ที่หักไปนิดหนึ่งเพราะหน่วยทางวิทยาศาสตร์ที่เขาใช้ในหนังสือ เช่น ระยะทาง ความสูง น้ำหนัก และอื่นๆ จะใช้แบบอเมริกันบ้าง แบบสากลบ้างสลับปนกันไปมา คนอเมริกันอาจจะคุ้นเคย แต่พอเราอ่านต้องค่อยแปลงค่าไปมาบ่อยๆทำให้การอ่านสะดุดไปบ้าง เข้าใจว่าเล่มที่ตีพิมพ์แบบ international อาจจะมีการเปลี่ยนแปลง อย่างที่ What If? เคยทำ เช่น เปลี่ยนความสูงแบบ feet เป็น meter หรือ ระยะ mile เป็น km ทั้งหมดตลอดทั้งเล่ม เป็นต้น

รีวิวหนังสือ Algorithms to Live By: The Computer Science of Human Decisions

หนังสือ Algorithms to Live By: The Computer Science of Human Decisions (2016)

ผลงานการเขียนร่วมกันระหว่าง

-Brian Christian นักเขียนชาวอเมริกัน ที่เคยเขียนหนังสือ Bestseller อย่าง The Most Human Human (2011) (เล่มนี้มีข่าวว่าสำนักพิมพ์ salt เอาไปแปลแล้ว)
-Tom Griffiths ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจ(psychology and cognitive science) ที่ UC Berkeley ผู้อำนวยการ UC Berkeley’s Computational Cognitive Science Lab

หนังสือ Algorithms to Live By: The Computer Science of Human Decisions by Brian Christian (ซ้าย) and Tom Griffiths (ขวา)

ความจริงแล้วควรเขียนรีวิวหนังสือเล่มนี้ก่อน รีวิวหนังสือ Hello World: Being Human in the Age of Algorithms เพราะได้อ่านก่อน เพราะไม่ได้คิดว่าจะเขียนรีวิวจริงจัง เขียนสั้นๆไว้ใน facebook แล้ว แต่ก็เสียดายเลยเอามาลงไว้ที่นี้อีกรอบ

หนังสือ Algorithms to Live By เป็นหนังสือที่บันเทิงมากกว่าที่คิด คนเขียนเอาหลักคณิตศาสตร์มาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันได้อย่างสนุกสนาน และน่าสนใจมาก มีเรื่องให้เอาไปเล่าในวงสนทนากับเพื่อนๆได้อย่างสนุกสนาน เราจะรู้สึกแปลกใจกับผลลัพธ์ทางคณิตศาสตร์ ที่บางครั้งใช้สามัญสำนึกคิดไม่ได้ แต่คณิตศาสตร์ตอบปัญหาเหล่านั้นออกมาเป็นตัวเลขให้เราได้

ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าหนังสือเล่มนี้ ถ้าเรามีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับคณิตศาสตร์บ้างจะอ่านสนุกขึ้น แต่ถึงไม่รู้เรื่องเลยก็ยังจะทำความเข้าใจกับกระบวนการคิดได้

ขอยกตัวอย่างบางส่วนมาให้อ่านกัน จะได้ประมาณได้ถูกว่าหนังสือจะเล่าเรื่องอะไร ให้เราได้ทำความเข้าใจกับ Algorithms และการนำไปใช้อย่างไรได้บ้าง

-ถ้ากำลังค้นหาบ้านเช่าหลังใหม่ เลขาคนใหม่หรือหาแฟนสักคน เราจะรู้ได้ยังไงว่าเมื่อไหร่ที่ต้องหยุดหาและตัดสินใจเลือกได้แล้ว สามารถใช้ secretary problem ในการแก้ปัญหาได้

อธิบายดังนี้ ถ้าเราสามารถตัดสินใจเลือกรับหรือไม่รับ ได้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งแค่ครั้งเดียว (คุณคงจะไม่สามารถ say NO, YES กลับไปกลับมากับสาวที่เดทอยู่แล้วได้หรอกนะ) แล้วเมื่อไหร่ถึงจะตัดสินหยุดและเลือกตัวเลือกนั้น คำตอบคือ คนลำดับที่ 37% ของตัวเลือกทั้งหมดมี ใช้ได้กับการเลือกบ้าน เลือกเลขาหน้าห้อง เลือกห้องน้ำที่ music festival หรือแม้แต่แฟนสักคน ลำดับที่ 37% มี possibility ที่สูงที่สุดหลังจากนั้นจะค่อยๆลดลง

