หนังสือ To kill a mockingbird ฉบับ Graphic novel

มีเรื่องราวข้อพิพาทที่รุนแรงเกิดขึ้นระหว่างคนผิวสีกับคนขาว มีทนายความคนหนึ่งได้เข้ามาว่าความให้คนผิวสี เนื้อเรื่องค่อนข้างซีเรียสแต่เรื่องราวถูกเล่าเรื่องผ่านกลุ่มเด็ก ๆ ลูกของเขาที่การมองโลกเป็นไปแบบซื่อ ๆ และตรงไปตรงมา ดังนั้นสิ่งที่เด็ก ๆ พบเห็นในเรื่อง มันแสดงให้พวกเขาเห็นถึงสิ่งที่พวกผู้ใหญ่ทำไม่มีความถูกต้องเป็นอย่างมาก และมันก็สะท้อนกลับไปที่ตัวของเด็กเองว่าเมื่อพวกเขาโตไปจะไม่ทำอะไรแบบผู้ใหญ่ทำกัน และส่วนสำคัญของหนังสือเล่มนี้ คือทนายความได้สอนวิธีการมองโลกและการใช้ชีวิตในสังคมให้กับลูก ๆ ของเขาได้ดีมาก ๆ

หนังสือเล่มถูกตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1960 และถูกแนะนำให้เป็นหนึ่งในหนังสืออ่านนอกเวลาของเด็กอเมริกัน ซึ่งเป็นความพยายามสร้างค่านิยมการไม่เหยียดความเป็นมนุษย์ของคนอื่น และเรียนรู้ที่จะอยู่ด้วยกันอย่างเห็นอกเห็นใจ
แม้ว่าการเหยียดกันในสังคมปัจจุบันยังคงมีอยู่ แต่ถ้าคนในยุคนั้นบอกว่าในอนาคตจะมีประธานาธิบดีของอเมริกาเป็นคนผิวสีคงไม่มีใครเชื่อแน่ ๆ เพราะคุณค่าของคนผิวสีในยุคนั้นมันถูกมองว่าต่ำมาก ๆ อย่างไรก็ตามไม่มากก็น้อยหนังสือเล่มนี้มีส่วนในการผลักดันค่านิยมการยอมรับผู้อื่นอย่างเป็นธรรมให้ดีขึ้นอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอย่างแน่นอน

หนังสือ To kill a mockingbird ฉบับ Graphic novel

ในปีที่แล้วได้อ่านหนังสือเล่มนี้และก็จัดให้เป็นหนึ่งในหนังสือที่ชอบในปี 2021 อีกด้วย ส่วนอันที่ได้มานี้คือฉบับ Graphic novel ดัดแปลงและวาดโดย Fred Fordham ทำออกมาตั้งแต่ปี 2018 รีวิวสั้น ๆ ว่าภาพสวยและเนื้อหาครบถ้วนดีมาก
ตอนที่อ่านฉบับหนังสือธรรมดาเราก็จะพยายามจินตนาการตามตัวอักษร ถึงสภาพแวดล้อม ผู้คน หรือการแต่งตัวของคนอเมริกันในยุคนั้น แต่ว่าเราไม่ใช่คนพื้นถิ่น บางครั้งจึงนึกภาพตามได้ลำบาก ฉบับสมุดภาพทำออกมาให้ได้เห็นสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้น ทำให้เห็นภาพชัดเจนและง่ายมากยิ่งขึ้น ดังนั้นการมีอีกฉบับเก็บไว้และนำมาเปิดอ่านอีกครั้งน่าจะดีไม่น้อย

และสุดท้ายขอแนะนำสำหรับใครที่ไม่ชอบอ่านหนังสือที่มีแต่ตัวหนังสือ อ่านแบบเป็นภาพประกอบก็ได้ เพราะนี้เป็นหนังสืออีกเล่มที่ควรค่าที่จะได้อ่านจริง ๆ

รายละเอียดหนังสือ To kill a mockingbird ฉบับ Graphic novel
ราคา 15 ยูโร สั่งมาจาก Amazon.de
Publisher ‏ : ‎ William Heinemann; 1st edition (30 Oct. 2018)
Language ‏ : ‎ English
Hardcover ‏ : ‎ 288 pages
Dimensions ‏ : ‎ 17.1 x 3.1 x 24.2 cm

ร้านขายหนังสือ Thalia ใส่ความเห็นของพนักงานเพื่อเพิ่มความสนใจให้กับลูกค้าในร้าน

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เข้าไปในเมือง เดินเล่นและเข้าไปที่ร้านขายหนังสือ ร้านขายปลีกหนังสือในเยอรมันที่ค่อนข้างใหญ่ และมีสาขาเยอะ คือ Thalia มีทั้งหน้าร้านและออนไลน์ หนังสือเล่มล่าสุด the queens gambit ก็ซื้อที่นี้ สิ่งที่เห็นและเป็นรายละเอียดเล็ก ๆ ที่อยากเอามาเล่านั้นอยู่ในภาพประกอบนี้

มันคือคำแนะนำจากคนขายหนังสือที่ได้อ่านเล่มนี้แล้ว

คำแนะนำจากคนขาย (“Lieblingsbuchhändlerin” means favorite bookseller)

ป้ายพร้อมข้อความเหล่านี้จะกระจายอยู่ทั่วไปตามชั้นขายหนังสือ สำหรับคนที่ชอบเดินเลือกหนังสือถือว่าเป็นแนวคิดที่ดีมาก ๆ

