เพิ่มแรมให้ Macbook Pro จาก 4 GB เป็น 8 GB ด้วยตนเอง

ทำไมต้องอัพแรมให้ Macbook Pro

Macbook Pro ที่ใช้อยู่มีแรมมาให้ 4 GB ซึ่งการใช้งานทั่วไปถือว่าโอเคแล้ว แต่เมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมาได้ใช้งานโปรแกรมที่ทำงานเกี่ยวกับการประมวลผลด้วยภาพ และพวกโปรแกรมวาดภาพ โดนโปรแกรมฟ้องว่าแรมไม่พอใช้งาน ทำงานต่อไม่ได้เลย ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะ Mac OSX Lion มันกินแรมเยอะด้วยส่วนหนึ่ง และตอนที่รัน Parallel Windows ด้วยแล้ว แรมไม่เหลือเลย ด้วยเหตุนี้เลยคิดจะเพิ่มแรมให้ Macbook Pro เจอราคาอัพแรมใน iStudio พบว่ามันแพงมาก แถมบางอันต้องเทิร์นแรมตัวเก่าด้วย

ราคาอัพแรมของ Macbook Pro วันที่ 18 ต.ค. 2554

ข้อมูลจาก https://www.maccafethai.com/portable_macbookpro.html

ผมไม่มีข้อมูลนะว่าทำไมการเพิ่มแรมที่  iStudio ถึงแพงต่างกันเยอะขนาดนั้น เป็นเหตุให้ต้องหาข้อมูลวิธีการเพิ่มแรม Macbook ด้วยตนเอง ได้ข้อมูลมาดังนี้ครับ

  1. การเพิ่มแรมเอง ไม่เป็นเหตุให้ประกันหมด อันนี้โอเคแสดงว่าเราทำเองได้
  2. แรมที่มีขายตามท้องตลาด สามารถใช้ร่วมกันได้ (ชนิด,บัส ให้ตรงกันนะ)
  3. ในคู่มือที่ให้มาพร้อมเครื่องมีวิธีการเพิ่มทั้งแรมและอาร์ดดิสอยู่ด้วย สามารถเปิดดูแล้วทำตามได้เลย ในเว็บก็มี https://support.apple.com

เมื่อรู้ดังนี้จึงตัดสินใจจะเพิ่มแรมให้น้อง Macbook Pro ครับ ส่วนท่านที่สนใจจะเพิ่มแรมให้ Mcbook Pro ของตัวเองก็อยากให้ดูข้อมูลหลายๆด้านข้อดีข้อเสียก่อนจะตัดสินใจนะครับ

ขั้นตอนการอัพแรมด้วยตัวเอง

อุปกรณ์ที่ต้องเตรียมเพื่อเพิ่มแรมให้ Macbook Pro จาก 4 GB (2×2 GB)เป็น 8 GB (2×4 GB)

Ram ยี่ห้อ Kington กับชุดไขควง

แรมที่ซื้อมาคือ แรมสำหรับโน๊ตบุ๊ค ขนาด 4 GB /DDR3 /1333 MHz ยี่ห้อ Kington 2 อัน ราคาตัวละ 790 บาท (790×2=1,580 บาท) กับชุดไขควรซื้อที่ชั้นล่างห้างพันทิพนั้นแหละ ราคา 150 บาท ใครมีอยู่แล้วก็ใช้ได้เลย Macbook ต้องใช้ไขควรหัวแฉกครับ
ก่อนเพิ่มแรมในเครื่องเป็นแบบนี้นะครับ

ก่อนอัพแรมเป็น 2GB 2 ตัว

ขั้นที่ 1

หาอะไรนุ่มๆรองน้อง Macbook ก่อน แล้วคว่ำหน้าลง

Macbook คว่ำหน้าลง

ขั้นที่ 2

ไขน๊อตที่อยู่ด้านหลังออกทีละอัน มีอยู่ทั้งหมด 10 ตัว โดยมันจะมี 3 ตัว ด้านบนชวาจะยาวกว่าตัวอื่นๆ ควรหาอะไรใส่แยกไว้ว่าตัวไหนอยู่ตำแหน่งไหนด้วย เวลาประกอบกับเข้าไปจะได้ใช้ตัวเดิม

