หนังสือ The Handmaid’s Tale ฉบับ Graphic novel

เมื่อวานได้แนะนำหนังสือ หนังสือ To kill a mockingbird ฉบับ Graphic novel ไปแล้ว วันนี้มีอีกเล่มที่อยากแนะนำต่อ นั้นคือ The Handmaid’s Tale ฉบับ Graphic novel เหมือนกัน ดัดแปลงและวาดภาพโดย Renee Nault ตีพิมพ์เมื่อปี 2019 ภาพสีทั้งเล่มและน่าสะสมมาก

หนังสือ The Handmaid’s Tale ฉบับ Graphic novel

ทำความรู้จักกับหนังสือเล่มนี้ในเบื้องต้น
The Handmaid’s Tale เป็นนวนิยายแนวดิสโทเปีย โดย Margaret Atwood นักเขียนชาวแคนาดา ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 1985 แต่ถึงปัจจุบันก็ยังยอดเยี่ยมและเป็นที่นิยม ขอจัดอยู่ในกลุ่มหนังสือคลาสสิคแนวเดียวกับ 1984, Fahrenheit 451 ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับสังคมยุคที่ถูกกดขี่จากระบอบเผด็จการ ในหลาย ๆ สำนักถ้าจัดหนังสือหมวดดิสโทเปียที่ต้องอ่านจะต้องมีเล่มนี้ติด 1 ใน 5 แน่นอน

มาที่เนื้อหาในหนังสือ เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้หลังสงครามกลางเมืองของอเมริกา ผลคือเมืองถูกปกครองโดยระบอบเผด็จการทหารแบบเบ็ดเสร็จ และยังมีภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อมและอัตราการเกิดที่ลดลงเข้ามาเสริมด้วย เผด็จการทหารได้บังคับใช้บทบาททางสังคมที่เข้มงวดและคลั่งศาสนาสุด ๆ ใช้ระบบที่มีผู้ชายเป็นใหญ่ ส่วนผู้หญิงถูกกดขึ่และถูกบังคับให้ทำงานในบทบาทที่จำกัด แต่ละกลุ่มมีหน้าที่แตกต่างกัน มีชุดที่สวมใส่ที่แตกต่างกันด้วย ผู้หญิงบางกลุ่มที่ถูกเรียกว่า “Handmaid; สาวใช้” จะถูกบังคับให้ทำหน้าที่ผลิตเด็ก เพื่อเพิ่มประชากรป้องกันการสูญพันธ์ุ(โดยเฉพาะเผ่าพันธุ์ของคนระดับสูง) สาวใช้จะไม่อนุญาติให้มีทรัพย์สินหรือแม้แต่ชื่อตัวเอง แต่จะถูกเรียกว่า เป็นของใคร (Of-) เช่น ออฟเฟรด (Of-fred หมายถึง เธอเป็นของผู้บัญชาการชื่อเฟรด) ตัวเอกของเรื่องก็เป็นหนึ่งในคนใช้ มีหน้าที่ต้องผลิตลูกให้กับผู้บัญชาการคนหนึ่งของกลุ่มเผด็จการทหาร

ชีวิตของกลุ่มสาวใช้จะต้องอยู่ในเขตกักกัน พวกเธอจะออกไปทำหน้าที่ตามบ้านของเจ้าหน้าที่ระดับสูงตามเวลาที่กำหนด มีหลาย ๆ ฉากของการทำหน้าที่ของเธอ ที่อ่านแล้วสะเทือนใจอย่างมาก เช่น ขั้นตอนการทำหน้าที่ผสมพันธุ์ที่ทำเหมือนเป็นหนึ่งในพิธีกรรม ต้องมีภรรยาของผู้ชายผู้กระทำอยู่ในขั้นตอนนั้นด้วย ถูกปฏิบัติเหมือนเครื่องจักรผลิตเด็ก ส่วนใครที่พยายามหลบหนีจะถูกทำโทษอย่างรุนแรงต่อหน้าคนใช้คนอื่น ๆ แต่หลายคนก็ไม่ยอมจำนนและพยายามที่จะหลบหนีให้ได้

ปัจจุบัน The Handmaid’s Tale มีฉบับซี่รี่ย์ให้ได้ชมแล้ว สร้างตั้งแต่ปี 2017 ตอนนี้มี 4 ซีซั่นแล้ว (ยังไม่ได้ดูเหมือนกัน)

ฉบับ Graphic novel ที่เห็นอยู่นี้ ดัดแปลงและวาดภาพโดย Renee Nault ทำออกมาได้ดีมาก อ่านง่าย ภาพสวยมีสไตล์เฉพาะตัว แต่ฉากความรุนแรงนั้นไม่ได้ลดลงเลย (เห็นเป็นภาพสีสวยก็จริง แต่ไม่เหมาะกับเด็กเล็กนะ)

ขอแนะนำสำหรับคนที่อยากซื้อเก็บสะสมในหมวดหนังสือที่ต้องอ่านครับ

รายละเอียดหนังสือ The Handmaid’s Tale ฉบับ Graphic novel
ราคา 16 ยูโร สั่งมาจาก Amazon.de
Publisher ‏ : ‎ Nan A. Talese; Illustrated edition (26 Mar. 2019)
Language ‏ : ‎ English
Hardcover ‏ : ‎ 240 pages
Dimensions ‏ : ‎ 16.69 x 2.26 x 24.18 cm

หนังสือ To kill a mockingbird ฉบับ Graphic novel

มีเรื่องราวข้อพิพาทที่รุนแรงเกิดขึ้นระหว่างคนผิวสีกับคนขาว มีทนายความคนหนึ่งได้เข้ามาว่าความให้คนผิวสี เนื้อเรื่องค่อนข้างซีเรียสแต่เรื่องราวถูกเล่าเรื่องผ่านกลุ่มเด็ก ๆ ลูกของเขาที่การมองโลกเป็นไปแบบซื่อ ๆ และตรงไปตรงมา ดังนั้นสิ่งที่เด็ก ๆ พบเห็นในเรื่อง มันแสดงให้พวกเขาเห็นถึงสิ่งที่พวกผู้ใหญ่ทำไม่มีความถูกต้องเป็นอย่างมาก และมันก็สะท้อนกลับไปที่ตัวของเด็กเองว่าเมื่อพวกเขาโตไปจะไม่ทำอะไรแบบผู้ใหญ่ทำกัน และส่วนสำคัญของหนังสือเล่มนี้ คือทนายความได้สอนวิธีการมองโลกและการใช้ชีวิตในสังคมให้กับลูก ๆ ของเขาได้ดีมาก ๆ

หนังสือเล่มถูกตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1960 และถูกแนะนำให้เป็นหนึ่งในหนังสืออ่านนอกเวลาของเด็กอเมริกัน ซึ่งเป็นความพยายามสร้างค่านิยมการไม่เหยียดความเป็นมนุษย์ของคนอื่น และเรียนรู้ที่จะอยู่ด้วยกันอย่างเห็นอกเห็นใจ
แม้ว่าการเหยียดกันในสังคมปัจจุบันยังคงมีอยู่ แต่ถ้าคนในยุคนั้นบอกว่าในอนาคตจะมีประธานาธิบดีของอเมริกาเป็นคนผิวสีคงไม่มีใครเชื่อแน่ ๆ เพราะคุณค่าของคนผิวสีในยุคนั้นมันถูกมองว่าต่ำมาก ๆ อย่างไรก็ตามไม่มากก็น้อยหนังสือเล่มนี้มีส่วนในการผลักดันค่านิยมการยอมรับผู้อื่นอย่างเป็นธรรมให้ดีขึ้นอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอย่างแน่นอน

