ไปฟังสัมมนาเกี่ยวกับการจดสิทธิบัตรที่ทางศูนย์บริการวิชาการ จุฬาฯ จัดให้นักวิจัย อาจารย์ นิสิต ได้เข้าอบรมฟรี ผมเห็นว่าน่าจะมีประโยชน์สำหรับคนทั่วไปด้วย จึงนำบันทึกมาเผยแพร่ต่อที่นี้ เผื่อจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นๆด้วย
บันทึกจากงานสัมมนา
เรื่องกระบวนการและแนวทางการจดสิทธิบัตร ผลงานวิจัยและทรัพย์สินทางปัญญา
เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2554
ณ ห้อง 304 ชั้น 3 อาคารมาจักรีสิรินธร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สิทธิบัตร
-ปัจจุบันใช้ พรบ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 บังคับใช้เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2522 ปรับปรุง พ.ศ.2535, 2542
-เป็นกฏหมายที่มีข้อตกลงร่วมระหว่างประเทศภาคี แต่การจดสิทธิบัตรที่เดียวไม่ได้คุ้มครองทุกประเทศ แต่สามาถเลือกได้ว่าจะจดสิทธิบัตรในประเทศใดบ้างและต้องปฏิบัติตามกฏหมายของประเทศนั้นๆ โดยหน่วยงานของรัฐจะอำนวยความสะดวกให้ในระดับหนึ่ง
สิทธิบัตรไทย แบ่งเป็น 3 ประเภท
- สิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์
- สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์
- อนุสิทธิบัตร (ไม่มีตรวจสอบว่าใหม่จริง)
สิทธิบัตร เป็นเหมือนทรัพย์สิน(โฉนดที่ดิน, หุ้นบริษัทฯ) สามารถโอนให้คนอื่นได้
อนุสิทธิบัตร เป็นการคุ้มครองแบบหลวมๆ ไม่มีการตรวจสอบว่าเป็นสิ่งใหม่จริง ให้ประกาศไปก่อนเพื่อความรวดเร็ว ถ้าหากใครคิดว่าตัวเองทำก่อนก็ค่อยมาฟ้องเพิกถอนสิทธิ (เป็นปัญหามาก) ในการเลือกจดสิทธิบัตรจะเลือกได้เพียงอย่างเดียวว่าจะจดสิทธิบัตร หรืออนุสิทธิบัตร
หลักการขอจดสิทธิบัตร
มีอยู่ 3 ข้อ มีอย่างใดอย่างหนึ่งก็ขอจดสิทธิบัตรได้แล้ว
- เป็นสิ่งประดิษฐ์ขึ้นใหม่(Novelty)
- มีขั้นตอนการประดิษฐ์สูงขึ้น(Inventive step)
- สามารถประยุกต์ทางอุตาหกรรม(Industrial Applicable)
งานที่ไม่สามารถจดสิทธิบัตรได้
มีจุดที่น่าสนใจอยู่คือ สิ่งต่างๆเหล่านี้เรียกว่า “‘งานที่มีอยู่แล้ว” หรือ “ไม่ใหม่” ไม่รับจดสิทธิบัตร
- มีการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ หรือแสดงผลงานในงานประชุมวิชาการแล้ว แต่มีข้อยกเว้นให้ จะต้องจดสิทธิบัตรภายใน 12 เดือนหลังทำการเผยแพร่ ถ้าเกินเวลาจากนี้แล้วจะจดสิทธิบัตรไม่ได้ เพราะถือว่าได้ประกาศโฆษณาไปแล้ว และถ้าหากยื่นขอจดสิทธิบัตรการคุ้มครองจะย้อนไปถึงวันที่เผยแพร่ผลงาน มีข้อแนะนำจากวิทยากรคือ ให้ยื่นจดสิทธิบัตรไปพร้อมกับส่งตีพิมพ์ในวารสารไปพร้อมกันเลย
- ถ้่าไปขอจดสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรที่ต่างประเทศแล้ว จะต้องจดในประเทศภายใน 18 เดือน หลังจากนี้จะจดสิทธิบัตรไม่ได้ (ถือว่าลอกผลงานตัวเอง) เช่นเดียวกันเมื่อจดสิทธิบัตรการคุ้มครองจะย้อนไปถึงวันที่ยื่นจดสิทธิบัตรที่ต่างประเทศ
การประดิษฐ์ขึ้นใหม่และขั้นตอนประดิษฐ์ที่สูงขึ้น
การประดิษฐ์เราจะเห็นตัวตนของสิ่งประดิษฐ์ชัดเจน ส่วนขั้นตอนการประดิษฐ์อาจจะมองเห็นไม่ชัดเจนนัก แต่กฏหมายก็คุ้มครองหรือสามาถจดสิทธิบัตรได้ ในกลุ่มที่มีขั้นตอนการประดิษฐ์สูงขึ้น ไม่ได้หมายถึง การใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น แต่หมายถึงการใช้วิธีแก้ปัญหาที่ดีขึ้น ง่ายขึ้น หรือเป็นการแก้ไขปัญหาเดิมด้วยวิธีใหม่ที่ดีขึ้น เช่น การทำไวน์ด้วยวิธีใหม่ การถนอมอาหารแบบใหม่ เป็นต้น
