Creative Writing Workshop โดยวินทร์ เลียววาริณ

วินทร์ เลียววาริณ

โครงการอบรมวรรณกรรม Bangkok Creative Writing Workshop เมื่อวันเสาร์ที่ 12 พฤษภาคม 2555 วิทยากรในวันนั้นคือ คุณวินทร์ เลียววาริณ ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลปกรุงเทพฯ

ไปเจอวิดีโอที่สมาชิกท่านหนึ่งเอามาแชร์ไว้ใน facebook group เป็นวิดีดอบันทึก workshop ที่คุณวินทร์ เลียววาริณ เป็นวิทยากร พูดคุยกันหลายอย่างเกี่ยวกับการเป็นนักเขียนในประเทศไทย เป็นวิดีโอเก่าที่ถ่ายไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว (พ.ศ.2555) ถึงจะบันทึกไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่เนื่อหาก็ไม่ได้เก่าล่าสมัยแต่อย่างใด ยังคงสะท้อนถึงวงการหนังสือ การเป็นนักเขียน(คนที่เลี้ยงชีพด้วยการเขียนหนังสือ) เป็นยังไง รวมถึงตลาดคนอ่านในประเทศไทย คนไทยอ่านหนังสือน้อยอยู่แล้ว ส่งผลให้นักเขียนหน้าใหม่เกิดค่อนข้างยาก แต่เกิดได้ ต้องใจเย็นและมีการวางแผนการทำงานที่ดี ทำงานอย่างต่อเนื่อง ไม่งั้นก็ไปไม่รอด

นับว่าเป็นวิดีโอที่ดีมากๆสำหรับใครที่คิดอยากเป็นนักเขียน การพูดคุย ตอบคำถามกับคนฟัง ผ่านทางประสบการณ์การเป็นนักเขียนเรื่องสั้น วรรณกรรม นิยาย นิยายวิทยาศาสตร์ หรือแนวอื่นๆที่คุณวินทร์ได้เขียน ถือว่ามีประโยชน์กับหลายๆคนไม่ใช่เฉพาะคนที่อยากเป็นนักเขียน ร่วมไปถึงการเขียนแบบเล่าเรื่องทุกอย่าง แม้แต่ในการเขียนบล็อก การเขียนบทความวิชาการ ก็นำมาประยุกต์ใช้ได้ วิธีการวางพล็อตเรื่อง การหาข้อมูล การใส่รายละเอียด การใช้ภาษา การทำอย่างไรให้คนอ่านสนุก เรื่องต่างๆเหล่านี้มีความจำเป็นกับการเขียนที่ดีทั้งนั้น

ใครที่คิดว่าตัวเองอยากเป็นนักเขียนถือว่าเป็นการแชร์ประสบการณ์จากนักเขียนมืออาชีพที่น่าศึกษามากครับ แต่ใครที่ชอบงานเขียนของคุณวินทร์นั้นก็น่าดูอย่างยิ่งเช่นกันครับ เราจะรู้ว่าเขามีวิธีทำงานอย่างไร และทำยังไงให้อยู่ได้ในสายอาชีพนักเขียนได้อย่างไม่เดือดร้อนมากนัก แต่มีความสุขและสนุกกับงาน เป็นชุดวิดีโอที่สามารถดูซ้ำได้ไม่เบื่อ และทุกครั้งที่ดูซ้ำก็ได้อะไรใหม่ๆเพิ่มขึ้นมาทุกครั้งเลย ขอแนะนำครับ

คลิป bacc literature – Bangkok Creative Writing 12-05-2012 (1/2)

คลิป bacc literature – Bangkok Creative Writing 12-05-2012 (2/2)

หนังสือรวมเรื่องสั้น เส้นสมมุติ โดย วินทร์ เลียววาริณ อ่านแล้วครับ

เส้นสมมุติ โดย วินทร์ เลียววาริณ

ชื่อหนังสือ: เส้นสมมุติ
เขียนโดย: วินทร์ เลียววาริณ
256 หน้า พิมพ์ครั้งที่ 1 : มีนาคม 2555 
สำนักพิมพ์: 113
ราคา 200 บาท

หนังสือ เส้นสมมุติ ของวินทร์ เลียววาริณ เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นแนว สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน หรือจะเรียกว่าเป็น สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน เล่ม 2 ก็ได้ครับ

