หนังสือ พุทธทาสกับเซ็น อ่านแล้วครับ

หนังสือ พุทธทาสกับเซ็น

ชื่อหนังสือ: พุทธทาสกับเซ็น
บรรณาธิการ: กัญญา ชะเอมเทศ 
224 หน้า พิมพ์ครั้งที่ 1 : กรกฎาคม 2552
สำนักพิมพ์: สุขภาพใจ บริษัท ตถาตา พับลิเคชั่น จำกัด 
ราคา 200 บาท

หนังสือ พุทธทาสกับเซ็น เป็นหนังสือรวบรวมภาพเซ็นต่างๆในโรงมหรสพทางวิญญาณประกอบคำอธิบายอันนี้จะอยู่บทแรก “ปริศนาธรรมเซ็น” ส่วนคำบรรยายของท่านพุทธทาส ซึ่งถอดมาจากการบรรยายธรรมของท่าน จะอยู่ในชุด บรรยายภาพปริศนาธรรมชุดจับวัว, ธรรมจากเชอร์แมน, โทรเลขเซ็น ท้ายเล่มมีซีดีเสียงบรรยายธรรมของท่านพุทธทาสแถมมาให้ได้ฟังด้วย ไม่อยากอ่านก็ฟังเอาก็ได้(ต้องดูภาพประกอบด้วยนะ)

ในบทสุทท้าย “เซ็น” เป็นบทกวีของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูล เป็นเรื่องราวของนิทานเซ็นที่คุ้นเคยกัน ในซีดีก็มีเสียงท่านมาอ่านบทกวีให้ฟังด้วยเช่นกัน

เนื้อหาเป็นภาพเซ็น พร้อมคำบรรยาย

ถ้าหากใครได้อ่านหนังสือ มังกรเซ็น ของวินทร์ เลียววาริณ มาก่อนจะอ่านเล่มนี้สนุกขึ้นอีกครับ เพราะเราจะรู้จักพระเซ็นที่ถูกกล่าวถึงในหนังสือเล่มนี้มากยิ่งขึ้น ส่วนตัวเองนั้นก็ไม่ใช่คนธรรมะธรรมโมอะไรมากมาย แต่ชอบศิลปะ โดยเฉพาะศิลปะที่เราเข้าใจว่าคนสร้างมันขึ้นมามีวัตถุประสงค์อะไร ถ้าเข้าใจศิลปะนั้นแม้สักนิด ผมว่าคนสร้างต้องดีใจ มีความสุขเป็นแน่ ว่าสิ่งที่เขาพยายามจะสื่อถึงเรานั้นเราเข้าใจนะ แม้จะมีคนมาชี้นำให้ก็ตาม คิดว่าคนทำงานศิลปะน่าจะมีความรู้สึกแบบนี้กันนะ

ท่านพุทธทาสและภาพเซ็น

บางทีการดูภาพแค่ไม่กี่ภาพอาจเข้าใจธรรมะได้มากกว่าอ่านพระไตรปิฎกทั้งเล่ม อย่างเช่น ท่านเหว่ยล่าง ท่านไม่รู้หนังสือ แต่รู้ธรรมะสูงสุดได้ น่าจะเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าการบรรลุธรรมนั้น จะดู อ่าน ฟัง ปฎิบัติ คิด ใช้ทุกอย่างรวมกันหรือขาดบางอย่างไปก็บรรลุได้เช่นกัน

ซีดีบรรยายธรรมอยู่ท้ายเล่ม

หนังสือ ใช้ภาพเซ็น ประกอบกับคำบรรยายสั้นๆ มีกลอนของท่านพุทธทาสแทรกอยู่ในช่วงที่ท่านบรรยายเอง โดยท่านจะบรรยายภาพก่อนแล้วค่อยอ่านเป็นคำกลอนใต้ภาพ คำบรรยายนั้นยาวกว่าคำกลอน กลอนยาวกว่าประโยคไม่กี่คำที่ติดอยู่ภาพ และก็ภาพที่ไม่คำบรรยายเลย