ส่วนการประดิษฐ์ที่สามารถนำมาใช้ในประโยชน์ทางอุตสาหกรรมในต่างประเทศจะมีเพียงในทางอุตสาหกรรม แต่ในประเทศไทยจะเพิ่มส่วนของ หัตถกรรม เกษตรกรรม พาณิชกรรม เข้าไปด้วย ทำเพื่อให้เหมาะสมกับวิถีีชีวิตของคนไทยมากขึ้น
การออกแบบผลิตภัณฑ์ ลวดลาย สี รูปร่าง ได้รับการคุ้มครองสามารถจดสิทธิบัตรได้
มีความแตกต่างกันระหว่างการประดิษฐ์กับการออกแบบ คือ การประดิษฐ์เป็นการคุ้มครองโครงสร้างภายในผลิตภัณฑ์ ส่วนการออกแบบเป็นการคุ้มครองโครงสร้างภายนอกของผลิตภัณฑ์
ผู้มีสิทธิในสิทธิบัตร
- ผู้ประดิษฐ์ ผู้ออกแบบ
- ผู้ที่ได้รับการโอนสิทธิ์
- นายจ้างของผู้ประดิษฐ์ หมายความว่า นายจ้างของผู้ประดิษฐ์จะเป็นคนถือสิทธิ์ แต่ถ้าสิ่งประดิษฐ์นั้นสามารถสร้างรายได้ในทางการค้าได้ ผู้ประดิษฐ์มีสิทธิรับบำเหน็จจากนายจ้างได้ตามสมควร (ถ้าไม่ได้สามารถฟ้องได้ แต่ต้องเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ก่อให้เกิดรายได้)
- ถ้ามีผู้ประดิษฐ์ร่วมหลายคน ทุกคนมีสิทธิขอรับสิทธิบัตรได้ตามสัดส่วนที่ได้ระบุไว้
สิ่งที่ไม่สามารถจดสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตรได้
- จุลชีพและส่วนประกอบ ในประเทศไทยถือว่าเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ในต่างประเทศสามารถจดสิทธิบัตรจุลชีพได้ แต่ในไทยไม่อนุญาติและไม่คุ้มครอง มีข้อยกเว้นถ้าจุลชีพนั้นมีการตัดต่อ ตกแต่งให้แตกต่างจากดั้งเดิม สามารถจดสิทธิบัตรได้
- ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์ เพื่อการพัฒนาของวิทยาการ การถือถือสิทธิบัตรผู้เดียว ถือว่าขัดต่อการพัฒนาทางด้านองค์ความรู้
- Software จะจดสิทธิบัตรไม่ได้ แต่จะเป็นกฏหมายอีกตัวคือ ลิขสิทธิ์ ซึ่งจะใช้ได้ชั่วชีวิต และต่ออีก 50 ปี หลังผู้ประดิษฐ์เสียชีวิต
- วิธีการวินิจฉัย บำบัด หรือวิธีรักษาโรคในมนุษย์หรือสัตว์ ข้อนี้ถือเป็นการให้ประโยชน์แก่ทุกคน
- การประดิษฐ์ที่ผิดต่อศิลธรรม อนามัย สวัสดิภาพของประชาชน
การจดสิทธิบัตรมีค่าธรรมเนียม
- ค่าธรรมเนียมในแต่ละประเภท(ประดิษฐ์, ออกแบบ, อนุสิทธิบัตร)มีค่าธรรมเนียมต่างกัน แต่จะแพงขึ้นเรื่อยๆในปีหลังเหมือนกัน เป็นการแสดงว่าผู้ถือครองสิทธิได้รับประโยชน์จากสิทธิบัตร
- อายุของสิทธิบัตรการประดิษฐ์มีอายุ 20 ปี, การออกแบบ มีอายุ 10 ปี ทั้งสองต่ออายุไม่ได้ ส่วนอนุสิทธิบัตรมีอายุ 6 ปี ต่ออายุได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ปี
ผลงานวิจัยกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา
การคุ้มครองงานวิจัย มีแนวทางการคุ้มครองได้ 5 ลักษณะ
- ลิขสิทธิ์ จะเป็นการคุ้มครองทันทีที่ผลิตผลงานออกมาเช่น ข้อความใน paper, รูปภาพ ฯลฯ แต่จะไม่คุ้มครองเนื้องานภายใน
- แบบผังภูมิวงจรรวม หมายถึงการออกแบบวงจรใหม่ แต่ยังใช้ IC จากคนอื่น เช่น เมื่อนำ Microchip ของ intel มาประดิษฐ์อุปกรณ์ขึ้นมาใหม่ สามารถจดสิทธิบัตรได้ซึ่งจะคุ้มครองส่วนวงจรรวมแต่ไม่ได้คุ้มครอง IC แต่ละตัวที่นำมาใช้
