เยี่ยมชมห้องคลีนรูม สำหรับทำงานวิจัยที่ Forschungszentrum Jülich (FZJ) เยอรมนี อย่างอลังการ

สัปดาห์ก่อนได้ไปที่ Forschungszentrum Jülich (FZJ) ข้อมูลเบื้องต้นคือ เป็นสถาบันวิจัยระดับชาติของเยอรมันที่ทำวิจัยหลายด้านมาก มีพนักงานประมาณ 6,800 คน มีสถาบัน 10 แห่งและสถาบันย่อย 80 แห่ง ถือเป็นหนึ่งในสถาบันวิจัยที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ข้างในเปรียบเหมือนเป็นเมืองอีกหนึ่งเลยทีเดียว มีโรงพยาบาล มีสถานีดับเพลิง และสิ่งจำเป็นอื่นๆอยู่ภายใน

เราไปทำธุระอย่างอื่น แต่เนื่องจากว่าเพื่อนร่วมงานเคยทำงานที่นั้นและคุ้นเคยกับคนที่นั้นอย่างดี เขารู้ว่าเราสนใจงานทางด้าน Miro and Nanofabrication เลยอาสาพาทัวร์ตึกคลีนรูมของที่นั้น

Helmholtz Nano Facility (HNF) คือห้องคลีนรูมขนาด 1200 ตร.ม. ตามมาตรฐาน ISO 1-3 ทำงานตามมาตรฐาน VDI DIN 2083 และ DIN EN ISO 14644 ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 9001 ที่ศูนย์รับทั้งงานร่วมวิจัยภายในองค์กร และรับบริการภายนอกด้วย มีบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งเคยเข้ามาทำงานในนี้และบางบริษัทก็ยังเช่าห้องอยู่เพื่อทำงานวิจัยโดยใช้ Facility ของศูนย์ในการทำงาน หลายๆกลุ่มวิจัยก็ใช้ที่นี้สร้างชิพสำหรับควอนตัมคอมพิวเตอร์

ห้องคลีนรูมอธิบายให้เข้าใจง่ายๆคือห้องที่ควบคุมให้ห้องมีฝุ่นน้อยที่สุด การสร้างชิพหรือวงจรที่มีความละเอียดในระดับนาโน อนุภาคที่ปนเปื้อนเพียงเล็กน้อยก็ทำให้อุปกรณ์ที่สร้างอยู่เสียหายได้ จึงจำเป็นต้องสร้างห้องที่มีฝุ่นปนเปื้อนในอากาศให้น้อยที่สุด (ความจริงควบคุมหมดทั้ง อนุภาค ความชื่น อุณหภูมิ แรงดัน ทิศทางและการไหลของอากาศ)

คลีนรูมของที่นี้ต้องเรียกว่าอลังการมาก อาจเรียกได้ว่าทั้งตึกเป็นส่วนหนึ่งของคลีนรูม โดยสร้างตึกขึ้นมาครอบตึกอีกทีเพื่อให้สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมภายในได้ดียิ่งขึ้น เราจึงสามารถเดินชมห้องได้โดยรอบผ่านตรงจุดเชื่อมตึกที่ครอบและตึกด้านใน ด้านบนเป็นระบบควบคุมอากาศและอุณหภูมิ ชั้นกลางคือส่วนของห้องคลีนรูม ที่แบ่งย่อยเป็นห้องตามจุดประสงค์ในการทำงาน ด้านล่างเป็นส่วนของซัพพลาย เช่น ไฟฟ้า น้ำ แก๊ส ปั๊ม ฯลฯ เป็นระบบที่ออกแบบมาได้ดีมากๆ ลิสต์เครื่องมือมีพร้อมทุกอย่าง ตามไปดูในลิงค์ ภายในนี้สามารถออกแบบ ผลิตชิพ และร่วมทั้งทดสอบ งานจบได้ในที่นี่ เครื่องมือค่อนข้างใหม่มาก จนหลายคนที่นี้เรียกกันขำๆว่า โชว์รูมของ Oxford Instructions (บริษัทที่ออกแบบและผลิตอุปกรณ์งานทางด้านซิมคอนดักเตอร์) การได้เดินทัวร์ดูอุปกรณ์และระบบที่ออกแบบมาอย่างดีถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีทีเดียว คาดว่าน่าจะได้มีโอกาสเข้าไปใช้ Facility ของที่นี่ในอีกไม่นาน

เอาประสบการณ์มาเล่าให้ฟังประมาณนี้แล้วกันครับ

ปล. อยากเห็นศูนย์วิจัยของ TSMC จริงๆว่าจะอลังการขนาดไหนนะ

ข้อมูลเบื้องต้น
Wet bench
E-Beam Lithography
Surface characteristic
Air flow and temperature control center
ICP RIE, PECVD, SPUTTER
ปั๊มและเครื่องทำความเย็นแยกออกมาอยู่ด้านล่างของห้อง

ข้อสังเกตเมื่อ เชอร์ล็อก โฮล์มส์ ทำ fasting

ถ้าได้อ่านหนังสือชุด เชอร์ล็อก โฮล์มส์ จะพบว่านักสืบอัจฉริยะคนนี้จะอดอาหารไม่ดื่มกินอะไรเลยในช่วงที่ต้องใช้ความคิดแก้ไขคดีที่ยากและซับซ้อนมาก ๆ
เหตุผลที่เขาให้ไว้คือ สมองต้องการเลือดไปหล่อเลี้ยงสูงขึ้นในช่วงที่ใช้ความคิดหนัก ๆ ถ้ากินอะไรลงไป เลือดจะไหลไปรวมกันที่ท้องมากขึ้น และเลือดที่ไหลไปเลี้ยงสมองจะลดลง ส่งผลให้ประสิทธิภาพทางความคิดด้อยลง มีหลายคร้ังเลยทีเดียวที่เขาต้องอดอาหารติดต่อกันหลายวัน

image ref. https://en.wikipedia.org/wiki/Sherlock_Holmes

เรื่องอดอาหารแล้วความคิดเฉียบแหลมขึ้น ในทางการแพทย์จริงเท็จแค่ไหน?

