วีธีตรวจสอบอายุของมือถือ Android แอนดรอยด์

ถ้าอยากรู้ว่ามือถือ Android แอนดรอยด์ที่ตัวเองใช้งานอยู่นั้นมีอายุเท่าไหร่แล้ว สามารถตรวจสอบวันที่เปิดใช้งานครั้งแรกได้ 2 วิธีดังนี้

วิธีที่ 1 เช็ควันที่ลงทะเบียนเข้าใช้งานผ่านทาง Google dashboard

  1. เข้าไปที่ Google dashboard เพื่อเข้าไปดูรายละเอียด ผ่านมือถือหรือเปิดผ่านเว็บก็ได้
  2. อาจจะต้องล็อกอินด้วยบัญชีของ Google
  3. เลื่อนลงไป จนเจอหัวข้อ Android (ไอคอนหุ่นกระป๋องสีเขียว)คลิกเข้าไปดู จะมีรายการอุปกรณ์ที่เปิดใช้งานอยู่ ณ ตอนนี้ รวมถึงพวกแทบเล็ตด้วยเช่นกัน (ดูที่ภาพประกอบ)
รายละเอียดของมือถือที่เปิดใช้งาน

ในตัวอย่างตรงรายละเอียดของ Registered: July 27, 2016 คือวันที่เปิดใช้งานครั้งแรก (ใกล้จะ 5 ปีแล้ว)

วิธีที่ 2 เข้าไปดูรายละเอียดของอุปกรณ์ที่ลงทะเบียนไว้ที่ Google play store

เปิดลิงค์ Google play store เพื่อดูรายละเอียด จะเจอส่วนของรายละเอียดอุปกรณ์ แสดงเป็นรายการ และวันที่เปิดใช้งานครั้งแรกจะแสดงที่ช่องสุดท้ายสุด ดูภาพประกอบ

แสดงรายละเอียดอุปกรณ์ที่ใช้ Google play

ทั้งสองวิธีตรวจสอบผ่านการใช้งานครั้งแรกในระบบแอนดรอยด์เท่านั้น ซึ่งก็เพียงพอที่จะตรวจสอบได้ว่ามือถือที่ใช้อยู่อายุกี่ปีแล้ว ยังมีอีกหลายวิธี เช่น ตรวจสอบผ่านทางเลข IMEI ซึ่งมันดูยุงยากเกิน

ถ้าอยากรู้วันที่ซื้อมาจริงๆ คงต้องไปค้นหาบิลที่จ่ายตอนซื้อ หรือดูในออเดอร์ที่สั่งซื้อในเว็บไซต์ ถ้าซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ หรือไม่ถ้าใครถ่าย unbox มือถือไว้น่าจะได้รู้วันที่เปิดกล่องจริงๆ แต่ปกติได้มือถือใหม่มาส่วนใหญ่ก็ลงทะเบียนใช้งานเลย ซึ่งก็เพียงพอสำหรับตรวจสอบอายุการใช้งานของมือถือแอนดรอยด์ที่ใช้อยู่แล้วครับ

การตรวจดูว่ามือถือของเราว่าอายุเท่าไหร่แล้ว? ยังพอใช้งานได้ไหม? ถึงเวลาจะซื้อเครื่องใหม่แล้วหรือยัง? การที่มือถือยังคงใช้งานได้ดีก็คงไม่มีเหตุผลที่จะซื้อเครื่องใหม่ แต่ในยุคที่เราทำแทบทุกอย่างผ่านมือถือ เช่น ธุรกรรมทางการเงิน อีเมล์ ข้อความ โซเชียลมีเดีย และอื่น ๆ

มือถือที่เก่าจะขาดการอัพเดทระบบความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงในการพิจารณาว่าต้องซื้อมือถือเครื่องใหม่หรือยัง โดยเฉลี่ยแล้ว ระยะเวลาในการซัพพอร์ตของ iPhone อายุประมาณ 4-5 ปี ส่วนมือแอนดรอยด์จะเฉลี่ยอยู่ที่ราว 2-3 ปีเท่านั้นขึ้นกับแบนด์และรุ่นด้วย

ถ้าสนใจเรื่องเกี่ยวกับ Android คลิกลิงค์ดูเพิ่มเติมได้ครับ

AMP ช่วยให้ผู้ใช้มาจากมือถือแซงเดสก์ท็อปแล้ว

อะไรคือ AMP? เกี่ยวข้องยังไงกับบล็อกนี้?

