วิ่งมาราธอนครั้งแรกของฉัน 42.195 กิโลเมตร ที่ทั้งเหนื่อย เจ็บ สุข ปนๆกัน

ขอบคุณรูปสวยๆ โดย เฮียไช้ จาก forrunnersmag.com

บันทึกไว้เตือนความจำตัวเอง อาจจะสับสน เรียบเรียงไม่ดีนัก นึกอะไรได้ก็บันทึกลงไป

หลังวิ่งจบมาราธอน

หลังจากจบการวิ่งมาราธอนครั้งแรกของชีวิต ระยะทาง 42.195 กิโลเมตร (ความจริงระยะจริงที่วิ่งมันวัดได้ประมาณ 43 กิโลเมตร) ในงานพัทยามาราธอน เมื่อวันอาทิตย์ ที่ 27 กรกฎาคม 2557 ที่ผ่านมา จบด้วยเวลา 4:41:47 ชั่วโมง ก็ตามเป้าหมายที่คิดว่าครั้งแรกอยากทำเวลาให้ได้ต่ำกว่า 5 ชั่วโมง หลังจากวิ่งเสร็จและกลับมากรุงเทพฯอาการเจ็บต้นขาบ้าง ทะเลาะกับบันไดอยู่ราวสองวันก็กลับมาเดินได้ปกติ อยากบันทึกถึงเพราะมันเป็นครั้งแรกที่วิ่งได้นานและไกลขนาดนั้น ในชีวิตไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าจะวิ่งได้ไกลขนาดนั้น และมีหลายคนบอกว่าวิ่งมาราธอนจะทำให้ชีวิตเราเปลี่ยนไป “ถ้าอยากเปลี่ยนชีวิตก็ให้มาวิ่งมาราธอน” นั่งคิดนอนคิดมาตลอดหลังจากนั้นว่าชีวิตเราเปลี่ยนไปหรือป่าวว่ะ? นั้นนะสิ เปลี่ยนไปไหมว่ะ? คำตอบคือ “ไม่” ก่อนกับหลังเข้าเส้นชัย ไม่มีอะไรเปลี่ยนไปเลย เรารู้สึกเฉยๆเมื่อเท้าก้าวผ่านเส้นชัยมา แปลกใจตัวเองมากที่ไม่รู้สึกเลยว่าได้ทำอะไรที่ยิ่งใหญ่มากๆได้สำเร็จ ส่วนหนึ่งคงเพราะเราค่อนข้างมั่นใจว่าตัวเองจะวิ่งจบและต้องทัน 6 ชั่วโมง ตามที่กติกาการแข่งขันบอกไว้

แต่ก่อนจะปลักใจเชื่อว่าตัวเองไม่มีอะไรเปลี่ยนไปเลยนั้น ลองดูว่ากว่าจะถึงจุดนี้ได้ผ่านอะไรมาบ้าง ค่อยๆดูไปว่าจริงไหมที่ไม่มีอะไรเปลี่ยนไปเลย อย่างหนึ่งที่ทำให้ประหลาดใจกับตัวเองอย่างมาก คือการได้นั่งดูคนอื่นเข้าเส้นชัยครับ เป็นอะไรที่สร้างความอิ่มใจได้อย่างไม่น่าเชื่อ เราเห็นแต่ละคนที่พยายามจะลากตัวเองให้เข้าเส้นชัยให้ได้ ร่างกายที่วิ่งมาแล้วกว่า 42 กิโลเมตรมันบอกให้หยุด แต่ใจบอกให้ไปต่อ บางคนดูอ่อนล้ามากๆ แต่พอใกล้ถึงเส้นชัย ไม่รู้เรี่ยวแรงมากจากไหน ฮึดขึ้นมาวิ่งเร็วกว่าระยะที่ผ่านมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ อดไม่ได้ที่ต้องปรบมือตอนรับให้กำลังใจคนที่กำลังจะเข้าเส้นชัย นาทีที่เพื่อนร่วมทริปวิ่งเข้ามา เราดีใจมาก วิ่งไปรับตอนนั้น คือ ดีใจกว่าตอนที่ตัวเองเข้าเส้นชัยเสียอีกครับ ถ้าการวิ่งครั้งนี้ไปคนเดียวอย่างที่ตั้งใจครั้งแรก คงไม่ได้มีช่วงเวลาดีๆแบบนี้แน่นอน ซ้อมมาด้วยกันและจบรายการเดียวกันเป็นอะไรที่คุยกันได้อีกหลายวันเลยครับ

