หุ่นยนต์อัตโนมัติ ต้นแบบของ Automaton ในหนัง Hugo(2012)

Artificial Intelligence: An Illustrated History

ได้อ่านอ่านหนังสือ Artificial Intelligence: An Illustrated History: From Medieval Robots to Neural Networks by Clifford A. Pickover เป็นหนังสือที่เล่าถึงการพัฒนาหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ จนถึงปัญญาประดิษฐ์ โดยเล่าย้อนตั้งแต่รากฐานของนวัตกรรมในอดีตผ่านสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ เกือบ 100 รายการที่พัฒนาต่อยอดขึ้นมากเรื่อย ๆ ตลอดช่วงเวลาระหว่าง 1300 ก่อนคริสตศักราชจนถึงยุคปัจจุบัน

Jaquet-Droz automata

สิ่งที่สะดุดตามากจนต้องหยิบมาเขียนเก็บไว้ คือ สิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า Jaquet-Droz automata ที่ถูกสร้างขึ้นโดยช่างทำนาฬิกาชาวสวิซต์ชื่อ Pierre Jaquet-Droz และลูกของเขา โดยถูกสร้างในช่วงปี 1768-1774 โดยประกอบด้วย automata ทั้งหมด 3 ตัว ได้แก่ หุ่นนักเขียน หุ่นนักดนตรี และหุ่นร่างแบบ หุ่นแต่ละตัวมีความซับซ้อนสูงมาก มีชิ้นส่วนประกอบตั้งแต่ 2,000-6,000 ชิ้นต่อตัว

ภาพวาดจากหุ่นร่างแบบ

พวกเขาสร้างขึ้นเพื่อใช้โฆษณาสำหรับขายนาฬิกาและสร้างความบันเทิงให้หมู่ชนชั้นสูงที่เป็นลูกค้า ปัจจุบันนาฬิกาแบรนด์ Jaquet-Droz ก็ยังมีอยู่นะ และที่พิเศษกว่านั้น automata ทุกตัวปัจจุบันยังทำงานได้ดี ถูกเก็บรักษาอย่างดีและเปิดให้เข้าชมได้ที่พิพิธภัณฑ์ Musée d’Art et d’Histoire of Neuchâtel ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

Hugo (2011)

เหตุที่ตัวเองสนใจ Jaquet-Droz automata เป็นพิเศษ ทั้ง ๆ ที่ในหนังสือกล่าวถึงระบบหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติอีกหลายอย่าง เพราะว่าหุ่น Jaquet-Droz ทำให้นึกถึงหนังเรื่องหนึ่งที่ชอบมาก ๆ นั้นคือ Hugo (2011) ของมาร์ติน สกอร์เซซี เป็นเรื่องของเด็กกำพร้าฮิวโก้ที่อาศัยอยู่บนหอนาฬิกาของสถานีรถไฟ และพยายามหาชิ้นส่วนเพื่อซ่อม automaton หุ่นที่เป็นเหมือนตัวแทนสิ่งที่เหลือไว้ของพ่อผู้จากไป ในท้ายที่สุดตัวหุ่นก็ถูกซ่อมให้กลับมาทำงานได้อีกครั้ง และมันก็วาดภาพฉากหนึ่งของหนังอันโด่งดัง A Trip to the Moon ของ Georges Méliès เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งตัวละครสำคัญของเรื่องเลยทีเดียว

ภาพที่ Automaton วาดออกมา

เกร็ดหลังจากได้ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ automaton ในหนัง Hugo ก็ไม่แปลกใจเลย ที่หนังเรื่องนี้ก็ได้รับแรงบรรดาลใจมาจากหุ่น Jaquet-Droz automata และหุ่นกลไกตัวนั้นถูกสร้างโดยนักสร้างพร๊อพ Dick George และมันสามารถทำงานได้จริง ตัวหุ่นถูกควบคุมผ่านคอมพิวเตอร์ที่อยู่ใต้โต๊ะ มือของหุ่นถูกเชื่อมต่อกับกลไกผ่านชุดแม่เหล็ก มันสามารถวาดภาพทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบได้ แต่ใช้เวลานานถึง 46-47 นาที

อยากรู้ว่ามีใครชอบหนังเรื่องนี้เหมือนกันไหมนะ

รีวิวหนังสือ Rita Hayworth and Shawshank Redemption

รีวิวหนังสือ เรื่องสั้นขนาดยาว Rita Hayworth and Shawshank Redemption
โดย Stephen King

รีวิว เรื่องสั้นขนาดยาว Rita Hayworth and Shawshank Redemption ของ Stephen King

น่าจะเป็นเหมือนคนส่วนใหญ่ที่ได้ดูหนัง Shawshank Redemption มาก่อนแล้วค่อยได้อ่านต้นฉบับที่เป็นหนังสือ หนังติดอันดับหนึ่งหนังยอดเยี่ยมตลอดกาลของ IMDB แบบที่ยังหาหนังเรื่องไหนมาล้มไม่ได้ วันนี้อ่านฉบับหนังสือจบแล้วจึงมาเขียนบันทึกแบบสั้น ๆ เก็บไว้ ส่วนใครสนใจหนังสือเล่มอื่น ๆ ตามไปอ่านได้ที่รีวิวหนังสือ