ไขน็อตที่ด้านออก

ผมเก็บน็อตไว้แบบนี้ครับ เอากาวสองหน้าติดไว้บนแผ่นพาสติกแล้วเอาน้อตติดไว้ตามตำแหน่งที่มันอยู่ เวลาหมุนกลับจะได้ไม่สับสน

น๊อตเรียงตามตำแหน่งบนเครื่อง Macbook

 ขั้นที่ 3

ยกฝากด้านหลังออก ก็จะเผยให้เห็นอุปกรณ์และวงจรไฟฟ้าของเครื่อง Macbook ถูกวางไว้อย่างเป็นระเบียบ

ยกฝาหลังออก
เปิดฝาหลังออก ก็จะเห็นอุปกรณ์ต่างๆภายใน

เห็นแรมแล้ว ตัวเขียวๆนี้เอง

แรมของ Macbook มีตราของซัมซุงอยู่นะ ใครผลิตให้น่าจะรู้กัน

ขั้นที่ 4

ถ้าดูตามขั้นตอนของ Apple เขาจะให้เราเอามือแตะตรงโลหะก่อนเพื่อเคลียร์ประจุไฟฟ้าสถิตจากร่างกายก่อน แต่ผมก็ไม่ได้ทำนะ เริ่มถอดแรมตัวเก่าออกเลย ถอดง่ายๆครับ เอามือถ่างขาล็อกด้านข้างออกแรมจะเด้งออกมาเอง

ถ่างขาล็อกออก แรมจะเด้งออกมา
แรมยกขึ้นแล้วก็ดึงเบาๆก็หลุดออกมาแล้ว

เมื่อถอดตัวแรกออกแล้วจะเห็นตัวที่สองอยู่ด้านล่าง วิธีถอดออกก็ทำเหมือนกัน

ถอดแรมออกหมดแล้ว

แรมตัวเก่า 2x2GB ถอดออกมาหมดแล้ว พร้อมที่จะใส่ตัวใหม่ 2x4GB เข้าแทนได้แล้ว
วิธีใส่แรมเข้าไป ก็เสียบให้ตรงร่องของมันแล้วก็กดลง ตัวล็อกจะยึดมันให้แน่น ดูให้ดีว่าลงร่องพอดี ตัวด้านล่างอาจจะใส่ลำบากนิดหน่อยแต่ก็ไม่ได้ยากเย็นอะไร

แรมตัวใหม่ถูกใส่เข้าไปแทนตัวเก่าแล้ว

ขั้นสุดท้าย

ปิดฝา แล้วขันน๊อตตัวเดิมในตำแหน่งเดิมลงไป ตอนแรกผมจะยังหมุนแค่หลวมๆก่อน เผื่อว่ามีปัญหาจะได้ไม่ต้องมาไขใหม่ให้ลำบาก

พร้อมทดสอบแล้ว

เปิดเครื่องทดสอบดูว่าใช้งานได้หรือไม่  ถ้าไม่มีปัญหาค่อยกลับมาหมุนน๊อตให้แน่น(ปิดเครื่องก่อนด้วยก็ดี)

ใส่แรมเข้าไปแล้ว ตอนนี้มี 8 GB แล้ว 4 GB 2 ตัว

ดูการทำงาน ขณะที่เขียนบล็อกอยู่

การใช้งานแรม 8 GB

สรุปดังนี้ครับ ทำเองไม่ยากอย่างที่คิด ประหยัดกว่าตั้งเยอะ และอย่าลืมเก็บแรมตัวเก่าไว้ด้วยเผื่อว่าต้องเคลมเครื่องอาจจะต้องใส่กลับ กรณีที่ต้องเคลมทั้งเครื่องแบบเปลี่ยนเครื่องใหม่เลย ส่วนการซ่อมปกติไม่เป็นไร