หนังสือ To kill a mockingbird ฉบับ Graphic novel

ในปีที่แล้วได้อ่านหนังสือเล่มนี้และก็จัดให้เป็นหนึ่งในหนังสือที่ชอบในปี 2021 อีกด้วย ส่วนอันที่ได้มานี้คือฉบับ Graphic novel ดัดแปลงและวาดโดย Fred Fordham ทำออกมาตั้งแต่ปี 2018 รีวิวสั้น ๆ ว่าภาพสวยและเนื้อหาครบถ้วนดีมาก
ตอนที่อ่านฉบับหนังสือธรรมดาเราก็จะพยายามจินตนาการตามตัวอักษร ถึงสภาพแวดล้อม ผู้คน หรือการแต่งตัวของคนอเมริกันในยุคนั้น แต่ว่าเราไม่ใช่คนพื้นถิ่น บางครั้งจึงนึกภาพตามได้ลำบาก ฉบับสมุดภาพทำออกมาให้ได้เห็นสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้น ทำให้เห็นภาพชัดเจนและง่ายมากยิ่งขึ้น ดังนั้นการมีอีกฉบับเก็บไว้และนำมาเปิดอ่านอีกครั้งน่าจะดีไม่น้อย

และสุดท้ายขอแนะนำสำหรับใครที่ไม่ชอบอ่านหนังสือที่มีแต่ตัวหนังสือ อ่านแบบเป็นภาพประกอบก็ได้ เพราะนี้เป็นหนังสืออีกเล่มที่ควรค่าที่จะได้อ่านจริง ๆ

รายละเอียดหนังสือ To kill a mockingbird ฉบับ Graphic novel
ราคา 15 ยูโร สั่งมาจาก Amazon.de
Publisher ‏ : ‎ William Heinemann; 1st edition (30 Oct. 2018)
Language ‏ : ‎ English
Hardcover ‏ : ‎ 288 pages
Dimensions ‏ : ‎ 17.1 x 3.1 x 24.2 cm

The Handmaid’s Tale, a TV show is based on the book

The Handmaid’s Tale

The Handmaid’s Tale is Margaret Atwood’s dystopian novel published in 1985. The book was adapted as a television series on the streaming service Hulu, but we can now watch it on HBO GO.

It is one of the most dramatic and serious novels (for me). The plot is set in New England in the near future. It seems that after they lost a war, the country was under control by a strongly patriarchal and dictatorial government.

A handmaid is a woman from that country who is forced to “produce” children for commanders or leaders. You will see the book explain “the ceremony”, a highly ritualized sexual act where the husband is having sex with a handmaid while his wife is there to manage that ceremony.

The handmaids are restricted from freedom. Their accommodation is like a concentration camp. The government treats handmaids like an animal with only one purpose: to produce children for them.

The novel reflects the raw nature of human beings but acts like they have a noble culture (eventually are not). When I knew they were making a TV series, I couldn’t even watch a trailer (hopefully one day I can do that).

I also have some content about HBO series please check.

The quotes from “The White Tiger” Book and Movie

Servitude is so strong that you can put the key of his emancipation in a man’s hands, and he will throw it back at you with a curse.
― Aravind Adiga, The White Tiger

ตีความได้ว่า “ในสภาวะจำยอม (ระบบทาสในประเทศนี้) มันช่างแข็งแกร่งเหลือเกิน ถึงคุณจะเอากุญแจแห่งการปลดปล่อยใส่มือให้ทาส เขาก็จะโยนมันกลับมาพร้อมกับสาปส่งคนที่ยื่นมันให้กับเขา”

พวกทาสจินตนาการชีวิตที่ไร้นายไม่ออก เขาหวาดกลัวที่จะอยู่อย่างอิสระ แม้ว่าจะถูกกดขี่และเหยียบย่ำความเป็นมนุษย์มากน้อยเพียงใด ทาสก็อยากรับใช้นายของตัวเองตลอดไป บางครั้งเมื่อนายมีน้ำใจกับทาสเพียงเล็กน้อย แต่มันกลับดูยิ่งใหญ่เหลือเกินสำหรับพวกเขา

ทำไมเหมือนประเทศแถวนี้เหลือเกิน?

THE WHITE TIGER – Adarsh Gourav (Balram), ​Priyanka Chopra Jonas (Pinky), Rajkummar Rao ​ ​(Ashok) ​in ​THE WHITE TIGER​. Cr. ​SINGH TEJINDER / Netflix ​© ​2020

Biological races in Human หรือ Human subspecies ถือเป็น pseudoscientific

มนุษย์เผ่าพันธุ์คอเคเซียน ได้แก่ คนยุโรป ผิวขาว …มองโกเลียน เผ่าพันธุ๋คนจีน …อะไรพวกนี้ เคยเรียนและท่องเพื่อไปสอบกันไหม? ปัจจุบันยังเรียนอยู่ไหมนะ?

Portrait of Blumenbach BMJ. 2007 Dec 22; 335(7633): 1308–1309.

ลุงผู้เป็นต้นคิด คือ Johann Friedrich Blumenbach หมอชาวเยอรมัน (1752-1840) ให้กำเนิดแนวคิดการจำแนกเผ่าพันธุ์ของมนุษย์
โดยใช้หลักสำคัญ คือ ถิ่นฐานและลักษณะร่างกาย(สีผิว สีผม ลักษณะกระโหลกศีรษะ) ซึ่งเขาแบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่

  • คอเคเซียน
  • มองโกเลียน
  • เอธิโอเปียน
  • อเมริกัน
  • และมาเลย์
ภาพกระโหลกของเผ่าพันธุ์ต่างๆโดย Blumenbach: Blumenbach’s Racial Geometry: Isis, 1998,89:498-50

เป็นการพยายามจำแนกที่มีคติและมีความผิดพลาดหลายอย่าง อ่านบทความรายละเอียดเกี่ยวกับความผิดพลาดนี้ได้จาก: The beautiful skull and Blumenbach’s errors: the birth of the scientific concept of race https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2151154/

การแยกมนุษย์ดัวยวัฒธรรม สังคม พอจะทำได้ แต่ในปัจจุบัน Biological races in Human หรือ Human subspecies การจำแนกเผ่าพันธุ์มนุษย์ตามหลักชีววิทยานั้นทำไม่ได้ และถือเป็น pseudoscientific ถ้ายังมีในตำราเรียนก็ควรถอดออก

เพิ่มเติม Biological Races in Humans https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3737365/

via: How to Argue With a Racist: What Our Genes Do (and Don’t) Say About Human Difference by Adam Rutherford

เขียนถึง (วิเคราะห์) Sony Pictures ถูกแฮคครั้งใหญ่

Sony Pictures hack

เรียกว่าวิเคราะห์ก็เขินเกินไปที่จะเขียนแบบนั้น ไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องคอมพิวเตอร์ขนาดนั้น เลยใช้คำว่า “เขียนถึง” ก็พอแล้วกัน ข่าววงการไอทีที่ได้รับความสนใจอย่างมากในช่วงนี้คือ ข่าวบริษัท Sony Pictures ถูกแฮคคอมพิวเตอร์ทั้งระบบ เรียกได้ว่าถูกเจาะทะลุปรุโปร่ง อีเมล ระบบงาน ไฟล์หนังสมบูรณ์ที่ยังไม่ได้ฉาย บทภาพยนต์ เอกสารเจรจาธุรกิจ ข้อมูลพนักงาน เอกสารลับในบริษัท และอื่นๆอีกมากมาย เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่สำคัญและน่าติดตาม จึงอยากจะบันทึกเรื่องต่างๆในมุมมองของตัวเองเก็บไว้

