ฝึกให้อ่านเร็วขึ้น ตอนกำจัดเสียงอ่านในใจ

ผมเป็นคนอ่านหนังสือช้า นี่คือบันทึกการฝึกอ่านให้เร็วขึ้น

ฝึกอ่านให้เร็วขึ้น

ข้อแรก ที่ต้องฝึกอันดับแรกถ้าต้องการอ่านได้เร็วขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นข้อที่ทำยากมากที่สุด ถ้าทำได้จะเร็วขึ้นแน่นอน คือ กำจัด “subvocalizing” หรือ เสียงอ่านในใจ

ตอนที่เราอ่านหนังสือ แม้จะไม่ได้เปล่งเสียงออกมาจริงๆ เราก็จะยังออกเสียงคำๆนั้นในใจ บางคนอาจจะมีการขยับริมฝีปากตามเบาๆเสียด้วยซ้ำ
สิ่งนี้เลยทำให้เราไม่สามารถอ่านได้เร็วเกินกว่าพูดเลย(150-200 คำต่อนาที)
ทั้งๆที่ตาและสมองไปได้เร็วกว่าอย่างมาก

แต่ว่าการกำจัดเสียงอ่านในใจนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย และต้องใช้เวลาในการฝึก เพราะมันถูกติดตั้งมาตั้งแต่เราเริ่มหัดอ่านครั้งแรก ครูก็ฝึกให้เราอ่านออกเสียงตั้งแต่เด็ก มันจึงติดตัวเรามาตลอด

มีวิธีกำจัดสิ่งนี้หลายวิธี แต่วิธีฝึกที่มีการแนะนำมากวิธีหนึ่ง คือ ลองเปิดหนังสือขึ้นมาหน้าหนึ่ง มองไปที่คำใด คำหนึ่งในนั้น แล้วคิดถึงความหมาย ทำความเข้าใจคำนั้น โดยพยายามไม่ออกเสียงคำนั้น ไม่ขยับปาก ไม่เปล่งเสียงในใจ จากนั้นก็มองหาคำอื่นทำแบบเดิม ซ้ำไปเรื่อยๆ จนชิน อาจจะต้องใช้เวลาพอสมควร
เมื่อคิดว่าไม่มีเสียงตอนอ่านแล้ว จึงค่อยเริ่มลองอ่านแบบปกติ

นี่คือ ขั้นแรก ขั้นที่ยากที่สุด ที่ต้องทำให้ได้ก่อน ถ้าทำได้เร็วขึ้นแน่นอน

สำหรับตัวเองนั้น หนังสือภาษาไทยคิดว่าทำได้ แต่หนังสือภาษาอังกฤษยังอยากอ่านออกเสียงอยู่นะ เพื่อพัฒนาการฟังและการออกเสียงไปด้วยกัน

ในส่วนขั้นต่อไปค่อยมาเขียนต่อในวันหลังก็แล้วกัน

อ่านเขียนไดรว์ NTFS ใน MacOS ไม่ต้องติดตั้งโปรแกรม

external HDD ที่ใช้เป็น NTFS ไดรว์ แต่ก่อน Macbook ติดตั้งโปรแกรม NTFS-3G ไว้ จึงสมารถเขียนอ่านได้ปกติ ตอนเปลี่ยนไดรว์ให้คอมใหม่ก็ไม่ได้ใส่ใจติดตั้งใหม่ และก็ไม่ได้มีโอกาสได้ใช้ external HDD นานมากแล้ว แต่วันนี้ต้องเอารูปที่เป็น RAW file เกือบ 200 GB ออกจากเครื่องโดยจะ back up ไว้ใน ext HDD เพราะเพิ่งไปเที่ยวมา ไม่งั้นก็เอารูปใหม่ลงเครื่องไม่ได้

ไม่อยากติดตั้งโปรแกรมลงเครื่องแล้ว ลองค้นดูวิธีอื่นๆดู พบว่าสามารถใช้ terminal enable การอ่านเขียน NTFS ได้

ทดลองทำดูแล้วง่ายและสะดวกดี เลยเอามาบันทึกเก็บไว้

  1. เปิดใช้ Terminal (Applications > Utilities > Terminal)
  2. พิมพ์ sudo nano /etc/fstab ใส่ Password

    terminal

  3. พิมพ์ LABEL=NAME(ใส่ชื่อไดรว์) none ntfs rw,auto,nobrowse

    fstab editor

  4. กด Control + O enter เพื่อ save กด Control-X ออกจาก fstab editor
  5. ระบบอ่านเขียนไดรว์ NTFS ของเราได้แล้ว
  6. เปิดไดรว์ผ่าน Finder เข้า Go to Folder… ใส่ /Volumes

เรียบร้อยง่ายมาก

via: macdrug

(รีวิว) ชอบ ไม่ชอบ Fujifilm X70 ตามใจคนใช้งาน

จุดที่ชอบ ไม่ชอบ ในกล้อง Fujifilm X70

หลังจากใช้ Fujifilm X70 มาได้ราวๆสัปดาห์หนึ่ง มาอัพเดตว่าจุดไหนที่ชอบและจุดไหนที่ไม่ชอบ แต่โดยรวมชอบมากๆ มีจุดขัดใจนิดหน่อยที่คิดว่ามันน่าจะดีกว่านี้ได้อีกอยู่บ้าง กล้องนี้เป็นกล้องใหม่หลังจากใช้ Canon มานาน น่าจะ 4-5 ปีได้แล้ว การคอนโทรลกล้องแรกๆก็งง ต้องเอาคู่มือมาเปิดอ่าน ต้องทำความเข้าใจกับวิธีการตั้งค่าต่างๆที่ไม่มีในกล้องเดิม เช่น Dynamic range, Highlight tone, Shadow tone, Auto ISO และอื่นๆ ความจริงก็พอรู้ความหมายของมันอยู่บ้าง แต่การตั้งค่าและการใช้งานในกล้องยังไม่เคยใช้มาก่อน จะถ่ายเป็น RAW ไว้เลยก็ได้นะ แต่พอมันเป็น Compact camera ก็อยากจะจบหลังกล้องไปเลย ถ่ายเสร็จแชร์เลยไม่ต้อง Process อีกแล้ว อันไหนพิเศษก็ค่อยเปลี่ยนเป็น RAW ตามโอกาสแล้วกัน ไม่อยากเปลืองพื้นที่เก็บไฟล์ในคอมพิวเตอร์มากนัก (เพราะถ่ายเยอะอยู่แล้ว) อันที่สรุปข้างล่างนี้ คือว่าพอใช้ไปเจออะไรก็จดบันทึกมาเรื่อยๆ เอามารวมกันได้ราวๆนี้ ถ้าเจออีกจะเอามารวมไว้ที่บล็อกนี้แล้วกัน

จุดที่ชอบ

  • ไฟล์คุณภาพเยี่ยม ภาพเก็บรายละเอียดได้ดี คม จัดการ Noise ได้ดีมาก ไม่เคยคิดในชีวิตจะถ่ายภาพ ISO เกิน 400 ได้
  • ขนาดภาพ 16MP พอดี อัพโหลดฟรีใน Google Photo (ที่เป็นตัวหลักของผมในการเก็บภาพ) แบบไม่ต้องกินพื้นที่และไม่ต้องย่อ คืออัพได้เลย แมทกับชีวิตประจำวัน
  • ขนาดเล็กเบา ห้อยคอได้ทั้งวันโดยไม่รู้สึกเมื่อย
  • เร็วทั้งการปิดและเปิดแล้วพร้อมถ่าย โฟกัสก็เร็ว เทียบกับกล้องตัวเก่าที่ใช้อยู่ ถ้าถ่ายแบบ live view เร็วคนละเรื่องเลย
  • ระบบการวัดแสง และการทำงานอัตโนมัติฉลาด ทำให้ภาพที่ถ่ายไม่เสีย ส่วนหนึ่งเพราะมันตั้งความเร็วชัตเตอร์อัตโนมัติต่ำสุดได้, ISO Auto ไม่เกินที่กำหนดได้ เลยทำให้ภาพออกมาดีที่สุดในสภาพแสงนั้นได้
  • เสียงชัตเตอร์เงียบ ไม่รบกวนแบบ ถ่ายในห้องสมุดได้เลย
  • เอารูปโหลดเข้ามือถือได้ง่าย พร้อมอัพขึ้นโซเซียลในทันที
  • การควบคุมการใช้งานง่ายดีปุ่ม Q สะดวกสุดๆ และมีปุ่มลัดเยอะดี (Fn) เข้าถึงการ setting ต่างๆได้ง่าย
  • ชอบ film simulation มาก เหมือนได้ย้อนกลับไปใช้ Film อีกครั้ง
  • มี Digital Tele-converter to 35, 50 mm หรือเรียกอีกอย่างว่าซูมดิจิตอลก็คงได้ แต่ไฟล์ออกมาดีกว่าซูมดิจิตอลทั่วไปนะ