ถ้าสนใจดูคำอธิบายเพิ่มเติมได้ที่คลิปด้านล่าง

คำอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับ secretary problem
ดูคำอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับ secretary problem ได้ที่คลิปนี้

-เราจะตัดสินใจอย่างไรระหว่างทำอย่างเดิมที่คุ้นเคยหรือทำสิ่งใหม่ เช่น เย็นนี้จะกินอาหารที่ร้านเดิมที่ชอบหรือจะลองไปกินร้านใหม่ที่ไม่เคยกิน (Explore/Exploit trad-off)

ดูคำอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Explore/Exploit trad-off ได้ที่คลิปนี้

-ถ้ามีเสื้อผ้าหลายตระกร้า ต้องซักก่อนแล้วค่อยปั้นแห้ง เวลาที่ใช้ของแต่ละเครื่องขึ้นกับชนิดและความเปื้อนของผ้า เช่น ผ้าสกปรกมากหน่อยก็ต้องซักนานกว่าปกติ ถ้าผ้าหนาหน่อยก็ใช้เวลาปั่นแห้งนานกว่าปกติ แล้วแบบนี้ เราจะจัดลำดับอย่างไร ให้การใช้เวลาในการทำงานน้อยที่สุด ไม่ให้มีช่วงที่ต้องรออีกเครื่องทำงานเสร็จก่อน หรือถ้ามีก็ให้มีน้อยที่สุด มีประสิทธิภาพมากที่สุด (Sorting, Johnson’s algorithm)

คำอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Johnson’s algorithm ได้ที่คลิปนี้

เราจะได้เจออะไรแบบนี้ตลอดทั้งเล่ม เอาเป็นว่าแนะนำให้อ่านครับ สนุก
5/5
Algorithms to Live By: The Computer Science of Human Decisions by Brian Christian and Tom Griffiths

รีวิวหนังสือ Hello World: Being Human in the Age of Algorithms

หนังสือ Hello World: Being Human in the Age of Algorithms
เขียนโดย Hannah Fry รองศาสตราจารย์ด้านคณิตศาสตร์ จาก University College London
—-


ในหนังสือเกี่ยวกับอัลกอริทึมที่อ่านไปก่อนหน้านี้ Algorithms to Live By อาจจะต้องเข้าใจ Mathematics ในระดับหนึ่ง แต่สำหรับเล่มนี้ไม่ต้องเลย

Hello World จะเล่าเรื่องอีกแบบที่ไม่ได้ยกโมเดลทางคณิตศาสตร์มาให้ปวดหัวเลย คนธรรมดาอย่างเราอ่านสบายเลยทีนี้

เปิดเรื่องด้วยการนิยามของคำว่า Algorithms ให้คนอ่านเข้าใจร่วมกัน จากนั้น จะเล่าถึงการใช้งานในแง่มุมต่างๆ และผลกระทบที่เกิดขึ้น

หัวข้อหลักๆ
-ข้อมูล
-การตัดสินของศาล
-ทางการแพทย์
-รถยนต์
-อาญากรรม
-ศิลปะ

การนำ Algorithms ไปใช้ในหัวข้อต่างๆเหล่านี้เกิดผลกระทบในแง่ต่างๆอย่างไรบ้าง ในหนังสือจะยกตัวอย่างที่น่าสนใจมาให้ศึกษาและวิจารณ์ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น

—-
ยกตัวอย่างบางอันมาให้อ่าน ในกรณีของการใช้ Algorithms ไปจัดการกับข้อมูลของลูกค้า เมื่อสมาชิกของร้านค้า ซื้อของแล้วใช้บัตรสมาชิกเพื่อสะสมแต้ม บริษัทก็จะได้ข้อมูลการซื้อสินค้าของลูกค้าไปเป็นการแลกเปลี่ยน ซื่งข้อมูลเหล่านี้มีประโยชน์อย่างมากกับผู้ประกอบการ ทำให้รู้ถึงพฤติกรรมของลูกค้าตัวเอง ลูกค้ามีที่อยู่ที่ไหนบ้างที่มาซื้อของจากสาขานี้ รวมถึงประมาณสินค้าในสต็อคได้อีกด้วย และยังใช้ข้อมูลในด้านอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งลูกค้าไม่รู้ตัวเลยว่าข้อมูลของตัวเองถูกใช้ไปทำอะไรบ้าง