ก่อนอื่น ขอเริ่มแบบนี้เลย หลายคนอาจสงสัยว่าหนังชื่อ Shawshank Redemption แต่หนังสือชื่อ Rita Hayworth and Shawshank Redemption แล้ว Rita Heyworth คือใครอ่ะ? (ตอนแรกก็สงสัยเหมือนกัน)

คำตอบคือ เธอคือดาราที่อยู่บนโปสเตอร์ใบแรกที่ Andy สั่งจาก Red มาติดผนังของห้องขังซึ่งมีส่วนสำคัญในเรื่องมาก ๆ ที่จริงแล้วโปสเตอร์ถูกเปลี่ยนเป็นดาราหลายคนเลยทีเดียว ซึ่งคนสุดท้ายคือ Linda Ronstadt

โปสเตอร์ติดผนัง

ในหนังมีเปลี่ยนรายละเอียดหลายอย่างต่างจากหนังสือพอสมควร เช่น จุดจบของพัสดี เรื่องของ Tommy เด็กที่หนุ่มที่ได้ยินเรื่องราวของ Andy จากเพื่อนห้องขังจากที่อื่น แม้แต่เรื่องราวของ Red ก็ถูกเปลี่ยนเล็กๆน้อยๆ รายละเอียดการต่อสู้คดีของ Andy มีรายละเอียดมากขึ้น ไม่ได้รวบรัดเหมือนฉบับหนัง

แม้ว่าในรายละเอียดจะแตกต่างกันบ้างระหว่างหนังและหนังสือ แต่กลับพบว่าทั้งสองเวอร์ชั่นดูกลมกลืนกันมากๆ พอมาคิดดูก็สรุปได้ว่า ในแต่ละซีนที่สำคัญ ๆ ในหนัง ไดอะล็อกต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเขายกในฉบับหนังสือมาใช้ทั้งดุ้นเลย ไม่มีการตัดหรือดัดแปลงเลย คำต่อคำเลยทีเดียว ทำให้หัวใจหลักของเรื่องราวมันจึงดูสมบูรณ์ตามแบบของต้นฉบับมาก ๆ คิดว่าส่วนหนึ่งอาจเพราะ Stephen King เข้ามามีส่วนร่วมในการเขียนบทด้วย ทุกอย่างเลยลงตัวมากๆ มีความกลมกลืนกันทั้งหนังสือและหนัง

สรุปส่งท้าย ถ้าชอบฉบับหนัง ตามไปอ่านฉบับหนังสือรับรองว่าจะไม่ผิดหวังครับ

รีวิวซีรี่ย์ His Dark Materials ที่สนุกมาก ดูได้ใน HBO GO

His dark materials

รีวิวทีวีซีรี่ย์ His Dark Materials ที่สนุกมาก แต่คนพูดถึงกันน้อย

เห็นหลายคนสมัคร HBO GO เพื่อดู Zack Snyder’s Justice League แล้วบอกว่าไม่รู้จะดูอะไรต่อใน HBO GO มีซีรี่ย์ที่จัดอยู่ในระดับ A list อยู่หลายเรื่อง เช่น

  • ซี่รีย์ในตำนานอย่าง Game of Thrones ที่จบไปแล้ว
  • Chernobyl มินิซีรี่ย์ที่ทำดีมาก
  • Westworld ใครที่เป็นแฟนคลับของ Christopher Nolan ต้องรู้ว่าน้องชายเขา Jonathan Nolan มีส่วนร่วมในการเขียนบทในหนังของ Nolan เกือบทุกเรื่อง ถ้าเขาจะคุมโปรเจคซีรี่ย์เรื่องนี้เราคนดูก็เชื่อใจได้ในระดับหนึ่ง และมันทำออกมาได้ดีจริง ๆ
  • Watchmen ฮีโร่สายดาร์คที่เข้มข้น

แต่วันนี้จะมาพูดถึงซีรี่ย์อีกเรื่องที่คนไม่คอยพูดถึงเลย คือ His Dark Materials (ชื่อแปลไทย ธุลีปริศนา)ซี่รีย์ที่ดัดแปลงมาจากนิยายแฟนตาซีในชื่อเดียวกันที่เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งตำนานของนักเขียน Phillip Pullman หนังสือมี 3 เล่ม Northern Lights (The Golden Compass), The Subtle Knife และ The Amber Spyglass ซี่รีย์ทำตามหนังสือแบบเล่มละซีซั่นพอดีเลย ตอนนี้จบถึงซีซั่นที่ 2 แล้ว และซีซั่นที่ 3 เริ่มถ่ายทำแล้ว มีแผนในการออกฉายในต้นปี 2022