ผมเลยลองคุยรายละเอียดเพิ่มเติมกับเพื่อนที่ทำงานในร้าน Thalia เขาบอกว่า นี้คือคอนเซ็พท์ของทางร้านที่ให้พนักงานที่ได้อ่านหนังสือ สามารถรีวิวหรือแนะนำเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้กับลูกค้าได้ โดยเขียนเป็นข้อความสั้น ๆ (เขียนเป็นด้วยลายมือไม่ใช่พิมพ์นะ) แล้ววางไว้ที่หน้าชั้นวางหนังสือนั้น ๆ สิ่งที่ได้กลับมาคือลูกค้าจะได้คำแนะนำจากคนที่อ่านหนังสือนั้นจริง ๆ และถ้าลูกค้าต้องการข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือเล่มนั้นมากขี้น ยังสามารถที่จะเข้าไปพูดคุยกับคนขายได้ถูกคนด้วย ค่อนข้างแน่ใจได้ว่า ตนขายคนนั้นจะให้คำแนะนำเกี่ยวกับหนังสือเล่มนั้นได้จริง ๆ

ฟังแล้วเป็นไอเดียที่ดีมาก ๆ เลย เราเคยเห็นอะไรแบบนี้มาบ้าง เช่น ป้ายที่เขียนบอกว่า หนังสือเล่มนี้คนดังคนนี้อ่าน แต่ไม่ค่อยเห็นคำแนะนำจากพนักงาน หรือคนทั่วไปมากนัก

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พวกเราซื้อของออนไลน์เพิ่มขึ้นเยอะมาก คำแนะนำ คะแนนรีวิว ที่อยู่ใต้สินค้านั้นมีความสำคัญมาก ๆ กับการตัดสินใจซื้อ เพราะส่วนหนึ่งคนซื้อไม่ได้มีโอกาสสัมผัสตัวสินค้าโดยตรง การได้ความเห็นตวามเห็นจากผู้ที่เคยใช้สินค้านั้นมาก่อน จึงเป็นอีกปัจจัยหลักอันหนึ่งที่โน้มน้าวคนซื้อได้มาก ถ้าได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับร้านค้าออนไลน์อะเมซอนจะรู้ว่าความเห็นของลูกค้าใต้สินค้านั้น ๆ บริษัทให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ เลยทีเดียว

สำหรับสินค้าอย่างหนังสือแม้ในยุคปัจจุบันที่มีทั้ง อีบุ๊ค หนังสือเสียง สั่งออนไลน์ได้ แต่การได้ออกไปเลือกซื้อ เลือกหยิบ ดูปก อ่านบางหน้า ยังเป็นสิ่งที่การขายออนไลน์ให้ประสบการณ์ตรงแบบนี้ไม่ได้ เราจึงยังเห็นนักอ่านเข้าร้านหนังสือกันคึกคักอยู่ตลอด แต่พฤติกรรมของเราก็ยังคุ้นชินกับการได้อ่านคำแนะนำแบบสินค้าออนไลน์อยู่พอสมควร การที่ร้านหนังสือ เอาคำแนะนำมาติดวางที่ชั้น ก็เหมือนเอาข้อดีของระบบออนไลน์และคำแนะนำจากคนที่ได้อ่านมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และเพิ่มการปฎิสัมพันธ์กับคนอ่านหรือลูกค้าได้มากขึ้น ตัวลูกค้าก็รู้สึกว่าได้รับการเอาใส่ใจมากขึ้น

แต่ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าการทำแบบนี้ทำให้ยอดขายหนังสือที่ถูกแนะนำโดยพนักงานที่อ่านเองนั้นจะขายดีขึ้นหรือไม่ (ไม่มีข้อมูล) แต่ถามว่าเพิ่มความสนใจให้ลูกค้าได้ไหม อันนี้ตอบให้ได้ในมุมส่วนตัวว่า ได้ ทำให้รู้สึกคุ้นเคยเป็นกันเอง อยากอ่านเล่มนั้นบ้าง และถ้าเป็นหนังสือที่เราสนใจอยู่แล้ว การได้คุยกับคนที่ได้อ่านมาก่อน ก็น่าจะทำให้การตัดสินใจซื้อทำได้ง่ายขึ้นด้วย

Thalia ไม่ได้มีคำแนะนำแค้เฉพาะหนังสือ แต่รวมถึงสินค้าอื่น ๆ ด้วย เช่น บอร์ดเกม หนัง ของเล่น เป็นต้น และในระบบออนไลน์ของร้านก็มีให้เราได้เลือกตามการรีวิวของพนักงานขายหนังสือแต่ละคนได้ด้วย ตัวอย่างของเพื่อน https://www.thalia.de/buchhaendler/7102850/buchhaendlerseite แต่ส่วนตัวชอบคำแนะนำสั้น ๆ ที่ติดอยู่ในร้าน เขียนด้วยลายมือ มากกว่า

เรื่องนี้บอกอีกอย่างว่าพนักงานขายหนังสือของเขา ไม่ใช่แค่คนขายของแต่เป็นคนรักการอ่านและยังสามารถแนะนำให้คนอื่นอ่านต่อได้ด้วย สร้าง community และเพื่อนคนชอบอ่านมากขึ้นอีกด้วย

ถือว่าเป็นเรื่องเล็ก ๆ ที่อยากเล่า และคิดว่าร้านหนังสือ ร้านอื่น ๆ ทั่วไปที่ไทยอาจจะสนใจนำไปประยุกต์ใช้กับร้านตัวเองได้

รีวิวสั้น ๆ หนังสือ The Queen’s Gambit โดย Walter Tavis

The Queen’s gambit
น่าจะเหมือนคนส่วนใหญ่ทั่วไปที่ได้รู้จักครั้งแรกจากซีรีย์ทาง Netflix ซึ่งทำออกมาได้ดี สนุก และตื่นเต้นมาก ๆ แม้ว่าจะเล่นหมากรุกไม่เป็นก็ดูเข้าใจและตามเรื่องราวรู้เรื่องไม่งง