หนังสือ เชอร์ล็อก โฮล์มส์ เขียนขึ้นในช่วงราว ๆ ปลายศตวรรษที่ 18 ทางการแพทย์อาจจะไม่ก้าวหน้าเท่ายุคนี้ แต่ปัจจุบันการทำ fasting มีให้เห็นกันทั่วไป (โดยเฉพาะพวกสายเทคโนโลยี เขียนโค้ด ฮิตกันมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา)

ดังนั้นคาดคะแนได้ว่าท่านเซอร์ อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์ คนเขียน เชอร์ล็อก โฮล์มส์ น่าจะได้ศึกษาเรื่องนี้มาก่อน (เป็นความรู้โดยทั่วไปในยุคนั้น) หรืออาจจะทดลองทำกับตัวเองมาก่อน (เป็นความรู้ในวงจำกัด) เลยสามารถเขียนถึงได้ละเอียด

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าจะดูเฉพาะที่มีการกล่าวถึงเรื่องการอดอาหารเพื่อเพิ่มพลังความคิดของ เชอร์ล็อก โฮล์มส์ ที่ถูกเขียนไว้ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 18 จนถึงปัจจุบันก็นับได้ว่า fasting นี้ทำกันมาหลักหลายร้อยปีแล้วทีเดียว

นี้เป็นข้อสังเกตเล็ก ๆ ที่ได้จากการอ่านวรรณกรรมคลาสสิคในช่วงที่นี้

กลับมาเขียนบทความใน Biomed.in.th ในรอบเกือบ 8 ปี

หน้าเว็บ Biomed.in.th ล่าสุด

หลังจากทิ้งให้เว็บ Biomed.in.th ร้างมานานมากๆ โพสสุดท้ายคือเมื่อกันยายน 2014 มันคือเกือบจะ 8 ปีได้แล้ว ตอนนี้เข้าไปอัพเดตและปรับดีไซด์ใหม่นิดหน่อย และหวังว่าต่อไปจะมีเวลาเข้าไปแชร์ข้อมูลเพิ่มมากขึ้น อยากให้มันเป็นแหล่งข่าวที่อ่านง่ายๆ คนทั่วไปอ่านได้ คนที่จริงจังคิดว่าเขาวารสารต่างประเทศกันได้ อยากให้มันเป็นแนว popsci อ่านเข้าใจได้ง่าย สั้น ๆ

พอมองย้อนไปเนื้อหาก่อนหน้านี้มีหลายครั้งที่คนเข้ามาขอให้ประชาสัมพันธ์ งานสัมมนาวิชาการ ร่วมทั้งหานักวิจัยมาช่วยงาน อันนี้ต้องเข้าใจเพราะงานทางด้านนี้ค่อนข้างเฉพาะทาง จึงเป็นไอเดียเปิดให้อีกหน้าให้โดยเฉพาะ ใครอยากประชาสัมพันธ์อะไรก็ส่งเข้ามาให้พิจารณา ถ้าทางทีมเห็นสมควรก็จะกระจายข่าวสารให้ แม้แต่การหางาน หานักวิจัย ก็ส่งเข้ามาประชาสัมพันธ์กันได้เช่นกัน การแยกหน้าออกไปโดยเฉพาะไม่ปนกับเนื้อหา ก็เพื่อให้ทุกอย่างในเว็บดูเป็นระเบียบ และเป็นสัดเป็นส่วนชัดเจนมากขึ้น

ประเดิม บทความแรกด้วย โควิดกับการตั้งครรภ์: ข้อมูลที่มีล่าสุดบอกอะไรบ้าง? อ้างอิงมาจาก Nature เรียบเรียงใหม่ให้สั้นและเหมาะสมขึ้น ตอนแรกว่าจะเขียนสั้นๆ ก็ยาวซะงั้น ตามไปคลิกอ่านได้ มีข้อเสนอแนะอะไรก็บอกกันได้

ส่วนเพื่อน ๆ คนที่เคยช่วย ๆ กันเขียนบทความก็ทยอยเรียนจบเอก ได้ดิบได้ดีกันไปหมดแล้ว งานคงจะล้นมือมากกว่าแต่ก่อนแน่ ๆ ถ้าจะกลับมาช่วยกันเขียนบ้างก็ยินดีมาก ๆ ครับ

Short book reviews: Lifespan

Lifespan: Why We Age—and Why We Don’t Have To
by David A. Sinclair

Lifespan: Why We Age—and Why We Don’t Have To

Short reviews:
This book reveals the theory about “Aging is a disease”, which means it is treatable. The main problem of aging is the loss of information. Dr. Sinclair believes that if DNA is a form of digital information, and aging is caused by the loss of analog information known as the epigenome that is decoded from digital information.

To understand that, you can imagine listening to music. CD represents digital information, and the sound is decoded by a CD player is physical or analog information which sometimes is imperfect. That is the loss of analog information.

For this book, you will get the knowledge of aging and Dr. Sinclair’s life at the same time. He takes us to his research to prove the concept and his passion to study this topic from the beginning. It is not a science textbook, but it is a science story. In the second part, the solutions to increase lifespan were also presented.

You can check others review in the goodreads website here and check my others short book reviews.