หนังสือชุด His Dark Materials

รีวิวแบบสั้น ๆ คือ ดีมากกกก ดูเถอะสนุกมาก

รีวิวซีรี่ย์ His Dark Materials

The Golden Compass เคยทำเป็นหนังแล้วเมื่อปี 2007 ความจริงหนังไม่ได้แย่มากนะ แต่แผนของสตูดีโอที่อยากปั้นหนังจากหนังสือดังและทำต่อเนื่องหลายภาคต่อกันอย่างเช่นที่แฮรี่ พอร์ตเตอร์ ทำได้ในช่วงนั้น ซึ่งทำเงินให้สตูดิโออย่างมหาศาล ค่ายไหนก็อยากมีโปรเจคทำเงินยาว ๆ แบบนั้นบ้าง ช่วงนั้นเราเลยได้เห็นฮอลลีวู้ดพยายามเข็นโปรเจคหนังที่ดัดแปลงจากหนังสือมาลงจอใหญ่กันเยอะมาก แต่หลายโปรเจคก็ล้มและขาดทุนกันถ้วนหน้าและ The Golden Compass ที่ตั้งเป้าจะมีหลายภาคออกมาฉายก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ล้มเหลว เป็นยักษ์ล้มไปในปีนั้น

กลับมาที่ซีรีย์บน HBO GO ที่จะพูดถึงกัน ต้องบอกก่อนว่าผมได้อ่านฉบับหนังสือมาก่อนแล้ว 2 เล่ม คือ Northern Lights (The Golden Compass), The Subtle Knife เหลือเล่มที่ 3 ซึ่งคิดว่าถ้าซีซั่น 3 ออกฉาย จะกลับไปอ่านหนังสือก่อนแล้วค่อยมาดูซีรีย์ ดังนั้นจะเป็นรีวิวที่รู้เรื่องราวแล้วบางส่วน เหมือนคนที่อ่านหนังสือแฮรี่ พอร์ตเตอร์ แล้วเขาไปดูหนังอีกที

โดยปกติแล้วหนังที่ทำจากหนังสือจะออกมาสองแบบชัดเจนคือ ทำได้แย่จนแฟนหนังสือด่ากันยับ เช่น Mortal Engine, Dark Tower, Divergent และหนังที่ทำดีได้ใจทั้งแฟนหนังสือและแฟนหนัง เช่น Lord of the Ring, Harry Potter, The Hunger Games ส่วนตัวขออวยว่าซีรีย์เรื่องนี้อยู่ในกลุ่มหลังครับ ทำดีมีดัดแปลงบ้าง บางอันลงตัวกว่าในหนังสืออีก

เริ่มที่นักแสดง คัดมาดีมาก ๆ

  • James McAvoy เป็น Lord Asriel ในสองซีซั่นบทยังมีไม่มาก มาน้อยแต่ดีมาก
  • Ruth Wilson เป็น Marisa Coulter ได้ลงตัวกว่า Nicole Kidman จากฉบับฉายโรงอีก มีความเลือดเย็น เป็นผู้หญิงที่น่ากลัว ร้ายกับคนรอบข้าง รวมทั้งกับ Dæmon ของตัวเองด้วย
  • ส่วนน้อง Dafne Keen น้องตัวแสบ X-23 จาก Logan มารับบทเป็น Lyra Belacqua แสดงได้ดี มีความกล้าและแสบตามฉบับหนังสือ
  • Amir Wilson รับบทเป็น Will Parry พอได้กลาง ๆ
  • ส่วนตัวอื่น ๆ Roger Parslow, Lee Scoresby, กลุ่ม Gyptian ก็คัดมาได้ดี

ในยุคที่คอมพิวเตอร์กราฟฟิคทำได้ดีและเนียนขึ้น เหล่า Dæmon ภูตประจำตัวของแต่ละคนจึงดูสมจริงขึ้น และมีปฏิสัมพันธ์กับเจ้าของมากขึ้น และช่วยในการเดินเรื่องและบอกอารมณ์ของตัวภูติเองที่สะท้อนไปถึงเจ้าของด้วยได้ดี และเจ้าหมียักษ์ Iorek Byrnison ที่อยากให้ออกมาทุกตอนเลย

ซีนหนึ่งที่ชอบมากในซีรีย์ คือการแทรกเรื่องพิธีฉลองการหยุดเปลี่ยนรูปของ Dæmon ที่เปรียบเสมือนการเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ของเด็กหนุ่มของชาว Gyptian ซึ่งเป็นช่วงที่เปรียบเสมือนการก้าวสู่อีกวัยที่ทุกคนในเผ่าจะออกมาแสดงความยินดีด้วย แต่ในหนังสือจะไม่มีรายละเอียดในส่วนนี้เลย และเป็นการเติมเข้ามาในเรื่องที่ลงตัวมาก ในหนังสือเราจะเห็นว่าเด็กมักจะคุยกันว่าท้ายสุดแล้ว Dæmon ของตัวเองจะคงรูปเป็นสัตว์อะไรอยู่บ่อยครั้ง จึงถือว่าเป็นช่วงที่สำคัญที่สุดช่วงหนึ่งของเด็ก ๆ และซีรี่ย์เลือกที่จะเล่าส่วนนี้เพิ่มเข้ามาถือว่าคิดมาดี และทำออกมาได้ดีมาก ๆ