จุดที่ไม่ชอบ

ส่วนใหญ่เกี่ยวกับการ setting ต่างๆในกล้องที่ยังไม่ชินนัก

  • ปิดเสียงอยู่ใช้ flash ไม่ได้ งงมากว่าทำไม (ให้เดาคงคิดแทนเราว่า ไม่ต้องการรบกวนคนอื่น แล้วจะเปิด flash ทำไม มั้ง) ทำได้แล้วครับ มันมีเมนูตั้งแค่เสียงแยกต่างหาก เพื่อนที่ X series club แนะนำมา
  • เปิด face detector ใช้ AE-L/-AF-L ไม่ได้นะ ล็อกโฟกัสไม่ได้เพราะกล้องต้องวิ่งหาหน้าของแบบ อันนี้พอเข้าใจได้ แต่ทำไมล็อคแสงไม่ได้
  • ปุ่ม video record กดยากมากกกก นิ้วใหญ่ หมดสิทธิ์มันชิดกับตัวปรับชดเชยแสงมากเกินไปและปุ่มมันเล็กและตื้นมาก
  • ปุ่มรอบวงกลม OK ฝั่งซ้ายกดยากเหมือนกัน ติดกับจอที่นูนออกมา ถ้านิ้วใหญ่หมดสิทธิ์ หรือต้องวางนิ้วแบบยื่นมาจากด้านข้างแทน
  • ปิดหน้าจอ LCD ไม่ได้ แต่ 2 นาทีมันถึงจะปิดเอง(sleep) แต่ไม่อยากเปิดปิดเครื่องบ่อยๆ ปกติแล้ว DSLR ไม่เคยปิดกล้องระหว่างทริปเลยนะ อยากได้แบบนั้น ชินกับ 600D ที่มีปุ่มกดปิดจอ LCD
  • ใช้ Digital Tele-converter to 35 and 50 mm ในโหมด P S T M ไม่ได้ ถ้าตั้งบันทึกภาพเป็น RAW อันนี้พอเข้าใจได้เพราะกล้องต้อง Process ภาพออกมาเป็น JPEG แต่ไม่บอกในคู่มือ หาสาเหตุนานมากว่าทำไมใช้ไม่ได้ กว่าจะหาเจอว่าเพราะเราตั้งเป็น RAW ไว้เสียเวลาเป็นชั่วโมงเลย
  • กลัวที่ปิดเลนส์หาย ความจริงมันก็ปิดแน่นดีนะแต่ก็กลัวหาย เพราะต้องเปิดปิดตลอด
  • กลัวเลนส์เป็นรอย กำลังหาฟิวเตอร์มาใส่ แต่มันต้องมีตัวแปลงใส่เพิ่มก่อน
  • มันไม่มี view finder ต้องซื้อเพิ่มเอง

โดยรวมแล้ว Fujifilm X70 ตัวใหม่ของเรา ทำให้ถ่ายรูปสนุกขึ้น ช่วยให้ชีวิตถ่ายภาพได้ง่ายและได้ภาพ(ที่ดี)ง่ายขึ้น กล้องตัวเก่าทำงานในโหมดอัตโนมัติต่างๆได้แย่มาก ทำให้เราชินกับโหมด M มากกว่า ไม่ใช่ไม่อยากใช้โหมดอื่นๆแต่มันทำงานได้ไม่ดี ทำให้ภาพเสียเยอะและไม่ได้ดังใจนึกเลยไม่อยากใช้ แต่ถึงจะใช้โหมด M จนชินและคล่องแค่ไหนยังไงก็เร็วเท่าโหมดอัตโนมัติ P S T ในกล้องไม่ได้ มันเก่งขึ้นมาก คิดว่าในกล้องรุ่นใหม่อื่นๆก็น่าจะดีขึ้นมากๆ เหมือนกัน ไอ้เรามันใช้กล้องรุ่นเก่ามันเลยตามเทคโนโลยีเขาไม่ทัน เลยทำเป็นตื่นเต้นกับเทคโนโลยีใหม่ที่เพิ่งจะได้ใช้กับเขาเท่านั้นเอง

รวม 10 ร้านอาหารโปรดของผม กินแล้วต้องกลับไปกินอีก

บล็อกที่แล้วเขียนถึง “10 เรื่อง และหนังสือ 10 เล่มในดวง” เลยคิดว่าน่าจะเขียนถึงร้านอาหารบ้างดีกว่า ปกติเวลาไปกินข้าวที่ร้านที่ไม่เคยไปก็จะถ่ายรูปไว้ ไม่ได้ถ่ายรูปแชร์นะ แต่ทำเป็นบันทึกไว้ เคยเขียนถึงแล้วใน “Evernote Food แอพช่วยบันทึกเมนูและร้านอาหารที่เคยไปกินมาแล้ว” ต้ังแต่บันทึกมาก็ปีกว่าๆแล้ว ทำให้มีข้อมูลของร้านอาหารเยอะพอสมควรเลย บางทีว่างๆก็เปิดมาดูว่าร้านนี้อยู่ไหน ไปกินกันตอนไหน สนุกดีเหมือนกัน การจะนำรายชื่อ 10 ร้านอาหารที่ชอบมาแชร์เลยไม่ยากนัก ในบันทึกมีทั้งที่ต่างจังหวัดและในกรุงเทพฯ แต่ขอคัดเลือกมาเฉพาะร้านในกรุงเทพฯเป็นหลักครับ ส่วนใหญ่ก็จะเน้นที่ตัวเองกินแล้วอร่อยและคุ้มค่า ราคาประหยัด เริ่มเลยแล้วกัน

10 ร้านอาหารโปรดที่กินแล้วต้องกลับไปกินอีก

Kozo Sushi (โคโซ ซูชิ)

1. ร้าน Kozo Sushi (โคโซ ซูชิ) เป็นร้านอาหารญี่ปุ่น อยู่ที่ชั้น 3 ตึกธนิยะ สีลม แผนที่ ตอนกลางวันมีบุฟเฟ่ต์ซูชิสายพาน เป็นร้านอาหารญี่ปุ่นที่ไปกินค่อยข้างบ่อย กินบุฟเฟ่ต์ไม่กี่ครั้งนะ ส่วนใหญ่ไปชอบกินชุด ข้าวหน้าปลาดิบ ร้านนี้วัตถุดิบดีเยี่ยม ไม่แพงมาก ป้าพนักงานคุยกับลูกค้าดี บริการเยี่ยม เป็นร้านโปรดอีกหนึ่งร้านที่กลับไปกินบ่อยมาก ยกให้เป็นร้านอาหารญี่ปุ่นอันดับหนึ่งในดวงใจ

เฮง เฮง ข้าวมันไก่ตอน-ไก่ต้ม

2. ร้าน เฮง เฮง ข้าวมันไก่ตอน-ไก่ทอด ร้านอยู่ตรงหน้าห้างเอ็มโพเรียม สถานีรถไฟฟ้าพร้อมพงษ์ แผนที่ ร้านนี้รู้จักครั้งแรกตอนไปเล่นเกม ingress ที่สวนเบญจศิริ ในกลุ่มก็จะเรียกกันว่า “ข้าวมันไก่ ingress” ยิงเสาในสวนเสร็จก็จะต้องออกมากินข้าวมันไก่ที่นี้ เนื้อนุ่ม น้ำซุปอร่อย ชอบมากๆ แม้ว่าตอนนี้จะไม่ได้ไปเล่นเกมแล้ว แต่ก็หาเวลาแวะไปกินอยู่เรื่อยๆ ยกให้เป็นร้านข้าวมันไก่ที่อร่อยที่สุดของ กทม.

