Die STAR TREK Physik (ฟิสิกส์ในสตาร์เทรค)

วันนี้เดินผ่านร้านหนังสือพบหนังสือที่น่าสนใจมากครับ เรื่อง “Die STAR TREK Physik” (ฟิสิกส์ในสตาร์เทรค) ของ Prof.Dr. Metin Tolan อยากอ่านมาก น่าจะสนุกๆแน่ๆเลย ทำให้จินตนาการถึง The Science of Interstellar ที่เอาเนื้อหาในหนังมาอธิบายในเชิงวิทยาศาสตร์ เสียดายมีแต่ภาษาเยอรมัน ซึ่งตอนนี้อ่อนมากๆ น่าจะมีเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษบ้าง

Die STAR TREK Physik (ฟิสิกส์ในสตาร์เทรค)

เพื่อนบอกว่านักเขียนท่านนี้เป็นอาจารย์ที่นี้นะ(Technischen Universität Dortmund) ผมนี่ตาลุกวาวเลย แล้วก็เหลือบไปเห็นป้ายโฆษณา มีพบปะนักเขียนด้วย เพื่อนบอกว่าเคยเรียนกับอาจารย์ด้วยสอนสนุกดี เขาเอาบางเคสที่เขียนในหนังสือมาสอนด้วยนะ นอกจากนี้ อาจารย์ยังมีหนังสือ อื่นๆ อีกด้วย

-Die Physik des Fußballspiels อธิบายหลักฟิสิกส์เกี่ยวกับการเล่นฟุตบอล
-Titanic: Mit Physik in den Untergang อธิบายหลักการฟิสิกส์เกี่ยวกับการจมของเรือไททานิค
-James Bond und die Physik อธิบายหลักการฟิสิกส์ในหนังเจมส์ บอนด์

นักเรียนที่นี้น่าจะสนุกกับเรียนหนังสือเนอะ (โคตรอิจฉาเลย)

ลิงค์รายชื่อหนังสือใน Amazon https://goo.gl/DCbpEk

รายชื่อหนังสือที่อยากอ่าน หมวดวิทยาศาสตร์ และ หมวดชีวประวัติ

รวมหนังสือวิทยาศาสตร์ที่อยากอ่าน

ขอทำลิสต์รายชื่อหนังสือไว้ดีกว่าครับ เป็นของสำนักพิมพ์มติชน ที่มีการแปลหนังสือวิทยาศาสตร์ออกมาอย่างต่อเนื่องและน่าสนใจทุกเรื่องเลย ไม่รู้ว่าสำนักพิมพ์อื่นๆมีแบบนี้บ้างหรือเปล่านะ ใครรู้ก็แนะนำบ้างนะครับ หนังสือเหล่านี้ในประเทศไทยหาอ่านยากครับ ไม่งั้นก็ต้องหาต้นฉบับบมาอ่านซึ่งเล่มหนึ่งก็แพงมาก หาซื้อยากอีกต่างหาก พอมีฉบับบแปลและราคาถูกกว่ามากอย่างนี้ไม่สนใจก็ไม่รู้จะว่ายังไงแล้ว!

ผมอยากรู้เหมือนกันว่าทำไมหนังสือเรียนของเราทำไมมันอ่านไม่สนุกเหมือนหนังสือเหล่านี้บ้างนะ ถ้าสนุกแบบนี้ตอนสอบคงได้เกรดดีกว่าที่เป็นอยู่เป็นแน่แท้

เล่มไหนที่มีและอ่านไปแล้วก็จะมาขีดทิ้งไปเรื่อยจนกว่าจะหมด ตั้งเป้าว่าจะต้องอ่านให้ครบนะ ความจริงก็ไม่ได้ฝืนบังคับใจให้อ่านสักเท่าไหร่ มันน่าสนใจจริงๆเลยอยากอ่านมากกว่า

รายการหนังสือที่อยากอ่าน (มีวิทยาศาสตร์ ชีวประวัติ และนิยายแทรกมาด้วยเล่มหนึ่ง)