Zombie Makers: เรื่องราวของ “หนอนควบคุมมนุษย์”

เรื่องราวของซอมบี้ในธรรมชาติจากหนังสือเรื่อง Zombie Makers อีกเรื่อง ที่หยิบมาเล่าให้ฟัง คือ “หนอนควบคุมมนุษย์” เรื่องก่อนหน้าเป็นเรื่องของ ซอมบี้หอยทาก

ตัวละครหลักมี 3 ตัว
ผู้ร้าย: หนอนพยาธิ guinea worm หรือ Dracunculus medinensis
ผู้เคราะห์ร้าย: มนุษย์ Homo Sapiens
ผู้สมรู้ร่วมคิด: โคพีพอด copepods (คล้ายตัวอ่อนกุ้ง, แพลงค์ตอน เป็นต้น)
สถานที่เกิดเหตุ: แอฟริกา

ตัวโคพีพอดที่ติดเชื้อหนอนพยาธิ

เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อมนุษย์ดื่มน้ำที่มีตัวโคพีพอดที่ติดเชื้อมีตัวอ่อนของหนอนพยาธิ D. medinensis เข้าไป หลังจากนั้นโคพีพอดจะตายและปล่อยตัวอ่อนของหนอนพยาธิออกมา ในท้องของคน หนอนพยาธิจะเจาะเข้าไปในกระเพาะอาหารและผนังลำไส้ของของคนและเข้าไปในช่องท้อง พอตัวหนอนเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยจะผสมพันธุ์กัน แล้วหนอนตัวผู้จะตายไป ส่วนตัวเมียซึ่งอาจยาวได้ถึง 1.2 เมตร จะมุดตัวซอนไซไปอยู่ในเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังโดยเฉพาะบริเวณขา

ตัวหนอนพยาธิที่ถูกดึงตัวออกมาจากแผล

สิ่งน่าสยดสยองคือตัวหนอนพยาธิสามารถควบคุมพฤติกรรมของคนที่ติดเชื้อให้ช่วยทำให้วงจรการขยายพันธุ์ของมันสมบูรณ์ นั้นคือเมื่อหนอนพร้อมที่จะวางไข่มันจะปล่อยสารเคมีบางตัวออกมา ทำให้เกิดตุ่มขนาดใหญ่บนผิวหนัง ไม่นานแผลพุพองก็แตกออกทำให้เจ็บแสบอย่างมาก ปลายหัวของหนอนจะมองเห็นได้ตรงที่กลางแผล แต่ก่อนที่ตัวหนอนจะออกมามีอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องเกิดขึ้นก่อน…

อาการเจ็บแสบที่ผิวหนังสามารถบรรเทาด้วยการเอาลงไปแช่น้ำ ผู้ติดเชื้อจึงพยายามหาแหล่งน้ำเพื่อนำขาลงไปแช่น้ำ (กลายเป็นซอมบี้เดินหาแหล่งน้ำ) เมื่อผู้ป่วยเอาขาแช่ลงน้ำหนอนตัวเมียก็จะรู้ว่าได้เวลาโผล่ออกมาแล้ว มันจะปล่อยตัวอ่อนลงแหล่งน้ำ ตัวอ่อนจะถูกตัวโคพีพอดกินอีกครั้ง หลังจากนั้นก็พัฒนาเป็นตัวอ่อน รอให้เหยื่อคนต่อไปกลืนกินมันเข้าไปอีกครั้ง เป็นอันครบวงจรชีวิตโดยสมบูรณ์ สยอง…

สิ่งที่น่าสยดสยองมากกว่านั้น คือไม่มีวัคซีนหรือยารักษา การรักษาทางการแพทย์เพียงอย่างเดียวที่ทำได้คือพยายามดึงหนอนออกอย่างช้า ๆ และระมัดระวัง โดยจับตัวหนอนพันรอบแท่งไม้เล็ก ๆ ค่อยดึงตัวมันออกมาทีละน้อย ๆ ทุก ๆ วัน (ดูภาพและวิดีโอประกอบ) การเอาตัวหนอนออกทั้งตัวอาจใช้เวลาหลายวันบางครั้งเป็นสัปดาห์ สิ่งที่ต้องระวังคือห้ามให้ตัวมันขาดโดยเด็ดขาด หากหนอนขาดเป็นชิ้นส่วนที่หลงเหลืออยู่ภายในอาจทำให้ติดเชื้อ ส่งผลให้พิการหรืออาจเสียชีวิตได้ สยอง…

แต่การป้องกันทำได้ง่ายมากๆ เพียงดื่มน้ำที่ผ่านการกรองด้วยผ้าบางธรรมดาก็ปลอดภัยแล้ว ในปัจจุบันเป็นที่น่ายินดีมาก หลังจาการต่อสู้และรณรงค์ให้ความรู้กันอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 80s ที่มีรายงานการติดเชื้อมากกว่า 3.5 ล้านรายในแอฟริกา แต่ในรายงานล่าสุดในปี 2018 มีรายงานการติดเชื้อเพียง 8-10 รายเท่านั้น เรียกได้ว่าตอนนี้เรากำลังนับถอยหลังโลกที่ปราศจากไอ้โรคหนอนซอมบี้นี้แล้ว (โล่งอกไปที)

จากหนังสือเรื่อง Zombie makers: true stories of nature’s undead / by Rebecca L. Johnson.

วิดีโอการต่อสู้กับหนอนพยาธิในแอฟริกา

อ้างอิง
https://youtu.be/8nOuAUfXjzQ?t=116
https://www.who.int/dracunculiasis/disease/en/
https://www.cdc.gov/parasites/guineaworm/biology.html

Biological races in Human หรือ Human subspecies ถือเป็น pseudoscientific

มนุษย์เผ่าพันธุ์คอเคเซียน ได้แก่ คนยุโรป ผิวขาว …มองโกเลียน เผ่าพันธุ๋คนจีน …อะไรพวกนี้ เคยเรียนและท่องเพื่อไปสอบกันไหม? ปัจจุบันยังเรียนอยู่ไหมนะ?

Portrait of Blumenbach BMJ. 2007 Dec 22; 335(7633): 1308–1309.