กรณีนี้คือ เมื่อ Algorithms สามารถเดาได้ว่า ถ้าลูกค้าซื้อสินค้าเหล่านี้แล้ว ในครั้งต่อไปจะซื้ออะไร วันหนึ่งคุณพ่อท่านหนึ่งโทรไปโวยวายบริษัท เพราะได้รับคูปองลดราคาจากบริษัทดังกล่าวที่เป็นสินค้าเกี่ยวกับเด็กแรกเกิดเป็นจำนวนมาก ทั้งๆที่ไม่มีเด็กในบ้านเลย ยกเว้นลูกสาวที่เป็นวัยรุ่นแล้ว อีกวันเมื่อผู้จัดการทราบเรื่อง จึงโทรกลับไปขอโทษกับคุณพ่อท่านนี้ ปรากฏว่าชายที่เสียงแข็งเมื่อวานกลับขอโทษบริษัทแทน เพราะจากการซักไซร้กับลูกสาวของตนพบว่า เธอกำลังตั้งครรภ์อยู่!

เป็นไปได้อย่างไร? บริษัทขายของรู้ว่าลูกสาวมีท้องก่อนคุณพ่อของเธอเอง คำตอบ คือ Algorithms สามารถเดาได้จากพฤติกรรมการซื้อสินค้าของสมาชิก ผ่านข้อมูลจำนวนมากที่เก็บได้จากสมาชิก เช่น ถ้าเธอซื้อ แป้ง ผ้า อาหารเสริมหรือครีมบางชนิด Algorithms สามารถบ่งชี้ได้ว่าเธออาจจะตั้งท้อง และระบบก็จัดส่งสินค้าเกี่ยวกับเด็กแรกคลอดไปให้เธอ เพื่อกระตุ้นให้เธอกลับมาซื้อของที่ร้านอีก
—-
หรืออีกหนึ่งตัวอย่าง แม่บ้านโทรไปโวยวายกับโลตัส ว่าทำไมมีลิงค์ถุงยางอนามัยขึ้นมาบนหน้าโปรไฟล์ในหน้าเว็บซื้อของออนไลน์ของเธอ บริษัทตรวจสอบ ข้อมูลถูกต้อง แต่บริษัทยอมเอาลิงค์ลงให้ เธอไม่ได้ซื้อแต่สามีเธอซื้อแล้วไปใช้กับใคร? แต่ไม่ได้ใช้กับเธอแน่นอน
—–

แม้แต่กรณีของข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ Facebook ที่ถูกบริษัท Analytica เอาไปใช้ในการหาเสียงทางการเมือง ที่ทำให้ FB ถูกปรับไปเป็นจำนวนเงินมหาศาล เราจะได้เรียนรู้ว่า Algorithms ถูกนำมาใช้ได้อย่างไรในทางการเมือง

ในหนังสือมีเคสตัวอย่างแบบนี้ยกขึ้นมา ให้เราได้คิดตามถึงผลกระทบของยุคที่มี Algorithms ถูกนำมาใช้แทบจะทุกที่ ไม่ว่าเราต้องการหรือไม่แต่มันจะเกี่ยวข้องกับชีวิตเราเสมอไม่ทางตรงก็ทางอ้อม
—-
อ่านสนุกมาก ข้อยกให้เป็น หนังสือแนววิทยาศาสตร์ที่ชอบที่สุดของปีนี้
คะแนน 5/5

แกะกล่อง Leica Sofort : Instant Film Camera

Leica Sofort (Sofort เป็นภาษาเยอรมัน ความหมาย คือ immediately, instantly)

Leica เปิดตัวกล้อง Leica Sofort กล้อง instant film camera ในงาน Photokina 2016 ประมาณเดือนสิงหาคม 2016 ในการเปิดตัวบอกว่ากล้องจะพร้อมขายในเดือนพฤศจิกายน แต่จากที่ติดตามข่าว มีกล้องซื้อได้ในร้านในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2016 แต่ก็มีของน้อยมาก มีแค่บางร้าน ในบ้างเมืองเท่านั้น ตัวที่ได้มาซื้อมาจากร้านกล้องที่ Köln และเป็นตัวสุดท้ายในร้านด้วย