เรื่องเล่าวันนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับบล็อกของตัวเองที่เขียนๆ หยุด ๆ มานานพอสมควร ถ้านับเวลาน่าจะเกิน 10 ปีได้แล้ว โพสแรก ตัวบล็อกมันอยู่ได้ด้วยตัวของมันเองโดยมีค่าโฆษณาจาก Google Ads ที่ติดไว้คอยเลี้ยงดู ไม่ได้เยอะ แต่เพียงพอที่จะจ่ายค่าโฮสและค่าโดเมนรายปีได้ ทั้ง ๆ ที่บางปีเขียนเรื่องใหม่ไปแค่ 1-2 เรื่องเท่านั้น ต้องขอบคุณคนคลิกเข้ามาดู ที่สำคัญตลอดเวลาที่ผ่านมารายได้มาจากผู้ใช้งานเดสก์ท็อปเป็นหลัก


ในยุคปัจจุบันที่คนส่วนใหญ่ไปอยู่ในแพลตฟอร์มโซลเชียลกันหมดแล้ว แต่แนวบล็อกหรือเว็บไซต์ก็ยังให้ความรู้สึกว่าชอบมากกว่า นั่งกดอ่าน feed ผ่าน RSS ก็ยังเป็นกิจวัตรประจำวันเหมือนเดิม คิดว่ายังคงต้องทำต่อไปเรื่อย ๆ

เข้าเรื่องหลักเลยแล้วกัน เมื่อราวสองเดือนก่อนตอนที่เข้าไปดูรายงานของ Google Adsense มีข้อความแนะนำจากระบบประมาณว่า
เฮ้ย…ไม่ปรับปรุงเว็บของแกให้แสดงผลให้เป็นมิตรกับคนใช้มือถือหน่อยหรอ คนใช้เยอะนะ
เอารายละเอียดของ AMP (Accelerated Mobile Pages )ไปอ่าน แล้วลองทำดูซ่ะนะ เลยลองทำตามคำแนะนำ

ซึ่งโดยปรกติแล้วอะไรที่เขานิยม ใน WordPress ก็จะมีปลั๊กอินรองรับอยู่แล้ว
จากนั้นแค่เข้าไปโหลด ปลั๊กอิน มาติดตั้ง คลิก 2-3 ที ก็เสร็จ
ง่ายเช่นกันในการเอา Google Ads ฝั่งลงไปในระบบ เข้าไปด้วย

สิ่งที่ได้หลังจากนั้นในช่วงที่ผ่านมา รายได้ใน Google Ads ผ่านมือถือแซงรายได้จากเดสก์ท็อปไปแล้ว ความจริงแล้วพอลองเข้าไปดูใน Google Analytic ดี ๆ จะพบว่าอุปกรณ์ที่เข้ามาในบล็อกนี้ก็เป็นโทรศัพท์มือถือระดับไฮเอนด์อยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดสก์ท็อปมาได้สักพักใหญ่ ๆ แล้ว แต่เพิ่งจะมาแซงตอนปรับให้มีเพจสำหรับมือถือ

ดังนั้นในเดือนนี้ต้องขอบันทึกไว้ว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา 10 กว่าปี ตอนนี้รายได้จากคนใช้มือถือได้แซงฝั่งเดสก์ท็อปไปแล้ว คนอื่นอาจปรับตัวไปนานแล้ว แต่พวกไม่สนใจอะไรเพิ่งจะปรับตัวตาม (หมายถึงตัวเอง) เลยเพิ่งจะเห็นผล

แหล่งรายได้ของบล็อกนี้ จากโทรศัพท์มือถือมากกว่าเดสก์ท็อปแล้วในช่วงที่ผ่านมา

แต่ถ้าไปดูรายงานของทั่วโลกมือถือแซงเดสก์ท็อปไปตั้งแต่ปี 2016 แล้ว ลิงค์ข่าว

ปล. ในปีที่ผ่านมาเราได้เห็นแล้วว่าในอุตสาหกรรมเกม มือถือก็กำลังจะแซงเกมบนเดสก์ท็อปแล้วเช่นกัน

“ย้ำอีกที มือถือคืออุปกรณ์หลักของคนใช้อินเทอร์เน็ตนานแล้ว” ปรับตัวซะ

Google Photos จะไม่ฟรีแล้ว ทำยังไงดี?

จากกรณีที่ Google Photo จะเลิกให้ backup ภาพฟรีแล้ว ตามนโยบายใหม่ ที่จะเริ่มใช้งานในกลางปีหน้า https://blog.google/products/photos/storage-changes/

ความจริงแล้วรูปที่จะอัพโหลดขึ้น Google Photos ได้ฟรีนั้นจะต้องเป็นภาพที่ขนาดไม่เกิน 16 MP ถ้าเกินกว่านั้นก็จะนับรวมกับ Google Storage ที่เรามี ถึงจะอัพโหลดภาพที่ใหญ่กว่านั้นขึ้นไป ก็ยังมี tool ที่สามารถย่อให้กลับให้มาอยู่ในขนาดที่กำหนดได้ แต่หลังจาก 1 มิถุนายน 2021 ปีหน้า บริการที่ว่านี้จะหมดลง ทำให้รูปที่อัพโหลดขึ้นไปหลังจากนั้นจะถูกคิดพื้นที่ทั้งหมด และจะให้พื้นที่ฟรีเริ่มต้น 15 GB

