หนังสือ เจาะ CERN-เซิร์น อ่านแล้ว

หนังสือ เจาะ CERN-เซิร์น

หนังสือ เจาะ CERN – เซิร์น 
ผู้เขียน ดร. บุรินทร์ อัศวพิภพ, นรพัทธ์ ศรีมโนภาษ
192 หน้า, พิมพ์ครั้งที่ 2, ราคา 199 บาท
สำนักพิมพ์ สารคดี 

เมื่อวานตอนกลับจากที่ทำงานเดินผ่านแผงขายหนังสือเก่าวางกองบนพื้นที่อนุเสาวรีย์ชัยฯ ตาแอบแว้บไปเห็นหนังสือ เจาะ CERN-เซิร์น เป็นหนังสือที่ออกมานานแล้วตั้งแต่ปี 2552 ช่วงที่ LHC กำลังเป็นที่สนใจของคนทั่วโลกรวมทั้งคนไทยด้วย เคยเห็นตามร้านหนังสือเหมือนกัน แต่ไม่ยักกะอยากซื้อราคาที่ปก 199 บาท แต่เราซื้อมาราคา 40 บาท (หนังสือเก่า) ตอนที่หนังสือออกมาใหม่ๆทำไมไม่สนใจซื้อ? จะบอกว่าตอนนั้นก็เปิดดูบ้าง และติดตามข่าวการเดินเครื่อง LHC มาตลอด เป็นอะไรที่น่าตื่นเต้น ส่วนตัวชอบเรื่องฟิสิกส์ จักรวาล อวกาศ อยู่มิน้อย แต่ตอนนั้นดูตามเว็บไซต์ต่างๆก็รู้ว่าเพียงพอแล้ว มันคือความคิดใน ณ ตอนนั้น

แต่เหตุที่สนใจซื้อหนังสือเล่มนี้(นอกจากมันถูกแล้ว)เพราะว่า เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ สวทช. มีบรรยายพิเศษโดย ศ.ดร. อัลเบิร์ต ดี รอคก์ นักวิทยาศาสตร์อาวุโส จากสถาบัน CERN และ ดร.บุรินทร์ อัศวพิภพ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ แล้วเราเองก็ได้มีโอกาสเข้าร่วมฟังการบรรยายในครั้งนั้นด้วย มีหลายอย่างที่ทำให้เรางง และสงสัยจึงเป็นตัวกระตุ้นให้อยากอ่านหนังสือเล่มนี้มากขึ้น

หนังสือพิมพ์ครั้งแรก เมื่อมีนาคม 2552 ผ่านมาแล้ว 3 ปี เนื้อหา 192 หน้า เนื้อหาก็ไม่ถือว่าเก่ามาก LHC เดินเครื่องไม่กี่ครั้งนับจากหนังสือเล่มนี้ออก

เนื้อหาเป็นแบบ Popular Science อ่านไม่ยาก เป็นการเขียนแบบตั้งคำถามแล้วตอบเป็นข้อๆ สั้นๆ เป็นหนังสือเชิงตอบคำถามสังคมว่า สร้าง LHC ทำไม? เราจะได้อะไรจากมัน? อธิบายเรื่องฟิสิกส์ยากๆโดยเปรียบเทียบกับเรื่องใกล้ตัว อ่านเพลินแป็บเดียวจบ หลังอ่านจบมีความรู้เกี่ยวกับอนุภาคพื้นฐานเพิ่มขึ้น เข้าใจสิ่งที่นักฟิสิกส์กำลังสนใจและพยายามหาตอบให้คำถามนั้น เสียดายนิดหนึ่งถ้าได้อ่านก่อนคงฟังบรรยายสนุกขึ้น อ่านหนังสือจบถึงรู้ว่า ดร.บุรินทร์ บรรยายเหมือนเนื้อหาในหนังสือเลย(ก็คนเขียนนิน่า) รวมทั้งภาพประกอบบนสไลด์ก็เหมือนที่อยู่ในหนังสือเลย