พิธีฉลองของ Gyptian

ส่วนต่อไป ขอชมการออกแบบองค์ประกอบต่างๆ ในซีรี่ย์ทำได้ดีมาก เช่น สิ่งของสำคัญในเรื่อง เช่น Alethiometer ชื่อเรียกของ Golden Compass ในหนังสืออธิบายรูปทรงเป็นวงกลมตามแบบของเข็มทิศทั่วไป แต่ในซีรี่ย์ทำออกมาเป็นตลับสี่เหลี่ยม และรูปแบบสัญลักษณ์ต่างๆข้างในก็ทำออกมาดูดีทีเดียว ซึ่งบางทีก็จินตนาการไม่ออกว่ามันจะเป็นยังไง แต่ในซีรีย์ทำให้ภาพในจินตนาการออกมาเป็นภาพที่ชัดเจน และอื่นๆ เช่น ชุดเกาะของ Iorek, บอลลูนของ Lee, แม่มดบินด้วยการขี่กิ่งสน แต่ในซีรี่ย์ทำอีกแบบที่ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิงเลย แต่ออกมาดีกว่ามาก ๆ (ไปดูเองในซีรี่ย์)

Alethiometer

การเล่าในซีรี่ย์จะเล่าต่างจากในหนังสือนิดหน่อย ในหนังสือจะมีเส้นเรื่องค่อนข้างตรงๆ ตามมุมมองของตัวเอก Lyra เป็นหลัก เดินเรื่องไปเรื่อยๆ แต่ในซีรี่ย์เล่าเป็นจักรวาลที่กว้างกว่ามาก แม้ว่าเส้นเรื่องหลักจะตามหนังสือแต่ละเล่มก็ตาม แต่ว่าเนื้อหาของหนังสือเล่ม 2-3 จะมีแทรกเข้ามาในเนื้อเรื่องช่วงซีซันแรกที่เป็นเนื้อหาของเล่ม 1 เป็นระยะ ๆ เพื่อเล่าขอบเขตที่กว้างกว่าและครอบคลุมมากกว่า เช่น รายละเอียดของ Magisterium ที่ลงรายละเอียดเยอะขึ้นมาก เพื่อวางโครงของจักรวาล ทำให้ดูเป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงมากในโลกของ Lyra ส่วนเครื่องมือสำคัญอย่าง Alethiometer ก็มีรายละเอียดมากขึ้น กลายเป็นสิ่งผิดกฏหมายในโลก มีการอนุญาตให้ใช้งานได้เฉพาะใน Magisterium เท่านั้น แทนที่จะเป็นแค่ของหายากตามฉบับในหนังสือ

ตึกของ Magisterium รูปร่างคล้าย Alethiometer

เขียนมายาว สรุปว่าใครที่อ่านหนังสือแล้ว คุณจะรักฉบับซีรี่ย์ ใครยังไม่อ่านหนังสือก็จะเข้าถึงและได้เพลิดเพลินกับรายละเอียดต่างๆของจักรวาลในเรื่องได้ไม่ยาก ผมตื่นเต้นทุกครั้งที่ซีรี่ย์เนรมิตรฉากในจินตนาการจากตัวหนังสือออกมาเป็นภาพเคลื่อนไหวให้ได้เห็น ชอบมาก ๆ ครับ ตามไปดูได้ที่ HBO GO ส่วนใครสนใจรีวิวหนังเรื่องอื่นๆ ติดตามได้ที่ลิงค์เกี่ยวกับหนัง

ภาพยนตร์สารคดี Finding Vivian Maier

ช่างภาพชาวอเมริกัน John Maloof ได้พบผลงานของช่างภาพปริศนาคนหนึ่ง รู้เพียงว่าเธอชื่อ Vivian Maier เธอไม่เคยแสดงผลงานที่ไหนเลย มีฟิล์มเนกาทีฟที่ไม่เคยปรินต์ รวมๆกว่า 150,000 รูป เขานำผลงานบางส่วนมาแชร์ในอินเทอร์เน็ต แล้วมันกลายเป็นไวรัลอยู่ช่วงหนึ่ง ซึ่งผลงานของเธอนั้นสร้างความตื่นเต้นให้กับผู้นิยมภาพแนวสตรีทอย่างมาก ทั้งมุมมอง จังหวะ แสง การจัดองค์ประกอบ ที่อัศจรรย์มาก ทุกคนต่างอยากรู้ว่าช่างภาพที่ชื่อ Vivian Maier คือใครกัน? เธอไปอยู่ไหนมา? ทำไมไม่เคยเผยแพร่ผลงานเลย?