Leica Sofort มีสามสีให้เลือก สีขาว สีมิ้นต์ สีส้ม ที่ได้มาคือ สีส้ม

วันนี้ก็เอา Leica Sofort มาแกะกล่องให้ดูว่าภายในมีอะไรบ้าง

กล่อง Leica Sofort

กล่องของกล้องตัวสีส้ม

กล่อง Leica Sofort ด้านหลัง

ด้านหลังมีรูปเหมือนกล้องจริง พร้อมแสดงฟังก์ชั่นต่างๆ

กล่อง Leica Sofort มีกล่องดำภายในอีกชั้น

เฉพาะกล้องข้างนอกที่ต่างกัน กล่องสีดำคงเหมือนกัน

แกะกล่อง Leica Sofort

ภายในกล่องมีของดังนี้ คู่มือ 5 เล่ม(หลายภาษา), ที่ชาร์ตแบต พร้อมตัวแปลงปลั๊กโซนยุโรปและเอเชีย, แบตเตอรี่, สายคล้องคอ, ตัวกล้อง

(ทุกชิ้นมีพลาสติกหุ้มอย่างดีนะ แต่แกะออกแล้ว)

กล้อง Leica Sofort ด้านหน้า

ด้านหน้ามีกระจกสะท้อน สามารถถ่ายเซลฟี่ได้ และตัวริงที่เลนส์สามารถหมุนปรับระยะโฟกัสได้ 2 ระยะ คือ 0.6-3 เมตร และ 3 เมตร-∞

กล้อง Leica Sofort ด้านหลัง (Designed by Leica Germany)

มีที่ใส่แบตเตอรี่ ช่องโหลดฟิล์ม ปุ่มเปิด ปุ่มเปลี่ยนโหมด ปุ่มควบคุมแฟลช ปุ่มตั้งเวลาถ่าย ปุ่มความสว่าง

Leica Sofort ด้านบน

ปุ่มกดวัตเตอร์ ทางด้านขวา

Leica Sofort ด้านข้างที่ฟิล์มออกมา

ช่องปรินต์ฟิล์มและหูใส่สายคล้อง

Leica Sofort ด้านข้าง

อีกด้านมีแค่หูใส่ที่คล้องสาย

Leica Sofort ด้านล่าง มีที่ติดกับข้างตั้งกล้อง

ด้านล่างมีช่องสกรูมาตรฐานให้ติดกับขาตั้งกล้องได้

กล้อง Leica Sofort และฟิล์ม

ฟิล์มในกล่องหนึ่งมี 10 ภาพ มีให้เลือกแบบสี และแบบขาวดำ

กล้อง Leica Sofort ใส่สายคล้องคอ

พอใส่สายแล้วก็ดูดี Leica มีสายที่สีเข้ากับตัวกล้องขายแยกต่างหากด้วย แต่ของยังไม่มี

Leica Sofort ด้านบน ตอนเปิดกล้องถ่าย

ตัวเลนส์จะยื่นออกมายาวพอสมควร

กล้อง Leica Sofort

หลังจากถ่ายใช้เวลาประมาณ 30-40 วินาที ภาพถึงจะชัด แต่เท่าที่ลองใช้งานพบว่าที่อากาศเย็นมากๆ ภาพปรากฏช้ากว่าเดิมมาก

ในโพสนี้ขอจบการแกะกล่องเพียงเท่านี้ครับ ส่วนการใช้งานจะมาเล่าในครั้งต่อไปครับ

หนังสือแนะนำให้อ่าน โดย CEO ระดับโลก

ผมว่าบางครั้งหลายๆคนน่าจะเป็นเหมือนกันว่าอยากเดินไปร้านหนังสือ แล้วก็ค่อยๆเดินดูตามชั้นหนังสือหมวดต่างๆ เปิดดูเนื้อหาข้างในสักหน้าสองหน้า แล้วค่อยเลือกซื้อ นี่คือหนึ่งในวิธีการหาหนังสือสักเล่มของผม แต่สมัยนี้การซื้อออนไลน์มันสะดวกมาก และถึงแม้ว่าการออกไปเดินในร้านหนังสือมันจะเพลิดเพลินเพียงใด เราก็คงทำบ่อยๆไม่ได้

พวกคำนิยมที่อยู่หน้าแรกๆของหนังสือนั้น ผมแทบจะไม่สนใจเลย หรือบางทีก็ไม่ได้อ่านด้วยซ้ำ บางทีมันอดคิดไม่ได้ว่า คนที่เขียนคำนิยมเหล่านั้นได้อ่านหนังสือเล่มนั้นจริงๆไหม รีวิวจากคนทั่วไปที่ไม่ได้ส่วนได้ส่วนเสียจากหนังสือเล่มนั้นเลยน่าเชื่อถือมากกว่า