ลุงผู้เป็นต้นคิด คือ Johann Friedrich Blumenbach หมอชาวเยอรมัน (1752-1840) ให้กำเนิดแนวคิดการจำแนกเผ่าพันธุ์ของมนุษย์
โดยใช้หลักสำคัญ คือ ถิ่นฐานและลักษณะร่างกาย(สีผิว สีผม ลักษณะกระโหลกศีรษะ) ซึ่งเขาแบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่

  • คอเคเซียน
  • มองโกเลียน
  • เอธิโอเปียน
  • อเมริกัน
  • และมาเลย์
ภาพกระโหลกของเผ่าพันธุ์ต่างๆโดย Blumenbach: Blumenbach’s Racial Geometry: Isis, 1998,89:498-50

เป็นการพยายามจำแนกที่มีคติและมีความผิดพลาดหลายอย่าง อ่านบทความรายละเอียดเกี่ยวกับความผิดพลาดนี้ได้จาก: The beautiful skull and Blumenbach’s errors: the birth of the scientific concept of race https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2151154/

การแยกมนุษย์ดัวยวัฒธรรม สังคม พอจะทำได้ แต่ในปัจจุบัน Biological races in Human หรือ Human subspecies การจำแนกเผ่าพันธุ์มนุษย์ตามหลักชีววิทยานั้นทำไม่ได้ และถือเป็น pseudoscientific ถ้ายังมีในตำราเรียนก็ควรถอดออก

เพิ่มเติม Biological Races in Humans https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3737365/

via: How to Argue With a Racist: What Our Genes Do (and Don’t) Say About Human Difference by Adam Rutherford

Cheddar Man บรรพบุรุษของชาวยุโรปเป็นคนดำ

The model of Cheddar Man rendered by Kennis & Kennis Reconstructions features in the Channel 4 television documentary The First Brit: Secrets of the 10,000 Year Old Man © Tom Barnes/Channel 4

Cheddar Man บรรพบุรุษของชาวยุโรป(มียีนร่วมราว 10%) มีชีวิตอยู่ราว 10.000 ปีก่อน เจอที่เกาะอังกฤษ นักวิจัยสกัด DNA จากกระดูกของเขา และวิเคราะห์พบว่า มีความเป็นไปได้ที่ เขาจะมีสีตาซีด สีฟ้าหรือเขียว มีผมสีน้ำตาลเข้ม และมีสีผิวดำใกล้เคียงกับคนแอฟริกาตอนใต้ งานวิจัยสนับสนุนทฤษฏีการอพยพของซาเปี้ยนที่เกิดตั้งแต่สีผิวยังไม่ได้ซีด
มีการสร้างแบบจำลองหน้าตา สีผิวของ Cheddar Man จากข้อมูลต่างๆประกอบกัน ออกมาเป็นดังภาพประกอบ

งานวิจัยนี้ สร้างความไม่พอใจให้กลุ่มเหยียดผิวอย่างมาก (จะมาว่าฉันเป็นพวกเดียวกันกับคนดำไม่ได้ ไม่ยอม ไม่ยอม)

via: How to Argue With a Racist: What Our Genes Do (and Don’t) Say About Human Difference by Adam Rutherford

รายละเอียดเพิ่มเติม https://www.nhm.ac.uk/discover/cheddar-man-mesolithic-britain-blue-eyed-boy.html

รีวิวหนังสือ เพื่อนเก่าที่หายสาบสูญ: สุขภาพดีด้วยการดูแลระบบนิเวศในร่างกาย

หนังสือ เพื่อนเก่าที่หายสาบสูญ: สุขภาพดีด้วยการดูแลระบบนิเวศในร่างกาย
ผู้เขียน นพ. ชัชพล เกียรติขจรธาดา

คุณหมอแอ่ว ชัชพล เกียรติขจรธาดา เขียนหนังสือสนุกขึ้นครั้งที่ออกเล่มใหม่และมีการพัฒนารูปแบบการเขียนหนังสืออย่างชัดเจน หนังสือเล่มนี้ในแต่ละเรื่องจะถูกซอยเป็นบทสั้นๆ ใช้เวลาอ่านไม่กี่นาทีจบ เนื้อหาสามารถจบได้ในบทนั้น แต่จะดึงดูดให้เราอยากอ่านต่อเนื่องไปที่บทต่อไปเรื่อยๆ เพื่อให้เนื้อหาที่กล่าวถึงสมบูรณ์ ด้วยการโยนคำโปรยไว้ช่วงท้ายๆของบท เช่น ในบทต่อไปจะ…
การเขียนแบบนี้ ค่อนข้างสอดคล้องกับการใช้ชีวิตปัจจุบัน เราสามารถหยิบขึ้นมาอ่านได้เรื่อยๆ เช่น ในช่วงเข้าห้องน้ำ รอรถเมล์/ไฟฟ้า นั่งรถไฟฟ้าไม่กี่สถานีก็จบบทได้แล้ว และอาจจะเป็นหนังสือที่อ่านไปพักเล่นโซเชียลไปด้วยได้ (เอาเนื้อหาบางส่วนไปแชร์)

หนังสือ เพื่อนเก่าที่หายสาบสูญ: สุขภาพดีด้วยการดูแลระบบนิเวศในร่างกาย
ผู้เขียน นพ. ชัชพล เกียรติขจรธาดา

ส่วนเนื้อหาของหนังสือ เพื่อนเก่าที่หายสาบสูญ ทำให้มีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับแบคทีเรียในร่างกายของมนุษย์ และความสำคัญของระบบนิเวศในร่างกายที่ประกอบไปด้วยแบคทีเรียที่หลากหลายสายพันธ์ ซึ่งอาศัยอยู่ในร่างกายของเรามาอย่างยาวนาน และถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น แต่การใช้ชีวิตของเราในปัจจุบันทำให้ระบบนิเวศนั้นเสียสมดุลไป ส่งผลกระทบต่อร่างกายทั้งทางตรงและทางอ้อมชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