  • คู่มือท่องโลกวิทยาศาสตร์ฉบับสมบูรณ์ (Science: The Difinitive Guide) 360.00 บาท
  • วิทยาศาสตร์มหัศจรรย์แห่งการค้นพบ 414.00 บาท
  • มโนทัศน์แห่งอนาคต 297.00 บาท
  • มายากลศาสตร์ 180.00 บาท
  • ประวัติย่อของกาลเวลา (A Brief History of Time) ฉบับปรับปรุง 189.00 บาท
  • คิว-อี-ดี ทฤษฎีมหัศจรรย์ของแสงและสสาร (QED: The Strange Theory of Light and Matter 153.00 บาท
  • มหัศจรรย์แห่งร่างกาย (THE ODD BODY 1) 198.00 บาท
  • ลวดลายสีสัน มหัศจรรย์วิวัฒนาการชีวิต (Endless Forms Most Beautiful) 252.00 บาท
  • มหัศจรรย์แห่งร่างกาย (THE ODD BODY 2) 216.00 บาท
  • ประวัติย่อของหลุมดำ (Black Holes and Time Warps) 360.00 บาท
  • เรื่องของเวลา (A MATTER OF TIME) 198.00 บาท
  • นวัตกรรมนาโนจากทฤษฏีสู่ชีวิตจริง (THE RISE OF NANOTECH) 216.00 บาท
  • ทอถักจักรวาล (The Fabric of The Cosmos) 360.00 บาท
  • จักรวาลคู่ขนาน (Parallel Worlds) 297.00 บาท
  • กำเนิดเอกภพ (ORIGINS) 261.00 บาท
  • ไอแซค นิวตัน มหาบุรุษโลกวิทยาศาสตร์ (Isaac Newton) 216.00 บาท
  • ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) 113.00 บาท
  • เบนจามิน แฟรงคลิน บุรุษหลายมิติ (Stealing God’s Thunder) 234 บาท
  • คลิน บุรุษหลายมิติ (Stealing God’s Thunder) 234.00 บาท
  • วิด็อค สายลับบันลือโลก 234.00 บาท
  • เลโอนาร์โด ดา วินชี วิถีอัจฉริยะ (Leonardo da Vinci : The Flights of the Mind) 360.00 บาท
  • ฟายน์แมน อัจฉริยะอารมณ์ดี (“WHAT DO YOU CARE WHAT OTHER PEOPLE THINK?”) 198.00 บาท
  • ฟายน์แมน อัจฉริยะโลกฟิสิกส์ (“SURELY YOU RE JOKING MR.FEYNMAN!”) 261.00 บาท
  • โคเปอร์นิคัส ผู้ปฏิวัติดาราศาสตร์ (The Book Nobody Read) 225.00 บาท
  • ไวโอลินของไอน์สไตน์ (Einstein s violin) 261.00 บาท
  • 30 นักประดิษฐ์ กับชีวิตนอกกรอบ 171.00 บาท
  • แฟรงก์ อบาเนล ยอดนักตุ๋น (Catch Me If You Can) 198.00 บาท
  • ผู้ชายที่หลงรักตัวเลข (The Man Who Loved Only Numbers) 189.00 บาท
  • รามานุจัน อัจฉริยะไม่รู้จบ 315.00 บาท
  • เจงกิสข่าน มหาบุรุษผู้เปลี่ยนโลก (Genghis Khan and the Making of the Modern World) 252.00 บาท
  • The Big Questions: Mathematics 20 คำถามสำคัญของคณิตศาสตร์ 207.00 บาท
  • บนเส้นทางหนังสือพิมพ์ 198.00 บาท
  • เมฆาสัญจร (CLOUD ATLAS) 342.00 บาท
  • ก้าวพ้นกรอบไอน์สไตน์(ฉบับพิเศษ) 176.00 บาท
  • เหตุผลของธรรมชาติ 195.00 บาท
  • เรื่องเล่าจากร่างกาย 275.00 บาท

last updated Apr 23, 2013

หนังสือ ปลาที่ว่ายนอกสนามฟุตบอล (ปลาที่ว่ายในสนามฟุตบอล ภาค 2) อ่านแล้วครับ

หนังสือ ปลาที่ว่ายนอกสนามฟุตบอล

ชื่อหนังสือ ปลาที่ว่ายนอกสนามฟุตบอล (ปลาที่ว่ายในสนามฟุตบอล ภาค 2)
เขียนโดย วินทร์ เลียววาริณ
320 หน้า พิมพ์ครั้งที่ 1 : 2554
สำนักพิมพ์ 113
ราคา 215 บาท