หนังสืออ่านสนุกแป๊ปเดียวก็จบ นี้เป็นรอบที่สองที่หยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่านจนจบอีกครั้ง

หนังสือวิวาทะ (ความเห็นไม่ตรงกัน) ระหว่าง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กับ ท่านพุทธทาสภิกขุ อ่านแล้วครับ

หนังสือวิวาทะ (ความเห็นไม่ตรงกัน) ระหว่าง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กับ ท่านพุทธทาสภิกขุ

ชื่อ หนังสือวิวาทะ (ความเห็นไม่ตรงกัน) ระหว่าง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กับ ท่านพุทธทาสภิกขุ
รวบรวมโดย อรุณ เวชสุวรรณ
232 หน้า พิมพ์ครั้งที่ 6 (พ.ศ. 2554) ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ 2520
สำนักพิมพ์ อรุณวิทยา
ราคา 120 บาท

หนังสือเล่มนี้เป็นการรวบรวมการถามตอบกันระหว่างผู้บรรยายธรรมกับผู้สนทนา ซักไซร้ สอบถามเพื่อเพิ่มความกระจ่างมากขึ้น หรือที่เรียกกันว่า ธรรมาสากัจฉา สถานที่จัดบรรยายอยู่ที่ หอ ประชุม ครุสภา โดยผู้บรรยาธรรมคือ ท่านพุทธทาสภิกขุ มีหัวข้อบรรยายคือ ธรรมในฐานะเครื่องมือ สร้างคน สร้างชาติ และสร้างโลก แบ่งเป็น 3 ครั้ง

  • ครั้งที่ 1 หัวข้อ งานคือการปฏิิบัติธรรม (6 ก.ค. 2506)ผู้ซักถามปัญหาธรรม คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, นายปุ๋ย โรจนะบุรานนท์ และนายฉันทิชย์ กระแสสินธุ์
  • ครั้งที่ 2 หัวข้อ การทำงานด้วยจิตว่าง (23 ก.พ. 2507) ผู้ซักถามปัญหาธรรม คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
  • ครั้งที่ 3 หัวข้อ หมวดธรรมที่พึ่งใช้ในการทำงานด้วยจิตว่าง (19 ม.ค. 2508) ไม่มีผู้ซักถามปัญหาธรรม

ในการบรรยายครั้งแรกที่เน้นไปที่การให้ความหมายของการธรรมและงาน (มีพูดถึงการเมืองและสภาบ้างเล็กน้อย) ซึ่งท่านพุทธทาสฯได้บรรยายถึงธรรมคือหน้าที่ (Duty) และหน้าที่ก็คือธรรม ดังนั้นไม่ว่า ชาวนา ชาวสวน ราชการ พ่อค้า ฯลฯ ที่ทำหน้าที่ของตนนั้นก็เหมือนการปฎิบัติธรรมแล้ว และเจาะจงลงไปที่ การปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะที่ถูกต้อง ซึ่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ก็เห็นด้วยอย่างยิ่ง และกล่าวสนับสนุนโดยตลอด

แต่ในการบรรยายครั้งที่สองที่บรรยายถึงการทำงานด้วยจิตว่าง(ว่างจากกิเลส ว่างจากความเห็นแก่ตัวทุกชนิด ว่างการยึดติดว่าเป็นของเอง) “ทำงานให้ความว่าง” ในครั้งนี้ ทั้งสองท่านค่อนข้างมีความเห็นที่แตกต่างกัน ซักไซ้กันไปมา คิดว่าคนในสมัยนั้นอาจมองว่าเป็นการสนทนาที่ค่อนข้างขัดแย้งรุนแรง อย่างเช่น “กระผมขอสอนพระสักวันเถิดครับ!” แต่เท่าที่อ่านดูก็ไม่ได้แตกต่างมากกันมายนัก โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ท่านมองว่าการทำงานด้วยจิตว่างนั้นเป็นธรรมที่ดีอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ไม่เหมาะเลยที่จะนำมาใช้กับฆราวาส ซึ่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เชื่อว่าต้องอาศัยอุปทาน หรือความอยาก(รวย เงิน สุขสบาย) ช่วยผลักดันให้ทำงานออกมาได้ดี ส่วนการทำงานด้วยจิตว่างนั้นใช้ได้เฉพาะผู้อยู่ในสถานะสมณะเท่านั้น ประเทศจะพัฒนาได้อย่างไรถ้าทำงานให้ความว่าง แต่ท่านพุทธทาสฯนั้นยังคงยืนยันว่าเหมาะสมและจำเป็นต้องทำด้วย ซึ่งท่านพุทธทาสฯมองว่าทั้งสองเห็นต่างกันเพียงเล็กน้อย

