รีวิวหนังสือ Liquid Rules จากผู้เขียน Stuff Matters

, , Leave a comment

หนังสือ Liquid Rules: The Delightful and Dangerous Substances That Flow Through Our Lives
เขียนโดย Mark Miodownik ศาสตราจารย์ด้าน Materials and Society ที่ University College London และผู้อำนวยการสถาบัน the UCL Institute of Making ผลงานที่ผ่านมา Stuff Matters

หนังสือ Liquid Rules โดย Prof. Mark Miodownik

ก่อนหน้านี้หนังสือ Stuff Matters ของเขาค่อนข้างได้รับการตอบรับดีเยี่ยม ติดหนึ่งใน New York Times Bestseller เป็นหนังสือที่เล่าเรื่องได้อย่างสนุกสนาน ผ่านการสังเกตและหยิบวัสดุต่างๆรอบตัวเรา เช่น ช็อกโกแลต ดินสอ ช้อนส้อม มาเสนอในมุมมองทางด้านวิทยาศาสตร์และมุมมองทางด้านประวัติศาสตร์ ชวนให้คิดตาม และเรียนรู้ไปพร้อมกันๆ ได้ดีมาก

หนังสือ Stuff Matters, published 2013

Stuff Matters มีแปลไทยแล้วโดยสำนักพิมพ์ openworlds ในชื่อไทย “วัสดุนิยม: เรื่องราวชวนทึ่งของสารพันวัตถุเปลี่ยนโลก” แปลโดย ทีปกร วุฒิพิทยามงคล กีพิมพ์ปี 2560 ไปหามาอ่านได้

ส่วนเล่มใหม่นี้ Liquid Rules ตีพิมพ์ออกมาเมื่อต้นปี 2019 เพิ่งจะได้หยิบขึ้นมาอ่าน มีเนื้อหาค่อนข้างคล้ายกับ Stuff Matters ที่เล่าถึงวัสดุต่างๆรอบๆตัวทั่วไป แต่ใน Liquid Rules จะมาให้ธีมของของเหลว (Liquid) แต่ผู้เขียนใช้ลูกเล่นการเล่าเรื่องแบบ พาเราเดินทางไปกับเขาโดยนั่งเครื่องบินจากลอนดอนไปซานฟรานซีสโก และของเหลวที่ถูกหยิบขึ้นมาเล่าก็คือ ของเหลวต่างๆที่อยู่รอบๆตัวเขาบนเครื่องบิน เช่น น้ำมันเชื้อเพลิงของเครื่องบิน แอลกอฮอล์ในเครื่องดื่มที่ได้มาจากการบริการบนเครื่อง น้ำทะเลที่เห็นจากเครื่องบิน กาวชนิดต่างๆที่ใช้ในการติดสิ่งต่างๆ รวมทั้งยึดโครงสร้างของเครื่องบินที่ทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ หมึกในปากกา Liquid crystal ในจอภาพที่ดูหนัง เป็นต้น

มีบางเรื่องที่เขากล่าวถึง ถือเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยรู้มาก่อนเลย เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ถึงกับต้องไปค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเลยทีเดียว เช่น Liquid-breathe เป็นการทดลองการให้สัตว์หายใจใต้น้ำ(เหมือนปลา) แต่ของเหลวเป็น PFCs นะไม่ใช่น้ำธรรมดา การทดลองนี้ทำในหนู พบว่าหนูตัวนั้นสามารถหายใจอยู่ใต้ของเหลวดังกล่าวได้นานนับชั่วโมง และเมื่อนำกลับขึ้นมาหายใจด้วยอากาศปกติก็ทำได้เหมือนเดิม มีการทดลองในคนแล้วด้วย เป็นการทดลองที่น่าสนใจจนต้องไปค้นดูต่อเพิ่มเติม และอีกหนึ่งเรื่องคือ Liquid computer เป็นงานวิจัยที่จะเก็บข้อมูลในของเหลว เป็นอีกหนึ่งคีย์เวิร์ดที่ต้องไปหาข้อมูลต่อเช่นกัน

เป็นหนังสือที่อ่านง่ายไม่ซับซ้อน ถ้าอ่านตอนนั่งเครื่องไปไหนสักที่ราวๆ 6-7 ชั่วโมงตอนแลนดิ้งก็คงจะอ่านจบพอดี เหมือนมีคนมาเล่าเรื่องสิ่งต่างๆรอบตัวให้ฟัง เนื่องจากว่าคนเขียนตีกรอบว่าของเหลวที่จะกล่าวถึงจะสัมพันธ์กับตอนที่นั่งเครื่องบินอยู่นั้น อาจจะถือได้ว่ามีเส้นเรื่องให้เล่าชัดเจน แต่ก็ตีกรอบตัวเองด้วยเช่นกัน ทำให้ของเหลวที่พูกถึงมีจำกัด แต่ก็เข้าใจว่าคนเขียนก็ต้องการตีกรอบเนื้อหาเช่นกัน เพราะของเหลวในโลกที่น่าสนใจมีมากมายเหลือเกิน การจะเลือกอันไหนมาสักอันน่าจะทำได้ค่อนข้างลำบาก การตีกรอบไว้บนเครื่องบินเลยทำให้ง่ายขึ้น มีทั้งข้อดีและข้อเสีย

สรุปให้คะแนน 4/5
อ่านได้เพลิน และสนุก มีภาพประกอบทั้งโครงสร้างโมเลกุล และภาพประกอบการเล่าเรื่องทำให้อ่านเข้าใจได้ง่ายขึ้น

 

Leave a Reply