มีข่าวหลายที่ตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง

https://www.engadget.com/2014/12/10/sony-pictures-hack-the-whole-story/ 

https://www.bbc.com/news/technology-30530361

https://www.blognone.com/topics/sony-pictures (ภาษาไทย)

มีหลายสำนักโยงเรื่องการแฮคครั้งใหญ่นี้กับเกาหลีเหนือ ต้นเรื่องมาจากการทำหนังเรื่อง The Interview หนังตลกเกี่ยวกับการลอบสังหารผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ Kim Jong-un และการถูกขู่ให้ระงับการฉายหนังเรื่องนี้ก่อนที่เหตุการณ์การถูกแฮคจะเกิดขึ้น ยิ่งทำให้คนเชื่อว่ามีความเชื่อมโยงกัน แม้ว่าเกาหลีเหนือจะออกมาปฎิเสธแบบกรายๆว่าไม่ใช่ แต่จากการสืบสวนมีหลายอย่างที่มุงไปที่เกาหลีเหนือเป็นส่วนใหญ่ เรื่องนี้ไม่มีทีท่าว่าจบลงได้โดยง่าย แฮคเกอร์ยังมีข้อมูลหลายอย่างที่จะนำมาเผยแพร่ต่ออยู่อีกเรื่อยๆ

นามแฝงของแฮคเกอร์ #GOP

สิ่งที่พอจะมีความคิดเห็นกับเรื่องนี้ มีดังนี้

  1. ถ้าหากเป็นเกาหลีเหนือที่ทำจริง แสดงว่าเขามีทีมผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ที่แข่งแกร่งมาก พร้อมจะทำสงครามไซเบอร์กับใครก็ได้ ที่บอกว่าพร้อมจะโจมตีใครก็ได้เพราะดูจากการเลือกเป้าหมายที่โจมตีก่อน ไม่ใช่การเจอช่องโหว่ของระบบได้ด้วยความบังเอิญ หากแต่เป็นการมุ่งโจมตีเป้าหมายที่ต้องการจะโจมตี “ถ้าคุณยังยืนยันจะทำหนังล้อเลียนผู้นำของเราคุณจะถูกโจมตี” ในยุคที่ทุกอย่างแทบจะอยู่ในคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตหมดแล้ว ทำให้การโจมตีมาจากที่ไหนก็ได้ กลายเป็นว่าเกาหลีเหนือมีกองทัพไซเบอร์ที่น่ากลัวมาก
  2. โรงหนังของดฉายหนังเรื่อง The Interviews เพราะไม่อยากเป็นเป้าโจมตี ทำให้รู้สึกว่าเราอยู่ในยุคที่การโจมตี ไม่ใช่มาจากการโจมตีทางการทหารอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว การโจมตีทางไซเบอร์ทำความเสียหายให้กับเป้าหมายอย่างสูงมาก ในขณะที่ใช้กำลังพล กำลังทรัพย์น้อยกว่ามาก และการโจมตีเป้าหมายในระยะไกลคนละซีกโลกได้โดยง่าย
  3. ประเทศเรามีการพัฒนาหรือพร้อมกับเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน เท่าที่รู้เราไม่น่าจะมีกองกำลังที่จะโจมตีใครได้หรือจะดูแลตัวเองได้เลยด้วยซ้ำ ประเทศเราก็พึ่งพาคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตอยู่ไม่น้อย ทะเบียนราช ชื่อ-ที่อยู่ของทุกคนในประเทศ ระบบภาษี ธนาคาร งานบริการอื่นๆอีกมากมาย ระบบความปลอดภัยของเราพร้อมมากน้อยแค่ไหน เป็นอีกเรื่องที่น่าให้ความสนใจเป็นอย่างมาก
  4. ถ้าหากการแฮคครั้งใหญ่นี้เกิดจากช่องโหว่ในระบบที่มีการแจ้งเตือนก่อนหน้านี้แล้ว แต่ถูกเพิกเฉย เมื่อแฮคเกอร์ใช้ช่องโหว่นั้นแฮคได้สำเร็จ ได้ข้อมูลต่างๆไปมากมาย จากนั้นแค่นำเรื่องของเกาหลีเหนือมาเป็นข้ออ้างในการกระทำครั้งนี้ “Some Men Just Want to Watch the World Burn” ก็เป็นคราวซวยของ Sony Pictures ที่ฝ่ายไอทีเพิกเฉยกับเรื่องที่สำคัญเช่นนั้น แต่อย่างไรก็ตามผู้กระทำให้ผู้อื่นเสียหายดังกล่าวก็ควรได้รับการลงโทษตามกฏหมาย

เรื่องที่พอจะคิดออกและอยากเขียนถึงก็มีเพียงเท่านี้ ตอนแรกแค่อยากจะเขียนลงทวิตเตอร์แต่เขียนไปเขียนมามันเริ่มยาวเกินไปจึงนำมาเขียนในบล็อกเก็บไว้เลยดีกว่า ถ้ามีประเด็นไหนที่คิดออกอีกจะนำมาเขียนต่ออีกทีครับ

วิ่งมาราธอนครั้งแรกของฉัน 42.195 กิโลเมตร ที่ทั้งเหนื่อย เจ็บ สุข ปนๆกัน

ขอบคุณรูปสวยๆ โดย เฮียไช้ จาก forrunnersmag.com

บันทึกไว้เตือนความจำตัวเอง อาจจะสับสน เรียบเรียงไม่ดีนัก นึกอะไรได้ก็บันทึกลงไป

หลังวิ่งจบมาราธอน

หลังจากจบการวิ่งมาราธอนครั้งแรกของชีวิต ระยะทาง 42.195 กิโลเมตร (ความจริงระยะจริงที่วิ่งมันวัดได้ประมาณ 43 กิโลเมตร) ในงานพัทยามาราธอน เมื่อวันอาทิตย์ ที่ 27 กรกฎาคม 2557 ที่ผ่านมา จบด้วยเวลา 4:41:47 ชั่วโมง ก็ตามเป้าหมายที่คิดว่าครั้งแรกอยากทำเวลาให้ได้ต่ำกว่า 5 ชั่วโมง หลังจากวิ่งเสร็จและกลับมากรุงเทพฯอาการเจ็บต้นขาบ้าง ทะเลาะกับบันไดอยู่ราวสองวันก็กลับมาเดินได้ปกติ อยากบันทึกถึงเพราะมันเป็นครั้งแรกที่วิ่งได้นานและไกลขนาดนั้น ในชีวิตไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าจะวิ่งได้ไกลขนาดนั้น และมีหลายคนบอกว่าวิ่งมาราธอนจะทำให้ชีวิตเราเปลี่ยนไป “ถ้าอยากเปลี่ยนชีวิตก็ให้มาวิ่งมาราธอน” นั่งคิดนอนคิดมาตลอดหลังจากนั้นว่าชีวิตเราเปลี่ยนไปหรือป่าวว่ะ? นั้นนะสิ เปลี่ยนไปไหมว่ะ? คำตอบคือ “ไม่” ก่อนกับหลังเข้าเส้นชัย ไม่มีอะไรเปลี่ยนไปเลย เรารู้สึกเฉยๆเมื่อเท้าก้าวผ่านเส้นชัยมา แปลกใจตัวเองมากที่ไม่รู้สึกเลยว่าได้ทำอะไรที่ยิ่งใหญ่มากๆได้สำเร็จ ส่วนหนึ่งคงเพราะเราค่อนข้างมั่นใจว่าตัวเองจะวิ่งจบและต้องทัน 6 ชั่วโมง ตามที่กติกาการแข่งขันบอกไว้

