มาอ่านวรรณกรรมคลาสสิคกันเถอะ

ตลอดหลายปีที่ผ่านมาหนังสือที่อ่านจะอยู่ในหมวด non-fiction เป็นส่วนใหญ่ ถ้าจะเจาะจงคงเป็นหนังสือ pop-sci เป็นหลัก อาจจะเพราะมันอ่านเข้าใจง่าย ตรงไปตรงมา และเข้ากับคลังความรู้พื้นฐานที่มี ทำให้มันไปได้ง่ายและเร็ว หมวดอื่น ๆ มักจะได้รับความสนใจน้อยมาก

แต่เมื่อไม่นานมานี้ได้อ่านเจอบทความที่บอกว่า เราควรอ่านหนังสือให้หลากหลายแนว หนังสือก็เหมือนอาหาร ที่ต้องทานให้หลากหลายและครบถ้วน

หมวดแรกที่ถูกเลือกหยิบมาก่อนคือ นิยายและวรรณกรรมคลาสสิก

ช่วงที่ผ่านมาจึงได้ตั้งใจว่าจะลองอ่านหนังสือหมวดวรรณกรรมคลาสสิคให้มากขึ้น ลองค้นดูตามลิสต์ที่เขาแนะนำตามเว็บไซต์ (100 must-read classic books) มีให้เลือกหลากหลายมาก แต่ก็จะมีซ้ำ ๆ กันอยู่บางส่วน จึงเลือกจากตรงนั้น รวมกับความสนใจส่วนตัวไปด้วย

Classic Literature Books

นี้คือหนังสือหมวดวรรณกรรมคลาสสิคที่ได้อ่านไปแล้วบางส่วนในช่วงที่ผ่านมา

-To Kill a Mockingbird
-The Handmaid’s Tale
-Fahrenheit 451
-Frankenstein
-Dune
-The Time Machine
-The War of the Worlds
-The Invisible Man
-The Island of Dr. Moreau
-The Alchemist
-The Giver
-Animal farm
-The Little Prince
-Alice’s Adventures in Wonderland

สิ่งที่ได้หลังจากอ่านหนังสือวรรณกรรมคลาสสิคเท่าที่ผ่านมาจากรายการด้านบน อันดับแรกเลยคือ มันสนุก น่าติดตาม เกินกว่าที่คิดไว้เยอะเลย เนื้อหาหนักบ้างเบาบ้างแล้วแต่เล่ม แต่แนวคิดและสิ่งที่จะสื่อค่อนข้างแข็งแรง ตามแนวทางของผู้เขียน ไร้กาลเวลาดูไม่เก่าเลย ทั้ง ๆ ที่บางเล่มตีพิมพ์ครั้งแรก 200 กว่าปีแล้ว (Frankenstein, 1818) แทบไม่มีเล่มไหนเลยที่ทำให้ผิดหวัง รู้สึกคุ้มค่าที่ได้อ่าน และได้อะไรกลับมาให้คิดต่อทุกเล่ม สมควรแล้วที่ถูกยกให้เป็นคลาสสิค

มีหลายเล่มที่มีบทวิเคราะห์ลึกระดับวิทยานิพนธ์ (To Kill a Mockingbird, The Handmaid’s Tale, Fahrenheit 451, etc.) ให้ได้ตามอ่านเพิ่มเติม มันดีถึงกับมั่นใจที่จะแนะนำต่อให้คนอื่น ๆ ได้อ่านด้วย แต่มีบ้างในบางเล่มที่ภาษาที่ใช้ไม่คุ้นเคยเลย (To Kill a Mockingbird) ต้องค้นหาความหมายบ่อยครั้งในช่วงแรกของเล่ม แต่ก็ถือว่าได้คลังคำศัพท์เพิ่มขึ้นมา

คิดว่าในช่วงของปีนี้ก็จะยังอ่านกลุ่มนี้ไปเรื่อย ๆ ก่อน
นอกจากนี้ ได้ลองอ่านแนว Poetry ไปบ้างนิดหน่อย พบว่าเปิดโลกดีทีเดียว หลังจากนี้ก็คิดว่าจะหยิบมาอ่านเพิ่มด้วยเช่นกัน

ใครมีหนังสือแนววรรณกรรมคลาสสิคเล่มไหนดีๆ อยากบอกต่อ แนะนำด้วยนะครับ เรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับหนังสือ

ฝึกให้อ่านเร็วขึ้น ตอนกำจัดเสียงอ่านในใจ

ผมเป็นคนอ่านหนังสือช้า นี่คือบันทึกการฝึกอ่านให้เร็วขึ้น

ฝึกอ่านให้เร็วขึ้น

ข้อแรก ที่ต้องฝึกอันดับแรกถ้าต้องการอ่านได้เร็วขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นข้อที่ทำยากมากที่สุด ถ้าทำได้จะเร็วขึ้นแน่นอน คือ กำจัด “subvocalizing” หรือ เสียงอ่านในใจ

ตอนที่เราอ่านหนังสือ แม้จะไม่ได้เปล่งเสียงออกมาจริงๆ เราก็จะยังออกเสียงคำๆนั้นในใจ บางคนอาจจะมีการขยับริมฝีปากตามเบาๆเสียด้วยซ้ำ
สิ่งนี้เลยทำให้เราไม่สามารถอ่านได้เร็วเกินกว่าพูดเลย(150-200 คำต่อนาที)
ทั้งๆที่ตาและสมองไปได้เร็วกว่าอย่างมาก

แต่ว่าการกำจัดเสียงอ่านในใจนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย และต้องใช้เวลาในการฝึก เพราะมันถูกติดตั้งมาตั้งแต่เราเริ่มหัดอ่านครั้งแรก ครูก็ฝึกให้เราอ่านออกเสียงตั้งแต่เด็ก มันจึงติดตัวเรามาตลอด

มีวิธีกำจัดสิ่งนี้หลายวิธี แต่วิธีฝึกที่มีการแนะนำมากวิธีหนึ่ง คือ ลองเปิดหนังสือขึ้นมาหน้าหนึ่ง มองไปที่คำใด คำหนึ่งในนั้น แล้วคิดถึงความหมาย ทำความเข้าใจคำนั้น โดยพยายามไม่ออกเสียงคำนั้น ไม่ขยับปาก ไม่เปล่งเสียงในใจ จากนั้นก็มองหาคำอื่นทำแบบเดิม ซ้ำไปเรื่อยๆ จนชิน อาจจะต้องใช้เวลาพอสมควร
เมื่อคิดว่าไม่มีเสียงตอนอ่านแล้ว จึงค่อยเริ่มลองอ่านแบบปกติ

นี่คือ ขั้นแรก ขั้นที่ยากที่สุด ที่ต้องทำให้ได้ก่อน ถ้าทำได้เร็วขึ้นแน่นอน

สำหรับตัวเองนั้น หนังสือภาษาไทยคิดว่าทำได้ แต่หนังสือภาษาอังกฤษยังอยากอ่านออกเสียงอยู่นะ เพื่อพัฒนาการฟังและการออกเสียงไปด้วยกัน

ในส่วนขั้นต่อไปค่อยมาเขียนต่อในวันหลังก็แล้วกัน

Exit mobile version