หนังสือ “ปลาที่ว่ายนอกสนามฟุตบอล” เป็นภาคต่อของหนังสือ “ปลาที่ว่ายในสนามฟุตบอล” ซึ่งผมก็ได้อ่านมาก่อนหน้านี้แล้ว เป็นหนังสือที่อ่านสนุก เป็นการตั้งคำถาม และหาคำตอบจากความรู้ที่เรามี ณ ปัจจุบัน อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เราชอบเล่มแรก จึงไม่ค่อยลังเลที่จะอ่านเล่มที่สอง แต่ดองไว้นานมากกว่าจะถึงคิวโดนหยิบขึ้นมาอ่าน ถ้าช้ากว่านี้อาจจะหมดสนุกลงไปอีก โดยเฉพาะการตั้งคำถามเกี่ยวกับจักรวาลที่ไม่รู้ว่าชาตินี้เรา(มนุษยชาติ)จะหาคำตอบให้คำถามเหล่านั้นได้หรือไม่ แต่อย่างน้อยช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเรื่องของ Higgs boson (God(damn) particle) เพิ่งจะประกาศว่า “ถ้ามันมีจริง เราก็พบแล้ว!” ก็ช่วยเพิ่มความกระจ่างของคำถามในหนังสือเล่มนี้ได้เสี้ยวหน่อยหนึ่ง(นิดหนึ่งจริงๆ)

ขอแนะนำเลยว่าถ้าใครที่ชอบอ่านหนังสือแนวฟิสิกส์ จักรวาล มนุษย์ต่างดาว อะไรทำนองนี้ จะอ่านช่วงแรกสนุกมาก

นอกจากนี้ ยังมีคำถามเกี่ยวกับ ความเชื่อ ศาสนา การกลับชาติมาเกิด กฏแห่งกรรม จิต และอื่นๆอีก ต้องยอมรับว่าหลายๆคำถามค่อนข้างตรงกับ คำถามในใจของผมเอง และการพยายามหาคำตอบของคุณวินทร์จากข้อมูลที่มี ณ ปัจจุบัน ก็ต้องบอกว่ายอมรับได้กับคำตอบนั้น และค่อนข้างตรงใจ ตรงกับความคิดในหัวของผมพอจะคิดได้

หนังสือเล่มนี้จะอ่านเอาเพลินๆก็ได้ หรือจะเอาไปคิดต่อให้หัวแตกไปเลยก็ยังได้ มันแตกยอดความคิดไปได้ไกลเหลือเกิน ก็เพราะมันออกนอกสนามฟุตบอลไปแล้ว ไปไกลเกินกว่าสามัญสำนึกจะจินตนาการได้

จากใจผู้เขียน(วินทร์ เลียววาริณ) : “นี่เป็นหนังสือที่ดูจะ ‘หนัก’ แต่ไม่หนักเพราะไม่ใช่ตำรา เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ที่พยายามปรุงให้เสพง่ายที่สุดแล้ว และน่าจะให้ความรู้ในเรื่องวิทยาศาสตร์สายต่างๆ ในระดับหนึ่งที่หาอ่านไม่ค่อยได้ในบ้านเรา เช่น จักรวาลวิทยา ฟิสิกส์ดาราศาสตร์ พันธุกรรมศาสตร์ ฯลฯ ไปจนถึงเรื่อง ‘อจินไตย’ ทั้งหลาย

บางส่วนเก็บความจากหนังสือต่างประเทศที่ไม่ได้รับการแปลเป็นไทย โดยตั้งใจให้เป็นหนังสือคานอำนาจทางปัญญากับหนังสือตระกูลไสยศาสตร์ที่เกลื่อนบ้านกลาดเมืองในเวลานี้!”

หนังสือ 10 สุดยอดนักฟิสิกส์โลก อ่านแล้วครับ

10 สุดยอดนักฟิสิกส์โลก

ชื่อหนังสือ 10 สุดยอดนักฟิสิกส์โลก
เขียนโดย ชัยวัฒน์ คุประตกุล
140 หน้า พิมพ์ครั้งที่ 1 : ตุลาคม 2549
สำนักพิมพ์ ประพันธ์สาส์น
ราคา 85 บาท

หนังสือเล่มเล็กๆ อ่านง่าย เป็นประวัติสั้นๆกับสิ่งที่เขาค้นพบ นักฟิสิกส์ส่วนใหญ่ที่เรารู้จักดีอยู่แล้วจะมีเนื้อหาแนะนำเพียงเล็กน้อย ส่วนคนที่ไม่คอยเป็นที่รู้จักในวงกว้างจะเพิ่มเนื้อหาเยอะเป็นพิเศษ ในตอนท้ายมีประวัติของนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ ไอแซค นิวตัน กับการค้นพบของเขา ที่มีเนื้อค่อนข้างเยอะและอ่านเพลิน เมื่ออ่านการค้นพบของนักวิทยาศาสตร์ผู้ที่เรียกได้ว่าการค้นพบของเขาเปลี่ยนโลกได้ เรามักจะอึ้ง ทึ่ง ตะลึง ว่าพวกเขาคิดได้ยังไง? ในบทสรุปของคำพูดของไอแซค นิวตัน ตอบคำถามนี้ได้อย่างดี คือ