ต้องบอกว่านักเขียนที่เล่าเรื่องโดยมีฉากหลังเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง จากข่าวในทีวี ข่าวหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์ เหตุการณ์เล็กๆที่เกิดขึ้นในสังคม สไตล์การเล่าเรื่องมีหลายเรื่องซ้อนหรือรวมอยู่ในเรื่องสั้นเรื่องเดียว แนวนี้ต้องยกให้คุณวินทร์เป็นหนึ่งในดวงใจเลยครับ ผมรู้สึกตื่นเต้น ประหลาดใจมากกว่าเรื่องสั้นแนวหักมุมเสียอีก เมื่ออ่านถึงหมายเหตุท้ายเรื่องว่า เหตุการณ์ดังกล่าวในเรื่องบางส่วนเกิดขึ้นจริง แม้จะเป็นความจริงเล็กๆในเรื่องแต่งก็สร้างอารมณ์ฉุกคิดให้เราคิดตามได้อย่างน่าประหลาดมาก

หนังสือรวมเรื่องสั้น เส้นสมมุติ เข้ามาอยู่ในใจผมได้อย่างง่ายดาย ทำให้หวนรำลึกถึงผลงานเก่าๆของคุณวินทร์ที่ตรึงใจผมอยู่อีกครั้ง และสไตล์การเดินเรื่องแบบนี้ที่ทำให้เรากลายเป็นแฟนหนังสือของเขา มันจริงจังเข้มข้นและตรึงเราให้อยู่ในเรื่องจนถึงบรรทัดสุดท้ายได้เลยครับ

เรื่องหนึ่งในเล่ม “เสือในสวนยาง” เป็นเรื่องราวของคนใต้ สวนยาง หน้าที่ การใช้ชีวิต ธรรมชาติ ความเชื่อ รวมกันอยู่ในเรื่องเดียว ผมเหมือนได้นั่งดูหนังดีๆสักเรื่อง ตอนอ่านเหมือนตัวลอยได้พออ่านจบเหมือนตกลงมาเจ็บ เหมือนมีบางอย่างติดอยู่ในหัวสะกิดไม่ออก สุดๆแล้วครับเรื่องสั้นเรื่องนี้

ความรู้สึกตอนที่ได้อ่านเรื่องสั้นผลงานของคุณวินทร์ครั้งแรกของผมยังจำได้ดีไม่เคยลืม เรื่องสั้นในชื่อว่า “เกม” อยู่ในรวมเรื่องสั้น “อาเพศกำสรวล” ตอนนั้นปกยังเป็นควาย กระท่อม หิมะ เป็นหนังสือของพี่สาวเอามาจากกทม. ผมเปิดดูเนื้อหาภายในแบบผ่านๆไปหยุดอยู่ที่รูปวาดนักมวย เลยหยุดลองอ่านดู แต่มันกลับอ่านสนุกอย่างไม่น่าเชื่อ แล้วก็อ่านเรื่องอื่นๆรวดเดียวจบทั้งเล่ม ปรากฏว่าเย็นวันนั้นไม่ได้กินข้าวเย็น และโดนแม่บ่นไปตามระเบียบ พอเปิดเรียนเลยต้องไปค้นหาผลงานเล่มอื่นของเขาในห้องสมุดที่โรงเรียนแต่โรงเรียนผมบ้านนอกมากครับไม่มีเล่มอื่นๆให้อ่านครับ

จนกระทั้งผมได้มีโอกาสเข้ามาเรียนในตัวเมืองค่อยได้พบเจอกับหนังสือ “สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน” และผลงานเล่มอื่นๆ และก็ติดตามผลงานของคุณวินทร์มาตลอด แต่ช่วงหลังๆ ต้องยอมรับว่าติดตามผลงานของคุณวินทร์แบบห่างๆ ไม่ใช่แบบที่ต้องอ่านตั้งแต่วันแรกที่วางขายเหมือนแต่ก่อนแล้ว รอซื้อเฉพาะช่วงสัปดาห์หนังสือเท่านั้น