Google Photos จะไม่สามารถ backup ภาพได้ฟรีแล้ว


ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับตัวเองโดยตรงคือ Google Photos ที่ใช้อยู่ปัจจุบันถูกใช้เป็นคลังเก็บรูปทั้งหมด แม้ว่ารูปที่อยู่ในคลัง ณ ตอนนี้จะยังอยู่ อันนี้ถือว่าโอเคมากๆ แต่ต้องมาคิดว่าในอนาคตจะทำยังไงต่อไป

จำนวนภาพที่เก็บไว้ใน Google Photos

ต้องคำนวณดูก่อนว่าที่ผ่านมาตลอด 5 ปีใช้พื้นที่ในการเก็บรูปไปประมาณเท่าไหร่ จะได้คำนวณพื้นที่เก็บในอนาคต ได้ถูกต้อง ณ ปัจจุบันคำนวณโดยคร่าวๆ จากปริมาณรูปและขนาด พบว่าใช้พื้นที่เก็บรูปไปประมาณ 380 GB โดยเฉลี่ยภาพ 3 ปีหลังจะต้องใช้พื้นที่ในการเก็บเพิ่มขึ้นประมาณ 100 GB ต่อปี

พอได้ความต้องการโดยคร่าวๆแล้วมาดูว่าจะจัดการกับภาพในอนาคตอย่างไรดี

ตัวเลือกที่ 1 ซื้อพื้นที่เพิ่มจาก google ซึ่งจะใช้รวมกับ Gmail, Drive, Photos ราคาดังนี้
-100 GB ราคา 70 บาทต่อเดือน (700 บาทต่อปี)
-200 GB ราคา 99 บาทต่อเดือน (990 บาทต่อปี)
-2 TB ราคา 350 บาทต่อเดือน (3500 บาทต่อปี)
ถ้าจะซื้อเป็นรายปีก็จ่ายในราคา 10 เดือน
ถ้าเลือกตัวเลือกนี้ ตัวเลือก 100 GB น่าจะพอในปีแรก แล้วค่อยอัพเกรดในปีต่อๆไป

ตัวเลือกที่ 2 ตอนนี้เป็นสมาชิก Amazon Prime ยังใช้งานได้
สามารถใช้พื้นที่ได้แบบไม่จำกัด โดยจ่ายค่าสมาชิกรายปี 69 Euro (2,500 บาท) ตอนนี้ถูกใช้เป็นพื้นที่เก็บภาพไฟล์ RAW เป็นส่วนใหญ่ ถ้าจะย้ายการเก็บภาพทั้งหมดมาไว้ที่นี้ แต่ความสะดวกก็จะลดลงนิดหน่อย เมื่อเทียบ Google photos
และอีกอย่างการเป็นสมาชิก Amazon Prime แต่ไม่ได้ใช้สิทธิการส่งของฟรี รู้สึกเหมือนว่าความคุ้มค่าจะลดลง ถึงจะยังได้ Free Video, E-book, Photos อยู่ก็ตาม

สรุป จ่าย 700 บาทต่อปีสำหรับ 100GB และยกเลิก Amazon Prime น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ทั้งๆที่เงินก็ไม่ได้มากมายอะไร แต่พอต้องจ่ายในสิ่งที่ไม่เคยจ่ายดันรู้สึกแพงขึ้นมาซะงั้น แต่รอดูสถาการณ์เมื่อใกล้ถึงกำหนดอีกว่า จะเปลี่ยนใจหรือไม่

ปล. ใครมีบริการอื่นๆ อยากแนะนำ บอกกันมาได้นะครับ

Google Pixel Buds หูฟังแปลภาษาแบบ real-time ใช้กับมือถือรุ่นอื่นได้ไหม?

Google เปิดตัวผลิตภัณฑ์หลายอย่างจาก Event ในเดือนตุลาคม เอาเป็นว่าเข้าไปดูได้ที่ https://store.google.com แต่มีอย่างหนึ่งที่น่าสนใจมากจนต้องมาเขียนถึงเลย คือ Google Pixel Buds หูฟังไร้สายที่ทำงานร่วมกับมือถือเพื่อแปลภาษาแบบ real-time ทำให้คนที่คุยกันคนละภาษาสามารถคุยโต้ตอบกันได้เลย มันเจ๋งมาก

Google Pixel Buds

มันทำงานแบบไหน และเจ๋งแค่ไหนลองดูได้ที่วิดีโอสาธิตการใช้งาน

ก่อนจะกดสั่งซื้อ เลยตั้งคำถามสำคัญก่อน

  • หูฟังแปลภาษาตัวนี้ใช้กับมือถือรุ่นอื่นได้หรือไม่?
    คำตอบ: ไม่ได้

เมื่อเข้าไปดูใน รายละเอียดของ Google Pixel Buds Requirements & Specifications

  • ระบุไว้ดังนี้ ใช้สำหรับเป็นหูฟังไร้สาย Bluetooth ใช้ได้กับ
    -Android 5.0 ขึ้นไป
    -iOS 10.0 ขึ้นไป
  • ถ้าอยากใช้ผู้ช่วย Google Assistant
    -Android 6.0 ขึ้นไป
  • แต่ตัวสำคัญ ถ้าต้องใช้ Google Translate เพื่อแปลภาษาแบบ real-time (ฟีเจอร์ที่อยากใช้)
    – ต้องใช้ร่วมกับมือถือ Pixel หรือ Pixel 2 เท่านั้น