บันทึกเกร็ดสั้นๆ บางส่วน

  • การให้เด็กในช่วงอายุ 1-3 ขวบ ได้ใช้ชีวิตคลุกคลีกับธรรมชาติ ดิน น้ำ ต้นไม้ หญ้า และคนในครอบครัวอย่างใกล้ชิด มีประโยชน์อย่างมากในการสร้างภูมิคุ้มกัน และสุขภาพของเขาในระยะยาว รวมทั้งพัฒนาการทางด้านสมองด้วย
  • โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ ในกลุ่มประชากรแถวแอฟริกามีน้อยมากๆ หรือแทบไม่มี ครั้งหนึ่ง ช่วบ้านทั่วไปก็แทบจะไม่พบ และเคยถูกเรียกว่าโรคของคนขาว หรือโรคของชนชั้นสูง
  • พยาธิในลำใส้ที่พบได้ในกลุ่มชนเผ่าบางกลุ่ม ไม่ได้มีโทษร้ายแรงอย่างที่เข้าใจ พยาธิบางตัวส่งผลดีกับร่างกาย สามารถช่วยป้องกันโรคบางอย่างได้ หรือการใช้พยาธิในการรักษาโรคบางโรคก็ได้ผลที่น่าสนใจเช่นกัน
  • การได้รับยาปฎิชีวนะอย่างต่อเนื่องยาวนาน ทั้งตามโดสรักษา และแบบน้อยๆก็ส่งผลกระทบกับสมดุลเชื้อแบคทีเรียในร่างกาย เช่นโรคทางเดินอาหาร รวมถึงโรคอ้วนด้วย
  • ชนเผ่าที่อาศัยในป่าไม่เคยติดต่อกับโรคภายนอก ไม่เคยได้รับยาปฎิชีวนะใด มีแบคทีเรียในลำใส้ที่หลากหลายกว่าคนในมืองอย่างมาก และบางชนิดเป็นชนิดมีความเฉพาะที่ไม่พบที่ใดอีกเลย
  • แสดงให้เห็นว่าแบคทีเรียในร่างกายเราในปัจจุบัน มีความหลากหลายลดลง และอาจมีบางส่วนที่สูญพันธืไปแล้ว อาจจะเป็นหนึ่งเหตุผลที่อุบัติการณ์ของโรคบางชนิดสูงขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงชีวิตไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมา
  • แนวโน้มในการนำเชื้อแบคเรียจากลำใส้ของอีกคนมาให้อีกคนเพื่อรักษาโรคบางชนิดที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีการปัจจุบันมีความสำเร็จอย่างสูง และอยู่ในความสนใจแพทย์ทั่วโลก

โดยสรุป หนังสืออ่านสนุก และแนะนำให้อ่านครับ

รีวิวหนังสือ Bad Blood บันทึกการฉ้อโกงครั้งใหญ่ที่สุดของ Silicon Valley

รีวิวหนังสือ Bad Blood : Secrets and Lies in a Silicon Valley Startup
เขียนโดย John Carreyrou ผู้สือข่าว The Wall Street Journal

หนังสือ Bad Blood เป็นบันทึกการสืบสวนเคสของบริษัท Theranos สตาร์ทอัพตรวจเลือดจากปลายนิ้ว มูลค่าทางการตลาดกว่า 9 พันล้านดอลลาร์ แต่กลายเป็นเรื่องการฉ้อโกงที่ใหญ่ที่สุดของ Silicon Valley ปิดกิจการไปในเดือนกันยายน 2018 และมีคดีความและการฟ้องร้องตามมาอีกจำนวนมาก

หนังสือ Bad Blood บันทึกการฉ้อโกงครั้งใหญ่ที่สุดของ Silicon Valley

มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ โดยเฉพาะคนที่ทำงานวิจัยทางด้านการแพทย์ เช่น
-นำมาสู่การถูกแฉได้อย่างไร?
-หลักการตรวจและเครื่องมือที่พัฒนา
-หลุดการตรวจสอบของหน่วยงานควบคุมอาหารและยา FDA ได้อย่างไร
-ทำให้นักลงทุนและบริษัทใหญ่ๆเชื่อใจและรวมลงทุนได้อย่างไร

ทำความรู้จักกับ Theranos Theranos
มาจากสองคำรวมกัน Therapy + Diagnosis
Theranos เป็นอีกหนึ่งไอเดียความพยายามของคนทำงานทางด้าน Health care มานานมากแล้ว เราอยากได้วิธีการตรวจที่ทำให้คนตรวจบาดเจ็บน้อยที่สุด ในขณะที่ได้ผลการตรวจที่ครอบคลุมมากที่สุด Lab-on-a-chip และ Microfluidics ถูกพูดถึงมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ใช้เลือดหยดเดียวตรวจผลแล็บได้นับสิบตัว เป็นอีกหนึ่ง Challenge ที่ทั้งหมอและคนไข้ใฝ่ฝัน

ไอเดียที่อยากจะปฎิวัติวงการสุขภาพดังกล่าวโผล่มาในช่วงที่ Startup กำลังบูมสุดๆ Facebook, Uber, Twitter กำลังเติบโตอย่างมาก นักลงทุนกำลังมองหาโอกาสใหม่ๆ พื้นที่ใหม่ๆ สินค้าตัวใหม่ที่จะเข้ามา Disrupt วิธีการเดิมๆ หลายบริษัทหายไปจากตลาดภายในไม่กี่ปีจากการเกิดใหม่ของ Startup หน้าใหม่ที่เพิ่งก่อตั้งเพียงไม่กี่ปี

Theranos มาได้ถูกจังหวะมากๆ Elizabeth Holmes ในปี 2003 เด็กสาววัย 19 ปี นักเรียน Chemical Engineering ที่เรียนได้แค่ 2 เทอม ที่ Stanford university กับไอเดีย ที่อยากจะย่อวิธีการตรวจเลือดทั้งหมดในห้องแล็บมาไว้ในชิพและเครื่องตรวจเพียงเครื่องเดียว และตรวจจากเลือดที่เจาะจากปลายนิ้วเพียงไม่กี่หยด เพราะเธอเป็นคนกลัวเข็มและถูกเจาะเลือดเพื่อไปทดสอบหลายครั้งช่วงที่เดินทางในเอเชียช่วงที่มีการระบาดของ SARS