แต่ก่อนจะปลักใจเชื่อว่าตัวเองไม่มีอะไรเปลี่ยนไปเลยนั้น ลองดูว่ากว่าจะถึงจุดนี้ได้ผ่านอะไรมาบ้าง ค่อยๆดูไปว่าจริงไหมที่ไม่มีอะไรเปลี่ยนไปเลย อย่างหนึ่งที่ทำให้ประหลาดใจกับตัวเองอย่างมาก คือการได้นั่งดูคนอื่นเข้าเส้นชัยครับ เป็นอะไรที่สร้างความอิ่มใจได้อย่างไม่น่าเชื่อ เราเห็นแต่ละคนที่พยายามจะลากตัวเองให้เข้าเส้นชัยให้ได้ ร่างกายที่วิ่งมาแล้วกว่า 42 กิโลเมตรมันบอกให้หยุด แต่ใจบอกให้ไปต่อ บางคนดูอ่อนล้ามากๆ แต่พอใกล้ถึงเส้นชัย ไม่รู้เรี่ยวแรงมากจากไหน ฮึดขึ้นมาวิ่งเร็วกว่าระยะที่ผ่านมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ อดไม่ได้ที่ต้องปรบมือตอนรับให้กำลังใจคนที่กำลังจะเข้าเส้นชัย นาทีที่เพื่อนร่วมทริปวิ่งเข้ามา เราดีใจมาก วิ่งไปรับตอนนั้น คือ ดีใจกว่าตอนที่ตัวเองเข้าเส้นชัยเสียอีกครับ ถ้าการวิ่งครั้งนี้ไปคนเดียวอย่างที่ตั้งใจครั้งแรก คงไม่ได้มีช่วงเวลาดีๆแบบนี้แน่นอน ซ้อมมาด้วยกันและจบรายการเดียวกันเป็นอะไรที่คุยกันได้อีกหลายวันเลยครับ

ระหว่างวิ่งมาราธอน

ที่พัทยามาราธอนปล่อยตัวที่เวลา 3:45 น. ที่จุดปล่อยตัว เพื่อนๆนักวิ่งดูตื่นตัวกันมาก ระยะ 42.195 กิโลเมตร กลุ่มเรามี 3 คน น่าจะเป็นกลุ่มที่หน้าใหม่สุดแล้วกับการวิ่งมายังไม่ถึง 7 เดือนด้วยซ้ำไป แต่ลงวิ่งระยะไกลสุดของรายการ วิ่งตอนเข้ามืดดูจะไม่เหนื่อยเท่าวิ่งตอนกลางวันหรือตอนเย็น ระหว่างวิ่งไปพูดคุยกับเพื่อนร่วมทางเป็นระยะ บางคนวิ่งไปฟังเพลงเสียงดัง ร้องเพลงไปด้วย บ่งบอกได้ว่าวิ่งมานานระบบการหายใจดีมาก ไม่งั้นไม่สามารถร้องเพลงตอนวิ่งได้แน่นอน สำหรับเราแค่คุยยังทำได้ยากเลย ช่วงฮาฟมาราธอนเราทำเวลาได้ค่อนข้างดี คือรักษา Pace ประมาณ 6 นาที/KM ไว้ได้ แต่พอผ่านระยะ 30 กิโลเมตร ขาเริ่มไม่ไหวแล้ว น้ำแข็งกับฟองน้ำที่อยู่ตามจุดบริการข้างทางช่วยได้เยอะ แล้วเหมือนขาจะเป็นตะคริวเอาตอนกิโลเมตรที่ 39 หยุดยืนอยู่เกือบ 2 นาที ทั้งเพื่อนร่วมทางและเจ้าหน้าที่เขามาดูใหญ่เลยว่าเราเป็นอะไร แต่พอได้ยืนพักสักครู่ก็วิ่งช้าๆสลับเดินจนเข้าเส้นชัยได้ พัทยามาราธอนถือว่าเป็นรายการที่ค่อนข้างหินทีเดียวจากที่ฟังมาจากผู้มีประสบการณ์ เพราะมีเนินเยอะ วิ่งขึ้นเนินตอนระยะกิโลเมตรที่ 40 มันสุดโหดจริงๆ แต่ไม่มีสักแว้ปเลยนะที่เราคิดจะหยุดวิ่ง ในหัวมีแต่ต้องวิ่งให้จบให้ได้

ก่อนวิ่งมาราธอน

ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้จะเล่าว่าทำไมต้องเริ่มเรื่องเป็นตอนที่วิ่งจบ->ระหว่างวิ่ง->ก่อนวิ่ง เพราะอยากจะบอกว่ากว่าจะไปถึงตรงจุดนั้นได้ มันมีหลายอย่างที่เกิดขึ้นก่อนมากมายหลายอย่าง นับถอยหลังไปเมื่อ 7 เดือนที่แล้ว เมื่อปลายปี 2556 ที่ทำงานมีกิจกรรมให้พนักงานออกมาวิ่งกัน มีกิจกรรมให้คะแนนเป็นกลุ่ม มีตัวคูณเป็นกำลังใจหากใครน้ำหนักหรืออายุเยอะ เป็นเหมือนกิจกรรมที่โดนบังคับนิดๆให้ออกไปวิ่ง ตอนนั้นรองเท้าวิ่งยังไม่มีด้วยซ้ำ กิจกรรมนั้นทำให้เรารู้ว่าตัวเองวิ่งต่อเนื่องได้สั้นมากๆคือไม่ถึง 1 กิโลเมตร ก็หอบ จุกท้อง หายใจไม่ทันแล้ว ทั้งๆที่ปกติเป็นคนชอบเล่นกีฬาอยู่แล้ว แต่ห่างหายไปนานมากเพราะข้ออ้างไม่มีเวลา ไม่มีเพื่อน ไม่มีที่เล่น และในกิจกรมเดียวกันนี้เราได้เห็นเพื่อนที่ทำงานด้วยกันวิ่งน๊อครอบเราได้อย่างสบาย (เจ็บใจชะมัด)