ผมมีวิธีเลือกอ่านหนังสือแบบนี้ครับ (บางทีก็แค่อยากซื้อมาเก็บเฉย) ซึ่งก็พอจะสรุปเป็นข้อๆได้ประมาณนี้ครับ

  • หนังสือที่ถูกกล่าวถึงหรือถูกอ้างอิงในหนังสืออีกเล่มที่เคยอ่าน ทำให้หนังสือแต่ละเล่มมักจะมีการเชื่อมโยงถึงกัน ยกตัวอย่างเช่น เราอ่านหนังสือประวัติของ Isaac Newton ในหนังสือบอกว่า The Principia คือ ผลงานปฎิวัติวงการของเขา หนังสือที่เราอยากอ่านเล่มต่อไปย่อมเป็น The Principia หรือไม่ก็หนังสือที่เขียนอธิบายเกี่ยวกับ The Principia (แค่ยกตัวอย่างนะครับ มิอาจเอื้อม แต่ก็อยากซื้อมาประดับชั้นหนังสือนะ)
  • ผลงานของนักเขียนคนเดิม บ่อยครั้งที่จะดูว่านอกจากเล่มที่กำลังอ่านอยู่นั้น มีผลงานอื่นอะไรอีกที่น่าสนใจ เช่น เราอ่าน Surely You’re Joking, Mr. Feynman! เป็นไปได้หรือที่จะไม่ตามอ่าน What Do You Care What Other People Think?
  • ในเว็บไซต์ต่างๆ เช่น Goodread, Time, Nature, Wired, etc. ก็มักจะมีลิสต์หนังสือแนะนำให้เลือกติดตาม ในช่วงหลังๆที่ไม่รู้ว่าจะหาหนังสืออะไรมาอ่าน ช่องทางนี้ถูกเลือกใช้บ่อยๆ

นอกจากนี้ คนดัง ผู้มีอิทธิพลของโลก มหาเศรษฐี CEO หรือคนที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นอัจฉริยะในด้านต่างๆ ก็มักจะมีหนังสือแนะนำกันทั้งนั้น ปีที่แล้ว Mark Zuckerberg ก็ลิสต์หนังสือที่เปลี่ยนใหม่ทุกๆ 2 สัปดาห์ สุดท้ายได้ออกมา 23 เล่ม Ayearofbooks.net

แต่ถ้าอยากรู้ว่า CEO แต่ละคน เช่น Mark Zuckerberg, Sam Altman, Bill Gates, Larry Page, Elon Musk, etc. มีลิสต์หนังสือแนะนำอะไรบ้าง เข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์นี้ Bookicious.com

Book Collections Bookicious

ใน Bookicious จะเป็นการแนะนำหนังสือแบบรวบร่วมจากสื่อต่างๆ ที่ CEO แต่คนเคยบอกไว้ หรือเคยในสัมภาษณ์ไว้ ทำให้เราง่ายที่จะติดตามหนังสือตามบุคคลที่เราสนใจ หนังสือบางเล่มก็ได้รับการแนะนำจากหลายคน เช่น Sapiens by Yuval Noah Harari, The Innovator’s Dilemma by Clayton M. Christensen เป็นต้น ถ้าหลายคนแนะนำ แสดงว่าหนังสือเล่มนั้นก็น่าจะได้รับการการันตีในระดับหนึ่งว่าต้องดีแน่ๆ

แต่คนที่อยากพูดถึงเป็นพิเศษ นั้นคือ Bill Gates ดูจะเป็นคนที่จริงจังกับการอ่านมากที่สุด เขามีบล็อกที่เขียนรีวิวถึงหนังสือที่เขาอ่านอย่างสม่ำเสมอ บางครั้งก็ทำออกมาเป็นลิสต์ให้ได้ตามอ่านกันเลย และหนังสือก็มีหลากหลายแนว จึงขอแนะนำสำหรับคนที่คิดอะไรไม่ออก และกำลังตามหาลิสต์หนังสือน่าอ่านครับ