ถ้าได้ชมผลงานภาพถ่ายของเธอก่อน จะอินกับหนังสารคดีเรื่องนี้ขึ้นมากๆ

“Finding Vivian Maier (2013)”

Finding Vivian Maier

 

ผลงานของ Vivian Maier นั้นสุดยอดเกินคำบรรยายจริงๆ คนที่จะถ่ายรูประดับแสนกว่ารูป ในหนึ่งช่วงอายุนั้น ถ้าในยุคดิจิตอลอย่างปัจจุบันอาจจะไม่ใช่เรื่องยากนัก แต่ถ้าในยุคที่ใช้ฟิล์ม นั่นคงไม่ใช่ความชอบธรรมดาแต่คือความบ้าคลั่งอย่างไม่ต้องสงสัย

หนังสารคดีเรื่องนี้ เริ่มตั้งแต่ว่า John Maloof ไปเจอคลังภาพของเธอได้อย่างไร แล้วตามค้นหาหลักฐานต่างๆที่มีจากเอกสาร จดหมาย ภาพถ่าย ตามหาคนที่อยู่ในภาพถ่าย ทำความรู้จักเธอมากขึ้น ค้นหาว่าทำไมเธอมีผลงานที่สุดยอดขนาดนั้นแต่ทำไมเธอถึงไม่แม้แต่จะเผยแพร่ผลงานของตัวเองสู่สาธารณะเลยสักครั้ง

ชมผลงานรูปถ่ายของเธอบางส่วนได้ที่ https://www.vivianmaier.com

หนังเมื่อความจริงกับจินตนาการมาบรรจบกัน

เมื่อวาน ได้ดูหนังเรื่อง A Monter Calls (2016) แล้ว รู้สึกชอบจังเลย เลยนั่งคิดย้อนกลับไปว่าหนังแนวนี้มักถูกจริตเราเสมอ ว่าด้วยหนังที่เล่าเรื่องราวความเป็นจริงและเรื่องราวในจินตนาการไปพร้อมกัน
บางครั้งหนังก็ไม่บอกเราว่า เรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นนั้นเป็นแค่จินตนาการในใจหรือเรื่องนั้นเป็นอีกโลกที่มีจริงๆ
 
อ่านแล้วอาจจะงง ขอยกตัวอย่างเพื่อให้เข้าใจได้มากขึ้น
 
1. หนังมีโลกเดียว มีสัตว์ประหลาดมากมาย มีเวทมนต์ แต่ทั้งหมดอยู่ในโลกเดียวกัน เมื่อดูหนังเราจะรู้ว่าเรื่องราวเกิดที่นี่ ไม่มีที่อื่นอีก หนังในกลุ่มนี้ ได้แก่ Lord of the Ring, Hobbit เป็นต้น
 
2. หนังมีสองโลกแยกกัน คือ โลกมนุษยที่เราอาศัยอยู่และดินแดนอันมหัศจรรย์ มีสัตว์ประหลาด มีเวทย์มนต์ แม้ว่าจะมีสองโลก แต่หนังทำให้เราเชื่อว่าทั้งสองโลกนั้นมีจริง ตัวละครก็จะรู้ว่ามีอีกโลกนั้นอยู่ มักเริ่มต้นด้วยการเดินทางไปที่อีกดินแดนแล้วกลับมาในตอนท้ายเรื่อง หนังในกลุ่มนี้ ได้แก่ The Chronicles of Narnia, Oz the Great and Powerful เป็นต้น
 
และ 3. หนังที่เล่าเรื่องซ้อนทับกันไปมา ส่วนใหญ่จะมีแค่ไม่กี่แค่ตัวเอกที่รับรู้ถึงอีกสิ่งหรืออีกโลกอัศจรรย์นั้นเพียงคนเดียว และบางทีหนังก็ไม่บอกเราด้วยซ้ำว่า นั้นเป็นแค่เรื่องจินตนาการของเขา หรืออีกโลกนั้นมีจริงๆ
 
เท่าที่คิดออกก็มีรายการดังนี้ ซึ่งก็เป็นกลุ่มที่ชอบทุกเรื่องเลย
  • A Monster Calls (2016)
  • Where the Wild Things Are (2009)
  • Bridge to Terabithia (2007)
  • Pan’s Labyrinth (2006)
  • Big Fish (2003)
  • My Neighbor Totoro (1988)

A Monster Calls (2016)

A Monster Calls (2016) เรื่องเศร้าของเด็กกำลังจะสูญเสียคนที่รักยิ่ง

Where the Wild Things Are (2009)

Where the Wild Things Are (2009) เด็กดื้อกับเพื่อนสัตว์ประหลาด บางคนบอกว่าดูไม่น่ารักเลย แต่เราชอบสัตว์ประหลาดตัวนี้มาก

Bridge to Terabithia (2007)

Bridge to Terabithia (2007) เพื่อนที่มีจินตนาการของดินแดนอัศจรรย์ร่วมกัน

Pan’s Labyrinth (2006)

Pan’s Labyrinth (2006) เรื่องที่น่าเศร้าอีกเรื่อง ที่เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันแค่จินตนาการหรือมีอีกโลกอยู่เบื้องหลัง (A Monster Calls มีความคล้ายเรื่องนี้มาก)

Big Fish (2003)

Big Fish (2003) เรื่องของจินตนาการของผู้เป็นพ่อที่บอกเล่าเรื่องราวให้กับลูกชายฟัง ทั้งน่าตื่นเต้นและน่าอัศจรรย์

My Neighbor Totoro (1988)

My Neighbor Totoro (1988) แม้จะเป็นการ์ตูน แต่ก็เป็นเรื่องแรกๆที่คิดถึงเลยทีเดียว เพื่อนบ้านผู้น่ารัก เราไม่รู้ว่าความจริงแล้วโทโทโร่มีจริงสำหรับทุกคน หรือแค่เด็กน้อยเท่านั้นที่จะได้เห็นและสัมผัสกับโทโทโร่ได้