ภายหลัง การบรรยายครั้งต่อไป ดูเหมือนว่าท่านพุทธทาสฯพบว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ นั้นเห็นต่างและเข้าใจผิดอยู่มาก ซึ่งน่าจะรับรู้ผ่านทางการเขียนลงหนังสือพิมพ์ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ หลายครั้งหลังจากการสนทนาธรรมในครั้งนั้น

ตอนท้ายเล่มยังมีบทความที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ พูดถึงพระพุทธศาสนาในแง่มุมต่างๆ ซึ่งถือว่าแนวคิดค่อนข้างแหวกแนวกับขนบธรรมเนียมในยุคนั้นมากพอสมควรเลยทีเดียว เช่น การกล่าวว่าพระเวสสันดร ผิดทั้งศีลกษัตริย์ ศีลสามี ศีลมารดา ไม่น่านับถือ และในหนังสือก็มีบทความโต้แย้งแนวคิดต่างๆของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ประกอบอยู่ด้วย

ในหนังสือเล่มนี้ถ้าเราอ่านแบบใจเป็นกลางจะพบว่าผู้เขียนค่อนข้างเอียงไปทางท่านพุทธทาสฯค่อนข้างชัดเจน ดูจากบทความท้ายเล่ม และการกล่าวถึง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ในเนื้อหาบางครั้งออกแนวโจมตีนิดๆ (แต่ไม่มากมายอะไรนะ) แต่อ่านก็รู้ว่าสนับสนุนท่านพุทธทาสฯเต็มที่ (ซึ่งส่วนตัวก็สนับสนุนท่านเช่นกันนะ) แต่การวิจารณ์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ และบทความท้ายเล่มออกจะไม่ค่อยจำเป็นเท่าไหร่ สิ่งที่อยากเห็นมากกว่าคือ ในบทนำได้กล่าวว่าหลังจากวิวาทะครั้งนั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ และลูกศิษย์ ได้เขียนบทความกระแนะกระแหนท่านพุทธทาสฯออกมาเป็นระยะๆ อยากอ่านบทความเหล่านั้นมากกว่า (ถ้าจะรวบรวมใหม่อีกครั้งครอบคลุมถึงส่วนนี้ด้วย คงเป็นอะไรที่สุดยอดมากๆ)

สรุปว่า หนังสือเล่มนี้อ่านสนุกครับ (หนังสือที่อ่านจบมักจะสนุก เพราะไม่สนุกจะวางแล้วเปลี่ยนเล่มใหม่) อีกอย่างที่ชอบมากคือ สำนวนการพูดคุยของคนยุคนั้นต่างจากปัจจุบันเยอะพอสมควร แต่ผมชอบลักษณะการใช้คำของคนยุคนั้นนะ สำนวนฟังไพเพราะ ลื่นหูดีแท้

ใครที่ชอบเรื่องดราม่า ลองอ่านนักปราชญ์ถกเถียงในเรื่องที่มีความเห็นต่างกันดูครับ สนุกและได้ความรู้เพิ่มขึ้นอีกด้วยครับ

ปล. เมื่อได้อ่านหนังสือเล่มถัดไป คนกล้าฝัน(8 นักฝัน) ยิ่งเป็นการตอกย้ำ และเป็นข้อพิสูจน์อย่างดีว่า แนวทางของท่านพุทธทาสภิกขุ ว่าด้วยการทำงานด้วยจิตว่างนั้นได้ผลอย่างดีเยี่ยม และสร้างสรรค์ให้โลกเราน่าอยู่ยิ่งขึ้นอีก

Exit mobile version