การใช้งานหลังเพิ่มแรมเป็น 8 GB รู้สึกว่าทำงานได้เลื่อนขึ้นในโปรแกรมที่เคยมีปัญหา ถือว่าถูกใจที่ได้เพิ่มแรมให้น้อง Macbook Pro

ตอนนี้ Macbook Pro รุ่นใหม่สามารถเพิ่มแรมได้สูงถึง 16 GB แต่แรมตัว 8 GB ยังแพงอยู่มาก และคิดว่าตัวเองยังไม่มีความจำเป็นขนาดนั้น ถ้าราคาถูกลงและมีความจำเป็นค่อยว่ากันอีกที หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับคนที่อยากเพิ่มแรมให้ Macbook Pro ด้วยตนเองนะครับ

ซื้อ Macbook มาวันที่ 3 มิ.ย. ก็อัพเดตเป็น OS X Lion ฟรี

ผมซื้อตัว Macbook Pro จาก U-Store ที่จุฬาฯ มาเมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 2011 ตัดสินใจซื้อตอนนั้นเพราะได้ข่าวว่า Apple จะเปิดตัว OS X Lion ในวันที่ 6 มิ.ย. 2011 ซึ่งปกติแล้ว Apple จะให้อัพเดตฟรีสำหรับใครที่ซื้อก่อนภายใน 30 วัน ตอนนั้นคิดว่า OS X Lion มันจะขายวันนั้นเลยหรือก็ไม่นานจากนั้นมาก แต่ผิดคาด Apple บอกจะเปิดขายผ่านทาง Mac App Store ในเดือนถัดไป แถมจะอัพเดตให้เฉพาะคนที่ซื้อหลังวันที่ 6 มิ.ย. 2011 ตอนนั้นผิดหวังนิดๆ แต่ดีหน่อยที่มันไม่ได้แพงมากนัก ราคา $29.99 หรือประมาณ 900 บาท (เทียบกับ Windows 7 ราคาประมาณ 4 พันกว่าบาท) ตอนนั้นก็ลืมเรื่องการอัพเดตฟรีไปแล้วจนถึงวันที่มันปล่อยออกมา

วันนี้(20 มิ.ย. 2011) Apple ปล่อยตัว OS X Lion ให้ดาวน์โหลดแล้ว ผมก็กดโหลดไปแล้วด้วย แต่พอไปเจอบล็อกของคุณ @kafaak บ่นเรื่องการอัพเดตผ่าน Up-to-date ไม่ได้ ทั้งๆที่ซื้อหลังวันที่ 6 มิ.ย. 2011 (รู้สึกว่าจะมีปัญหากับเครื่อง custom built เพิ่มฮาร์ดดิส,แรม) ในโพสเพื่อนของเขาได้ให้ลิงค์ของ Up-to-date ระบบที่จะทำให้เราอัพเดตได้ฟรีของโซนเอเชียไว้ให้ ลิงค์ Mac OS X Lion Up-to-Date

ผมก็เข้าไปทำตามขั้นตอนของ Up-to-date ไปเรื่อยๆ ต้องใช้ข้อมูลพวก Serial Number, ที่อยู่ ปรากฎว่า validate ผ่านด้วย ได้อัพเดตเป็น OS X Lion ฟรี!!! 

OS X Lion Free

เมื่อเราทำขั้นตอนต่างๆ(ผมไม่ได้จับภาพไว้ให้ดู T_T) เสร็จแล้วระบบจะให้โค้ดมา Mac OS X Lion Content code: xxxxxxxxxxxx (12 หลัก)

จากนั้นให้เข้าไปที่ ลิงค์นี้ กรอกรหัสลงไป แล้วคลิก Redeem (รหัสใช้ได้ครั้งเดียวนะ!)