คิดว่าน่าจะมีอีกหลายเรื่องที่ยังนึกไม่ออก ใครคิดออกฝากเขียนบอกด้วยนะครับ

Detective Mode in Batman: Arkham Knight

ในเกม Batman: Arkham Knight มีหลายๆซีนที่ชอบมาก หนึ่งในนั้นคือ Detective mode ของ Batman (The world’s greatest detective) ทั้งในเนื้อเรื่องหลักและเนื้อเรื่องรอง จะแสดงให้เห็นเทคนิคในการสืบสวนที่น่าทึ่งของ Batman เช่น การหาลายนิ้วมือ การเลียนเสียง แสกนเหตุการณ์จากหลักฐานที่มี หาพาสเวิร์ด เป็นต้น

Detective Mode in Batman: Arkham Knight

และนี้คือหนึ่งในการสืบสวนของ Batman ที่ชอบมาก ในเนื้อเรื่องรอง The Perfect Crime การสืบสวนเพื่อระบุตัวตนของเหยื่อที่ถูกสังหาร ดูแฟนตาซี และสมจริง ไปพร้อมๆกัน อยากบอกว่าในโลกของความจริง การสันสูตรศพก็พยายามหาล่องรอย ตำหนิต่างๆ บนศพของเหยื่อ เพื่อระบุตัวตน หรือหาหลักฐานโยงถึงผู้กระทำเหมือนกัน

โยงมาถึงในหนัง เราได้เห็นฉากอะไรแนวน้อยมาก มีบ้างเล็กน้อยใน The Dark Knight ของโนแลน ตอนสืบจากกระสุน นอกนั้นก็ไม่ค่อยได้เห็น Detective mode ของ Batman เท่าไหร่นัก แอบหวังว่า The Batamn ของเบน จะโชว์ให้เราได้เห็นมากขึ้น

สรุปว่า ชอบมาก  บันทึกตัวอย่างตอนเล่นมาให้ดูด้วย

MR.ROBOT ซีรี่ย์สนุกที่ขอแนะนำครับ

Mr. Robot (TV series)

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้นั่งดูซีรี่ย์เรื่อง MR.ROBOT อีกครั้ง หลังจากเคยดูมาแล้ว 2 ตอนเมื่อนานมาแล้ว แต่หยุดไปด้วยที่ยุ่งมาก เลยต้องกลับมาดูใหม่ตั้งแต่ต้น

เนื้อเรื่องโดยย่อ “เกี่ยวกับวิศกรหนุ่ม ที่กลางวันทำงานที่บริษัทรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ส่วนกลางคืนเป็นแฮคเกอร์ ด้วยความสามารถในการแฮคที่เก่งมากๆ ทำให้เขาเข้าไปพัวพันกับกลุ่มแฮคเกอร์ที่มีอิทธิพล โดยมีเป้าหมายเพื่อทำลายระบบการเงินของโลก ด้วยการโจมตีศูนย์ข้อมูลของบริษัทยักษ์ใหญ่ ที่ดูแลข้อมูลทางด้านการเงินของคนเกือบทั้งโลก”

การเดินเรื่องใช้ตัวเอกบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ เหมือนเราได้ยินความคิดของเขา (นึกถึงหนังไทยเรื่อง ฟรีแลนซ์ ก็ได้) บางเรื่องมันเสียดสีสังคมได้ดีมาก เช่น การใช้ชีวิตอยู่กับโลกโซเซียลเน็ตเวิร์ค ใครที่ไม่เล่นพวก FB, Instagram กลายเป็นคนประหลาด แต่ที่ประหลาดกว่า คือ นั้นเป็นช่องทางที่คุณเอาข้อมูลส่วนตัวของคุณเองให้กับใครที่คุณก็ไม่รู้(แฮคเกอร์)โดยสมัครใจ

ที่น่าแปลกอีกอย่าง คือ ตัวพระเอกของเราเป็น โรคเกลียดการเข้าสังคม ไปไหนมาไหนต้องใส่ฮูดตลอด พูดน้อย ไม่ยอมแม้จะให้ใครแตะต้องตัวเขาด้วยซ้ำ ถึงขั้นต้องกินยาและรับการบำบัด แต่เขากลับรู้จักตัวตนของทุกคนที่อยู่รอบตัวเขาอย่างดีผ่านการแฮคข้อมูลของคนๆนั้น (ใช่แล้ว พระเอกมันแฮคทุกคน) ตอนที่พระเอกสารภาพว่าทำไมเขาต้องแฮค มันทำให้ตัวละครที่ดูเหมือนจะมีอำนาจมากๆในมือเป็นคนที่น่าสงสารมากๆในเวลาเดียวกัน

ช่วงตอนกลางๆของเรื่อง รู้สึกว่าหลายๆเรื่อง ตัวละครมันทำอะไรดูไม่ค่อยสมเหตุสมผลเท่าไหร่เลย ทำให้รู้สึกเนื่อยๆ แต่…..พอเรื่องต่างๆเปิดเผยออกมาตอนช่วงท้ายๆ ทำให้เรื่องที่เคยคิดว่าไร้เหตุมันลงตัวมากๆ ซะงั้น…..