สรุปว่ามันคือ Exclusive feature สำหรับ Google Pixel Phone ใช้ได้ทั้งรุ่นแรก และรุ่น 2 แต่ไม่รองรับมือถือแอนดรอยด์รุ่นอื่น

(เสียใจ)

Google Trips แอพช่วยวางแผนก่อนเที่ยว

เมื่อสุดสัปดาห์ได้ไปเที่ยวที่เบลเยี่ยมแบบ one day trip เราไปกัน 2 เมือง คือ Bruges และ Brussels ทั้งสองเมืองเรียกได้ว่าไปเมืองท่องเที่ยวอันดับต้นๆของโลกเลยทีเดียว สวยและมีที่ท่องเที่ยวเยอะมากสำหรับวันเดียว

Grand Place in Brussels

แต่สิ่งที่อยากจะเล่าไม่ใช่เมืองที่ไปเที่ยวนะครับ แต่จะเล่าว่าได้ใช้แอพพลิเคชั่นตัวหนึ่งที่เพิ่งจะเปิดตัวได้ไม่นานนักชื่อ Google Trips เป็นช่วยตัวนำทาง ซึ่งถือว่ามันโอเคมากๆ

เมื่อเราจะไปเที่ยวเมืองๆหนึ่ง ทุกเมืองก็มักจะมี สิ่งที่ต้องทำ ที่ที่ต้องไป ร้านอาหารเครื่องดื่ม ฯลฯ ถ้าเอาแบบดั้งเดิม เราคงค้นดูในรีวิวที่คนอื่นไปมาแล้ว เอามาเล่าต่อแล้วพยายามไปตามนั้น พันทิพคงเป็นทางออก แต่ยอมรับว่าต้องเสียเวลาและพลังงานในการวางแผนเยอะ

ส่วนตัวแอพ Google Trips จะแนะนำสิ่งต่างๆเหล่านั้นให้เรา แล้วแนะนำได้ดีมากๆด้วยนะ

Google Trips – Travel Planner

Google มีฐานข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่มหาศาลอยู่แล้ว จึงสามารถแนะนำข้อมูลได้ดี(กว่าคนอื่น) นอกจากนี้ตัวฟีเจอร์ที่เยี่ยมที่สุด ที่ใช้กับทริปเบลเยี่ยมนี้ คือ โหมด offline ครับ เพราะในการเที่ยวเพียงวันเดียว ไม่อยากเปิด Data Roaming หรือซื้อซิมใหม่เพียงเพื่อจะใช้แค่วันเดียว แต่ส่วนจำเป็นที่สุดของการท่องเที่ยว คือ แผนที่ โหมด offline ที่โหลดข้อมูลต่างๆเก็บไว้ใช้ในวันเดินทาง ในตอนที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตใช้นั้น มันดีและใช้ประโยชน์ได้จริง

Google Trips – Travel Planner

ในความจริงแล้ว Google Maps มีโหมด offline เหมือนกันครับ เราสามารถโหลดแผนที่ของเมืองที่เราจะไปมาเก็บได้ แต่ Google Trips จะต่างกันตรงที่ มีการจัดทริปให้ มีการเรียงลำดับสถานที่ท่องเที่ยวในที่ต่างๆให้ พร้อมดาวน์โหลดแผนที่แบบ offline ให้ ซึ่งมันมีประโยชน์มากสำหรับการเดินเที่ยวแล้วเปิด GPS ไปด้วย ทำให้ไม่หลงทาง หรือการเลือกสถานีรถไฟที่ใกล้กับจุดต่างๆที่อยากไปก็ง่ายขึ้น และยังบอกเวลาเปิด-ปิดของสถานที่ต่างๆ รวมทั้งประมาณระยะเวลาในการเดินทางระหว่างจุดท่องเที่ยวให้

Google Trips – Travel Planner แนะนำสถานที่และร้านอาหารนิยม

ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถทำ Get direction สร้าง Route การเดินทางได้ แต่แผนที่แบบ offline พร้อมกับมีตำแหน่งสถานที่ท่องเที่ยวให้ นั้นใช้ได้จริง และมีประโยชน์มาก ใครที่ท่องเที่ยวบ่อยๆลองทดลองใช้ดูเลยครับ ใช้ดีจึงแนะนำ

ดาวน์โหลด Google Trips สำหรับ Android หรือ iOS

Wallpapers โดย Google เปลี่ยนพื้นหลังใหม่ให้มือถือในทุกๆวัน

เมื่อสัปดาห์ก่อน Google เปิดให้ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นที่ชื่อ Wallpapers สำหรับ Android ซึ่งเป็นแอพที่จะเปลี่ยนพื้นหลังของมือถือให้เราอัตโนมัติในทุกๆวัน