คุณวินทร์เป็นนักเขียนที่มีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอมาก พอเราแวะไปอ่านหนังสือผลงานของนักเขียนท่านอื่นๆได้สักพักก็จะมีเล่มใหม่ของคุณวินทร์ออกมาให้อ่านต่ออีก เรียกได้ว่าเล่มเก่ายังไม่ทันลืมก็จะมีเล่มใหม่มากระตุ้นอีกครั้ง ผลงานที่มีก็หลากหลายแนว แต่ก็ใช่ว่าเราจะชอบทุกแนวของเขา อย่างเช่น หนังสืิิอชุดแนวให้กำลังใจเล่มหลังๆ กับชุดคุยกับคุณปราบดา หยุ่น ก็ไม่ค่อยชอบเท่าไหร่นัก

แต่เมื่อได้อ่านเส้นสมมุติได้เพียงสามเรื่องแรกก็รู้สึกว่าตัวเองใจเต้น ดีใจ มีเสียงก้องในใจ “ฉันได้คุณวินทร์คนเก่าคนนั้นกลับมาแล้ว” อาจจะดูเหมือนผมพูดโอเวอร์เกินไป แต่ตอนนี้มันรู้สึกแบบนี้จริงๆนะ! อารมณ์ฟินที่เขาว่ากันคงเป็นแบบนี้นี่เองสินะ

ตอนที่อ่านไปได้ครึ่งเล่ม กลับรู้สึกว่าไม่อยากอ่านให้จบเล่มเลยซะอย่างงั้น ยังกับเด็กซ่อนซ็อกโกเล็ตลูกอมไว้ใต้หมอนเก็บไว้กินวันหลังยังไงยังงั้นเลยล่ะครับ

ถ้าคุณเป็นคนชอบเรื่องสั้นแนวเข้มข้น จริงจัง เดินเรื่องได้เฉียบคม และชอบผลงานของคุณวินทร์ในยุคแรกๆ รวมเรื่องสั้น “เส้นสมมุติ” เป็นอีกเล่มที่ขอแนะนำครับ

หนังสือที่ได้จาก งานสัปดาห์หนังสือ 18-28 ตุลาคม 2555

เวลาที่ใช้ในการอ่านหนังสือของผมส่วนใหญ่จะอยู่บนรถระหว่างการเดินทางไปทำงาน ช่วงหลังๆที่ผ่านมาได้กำจัดกองหนังสือที่ต้องอ่านลงไปได้บ้าง แต่มันไม่เคยหมดเลย มีแต่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่อย่างน้อยอัตราการซื้อใหม่กับอัตราการอ่านอยู่ในภาวะที่สมดุล แต่ทุกๆ 2 ครั้งต่อปี จะมีเหตุการที่ทำให้สมดุลเสียไปบ้าง คือ สัปดาห์หนังสือ ที่เราจะได้หนังสือในกองต้องอ่านเพิ่มขึ้นมา

งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 17
จัดในช่วงวันที่ 18-28 ตุลาคม 2555 เวลา 10.00-21.00 น.
ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 

หนังสือที่ได้จาก งานสัปดาห์หนังสือ 18-28 ตุลาคม 2555

รายการหนังสือที่ได้

ส่วนใหญ่เป็นหนังสือ World Science Series ของสำนักพิมพ์มติชน ซึ่งเราค่อนข้างประทับในหนังสือในซีรี่นี้ที่เคยอ่านมาก่อนหน้านี้คือ ควอนตัมจักรวาลใหม่ นาโนเทคโนโลยี เลยวางใจได้ว่าซื้อมาแล้วน่าจะอ่านสนุก ไปงานครั้งนี้จึงตั้งใจจะไปดูหนังสือพวกนี้อยู่แล้ว

  1. ประวัติย่อของกาลเวลา (A Brief History of Time) – สตีเฟ่น ฮอว์กิ้ง, ดร.อรรถกฤต ฉัตรภูติ, ดร.ปิยบุตร บุรีคำ แปล
  2. ประวัติย่อของเอกภพ (The grand design) – สตีเฟ่น ฮอว์กิ้ง/เลียวนาร์ด มลอดิโนว์, รศ.ดร.ภาณุ ด่านวานิชกุล แปล
  3. ไอแซค นิวตัน มหาบุรุษโลกวิทยาศาสตร์ (Isaac Newton)-เจมส์ เกล็ก, ดร.ปิยบุตร ฉัตรภูติ แปล
  4. E=mc2 ชีวประวัติสมการปฏิวัติโลก – David Bodanis,  รศ.ดร. ภาณุ ด่านวานิชกุล แปล
  5. ฉีกขนบแอนิเมชั่น: เอกลักษณ์ของ ฮายาโอะ มิยาซากิ นักฝันแห่งโลกตะวันออก – นับทอง ทองใบ
  6. เส้นสมมุติ (รวมเรื่องสั้นแนว สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน) – วินทร์ เลียววาริณ
  7. ร้อยคม (รวมเรื่องสั้นหักมุมจบ ชุดที่ 2)– วินทร์ เลียววาริณ
  8. เล่านิทานเซ็น – อ.อภิปัญโญ