Elizabeth Holmes; CEO Theranos

มันเป็นไอเดียที่น่าสนใจและตลาดใหญ่มากๆอย่างไม่ต้องสงสัย บริษัทใหญ่ๆและนักลงทุนที่กลัวตกขบวนของช่วงที่บริษัทใหม่กำลังเติบโต กลัวบริษัทตัวเองจะถูกลืมแล้วหายไปจากตลาด จึงเสี่ยงลงทุนไปกับบริษัทหน้าใหม่ ทำให้บริษัท Theranos เติบโตอย่างรวดเร็ว การเติบโตอย่างรวดเร็ว และมูลค่าที่สูงอย่างก้าวกระโดด ต้องมาพร้อมกับความคาดหวังที่สูงๆมากๆเช่นกัน

The technology behind the product
เครื่องมือที่ Theranos พัฒนาขึ้นรุ่นแรกมีชื่อเรียกว่า Edison (ตั้งตาม Thomas Edison) ใช้วิธีการตรวจแบบ Immunoassays เป็นหลัก ใช้ antibody ในการตรวจหา substances ต่างๆในเลือด สร้างชุดตรวจหา Vitamin D หรือ ตัวบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก ส่วนพวกตรวจ routine ต่างๆ เช่น cholesterol, blood sugar จะใช้วิธีที่แตกต่างออกไป

ปัญหาใหญ่สำคัญคือปริมาณของตัวอย่างเลือด เมื่อเลือดจากปลายนิ้วมีปริมาณน้อย แต่อยากจะทำการทดสอบหลายอย่าง เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเจือจางตัวอย่าง เพื่อให้ปริมาณเพียงพอต่อการทดสอบ เมื่อมีการเจือจางสิ่งที่ตามมาคือ ทั้ง Accuracy, precision ต้องตกลงอย่างแน่นอน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่นักวิจัยต้องการแก้ปัญหามาตลอด

แต่ Elizabeth เคลมว่าเครื่องตรวจของพวกเขาตรวจเลือดได้หลักร้อยชนิดจากเลือดเพียงไม่กี่หยด ซึ่งวิธีการตรวจแบบเดิมใน Edison ไม่รองรับทุกการตรวจในแล็บ จึงต้องมีการพัฒนาเครื่องใหม่ขึ้นมา ใช้ชื่อว่า miniLab ซึ่งมีวิธีการตรวจหลายแบบรวมอยู่ในเครื่องเดียวขนาดพอๆกับเครื่อง PC วิธีการคือ นำ Spectrophotometer, Cytometer, Fluoresce-based isothermal detector, Luminometer, Fluorometer, Thermocycler, ย่อส่วนลงแล้วจับยัดลงในเครื่องเดียว (เอาจริงๆก็น่าสนใจทีเดียวเลยนะ)

ส่วนประกอบของเครื่อง miniLab

ในเครื่อง miniLab สามารถตรวจเลือดด้วย 4 วิธีหลัก ได้แก่ Immunoassays, chemistry assays, hematology assays และ วิธีการตรวจผ่านทางการ Amplified DNA

วิธีการดังกล่าวย่อส่วนเครื่องมือต่างๆและรวมไว้ในเครื่องเดียว ไม่ได้มีอะไรใหม่นัก เพราะระบบ portable blood analyzer มีอยู่บ้างแล้วในตลาด อย่างเช่น เครื่องของบริษัท Piccolo Xpress ที่สามารถตรวจเลือดได้ราว 30 ชนิด แต่เครื่องที่มียังไม่ตรงกับความต้องการของ Elisabeth มากนัก เพราะเธออยากให้เครื่องทำงานได้ที่บ้านของผู้ใช้ทั่วไปได้

การที่บอกว่าเครื่องตัวเองตรวจได้มากกว่า 200 ชนิด แต่ทำได้จริงเพียงหลักสิบ แถมยังมีปัญหาเรื่องความถูกต้องและความแม่นยำอีกด้วย แต่เมื่อต้องนำออกไปให้บริการในจุดให้บริการตามร้านขายยาของผู้ร่วมลงทุนอย่าง Walgreens ที่กระจายอยู่ทั่วอเมริกา สิ่งที่ Theranos นำมาใช้คือ เอาเครื่องตรวจที่มีในตลาดมาใช้งาน เช่นเครื่องจาก Seimens แต่กลับรายงานว่าใช้เครื่องของตัวเองตรวจ

นำมาสู่การถูกแฉได้อย่างไร
Adam Clapper หมอ Pathology จาก Columbia, Missouri ที่ใช้เวลาว่างในการเขียนบล็อกให้ความรู้ ชื่อ Pathology Blawg ได้เห็นบทความพิเศษของ The New Yorker, December 15, 2014 เกี่ยวกับ Theranos ในช่วงที่บริษัทและ Elisabeth Holmes,CEO กำลังรุ่งสุดๆ ถูกสัมภาษณ์และได้รับเชิญไปเวทีต่างๆมากมาย รวมถึง TED ก็เคยขึ้นพูดมาแล้ว(คลิปโดนลบทิ้งไปแล้ว)

จากประสบการณ์ในการทำงานและการหาความรู้ในการเขียนบทความมากมาย คำโฆษณาของ Theranos สำหรับ Adam มันดูดีเกินไปที่จะเป็นจริงได้ ความสามารถในการตรวจเลือดจากเลือดเพียงไม่กี่หยดจากปลายนิ้วน่าจะตรวจได้ราวสิบกว่าอย่างเท่านั้น ไม่ใช่หลักร้อยอย่างที่บริษัทอ้าง