ในสมองของเขาไม่เคยว่างเปล่า เขาจะมีปัญหาที่ต้องขบคิดอยู่ตลอดเวลา และเมื่อเขากำลังคิดแก้ปัญหาใดๆก็ตามอยู่ เขาก็จะพิจารณาคิดหาทางแก้ปัญหาอย่างไม่ยอมหยุดยั้ง เพราะเขามิได้แก้ปัญหาโดยรอให้เกิดความคิด มองเห็นลู่ทางขึ้นมาเอง หรือโดยบังเอิญ เขาจะโจมตีปัญหานั้นอย่างไม่ยอมหยุดยั้ง จนกระทั้งได้คำตอบ

มันคือ ความพยายาม สินะ!

อ้อ มีอีกอย่างหนึ่ง นักฟิกส์คนอื่นๆที่น่าสนใจดูที่ wiki รวบรวมไว้อย่างดีเลย https://en.wikipedia.org/wiki/Physicist

 

หนังสือ “The Drunkard’s walk ชีวิตนี้ฟ้าลิขิต” อ่านแล้วจ้า

หนังสือ The drunkard’s walk ชีวิตนี้ฟ้าลิขิต

หนังสือ The drunkard’s walk ชีวิตนี้ฟ้าลิขิต
ผู้เขียน: Leonard Mlodinow
ผู้แปล: กฤตยา รามโกมุต, นพดล เวชสวัสดิื
จำนวน 288 หน้า ราคา 250 บาท
สำนักพิมพ์ โพสต์บุ๊กส์

ค้นพบอย่างหนึ่งว่าตอนอยู่บนรถตู้ที่ต้องนั่งไปทำงานทุกวัน คือช่วงเวลาที่เราใช้อ่านหนังสือ อ่านเปเปอร์ได้เยอะเลย แถมมีสมาธิในการอ่านมากกว่าอยู่ที่ห้องหรือที่ทำงานเสียอีก ซึ่งโดยปกติแล้วการอ่านหนังสือบนรถถือเป็นเรื่องปกติที่ติดนิสัยมาตั้งนานแล้ว เพราะตัวเองอยู่บ้านนอกต้องนั่งรถไกลๆไปเรียน ช่วงเวลานั้นก็เลยไม่รู้จะทำอะไรนอกจากหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านเล่น แต่พอเข้ามาอยู่ในเมืองกรุงการใช้ชีวิตแบบนั้นเลยหายไป แล้วมันก็กลับมาอีกครั้ง เมื่อที่ทำงานกับที่นอนอยู่กันไกลมาก นอกเรื่องไปไกลแล้ว เข้าสู่เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้กันดีกว่า

หนังสือ The drunkard’s walk ชีวิตนี้ฟ้าลิขิต เป็นหนังสือวิทยาศาสตร์นะครับ ไม่ใช้เรื่องอะไรเกี่ยวกับการทำนายดวง พรหมลิขิตอะไรทำนองนั้น(แม้จะพูดถึงบ้างในตอนท้ายๆ) คนเขียนคือ เลนเนิร์ด มลาห์ดินาว เป็นนักฟิสิกส์สอนหนังสือที่สถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย เคยมีผลงานร่วมกับ สตีเฟน ฮอว์กิง ด้วยนะ(A Briefer History of Time) ในปกหลังจึงมีคำนิยมจากสตีเฟน ฮอว์กิง อยู่ด้วย แล้วยังมีผลงานเขียนบทซีรีโทรทัศน์,ภาพยนต์อีกด้วย(Star Trek: The Next Generation) ไม่แปลกที่จะเขียนหนังสือได้สนุกขนาดนี้