สรุปแนะนำให้ดูครับ สนุกมาก

ชอบ Quote นี้มากๆ ของก๊อบมาวางเลยนะ

What I’m about to tell you is top secret. A conspiracy bigger than all of us. There’s a powerful group of people out there that are secretly running the world. I’m talking about the guys no one knows about, the ones that are invisible. The top 1% of the top 1%, the guys that play God without permission. And now I think they’re following me.

Season 2 กำลังจะมาในเร็วๆนี้

https://www.youtube.com/watch?v=YibylhkLwGo

Die STAR TREK Physik (ฟิสิกส์ในสตาร์เทรค)

วันนี้เดินผ่านร้านหนังสือพบหนังสือที่น่าสนใจมากครับ เรื่อง “Die STAR TREK Physik” (ฟิสิกส์ในสตาร์เทรค) ของ Prof.Dr. Metin Tolan อยากอ่านมาก น่าจะสนุกๆแน่ๆเลย ทำให้จินตนาการถึง The Science of Interstellar ที่เอาเนื้อหาในหนังมาอธิบายในเชิงวิทยาศาสตร์ เสียดายมีแต่ภาษาเยอรมัน ซึ่งตอนนี้อ่อนมากๆ น่าจะมีเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษบ้าง

Die STAR TREK Physik (ฟิสิกส์ในสตาร์เทรค)

เพื่อนบอกว่านักเขียนท่านนี้เป็นอาจารย์ที่นี้นะ(Technischen Universität Dortmund) ผมนี่ตาลุกวาวเลย แล้วก็เหลือบไปเห็นป้ายโฆษณา มีพบปะนักเขียนด้วย เพื่อนบอกว่าเคยเรียนกับอาจารย์ด้วยสอนสนุกดี เขาเอาบางเคสที่เขียนในหนังสือมาสอนด้วยนะ นอกจากนี้ อาจารย์ยังมีหนังสือ อื่นๆ อีกด้วย

-Die Physik des Fußballspiels อธิบายหลักฟิสิกส์เกี่ยวกับการเล่นฟุตบอล
-Titanic: Mit Physik in den Untergang อธิบายหลักการฟิสิกส์เกี่ยวกับการจมของเรือไททานิค
-James Bond und die Physik อธิบายหลักการฟิสิกส์ในหนังเจมส์ บอนด์

นักเรียนที่นี้น่าจะสนุกกับเรียนหนังสือเนอะ (โคตรอิจฉาเลย)

ลิงค์รายชื่อหนังสือใน Amazon https://goo.gl/DCbpEk

มาแชร์ หนัง 10 เรื่อง หนังสือ 10 เล่ม ในดวงใจกันครับ

หนัง 10 เรื่องในดวงใจ

เห็นเพื่อนๆหลายๆกลุ่มแชร์หนังที่ชอบ บางกลุ่มแชร์หนังสือที่ชอบ แบบที่นึกได้แล้วเขียนเลย ไม่ต้องคิดเยอะ พอแชร์แล้วก็แท็กชื่อเพื่อนคนอื่น เหมือนท้าเทน้ำแข็งเลยนะ เราก็อยากนำเสนอของเราบ้าง แต่จะรวมไว้ที่เดียวเลยจะได้ง่าย ทั้งหนังและหนังสือ

หนัง 10 เรื่องในดวงใจของฉัน

หัวข้อนี้ค่อนข้างยากเพราะมีหนังที่เราชอบหลากหลายเรื่องหลากหลายแนว เอาเป็นว่าคิดออกเขียนเลย แล้วค่อยมาเติมรายละเอียดทีหลัง

  1. The Matrix (1999)
  2. My Neighbor Totoro (1988)
  3. The Dark Knight (2008)
  4. Pan’s Labyrinth (2006)
  5. Good Will Hunting (1997)
  6. A.I. Artificial Intelligence (2001)
  7. A Beautiful Mind (2001)
  8. Life Is Beautiful (1997)
  9. Fight club (1999)
  10. The Lord of the Rings: The Return of the King (2003)

หนังสือ 10 เล่มในดวงใจ

หนังสือ 10 เล่มที่ชอบ

พอเป็นหนังสือมีแค่ไม่กี่แนวที่อ่านและชอบ นักเขียนที่ชอบก็ไม่กี่คน

  1. อาเพศกำสรวล-วินทร์ เลียววาริณ
  2. เรื่องเล่าจากร่างกาย- ชัชพล เกียรติขจรธาดา
  3. มนุษย์กับจักรวาล-ชัยวัฒน์ คุประตกุล
  4. Steve Jobs by Walter Isaacson
  5. ความสุขของกระทิ-งามพรรณ เวชชาชีวะ
  6. รามานุจัน-Robert Kanigel, นรา สุภัคโรจน์ แปล
  7. ปลาที่ว่ายในสนามฟุตบอล -วินทร์ เลียววาริณ
  8. ศพใต้เตียง-สรจักร ศิริบริรักษ์
  9. พุทธทาสกับเซ็น-พุทธทาสภิกขุ
  10. The Drunkard’s Walk-Leonard Mlodinow, กฤตยา รามโกมุท และ นพดล เวชสวัสดิ์ แปล