- ความลับทางการค้า เรียกว่าการจดแจ้ง เปิดเผยข้อมูลบ้างส่วนเท่านั้น เป็นกลุ่มของ Know How ที่เปิดเผยให้คนอื่นรู้ไม่ได้ ในการจดแจ้งจะต้องระบุวิธีการเก็บข้อมูลด้วย เช่น ให้รู้กี่คน เก็บเอกสารยังไง ถ้าไม่ปฏิบัติตามวิธีการเก็บความลับนั้น หากเกิดความลับรั่วไหลจะฟ้องดำเนินคดีไม่ได้
- การคุ้มครองพันธุ์พืช จะใช้ในงานของกระทรวงเกษตรฯ เป็นกฏหมายอีกฉบับ
- สิทธิบัตร กลุ่มที่เหมาะสมคือ กลุ่มสิ่งประดิษฐ์ที่เมื่อทำวิศวกรรมย้อนกลับแล้วรู้ว่าทำขึ้นได้อย่างไร เป็นกลุ่มที่ควรจดสิทธิบัตรไว้ เพื่อปกป้องสิทธิของตัวเอง เช่น การประดิษฐ์เครื่องยนต์ การประดิษฐ์อุปกรณ์อำนวยความสะดวก เป็นต้น
ข้อแนะนำก่อนการจดสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร
- ควรรีวิวมาก่อนว่าเคยมีการประดิษฐ์มาก่อนหรือไม่ ต้องตรวจสอบให้ด วิธีการตรวจสอบคือ การค้นหาสิทธิบัตรในประเทศต่างๆ จากแหล่งข้อมูลเหล่านี้
-ประเทศไทย https://www.ipthailand.org
-ประเทศสหรัฐอเมริกา https://www.uspto.gov
-ประเทศญี่ปุ่น https://www.jpo.go.jp
-กลุ่มประเทศยุโรป https://ep.espacenet.com - ต้องพิจารณาให้ดีว่าจะเลือกจดสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร วิเคราะห์ให้ดีว่าแบบไหนตรงกับงานที่ตัวเองประดิษฐ์
- ในสิ่งประดิษฐ์ของเราต้องระบุว่าจะคุ้มครองตรงไหนบ้าง การระบุกว้างไปก็ไม่ดี จะทำให้ระบุได้ยากว่าผู้อื่นละเมิดสิทธิบัตรของเราส่วนไหนบ้าง หากระบุแคบเกินไปก็เป็นการจำกัดสิทธิของตัวเอง ข้อนี้สามารถขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ หรือดูตัวอย่างสิทธิบัตรของคนอื่นก่อนหน้าเป็นตัวอย่างได้
- ในประเทศไทยใครยื่นก่อนมีสิทธิก่อน ต่างจากของอเมริกาจะถือว่าผู้ประดิษฐ์ก่อนคนแรกจะได้ถือครองสิทธิบัตร แต่จะมีขั้นตอนการพิสูจน์ที่ค่อนข้างยุ่งยาก ในไทยจึงตัดปัญหา ให้ใครยื่นก่อนได้ก่อน
- การเขียนรูปประกอบจะต้องเขียนตามหลักการเขียนแบบ มีเลขหมายระบุแสดงชิ้นส่วนชัดเจน (มีเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำถ้าไม่มีความรู้แต่อยากจดสิทธิบัตร)
- การระบุชื่อสิ่งประดิษฐ์จะไม่ใช้ชื่อเฉพาะ เช่น แว่นตาสุดมหัสจรรย์(ไม่รู้ว่ามหัสจรรย์ตรงไหน) การระบุชื่อจะต้องชัดเจนและสื่อความหมายชัดเจน จะยาวสั้นไม่ว่า เช่น “แว่นตาที่ขาพับเก็บได้”
- การจดสิทธิบัตรเป็นการตรจสอบความใหม่ ไม่ได้เป็นการตรวจสอบประสิทธิภาพ มีสิทธิบัตรบางอันที่ทำงานจริงได้ไม่ดี แต่เมื่อมีคนนำไปต่อยอดให้ทำงานได้ดีขึ้นเขาจะต้องขอสิทธิจากงานดั้งเดิมเสียก่อน เป็นการสนับสนุนให้คนไทยสนใจการจดสิทธิบัตรมากขึ้น?
สถานที่ขอจดสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร
ส่วนบริหารงานจดสิทธิบัตร สำนักงานสิทธิบัตร กรมทรัพย์สินทางปัญญา โทร 0-2547-4637
หรือ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกแห่ง
https://www.ipthailand.go.th/ipthailand สายด่วน 1368
ภายในจุฬาฯ มีหน่วยงานดูแลเรื่องการขอจดสิทธิบัตร ติดต่อได้ที่
สถาบันทรัพย์สินทางปัญญา แห่งจุฬาฯ อาคารเทพทวาราวดี (คณะนิติศาสตร์) ชั้น 9 หมายเลขโทรศัพท์ 0-2218-2895 https://www.ipi.chula.ac.th
บันทึกโดย พงษ์ศักดิ์ สาระภักดี
วันที่ 17 มิถุนายน 2554
sarapukdee@gmail.com
ดาวน์โหลด บันทึกการขอจดสิทธิบัตร(PDF)
Leave a Reply