มาอ่านวรรณกรรมคลาสสิคกันเถอะ

ตลอดหลายปีที่ผ่านมาหนังสือที่อ่านจะอยู่ในหมวด non-fiction เป็นส่วนใหญ่ ถ้าจะเจาะจงคงเป็นหนังสือ pop-sci เป็นหลัก อาจจะเพราะมันอ่านเข้าใจง่าย ตรงไปตรงมา และเข้ากับคลังความรู้พื้นฐานที่มี ทำให้มันไปได้ง่ายและเร็ว หมวดอื่น ๆ มักจะได้รับความสนใจน้อยมาก

แต่เมื่อไม่นานมานี้ได้อ่านเจอบทความที่บอกว่า เราควรอ่านหนังสือให้หลากหลายแนว หนังสือก็เหมือนอาหาร ที่ต้องทานให้หลากหลายและครบถ้วน

หมวดแรกที่ถูกเลือกหยิบมาก่อนคือ นิยายและวรรณกรรมคลาสสิก

ช่วงที่ผ่านมาจึงได้ตั้งใจว่าจะลองอ่านหนังสือหมวดวรรณกรรมคลาสสิคให้มากขึ้น ลองค้นดูตามลิสต์ที่เขาแนะนำตามเว็บไซต์ (100 must-read classic books) มีให้เลือกหลากหลายมาก แต่ก็จะมีซ้ำ ๆ กันอยู่บางส่วน จึงเลือกจากตรงนั้น รวมกับความสนใจส่วนตัวไปด้วย

Classic Literature Books

นี้คือหนังสือหมวดวรรณกรรมคลาสสิคที่ได้อ่านไปแล้วบางส่วนในช่วงที่ผ่านมา

-To Kill a Mockingbird
-The Handmaid’s Tale
-Fahrenheit 451
-Frankenstein
-Dune
-The Time Machine
-The War of the Worlds
-The Invisible Man
-The Island of Dr. Moreau
-The Alchemist
-The Giver
-Animal farm
-The Little Prince
-Alice’s Adventures in Wonderland

สิ่งที่ได้หลังจากอ่านหนังสือวรรณกรรมคลาสสิคเท่าที่ผ่านมาจากรายการด้านบน อันดับแรกเลยคือ มันสนุก น่าติดตาม เกินกว่าที่คิดไว้เยอะเลย เนื้อหาหนักบ้างเบาบ้างแล้วแต่เล่ม แต่แนวคิดและสิ่งที่จะสื่อค่อนข้างแข็งแรง ตามแนวทางของผู้เขียน ไร้กาลเวลาดูไม่เก่าเลย ทั้ง ๆ ที่บางเล่มตีพิมพ์ครั้งแรก 200 กว่าปีแล้ว (Frankenstein, 1818) แทบไม่มีเล่มไหนเลยที่ทำให้ผิดหวัง รู้สึกคุ้มค่าที่ได้อ่าน และได้อะไรกลับมาให้คิดต่อทุกเล่ม สมควรแล้วที่ถูกยกให้เป็นคลาสสิค

มีหลายเล่มที่มีบทวิเคราะห์ลึกระดับวิทยานิพนธ์ (To Kill a Mockingbird, The Handmaid’s Tale, Fahrenheit 451, etc.) ให้ได้ตามอ่านเพิ่มเติม มันดีถึงกับมั่นใจที่จะแนะนำต่อให้คนอื่น ๆ ได้อ่านด้วย แต่มีบ้างในบางเล่มที่ภาษาที่ใช้ไม่คุ้นเคยเลย (To Kill a Mockingbird) ต้องค้นหาความหมายบ่อยครั้งในช่วงแรกของเล่ม แต่ก็ถือว่าได้คลังคำศัพท์เพิ่มขึ้นมา