Mac App Store Redeem

แล้วระบบจะนำเข้าไปหน้า Mac OS X Lion จากนั้นเราก็คลิกโหลดได้เลย (ผมกดโหลดค้างอยู่ก่อนแล้ว มันก็บอกว่ากำลังโหลดอยู่ หวังว่ามันจะไม่เรียกเก็บเงินจากอันแรกที่ยังไม่ได้ทำ Up-to-date นะ)

Oder ที่ Apple ส่งมาให้

ผมไม่รู้ว่าการตรวจเช็ควันซื้อสินค้าของ Apple มีขั้นตอนยังไงนะครับ แต่คิดว่าการซื้อที่ร้าน Authorized Resellers น่าจะทำให้วันซื้อที่จะถูกบันทึกในระบบมี delay อยู่บ้างเล็กน้อย ใครที่ซื้อในช่วงก่อนวันที่ 6 มิ.ย. 2011 อยากให้ลองไปใช้ระบบนี้ดูก่อนนะครับ อาจจะได้อัพเดตฟรีก็ได้นะ!!

สุดท้าย ขอขอบคุณ @kafaak ที่อัพบล็อก Apple Up-to-date ทำให้ผมได้ลองเข้าไปใช้งาน และทำให้ประหยัดเงินไปได้ 900 บาท

การตั้งค่าปริ้นเตอร์ ให้พิมพ์หน้าหลังอัตโนมัติ

อันนี้ถือเป็นความรู้ใหม่ของผมเลย เพิ่งว่าเครื่องพิมพ์บางรุ่นมันสั่งให้พิมพ์สองหน้าแบบอัตโนมัติได้เลย แต่ก่อนเคยทำแบบนี้ครับ พิมพ์หน้าคี่ก่อน แล้วค่อยเอามาพิมพ์หน้าคู่อีกที ฟีเจอร์นี้น่าจะมีมานานแล้วแต่คงเพราะผมยังไม่มีโอกาสได้ใช้เครื่องพิมพ์ราคาแพงที่ทำแบบนี้ได้

ก่อนจะตั้งค่าก็ต้องดูก่อนว่าเครื่องพิมพ์ของเรารองรับความสามารถนี้หรือเปล่า เครื่องที่ผมใช้เป็นยี่ห้อ HP (HP Color LaserJet CM2320fxi MFP) ในหน้าแสดงรายละเอียดของฟีเจอร์นี้ มีบอกว่ารุ่นไหนที่รองรับการพิมพ์หน้าหลังแบบอัตโนมัติได้บ้าง (คลิกลิงค์นี้) เครื่องพิมพ์ยี่ห้ออื่นไม่รู้มีรุ่นไหนบ้างที่รองรับต้องลองเช็คดูก่อนนะครับ

วิธีการตั้งการค่าใน Windows ค่อนข้างทำง่าย มีวิดีโอสอนด้วยครับ ส่วนใน Mac OS X 10.6 ยุ่งยากพอควร(เพิ่งใช้) เลยขอบันทึกเก็บไว้เผื่อได้ดูเองภายหลัง

การตั้งค่าเครื่องปรินเตอร์ให้พิมพ์หน้าหลังอัตโนมัติ

  1. ติดตั้งไดร์เวอร์ให้เรียบร้อยก่อน คือให้สั่งพิมพ์แบบปกติให้ได้ก่อน
  2. เข้าไปที่ System Preferences>>Print & Fax

    เลือก Print&Fax

  3. จากนั้นไปคลิกที่เครื่องปริ้นเตอร์ของเรา เลือก Options & Supplies…

    เลือก Option ของเครื่องปริ้นเตอร์

  4. แล้วเลือกที่ tab ของ Driver ติ๊กเลือก Duplex Unit

    เลือกที่ Duplex

  5. ต่อจากนั้น ก็ไปที่เอกสารที่ต้องการสั่งพิมพ์ แล้วก็สั่งพิมพ์ตามปกติ เลือกเครื่องปริ้นเตอร์ของเรา จะพบว่ามีช่อง Two-Sided เพิ่มขึ้นมา (ถ้าไม่ทำตามข้อที่ 1-4 มันจะไม่มี) ด้านล่างเลือกเป็น Long หรือ Short Egde binding ขึ้นอยู่กับเอกสารที่เราจะพิมพ์
    – Long-Egde binding เป็นแบบเอกสารธรรมดาเปิดซ้ายไปขวา
    – Short-Egde binding เป็นเหมือนปฏิทินตั้งโต๊ะที่เปิดขึ้นด้านบน 