หนังสือ The Queen’s Gambit

หลังจากที่ประทับใจไปกับฉบับซีรีย์แล้ว เลยอยากอ่านต้นฉบับที่เป็นหนังสือเพิ่มเติม พอได้หนังสือมา เริ่มอ่านถึงได้รู้ว่าเป็นหนังสือที่เขียนโดย Walter Tevis ตั้งแต่ปี 1983 ซึ่งก็มีบรรยากาศของสงครามเย็น และค่านิยมต่าง ๆ ตามที่ซีรีย์ทำออกมาให้ดู

ส่วนเนื้อหาในหนังสือนั้น เหมือนกับที่ได้ดูในซีรีย์เรียกว่าแบบเป๊ะ ๆ ซีรีย์เก็บรายละเอียดได้ดีมาก ๆ ตอนอ่านหนังสือทำให้นึกภาพตามที่เคยดูจากซีรีย์ได้เลย เพราะเป็นซีรีย์มีเวลาให้เล่าเรื่องเยอะ ไม่ต้องรวบรัดเหมือนหนัง รายละเอียดจึงครบถ้วน ดังนั้น หนังสือเล่มนี้ก็อ่านได้เพลิน ๆ เล่าเรื่องเป็นเส้นตรงเหมือนที่ได้ดูในซีรีย์แบบฉากต่อฉากเลยทีเดียว

ส่วนหนึ่งที่ทำให้ซีรีย์ทำออกมาได้ดีเพราะบทประพันธ์ดั้งเดิมเขียนไว้ดีมาก ๆ

สำหรับใครที่อยากรู้เรื่องราวการเป็นนักเล่นหมากรุกของอลิซาเบธ ตั้งแต่เด็กจนถึงระดับสูงสุดของมืออาชีพ จะดูซีรีย์หรืออ่านหนังสือก็เรื่องเล่าเดียวกันไม่ดัดแปลง (ฉากจบยังถอดมาเป๊ะ ๆ)

สรุป อ่านก็จะได้อีกรสชาติหนึ่งของเรื่องราว แต่ดูแค่ในซีรีย์ก็ครบถ้วนเช่นกัน

หุ่นยนต์อัตโนมัติ ต้นแบบของ Automaton ในหนัง Hugo(2012)

Artificial Intelligence: An Illustrated History

ได้อ่านอ่านหนังสือ Artificial Intelligence: An Illustrated History: From Medieval Robots to Neural Networks by Clifford A. Pickover เป็นหนังสือที่เล่าถึงการพัฒนาหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ จนถึงปัญญาประดิษฐ์ โดยเล่าย้อนตั้งแต่รากฐานของนวัตกรรมในอดีตผ่านสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ เกือบ 100 รายการที่พัฒนาต่อยอดขึ้นมากเรื่อย ๆ ตลอดช่วงเวลาระหว่าง 1300 ก่อนคริสตศักราชจนถึงยุคปัจจุบัน

Jaquet-Droz automata

สิ่งที่สะดุดตามากจนต้องหยิบมาเขียนเก็บไว้ คือ สิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า Jaquet-Droz automata ที่ถูกสร้างขึ้นโดยช่างทำนาฬิกาชาวสวิซต์ชื่อ Pierre Jaquet-Droz และลูกของเขา โดยถูกสร้างในช่วงปี 1768-1774 โดยประกอบด้วย automata ทั้งหมด 3 ตัว ได้แก่ หุ่นนักเขียน หุ่นนักดนตรี และหุ่นร่างแบบ หุ่นแต่ละตัวมีความซับซ้อนสูงมาก มีชิ้นส่วนประกอบตั้งแต่ 2,000-6,000 ชิ้นต่อตัว

ภาพวาดจากหุ่นร่างแบบ

พวกเขาสร้างขึ้นเพื่อใช้โฆษณาสำหรับขายนาฬิกาและสร้างความบันเทิงให้หมู่ชนชั้นสูงที่เป็นลูกค้า ปัจจุบันนาฬิกาแบรนด์ Jaquet-Droz ก็ยังมีอยู่นะ และที่พิเศษกว่านั้น automata ทุกตัวปัจจุบันยังทำงานได้ดี ถูกเก็บรักษาอย่างดีและเปิดให้เข้าชมได้ที่พิพิธภัณฑ์ Musée d’Art et d’Histoire of Neuchâtel ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

Hugo (2011)

เหตุที่ตัวเองสนใจ Jaquet-Droz automata เป็นพิเศษ ทั้ง ๆ ที่ในหนังสือกล่าวถึงระบบหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติอีกหลายอย่าง เพราะว่าหุ่น Jaquet-Droz ทำให้นึกถึงหนังเรื่องหนึ่งที่ชอบมาก ๆ นั้นคือ Hugo (2011) ของมาร์ติน สกอร์เซซี เป็นเรื่องของเด็กกำพร้าฮิวโก้ที่อาศัยอยู่บนหอนาฬิกาของสถานีรถไฟ และพยายามหาชิ้นส่วนเพื่อซ่อม automaton หุ่นที่เป็นเหมือนตัวแทนสิ่งที่เหลือไว้ของพ่อผู้จากไป ในท้ายที่สุดตัวหุ่นก็ถูกซ่อมให้กลับมาทำงานได้อีกครั้ง และมันก็วาดภาพฉากหนึ่งของหนังอันโด่งดัง A Trip to the Moon ของ Georges Méliès เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งตัวละครสำคัญของเรื่องเลยทีเดียว