สิ่งที่อ่านแล้วน่าทึ่งในหนังสือ เจาะ CERN

  • เป็นความร่วมมือที่ยิ่งใหญ่มาก หลายประเทศร่วมมือกันอย่างแข็งขัน ผมประทับใจกับผู้โน้มน้าวให้นักวิทยาศาสตร์คนอื่นยอมลงทุนด้วยมากๆ
  • 30% ของรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ เป็นกลุ่มนักฟิสิกส์อนุภาค
  • นอกจาก LHC ขนาดเส้นรอบวง 27 กิโลเมตร CERN มีท่อส่งอนุภาคนิวติโนข้ามไปอิตาลียาว 732 กิโลเมตร ลึกลงไปใต้ดิน 11.4 กิโลเมตร
  • WWW เกิดขึ้นที่ CERN จากแนวคิดแชร์ข้อมูลจากเครื่องเร่งอนุภาคให้นักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆให้ช่วยกันวิเคราะห์
  • เครื่องสแกนสมอง PET เป็นหนึ่งในวิทยาการที่ประยุกต์มาจากเครื่องเร่งอนุภาค
  • ครั้งแรกที่ปล่อยลำอนุภาคโปรตอนเข้า LHC นักวิทยาศาสตร์ยืนลุ้นกันเป็นร้อยๆคน

    นั่งดูครั้งแรก พวกคุณดีใจอะไรกันนักหนา? ตบมือกันเกรียวกาว ต้องวนดูหลายรอบ สิ่งที่เขาลุ้นคือลำแสงที่ปล่อยเข้าไปใน LHC แบบสวนทางกัน ถ้าทำสำเร็จมันจะเกิดเป็นแสงสว่างขึ้นในจอทั้งสองด้านซ้ายในคลิปครับ ต้องตั้งใจดูนิดหนึ่ง เป็นการยิงลำแสงเข้าไปครั้งแรกหลังจากใช้เวลาสร้างนานกว่า 20 ปี ไม่ให้ดีใจหรือตื่นเต้นได้อย่างไร!
  • มีเครื่องตรวจวัดอนุภาคทั้งหมด 6 สถานี ที่ทำงานได้อย่างแม่นยำมากๆ แต่ละสถานีมีเป้าหมายและหน้าที่แตกต่างกัน ต้องนับถือคนรุ่นก่อนที่ปูทางวิธีวัดอนุภาคไว้ให้
  • อนุภาคที่ใช้คืออนุภาคโปรตอนจากไฮโดรเจน ถูกเร่งจากวงเล็กๆแล้วขยายเป็นวงที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆตามลำดับ ซึ่งพลังงานก็เพิ่มขึ้นตามลำดับเช่นกัน หน่วยเป็นอิเล็กตรอนโวลต์(eV) เริ่มจาก LINAC2(50 MeV)>>Booter(1.4 GeV)>>PS(25 GeV)>>SPS(450 GeV)>>LHC(7 TeV) ที่พลังงาน 7 TeV โปรตอนวิ่งด้วยความเร็ว 99.9999991% ของความเร็วแสงในสูญญากาศ!
  • ในประเทศไทยมีเครื่องเร่งอนุภาคที่ใช้ในงานวิจัยขนาดเล็กอยู่ 2 แห่ง คือ ที่ศูนย์ปฎิบัติการวิจัยเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนแห่งชาติ จ.นครราชสีมา และอีกเครื่องอยู่ที่ ม.เชียงใหม่
  • แต่ละลำโปรตอนที่ถูกเร่งไม่ได้มีตัวเดียวนะ ไปเป็นขบวนประมาณ 3,000 ขบวน ยิงออกไปเรื่อยๆ ห่างกันประมาณ 7 เมตร ขบวนหนึ่งมีประมาณ 1 แสนล้านตัว เมื่อสองขบวนมาชนกันจะเกิดการชนกันจริงๆแค่ประมาณ 20 คู่เท่านั้นเอง! จากทั้งหมด 1 แสนล้านคู่ รวบรัดเลยแล้วกัน สุดท้ายแล้วในหนึ่งวินาทีจะชนกันประมาณ 600 ล้านครั้ง

น่าประหลาดใจอย่างยิ่งที่เราชาวชีววิทยากำลังตื่นเต้นกับนาโนเทคโนโลยี(10^-9) แต่ชาวฟิสิกส์กำลังวิจัยในระดับอัตโต(10^-18) ซึ่งเล็กต่างกันราว 1 พันล้านเท่า คงเป็นเพราะเรามองมันเป็นโมเลกุลที่ควบคุมและสั่งงานได้ ไม่ใช่การหาว่ามีอยู่หรือไม่ ก็คงตอบกันเองว่าเราต่างกันที่จุดประสงค์ครับ การหาคำตอบหนึ่งเรื่อง ได้ความรู้จากการเก็บตามรายทางมากมายนัก หาสิ่งหนึ่งได้อีกหลายสิ่งตามมา วิทยาศาสตร์น่าทึ่งจริงๆ สนุกด้วย

เผยแพร่โดย

Amphur

Medical Technology, Biomedical Engineering, Research Assistant, Blogger : Biomed.in.th, Amphur.in.th

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Exit mobile version