    สั่งให้พิมพ์หน้า-หลัง

  6. เสร็จแล้ว สั่งพิมพ์ได้เลย แล้วก็ save การตั้งค่าไว้ใช้ครั้งต่อไปด้วยนะ จะได้สะดวกเมื่อจะสั่งพิมพ์อีก

ประสบการณ์ใช้งาน Macbook Pro ในหนึ่งสัปดาห์

Macbook Pro

ตอนนี้ใช้ Macbook Pro เข้าสัปดาห์ที่สองแล้ว เลยขอเขียนถึงมันหน่อย ตัวที่ใช้เป็น Macbook Pro รุ่นจอ 13 นิ้ว CPU เป็น Core i5 เขียนแบบนึกอะไรออกก็เขียนเลยนะ

  • แน่นอน! มันสวยมาก เครื่องแบบ Unibody ทำให้รู้สึกว่ามันแข็งแรงดี และทำความสะอาดง่าย ไม่ค่อยมีช่องรูเล็กๆ
  • การเปลี่ยนจาก Windows เป็น Mac OS X ไม่ยากเย็นอะไร ใช้ไปสัก 2-3 ชั่วโมงก็คุ้นเคยแล้ว โดยเฉพาะการใช้ TouchPad รู้สึกว่าใช้งานได้ดีกว่า Windows อยู่นิดหน่อยในแง่ของการควบคุมการทำงาน มีวิธีใช้เป็นวีดีโอให้ดูใน System Preference
  • ส่วนหนึ่งที่ทำให้การย้ายจาก Windows มาเป็น Mac OS X ทำได้ง่าย เพราะเราใช้ Freeware, Open source ในการทำงานเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งโปรแกรมเหล่านี้ มีเวอร์ชั่นที่รองรับใน Mac OS X อยู่แล้ว ทำให้ตัวที่ใช้บ่อยๆ มาครบเกือบหมด อีกอย่างคือเคยใช้ Ubuntu อยู่พักหนึ่ง มีหลายส่วนที่เหมือนกัน
  • ตัว Port ต่างๆที่มากับเครื่อง ที่รู้สึกว่ายังไม่มีประโยชน์นะตอนนี้ คือ Thunderbolt มันคงมีประโยชน์ในบ้านเราน้อย ตัว USB 3.0 ดูจะเหมาะสมมากกว่า  อุตสาห์ซื่อ Ext HDD  USB 3.0 มา เครื่อง Macbook Pro ไม่รองรับ USB 3.0 ในขณะที่คู่แข่งฝั่ง PC ใส่มาหมดแล้ว Apple คงดัน Thunderbolt เต็มที แต่ต้องดูไปสักพักว่าจะเปลี่ยนไปใช้ USB 3.0 เมื่อไหร่ อย่างน้อยก็ต้องเปลี่ยนตัว 2.0 ให้เป็น 3.0 อุปกรณ์ต่างๆพวกเครื่องปรินต์วันหนึ่งคงต้องเปลี่ยนเหมือนกัน
  • Mac OS X เขียน Ext HDD ที่เป็น NTFS ไม่ได้ ต้องเข้าไปแก้ไขไฟล์ System บางตัว หรือง่ายกว่าคือลงโปรแกรมเสริม
  • หน้าสั่งปรินต์ใช้งานยากกว่าใน Windows มาก เพราะมันตั้งค่าได้ละเอียดมาก ต้องเลือกทีละเมนูไม่สะดวกเลย (ทางออกคือตั้งค่าไว้แล้ว save การตั้งค่าไว้ใช้ภายหลัง)
  • ถ้าคิดจริงๆแล้วราคามันไม่ต่างจาก PC เท่าไหร่ ถ้าเวลาซื้อโน๊คบุ๊คทั่วไปคุณบวกค่า Windows OS เข้าไปด้วย แต่ยังไงก็ถือว่าเป็นโน๊ตบุ๊คในกลุ่มราคาสูงอยู่ดี ใช้บริการของ U-Store ที่จุฬาฯ ทำให้ได้ราคาถูกลงเยอะพอดูเลย