Daily wallpapers by Google

ผมได้ลองติดตั้งและลองใช้งานดูเกือบจะครบสัปดาห์แล้ว ชอบมากเลยมาเขียนเก็บไว้ ในตอนเช้าที่ตื่นมา มีแอบลุ้นนิดๆว่าภาพพื้นหลังวันนี้จะเป็นยังไง ในแอพ Wallpapers นั้นมีหมวดหมู่ต่างๆให้เลือกหลายอัน เช่น Earth, Landscapes, Cityscapes, Life, etc. แล้วแต่ชอบใจ

Daily wallpapers by Google

หมวดหมู่ที่ผมชอบเป็นพิเศษคือ Landscapes เพราะภาพแต่อันที่ถูกคัดมานั้น สวยงามมากๆ

มีอยู่หลายครั้งเปิดไปดูภาพในแอพ แล้วอยากรู้ว่ารายละเอียดของภาพนั้น ว่าเป็นผลงานของใคร เมื่อคลิก Explore เข้าไป เราจะเห็นรายละเอียดของคนถ่ายภาพนั้น รวมทั้งผลงานอื่นๆของเขาอีกด้วย เรียกได้ว่าเพลินดีเลยทีเดียว

Daily wallpapers by Google

อยากลองเล่นบ้างเข้าไปโหลดได้ที่ Google Play

เอาพื้นที่จาก Google Photos กลับมาใช้งาน

Google Photos ให้พื้นที่ในการเก็บภาพฟรีแบบ Unlimited ถ้าภาพขนาดไม่เกิน 16 megapixels (MP) สำหรับภาพนิ่งและ 1080p สำหรับวิดีโอ แต่ถ้าอัพโหลดภาพเกินกว่าข้อกำหนดดังกล่าวก็จะใช้พื้นที่ Google storage ของเรา

ก่อนที่ Google จะเปิดให้ผู้ใช้เก็บภาพแบบ Unlimited ผมได้อัพโหลดภาพไว้เยอะพอสมควร เลยอยากจะได้พื้นที่ส่วนนั้นกลับมา เพราะ 16 MP ถือว่าเพียงพอสำหรับการใช้งานแล้ว จะโหลดออกมาอัดเป็นอัลบั้มก็ยังคงคมชัดใช้ได้ แต่จะให้ตามไปเปลี่ยนภาพขนาด 21MP ให้เป็น 16MP ทุกภาพก็คงจะไม่ไหว เลยต้องปล่อยทิ้งไว้อย่างนั้นเรื่อยมา วันนี้เลยเอาวิธีมาบอก

Google Photos ให้พื้นที่คืนกลับมาเยอะเลย

เมื่อวานค้นไปค้นมาไปเจอว่า Google photos มีเครื่องมือที่จะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถลดขนาดภาพในพื้นที่ของเราได้ โดยการเปลี่ยน(Converting) ภาพที่ขนาดใหญ่ของเราให้เป็นภาพ High quality ที่ 16 MP แล้วให้พื้นที่ส่วนนั้นกลับมาให้เราได้ใช้งาน แล้วทำง่ายมากแค่คลิกเดียว ขั้นตอนดังนี้ครับ

  1. เข้าไปที่ลิงค์ photos.google.com/settings
  2. คลิก RECOVER STORAGE

แล้วก็รอผล ใช้เวลาในการ converting ตามปริมาณภาพที่มีครับ

Reduce the size of your photos & videos

Running Calculator แอพพลิเคชั่นคำนวณ ระยะทาง เวลา ความเร็ว สำหรับนักวิ่ง

Running Calculator

เขียนแอพพลิเคชั่นแปลงค่าเกี่ยวกับการวิ่งครับ คำนวณจาก ระยะทาง เวลา ความเร็ว คำนวณไปมาได้ ใส่สองข้อมูลลงไปแล้วคำนวณหาอีกค่า เช่น

-รู้ว่าจะวิ่งระยะมาราธอน 42.195 กิโลเมตร ภายในเวลา 6:03 ชั่วโมง ต้องวิ่งที่ความเร็วเท่าไหร่
-รู้ความเร็วตัวเอง 5:09 min/km วิ่งนาน 1:53 ชั่วโมง จะได้ระยะเท่าไหร่
เป็นต้น

ที่มาของการเขียนแอพนี้คือ เราจะเจอสถิติของเพื่อนๆนักวิ่งท่านอื่นบ่อยๆ เราก็อยากรู้ว่าตัวเราเทียบกับเพื่อนๆคนอื่นเป็นอย่างไรบ้าง บางคนจะบอกสถิติแค่บางตัว เราก็จะคำนวณกลับไปมาเพื่อให้เป็นข้อมูลที่ตัวเราเข้าใจ แล้วค่อยเทียบกับสถิติของเรา รวมทั้งเอาไว้วางแผนการฝึกซ้อมได้ด้วย เช่น วันนี้มีเวลาประมาณเท่านี้เอง จะวิ่งได้กี่กิโลเมตร อันนี้ใช้บ่อยเลย ตามประสาคนควบคุมเวลาว่างออกไปซ้อมวิ่งไม่ค่อยได้นัก ทำให้อยากได้แอพพลิเคชั่นแบบนี้มาก