ตามไปดูหนังสือของ Bill Gates ได้ที่ Gatesnotes.com

Book reviews by Bill Gates

เคยอ่านคำแนะนำของคนที่อ่านหนังสือเก่งๆว่า ถ้าหนังสือเล่มไหนที่เราอ่านแล้วไม่สนุก ก็อย่าพยายามอ่านมันต่อ แค่ไปหาเล่มอื่นที่ใช่กว่ามาอ่านแทน ทำแบบนี้จะทำให้เราสนุกและไม่เบื่อการอ่านเลย ซึ่งผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง

(รีวิว) ชอบ ไม่ชอบ Fujifilm X70 ตามใจคนใช้งาน

จุดที่ชอบ ไม่ชอบ ในกล้อง Fujifilm X70

หลังจากใช้ Fujifilm X70 มาได้ราวๆสัปดาห์หนึ่ง มาอัพเดตว่าจุดไหนที่ชอบและจุดไหนที่ไม่ชอบ แต่โดยรวมชอบมากๆ มีจุดขัดใจนิดหน่อยที่คิดว่ามันน่าจะดีกว่านี้ได้อีกอยู่บ้าง กล้องนี้เป็นกล้องใหม่หลังจากใช้ Canon มานาน น่าจะ 4-5 ปีได้แล้ว การคอนโทรลกล้องแรกๆก็งง ต้องเอาคู่มือมาเปิดอ่าน ต้องทำความเข้าใจกับวิธีการตั้งค่าต่างๆที่ไม่มีในกล้องเดิม เช่น Dynamic range, Highlight tone, Shadow tone, Auto ISO และอื่นๆ ความจริงก็พอรู้ความหมายของมันอยู่บ้าง แต่การตั้งค่าและการใช้งานในกล้องยังไม่เคยใช้มาก่อน จะถ่ายเป็น RAW ไว้เลยก็ได้นะ แต่พอมันเป็น Compact camera ก็อยากจะจบหลังกล้องไปเลย ถ่ายเสร็จแชร์เลยไม่ต้อง Process อีกแล้ว อันไหนพิเศษก็ค่อยเปลี่ยนเป็น RAW ตามโอกาสแล้วกัน ไม่อยากเปลืองพื้นที่เก็บไฟล์ในคอมพิวเตอร์มากนัก (เพราะถ่ายเยอะอยู่แล้ว) อันที่สรุปข้างล่างนี้ คือว่าพอใช้ไปเจออะไรก็จดบันทึกมาเรื่อยๆ เอามารวมกันได้ราวๆนี้ ถ้าเจออีกจะเอามารวมไว้ที่บล็อกนี้แล้วกัน

จุดที่ชอบ

  • ไฟล์คุณภาพเยี่ยม ภาพเก็บรายละเอียดได้ดี คม จัดการ Noise ได้ดีมาก ไม่เคยคิดในชีวิตจะถ่ายภาพ ISO เกิน 400 ได้
  • ขนาดภาพ 16MP พอดี อัพโหลดฟรีใน Google Photo (ที่เป็นตัวหลักของผมในการเก็บภาพ) แบบไม่ต้องกินพื้นที่และไม่ต้องย่อ คืออัพได้เลย แมทกับชีวิตประจำวัน
  • ขนาดเล็กเบา ห้อยคอได้ทั้งวันโดยไม่รู้สึกเมื่อย
  • เร็วทั้งการปิดและเปิดแล้วพร้อมถ่าย โฟกัสก็เร็ว เทียบกับกล้องตัวเก่าที่ใช้อยู่ ถ้าถ่ายแบบ live view เร็วคนละเรื่องเลย
  • ระบบการวัดแสง และการทำงานอัตโนมัติฉลาด ทำให้ภาพที่ถ่ายไม่เสีย ส่วนหนึ่งเพราะมันตั้งความเร็วชัตเตอร์อัตโนมัติต่ำสุดได้, ISO Auto ไม่เกินที่กำหนดได้ เลยทำให้ภาพออกมาดีที่สุดในสภาพแสงนั้นได้
  • เสียงชัตเตอร์เงียบ ไม่รบกวนแบบ ถ่ายในห้องสมุดได้เลย
  • เอารูปโหลดเข้ามือถือได้ง่าย พร้อมอัพขึ้นโซเซียลในทันที
  • การควบคุมการใช้งานง่ายดีปุ่ม Q สะดวกสุดๆ และมีปุ่มลัดเยอะดี (Fn) เข้าถึงการ setting ต่างๆได้ง่าย
  • ชอบ film simulation มาก เหมือนได้ย้อนกลับไปใช้ Film อีกครั้ง
  • มี Digital Tele-converter to 35, 50 mm หรือเรียกอีกอย่างว่าซูมดิจิตอลก็คงได้ แต่ไฟล์ออกมาดีกว่าซูมดิจิตอลทั่วไปนะ