  • แบตเตอรีอยู่ได้ 7 ชั่วโมงจริงๆ Apple ไม่ได้โม้แต่อย่างใด โน๊คบุ๊คที่เคยใช้มาไม่มีเครื่องไหนอยู่ได้เกิน 3 ชั่วโมงเลย
  • อันนี้แปลกใจหน่อยๆ เวลาซื้อโน๊ตบุ๊คของ Apple ทำไมร้านต้องถามว่าจะติดฟิล์มหน้าจอไหม? ทีซื้อโน๊คบุ๊คทั่วไป(ราคาเท่ากัน)ไม่เห็นมีร้านไหนถามเรื่องติดฟิล์มเลย สองมาตรฐานชัดๆ
  • สิ่งที่ต้องคำนึงมากที่สุดของการเปลี่ยนจาก Windows ที่ใช้มาตลอดมาเป็น Mac OS X คือโปรแกรมหลักที่ใช้ทำงานว่าซับพอร์ต Mac OS X หรือไม่ และตัวที่น่าจะเป็นปัญหามากที่สุดคืองานเอกสารพวก MS Office แม้จะมี Office for Mac แต่ทำงานร่วมกันกับ Windows  ได้ห่วยมาก ทางออกของการแก้ไขปัญหานี้คือ ใช้ Parallel ลง Windows แล้วไปใช้งาน MS Office บน Windows  แทน
  • จากที่ลองใช้งานโปรแกรมทางด้าน Office พบว่าตัว LibreOffice ทำงานได้ดีกว่า OpenOffice ในหลายๆอย่าง โดยเฉพาะการจัดรูปแบบ
  • ชุดโปรแกรม iWork ห่างชั้นจาก MS Office อยู่มาก พอจะสูสีหน่อยก็ Keynote กับ Power Point
  • ผมหาตัวโปรแกรมดูภาพแบบ Picasa Photo Viewer แบบใน Windows ที่ถูกใจไม่ได้เลย ที่อยากได้คือเมื่อเราเปิดโฟล์เดอร์รวมรูปขึ้นมา แล้วเปิดดู สามารถเลื่อนดูรูปต่อไปได้ แก้ไขได้เล็กน้อยเช่นหมุนภาพ ตัว Preview(เลื่อนดูรูปต่อไปไม่ได้) กับ iPhoto(ต้องคอย import เข้าไป) ทั้งสองตัวไม่ตอบโจทย์ของผม แต่มีตัวที่พอจะแก้ไขได้บ้างคือ Xee แต่ยังสู้ตัว Picasa Photo Viewer ไม่ได้
  • อันนี้ดี ตัวแชร์เน็ตผ่าน Wifi แบบที่โปรแกรม Conectify ใน Windows 7 พบว่าใน Mac OS X ทำได้ง่ายกว่ามาก
  • โปรแกรม Paint ที่ใช้ในการแต่งรูปเล็กน้อยๆเวลาจะเขียนบล็อก ใน Mac OS X ใช้ Paintbrush แทนได้ดี
  • App Store ของ Mac OS X มีโปรแกรมเยอะ ส่วนใหญ่ที่น่าใช้เป็นโปรแกรมเสียตังค์ทั้งนั้น(แหงอยู่แล้ว)
  • เล่น iOS emulator ได้แล้ว ว่างๆจะลองเขียน App ง่ายๆลองดู
  • ใช้เวลาบูธนานกว่า Windows 7 64 bit ใน Dell เครื่องก่อน แต่ตอนปิดเครื่องทำได้เร็วกว่า

โดยรวมตอนนี้ก็แฮปปี้ดีกับ Macbook Pro เครื่องนี้ คงจะอยู่กับเราไปอีกนาน ส่วนใครมีอะไรแนะนำ Mac user มือใหม่อย่างผม เชิญเขียนคอมเมนต์ด้านล่างได้เลยนะครับ

Exit mobile version