คิดว่าในช่วงของปีนี้ก็จะยังอ่านกลุ่มนี้ไปเรื่อย ๆ ก่อน
นอกจากนี้ ได้ลองอ่านแนว Poetry ไปบ้างนิดหน่อย พบว่าเปิดโลกดีทีเดียว หลังจากนี้ก็คิดว่าจะหยิบมาอ่านเพิ่มด้วยเช่นกัน

ใครมีหนังสือแนววรรณกรรมคลาสสิคเล่มไหนดีๆ อยากบอกต่อ แนะนำด้วยนะครับ เรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับหนังสือ

ฝึกให้อ่านเร็วขึ้น ตอนกำจัดเสียงอ่านในใจ

ผมเป็นคนอ่านหนังสือช้า นี่คือบันทึกการฝึกอ่านให้เร็วขึ้น

ฝึกอ่านให้เร็วขึ้น

ข้อแรก ที่ต้องฝึกอันดับแรกถ้าต้องการอ่านได้เร็วขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นข้อที่ทำยากมากที่สุด ถ้าทำได้จะเร็วขึ้นแน่นอน คือ กำจัด “subvocalizing” หรือ เสียงอ่านในใจ

ตอนที่เราอ่านหนังสือ แม้จะไม่ได้เปล่งเสียงออกมาจริงๆ เราก็จะยังออกเสียงคำๆนั้นในใจ บางคนอาจจะมีการขยับริมฝีปากตามเบาๆเสียด้วยซ้ำ
สิ่งนี้เลยทำให้เราไม่สามารถอ่านได้เร็วเกินกว่าพูดเลย(150-200 คำต่อนาที)
ทั้งๆที่ตาและสมองไปได้เร็วกว่าอย่างมาก

แต่ว่าการกำจัดเสียงอ่านในใจนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย และต้องใช้เวลาในการฝึก เพราะมันถูกติดตั้งมาตั้งแต่เราเริ่มหัดอ่านครั้งแรก ครูก็ฝึกให้เราอ่านออกเสียงตั้งแต่เด็ก มันจึงติดตัวเรามาตลอด

มีวิธีกำจัดสิ่งนี้หลายวิธี แต่วิธีฝึกที่มีการแนะนำมากวิธีหนึ่ง คือ ลองเปิดหนังสือขึ้นมาหน้าหนึ่ง มองไปที่คำใด คำหนึ่งในนั้น แล้วคิดถึงความหมาย ทำความเข้าใจคำนั้น โดยพยายามไม่ออกเสียงคำนั้น ไม่ขยับปาก ไม่เปล่งเสียงในใจ จากนั้นก็มองหาคำอื่นทำแบบเดิม ซ้ำไปเรื่อยๆ จนชิน อาจจะต้องใช้เวลาพอสมควร
เมื่อคิดว่าไม่มีเสียงตอนอ่านแล้ว จึงค่อยเริ่มลองอ่านแบบปกติ

นี่คือ ขั้นแรก ขั้นที่ยากที่สุด ที่ต้องทำให้ได้ก่อน ถ้าทำได้เร็วขึ้นแน่นอน

สำหรับตัวเองนั้น หนังสือภาษาไทยคิดว่าทำได้ แต่หนังสือภาษาอังกฤษยังอยากอ่านออกเสียงอยู่นะ เพื่อพัฒนาการฟังและการออกเสียงไปด้วยกัน

ในส่วนขั้นต่อไปค่อยมาเขียนต่อในวันหลังก็แล้วกัน

หนังสือแนะนำให้อ่าน โดย CEO ระดับโลก

ผมว่าบางครั้งหลายๆคนน่าจะเป็นเหมือนกันว่าอยากเดินไปร้านหนังสือ แล้วก็ค่อยๆเดินดูตามชั้นหนังสือหมวดต่างๆ เปิดดูเนื้อหาข้างในสักหน้าสองหน้า แล้วค่อยเลือกซื้อ นี่คือหนึ่งในวิธีการหาหนังสือสักเล่มของผม แต่สมัยนี้การซื้อออนไลน์มันสะดวกมาก และถึงแม้ว่าการออกไปเดินในร้านหนังสือมันจะเพลิดเพลินเพียงใด เราก็คงทำบ่อยๆไม่ได้