อัลปาก้า วิว (Alpaca View)

3. ร้าน Alpaca View (อัลปาก้า วิว) ร้านอยู่ที่ ซ.ลาดพร้าว-วังหิน 71 แผนที่ ถือว่าไกลจากที่ทำงานมากแต่ก็ไปกัน ร้านอาหารแนวคาวบอย สไตล์คันทรี่ มีวงดนตรีเล่นเพลงสดให้ฟัง แต่ที่เราไปที่นี่มักจะอยู่ในห้องคาราโอเกะกันเป็นส่วนใหญ่ อาหารถือว่ายอดเยี่ยมเลยครับ ชอบเมนูแนะนำของทางร้าน “ซอลมอนแซ่บเวอร์” แต่ที่ชอบมากคงเป็นบรรยากาศ และเพลงในคาราโอเกะก็มีให้เลือกเยอะ ออกมานั่งข้างนอกชมวิว แล้วกลับเข้าไปร้องเพลงต่อ เป็นอีกร้านที่กลับไปบ่อย ยกให้เป็นร้านอาหารคาราโอเกะอันดับหนึ่ง

Eat Am Are (อีทแอมอาร์)

4. ร้าน Eat Am Are (อีท แอม อาร์ สเต็ก) ร้านสเต็ก ที่ซอยรางน้ำ ตรงข้ามเซ็นจูรี่ แผนที่ ความจริงมีหลายสาขาอยู่รอบๆอนุเสาวรีย์ แต่จะไปตรงสาขาซอยรางน้ำเป็นหลัก เมนูที่อยากแนะนำคือ “สเต็กหมูพริกไทยดำ” หมูนุ่มมาก อร่อยมากๆ กินกับส้มตำอร่อยเลย เพื่อนบอกว่าคนอะไรกินสเต็กกับส้มตำ ขอบอกว่าอร่อยครับต้องลอง แต่มาร้านนี้ต้องระวังคนรอคิวเยอะมาก ต้องเผื่อเวลาหรือเลี่ยงช่วงคนเยอะตอนค่ำๆ ร้านนี้ก็เป็นอีกร้านที่ไปกินบ่อยเพราะอร่อยและราคาก็ไม่แพง ยกให้เป็นร้านสเต็กอร่อยราคาประหยัดอันดับหนึ่ง

Inaho (อินาโฮ)

5.ร้าน Inaho (อินาโฮ) ร้านอาหารญี่ปุ่นแบบบุฟเฟ่ต์ ราคาประหยัด อยู่ที่ชั้น 2 ตึก Space one ถนนพระราม 4 ตรงข้ามสวนลุม แผนที่ ไปร้านนี้กันมีจุดประสงค์หลักคือ ไปกินปลาดิบเลยครับ คุ้มมากๆ สั่งปลาดิบไปหลายๆจานเลยครับ เขาจะรวมมาเสิร์ฟทีเดียว ส่วนเมนูของทอดก็อร่อยเหมือนกันครับ ถ้าใครที่ชอบแซลมอนรับรองว่าร้านนี้ไม่ทำให้ผิดหวังแน่นอนครับ ยกให้เป็นร้านบุฟเฟ่ต์แซลมอนอันดับหนึ่ง

สมศักดิ์ ปูอบวุ้นเส้น

6.ร้าน สมศักดิ์ ปูอบ ร้านปู-กุ้งอบวุ่นเส้น ที่อร่อยมาก อยู่ที่ซอยเจริญรัถ 1 ขึ้นไป BTS ลงที่สถานีวงเวียนใหญ่ แล้วค่อยลงเดินไปที่ร้าน แผนที่ ปกติแล้วก็เฉยๆกับพวกปู กุ้งอบวุ้นเส้น แต่พอมาเจอร้านนี้เข้า ต้องบอกว่าอร่อยมาก ปูสด เนื้อแน่นๆ กุ้งตัวโต เนื้อแน่นอร่อย วุ้นเส้นก็อร่อย ราคาก็สุดจะคุ้มค่า พอกินเสร็จบอกเลยว่ามีโอกาสต้องกลับไปกินอีก ร้านนี้คนเยอะเหมือนกัน มาแล้วอาจจะต้องรอคิว ยกให้เป็นร้านปูอบวุ้นเส้นอันดับหนึ่ง

ร้านอาหาร MAiSEN (ไมเซน)

7. ร้าน MAiSEN (ไมเซน) ร้านทงคัตสึ ร้านอยู่ที่ ชั้น B สีลมคอมเพล็ค แผนที่ เป็นร้านขายข้าวทงคัตสึเป็นหลัก มีเมนูอื่นๆอยู่บ้าง ปกติเป็นคนที่มีประสบการณ์ที่ไม่ได้ดีกับข้าวหมูทอดกรอบๆแบบนี้เลย แต่ที่ร้านไมเซนทำให้เราชอบทงคัตสึขึ้นมาได้เลย มีกระหล่ำมาเสริมเรียกน้ำย่อยก่อน เมนูที่นี้จะจัดเป็นชุดน่ารักๆ “ข้าวทงคัตสึ(สันนอก)หน้าไข่มัน” มันอร่อยมาก ข้าวก็นุ่ม อร่อยสุดๆไปเลย ใครที่ไม่ชอบทงคัตสึแบบผมต้องลองไปกินดู แล้วคุณอาจจะเปลี่ยนใจมาชอบมันได้เหมือนผม ยกให้เป็นร้านทงคัสสึกลับใจ(จากไม่ชอบเป็นรักเลย)

Road Q House

8. ร้าน Roadhouse Barbecue (โรดเฮ้าส์บาร์บีคิว) ร้านนี้อยู่ที่แยกถนนสุรวงค์กับถนนพระราม 4 ตรงมุมตรงข้ามสภากาชาด แผนที่ เป็นร้านที่เราไปนั่งดื่มเบียร์กันครับ มีดนตรีให้ฟัง อาหารไม่ได้หวือหวามาก พวกไส้กรอกกินแกล้มอร่อย แต่มีเบียร์หลากหลายยี่ห้อให้เลือกลองลิ้มรส บรรยากาศดี ที่สำคัญใกล้ที่ทำงาน เดินแป้ปเดียวถึง ยกให้เป็นร้านเบียร์บรรยากาศเยี่ยม

Sushi Masa

9. ร้าน Sushi Masa (ซูชิ มาสะ) ร้านอาหารญี่ปุ่นอีกแล้ว ร้านอยู่ในซอยพญานาค ลง BTS สถานีราชเทวี เดินเข้าซอยแป้บเดียวถึง แผนที่ ร้านนี้ทำซูซิได้เยี่ยมยอดมาก วัตถุดิบปลาดิบก็สุดยอด ร้านนี้ราคาพอสมควรนานๆไปที และคนจะเยอะแทบจะตลอดเวลา แถมไม่รับจองด้วยนะ ต้องไปต่อคิว ยกให้เป็นร้านซูชิอันดับหนึ่ง

เจียง ลูกชิ้นปลา

10. ร้านเจียง ลูกชิ้นปลา ร้านก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลา อยู่ที่ชั้น 2 ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต แผนที่ ปรกติเป็นคนเกลียดลูกชิ้นปลามาก จากประสบการณ์ที่ผ่านมา แม้ตอนสั่งลูกชิ้นปิ้งกิน ลูกชิ้นปลาไม่เคยถูกเรียกชื่อเลยแม้แต่ครั้งเดียวตั้งแต่จำความได้ มันไม่อร่อยเอาเสียเลย วันนั้นไปกินกับเพื่อนๆพี่ๆที่ทำงาน ลองกินดูไม่ได้คิดอะไรเลย อร่อยซะงั้น เกิดมาเพิ่งจะกินลูกชิ้นปลาอร่อยก็วันนั้นแหละ งง ตัวเองมาก ร้านเจียง ลูกชิ้นปลา น่าจะมีหลายสาขาอยู่ตามห้างทั่วไป ลองไปชิมดูได้ครับ ยกให้เป็นร้านลูกชิ้นปลาร้านเดียวที่กินอร่อย

รวม 10 ร้านอาหารโปรดของผมเป็นไงบ้างครับ ต้องบอกว่าเลือกยากเหมือนกันนะครับ คัดมาตอนแรกเกือบ 20 ร้านเลยนะ แล้วก็พยายามตัดออกเรื่อยๆจนออกมาได้ดังที่เห็น ลองไปแวะชิมตามร้านต่างๆกันตามสะดวกเลยนะครับ อร่อยหรือไม่อร่อยค่อยมาแชร์กันได้ครับ