ครั้งนั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่เรากับพี่ๆที่ทำงานตัดสินใจชวนกันไปซื้อรองเท้าวิ่งมาใส่กัน ซึ่งเป็นรองเท้าที่แพงที่สุดในชีวิตที่เคยซื้อเลย แล้วก็ออกมาซ้อมวิ่งกัน พอซื้อมาแล้วก็ต้องวิ่งให้คุ้ม เมื่อวิ่งไปก็อยากเก็บสถิติไว้ด้วยก็ติดตั้งแอพพลิเคชั่นที่บันทึกการวิ่งและเส้นทางในการวิ่ง พวกเราเลือก Nike+Running ซึ่งต้องบอกว่าทำให้การวิ่งสนุกขึ้นมาก แอพพลิเคชั่นสามารถเก็บสถิติของเราได้แล้ว ยังเห็นสถิติของเพื่อนๆด้วย สามารถตั้ง Challenge แข่งกันใครวิ่งสะสมได้มากกว่า การมีเพื่อนชวนกันไปวิ่งเป็นแรงจูงใจที่ดีมากๆ การได้ชนะสถิติเดิมของตัวเองได้เป็นความสุขในการวิ่งอย่างหนึ่ง เช่น วิ่งได้ไกลขึ้น วิ่งได้เร็วขึ้น วิ่งได้บ่อยมากขึ้นในหนึ่งสัปดาห์ ทำให้เราอยากจะชนะตัวเราเอง อยากเพิ่มศักยภาพของตัวเองขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วก็เปลี่ยนเป็นการเสพติดการวิ่งไปเลย นอกจากนี้เรียกว่าหาข้อมูล ความรู้เกี่ยวกับการวิ่งเยอะมากตารางการซ้อมที่ดี การวางเท้า อุปกรณ์ การยืดเหยียด ฯลฯ กลายเป็นอีกเรื่องที่สำคัญที่ต้องในความสนใจเป็นพิเศษไปเลย

เมื่อซ้อมวิ่งแล้ว ก็เริ่มอยากลองลงสนามแข่งดู ไม่ได้หวังอะไรมาก อยากรู้ว่าจะวิ่งครบตามระยะการแข่งขันได้ไหม ซึ่งในกรุงเทพฯมีรายการวิ่งเพื่อการกุศลให้เลือกลงกันแทบจะทุกเดือน ส่วนใหญ่เป็นระยะมินิมาราธอน 10.5 กิโลเมตร นานๆจะมีฮาร์ฟมาราธอน 21 กิโลเมตรมาบ้าง ส่วนมาราธอน 42 กิโลเมตร มีแค่ไม่กี่ครั้งต่อปีและส่วนใหญ่ก็อยู่ต่างจังหวัดด้วย กลายเป็นว่าระยะหลังๆเราลงวิ่งในรายการต่างๆแทบจะทุกเดือนบางครั้งหลายรายการในหนึ่งเดือน แต่ละรายการก็จะมีเส้นทางที่แตกต่างกัน มีเหรียญสำหรับผู้เข้าเส้นชัยที่สวยแตกต่างกันตามโอกาสต่างๆ มีเสื้อที่ออกแบบมาเฉพาะ บางงานมีบันทึกสถิติของผู้เข้าแข่งขันลงฐานข้อมูลในเว็บไซต์ บางงานมีใบประกาศให้ด้วย การวิ่งจึงกลายเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งของพวกเรา งานเยอะมากน้อยก็พยายามจัดสรรเวลาออกไปซ้อมวิ่งกัน ระยะมินิมาราธอนกลายเป็นเรื่องธรรมดาของพวกเราแล้ว ในระยะ 10 กิโลเมตร วิ่งโดยไม่หยุดพักได้ ซึ่งมันต่างกับเมื่อปีที่แล้วอย่างคนละขั่วเลย เรารู้ว่าร่างกายเราแข็งแรงขึ้น ปกติเป็นคนไม่อ้วนอยู่แล้ว แต่วิ่งก็ไม่ได้ทำให้น้ำหนักลงไปอีกนะ เคยอยู่เท่าไหร่ก็เท่านั้น ทั้งๆที่คิดว่าตัวเองกินเยอะและบ่อยขึ้นด้วยซ้ำ

ต่อไปก็พยายามจะเพิ่มระยะขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งความเร็วให้ดีขึ้นเรื่อยๆด้วย ตอนนี้คนรอบข้างก็เริ่มมาวิ่งด้วยมากขึ้นเรื่อยๆเหมือนโรคติดต่อ แต่เป็นโรคที่ดีนะ

สรุปจบว่า สำหรับการวิ่งมาราธอนครั้งแรกการเตรียมตัวอาจจะยังไม่ดีเท่าไหร่นัก แต่ได้ประสบการณ์ที่น่าเหลือเชื่อจริงๆ ทั้งเหนื่อย เจ็บ สุข ปนๆกัน แต่ประสบการณ์ที่ผ่านมาจนถึงวันนั้นสำคัญกว่ามาก อย่างที่พี่ที่เรานับถือท่านหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า “วิ่งมาราธอนไม่ได้เริ่มที่จุดสตาร์ท แต่เริ่มตั้งแต่ตอนที่เราคิดจะวิ่งแล้ว” เชื่อแล้วว่ามันเป็นดังนั้นจริงๆ

…ออกมาวิ่งด้วยกันครับ

การเลือกตั้ง 54 เลือกใครดี?

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

การเลือกตั้ง 54 ค่อนข้างได้รับความสนใจสูง เพราะถือเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังจากผ่านวิกฤตทางการเมืองหลายเหตุการณ์ การเลือกตั้งล่วงหน้าทั้งแบบในเขตและนอกเขตในวันที่ 26 มิถุนายน 2554 ที่ผ่านมา มีคนใช้สิทธิ์เพียงแค่ 55.65% ของคนทั้งหมดที่ลงทะเบียนล่วงหน้าไว้ น่าแปลกไหมว่าทำไมคนที่สนใจต้องการใช้สิทธิ์เลือกตั้งของตัวเองจนสละเวลาไปเดินเรื่องขอลงทะเบียนล่วงหน้าไว้ แต่กลับมีจำนวนที่ใช้สิทธิ์น้อยเพียงนั้น ตามที่ฟังจากข่าว ส่วนใหญ่ไปไม่ทัน 15.00 น. เวลาปิดหีบ ผมว่าอันนี้เป็นปัญหาที่ กกต. ต้องนำไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไขในการเลือกตั้งครั้งหน้า ถ้าอยากให้มีเปอร์เซ็นต์ของคนใช้สิทธิ์มากขึ้น

มีอีกเรื่องของกฏหมายที่ไม่ค่อยเข้าใจ คือ คนที่ลงทะเบียนใช้สิทธิ์ล่วงหน้าในวันที่ 26 มิถุนายน 2554 แต่หากว่าไม่ไปลงคะแนน ยังสามารถไปลงคะแนนได้อีกครั้งในวันที่ 3 กรกฏาคม 2554 ได้อีกครั้งในกรณีที่ขอลงคะแนนล่วงหน้าในเขตของตัวเอง(ตามทะเบียนบ้าน) แต่ถ้าขอลงคะแนนนอกเขตไว้ถือว่าหมดสิทธิ์ลงคะแนนไปแล้ว ต้องไปทำหนังสือชี้แจ้งเองถ้าไม่ต้องการเสียสิทธิทางการเมืองจากการไม่ไปเลือกตั้ง แต่ถ้าเราคิดแบบบ้านๆคือในเมื่อคนที่ขอลงคะแนนล่วงหน้าในเขตยังเลือกได้อีกครั้งในวันเลือกตั้งจริง แต่คนที่ลงทะเบียนล่วงหน้านอกเขตถึงหมดสิทธิ์เลือกแล้ว! หรือจะให้ใช้สิทธิ์ในเขตที่ขอลงทะเบียนไว้ก็ยังดี อันนี้ไม่เข้าใจว่าทำไมทำไม่ได้ ทั้งๆที่มันควรจะทำได้และควรจะอำนวยความสะดวกให้เต็มที! (ไม่ต้องยกข้ออ้างเรื่องการโอนชื่อนะ)