The drunkard’s walk ชีวิตนี้ฟ้าลิขิต หนังสือเสนอแนวคิดพื้นฐานของการสุ่มเลือก ความน่าจะเป็น มุมมองผลกระทบของการสุ่มเลือกที่เกิดขึ้นแทบจะตลอดเวลาของการมีชีวตอยู่ของเรา การเข้าใจและปรับตัวเพื่อเตรียมรับกับสถานการณ์ต่างๆ ผู้เขียนยกตัวอย่างเกี่ยวกับการสุ่มเลือกผ่านเหตุการณ์ต่างที่อยู่ใกล้ตัว ได้อย่างสนุกสนาน และเข้าใจได้ง่าย หนังสืออ้างอิงสถานการณ์ต่างๆ งานวิจัยต่างๆมากมาย ด้านหลังของเล่มเกือบ 20 หน้าจึงเป็นพื้นที่ให้แหล่งอ้างอิง ที่เราจะตามไปอ่านต้นฉบับจริงๆของเรื่อง หรืองานวิจัยนั้นๆได้

ในตอนแรกนั้นไม่คิดว่าตัวเองจะชอบคณิตศาสตร์ที่เราเรียนมาตั้งแต่มัธยมอย่าง ความน่าจะเป็นของการโยนเหรียญ ความน่าจะเป็นในเกมโชว์ทางทีวี ผมว่าเลนเนิร์ด มลาห์ดินาว คงเป็นนักวิทยาศาสตร์อีกคนหนึ่งที่หมกมุ่นกับเรื่องนี้อย่างมาก ไม่งั้นในสายตาของเขาคงจะไม่มองเห็นเรื่องต่างๆรอบตัวเป็นเรื่องความน่าจะเป็น และการสุ่มเลือกไปได้ บางทีเราคิดว่าควบคุมสิ่งต่างๆในชีวิตได้แต่ความจริงเลิกคิดเถอะ มันหาระเบียบแบบแผนไม่ได้เลย อย่างเช่นการเดินของขี้เมา(The drunkard’s walk) ไร้ทิศทาง ไร้แบบแผน

หนังสือเล่มนี้เปิดโลกแคบๆของผมให้กว้างออกไปได้อีกโขเลยทีเดียว ขอยกตัวอย่าง เรื่องเล่าเรื่องหนึ่งที่อยู่ในหนังสือมาให้ท่านได้อ่านกันครับ มันสร้างความประหลาดใจให้ผมได้มากเลย

เรื่องมีอยู่ว่า(ผมเขียนตามความเข้าใจของตัวเอง อาจไม่เหมือนในหนังสือนะครับ ในหนังสือสนุกกว่านี้มากเพราะมีเรื่องดราม่ายาว มีการถกเถียงกันในระดับประเทศ) ในเกมโชว์รายการหนึ่ง มีประตูอยู่สามบาน ด้านหลังประตูของหนึ่งในนั้นเป็นของรางวัลรถยนต์คันงาม อีกสองประตูที่เหลือเป็นเพียงความว่างเปล่า พิธีกรให้ผู้เข้าแข่งขันเลือกหนึ่งประตู เมื่อผู้เข้าแข่งขันเลือกแล้ว พิธีกรเดินไปเปิดประตูอันหนึ่งที่ว่างเปล่าหนึ่งประตูออก แล้วหันกลับมาถามผู้เข้าแข่งขันว่า “ตอนนี้เหลือสองประตู ด้านหลังหนึ่งอันในนี้มีรถคันงามกับอีกอันที่ว่างเปล่า คุณจะเปลี่ยนใจเลือกใหม่หรือไม่?” มีคนเขียนจดหมายไปถามมาริลีนคอมลัมนิสต์ชื่อดังที่ได้ชื่อว่าเฉลียวฉลาดไอคิวสูงระดับโลก คำตอบของเธอคือ “ควรเปลี่ยน!”

การจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนคำตอบผลที่ได้ก็ไม่ควรจะต่างกันสิ คำตอบมันควรจะเป็น 50/50 อยู่แล้ว (สามัญสำนึกของผมก็คิดเช่นนั้น) คำตอบที่บอกว่าให้เปลี่ยนใจของเธอทำให้ดอกเตอร์คณิตศาสตร์หลายคนในประเทศเดือดจัด บางคนถึงกับบอกหมดศัทธาในตัวเธอแล้ว แต่เธอก็ยังคงยืนในคำตอบของเธอ บางคนถึงกับเขียนจดหมายด่า จนเวลาผ่านไปเนิ่นนานเธอบอกจะไม่พูดถึงเรื่องนี้อีกแล้ว และแล้วก็มีนักคณิตศาสตร์เอาปัญหานี้ไปจำลองสถานการณ์และทดสอบผลซ้ำหลายรอบ ผลออกมาคือ มาริลีน เป็นฝ่ายถูก! เปลี่ยนใจมีโอกาสถูกมากกว่า 2 ต่อ 1 (ห่ะ!)