พวกคำนิยมที่อยู่หน้าแรกๆของหนังสือนั้น ผมแทบจะไม่สนใจเลย หรือบางทีก็ไม่ได้อ่านด้วยซ้ำ บางทีมันอดคิดไม่ได้ว่า คนที่เขียนคำนิยมเหล่านั้นได้อ่านหนังสือเล่มนั้นจริงๆไหม รีวิวจากคนทั่วไปที่ไม่ได้ส่วนได้ส่วนเสียจากหนังสือเล่มนั้นเลยน่าเชื่อถือมากกว่า

ผมมีวิธีเลือกอ่านหนังสือแบบนี้ครับ (บางทีก็แค่อยากซื้อมาเก็บเฉย) ซึ่งก็พอจะสรุปเป็นข้อๆได้ประมาณนี้ครับ

  • หนังสือที่ถูกกล่าวถึงหรือถูกอ้างอิงในหนังสืออีกเล่มที่เคยอ่าน ทำให้หนังสือแต่ละเล่มมักจะมีการเชื่อมโยงถึงกัน ยกตัวอย่างเช่น เราอ่านหนังสือประวัติของ Isaac Newton ในหนังสือบอกว่า The Principia คือ ผลงานปฎิวัติวงการของเขา หนังสือที่เราอยากอ่านเล่มต่อไปย่อมเป็น The Principia หรือไม่ก็หนังสือที่เขียนอธิบายเกี่ยวกับ The Principia (แค่ยกตัวอย่างนะครับ มิอาจเอื้อม แต่ก็อยากซื้อมาประดับชั้นหนังสือนะ)
  • ผลงานของนักเขียนคนเดิม บ่อยครั้งที่จะดูว่านอกจากเล่มที่กำลังอ่านอยู่นั้น มีผลงานอื่นอะไรอีกที่น่าสนใจ เช่น เราอ่าน Surely You’re Joking, Mr. Feynman! เป็นไปได้หรือที่จะไม่ตามอ่าน What Do You Care What Other People Think?
  • ในเว็บไซต์ต่างๆ เช่น Goodread, Time, Nature, Wired, etc. ก็มักจะมีลิสต์หนังสือแนะนำให้เลือกติดตาม ในช่วงหลังๆที่ไม่รู้ว่าจะหาหนังสืออะไรมาอ่าน ช่องทางนี้ถูกเลือกใช้บ่อยๆ

นอกจากนี้ คนดัง ผู้มีอิทธิพลของโลก มหาเศรษฐี CEO หรือคนที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นอัจฉริยะในด้านต่างๆ ก็มักจะมีหนังสือแนะนำกันทั้งนั้น ปีที่แล้ว Mark Zuckerberg ก็ลิสต์หนังสือที่เปลี่ยนใหม่ทุกๆ 2 สัปดาห์ สุดท้ายได้ออกมา 23 เล่ม Ayearofbooks.net

แต่ถ้าอยากรู้ว่า CEO แต่ละคน เช่น Mark Zuckerberg, Sam Altman, Bill Gates, Larry Page, Elon Musk, etc. มีลิสต์หนังสือแนะนำอะไรบ้าง เข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์นี้ Bookicious.com

Book Collections Bookicious

ใน Bookicious จะเป็นการแนะนำหนังสือแบบรวบร่วมจากสื่อต่างๆ ที่ CEO แต่คนเคยบอกไว้ หรือเคยในสัมภาษณ์ไว้ ทำให้เราง่ายที่จะติดตามหนังสือตามบุคคลที่เราสนใจ หนังสือบางเล่มก็ได้รับการแนะนำจากหลายคน เช่น Sapiens by Yuval Noah Harari, The Innovator’s Dilemma by Clayton M. Christensen เป็นต้น ถ้าหลายคนแนะนำ แสดงว่าหนังสือเล่มนั้นก็น่าจะได้รับการการันตีในระดับหนึ่งว่าต้องดีแน่ๆ