หวังว่าจะมีร้านที่ถูกใจ และกลับไปกินอีกบ่อยๆเหมือนผม

วิ่งมาราธอนครั้งแรกของฉัน 42.195 กิโลเมตร ที่ทั้งเหนื่อย เจ็บ สุข ปนๆกัน

ขอบคุณรูปสวยๆ โดย เฮียไช้ จาก forrunnersmag.com

บันทึกไว้เตือนความจำตัวเอง อาจจะสับสน เรียบเรียงไม่ดีนัก นึกอะไรได้ก็บันทึกลงไป

หลังวิ่งจบมาราธอน

หลังจากจบการวิ่งมาราธอนครั้งแรกของชีวิต ระยะทาง 42.195 กิโลเมตร (ความจริงระยะจริงที่วิ่งมันวัดได้ประมาณ 43 กิโลเมตร) ในงานพัทยามาราธอน เมื่อวันอาทิตย์ ที่ 27 กรกฎาคม 2557 ที่ผ่านมา จบด้วยเวลา 4:41:47 ชั่วโมง ก็ตามเป้าหมายที่คิดว่าครั้งแรกอยากทำเวลาให้ได้ต่ำกว่า 5 ชั่วโมง หลังจากวิ่งเสร็จและกลับมากรุงเทพฯอาการเจ็บต้นขาบ้าง ทะเลาะกับบันไดอยู่ราวสองวันก็กลับมาเดินได้ปกติ อยากบันทึกถึงเพราะมันเป็นครั้งแรกที่วิ่งได้นานและไกลขนาดนั้น ในชีวิตไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าจะวิ่งได้ไกลขนาดนั้น และมีหลายคนบอกว่าวิ่งมาราธอนจะทำให้ชีวิตเราเปลี่ยนไป “ถ้าอยากเปลี่ยนชีวิตก็ให้มาวิ่งมาราธอน” นั่งคิดนอนคิดมาตลอดหลังจากนั้นว่าชีวิตเราเปลี่ยนไปหรือป่าวว่ะ? นั้นนะสิ เปลี่ยนไปไหมว่ะ? คำตอบคือ “ไม่” ก่อนกับหลังเข้าเส้นชัย ไม่มีอะไรเปลี่ยนไปเลย เรารู้สึกเฉยๆเมื่อเท้าก้าวผ่านเส้นชัยมา แปลกใจตัวเองมากที่ไม่รู้สึกเลยว่าได้ทำอะไรที่ยิ่งใหญ่มากๆได้สำเร็จ ส่วนหนึ่งคงเพราะเราค่อนข้างมั่นใจว่าตัวเองจะวิ่งจบและต้องทัน 6 ชั่วโมง ตามที่กติกาการแข่งขันบอกไว้

แต่ก่อนจะปลักใจเชื่อว่าตัวเองไม่มีอะไรเปลี่ยนไปเลยนั้น ลองดูว่ากว่าจะถึงจุดนี้ได้ผ่านอะไรมาบ้าง ค่อยๆดูไปว่าจริงไหมที่ไม่มีอะไรเปลี่ยนไปเลย อย่างหนึ่งที่ทำให้ประหลาดใจกับตัวเองอย่างมาก คือการได้นั่งดูคนอื่นเข้าเส้นชัยครับ เป็นอะไรที่สร้างความอิ่มใจได้อย่างไม่น่าเชื่อ เราเห็นแต่ละคนที่พยายามจะลากตัวเองให้เข้าเส้นชัยให้ได้ ร่างกายที่วิ่งมาแล้วกว่า 42 กิโลเมตรมันบอกให้หยุด แต่ใจบอกให้ไปต่อ บางคนดูอ่อนล้ามากๆ แต่พอใกล้ถึงเส้นชัย ไม่รู้เรี่ยวแรงมากจากไหน ฮึดขึ้นมาวิ่งเร็วกว่าระยะที่ผ่านมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ อดไม่ได้ที่ต้องปรบมือตอนรับให้กำลังใจคนที่กำลังจะเข้าเส้นชัย นาทีที่เพื่อนร่วมทริปวิ่งเข้ามา เราดีใจมาก วิ่งไปรับตอนนั้น คือ ดีใจกว่าตอนที่ตัวเองเข้าเส้นชัยเสียอีกครับ ถ้าการวิ่งครั้งนี้ไปคนเดียวอย่างที่ตั้งใจครั้งแรก คงไม่ได้มีช่วงเวลาดีๆแบบนี้แน่นอน ซ้อมมาด้วยกันและจบรายการเดียวกันเป็นอะไรที่คุยกันได้อีกหลายวันเลยครับ

ระหว่างวิ่งมาราธอน

ที่พัทยามาราธอนปล่อยตัวที่เวลา 3:45 น. ที่จุดปล่อยตัว เพื่อนๆนักวิ่งดูตื่นตัวกันมาก ระยะ 42.195 กิโลเมตร กลุ่มเรามี 3 คน น่าจะเป็นกลุ่มที่หน้าใหม่สุดแล้วกับการวิ่งมายังไม่ถึง 7 เดือนด้วยซ้ำไป แต่ลงวิ่งระยะไกลสุดของรายการ วิ่งตอนเข้ามืดดูจะไม่เหนื่อยเท่าวิ่งตอนกลางวันหรือตอนเย็น ระหว่างวิ่งไปพูดคุยกับเพื่อนร่วมทางเป็นระยะ บางคนวิ่งไปฟังเพลงเสียงดัง ร้องเพลงไปด้วย บ่งบอกได้ว่าวิ่งมานานระบบการหายใจดีมาก ไม่งั้นไม่สามารถร้องเพลงตอนวิ่งได้แน่นอน สำหรับเราแค่คุยยังทำได้ยากเลย ช่วงฮาฟมาราธอนเราทำเวลาได้ค่อนข้างดี คือรักษา Pace ประมาณ 6 นาที/KM ไว้ได้ แต่พอผ่านระยะ 30 กิโลเมตร ขาเริ่มไม่ไหวแล้ว น้ำแข็งกับฟองน้ำที่อยู่ตามจุดบริการข้างทางช่วยได้เยอะ แล้วเหมือนขาจะเป็นตะคริวเอาตอนกิโลเมตรที่ 39 หยุดยืนอยู่เกือบ 2 นาที ทั้งเพื่อนร่วมทางและเจ้าหน้าที่เขามาดูใหญ่เลยว่าเราเป็นอะไร แต่พอได้ยืนพักสักครู่ก็วิ่งช้าๆสลับเดินจนเข้าเส้นชัยได้ พัทยามาราธอนถือว่าเป็นรายการที่ค่อนข้างหินทีเดียวจากที่ฟังมาจากผู้มีประสบการณ์ เพราะมีเนินเยอะ วิ่งขึ้นเนินตอนระยะกิโลเมตรที่ 40 มันสุดโหดจริงๆ แต่ไม่มีสักแว้ปเลยนะที่เราคิดจะหยุดวิ่ง ในหัวมีแต่ต้องวิ่งให้จบให้ได้

ก่อนวิ่งมาราธอน

ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้จะเล่าว่าทำไมต้องเริ่มเรื่องเป็นตอนที่วิ่งจบ->ระหว่างวิ่ง->ก่อนวิ่ง เพราะอยากจะบอกว่ากว่าจะไปถึงตรงจุดนั้นได้ มันมีหลายอย่างที่เกิดขึ้นก่อนมากมายหลายอย่าง นับถอยหลังไปเมื่อ 7 เดือนที่แล้ว เมื่อปลายปี 2556 ที่ทำงานมีกิจกรรมให้พนักงานออกมาวิ่งกัน มีกิจกรรมให้คะแนนเป็นกลุ่ม มีตัวคูณเป็นกำลังใจหากใครน้ำหนักหรืออายุเยอะ เป็นเหมือนกิจกรรมที่โดนบังคับนิดๆให้ออกไปวิ่ง ตอนนั้นรองเท้าวิ่งยังไม่มีด้วยซ้ำ กิจกรรมนั้นทำให้เรารู้ว่าตัวเองวิ่งต่อเนื่องได้สั้นมากๆคือไม่ถึง 1 กิโลเมตร ก็หอบ จุกท้อง หายใจไม่ทันแล้ว ทั้งๆที่ปกติเป็นคนชอบเล่นกีฬาอยู่แล้ว แต่ห่างหายไปนานมากเพราะข้ออ้างไม่มีเวลา ไม่มีเพื่อน ไม่มีที่เล่น และในกิจกรมเดียวกันนี้เราได้เห็นเพื่อนที่ทำงานด้วยกันวิ่งน๊อครอบเราได้อย่างสบาย (เจ็บใจชะมัด)