เอาล่ะ! มาถึงตัวผม ไม่ได้ลงทะเบียนล่วงหน้าอะไรไว้ทั้งนั้น จะกลับบ้านไปเลือกตั้งที่บ้านเกิด คำถามต่อมาว่าจะเลือกใครดี? ผมมีแนวทางในการพิจารณาแยกเป็นสองกรณีตามสิทธิในการเลือกตั้งคือ การเลือกตัวบุคคล(เขต)กับการเลือกพรรค(บัญชีรายชื่อ)

ขอพูดถึงการเลือกตัวบุคคลก่อน การพิจารณาของผมง่ายมากคือ ยกประโยชน์ให้คนในพื้นที่ เหล่าญาติพี่น้องที่บ้าน เพราะตัวเราดันมาใช้ชีวิตอยู่ กทม.จะกลับที่ก็เฉพาะช่วงเทศการหยุดยาว (อกกตัญญูจริง!) การสอบถามข้อมูลจากคนที่บ้านคงเป็นแนวทางที่ดีที่สุดแล้ว ครันจะไปเลือกตามใจตัวเองโดยไม่ดูคนที่เขาจะใช้ชีวิตตลอดที่บ้านคงไม่ใช่การดีเท่าไหร่นัก เพราะถือว่า ส.ส. เขต คือปากเสียงของคนในเขตนั้น แต่ความจริงคะแนนจากผมคนเดียวคงเปลี่ยนอะไรได้ไม่มากในพื้นที่แถวนั้น พรรคนั้นคงนอนมาอยู่แล้ว ประมาณเดียวกับ ฮีธ เลดเจอร์ เข้าชิงรางวัลออสการ์จากบทโจ๊กเกอร์ในแบตแมน ไร้คู่แข่ง

ส่วนการเลือกพรรค ถือว่าเป็นการเลือกในระดับประเทศ อันนี้จึงจะเป็นวิจารญาณของตัวผมเองทั้งหมด นโยบายของแต่ละพรรคเข้าขั้นโม้เป็นส่วนใหญ่ แต่การเลือก Vote NO อย่างที่พันธมิตรพยายามเชิญชวน อันนี้ไม่ตอบโจทย์อะไรเลย สมมตินะสมมติว่า Vote NO ออกมาเยอะจนมีผลทางกฏหมาย แล้วจะทำอะไรต่อไป? จุดสุดท้ายคืออะไร? ซึ่งเหตุการณ์ Vote NO จะมหาศาลอันนี้เป็นไปได้น้อย ดังนั้น ผมไม่ Vote NO แน่นอน

รู้สึกไหมว่าเราเปลื้องตัวเกินไปกับการบอกว่าชอบใครไม่ชอบใคร โดยเฉพาะในสังคมที่บังคับให้เลือกข้าง เราคอยระวังตัวว่าคนรอบข้างอยู่ฝ่ายไหนกันแน่ ที่ต้องทำแบบนั้นก็เพื่อหลีกเลี่ยงการกระทบกระทั้งกันโดยไม่จำเป็นจากความเห็นต่างแบบสุดขั่ว ที่เขียนแบบนี้เพราะบางคนที่อยู่คนละฝ่ายคุยกันได้นะ บางกลุ่มเท่านั้นที่คุยด้วยไม่ได้ เป็นสังคมที่ดูอึดอัดไหมล่ะ!

ถ้าให้คาด พรรคนั้นคงนอนมาตามโพล ตอนนี้ก็คงมาคิดแล้วว่าจะเลือกพรรคไหนมาเป็นฝ่ายค้านดี…หวังว่าเราจะไม่ได้รัฐบาลจากพรรคอันดับสองแม้มันจะเป็น ครม.ที่ดูดีกว่าพรรคอันดับหนึ่งเยอะก็ตาม แต่มันช่างไม่สง่างามเอาซะเลย ให้เขาจัดตั้งไปเถอะ ยังไงประเทสไทยก็ไม่ล่มลงง่ายๆหรอก!

สุดท้ายไปเลือกตั้งกันเถอะครับ อย่างน้อยตอนวิพากวิจารณ์(ด่า)จะได้พูดได้เต็มปาก

บันทึกสัมมนาการจดสิทธิบัตร

ภาพประกอบจาก https://www.flickr.com/photos/95118988@N00/1497679352/

ไปฟังสัมมนาเกี่ยวกับการจดสิทธิบัตรที่ทางศูนย์บริการวิชาการ จุฬาฯ จัดให้นักวิจัย อาจารย์ นิสิต ได้เข้าอบรมฟรี ผมเห็นว่าน่าจะมีประโยชน์สำหรับคนทั่วไปด้วย จึงนำบันทึกมาเผยแพร่ต่อที่นี้ เผื่อจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นๆด้วย

บันทึกจากงานสัมมนา
เรื่องกระบวนการและแนวทางการจดสิทธิบัตร ผลงานวิจัยและทรัพย์สินทางปัญญา 
เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2554
ณ ห้อง 304 ชั้น 3 อาคารมาจักรีสิรินธร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สิทธิบัตร

-ปัจจุบันใช้ พรบ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 บังคับใช้เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2522 ปรับปรุง พ.ศ.2535, 2542
-เป็นกฏหมายที่มีข้อตกลงร่วมระหว่างประเทศภาคี แต่การจดสิทธิบัตรที่เดียวไม่ได้คุ้มครองทุกประเทศ แต่สามาถเลือกได้ว่าจะจดสิทธิบัตรในประเทศใดบ้างและต้องปฏิบัติตามกฏหมายของประเทศนั้นๆ โดยหน่วยงานของรัฐจะอำนวยความสะดวกให้ในระดับหนึ่ง

สิทธิบัตรไทย แบ่งเป็น 3 ประเภท

  • สิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์
  • สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์
  • อนุสิทธิบัตร (ไม่มีตรวจสอบว่าใหม่จริง)

สิทธิบัตร เป็นเหมือนทรัพย์สิน(โฉนดที่ดิน, หุ้นบริษัทฯ) สามารถโอนให้คนอื่นได้
อนุสิทธิบัตร เป็นการคุ้มครองแบบหลวมๆ ไม่มีการตรวจสอบว่าเป็นสิ่งใหม่จริง ให้ประกาศไปก่อนเพื่อความรวดเร็ว ถ้าหากใครคิดว่าตัวเองทำก่อนก็ค่อยมาฟ้องเพิกถอนสิทธิ (เป็นปัญหามาก) ในการเลือกจดสิทธิบัตรจะเลือกได้เพียงอย่างเดียวว่าจะจดสิทธิบัตร หรืออนุสิทธิบัตร

หลักการขอจดสิทธิบัตร

มีอยู่ 3 ข้อ มีอย่างใดอย่างหนึ่งก็ขอจดสิทธิบัตรได้แล้ว

  • เป็นสิ่งประดิษฐ์ขึ้นใหม่(Novelty)
  • มีขั้นตอนการประดิษฐ์สูงขึ้น(Inventive step)
  • สามารถประยุกต์ทางอุตาหกรรม(Industrial Applicable)

งานที่ไม่สามารถจดสิทธิบัตรได้

มีจุดที่น่าสนใจอยู่คือ สิ่งต่างๆเหล่านี้เรียกว่า “‘งานที่มีอยู่แล้ว” หรือ “ไม่ใหม่” ไม่รับจดสิทธิบัตร

  • มีการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ หรือแสดงผลงานในงานประชุมวิชาการแล้ว แต่มีข้อยกเว้นให้ จะต้องจดสิทธิบัตรภายใน 12 เดือนหลังทำการเผยแพร่ ถ้าเกินเวลาจากนี้แล้วจะจดสิทธิบัตรไม่ได้ เพราะถือว่าได้ประกาศโฆษณาไปแล้ว และถ้าหากยื่นขอจดสิทธิบัตรการคุ้มครองจะย้อนไปถึงวันที่เผยแพร่ผลงาน มีข้อแนะนำจากวิทยากรคือ ให้ยื่นจดสิทธิบัตรไปพร้อมกับส่งตีพิมพ์ในวารสารไปพร้อมกันเลย
  • ถ้่าไปขอจดสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรที่ต่างประเทศแล้ว จะต้องจดในประเทศภายใน 18 เดือน หลังจากนี้จะจดสิทธิบัตรไม่ได้ (ถือว่าลอกผลงานตัวเอง) เช่นเดียวกันเมื่อจดสิทธิบัตรการคุ้มครองจะย้อนไปถึงวันที่ยื่นจดสิทธิบัตรที่ต่างประเทศ

การประดิษฐ์ขึ้นใหม่และขั้นตอนประดิษฐ์ที่สูงขึ้น

การประดิษฐ์เราจะเห็นตัวตนของสิ่งประดิษฐ์ชัดเจน ส่วนขั้นตอนการประดิษฐ์อาจจะมองเห็นไม่ชัดเจนนัก แต่กฏหมายก็คุ้มครองหรือสามาถจดสิทธิบัตรได้ ในกลุ่มที่มีขั้นตอนการประดิษฐ์สูงขึ้น ไม่ได้หมายถึง การใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น แต่หมายถึงการใช้วิธีแก้ปัญหาที่ดีขึ้น ง่ายขึ้น หรือเป็นการแก้ไขปัญหาเดิมด้วยวิธีใหม่ที่ดีขึ้น เช่น การทำไวน์ด้วยวิธีใหม่ การถนอมอาหารแบบใหม่ เป็นต้น

ส่วนการประดิษฐ์ที่สามารถนำมาใช้ในประโยชน์ทางอุตสาหกรรมในต่างประเทศจะมีเพียงในทางอุตสาหกรรม แต่ในประเทศไทยจะเพิ่มส่วนของ หัตถกรรม เกษตรกรรม พาณิชกรรม เข้าไปด้วย ทำเพื่อให้เหมาะสมกับวิถีีชีวิตของคนไทยมากขึ้น

การออกแบบผลิตภัณฑ์ ลวดลาย สี รูปร่าง ได้รับการคุ้มครองสามารถจดสิทธิบัตรได้

มีความแตกต่างกันระหว่างการประดิษฐ์กับการออกแบบ คือ การประดิษฐ์เป็นการคุ้มครองโครงสร้างภายในผลิตภัณฑ์ ส่วนการออกแบบเป็นการคุ้มครองโครงสร้างภายนอกของผลิตภัณฑ์

ผู้มีสิทธิในสิทธิบัตร

  • ผู้ประดิษฐ์ ผู้ออกแบบ
  • ผู้ที่ได้รับการโอนสิทธิ์
  • นายจ้างของผู้ประดิษฐ์ หมายความว่า นายจ้างของผู้ประดิษฐ์จะเป็นคนถือสิทธิ์ แต่ถ้าสิ่งประดิษฐ์นั้นสามารถสร้างรายได้ในทางการค้าได้ ผู้ประดิษฐ์มีสิทธิรับบำเหน็จจากนายจ้างได้ตามสมควร (ถ้าไม่ได้สามารถฟ้องได้ แต่ต้องเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ก่อให้เกิดรายได้)
  • ถ้ามีผู้ประดิษฐ์ร่วมหลายคน ทุกคนมีสิทธิขอรับสิทธิบัตรได้ตามสัดส่วนที่ได้ระบุไว้

สิ่งที่ไม่สามารถจดสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตรได้

  • จุลชีพและส่วนประกอบ ในประเทศไทยถือว่าเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ในต่างประเทศสามารถจดสิทธิบัตรจุลชีพได้ แต่ในไทยไม่อนุญาติและไม่คุ้มครอง มีข้อยกเว้นถ้าจุลชีพนั้นมีการตัดต่อ ตกแต่งให้แตกต่างจากดั้งเดิม สามารถจดสิทธิบัตรได้
  • ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์ เพื่อการพัฒนาของวิทยาการ การถือถือสิทธิบัตรผู้เดียว ถือว่าขัดต่อการพัฒนาทางด้านองค์ความรู้
  • Software จะจดสิทธิบัตรไม่ได้ แต่จะเป็นกฏหมายอีกตัวคือ ลิขสิทธิ์ ซึ่งจะใช้ได้ชั่วชีวิต และต่ออีก 50 ปี หลังผู้ประดิษฐ์เสียชีวิต
  • วิธีการวินิจฉัย บำบัด หรือวิธีรักษาโรคในมนุษย์หรือสัตว์ ข้อนี้ถือเป็นการให้ประโยชน์แก่ทุกคน
  • การประดิษฐ์ที่ผิดต่อศิลธรรม อนามัย สวัสดิภาพของประชาชน

การจดสิทธิบัตรมีค่าธรรมเนียม

  • ค่าธรรมเนียมในแต่ละประเภท(ประดิษฐ์, ออกแบบ, อนุสิทธิบัตร)มีค่าธรรมเนียมต่างกัน แต่จะแพงขึ้นเรื่อยๆในปีหลังเหมือนกัน เป็นการแสดงว่าผู้ถือครองสิทธิได้รับประโยชน์จากสิทธิบัตร
  • อายุของสิทธิบัตรการประดิษฐ์มีอายุ 20 ปี, การออกแบบ มีอายุ 10 ปี ทั้งสองต่ออายุไม่ได้ ส่วนอนุสิทธิบัตรมีอายุ 6 ปี ต่ออายุได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ปี

ผลงานวิจัยกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

การคุ้มครองงานวิจัย มีแนวทางการคุ้มครองได้ 5 ลักษณะ

  • ลิขสิทธิ์ จะเป็นการคุ้มครองทันทีที่ผลิตผลงานออกมาเช่น ข้อความใน paper, รูปภาพ ฯลฯ แต่จะไม่คุ้มครองเนื้องานภายใน
  • แบบผังภูมิวงจรรวม หมายถึงการออกแบบวงจรใหม่ แต่ยังใช้ IC จากคนอื่น เช่น เมื่อนำ Microchip ของ intel มาประดิษฐ์อุปกรณ์ขึ้นมาใหม่ สามารถจดสิทธิบัตรได้ซึ่งจะคุ้มครองส่วนวงจรรวมแต่ไม่ได้คุ้มครอง IC แต่ละตัวที่นำมาใช้
  • ความลับทางการค้า เรียกว่าการจดแจ้ง เปิดเผยข้อมูลบ้างส่วนเท่านั้น เป็นกลุ่มของ Know How ที่เปิดเผยให้คนอื่นรู้ไม่ได้ ในการจดแจ้งจะต้องระบุวิธีการเก็บข้อมูลด้วย เช่น ให้รู้กี่คน เก็บเอกสารยังไง ถ้าไม่ปฏิบัติตามวิธีการเก็บความลับนั้น หากเกิดความลับรั่วไหลจะฟ้องดำเนินคดีไม่ได้
  • การคุ้มครองพันธุ์พืช จะใช้ในงานของกระทรวงเกษตรฯ เป็นกฏหมายอีกฉบับ
  • สิทธิบัตร กลุ่มที่เหมาะสมคือ กลุ่มสิ่งประดิษฐ์ที่เมื่อทำวิศวกรรมย้อนกลับแล้วรู้ว่าทำขึ้นได้อย่างไร เป็นกลุ่มที่ควรจดสิทธิบัตรไว้ เพื่อปกป้องสิทธิของตัวเอง เช่น การประดิษฐ์เครื่องยนต์ การประดิษฐ์อุปกรณ์อำนวยความสะดวก เป็นต้น