ในบทความของ The New Yorker มีอ้างอิงถึงนักวิทยาศาสตร์อาวุโสจาก Quest บอกว่าบริษัทแทบไม่มีการตีพิมพ์งานวิจัย peer-review data เลย แต่ Elizabeth ก็ได้อ้างอิงงานที่เธอเป็นผู้เขียนร่วมในวารสารชื่อ Hematology Reports ซึ่งเขาอยู่ในวงการมานาน แต่แทบจะไม่รู้จักวารสารนี้เลย เขาค้นต่อจนเจอว่าเป็นวารสารในอิตาลี มีระบบ open access ที่สามารถจ่าย 500 ดอลลาร์เพื่อตีพิมพ๋ได้(เป็นเรื่องปกตินะ วารสารใหญ่ๆก็มีระบบนี้) แต่ที่เขาช็อคคือ เป็นข้อมูลที่ตรวจเลือดเพียงแค่ 1 การตรวจ จากคนไข้ 6 คนเท่านั้น ห่างไกลจากการโฆษณามาก เขาเขียนข้อสังสัยต่างๆเหล่านี้ลงบล็อกของเขา แต่ก็มีคนไม่มากที่ติดตามงานของเขา มันจึงไม่ได้เป็นกระแสอะไรมากนัก

แต่เมื่อ Joseph Fuisz ค้นเจอบทความนี้ผ่านทาง Google และเอาบทความไปให้พ่อของเขา Dr. Richard Fuisz เป็นจิตแพทย์นักประดิษฐ์และอดีตเจ้าหน้าที่ CIA เพื่อนบ้านของ Elizabeth รู้จักกันมานาน ซึ่งมีปัญหาฟ้องร้องกับ Theranos เรื่องสิทธิบัตร โดยมีทนายชื่อดังอย่าง David Boies เป็นคนทำคดี Richard เสียเงินไปจำนวนมากกับการสู้คดี มันจึงเป็นอีกหนึ่งเคสตัวอย่างที่ทำให้พนักงานหลายๆคนไม่กล้าเปิดเผยข้อมูลอะไรเลย ถึงแม้จะรู้ความผิดปรกติของบริษัท

Richard Fuisz ได้อ่านบทความ และติดต่อกับ Adam Clapper ทันที และพูดคุยให้ข้อมูลต่างๆ ความผิดปรกติที่เขามีข้อมูล รวมถึงการเสียชีวิตของ Ian Gibbon พนักงานกลุ่มแรกๆของบริษัท แต่ Adam ตอบกลับเขาไปว่าเรื่องต่างๆเหล่านั้นมันอยู่เหนือจากสิ่งที่เขาสงสัย เขาอยากได้หลักฐานในการพิสูจน์มากกว่า

Richard Fuisz พบว่ามีคนเข้ามาดู Profile LinkIn ของเขา คนนั้นคือ Alam Beam ซึ่งเข้ามาเป็น Lab director ของ Theranos ได้ไม่นาน Richard Fuisz พยายามติดต่อกับ Alan Beam ผ่านทางอีเมล และได้พูดคุยกันในเวลาต่อมา Alan พูดกับ Richard Fuisz ด้วยน้ำเสียงค่อนข้างตื่นกลัว

“เหตุผลที่ผมตั้งใจที่จะคุยกับคุณ เพราะคุณเป็นหมอ ผมและคุณได้กล่าวคำสัตย์สาบานฮิปพอคราทีส(Hippocratic Oath) ข้อแรกคือไม่ทำอันตราย(First do no harm)กับคนไข้ แต่ Theranos กำลังทำสิ่งนั้น”

แล้วเริ่มเล่าถึงข้อกังวลต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแล็บที่ตัวเองดูแล
การเล่าถึงการโกหกเจ้าหน้าที่รัฐ
ผลตรวจจากนิ้วที่ไม่ถูกต้อง
ใช้ผลตรวจจากเครื่องอื่นมาอ้างเป็นผลจากเครื่องของตัวเอง
ผลผิดพลาดในการตรวจไทรอยฮอร์โมน
ผลตรวจการตั้งครรภ์ที่ผิดพลาด
การใช้เลือดจากผู้ป่วยมะเร็ง และอื่นๆ

สิ่งสำคัญเขาบอก Elizabeth ว่าเครื่องมือยังไม่มีความพร้อมใช้งานเลย แต่เธอยังต้องการจะนำไปใช้กับผู้ป่วย ซึ่งมันทำให้เขากลัวกับการมีส่วนร่วมตรงนั้น เขาไม่สามารถพูดคุยกับใครได้มาก ไม่งั้นอาจจะถูก David Boies ตามฟ้อง แบบที่ Richard Fuisz โดน
Richard Fuisz กลับไปติดต่อกับ Adam Clapper อีกครั้ง ครั้งนี้เขามีข้อมูลมากขึ้น และ Adam เห็นว่าเรื่องมีมูลอย่างมาก แต่เรื่องมันใหญ่เกินตัวเขาแล้ว เขาเป็นแค่บล็อกเกอร์มือสมัครเล่น ทำงานเป็นแพทย์เต็มเวลา ไม่มีเวลาสืบสวนอย่างจริงจัง และคงไม่สามารถต่อกรกับบริษัทระดับ 9 พันล้าน ที่มี David Boies ทนายอันดับต้นๆของวงการทำงานให้

เขาจึงเริ่มมองหานักสืบสวนและผู้สื่อข่าวมืออาชีพ จนกระทั้งมาเจอ John Carreyrou ผู้สื่อ The Wall Street Journal แล้วการสืบสวน อันยากลำบากและการถูกขู่มากมาย จึงเริ่มขึ้น จนนำมาสู่การแฉการหลอกลวงในวงการ Startup ที่ใหญ่ที่สุดใน Silicon Valley เท่าที่เคยมีมา

มุมมองต่อ Elizabeth Holmes
Elizabeth ถูกมองหรือเปรียบเทียบกับ CEO ผู้สร้างบริษัทที่เป็นสัญลักษณ์ของ Silicon vally อย่าง Steve Jobs, Bill Gates, Mark Zuckerberg ที่หยุดเรียนออกมาก่อนจะเรียนจบ บางคนเรียกเธอ the next Steve Jobs ด้วยซ้ำไป