ภาพที่ Automaton วาดออกมา

เกร็ดหลังจากได้ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ automaton ในหนัง Hugo ก็ไม่แปลกใจเลย ที่หนังเรื่องนี้ก็ได้รับแรงบรรดาลใจมาจากหุ่น Jaquet-Droz automata และหุ่นกลไกตัวนั้นถูกสร้างโดยนักสร้างพร๊อพ Dick George และมันสามารถทำงานได้จริง ตัวหุ่นถูกควบคุมผ่านคอมพิวเตอร์ที่อยู่ใต้โต๊ะ มือของหุ่นถูกเชื่อมต่อกับกลไกผ่านชุดแม่เหล็ก มันสามารถวาดภาพทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบได้ แต่ใช้เวลานานถึง 46-47 นาที

อยากรู้ว่ามีใครชอบหนังเรื่องนี้เหมือนกันไหมนะ

The Handmaid’s Tale, a TV show is based on the book

The Handmaid’s Tale

The Handmaid’s Tale is Margaret Atwood’s dystopian novel published in 1985. The book was adapted as a television series on the streaming service Hulu, but we can now watch it on HBO GO.

It is one of the most dramatic and serious novels (for me). The plot is set in New England in the near future. It seems that after they lost a war, the country was under control by a strongly patriarchal and dictatorial government.

A handmaid is a woman from that country who is forced to “produce” children for commanders or leaders. You will see the book explain “the ceremony”, a highly ritualized sexual act where the husband is having sex with a handmaid while his wife is there to manage that ceremony.

The handmaids are restricted from freedom. Their accommodation is like a concentration camp. The government treats handmaids like an animal with only one purpose: to produce children for them.

The novel reflects the raw nature of human beings but acts like they have a noble culture (eventually are not). When I knew they were making a TV series, I couldn’t even watch a trailer (hopefully one day I can do that).

I also have some content about HBO series please check.

รีวิวซีรี่ย์ His Dark Materials ที่สนุกมาก ดูได้ใน HBO GO

His dark materials

รีวิวทีวีซีรี่ย์ His Dark Materials ที่สนุกมาก แต่คนพูดถึงกันน้อย

เห็นหลายคนสมัคร HBO GO เพื่อดู Zack Snyder’s Justice League แล้วบอกว่าไม่รู้จะดูอะไรต่อใน HBO GO มีซีรี่ย์ที่จัดอยู่ในระดับ A list อยู่หลายเรื่อง เช่น

  • ซี่รีย์ในตำนานอย่าง Game of Thrones ที่จบไปแล้ว
  • Chernobyl มินิซีรี่ย์ที่ทำดีมาก
  • Westworld ใครที่เป็นแฟนคลับของ Christopher Nolan ต้องรู้ว่าน้องชายเขา Jonathan Nolan มีส่วนร่วมในการเขียนบทในหนังของ Nolan เกือบทุกเรื่อง ถ้าเขาจะคุมโปรเจคซีรี่ย์เรื่องนี้เราคนดูก็เชื่อใจได้ในระดับหนึ่ง และมันทำออกมาได้ดีจริง ๆ
  • Watchmen ฮีโร่สายดาร์คที่เข้มข้น

แต่วันนี้จะมาพูดถึงซีรี่ย์อีกเรื่องที่คนไม่คอยพูดถึงเลย คือ His Dark Materials (ชื่อแปลไทย ธุลีปริศนา)ซี่รีย์ที่ดัดแปลงมาจากนิยายแฟนตาซีในชื่อเดียวกันที่เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งตำนานของนักเขียน Phillip Pullman หนังสือมี 3 เล่ม Northern Lights (The Golden Compass), The Subtle Knife และ The Amber Spyglass ซี่รีย์ทำตามหนังสือแบบเล่มละซีซั่นพอดีเลย ตอนนี้จบถึงซีซั่นที่ 2 แล้ว และซีซั่นที่ 3 เริ่มถ่ายทำแล้ว มีแผนในการออกฉายในต้นปี 2022

หนังสือชุด His Dark Materials

รีวิวแบบสั้น ๆ คือ ดีมากกกก ดูเถอะสนุกมาก

รีวิวซีรี่ย์ His Dark Materials

The Golden Compass เคยทำเป็นหนังแล้วเมื่อปี 2007 ความจริงหนังไม่ได้แย่มากนะ แต่แผนของสตูดีโอที่อยากปั้นหนังจากหนังสือดังและทำต่อเนื่องหลายภาคต่อกันอย่างเช่นที่แฮรี่ พอร์ตเตอร์ ทำได้ในช่วงนั้น ซึ่งทำเงินให้สตูดิโออย่างมหาศาล ค่ายไหนก็อยากมีโปรเจคทำเงินยาว ๆ แบบนั้นบ้าง ช่วงนั้นเราเลยได้เห็นฮอลลีวู้ดพยายามเข็นโปรเจคหนังที่ดัดแปลงจากหนังสือมาลงจอใหญ่กันเยอะมาก แต่หลายโปรเจคก็ล้มและขาดทุนกันถ้วนหน้าและ The Golden Compass ที่ตั้งเป้าจะมีหลายภาคออกมาฉายก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ล้มเหลว เป็นยักษ์ล้มไปในปีนั้น

กลับมาที่ซีรีย์บน HBO GO ที่จะพูดถึงกัน ต้องบอกก่อนว่าผมได้อ่านฉบับหนังสือมาก่อนแล้ว 2 เล่ม คือ Northern Lights (The Golden Compass), The Subtle Knife เหลือเล่มที่ 3 ซึ่งคิดว่าถ้าซีซั่น 3 ออกฉาย จะกลับไปอ่านหนังสือก่อนแล้วค่อยมาดูซีรีย์ ดังนั้นจะเป็นรีวิวที่รู้เรื่องราวแล้วบางส่วน เหมือนคนที่อ่านหนังสือแฮรี่ พอร์ตเตอร์ แล้วเขาไปดูหนังอีกที