และสุดท้ายขอชวนเพื่อนๆมาแชร์รายชื่อหนัง หนังสือ ในดวงใจกันครับ เอาแบบที่คิดออกในทันที

บันทึกรายการหนังในรอบปีที่ไปดูมาแล้ว

รายการความบันเทิงในชีวิตของผมเองมีการบันทึกไว้ค่อนข้างเป็นระบบ ตั้งแต่รายการเพลงที่ฟัง หนังที่ดู หนังสือที่อ่าน อาหารที่กิน ถูกบันทึกไว้ให้ตัวเองหยิบขึ้นมารำลึกในภายหลังได้อย่างสะดวกที่สุด อีกอย่างรายการเหล่านี้สะท้อนความเป็นตัวตนของเราได้เป็นอย่างดี ทำให้รู้ว่าแท้จริงแล้วเราชอบอะไรแบบไหนเป็นพิเศษ เคยเขียนบล็อกถึงการบันทึกเรื่องพวกนี้อยู่บ่อยๆ

สิ่งที่ช่วยบันทึกรายการความบันเทิงส่วนตัว มีดังนี้ครับ

  • Last.fm เก็บบันทึกเพลงที่ฟัง
  • Goodreads เก็บบันทึกหนังสือที่อ่าน
  • Food เก็บบันทึกอาหารและร้านอาหาร
  • Picasa เก็บบันทึกภาพถ่าย
  • และ imdb เก็บบันทึกหนังที่ไปดูมาแล้ว 

ถ้านอกเหนือจากรายการต่างๆเหล่านี้ก็จะบันทึกลงบล็อกไว้ให้ได้มากที่สุดครับ

ในวันนี้สิ่งที่อยากจะแชร์นั้นคือรูปแบบการบันทึกรายการหนังที่ดูมาแล้วของผมเอง ในที่นี้จะไม่ได้แยกว่าหนังที่ได้ดูนั้นดูที่ไหนอย่างไร จะเป็นหนังในโรง หนังแผ่น หรือแม้แต่หนังที่ดูผ่านทางเคเบิลทีวีก็ตาม ทุกเรื่องที่ได้ดูก็จะถูกบันทึกลงลิสต์ ณ เวลานี้ผ่านมาแล้ว 7 เดือน เลยครึ่งปีมาแล้วหนึ่งเดือน เราดูหนังไปแล้ว 49 เรื่อง เป็นหนังใหม่-เก่าที่ไม่เคยดู ในรายการนี้จะบันทึกเฉพาะหนังที่ไม่เคยดูเท่านั้น ซึ่งบางทีหนังที่เคยดูแล้วหยิบขึ้นมาดูอีกครั้งจะไม่ถูกบันทึกลงในรายการนี้เลย

วิธีการบันทึกของผมนั้นใช้ imdb.com เป็นตัวช่วยบันทึก โดยการล็อกอินเข้าระบบในเว็บไซต์ จากนั้นสร้างลิสต์ของตัวเองขึ้นมา เมื่อไปดูหนังกลับมาก็ไม่ลืมที่จะเข้าไปที่หน้ารายละเอียดของหนังเรื่องนั้นใน imdb.com แล้วกดบันทึกลงในลิสต์ที่เราสร้างไว้ ทำแบบนี้ทุกครั้งที่ไปดูหนังมา เริ่มทำแบบนี้มาตั้งแต่ปีที่แล้ว พบว่าวิธีนี้สะดวกดีเลยทีเดียวครับ

วิธีการบันทึกหนังลงลิสต์ของ imdb

  1. ทำการสร้างลิสต์ใหม่ขึ้นมา (สมัครสมาชิกและล็อกอินเข้าระบบก่อน) คลิกสร้างลิสต์ใหม่ Create a new list

    Create a new list

  2. เลือก list เป็นรายการของรายชื่อหนัง ใส่ชื่อของลิสต์ตามที่ต้องการในที่นี้ผมต้องการบันทีกรายการหนังที่ได้ดูตลอดทั้งปี 2013 จึงตั้งชื่อว่า “Watchlist in 2013”

    New List

  3. เมื่อต้องการบันทึกหนังที่ไปดูมาแล้วลงในลิสต์ที่สร้างไว้ เข้าไปที่รายละเอียดของหนังเรื่องนั้น กด Watchlist เลือกลิตส์ที่ต้องการเพิ่มหนังเรื่องดังกล่าวลงไปในลิสต์ เป็นอันเสร็จสิ้น

    add to watchlist

เข้าไปดู Watchlist ของผมใน imdb ได้ที่ลิงค์นี้ครับ Watchlist in 2013Watchlist in 2012

ขอชวนทุกท่านมาสร้างลิสต์หนังของตัวคุณเองครับ แล้วเอาลิสต์หนังของคุณมาแชร์กันบ้างนะครับ ผมอยากรู้ว่าคุณชอบดูหนังแนวไหน เรื่องอะไรบ้าง

Exit mobile version