แต่คนที่อยากพูดถึงเป็นพิเศษ นั้นคือ Bill Gates ดูจะเป็นคนที่จริงจังกับการอ่านมากที่สุด เขามีบล็อกที่เขียนรีวิวถึงหนังสือที่เขาอ่านอย่างสม่ำเสมอ บางครั้งก็ทำออกมาเป็นลิสต์ให้ได้ตามอ่านกันเลย และหนังสือก็มีหลากหลายแนว จึงขอแนะนำสำหรับคนที่คิดอะไรไม่ออก และกำลังตามหาลิสต์หนังสือน่าอ่านครับ

ตามไปดูหนังสือของ Bill Gates ได้ที่ Gatesnotes.com

Book reviews by Bill Gates

เคยอ่านคำแนะนำของคนที่อ่านหนังสือเก่งๆว่า ถ้าหนังสือเล่มไหนที่เราอ่านแล้วไม่สนุก ก็อย่าพยายามอ่านมันต่อ แค่ไปหาเล่มอื่นที่ใช่กว่ามาอ่านแทน ทำแบบนี้จะทำให้เราสนุกและไม่เบื่อการอ่านเลย ซึ่งผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง

หนังสือ โลกใหม่ อ่านแล้วครับ

 

หนังสือ โลกใหม่

ชื่อหนังสือ โลกใหม่
เขียนโดย รอฮีม ปรามาท
304 หน้า พิมพ์ครั้งที่ 1 : 2554
สำนักพิมพ์ Post Book
ราคา 285 บาท

เคยอ่านหนังสือของคุณรอฮีม ปรามาท เมื่อนานมาแล้วครับ ในชื่อเรื่อง “เอกภพ สรรพสิ่ง และมนุษยชาติ” เป็นอีกเล่มที่อ่านสนุก ยอมรับว่าการเลือกหนังสือช่วงหนึ่งค่อนข้างต้องดูชื่อคนเขียนเป็นพิเศษ เพราะเคยผิดหวังกับการดูปกกับเนื้อหาที่คำนำ พอซื้อมา อ่านได้ไม่ถึง 5 หน้าก็ต้องโยนทิ้งให้ไกลตัว อย่างคำคมที่ว่า “A bad book is like a bad friend, who may kill you : หนังสือที่ไม่ดีก็เหมือนกับเพื่อนเลวๆ ซึ่งอาจสังหารคุณได้” 

ดังนั้นมีนักเขียนเพียงแค่ไม่กี่คนที่เราเลือกหยิบได้โดยไม่ต้องคิดมากนัก รอฮีม ปรามาท คือหนึ่งในนั้น ซึ่งช่วงหลังๆมีผลงานแปลเล่มหนาๆออกมาเยอะเหมือนกัน แต่ยังไม่มีโอกาสได้อ่านในอนาคตอันใกล้คงจะได้อ่าน

หนังสือ โลกใหม่  เป็นหนังสือรวมบทความเกี่ยวกับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในทุกๆ ด้าน เป็นการแปลมาจากบทความสั้นๆของนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำระดับโลก ให้อารมณ์เหมือนการอ่านบล็อกยังไงยังงั้น สั้นๆได้ใจความ ถ้าใครเอาเข้าห้องน้ำก็อ่านจบทีละเรื่องสองเรื่องได้อย่างสบาย และเนื้อหาแต่ละบทไม่ได้รายยาวให้ต้องทำความเข้าใจต้องเนื่องกัน สรุปมันก็คือบล็อกดีๆนั้นแหละ