โดยปกติแล้วหนังที่ทำจากหนังสือจะออกมาสองแบบชัดเจนคือ ทำได้แย่จนแฟนหนังสือด่ากันยับ เช่น Mortal Engine, Dark Tower, Divergent และหนังที่ทำดีได้ใจทั้งแฟนหนังสือและแฟนหนัง เช่น Lord of the Ring, Harry Potter, The Hunger Games ส่วนตัวขออวยว่าซีรีย์เรื่องนี้อยู่ในกลุ่มหลังครับ ทำดีมีดัดแปลงบ้าง บางอันลงตัวกว่าในหนังสืออีก

เริ่มที่นักแสดง คัดมาดีมาก ๆ

  • James McAvoy เป็น Lord Asriel ในสองซีซั่นบทยังมีไม่มาก มาน้อยแต่ดีมาก
  • Ruth Wilson เป็น Marisa Coulter ได้ลงตัวกว่า Nicole Kidman จากฉบับฉายโรงอีก มีความเลือดเย็น เป็นผู้หญิงที่น่ากลัว ร้ายกับคนรอบข้าง รวมทั้งกับ Dæmon ของตัวเองด้วย
  • ส่วนน้อง Dafne Keen น้องตัวแสบ X-23 จาก Logan มารับบทเป็น Lyra Belacqua แสดงได้ดี มีความกล้าและแสบตามฉบับหนังสือ
  • Amir Wilson รับบทเป็น Will Parry พอได้กลาง ๆ
  • ส่วนตัวอื่น ๆ Roger Parslow, Lee Scoresby, กลุ่ม Gyptian ก็คัดมาได้ดี

ในยุคที่คอมพิวเตอร์กราฟฟิคทำได้ดีและเนียนขึ้น เหล่า Dæmon ภูตประจำตัวของแต่ละคนจึงดูสมจริงขึ้น และมีปฏิสัมพันธ์กับเจ้าของมากขึ้น และช่วยในการเดินเรื่องและบอกอารมณ์ของตัวภูติเองที่สะท้อนไปถึงเจ้าของด้วยได้ดี และเจ้าหมียักษ์ Iorek Byrnison ที่อยากให้ออกมาทุกตอนเลย

ซีนหนึ่งที่ชอบมากในซีรีย์ คือการแทรกเรื่องพิธีฉลองการหยุดเปลี่ยนรูปของ Dæmon ที่เปรียบเสมือนการเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ของเด็กหนุ่มของชาว Gyptian ซึ่งเป็นช่วงที่เปรียบเสมือนการก้าวสู่อีกวัยที่ทุกคนในเผ่าจะออกมาแสดงความยินดีด้วย แต่ในหนังสือจะไม่มีรายละเอียดในส่วนนี้เลย และเป็นการเติมเข้ามาในเรื่องที่ลงตัวมาก ในหนังสือเราจะเห็นว่าเด็กมักจะคุยกันว่าท้ายสุดแล้ว Dæmon ของตัวเองจะคงรูปเป็นสัตว์อะไรอยู่บ่อยครั้ง จึงถือว่าเป็นช่วงที่สำคัญที่สุดช่วงหนึ่งของเด็ก ๆ และซีรี่ย์เลือกที่จะเล่าส่วนนี้เพิ่มเข้ามาถือว่าคิดมาดี และทำออกมาได้ดีมาก ๆ

พิธีฉลองของ Gyptian

ส่วนต่อไป ขอชมการออกแบบองค์ประกอบต่างๆ ในซีรี่ย์ทำได้ดีมาก เช่น สิ่งของสำคัญในเรื่อง เช่น Alethiometer ชื่อเรียกของ Golden Compass ในหนังสืออธิบายรูปทรงเป็นวงกลมตามแบบของเข็มทิศทั่วไป แต่ในซีรี่ย์ทำออกมาเป็นตลับสี่เหลี่ยม และรูปแบบสัญลักษณ์ต่างๆข้างในก็ทำออกมาดูดีทีเดียว ซึ่งบางทีก็จินตนาการไม่ออกว่ามันจะเป็นยังไง แต่ในซีรีย์ทำให้ภาพในจินตนาการออกมาเป็นภาพที่ชัดเจน และอื่นๆ เช่น ชุดเกาะของ Iorek, บอลลูนของ Lee, แม่มดบินด้วยการขี่กิ่งสน แต่ในซีรี่ย์ทำอีกแบบที่ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิงเลย แต่ออกมาดีกว่ามาก ๆ (ไปดูเองในซีรี่ย์)

Alethiometer

การเล่าในซีรี่ย์จะเล่าต่างจากในหนังสือนิดหน่อย ในหนังสือจะมีเส้นเรื่องค่อนข้างตรงๆ ตามมุมมองของตัวเอก Lyra เป็นหลัก เดินเรื่องไปเรื่อยๆ แต่ในซีรี่ย์เล่าเป็นจักรวาลที่กว้างกว่ามาก แม้ว่าเส้นเรื่องหลักจะตามหนังสือแต่ละเล่มก็ตาม แต่ว่าเนื้อหาของหนังสือเล่ม 2-3 จะมีแทรกเข้ามาในเนื้อเรื่องช่วงซีซันแรกที่เป็นเนื้อหาของเล่ม 1 เป็นระยะ ๆ เพื่อเล่าขอบเขตที่กว้างกว่าและครอบคลุมมากกว่า เช่น รายละเอียดของ Magisterium ที่ลงรายละเอียดเยอะขึ้นมาก เพื่อวางโครงของจักรวาล ทำให้ดูเป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงมากในโลกของ Lyra ส่วนเครื่องมือสำคัญอย่าง Alethiometer ก็มีรายละเอียดมากขึ้น กลายเป็นสิ่งผิดกฏหมายในโลก มีการอนุญาตให้ใช้งานได้เฉพาะใน Magisterium เท่านั้น แทนที่จะเป็นแค่ของหายากตามฉบับในหนังสือ