ครั้งนั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่เรากับพี่ๆที่ทำงานตัดสินใจชวนกันไปซื้อรองเท้าวิ่งมาใส่กัน ซึ่งเป็นรองเท้าที่แพงที่สุดในชีวิตที่เคยซื้อเลย แล้วก็ออกมาซ้อมวิ่งกัน พอซื้อมาแล้วก็ต้องวิ่งให้คุ้ม เมื่อวิ่งไปก็อยากเก็บสถิติไว้ด้วยก็ติดตั้งแอพพลิเคชั่นที่บันทึกการวิ่งและเส้นทางในการวิ่ง พวกเราเลือก Nike+Running ซึ่งต้องบอกว่าทำให้การวิ่งสนุกขึ้นมาก แอพพลิเคชั่นสามารถเก็บสถิติของเราได้แล้ว ยังเห็นสถิติของเพื่อนๆด้วย สามารถตั้ง Challenge แข่งกันใครวิ่งสะสมได้มากกว่า การมีเพื่อนชวนกันไปวิ่งเป็นแรงจูงใจที่ดีมากๆ การได้ชนะสถิติเดิมของตัวเองได้เป็นความสุขในการวิ่งอย่างหนึ่ง เช่น วิ่งได้ไกลขึ้น วิ่งได้เร็วขึ้น วิ่งได้บ่อยมากขึ้นในหนึ่งสัปดาห์ ทำให้เราอยากจะชนะตัวเราเอง อยากเพิ่มศักยภาพของตัวเองขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วก็เปลี่ยนเป็นการเสพติดการวิ่งไปเลย นอกจากนี้เรียกว่าหาข้อมูล ความรู้เกี่ยวกับการวิ่งเยอะมากตารางการซ้อมที่ดี การวางเท้า อุปกรณ์ การยืดเหยียด ฯลฯ กลายเป็นอีกเรื่องที่สำคัญที่ต้องในความสนใจเป็นพิเศษไปเลย

เมื่อซ้อมวิ่งแล้ว ก็เริ่มอยากลองลงสนามแข่งดู ไม่ได้หวังอะไรมาก อยากรู้ว่าจะวิ่งครบตามระยะการแข่งขันได้ไหม ซึ่งในกรุงเทพฯมีรายการวิ่งเพื่อการกุศลให้เลือกลงกันแทบจะทุกเดือน ส่วนใหญ่เป็นระยะมินิมาราธอน 10.5 กิโลเมตร นานๆจะมีฮาร์ฟมาราธอน 21 กิโลเมตรมาบ้าง ส่วนมาราธอน 42 กิโลเมตร มีแค่ไม่กี่ครั้งต่อปีและส่วนใหญ่ก็อยู่ต่างจังหวัดด้วย กลายเป็นว่าระยะหลังๆเราลงวิ่งในรายการต่างๆแทบจะทุกเดือนบางครั้งหลายรายการในหนึ่งเดือน แต่ละรายการก็จะมีเส้นทางที่แตกต่างกัน มีเหรียญสำหรับผู้เข้าเส้นชัยที่สวยแตกต่างกันตามโอกาสต่างๆ มีเสื้อที่ออกแบบมาเฉพาะ บางงานมีบันทึกสถิติของผู้เข้าแข่งขันลงฐานข้อมูลในเว็บไซต์ บางงานมีใบประกาศให้ด้วย การวิ่งจึงกลายเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งของพวกเรา งานเยอะมากน้อยก็พยายามจัดสรรเวลาออกไปซ้อมวิ่งกัน ระยะมินิมาราธอนกลายเป็นเรื่องธรรมดาของพวกเราแล้ว ในระยะ 10 กิโลเมตร วิ่งโดยไม่หยุดพักได้ ซึ่งมันต่างกับเมื่อปีที่แล้วอย่างคนละขั่วเลย เรารู้ว่าร่างกายเราแข็งแรงขึ้น ปกติเป็นคนไม่อ้วนอยู่แล้ว แต่วิ่งก็ไม่ได้ทำให้น้ำหนักลงไปอีกนะ เคยอยู่เท่าไหร่ก็เท่านั้น ทั้งๆที่คิดว่าตัวเองกินเยอะและบ่อยขึ้นด้วยซ้ำ

ต่อไปก็พยายามจะเพิ่มระยะขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งความเร็วให้ดีขึ้นเรื่อยๆด้วย ตอนนี้คนรอบข้างก็เริ่มมาวิ่งด้วยมากขึ้นเรื่อยๆเหมือนโรคติดต่อ แต่เป็นโรคที่ดีนะ

สรุปจบว่า สำหรับการวิ่งมาราธอนครั้งแรกการเตรียมตัวอาจจะยังไม่ดีเท่าไหร่นัก แต่ได้ประสบการณ์ที่น่าเหลือเชื่อจริงๆ ทั้งเหนื่อย เจ็บ สุข ปนๆกัน แต่ประสบการณ์ที่ผ่านมาจนถึงวันนั้นสำคัญกว่ามาก อย่างที่พี่ที่เรานับถือท่านหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า “วิ่งมาราธอนไม่ได้เริ่มที่จุดสตาร์ท แต่เริ่มตั้งแต่ตอนที่เราคิดจะวิ่งแล้ว” เชื่อแล้วว่ามันเป็นดังนั้นจริงๆ

…ออกมาวิ่งด้วยกันครับ

บันทึกรายการหนังในรอบปีที่ไปดูมาแล้ว

รายการความบันเทิงในชีวิตของผมเองมีการบันทึกไว้ค่อนข้างเป็นระบบ ตั้งแต่รายการเพลงที่ฟัง หนังที่ดู หนังสือที่อ่าน อาหารที่กิน ถูกบันทึกไว้ให้ตัวเองหยิบขึ้นมารำลึกในภายหลังได้อย่างสะดวกที่สุด อีกอย่างรายการเหล่านี้สะท้อนความเป็นตัวตนของเราได้เป็นอย่างดี ทำให้รู้ว่าแท้จริงแล้วเราชอบอะไรแบบไหนเป็นพิเศษ เคยเขียนบล็อกถึงการบันทึกเรื่องพวกนี้อยู่บ่อยๆ

สิ่งที่ช่วยบันทึกรายการความบันเทิงส่วนตัว มีดังนี้ครับ

  • Last.fm เก็บบันทึกเพลงที่ฟัง
  • Goodreads เก็บบันทึกหนังสือที่อ่าน
  • Food เก็บบันทึกอาหารและร้านอาหาร
  • Picasa เก็บบันทึกภาพถ่าย
  • และ imdb เก็บบันทึกหนังที่ไปดูมาแล้ว 

ถ้านอกเหนือจากรายการต่างๆเหล่านี้ก็จะบันทึกลงบล็อกไว้ให้ได้มากที่สุดครับ

ในวันนี้สิ่งที่อยากจะแชร์นั้นคือรูปแบบการบันทึกรายการหนังที่ดูมาแล้วของผมเอง ในที่นี้จะไม่ได้แยกว่าหนังที่ได้ดูนั้นดูที่ไหนอย่างไร จะเป็นหนังในโรง หนังแผ่น หรือแม้แต่หนังที่ดูผ่านทางเคเบิลทีวีก็ตาม ทุกเรื่องที่ได้ดูก็จะถูกบันทึกลงลิสต์ ณ เวลานี้ผ่านมาแล้ว 7 เดือน เลยครึ่งปีมาแล้วหนึ่งเดือน เราดูหนังไปแล้ว 49 เรื่อง เป็นหนังใหม่-เก่าที่ไม่เคยดู ในรายการนี้จะบันทึกเฉพาะหนังที่ไม่เคยดูเท่านั้น ซึ่งบางทีหนังที่เคยดูแล้วหยิบขึ้นมาดูอีกครั้งจะไม่ถูกบันทึกลงในรายการนี้เลย

วิธีการบันทึกของผมนั้นใช้ imdb.com เป็นตัวช่วยบันทึก โดยการล็อกอินเข้าระบบในเว็บไซต์ จากนั้นสร้างลิสต์ของตัวเองขึ้นมา เมื่อไปดูหนังกลับมาก็ไม่ลืมที่จะเข้าไปที่หน้ารายละเอียดของหนังเรื่องนั้นใน imdb.com แล้วกดบันทึกลงในลิสต์ที่เราสร้างไว้ ทำแบบนี้ทุกครั้งที่ไปดูหนังมา เริ่มทำแบบนี้มาตั้งแต่ปีที่แล้ว พบว่าวิธีนี้สะดวกดีเลยทีเดียวครับ