เนื้อหามีอยู่ 9 บท 

  • อภิแนวโน้มโลก 1980 – 2010 สามสิบปีที่เปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง
  • เรามาไกลแค่ไหน / เราจะไปยังจุดใด
  • 50 ไอเดียที่จะปฏิวัติโลกและวงการวิทยาศาสตร์ไปตลอดกาล
  • 20 สุดยอดนวตกรรมแห่งปี 2010
  • รถยนต์แห่งอนาคต
  • บ้านในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง
  • อนาคตประชาธิปไตย
  • โลกาวินาศ 30 รูปแบบ
  • 12 ปรากฏการณ์พลิกโลก

มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ชอบมากในหนังสือเล่มนี้คือการกล่าวถึงการทำนายอนาคตอันใกล้ของนักวิทยาศาสตร์ในแต่ละสาขาทุกๆ 5 ปี เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 1970 แล้ว โดยเป็นการช่วยกันทำนายสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตโดยมีผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขามาช่วยกันเขียนและช่วยกันโหวต เป็นการทำนายที่ใช้หลักวิทยาศาสตร์ไม่ใช่หมอดูนั่งเดา ก่อนจะทำเป็นข้อสรุปออกมาตีพิมพ์แผยแพร่ มีทั้งที่ถูกและผิดปนกันไป ผลบางอันดูล้ำยุคกว่าที่เราคิด ซึ่งมันค่อนข้างกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นของเราพอควร และคอยลุ้นว่าในอนาคตอันใกล้เราจะได้เห็นสิ่งที่เขาทำนายไว้หรือเปล่า

เป็นหนังสืออีกเล่มที่อ่านสนุกครับ หลายคนอาจจะคิดว่าหนังสือที่ผมเขียนถึงบอกสนุกทุกอันเลยนะ ถูกต้องครับ! เพราะถ้าไม่ดี โยนทิ้งตั้งแต่ 5 หน้าแรกแล้วครับ!

คำคม หมวดการอ่าน

ได้หนังสือเกี่ยว “คำคม” จากงานสัมมนาแห่งหนึ่งมาครับ เป็นหนังสือเล่มเล็กๆ ข้างในมีคำคมหลากหลายหมวด เช่น หมวดความรู้ หมวดวิทยาศาสตร์ หมวดศิลปะ หมวดอุดมการณ์ เป็นต้น ในหนึ่งคำคมจะมีถึง 3 ภาษาให้ได้อ่านกัน ได้แก่ ไทย อังกฤษ และจีน

พอได้อ่านแล้วมันช่างเพลิดเพลินและกินใจเหลือเกิน จึงอยากเอามาแชร์ต่อให้คนอื่นได้อ่านบ้าง ในหนังสือไม่ได้อ้างถึงว่าคำคมเหล่านี้ใครเป็นคนคิดหรือพูดไว้แต่อย่างใด หรือบางทีอาจจะหาที่มาไม่ได้แล้วก็เป็นได้

ขออนุญาติคัดหมวดที่เกี่ยวกับการอ่านมาให้ได้ดูดดื่มกันก่อนครับ คัดมาเฉพาะคำคมที่ตัวเองชอบเป็นการส่วนตัวครับ

หนังสือ คำคม

หนังสือ คำคม

หนังสือคือที่ปรึกษาใกล้ตัว
Books are the advisor in hand anytime.

หนังสือและเพื่อนไม่จำเป็นต้องมีมากแต่ต้องดี
Books and friends should be few but good.

หนังสือคือขั้นบันไดแห่งความก้าวหน้าของมนุษย์
Books are a flight of stairs for the human progress.

การพิจารณาหนังสือเพียงหนึ่งหน้าย่อมดีกว่าการกวาดตาหนังสือทั้งเล่ม
Digesting a page of book carefully is beter than reading a book hurriedly.

หนังสือเก็บซ่อนจิตวิญญาณแห่งอดีต
The soul of the past times hides in the books.

หนังสือทุกเล่มมีไว้เพื่อช่วยเสริมสร้างความคิด หากไม่ได้มีไว้เพื่อแทนที่ความคิดของคุณ
All books are written for helping your idea but not for replacing your idea.