ตึกของ Magisterium รูปร่างคล้าย Alethiometer

เขียนมายาว สรุปว่าใครที่อ่านหนังสือแล้ว คุณจะรักฉบับซีรี่ย์ ใครยังไม่อ่านหนังสือก็จะเข้าถึงและได้เพลิดเพลินกับรายละเอียดต่างๆของจักรวาลในเรื่องได้ไม่ยาก ผมตื่นเต้นทุกครั้งที่ซีรี่ย์เนรมิตรฉากในจินตนาการจากตัวหนังสือออกมาเป็นภาพเคลื่อนไหวให้ได้เห็น ชอบมาก ๆ ครับ ตามไปดูได้ที่ HBO GO ส่วนใครสนใจรีวิวหนังเรื่องอื่นๆ ติดตามได้ที่ลิงค์เกี่ยวกับหนัง

มาอ่านวรรณกรรมคลาสสิคกันเถอะ

ตลอดหลายปีที่ผ่านมาหนังสือที่อ่านจะอยู่ในหมวด non-fiction เป็นส่วนใหญ่ ถ้าจะเจาะจงคงเป็นหนังสือ pop-sci เป็นหลัก อาจจะเพราะมันอ่านเข้าใจง่าย ตรงไปตรงมา และเข้ากับคลังความรู้พื้นฐานที่มี ทำให้มันไปได้ง่ายและเร็ว หมวดอื่น ๆ มักจะได้รับความสนใจน้อยมาก

แต่เมื่อไม่นานมานี้ได้อ่านเจอบทความที่บอกว่า เราควรอ่านหนังสือให้หลากหลายแนว หนังสือก็เหมือนอาหาร ที่ต้องทานให้หลากหลายและครบถ้วน

หมวดแรกที่ถูกเลือกหยิบมาก่อนคือ นิยายและวรรณกรรมคลาสสิก

ช่วงที่ผ่านมาจึงได้ตั้งใจว่าจะลองอ่านหนังสือหมวดวรรณกรรมคลาสสิคให้มากขึ้น ลองค้นดูตามลิสต์ที่เขาแนะนำตามเว็บไซต์ (100 must-read classic books) มีให้เลือกหลากหลายมาก แต่ก็จะมีซ้ำ ๆ กันอยู่บางส่วน จึงเลือกจากตรงนั้น รวมกับความสนใจส่วนตัวไปด้วย

Classic Literature Books

นี้คือหนังสือหมวดวรรณกรรมคลาสสิคที่ได้อ่านไปแล้วบางส่วนในช่วงที่ผ่านมา

-To Kill a Mockingbird
-The Handmaid’s Tale
-Fahrenheit 451
-Frankenstein
-Dune
-The Time Machine
-The War of the Worlds
-The Invisible Man
-The Island of Dr. Moreau
-The Alchemist
-The Giver
-Animal farm
-The Little Prince
-Alice’s Adventures in Wonderland

สิ่งที่ได้หลังจากอ่านหนังสือวรรณกรรมคลาสสิคเท่าที่ผ่านมาจากรายการด้านบน อันดับแรกเลยคือ มันสนุก น่าติดตาม เกินกว่าที่คิดไว้เยอะเลย เนื้อหาหนักบ้างเบาบ้างแล้วแต่เล่ม แต่แนวคิดและสิ่งที่จะสื่อค่อนข้างแข็งแรง ตามแนวทางของผู้เขียน ไร้กาลเวลาดูไม่เก่าเลย ทั้ง ๆ ที่บางเล่มตีพิมพ์ครั้งแรก 200 กว่าปีแล้ว (Frankenstein, 1818) แทบไม่มีเล่มไหนเลยที่ทำให้ผิดหวัง รู้สึกคุ้มค่าที่ได้อ่าน และได้อะไรกลับมาให้คิดต่อทุกเล่ม สมควรแล้วที่ถูกยกให้เป็นคลาสสิค

มีหลายเล่มที่มีบทวิเคราะห์ลึกระดับวิทยานิพนธ์ (To Kill a Mockingbird, The Handmaid’s Tale, Fahrenheit 451, etc.) ให้ได้ตามอ่านเพิ่มเติม มันดีถึงกับมั่นใจที่จะแนะนำต่อให้คนอื่น ๆ ได้อ่านด้วย แต่มีบ้างในบางเล่มที่ภาษาที่ใช้ไม่คุ้นเคยเลย (To Kill a Mockingbird) ต้องค้นหาความหมายบ่อยครั้งในช่วงแรกของเล่ม แต่ก็ถือว่าได้คลังคำศัพท์เพิ่มขึ้นมา

คิดว่าในช่วงของปีนี้ก็จะยังอ่านกลุ่มนี้ไปเรื่อย ๆ ก่อน
นอกจากนี้ ได้ลองอ่านแนว Poetry ไปบ้างนิดหน่อย พบว่าเปิดโลกดีทีเดียว หลังจากนี้ก็คิดว่าจะหยิบมาอ่านเพิ่มด้วยเช่นกัน

ใครมีหนังสือแนววรรณกรรมคลาสสิคเล่มไหนดีๆ อยากบอกต่อ แนะนำด้วยนะครับ เรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับหนังสือ

Zombie Makers: เรื่องราวของ “หนอนควบคุมมนุษย์”