คำตอบของปัญหานี้แก้ได้ตั้งนานหลายร้อยปีแล้วโดย คาร์ดาโน นักพนันมืออาชีพ ว่าด้วย “แซมเปิลสเปซ” ลองมานั่งคิดแบบใจเย็นๆนะ

  • ประตูมี 3 บาน มีรางวัลอยู่หลังประตูหนึ่งอัน แสดงว่าโอกาสที่จะเลือกถูกคือ 1/3
  • และโอกาสที่จะเลือกผิดคือ 2/3
  • พิธีกรแทรกแซงการสุ่มเลือกโดยอิสระโดยเอาที่ผิดออกไปหนึ่งอัน แสดงว่าเขาเหลืออันที่ถูกไว้ให้เสมอ(อาจจะอยู่หลังประตูที่คุณเลือกหรือประตูอีกอันก็ได้)
  • แสดงว่าการเปลี่ยนใจ จะได้ผลแตกต่างจากเดิมแน่นอน นั้นคือ ผิด–>ถูก หรือ ถูก–>ผิด
  • ลองคิดเทียบกันดูว่า โอกาสที่คุณเลือกในครั้งแรกผิด(2/3) กับเลือกถูก(1/3) อันไหนมีโอกาสเกิดมากกว่า
  • คำตอบ คือ คุณมีโอกาสเลือกผิดสูงกว่าเลือกถูกตั้งแต่แรก 2:1 ทำให้การเลือกใหม่มีโอกาสที่จะเปลี่ยนจาก ผิด–>ถูก มากกว่า ถูก–>ผิด เป็น 2:1 เช่นกัน
  • ถ้าเริ่มแรกมีสองประตูให้เลือกคำตอบก็คงเป็น 50/50 แน่นอน มาริลีน คงไม่เถียง แต่นี้มีเหตุการณ์ที่เกิดต่อเนื่องกันมาก่อนแล้ว ความน่าจะเป็นจึงเปลี่ยนไป
  • ถ้าคุณยังงงอยู่ลองเพิ่มประตูเป็น 100 ประตู คุณเลือกหนึ่งอัน แล้วให้เพื่อนตัดอันที่ผิดออกเหลือไว้สองประตูจะพบว่าการเปลี่ยนใจมีโอกาสถูกกว่า 99/100 กลับกันถ้าคุณมั่นใจว่าตัวเองเลือกถูก(ฟ้าลิขิต)ตั้งแต่แรกก็ไม่ต้องเปลี่ยนใจเพราะโอกาสที่จะถูกยังคงเป็น 1/100

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาอื่นๆที่มีคำอธิบายไว้อย่างสนุก เช่น การหาว่าทำไมแต้มของลูกเต๋าสามลูกรวมกันได้ 9 จึงเกิดได้น้อยกว่าแต้มที่รวมกันได้ 10 ปัญหานี้กาลิเลโอถูกหัวหน้าใช้ให้ไปหาคำตอบ  รวมถึงการนำความน่าจะเป็นมากล่าวอ้างใช้ชั้นศาล เช่น DNA  โอกาสที่คนสองคนที่ไม่ใช่แฝดจะเหมือนกันนั้นแถบจะเป็นไปไม่ได้(1/20,000,000) แต่กลับไม่คิดว่าโอกาสที่คนทำการวิเคราะห์จะทำผิดพลาดเสียเองมีเท่าไหร่ อาจจะเหลืออแค่ 1/100 หรือ 1/1000 เท่านั้น, มีคนร้ายกล่าวอ้าง ภรรยาที่โดนสามีหรือแฟนตบตีแล้วจะพัฒนาไปถึงการฆาตกรรมมีเพียง 1/2500 เท่านั้น แต่กลับไม่คิดว่าหญิงที่ถูกฆาตกรรมโดยสามีเคยถูกสามีตบตีมาก่อนสูงถึง 95% และเรื่องอื่นๆอีกหลายเรื่องที่น่าคิดตามอีกมาก อยากให้ลองอ่านหนังสือเล่มนี้ดูครับ สำหรับผมแล้วชอบหนังสือเล่มนี้มากครับ