รวมแล้วค่าเสียหายประมาณ 1,400 บาท ส่วนใหญ่ลดราคาประมาณ 15-20% ซึ่งเช็คดูกับราคาสั่งออนไลน์แล้วที่งานสัปดาห์หนังสือถูกกว่า จึงตัดสินใจซื้อที่งานสัปดาห์หนังสือครับ

ส่วนเพื่อนๆได้เล่มไหนไปบ้าง แชร์ให้ดูบ้างครับ

หนังสือ หัวกลวงในหลุมดำ อ่านแล้วครับ

หนังสือ หัวกลวงในหลุมดำ

ชื่อหนังสือ หัวกลวงในหลุมดำ
เขียนโดย วินทร์ เลียววาริณ
288 หน้า พิมพ์ครั้งที่ 1 : 2554
สำนักพิมพ์ 113
ราคา 195 บาท

หนังสือ หัวกลวงในหลุมดำ มีความคล้ายกับ ปลาที่ว่ายนอกสนามฟุตบอล อยู่พอสมควร มีการวิพากษ์วิจารณ์สังคมอย่างเจ็บแสบ และค่อนข้างโดน! เป็นหนังสือที่น่าจะถูกเขียนขึ้นในช่วงที่ประเทศไทยมีเสื้อเหลือง-เสื้อแดงอยู่เต็มถนน คำว่า “หัวกลวงในหลุมดำ” หมายถึง คนโง่หรือแกล้งโง่ ไปอยู่ใกล้หลุมดำแต่ไม่รู้ว่าตัวเองอยู่ใกล้ จะถูกดูดลงหลุมอยู่แล้วยังไม่รู้ตัว (ลงไปแล้วขึ้นไม่ได้นะ แม้แต่แสงยังออกมาไม่ได้เลย ตายลูกเดียว!)

การวิจารณ์ของคุณวินทร์ ที่พยายามมองในแบบสังคมอุดมคติ หรือเรียกว่าพวกโลกสวย อยากเห็นสังคมไปแนวนั้น(เป็นเรื่องดีนะ) มีทั้งชี้ทางและชี้จุดผิด แต่ไม่ได้บอกทางแก้ทั้งหมด หรืออาจจะยังไม่รู้เหมือนกันว่าจะแก้ยังไง ในสังคมสองมาตรฐานของเรา/ไม่ใช่แค่สังคมเราแต่หมายถึงทั่วทั้งโลกนั้น มีแนวคิดสองมาตรฐานอยูู่แล้ว เราควรทำอะไรได้บ้างกับสังคมแบบนี้?

เรื่องการให้การศึกษาของเด็กในประเทศไทยที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้อย่างแท้จริง ตัวผมเองก็เป็นอย่างที่คุณวินทร์ วิจารณ์ไว้ไม่น้อย อย่างเช่นการ กลัวครู ไม่กล้าเถียง คงเพราะเราถูกปลูกฝั่งว่าการเถียงครูเป็นเด็กไม่ดี และนี้อาจทำให้การศึกษาของเราไม่พัฒนาและเชื่อคนง่าย

และมีหลายเรื่องที่น่าประทับใจ โดยเฉพาะเรื่องของ อ.แสงอรุณ รัตนกสิกร อาจารย์คณะสถาปัต จุฬาฯ ผู้รักธรรมชาติ รักต้นไม้ เป็นอีกบุคคลที่น่านับถือ

เนื้อหาภายในเล่ม 

  • เรากรอกอะไรใส่หัวเด็กในห้องเรียยน ?
  • ใครเป็นผู้ตีกรอบสังคม ?
  • ศาสนากับความเชื่อจะพาเราไปไหน ?
  • มนุษย์มีความสามารถเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีตหรือไม่ ?
  • เราสามารถก้าวพ้นสังคมหัวกลวงได้หรือไม่ ?
  • อะไรคือความหมายของชีวิต ?