Mark Zuckerberg เขียนโปรแกรมตั้งอายุ 10 ขวบจากคอมพิวเตอร์ของพ่อที่บ้าน จนเขาจะเข้ามหาลัย เขาเขียนโค้ดได้ด้วยตนเองแล้ว แต่ศาสตร์ทางด้านการแพทย์ มีปัจจัยที่ต่างออกไป มันเป็นศาสตร์ที่ไม่สามารถสอนตัวเองได้ที่บ้าน มันต้องมีฝึกฝนและทำการทดลองกับเครื่องมือต่างๆที่จำเพาะนานหลายปี นั้นเป็นเหตุผลที่นักวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ที่ได้รับรางวัลโนเบลอายุเกิน 60 ปีกันหมด ที่กว่าจะค้นพบสิ่งใหม่ที่สามารถเปลี่ยนโลกได้ต้องใช้เวลาพิสูนจ์อย่างยาวนาน

มุมมองต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
การ treat medical company แบบเดียวกับ tech company เป็นอะไรที่ผิดพลาดมากๆ คุณอาจจะเริ่มเขียนโค้ดในแอพมือถือวันนี้ แล้วในอีกหนึ่งสัปดาห์ข้างหน้า ปล่อย pre-beta ให้คนทดลองใช้ได้ แต่จะทำแบบนี้กับ medical technology ไม่ได้ เพราะผลกระทบมันมากกว่านั้นมาก มันกระทบกับชีวิตคนอย่างมาก ถ้าผลการตรวจบอกว่าคุณเป็นโรคแต่คุณไม่ได้เป็นอะไร(false positive) คุณอาจจะได้รับการรักษา(over treatment)เสียทั้งเงิน เวลา และอาจเกิดผลกระทบอื่นๆตามมา แต่จะแย่กว่านั้นถ้าผลบอกว่าคุณปกติแต่จริงๆคุณเป็นโรค(false negative) คุณอาจจะตายได้เพราะไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที เปรียบเทียบได้ว่า บริษัทคิดสร้างรถบัสพร้อมกับนำไปรับผู้โดยสาร คนจะตายได้ถ้ารถบัสมันล้อหลุด และนั้นคือสิ่งที่ผิดพลาดที่เกิดขึ้น “First Do no harm”

ตอนแรกก็มีความคิดเชียร์อยากให้มี Startup ทางด้าน medical ประสบความสำเร็จเหมือน Startup ด้านอื่นๆ อยากให้มีการปฎิวัติทางด้านการแพทย์ออกมาให้เห็น แม้ว่า Theranos จะล้มเหลว แต่ก็บางอย่างและมีสิทธิบัตรหลายรายการออกมาตลอดที่บริษัทดำเนินการ มองว่ามันก็ได้อะไรกลับมาบ้าง มันทำให้นักลงทุนสนใจมาลงทุนงานทางด้านการแพทย์บ้าง แต่พอได้เห็นความเห็นจากสำนักข่าวหนึ่งที่สรุปการหลอกลวงของ Theranos ครั้งนี้ เกิดความเสียอย่างมาก มี Startup ทางด้านการแพทย์อยู่มากมาย ที่ทำงานวิจัยอย่างจริงจังและทำอย่างถูกต้อง โปร่งใส มีเทคโนโลยีที่ควรได้รับการสนุน กับเสียโอกาสนั้นไป การลงทุนเหล่านั้นกลับสูญเสียไปกับการหลอกลวงของ Theranos ในครั้งนี้ ความคิดเชียร์นั้นก็หายไปทันที

Running Calculator แอพพลิเคชั่นคำนวณ ระยะทาง เวลา ความเร็ว สำหรับนักวิ่ง

Running Calculator

เขียนแอพพลิเคชั่นแปลงค่าเกี่ยวกับการวิ่งครับ คำนวณจาก ระยะทาง เวลา ความเร็ว คำนวณไปมาได้ ใส่สองข้อมูลลงไปแล้วคำนวณหาอีกค่า เช่น

-รู้ว่าจะวิ่งระยะมาราธอน 42.195 กิโลเมตร ภายในเวลา 6:03 ชั่วโมง ต้องวิ่งที่ความเร็วเท่าไหร่
-รู้ความเร็วตัวเอง 5:09 min/km วิ่งนาน 1:53 ชั่วโมง จะได้ระยะเท่าไหร่
เป็นต้น

ที่มาของการเขียนแอพนี้คือ เราจะเจอสถิติของเพื่อนๆนักวิ่งท่านอื่นบ่อยๆ เราก็อยากรู้ว่าตัวเราเทียบกับเพื่อนๆคนอื่นเป็นอย่างไรบ้าง บางคนจะบอกสถิติแค่บางตัว เราก็จะคำนวณกลับไปมาเพื่อให้เป็นข้อมูลที่ตัวเราเข้าใจ แล้วค่อยเทียบกับสถิติของเรา รวมทั้งเอาไว้วางแผนการฝึกซ้อมได้ด้วย เช่น วันนี้มีเวลาประมาณเท่านี้เอง จะวิ่งได้กี่กิโลเมตร อันนี้ใช้บ่อยเลย ตามประสาคนควบคุมเวลาว่างออกไปซ้อมวิ่งไม่ค่อยได้นัก ทำให้อยากได้แอพพลิเคชั่นแบบนี้มาก

แอพพลิเคชั่นลักษณะนี้ค้นดูใน Play Store ก็พอมีบ้างแต่ไม่ใช่ที่อยากได้ บางอันก็สับสน ใช้ยาก ที่อยากได้คือเอาง่ายที่สุด และคำนวณไปมาได้ตลอด เขียนเองเลยน่าจะง่ายที่สุด

ส่วนตัวการ์ตูนข้างล่างแค่ใส่มาเล่นๆ ช่วยบอกว่าถ้าน้ำหนักเยอะ ความเร็วที่คำนวณได้เร็วมากน้อยแค่ไหน วิ่งเร็วไปอาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ ต้นแบบการ์ตูนคือ พี่ Zritarah Winston เป็นความเร็วของพี่เขาเลยล่ะ

ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น RunningCalc ได้ที่

Exit mobile version