เรื่องราวของซอมบี้ในธรรมชาติจากหนังสือเรื่อง Zombie Makers อีกเรื่อง ที่หยิบมาเล่าให้ฟัง คือ “หนอนควบคุมมนุษย์” เรื่องก่อนหน้าเป็นเรื่องของ ซอมบี้หอยทาก

ตัวละครหลักมี 3 ตัว
ผู้ร้าย: หนอนพยาธิ guinea worm หรือ Dracunculus medinensis
ผู้เคราะห์ร้าย: มนุษย์ Homo Sapiens
ผู้สมรู้ร่วมคิด: โคพีพอด copepods (คล้ายตัวอ่อนกุ้ง, แพลงค์ตอน เป็นต้น)
สถานที่เกิดเหตุ: แอฟริกา

ตัวโคพีพอดที่ติดเชื้อหนอนพยาธิ

เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อมนุษย์ดื่มน้ำที่มีตัวโคพีพอดที่ติดเชื้อมีตัวอ่อนของหนอนพยาธิ D. medinensis เข้าไป หลังจากนั้นโคพีพอดจะตายและปล่อยตัวอ่อนของหนอนพยาธิออกมา ในท้องของคน หนอนพยาธิจะเจาะเข้าไปในกระเพาะอาหารและผนังลำไส้ของของคนและเข้าไปในช่องท้อง พอตัวหนอนเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยจะผสมพันธุ์กัน แล้วหนอนตัวผู้จะตายไป ส่วนตัวเมียซึ่งอาจยาวได้ถึง 1.2 เมตร จะมุดตัวซอนไซไปอยู่ในเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังโดยเฉพาะบริเวณขา

ตัวหนอนพยาธิที่ถูกดึงตัวออกมาจากแผล

สิ่งน่าสยดสยองคือตัวหนอนพยาธิสามารถควบคุมพฤติกรรมของคนที่ติดเชื้อให้ช่วยทำให้วงจรการขยายพันธุ์ของมันสมบูรณ์ นั้นคือเมื่อหนอนพร้อมที่จะวางไข่มันจะปล่อยสารเคมีบางตัวออกมา ทำให้เกิดตุ่มขนาดใหญ่บนผิวหนัง ไม่นานแผลพุพองก็แตกออกทำให้เจ็บแสบอย่างมาก ปลายหัวของหนอนจะมองเห็นได้ตรงที่กลางแผล แต่ก่อนที่ตัวหนอนจะออกมามีอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องเกิดขึ้นก่อน…

อาการเจ็บแสบที่ผิวหนังสามารถบรรเทาด้วยการเอาลงไปแช่น้ำ ผู้ติดเชื้อจึงพยายามหาแหล่งน้ำเพื่อนำขาลงไปแช่น้ำ (กลายเป็นซอมบี้เดินหาแหล่งน้ำ) เมื่อผู้ป่วยเอาขาแช่ลงน้ำหนอนตัวเมียก็จะรู้ว่าได้เวลาโผล่ออกมาแล้ว มันจะปล่อยตัวอ่อนลงแหล่งน้ำ ตัวอ่อนจะถูกตัวโคพีพอดกินอีกครั้ง หลังจากนั้นก็พัฒนาเป็นตัวอ่อน รอให้เหยื่อคนต่อไปกลืนกินมันเข้าไปอีกครั้ง เป็นอันครบวงจรชีวิตโดยสมบูรณ์ สยอง…

สิ่งที่น่าสยดสยองมากกว่านั้น คือไม่มีวัคซีนหรือยารักษา การรักษาทางการแพทย์เพียงอย่างเดียวที่ทำได้คือพยายามดึงหนอนออกอย่างช้า ๆ และระมัดระวัง โดยจับตัวหนอนพันรอบแท่งไม้เล็ก ๆ ค่อยดึงตัวมันออกมาทีละน้อย ๆ ทุก ๆ วัน (ดูภาพและวิดีโอประกอบ) การเอาตัวหนอนออกทั้งตัวอาจใช้เวลาหลายวันบางครั้งเป็นสัปดาห์ สิ่งที่ต้องระวังคือห้ามให้ตัวมันขาดโดยเด็ดขาด หากหนอนขาดเป็นชิ้นส่วนที่หลงเหลืออยู่ภายในอาจทำให้ติดเชื้อ ส่งผลให้พิการหรืออาจเสียชีวิตได้ สยอง…

แต่การป้องกันทำได้ง่ายมากๆ เพียงดื่มน้ำที่ผ่านการกรองด้วยผ้าบางธรรมดาก็ปลอดภัยแล้ว ในปัจจุบันเป็นที่น่ายินดีมาก หลังจาการต่อสู้และรณรงค์ให้ความรู้กันอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 80s ที่มีรายงานการติดเชื้อมากกว่า 3.5 ล้านรายในแอฟริกา แต่ในรายงานล่าสุดในปี 2018 มีรายงานการติดเชื้อเพียง 8-10 รายเท่านั้น เรียกได้ว่าตอนนี้เรากำลังนับถอยหลังโลกที่ปราศจากไอ้โรคหนอนซอมบี้นี้แล้ว (โล่งอกไปที)

จากหนังสือเรื่อง Zombie makers: true stories of nature’s undead / by Rebecca L. Johnson.