จุดที่ไม่ชอบ

ส่วนใหญ่เกี่ยวกับการ setting ต่างๆในกล้องที่ยังไม่ชินนัก

  • ปิดเสียงอยู่ใช้ flash ไม่ได้ งงมากว่าทำไม (ให้เดาคงคิดแทนเราว่า ไม่ต้องการรบกวนคนอื่น แล้วจะเปิด flash ทำไม มั้ง) ทำได้แล้วครับ มันมีเมนูตั้งแค่เสียงแยกต่างหาก เพื่อนที่ X series club แนะนำมา
  • เปิด face detector ใช้ AE-L/-AF-L ไม่ได้นะ ล็อกโฟกัสไม่ได้เพราะกล้องต้องวิ่งหาหน้าของแบบ อันนี้พอเข้าใจได้ แต่ทำไมล็อคแสงไม่ได้
  • ปุ่ม video record กดยากมากกกก นิ้วใหญ่ หมดสิทธิ์มันชิดกับตัวปรับชดเชยแสงมากเกินไปและปุ่มมันเล็กและตื้นมาก
  • ปุ่มรอบวงกลม OK ฝั่งซ้ายกดยากเหมือนกัน ติดกับจอที่นูนออกมา ถ้านิ้วใหญ่หมดสิทธิ์ หรือต้องวางนิ้วแบบยื่นมาจากด้านข้างแทน
  • ปิดหน้าจอ LCD ไม่ได้ แต่ 2 นาทีมันถึงจะปิดเอง(sleep) แต่ไม่อยากเปิดปิดเครื่องบ่อยๆ ปกติแล้ว DSLR ไม่เคยปิดกล้องระหว่างทริปเลยนะ อยากได้แบบนั้น ชินกับ 600D ที่มีปุ่มกดปิดจอ LCD
  • ใช้ Digital Tele-converter to 35 and 50 mm ในโหมด P S T M ไม่ได้ ถ้าตั้งบันทึกภาพเป็น RAW อันนี้พอเข้าใจได้เพราะกล้องต้อง Process ภาพออกมาเป็น JPEG แต่ไม่บอกในคู่มือ หาสาเหตุนานมากว่าทำไมใช้ไม่ได้ กว่าจะหาเจอว่าเพราะเราตั้งเป็น RAW ไว้เสียเวลาเป็นชั่วโมงเลย
  • กลัวที่ปิดเลนส์หาย ความจริงมันก็ปิดแน่นดีนะแต่ก็กลัวหาย เพราะต้องเปิดปิดตลอด
  • กลัวเลนส์เป็นรอย กำลังหาฟิวเตอร์มาใส่ แต่มันต้องมีตัวแปลงใส่เพิ่มก่อน
  • มันไม่มี view finder ต้องซื้อเพิ่มเอง

โดยรวมแล้ว Fujifilm X70 ตัวใหม่ของเรา ทำให้ถ่ายรูปสนุกขึ้น ช่วยให้ชีวิตถ่ายภาพได้ง่ายและได้ภาพ(ที่ดี)ง่ายขึ้น กล้องตัวเก่าทำงานในโหมดอัตโนมัติต่างๆได้แย่มาก ทำให้เราชินกับโหมด M มากกว่า ไม่ใช่ไม่อยากใช้โหมดอื่นๆแต่มันทำงานได้ไม่ดี ทำให้ภาพเสียเยอะและไม่ได้ดังใจนึกเลยไม่อยากใช้ แต่ถึงจะใช้โหมด M จนชินและคล่องแค่ไหนยังไงก็เร็วเท่าโหมดอัตโนมัติ P S T ในกล้องไม่ได้ มันเก่งขึ้นมาก คิดว่าในกล้องรุ่นใหม่อื่นๆก็น่าจะดีขึ้นมากๆ เหมือนกัน ไอ้เรามันใช้กล้องรุ่นเก่ามันเลยตามเทคโนโลยีเขาไม่ทัน เลยทำเป็นตื่นเต้นกับเทคโนโลยีใหม่ที่เพิ่งจะได้ใช้กับเขาเท่านั้นเอง

Exit mobile version