หนังสือที่ดีควรมอบประสบการณ์จำนวนมากให้แก่คุณรวมทั้งความเหนื่อยล้าเพียงเล็กน้อยเมื่ออ่านจบ เพราะคุณผ่านการใช้ชีวิตมาหลายชีวิตขณะอ่านมัน
A great book should leave you with many experiences, and slightly exhausted at the end. You live several lives while reading it.

หนังสือไม่ได้มีไว้เพื่อประดับบ้าน แต่ก็ไม่มีเครื่องประดับชิ้นไหนจะงดงามเท่าหนังสือ
Books are not made for furniture, but there is nothing else that so beautifully furnishes a house.

หนังสือคือสิ่งมหัศจรรย์ที่เก็บซ่อนจิตวิญญาณของนักเขียน เมื่อเปิดหนังสือและปลดปล่อยจิตวิญญาณนั้นออกมา เขาจะแอบสนทนากับคุณอย่างลับๆ
A book is a miracle where the author’s soul is hidden. Open the book and release this soul and it will talk with you mysteriously.

หนังสือที่ไม่ดีก็เหมือนกับเพื่อนเลวๆ ซึ่งอาจสังหารคุณได้
A bad book is like a bad friend, who may kill you.

อ่านหนังสือดีๆ ทุกวันก็เหมือนกับการใช้เปลงเพลิงขจัดความโง่ทั้งหลายออกไปทีละเล็กทีละน้อย
All stupid thing will be gradually method in the reading of good books every day as if by a fire.

วัยเยาว์อ่านหนังสือเหมือนแอบมองพระจันทร์ผ่านช่องหน้าต่าง วัยกลางคนอ่านหนังสือดั่งแหงนมองพระจันทร์ใต้ลานบ้าน วัยชราอ่านหนังสือเหมือนดั่งชมจันทร์อยู่บนหอคอย
Reading in youth is like peeping the moon through a crack; at middle age, like looking over it in a courtyard; at old age, like playing it on platform.

ครั้งแรกที่ฉันได้อ่านหนังสือ ฉันรู้สึกดั่วได้รู้จักเพื่อนใหม่ เมื่อฉันได้อ่านมันเป็นครั้งที่สอง ก็เหมือนกับได้พบเพื่อนเก่า
The first time I read a book, I felt like knowing a new friend. When I read it a second time, it is like meeting with an old friend.

คุณเรียนรู้ความรัก การหัวเราะ และการก้าวเดินจากพ่อแม่แต่เมื่อเปิดหนังสือ คุณจะพบว่าตัวเองมีปีก
From your parent you learn love and laughter and how to put one foot before the other. But when books are opened you discover that you have wings.

ผู้มากด้วยประสบการณ์จะอ่านหนังสือด้วยดวงตาทั้งสองข้าง ข้างหนึ่งมองคำพูดของบนแผ่นกระดาษ ส่วนอีกข้างเห็นความหมายที่มีอยู่ในนั้น
An experienced man reads with two eyes, one seeing the literal word, the other seeing through the back.

หนังสือบางเล่มมีไว้เพื่อลิ้มรส หนังสือบางเล่มมีไว้เพื่อกลืนกิน แต่หนังสือไม่กี่เล่มมีไว้เพื่อเคี้ยวและย่อย ซึ่งนั้นหมายถึงหนังสือบางเล่มมีไว้เพื่ออ่านเพียงบางส่วน หนังสือบางเล่มมีไว้เพื่ออ่านอย่างคร่าวๆ และแน่นอนว่าหนังสือไม่กี่เล่มมีไว้เพื่อใช้สติปัญญาและความตั้งใจในการอ่านทั้งเล่ม
Some books are to be tasted, others to be swallowed, and some few to be chewed and digested; that is, some books are to be read only in parts, others to be read, but not curiously, and some few to be read wholly, and with diligence and attention.

Exit mobile version