วิดีโอการต่อสู้กับหนอนพยาธิในแอฟริกา

อ้างอิง
https://youtu.be/8nOuAUfXjzQ?t=116
https://www.who.int/dracunculiasis/disease/en/
https://www.cdc.gov/parasites/guineaworm/biology.html

Zombie makers: ซอมบี้หอยทาก ยอมฆ่าตัวตาย

เรื่องราวของซอมบี้หอยทาก (snail zombie) เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวของซอมบี้ในธรรมชาติจากหนังสือเรื่อง Zombie Maker มีหลายเรื่องที่น่าสยดสยองอยู่ในนั้น เช่น แมลงที่ติดพยาธิบางชนิดแล้วถูกควบคุมให้ฆ่าตัวตายด้วยการจมน้ำ หนูที่ติดเชื้อบางชนิดถูกตัดสัญชาติญาณในการกลัวแมวออกไป แล้วเดินไปให้แมวกินเฉยๆเสียอย่างงั้น เป็นต้น แต่เรื่องที่ดูน่าสนใจและอยากหยิบมาเล่าให้ฟังคือ “ซอมบี้หอยทาก”

ตัวละครหลักมี 3 ตัวละคร
ผู้ร้าย: หนอนพยาธิ ชื่อวิทยาศาสตร์ Leucochloridium paradoxum
ผู้เคราะห์ร้าย: หอยทาก ชื่อวิทยาศาสตร์ Succinea putris
ผู้สมรู้ร่วมคิด: นก
สถานที่เกิดเหตุ: ยุโรป และเอเชียเหนือ

เรื่องราวเกิดขึ้น เมื่อทากเผลอกินไข่พยาธิเข้าไป ไข่จะฝักตัวและโตในร่างกายของหอยทาก เมื่อโตถึงระดับหนึ่ง หนอนพยาธิมันจะไต่เข้ามาอยู่บริเวณตาของตัวทาก (ดูรูป) มันไม่อยู่นิ่งขยับตัวเหมือนปั๊มน้ำ (ดูในวิดีโอสยองมากๆ) สิ่งที่มันทำนอกจากนั้นคือ มันควบคุมสมองของหอยทากให้มีพฤติกรรมที่แปลกประหลาดจากหอยทากตัวอื่นๆทั่วไป คือ ทำให้มันไต่ขึ้นที่สูงโล่ง เพื่อล่อให้นกเห็นได้ง่ายขึ้น ประหนึ่งว่าเรียกร้องให้นกมากิน (ฆ่าตัวตายชัดๆ) แล้วเมื่อนกกินหอยทากพร้อมหนอนเข้าไป สภาวะต่างๆในลำใส้ของนกเหมาะสำหรับวางไข่ของหนอนตัวนี้อย่างมาก หนอนวางไข่ จากนั้นนกจะขี้ที่ปนไข่ของหนอนพยาธิออกมา แล้วทากตัวอื่นที่ไต่ไปมาบริเวณนั้นกินขี้นกเข้าไป วงจรก็จะครบสมบูรณ์อีกครั้ง

เป็นธรรมชาติที่น่าขนลุกอย่างมาก มีเรื่องที่น่าสนใจอีกหลายเรื่องตามไปอ่านได้ที่หนังสือเรื่อง Zombie makers: true stories of nature’s undead / by Rebecca L. Johnson.

หนอนพยาธิที่อยู่ส่วนตาของหอยทาก
วิดีโอเล่าเรื่องซอมบี้หอยทากจาก National Geographic

รีวิวหนังสือ Born a Crime by Trevor Noah

Born a Crime by Trevor Noah
เป็นหนังสือที่อ่านสนุกมากๆ ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 2016 แล้ว(ทำไมเพิ่งได้อ่านนะ?) และมีข่าวว่ากำลังพัฒนาเป็นหนังอยู่ด้วย น่าสนใจทีเดียว

Born a Crime by Trevor Noah

สิ่งที่น่าสนใจที่สุดของหนังสือเล่มนี้คือ เรื่องราวของการเกิดมาจากพ่อที่เป็นคนขาว(สวิสซ์)และมีแม่เป็นคนดำ(แอฟริกัน)ถือเป็นเรื่องผิดกฏหมาย ณ เวลานั้น (ยุค 80s) เรียกได้ว่ามีความผิดตั้งแต่เกิด

ในขณะนั้นแอฟริกาใต้มีกฎหมายที่ห้ามไม่ให้คนดำกับคนขาวมีความสัมพันธ์กัน ไม่สามารถแม้แต่จะอาศัยอยู่ในเขตเดียวกันได้ การมีความสัมพันธ์กันเชิงชู้สาวระหว่างเผ่าพันธ์ถือว่าผิดกฏหมาย หากถูกจับได้ มีโทษรุนแรงทั้งคู่ โทษคือจำคุก 4-5 ปี ทั้งคนขาวและคนดำ การมีลูกจึงเป็นเรื่องที่มีความผิดอย่างเลี่ยงไม่ได้ ลูกที่เกิดมาอาจจะไม่ได้การรับรองด้วยซ้ำ

เราจะได้เห็นการใช้ชีวิตวัยเด็กของ Travor ที่ต้องหลบๆซ้อนๆ และยากลำบากในการเข้าสังคมของการเป็นลูกครึ่ง ที่ไม่สามารถเข้ากับคนดำไม่ได้เพราะขาวเกิดไป แต่ก็ดำเกินไปที่จะเข้ากับคนขาว

ที่หนังสืออ่านสนุกมากๆเพราะ Travor มีชั้นเชิงในการเล่าเหมือนกับยก Stan up comedy ที่เป็นความสามารถที่เก่งกาจของเขามาไว้ในหนังสือยังไงยังงั้น มีเรื่องเปิด ตบมุก หักมุม ฮา และปนเศร้า หดหู่ ควบคู่กันไป ทำให้อ่านเพลินมากๆ (มีคนบอกว่าถ้าฟังแบบ Audio book ที่เขาอ่านเองจะยิ่งสนุกขึ้นอีกมาก)

อ่านเถอะเล่มนี้สนุกจริงๆ 5/5

Exit mobile version