หนังสืออ่านสนุกอีกแล้วครับ ขอแนะนำ

หนังสือ ปลาที่ว่ายนอกสนามฟุตบอล (ปลาที่ว่ายในสนามฟุตบอล ภาค 2) อ่านแล้วครับ

หนังสือ ปลาที่ว่ายนอกสนามฟุตบอล

ชื่อหนังสือ ปลาที่ว่ายนอกสนามฟุตบอล (ปลาที่ว่ายในสนามฟุตบอล ภาค 2)
เขียนโดย วินทร์ เลียววาริณ
320 หน้า พิมพ์ครั้งที่ 1 : 2554
สำนักพิมพ์ 113
ราคา 215 บาท

หนังสือ “ปลาที่ว่ายนอกสนามฟุตบอล” เป็นภาคต่อของหนังสือ “ปลาที่ว่ายในสนามฟุตบอล” ซึ่งผมก็ได้อ่านมาก่อนหน้านี้แล้ว เป็นหนังสือที่อ่านสนุก เป็นการตั้งคำถาม และหาคำตอบจากความรู้ที่เรามี ณ ปัจจุบัน อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เราชอบเล่มแรก จึงไม่ค่อยลังเลที่จะอ่านเล่มที่สอง แต่ดองไว้นานมากกว่าจะถึงคิวโดนหยิบขึ้นมาอ่าน ถ้าช้ากว่านี้อาจจะหมดสนุกลงไปอีก โดยเฉพาะการตั้งคำถามเกี่ยวกับจักรวาลที่ไม่รู้ว่าชาตินี้เรา(มนุษยชาติ)จะหาคำตอบให้คำถามเหล่านั้นได้หรือไม่ แต่อย่างน้อยช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเรื่องของ Higgs boson (God(damn) particle) เพิ่งจะประกาศว่า “ถ้ามันมีจริง เราก็พบแล้ว!” ก็ช่วยเพิ่มความกระจ่างของคำถามในหนังสือเล่มนี้ได้เสี้ยวหน่อยหนึ่ง(นิดหนึ่งจริงๆ)

ขอแนะนำเลยว่าถ้าใครที่ชอบอ่านหนังสือแนวฟิสิกส์ จักรวาล มนุษย์ต่างดาว อะไรทำนองนี้ จะอ่านช่วงแรกสนุกมาก

นอกจากนี้ ยังมีคำถามเกี่ยวกับ ความเชื่อ ศาสนา การกลับชาติมาเกิด กฏแห่งกรรม จิต และอื่นๆอีก ต้องยอมรับว่าหลายๆคำถามค่อนข้างตรงกับ คำถามในใจของผมเอง และการพยายามหาคำตอบของคุณวินทร์จากข้อมูลที่มี ณ ปัจจุบัน ก็ต้องบอกว่ายอมรับได้กับคำตอบนั้น และค่อนข้างตรงใจ ตรงกับความคิดในหัวของผมพอจะคิดได้

หนังสือเล่มนี้จะอ่านเอาเพลินๆก็ได้ หรือจะเอาไปคิดต่อให้หัวแตกไปเลยก็ยังได้ มันแตกยอดความคิดไปได้ไกลเหลือเกิน ก็เพราะมันออกนอกสนามฟุตบอลไปแล้ว ไปไกลเกินกว่าสามัญสำนึกจะจินตนาการได้

จากใจผู้เขียน(วินทร์ เลียววาริณ) : “นี่เป็นหนังสือที่ดูจะ ‘หนัก’ แต่ไม่หนักเพราะไม่ใช่ตำรา เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ที่พยายามปรุงให้เสพง่ายที่สุดแล้ว และน่าจะให้ความรู้ในเรื่องวิทยาศาสตร์สายต่างๆ ในระดับหนึ่งที่หาอ่านไม่ค่อยได้ในบ้านเรา เช่น จักรวาลวิทยา ฟิสิกส์ดาราศาสตร์ พันธุกรรมศาสตร์ ฯลฯ ไปจนถึงเรื่อง ‘อจินไตย’ ทั้งหลาย

บางส่วนเก็บความจากหนังสือต่างประเทศที่ไม่ได้รับการแปลเป็นไทย โดยตั้งใจให้เป็นหนังสือคานอำนาจทางปัญญากับหนังสือตระกูลไสยศาสตร์ที่เกลื่อนบ้านกลาดเมืองในเวลานี้!”

Exit mobile version