ข้อแนะนำก่อนการจดสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร

  • ควรรีวิวมาก่อนว่าเคยมีการประดิษฐ์มาก่อนหรือไม่ ต้องตรวจสอบให้ด วิธีการตรวจสอบคือ การค้นหาสิทธิบัตรในประเทศต่างๆ จากแหล่งข้อมูลเหล่านี้
    -ประเทศไทย https://www.ipthailand.org
    -ประเทศสหรัฐอเมริกา https://www.uspto.gov
    -ประเทศญี่ปุ่น https://www.jpo.go.jp
    -กลุ่มประเทศยุโรป https://ep.espacenet.com
  • ต้องพิจารณาให้ดีว่าจะเลือกจดสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร วิเคราะห์ให้ดีว่าแบบไหนตรงกับงานที่ตัวเองประดิษฐ์
  • ในสิ่งประดิษฐ์ของเราต้องระบุว่าจะคุ้มครองตรงไหนบ้าง การระบุกว้างไปก็ไม่ดี จะทำให้ระบุได้ยากว่าผู้อื่นละเมิดสิทธิบัตรของเราส่วนไหนบ้าง หากระบุแคบเกินไปก็เป็นการจำกัดสิทธิของตัวเอง ข้อนี้สามารถขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ หรือดูตัวอย่างสิทธิบัตรของคนอื่นก่อนหน้าเป็นตัวอย่างได้
  • ในประเทศไทยใครยื่นก่อนมีสิทธิก่อน ต่างจากของอเมริกาจะถือว่าผู้ประดิษฐ์ก่อนคนแรกจะได้ถือครองสิทธิบัตร แต่จะมีขั้นตอนการพิสูจน์ที่ค่อนข้างยุ่งยาก ในไทยจึงตัดปัญหา ให้ใครยื่นก่อนได้ก่อน
  • การเขียนรูปประกอบจะต้องเขียนตามหลักการเขียนแบบ มีเลขหมายระบุแสดงชิ้นส่วนชัดเจน 
(มีเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำถ้าไม่มีความรู้แต่อยากจดสิทธิบัตร)
  • การระบุชื่อสิ่งประดิษฐ์จะไม่ใช้ชื่อเฉพาะ เช่น แว่นตาสุดมหัสจรรย์(ไม่รู้ว่ามหัสจรรย์ตรงไหน) การระบุชื่อจะต้องชัดเจนและสื่อความหมายชัดเจน จะยาวสั้นไม่ว่า เช่น “แว่นตาที่ขาพับเก็บได้”
  • การจดสิทธิบัตรเป็นการตรจสอบความใหม่ ไม่ได้เป็นการตรวจสอบประสิทธิภาพ มีสิทธิบัตรบางอันที่ทำงานจริงได้ไม่ดี แต่เมื่อมีคนนำไปต่อยอดให้ทำงานได้ดีขึ้นเขาจะต้องขอสิทธิจากงานดั้งเดิมเสียก่อน เป็นการสนับสนุนให้คนไทยสนใจการจดสิทธิบัตรมากขึ้น?

สถานที่ขอจดสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร

ส่วนบริหารงานจดสิทธิบัตร สำนักงานสิทธิบัตร กรมทรัพย์สินทางปัญญา โทร 0-2547-4637
หรือ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกแห่ง
https://www.ipthailand.go.th/ipthailand สายด่วน 1368

ภายในจุฬาฯ มีหน่วยงานดูแลเรื่องการขอจดสิทธิบัตร ติดต่อได้ที่
สถาบันทรัพย์สินทางปัญญา แห่งจุฬาฯ อาคารเทพทวาราวดี (คณะนิติศาสตร์) ชั้น 9 หมายเลขโทรศัพท์ 0-2218-2895 https://www.ipi.chula.ac.th

บันทึกโดย พงษ์ศักดิ์ สาระภักดี
วันที่ 17 มิถุนายน 2554
sarapukdee@gmail.com

ดาวน์โหลด บันทึกการขอจดสิทธิบัตร(PDF)

รายการตอบโจทย์ คุยกับนายอานันท์ ปันยารชุน

รายการตอบโจทย์ สถานี Thai PBS

คุยกับนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ย้อนอดีตตั้งแต่เมื่อเข้ามารับหน้าที่ มองเหตุการณ์เทียบกับปัจจุบัน รวมทั้งแนวคิดการปฏิรูปประเทศไทย ใน “อานันท์ : ลึกไม่ลับครั้งเป็นนายกฯ” จากรายการตอบโจทย์เลือกตั้ง 54 ช่วงตอบโจทย์ ทางสถานี Thai PBS

ผมว่าเราควรดูการสัมภาษณ์ในรายการตอบโจทย์ของคุณอนันท์ ปันยารชุน นะครับ ไม่ว่าคุณจะอยู่กลุ่มไหนก็ตาม มีหลายอย่างที่ทำให้เราเข้าใจประเทศไทยมากขึ้น เข้าใจความซับซ้อนของปัญหาในสังคมไทยมากขึ้น ผมไล่ดูจนจบ ได้อะไรหลายอย่างมากครับ ไม่ใช่เกี่ยวกับบ้านเมืองของเราเองอย่างเดียว รวมถึงวิธีการใช้ชีวิตที่แทรกอยู่ตลอดการสัมภาษณ์ ที่เรานำมาประยุกต์ใช้ได้จริงและน่าจะดีด้วย

ในรายการตอบโจทย์ ผมชอบการตั้งคำถามและการดำเนินรายการของ คุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา มากครับ(ดูจากหลายๆตอน) จะเห็นได้ว่าพิธีกรเข้าใจสถานการณ์ และตั้งคำถามได้ตรงประเด็น ตรงใจที่เราอยากรู้ และควรจะต้องรู้ ได้อย่างชัดเจน

อีกอย่างที่น่าประทับใจคือสถานี Thai PBS มีรายการดีๆมากกว่าสถานีอื่นมาก ทั้งสาระและบันเทิง “ดี” ในที่นี้หมายถึง ดีต่อคนดู ไม่มีการโฆษณาสินค้าแอบแฝงให้เรางง? ยกตัวอย่างรายการที่สนุกที่ผมชอบทางสถานี Thai PBS ก็มี ครอบครัวเดียวกัน, ท่าประชา, ภัตตาคารบ้านทุ่ง, นายก(มือใหม่)หัวใจประชาชน (CHANGE), เป็น อยู่ คือ ฯลฯ ความจริงก็ไม่ได้ดูทุกตอน แต่ก็ได้ดูเมื่อมีโอกาส โดยรวมคือเรานึกออกว่ารายการดีๆในสถานีนี้มีอะไรบ้าง สามารถแนะนำเพื่อนๆหรือคนรู้จักได้ว่ารายการต่างๆนี้ดีจริง ผมว่าช่องฟรีทีวีอื่นๆน่าจะยึดแนวทางของ Thai PBS บ้างนะ

นอกเรื่องไปซะยาว กลับมาดูเทปของรายการตอบโจทย์กันครับ

Exit mobile version