วิธีการบันทึกหนังลงลิสต์ของ imdb

  1. ทำการสร้างลิสต์ใหม่ขึ้นมา (สมัครสมาชิกและล็อกอินเข้าระบบก่อน) คลิกสร้างลิสต์ใหม่ Create a new list

    Create a new list

  2. เลือก list เป็นรายการของรายชื่อหนัง ใส่ชื่อของลิสต์ตามที่ต้องการในที่นี้ผมต้องการบันทีกรายการหนังที่ได้ดูตลอดทั้งปี 2013 จึงตั้งชื่อว่า “Watchlist in 2013”

    New List

  3. เมื่อต้องการบันทึกหนังที่ไปดูมาแล้วลงในลิสต์ที่สร้างไว้ เข้าไปที่รายละเอียดของหนังเรื่องนั้น กด Watchlist เลือกลิตส์ที่ต้องการเพิ่มหนังเรื่องดังกล่าวลงไปในลิสต์ เป็นอันเสร็จสิ้น

    add to watchlist

เข้าไปดู Watchlist ของผมใน imdb ได้ที่ลิงค์นี้ครับ Watchlist in 2013Watchlist in 2012

ขอชวนทุกท่านมาสร้างลิสต์หนังของตัวคุณเองครับ แล้วเอาลิสต์หนังของคุณมาแชร์กันบ้างนะครับ ผมอยากรู้ว่าคุณชอบดูหนังแนวไหน เรื่องอะไรบ้าง

Evernote Food แอพช่วยบันทึกเมนูและร้านอาหารที่เคยไปกินมาแล้ว

Evernote Food

เวลาไปกินข้าวที่ร้านอาหารร้านใหม่ที่ไม่เคยไปกินมาก่อน ผมมักชอบจะบันทึกรายละเอียดเบื้องต้นของร้านนั้นไว้ มีประโยชน์สำหรับการเอามาอวดเพื่อนหรือเอาไว้แนะนำบอกต่อถ้ามันอร่อย แอพพลิเคชั่นที่ใช้สำหรับบันทึกนั้นเป็นส่วนหนึ่งของ Evernote ซึ่งมีชื่อเรียกว่า “Evernot Food” มีให้โหลดทั้ง Android และ iOS

เคยใช้ตั้งแต่ตอนเล่น iPod Touch ตอนนี้ในมือถือ Android ก็ต้องมีแอพนี้อยู่ การใช้งานค่อนข้างไม่ยุ่งยาก ถ่ายรูปอาหารที่เราสั่งมาทาน หรือสถานที่ร้าน บรรยากาศ ใส่รายละเอียดชื่อร้าน ระบุตำแหน่งลงในแผนที่ ซึ่งข้อมูลบางส่วนจะถูกดึงมาจาก Foursquare ทำให้สะดวกมาขึ้นถ้าต่ออินเทอร์เน็ตตอนบันทึก แต่ไม่มีเน็ตก็ยังบันทึกได้ แล้วเมื่อต่อเน็ตโปรแกรมจะ Sync เข้าไปเก็บใน Evernote ให้อัตโนมัติหรืออัตโนมือก็ได้เช่นกัน โดยใช้บัญชีเดียวกันกับ Evernote เลย

เราก็บันทึกเก็บไว้ตั้งแต่ร้านหรูในห้างไปจนถึงร้านตั้งขายข้างถนน หลังจากที่บันทึกมานานพบว่าเป็นคลังร้านอาหารที่เยอะพอสมควรส่วนใหญ่ก็อยู่ใกล้กับที่ทำงาน ที่พัก สะดวกมากขึ้นตอนหยิบขึ้นมาให้เพื่อนได้ดูว่าร้านนี้อยู่ตรงไหน เคยไปทานมาแล้ว รสชาดอาหารเป็นอย่างไรบ้าง บางครั้งเมื่อทานเสร็จอาจต้องเปิดแอพมาลงความเห็นไว้ด้วย ซึ่งส่วนใหญ่อันนี้ไม่ค่อยได้ทำเท่าไหร่นัก ทำแค่ถ่ายรูปร้าน เมนูอาหาร อาหารที่สั่ง กินจนอิ่มแต่มักจะลืมให้ความคะแนนบ่อยๆ แต่เมื่อเปิดมาดูภายหลังก็ยังพอจำได้นะว่าอร่อยหรือไม่อย่างไร

Evernote Food for Android

นอกจากนี้ใน Evernote Food ยังมีฟีเจอร์อื่นอีก เช่น การค้นหาร้านอาหารที่ใกล้กับจุดที่เราอยู่(Restaurants) ข้อมูลการทำอาหารเมนูใหม่ๆ(Explore Recipes) ยอมรับว่าไม่ค่อยได้ใช้งานเลย หลักๆมีเพียงบันทึกเมนูอาหารและร้านอาหารที่ไปทานมา(My Meals) เท่านั้น ซึ่ง Evrnote Food ก็ทำหน้าที่ตรงนี้ได้อย่างดีเยี่ยม และแน่นอนว่าเมื่อใช้บัญชีของ Evernote เราก็สามารถเข้าถึงข้อมูลตรงนี้ได้จากหลายๆอุปกรณ์ทั้งมือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ นับว่าสะดวกมากๆเลยทีเดียว

สรุปว่าชอบแอพพลิเคชั่นตัวนี้มากครับ เลยเอามาแนะนำเพื่อนๆ ใครที่ชอบถ่ายรูปอาหาร แทนที่จะมีแค่รูปอาหาร ก็บันทึกรายละเอียดของร้านไว้ด้วยเลยด้วยก็ดีนะครับ

ดาวน์โหลด Evernote Food ได้ที่ Google Play Store และ App Store 

วิธีแก้ไข host file ใน Mac OS X

วิธีแก้ไข Host file ใน Mac OS X อันไหนที่ไม่ได้เขียนไว้มักจะได้ใช้บ่อยๆ คราวนี้ไม่พลาดแล้ว มาเขียนเก็บไว้ดีกว่า ขี้เกียจเปิดดูของคนอื่นแล้ว

วิธีแก้ไข host file ใน Mac OS X

  1. เปิดโปรแกรม Terminal
  2. copy โค้ดนี้ไปวางแล้ว enter
    sudo nano /private/etc/hosts
  3. ใส่พาสเวิร์ดของเครื่อง(พิมพ์ไปเลยมันไม่โชว์)
  4. แก้ไขตามต้องการ
  5. save file กด Control+O กด enter

    Host file เตรียมบันทึก

  6. บันทึกแล้วกดปิด Terminal ได้เลย

ค่อนข้างมั่นใจว่าจะต้องได้ใช้อีกแน่ อยากดูแบบละเอียดไปดูที่นี้ https://decoding.wordpress.com

บันทึกสัมมนาการจดสิทธิบัตร

ภาพประกอบจาก https://www.flickr.com/photos/95118988@N00/1497679352/

ไปฟังสัมมนาเกี่ยวกับการจดสิทธิบัตรที่ทางศูนย์บริการวิชาการ จุฬาฯ จัดให้นักวิจัย อาจารย์ นิสิต ได้เข้าอบรมฟรี ผมเห็นว่าน่าจะมีประโยชน์สำหรับคนทั่วไปด้วย จึงนำบันทึกมาเผยแพร่ต่อที่นี้ เผื่อจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นๆด้วย

บันทึกจากงานสัมมนา
เรื่องกระบวนการและแนวทางการจดสิทธิบัตร ผลงานวิจัยและทรัพย์สินทางปัญญา 
เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2554
ณ ห้อง 304 ชั้น 3 อาคารมาจักรีสิรินธร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สิทธิบัตร

-ปัจจุบันใช้ พรบ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 บังคับใช้เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2522 ปรับปรุง พ.ศ.2535, 2542
-เป็นกฏหมายที่มีข้อตกลงร่วมระหว่างประเทศภาคี แต่การจดสิทธิบัตรที่เดียวไม่ได้คุ้มครองทุกประเทศ แต่สามาถเลือกได้ว่าจะจดสิทธิบัตรในประเทศใดบ้างและต้องปฏิบัติตามกฏหมายของประเทศนั้นๆ โดยหน่วยงานของรัฐจะอำนวยความสะดวกให้ในระดับหนึ่ง