แอพพลิเคชั่นลักษณะนี้ค้นดูใน Play Store ก็พอมีบ้างแต่ไม่ใช่ที่อยากได้ บางอันก็สับสน ใช้ยาก ที่อยากได้คือเอาง่ายที่สุด และคำนวณไปมาได้ตลอด เขียนเองเลยน่าจะง่ายที่สุด

ส่วนตัวการ์ตูนข้างล่างแค่ใส่มาเล่นๆ ช่วยบอกว่าถ้าน้ำหนักเยอะ ความเร็วที่คำนวณได้เร็วมากน้อยแค่ไหน วิ่งเร็วไปอาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ ต้นแบบการ์ตูนคือ พี่ Zritarah Winston เป็นความเร็วของพี่เขาเลยล่ะ

ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น RunningCalc ได้ที่

แอพพลิเคชั่นช่วยคำนวณจำนวนเซลล์ใน Cell Counting Chamber

Cell Counting Calculator

Cell Counting Calculator เป็นแอพพลิเคชั่นเล็กๆที่เขียนขึ้นเพื่อใช้ช่วยคำนวณจำนวนเซลล์ใน Counting Chamber ซึ่งโดยปรกตินักวิจัย นักเรียน คนทำงานที่เกี่ยวข้องกับเซลล์ส่วนใหญ่จะต้องมีการนับจำนวนเซลล์กันอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่น การเลี้ยงเซลล์มะเร็งเพื่อใช้ในงานวิจัยเวลาจะนำไปทดสอบอะไรบ้างอย่าง ทดสอบยา ติดตามการแบ่งตัว จำเป็นจะต้องรู้ว่าเซลล์ที่ใช้นั้นมีจำนวนอยู่เท่าไหร่ มากน้อยเหมาะสมหรือไม่ หรือมีการเปลี่ยนอย่างไรบ้าง จึงต้องมาการนับเซลล์อยู่ตลอดแทบจะทุกกระบวนการทำงานวิจัย

คำถามต่อไปคือนับอย่างไร? ถ้าแลปไหนรวยก็มีเครื่องนับอัตโนมัติช่วยนับให้ เครื่องแพงมากและค่าใช้จ่ายต่อการนับหนึ่งครั้งก็สูงมากระดับหลักร้อยถึงหลายร้อยบาท ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันจึงยังมีการนับเองด้วยคน ผ่านทางกล้องจุลทรรศน์(เซลล์ขนาดเล็กต้องมองผ่านกล้องอีกที) โดยมีอุปกรณ์อย่างหนึ่งที่เรียกว่า Hemocytometer (ใช้นับเม็ดเลือด)หรือบางที่ก็เรียกกันว่า Counting chamber หน้าตาก็เหมือนในรูปด้านล่าง ถ้าอยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติมคลิกเข้าไปอ่านตามลิงค์ได้เลยครับ

Hemocytometer ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Hemocytometer

ใน Hemocytometer เมื่อมองผ่านกล้องจุลทรรศน์จะเห็นว่ามีกริดอยู่ด้านในแบ่งเป็นช่อง กำหนดเป็นพื้นที่ไว้ ส่วนขอบมันจะยกสูงขึ้นมาให้วางแผ่นแก้ว(cover slip) เพื่อกำหนดส่วนสูงให้ได้ 0.1 มิลลิเมตร เมื่อเรานำเซลล์ที่ละลายอยู่ในสารละลายเข้าไปในช่องว่างระหว่างแผ่นแก้วกับ chamber แล้ว เอาพื้นที่ตามตารางกริดคูณกับส่วนสูงก็จะทราบปริมาตรที่แน่นอน เมื่อนับจำนวนเซลล์จึงรู้ได้ว่าในสารละลายมีเซลล์มากน้อยเท่าไหร่ต่อหนึ่งหน่วยปริมาตร

กริดภายใน Counting chamber ภาพจาก https://www.nexcelom.com/Products/Disposable-Hemacytometer.html

อธิบายไปยึดยาวแล้ว เข้าสู่ปัญหาและเหตุผลที่ทำไมต้องทำแอพพลิเคชั่น Cells Calculator ขึ้นมา ปัญหาเริ่มจากว่าเมื่อเรานับตามพื้นที่ช่องที่แตกต่างกันปริมาตรที่ได้ก็จะเปลี่ยนไปด้วย เราต้องคำนวณปริมาตร รวมถึงคำนวณความเข้มข้นของเซลล์ที่เราอยากรู้พร้อมกันด้วย ในบางครั้งถ้าเซลล์มีความเข้มข้นสูง(หนาแน่นสูง) เราก็จะเลือกนับในช่องเล็กลง เพื่อประหยัดเวลา ลดความเมื่อยล้าของสายตา แต่ถ้าเซลล์มีความหนาแน่นต่ำก็จะเลือกนับในช่องใหญ่ขึ้นได้ เพื่อเพิ่มความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือให้กับข้อมูลที่ได้ (นับเยอะย่อมถูกต้องมากกว่า) การที่ต้องคำนวณพื้นที่ใหม่ในทุกๆครั้งที่นับ มันไม่โอเคแน่นอน บางคนก็จะทำเป็น Factor ไว้คูณกลับได้ง่ายๆ ใช้ได้ในกรณีที่นับกับเซลล์ที่มีความหนาแน่ใกล้เคียงกันทุกครั้งที่นับ แล้วเลือกนับในตำแหน่งเดิม แต่ถ้าต้องเปลี่ยนบ่อยๆ ก็ไม่โอเคแล้ว ซึ่งปัญหาดังกล่าวที่เปลี่ยนตำแหน่งพื้นที่นับบ่อยๆเกิดขึ้นกับเรา