หนังสือ เจาะ CERN-เซิร์น อ่านแล้ว

หนังสือ เจาะ CERN-เซิร์น

หนังสือ เจาะ CERN – เซิร์น 
ผู้เขียน ดร. บุรินทร์ อัศวพิภพ, นรพัทธ์ ศรีมโนภาษ
192 หน้า, พิมพ์ครั้งที่ 2, ราคา 199 บาท
สำนักพิมพ์ สารคดี 

เมื่อวานตอนกลับจากที่ทำงานเดินผ่านแผงขายหนังสือเก่าวางกองบนพื้นที่อนุเสาวรีย์ชัยฯ ตาแอบแว้บไปเห็นหนังสือ เจาะ CERN-เซิร์น เป็นหนังสือที่ออกมานานแล้วตั้งแต่ปี 2552 ช่วงที่ LHC กำลังเป็นที่สนใจของคนทั่วโลกรวมทั้งคนไทยด้วย เคยเห็นตามร้านหนังสือเหมือนกัน แต่ไม่ยักกะอยากซื้อราคาที่ปก 199 บาท แต่เราซื้อมาราคา 40 บาท (หนังสือเก่า) ตอนที่หนังสือออกมาใหม่ๆทำไมไม่สนใจซื้อ? จะบอกว่าตอนนั้นก็เปิดดูบ้าง และติดตามข่าวการเดินเครื่อง LHC มาตลอด เป็นอะไรที่น่าตื่นเต้น ส่วนตัวชอบเรื่องฟิสิกส์ จักรวาล อวกาศ อยู่มิน้อย แต่ตอนนั้นดูตามเว็บไซต์ต่างๆก็รู้ว่าเพียงพอแล้ว มันคือความคิดใน ณ ตอนนั้น

แต่เหตุที่สนใจซื้อหนังสือเล่มนี้(นอกจากมันถูกแล้ว)เพราะว่า เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ สวทช. มีบรรยายพิเศษโดย ศ.ดร. อัลเบิร์ต ดี รอคก์ นักวิทยาศาสตร์อาวุโส จากสถาบัน CERN และ ดร.บุรินทร์ อัศวพิภพ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ แล้วเราเองก็ได้มีโอกาสเข้าร่วมฟังการบรรยายในครั้งนั้นด้วย มีหลายอย่างที่ทำให้เรางง และสงสัยจึงเป็นตัวกระตุ้นให้อยากอ่านหนังสือเล่มนี้มากขึ้น

หนังสือพิมพ์ครั้งแรก เมื่อมีนาคม 2552 ผ่านมาแล้ว 3 ปี เนื้อหา 192 หน้า เนื้อหาก็ไม่ถือว่าเก่ามาก LHC เดินเครื่องไม่กี่ครั้งนับจากหนังสือเล่มนี้ออก

เนื้อหาเป็นแบบ Popular Science อ่านไม่ยาก เป็นการเขียนแบบตั้งคำถามแล้วตอบเป็นข้อๆ สั้นๆ เป็นหนังสือเชิงตอบคำถามสังคมว่า สร้าง LHC ทำไม? เราจะได้อะไรจากมัน? อธิบายเรื่องฟิสิกส์ยากๆโดยเปรียบเทียบกับเรื่องใกล้ตัว อ่านเพลินแป็บเดียวจบ หลังอ่านจบมีความรู้เกี่ยวกับอนุภาคพื้นฐานเพิ่มขึ้น เข้าใจสิ่งที่นักฟิสิกส์กำลังสนใจและพยายามหาตอบให้คำถามนั้น เสียดายนิดหนึ่งถ้าได้อ่านก่อนคงฟังบรรยายสนุกขึ้น อ่านหนังสือจบถึงรู้ว่า ดร.บุรินทร์ บรรยายเหมือนเนื้อหาในหนังสือเลย(ก็คนเขียนนิน่า) รวมทั้งภาพประกอบบนสไลด์ก็เหมือนที่อยู่ในหนังสือเลย