สิทธิบัตรไทย แบ่งเป็น 3 ประเภท

  • สิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์
  • สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์
  • อนุสิทธิบัตร (ไม่มีตรวจสอบว่าใหม่จริง)

สิทธิบัตร เป็นเหมือนทรัพย์สิน(โฉนดที่ดิน, หุ้นบริษัทฯ) สามารถโอนให้คนอื่นได้
อนุสิทธิบัตร เป็นการคุ้มครองแบบหลวมๆ ไม่มีการตรวจสอบว่าเป็นสิ่งใหม่จริง ให้ประกาศไปก่อนเพื่อความรวดเร็ว ถ้าหากใครคิดว่าตัวเองทำก่อนก็ค่อยมาฟ้องเพิกถอนสิทธิ (เป็นปัญหามาก) ในการเลือกจดสิทธิบัตรจะเลือกได้เพียงอย่างเดียวว่าจะจดสิทธิบัตร หรืออนุสิทธิบัตร

หลักการขอจดสิทธิบัตร

มีอยู่ 3 ข้อ มีอย่างใดอย่างหนึ่งก็ขอจดสิทธิบัตรได้แล้ว

  • เป็นสิ่งประดิษฐ์ขึ้นใหม่(Novelty)
  • มีขั้นตอนการประดิษฐ์สูงขึ้น(Inventive step)
  • สามารถประยุกต์ทางอุตาหกรรม(Industrial Applicable)

งานที่ไม่สามารถจดสิทธิบัตรได้

มีจุดที่น่าสนใจอยู่คือ สิ่งต่างๆเหล่านี้เรียกว่า “‘งานที่มีอยู่แล้ว” หรือ “ไม่ใหม่” ไม่รับจดสิทธิบัตร

  • มีการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ หรือแสดงผลงานในงานประชุมวิชาการแล้ว แต่มีข้อยกเว้นให้ จะต้องจดสิทธิบัตรภายใน 12 เดือนหลังทำการเผยแพร่ ถ้าเกินเวลาจากนี้แล้วจะจดสิทธิบัตรไม่ได้ เพราะถือว่าได้ประกาศโฆษณาไปแล้ว และถ้าหากยื่นขอจดสิทธิบัตรการคุ้มครองจะย้อนไปถึงวันที่เผยแพร่ผลงาน มีข้อแนะนำจากวิทยากรคือ ให้ยื่นจดสิทธิบัตรไปพร้อมกับส่งตีพิมพ์ในวารสารไปพร้อมกันเลย
  • ถ้่าไปขอจดสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรที่ต่างประเทศแล้ว จะต้องจดในประเทศภายใน 18 เดือน หลังจากนี้จะจดสิทธิบัตรไม่ได้ (ถือว่าลอกผลงานตัวเอง) เช่นเดียวกันเมื่อจดสิทธิบัตรการคุ้มครองจะย้อนไปถึงวันที่ยื่นจดสิทธิบัตรที่ต่างประเทศ

การประดิษฐ์ขึ้นใหม่และขั้นตอนประดิษฐ์ที่สูงขึ้น

การประดิษฐ์เราจะเห็นตัวตนของสิ่งประดิษฐ์ชัดเจน ส่วนขั้นตอนการประดิษฐ์อาจจะมองเห็นไม่ชัดเจนนัก แต่กฏหมายก็คุ้มครองหรือสามาถจดสิทธิบัตรได้ ในกลุ่มที่มีขั้นตอนการประดิษฐ์สูงขึ้น ไม่ได้หมายถึง การใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น แต่หมายถึงการใช้วิธีแก้ปัญหาที่ดีขึ้น ง่ายขึ้น หรือเป็นการแก้ไขปัญหาเดิมด้วยวิธีใหม่ที่ดีขึ้น เช่น การทำไวน์ด้วยวิธีใหม่ การถนอมอาหารแบบใหม่ เป็นต้น

ส่วนการประดิษฐ์ที่สามารถนำมาใช้ในประโยชน์ทางอุตสาหกรรมในต่างประเทศจะมีเพียงในทางอุตสาหกรรม แต่ในประเทศไทยจะเพิ่มส่วนของ หัตถกรรม เกษตรกรรม พาณิชกรรม เข้าไปด้วย ทำเพื่อให้เหมาะสมกับวิถีีชีวิตของคนไทยมากขึ้น

การออกแบบผลิตภัณฑ์ ลวดลาย สี รูปร่าง ได้รับการคุ้มครองสามารถจดสิทธิบัตรได้

มีความแตกต่างกันระหว่างการประดิษฐ์กับการออกแบบ คือ การประดิษฐ์เป็นการคุ้มครองโครงสร้างภายในผลิตภัณฑ์ ส่วนการออกแบบเป็นการคุ้มครองโครงสร้างภายนอกของผลิตภัณฑ์

ผู้มีสิทธิในสิทธิบัตร

  • ผู้ประดิษฐ์ ผู้ออกแบบ
  • ผู้ที่ได้รับการโอนสิทธิ์
  • นายจ้างของผู้ประดิษฐ์ หมายความว่า นายจ้างของผู้ประดิษฐ์จะเป็นคนถือสิทธิ์ แต่ถ้าสิ่งประดิษฐ์นั้นสามารถสร้างรายได้ในทางการค้าได้ ผู้ประดิษฐ์มีสิทธิรับบำเหน็จจากนายจ้างได้ตามสมควร (ถ้าไม่ได้สามารถฟ้องได้ แต่ต้องเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ก่อให้เกิดรายได้)
  • ถ้ามีผู้ประดิษฐ์ร่วมหลายคน ทุกคนมีสิทธิขอรับสิทธิบัตรได้ตามสัดส่วนที่ได้ระบุไว้

สิ่งที่ไม่สามารถจดสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตรได้

  • จุลชีพและส่วนประกอบ ในประเทศไทยถือว่าเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ในต่างประเทศสามารถจดสิทธิบัตรจุลชีพได้ แต่ในไทยไม่อนุญาติและไม่คุ้มครอง มีข้อยกเว้นถ้าจุลชีพนั้นมีการตัดต่อ ตกแต่งให้แตกต่างจากดั้งเดิม สามารถจดสิทธิบัตรได้
  • ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์ เพื่อการพัฒนาของวิทยาการ การถือถือสิทธิบัตรผู้เดียว ถือว่าขัดต่อการพัฒนาทางด้านองค์ความรู้
  • Software จะจดสิทธิบัตรไม่ได้ แต่จะเป็นกฏหมายอีกตัวคือ ลิขสิทธิ์ ซึ่งจะใช้ได้ชั่วชีวิต และต่ออีก 50 ปี หลังผู้ประดิษฐ์เสียชีวิต
  • วิธีการวินิจฉัย บำบัด หรือวิธีรักษาโรคในมนุษย์หรือสัตว์ ข้อนี้ถือเป็นการให้ประโยชน์แก่ทุกคน
  • การประดิษฐ์ที่ผิดต่อศิลธรรม อนามัย สวัสดิภาพของประชาชน

การจดสิทธิบัตรมีค่าธรรมเนียม

  • ค่าธรรมเนียมในแต่ละประเภท(ประดิษฐ์, ออกแบบ, อนุสิทธิบัตร)มีค่าธรรมเนียมต่างกัน แต่จะแพงขึ้นเรื่อยๆในปีหลังเหมือนกัน เป็นการแสดงว่าผู้ถือครองสิทธิได้รับประโยชน์จากสิทธิบัตร
  • อายุของสิทธิบัตรการประดิษฐ์มีอายุ 20 ปี, การออกแบบ มีอายุ 10 ปี ทั้งสองต่ออายุไม่ได้ ส่วนอนุสิทธิบัตรมีอายุ 6 ปี ต่ออายุได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ปี

ผลงานวิจัยกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

การคุ้มครองงานวิจัย มีแนวทางการคุ้มครองได้ 5 ลักษณะ

  • ลิขสิทธิ์ จะเป็นการคุ้มครองทันทีที่ผลิตผลงานออกมาเช่น ข้อความใน paper, รูปภาพ ฯลฯ แต่จะไม่คุ้มครองเนื้องานภายใน
  • แบบผังภูมิวงจรรวม หมายถึงการออกแบบวงจรใหม่ แต่ยังใช้ IC จากคนอื่น เช่น เมื่อนำ Microchip ของ intel มาประดิษฐ์อุปกรณ์ขึ้นมาใหม่ สามารถจดสิทธิบัตรได้ซึ่งจะคุ้มครองส่วนวงจรรวมแต่ไม่ได้คุ้มครอง IC แต่ละตัวที่นำมาใช้
  • ความลับทางการค้า เรียกว่าการจดแจ้ง เปิดเผยข้อมูลบ้างส่วนเท่านั้น เป็นกลุ่มของ Know How ที่เปิดเผยให้คนอื่นรู้ไม่ได้ ในการจดแจ้งจะต้องระบุวิธีการเก็บข้อมูลด้วย เช่น ให้รู้กี่คน เก็บเอกสารยังไง ถ้าไม่ปฏิบัติตามวิธีการเก็บความลับนั้น หากเกิดความลับรั่วไหลจะฟ้องดำเนินคดีไม่ได้
  • การคุ้มครองพันธุ์พืช จะใช้ในงานของกระทรวงเกษตรฯ เป็นกฏหมายอีกฉบับ
  • สิทธิบัตร กลุ่มที่เหมาะสมคือ กลุ่มสิ่งประดิษฐ์ที่เมื่อทำวิศวกรรมย้อนกลับแล้วรู้ว่าทำขึ้นได้อย่างไร เป็นกลุ่มที่ควรจดสิทธิบัตรไว้ เพื่อปกป้องสิทธิของตัวเอง เช่น การประดิษฐ์เครื่องยนต์ การประดิษฐ์อุปกรณ์อำนวยความสะดวก เป็นต้น

ข้อแนะนำก่อนการจดสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร

  • ควรรีวิวมาก่อนว่าเคยมีการประดิษฐ์มาก่อนหรือไม่ ต้องตรวจสอบให้ด วิธีการตรวจสอบคือ การค้นหาสิทธิบัตรในประเทศต่างๆ จากแหล่งข้อมูลเหล่านี้
    -ประเทศไทย https://www.ipthailand.org
    -ประเทศสหรัฐอเมริกา https://www.uspto.gov
    -ประเทศญี่ปุ่น https://www.jpo.go.jp
    -กลุ่มประเทศยุโรป https://ep.espacenet.com
  • ต้องพิจารณาให้ดีว่าจะเลือกจดสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร วิเคราะห์ให้ดีว่าแบบไหนตรงกับงานที่ตัวเองประดิษฐ์
  • ในสิ่งประดิษฐ์ของเราต้องระบุว่าจะคุ้มครองตรงไหนบ้าง การระบุกว้างไปก็ไม่ดี จะทำให้ระบุได้ยากว่าผู้อื่นละเมิดสิทธิบัตรของเราส่วนไหนบ้าง หากระบุแคบเกินไปก็เป็นการจำกัดสิทธิของตัวเอง ข้อนี้สามารถขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ หรือดูตัวอย่างสิทธิบัตรของคนอื่นก่อนหน้าเป็นตัวอย่างได้
  • ในประเทศไทยใครยื่นก่อนมีสิทธิก่อน ต่างจากของอเมริกาจะถือว่าผู้ประดิษฐ์ก่อนคนแรกจะได้ถือครองสิทธิบัตร แต่จะมีขั้นตอนการพิสูจน์ที่ค่อนข้างยุ่งยาก ในไทยจึงตัดปัญหา ให้ใครยื่นก่อนได้ก่อน
  • การเขียนรูปประกอบจะต้องเขียนตามหลักการเขียนแบบ มีเลขหมายระบุแสดงชิ้นส่วนชัดเจน 
(มีเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำถ้าไม่มีความรู้แต่อยากจดสิทธิบัตร)
  • การระบุชื่อสิ่งประดิษฐ์จะไม่ใช้ชื่อเฉพาะ เช่น แว่นตาสุดมหัสจรรย์(ไม่รู้ว่ามหัสจรรย์ตรงไหน) การระบุชื่อจะต้องชัดเจนและสื่อความหมายชัดเจน จะยาวสั้นไม่ว่า เช่น “แว่นตาที่ขาพับเก็บได้”
  • การจดสิทธิบัตรเป็นการตรจสอบความใหม่ ไม่ได้เป็นการตรวจสอบประสิทธิภาพ มีสิทธิบัตรบางอันที่ทำงานจริงได้ไม่ดี แต่เมื่อมีคนนำไปต่อยอดให้ทำงานได้ดีขึ้นเขาจะต้องขอสิทธิจากงานดั้งเดิมเสียก่อน เป็นการสนับสนุนให้คนไทยสนใจการจดสิทธิบัตรมากขึ้น?

สถานที่ขอจดสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร

ส่วนบริหารงานจดสิทธิบัตร สำนักงานสิทธิบัตร กรมทรัพย์สินทางปัญญา โทร 0-2547-4637
หรือ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกแห่ง
https://www.ipthailand.go.th/ipthailand สายด่วน 1368

ภายในจุฬาฯ มีหน่วยงานดูแลเรื่องการขอจดสิทธิบัตร ติดต่อได้ที่
สถาบันทรัพย์สินทางปัญญา แห่งจุฬาฯ อาคารเทพทวาราวดี (คณะนิติศาสตร์) ชั้น 9 หมายเลขโทรศัพท์ 0-2218-2895 https://www.ipi.chula.ac.th

บันทึกโดย พงษ์ศักดิ์ สาระภักดี
วันที่ 17 มิถุนายน 2554
sarapukdee@gmail.com

ดาวน์โหลด บันทึกการขอจดสิทธิบัตร(PDF)

CSS Trick ตัวอย่างเว็บไซต์ใช้ CSS สุดเจ๋ง

เมื่อวานเปิดดู WordCamp TV ของ Sara Cannon พูดเรื่อง CSS Trick ตอนแรกเห็นเธอน่ารักสดใสเลยขอดูนิดหนึ่ง แต่สุดท้ายดูจบก็ได้อะไรมาเหมือนกัน มีตัวอย่าง Showcase ของ CSS ที่เธอเอามาโชว์ประกอบการนำเสนอ พบว่ามันเจ๋งดี เลยคัดเอาส่วนที่น่าสนใจมาบันทึกเก็บไว้

อันแรกเป็นการออกแบบเกี่ยวกับ Scrolling  ลิงค์เว็บไซต์ https://lostworldsfairs.com/atlantis ทดลองเลื่อนหน้าเว็บไซต์ลงไปข้างล่างเรื่อยๆ จะพบว่าคนในท่อจะวิ่งตามลงไปด้วย ระดับความลึกก็เปลี่ยนตาม

Atlantis

เว็บที่สองเป็นการโชว์ความสามารถการใส่พื้นหลังหลายภาพ (ซ้อนกัน) เว็บเหล่านี้จะพบว่าพื้นหลังของเว็บมันมีความน่าสนใจมากขึ้นเยอะเลย ตัวอย่าง https://silverbackapp.com มีพื้นหลังอยู่ถึง 4 ภาพ ย่อขยายหน้าเว็บจะเห็นว่ามีเลเยอร์ของ ด้านหลังซ้อนกันอยู่

https://silverbackapp.com

และอีกตัวที่ผมเห็นแล้ว พบว่ามันเท่มากคือ เว็บ https://www.nikebetterworld.com ลอง Scrolling ลงไปข้างล่างจะเห็นการนำเสนอที่เจ๋งจริงๆ พื้นหลังจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ

https://www.nikebetterworld.com/

และส่วนที่น่าสนใจที่สุดคือ เป็นความสามารถของการใช้ CSS Grids ควบคุมการแสดงผลแตกต่างกัน ตามขนาดของหน้าจอ เช่นหน้าจอของ PC, iPad, Mobile ขนาด ตำแหน่งของเมนู เปลี่ยนแปลงตามขนาดของหน้าจอที่เรียกใช้งาน ลองเปิดดูที่ https://hicksdesign.co.uk/ และ https://colly.com แล้วลองย่อขนาดของเว็บไซต์ดูครับ

hicksdesign.co.uk ขนาดจอ PC
https://hicksdesign.co.uk ขนาดจอมือถิอ
https://colly.com แสดงหน้าจอ PC
https://colly.com แสดงหน้าจอมือถือ

ยังมี resource และเว็บไซต์ที่น่าสนใจอื่นๆอีก ตามดูการนำเสนอของ Sara Cannon ในหัวข้อ CSS Tricks ได้ที่ https://WordPress.tv ความยาวประมาณ 34 นาที ครับ

Exit mobile version