จึงอยากได้ตัวช่วยที่สามารถให้เลือกได้ว่าจะนับตรงไหน ใส่ตัวเลขที่นับได้ เอาตัวคูณ Dilution Factor ใส่เข้าไป กดปุ่มแล้วคำนวณให้เลย อยากได้มาก น่าจะช่วยให้เราทำงานได้สะดวกขึ้นมากๆ บางครั้งการกดตัวเลขในเครื่องคิดเลขก็เกิดความผิดพลาดบ่อยๆ อยากจะลดปัญหาตรงนี้ด้วย

จึงเริ่มค้นหาแอพใน Google Play เพราะคิดว่าถ้ามีติดในมือถือน่าจะสะดวกในการใช้งาน สรุปคือไม่มี มีใกล้เคียงบ้าง แต่ไม่ใช่ในแบบที่ต้องการ สุดท้าย เมื่อไม่มีก็เขียนเองเลยสิ อยากได้แบบไหนก็เขียนเองเลย

สำหรับเราที่ไม่ใช่โปรแกรมเมอร์ พอรู้ภาษาคอมพิวเตอร์อยู่บ้าง จะให้ฮาร์ดโค้ดเลยคงอีกนานกว่าจะได้ใช้ อีกอย่างแอพฯไม่น่าซับซ้อนมากนัก จึงเลือกใช้ App Inventor เป็นตัวช่วยในการเขียน ซึ่งก็เพียงพอกับสิ่งที่ต้องการและสิ่งที่ได้มา

จึงออกมาเป็น Chamber calculator ตัวแรก ที่ช่วยให้เราทำงานได้ง่ายขึ้นมาก

Chamber calculator

ใช้ไปสักพักหนึ่ง มีคนเห็นเราใช้บอกว่าสะดวกดีขอมั้งได้ไหม ตอนนั้นมันยังเป็นแอพที่ไม่ได้จัดเรียงดีอย่างที่เห็นในรูปนะ มั่วกว่านี้เยอะ แต่ใช้งานได้ แต่พอจะเอาไปให้คนอื่นใช้เลยต้องนั่งปรับแต่งเพิ่มเติมอีกหน่อย จะได้ใช้ได้ง่ายขึ้น คราวนี้เราคิดว่าถ้าเอาไปแจกให้คนทั่วไปได้ลองใช้ดูเลยจะเป็นไง พอมีคนได้ลองใช้ก็จะได้ feedback กับมา เราก็จะได้เอามาปรับเพิ่มเข้าไปได้อีก พอมีคนเห็นพอคนได้ลองใช้ก็จะมี request เพิ่มมาว่าอยากได้ตัวนับเซลล์เป็น-เซลล์ตายที่ใช้กันบ่อยๆในงานวิจัยด้วยได้ไหม ก็เห็นว่าน่าจะทำให้แอพมีประโยชน์มากยิ่งขึ้น ก็เลยพัฒนาตัวนี้เพิ่มเข้ามาด้วยให้อยู่ในแอพเดียวกันไปเลย อยากใช้ตัวไหนค่อยสลับหน้าจอใช้งานเอา เลยได้อีกโหมดเป็นอีกโหมดคือ Viability calculator

viability calculator

ในโหมดนี้ก็มีปุ่มให้กดคลิกนับไปในตัวได้เลย ตามคำเรียกร้องของคนใช้ พร้อมเสียง และการสั่นเมื่อกดนับ ซึ่งทำให้ทำงานได้สะดวกมากยิ่งขึ้น หลังจากนั้นได้ลองปล่อยออกไปทาง Facebook ให้คนที่สนใจลองโหลดไปใช้ดูบ้าง เพราะอยากได้ feedback เอามาทำต่อให้สมบูรณ์มากขึ้นอีก ก็ได้เพื่อนๆหลายคนช่วยลองใช้ให้และได้คอมเม้นต์ที่ดีกลับมาค่อนข้างเยอะเลย และสุดท้ายเลยคิดว่าไหนๆก็ทำมาแล้วเอาขึ้น Google Play Store ไปเลยแล้วกัน เผื่อมีประโยชน์กับคนอื่นด้วย