สิ่งที่อ่านแล้วน่าทึ่งในหนังสือ เจาะ CERN

  • เป็นความร่วมมือที่ยิ่งใหญ่มาก หลายประเทศร่วมมือกันอย่างแข็งขัน ผมประทับใจกับผู้โน้มน้าวให้นักวิทยาศาสตร์คนอื่นยอมลงทุนด้วยมากๆ
  • 30% ของรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ เป็นกลุ่มนักฟิสิกส์อนุภาค
  • นอกจาก LHC ขนาดเส้นรอบวง 27 กิโลเมตร CERN มีท่อส่งอนุภาคนิวติโนข้ามไปอิตาลียาว 732 กิโลเมตร ลึกลงไปใต้ดิน 11.4 กิโลเมตร
  • WWW เกิดขึ้นที่ CERN จากแนวคิดแชร์ข้อมูลจากเครื่องเร่งอนุภาคให้นักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆให้ช่วยกันวิเคราะห์
  • เครื่องสแกนสมอง PET เป็นหนึ่งในวิทยาการที่ประยุกต์มาจากเครื่องเร่งอนุภาค
  • ครั้งแรกที่ปล่อยลำอนุภาคโปรตอนเข้า LHC นักวิทยาศาสตร์ยืนลุ้นกันเป็นร้อยๆคน

    นั่งดูครั้งแรก พวกคุณดีใจอะไรกันนักหนา? ตบมือกันเกรียวกาว ต้องวนดูหลายรอบ สิ่งที่เขาลุ้นคือลำแสงที่ปล่อยเข้าไปใน LHC แบบสวนทางกัน ถ้าทำสำเร็จมันจะเกิดเป็นแสงสว่างขึ้นในจอทั้งสองด้านซ้ายในคลิปครับ ต้องตั้งใจดูนิดหนึ่ง เป็นการยิงลำแสงเข้าไปครั้งแรกหลังจากใช้เวลาสร้างนานกว่า 20 ปี ไม่ให้ดีใจหรือตื่นเต้นได้อย่างไร!
  • มีเครื่องตรวจวัดอนุภาคทั้งหมด 6 สถานี ที่ทำงานได้อย่างแม่นยำมากๆ แต่ละสถานีมีเป้าหมายและหน้าที่แตกต่างกัน ต้องนับถือคนรุ่นก่อนที่ปูทางวิธีวัดอนุภาคไว้ให้
  • อนุภาคที่ใช้คืออนุภาคโปรตอนจากไฮโดรเจน ถูกเร่งจากวงเล็กๆแล้วขยายเป็นวงที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆตามลำดับ ซึ่งพลังงานก็เพิ่มขึ้นตามลำดับเช่นกัน หน่วยเป็นอิเล็กตรอนโวลต์(eV) เริ่มจาก LINAC2(50 MeV)>>Booter(1.4 GeV)>>PS(25 GeV)>>SPS(450 GeV)>>LHC(7 TeV) ที่พลังงาน 7 TeV โปรตอนวิ่งด้วยความเร็ว 99.9999991% ของความเร็วแสงในสูญญากาศ!
  • ในประเทศไทยมีเครื่องเร่งอนุภาคที่ใช้ในงานวิจัยขนาดเล็กอยู่ 2 แห่ง คือ ที่ศูนย์ปฎิบัติการวิจัยเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนแห่งชาติ จ.นครราชสีมา และอีกเครื่องอยู่ที่ ม.เชียงใหม่
  • แต่ละลำโปรตอนที่ถูกเร่งไม่ได้มีตัวเดียวนะ ไปเป็นขบวนประมาณ 3,000 ขบวน ยิงออกไปเรื่อยๆ ห่างกันประมาณ 7 เมตร ขบวนหนึ่งมีประมาณ 1 แสนล้านตัว เมื่อสองขบวนมาชนกันจะเกิดการชนกันจริงๆแค่ประมาณ 20 คู่เท่านั้นเอง! จากทั้งหมด 1 แสนล้านคู่ รวบรัดเลยแล้วกัน สุดท้ายแล้วในหนึ่งวินาทีจะชนกันประมาณ 600 ล้านครั้ง

น่าประหลาดใจอย่างยิ่งที่เราชาวชีววิทยากำลังตื่นเต้นกับนาโนเทคโนโลยี(10^-9) แต่ชาวฟิสิกส์กำลังวิจัยในระดับอัตโต(10^-18) ซึ่งเล็กต่างกันราว 1 พันล้านเท่า คงเป็นเพราะเรามองมันเป็นโมเลกุลที่ควบคุมและสั่งงานได้ ไม่ใช่การหาว่ามีอยู่หรือไม่ ก็คงตอบกันเองว่าเราต่างกันที่จุดประสงค์ครับ การหาคำตอบหนึ่งเรื่อง ได้ความรู้จากการเก็บตามรายทางมากมายนัก หาสิ่งหนึ่งได้อีกหลายสิ่งตามมา วิทยาศาสตร์น่าทึ่งจริงๆ สนุกด้วย

Exit mobile version