เข้าไปโหลดแอพพลิเคชั่น Cells Calculator ได้ฟรีที่

QR Code

หลังจากปล่อยไป ก็ได้โพสให้เพื่อนๆใน Facebook ได้รู้เผื่อว่าจะมีคนสนใจ ผ่านไป 3 วัน พบว่ามีคนโหลดไปแล้วประมาณร้อยกว่าครั้ง ซึ่งก็ถือว่าเหนือความคาดหมายมาก เพราะเป็นแอพเล็กๆ ง่ายๆ และก็ค่อนข้างเฉพาะทางมากๆ มีแค่ไม่กี่คนที่จะได้ทำงานเกี่ยวกับเซลล์และไม่กี่คนจะมีโอกาสได้ใช้งานในลักษณะนี้ ถือว่าทะลุเป้าที่ตั้งไว้มากๆครับ

ส่วนวิธีใช้แบบง่ายๆก็ได้ลองอัดคลิปมาให้ได้ดูกันด้วย

วิธีการใช้แอพพลิเคชั่น Cells calculator 

รายการที่ต้องปรับปรุงเพิ่มเติม

  • เพิ่มปุ่มนับให้โหมด Chamber Calculator
  • ปรับให้เลือกช่องกริดได้หลากหลายมากขึ้น
  • เพิ่มสีสัน และภาพให้ดูน่าใช้มายิ่งขึ้น

MyPermissions ตรวจสอบข้อมูลส่วนตัวของเราถูกใครดึงไปใช้งานบ้าง

MyPermissions เว็บไซต์ช่วยตรวจสอบบริการต่างๆดึงข้อมูลอะไรที่เป็นส่วนตัวของเราไปใช้บ้าง

หลายๆครั้งที่เราสมัครเข้าใช้งานเว็บไซต์ เกมส์ หรือบริการออนไลน์ตัวใหม่ๆ ด้วยบัญชีของ Facebook หรือ Twitter ตามแต่เจ้าของบริการจะเปิดให้เราเข้าใช้งานโดยการดึงข้อมูลของเราจาก social network ของเราเองมาใช้ ทำให้คนใช้งานก็สะดวก คนให้บริการก็ได้สมาชิกมากขึ้นจากความสะดวกนั้น จนหลายๆครั้งเราคนใช้งานไม่ได้ตรวจสอบดูเลยว่าในแต่ละครั้งบริการเหล่านั้นขอข้อมูลส่วนตัวอะไรของเราบ้าง และบางอันที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว ก็ควรหยุดให้เขาเข้ามาดึงข้อมูลของเราไปใช้ (ข้อมูลส่วนตัวของฉันนะ)

ความเป็นส่วนตัว(permission) ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือผู้ให้บริการจะแนะนำบริการต่างๆได้ตรงตามความต้องการของเราเพราะเราให้ข้อมูลที่ละเอียด ส่วนข้อเสียก็คือบางเรื่องที่เป็นเรื่องส่วนตัวมากๆเราก็ไม่อยากให้ใครได้ข้อมูลเหล่านั้นไป มันอาจจะหมายถึงความปลอดภัยทั้งทรัพย์สินและร่างกายของเรา ต้องระวังในการเปิดเผย ควรให้ข้อมูลเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

ถ้าเป็นคนที่ชอบท่องโลกอินเตอร์เน็ต ลองเล่นโน่นนี้นั้นไปเรื่อย ยากที่จะตามไปดูว่าให้ข้อมูลส่วนตัวของเราที่อยู่ใน social network ให้ใครไปบ้างและเขาได้ข้อมูลอะไรไปบ้าง ก็เป็นเรื่องน่ากังวลอยู่ไม่น้อย แล้วก็มาเจอเว็บไซต์นี้ครับ ตัวช่วยตรวจสอบ permission ให้เรา

เว็บไซต์ MyPermissions จะช่วยตรวจสอบให้เราว่าข้อมูลของเราใน social network เช่น Facebook, Twitter, Google+,Instagram ฯลฯ ถูกนำไปใช้ที่ไหนบ้าง และขอใช้ข้อมูลอะไรบ้าง เช่น location, contact list, photo เป็นต้น เยี่ยมมากๆ

ตัวอย่าง เข้าไปดูรายละเอียดการอนุญาติให้เข้าถึงข้อมูลส่วนตัว สามารถเพิกถอนการเข้าถึงได้

เมื่อตรวจดูแล้วบ้างอันที่เราไม่ได้ใช้งานแล้วก็ควรหยุดการให้เข้าถึงข้อมูลของเรา ซึ่งเราสามารถเข้าไปแก้ไขและเพิกถอนสิทธิ์(revoke)การเข้าถึงข้อมูลของแต่ละเว็บไซต์หรือบริการต่างๆที่ดึงไปใช้งานได้ ถ้าเราติดตั้งเป็น extension ของ MyPermission ใน browser ของเราก็จะมีการแจ้งเตือนทุกครั้งที่มีการขอใช้ข้อมูลส่วนตัวของเรา ถือว่ามีประโยชน์มากๆครับ

เข้าไปใช้งาน MyPermissions ได้ที่เว็บไซต์ https://mypermissions.com

Exit mobile version