ระหว่างวิ่งมาราธอน

ที่พัทยามาราธอนปล่อยตัวที่เวลา 3:45 น. ที่จุดปล่อยตัว เพื่อนๆนักวิ่งดูตื่นตัวกันมาก ระยะ 42.195 กิโลเมตร กลุ่มเรามี 3 คน น่าจะเป็นกลุ่มที่หน้าใหม่สุดแล้วกับการวิ่งมายังไม่ถึง 7 เดือนด้วยซ้ำไป แต่ลงวิ่งระยะไกลสุดของรายการ วิ่งตอนเข้ามืดดูจะไม่เหนื่อยเท่าวิ่งตอนกลางวันหรือตอนเย็น ระหว่างวิ่งไปพูดคุยกับเพื่อนร่วมทางเป็นระยะ บางคนวิ่งไปฟังเพลงเสียงดัง ร้องเพลงไปด้วย บ่งบอกได้ว่าวิ่งมานานระบบการหายใจดีมาก ไม่งั้นไม่สามารถร้องเพลงตอนวิ่งได้แน่นอน สำหรับเราแค่คุยยังทำได้ยากเลย ช่วงฮาฟมาราธอนเราทำเวลาได้ค่อนข้างดี คือรักษา Pace ประมาณ 6 นาที/KM ไว้ได้ แต่พอผ่านระยะ 30 กิโลเมตร ขาเริ่มไม่ไหวแล้ว น้ำแข็งกับฟองน้ำที่อยู่ตามจุดบริการข้างทางช่วยได้เยอะ แล้วเหมือนขาจะเป็นตะคริวเอาตอนกิโลเมตรที่ 39 หยุดยืนอยู่เกือบ 2 นาที ทั้งเพื่อนร่วมทางและเจ้าหน้าที่เขามาดูใหญ่เลยว่าเราเป็นอะไร แต่พอได้ยืนพักสักครู่ก็วิ่งช้าๆสลับเดินจนเข้าเส้นชัยได้ พัทยามาราธอนถือว่าเป็นรายการที่ค่อนข้างหินทีเดียวจากที่ฟังมาจากผู้มีประสบการณ์ เพราะมีเนินเยอะ วิ่งขึ้นเนินตอนระยะกิโลเมตรที่ 40 มันสุดโหดจริงๆ แต่ไม่มีสักแว้ปเลยนะที่เราคิดจะหยุดวิ่ง ในหัวมีแต่ต้องวิ่งให้จบให้ได้

ก่อนวิ่งมาราธอน

ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้จะเล่าว่าทำไมต้องเริ่มเรื่องเป็นตอนที่วิ่งจบ->ระหว่างวิ่ง->ก่อนวิ่ง เพราะอยากจะบอกว่ากว่าจะไปถึงตรงจุดนั้นได้ มันมีหลายอย่างที่เกิดขึ้นก่อนมากมายหลายอย่าง นับถอยหลังไปเมื่อ 7 เดือนที่แล้ว เมื่อปลายปี 2556 ที่ทำงานมีกิจกรรมให้พนักงานออกมาวิ่งกัน มีกิจกรรมให้คะแนนเป็นกลุ่ม มีตัวคูณเป็นกำลังใจหากใครน้ำหนักหรืออายุเยอะ เป็นเหมือนกิจกรรมที่โดนบังคับนิดๆให้ออกไปวิ่ง ตอนนั้นรองเท้าวิ่งยังไม่มีด้วยซ้ำ กิจกรรมนั้นทำให้เรารู้ว่าตัวเองวิ่งต่อเนื่องได้สั้นมากๆคือไม่ถึง 1 กิโลเมตร ก็หอบ จุกท้อง หายใจไม่ทันแล้ว ทั้งๆที่ปกติเป็นคนชอบเล่นกีฬาอยู่แล้ว แต่ห่างหายไปนานมากเพราะข้ออ้างไม่มีเวลา ไม่มีเพื่อน ไม่มีที่เล่น และในกิจกรมเดียวกันนี้เราได้เห็นเพื่อนที่ทำงานด้วยกันวิ่งน๊อครอบเราได้อย่างสบาย (เจ็บใจชะมัด)

ครั้งนั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่เรากับพี่ๆที่ทำงานตัดสินใจชวนกันไปซื้อรองเท้าวิ่งมาใส่กัน ซึ่งเป็นรองเท้าที่แพงที่สุดในชีวิตที่เคยซื้อเลย แล้วก็ออกมาซ้อมวิ่งกัน พอซื้อมาแล้วก็ต้องวิ่งให้คุ้ม เมื่อวิ่งไปก็อยากเก็บสถิติไว้ด้วยก็ติดตั้งแอพพลิเคชั่นที่บันทึกการวิ่งและเส้นทางในการวิ่ง พวกเราเลือก Nike+Running ซึ่งต้องบอกว่าทำให้การวิ่งสนุกขึ้นมาก แอพพลิเคชั่นสามารถเก็บสถิติของเราได้แล้ว ยังเห็นสถิติของเพื่อนๆด้วย สามารถตั้ง Challenge แข่งกันใครวิ่งสะสมได้มากกว่า การมีเพื่อนชวนกันไปวิ่งเป็นแรงจูงใจที่ดีมากๆ การได้ชนะสถิติเดิมของตัวเองได้เป็นความสุขในการวิ่งอย่างหนึ่ง เช่น วิ่งได้ไกลขึ้น วิ่งได้เร็วขึ้น วิ่งได้บ่อยมากขึ้นในหนึ่งสัปดาห์ ทำให้เราอยากจะชนะตัวเราเอง อยากเพิ่มศักยภาพของตัวเองขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วก็เปลี่ยนเป็นการเสพติดการวิ่งไปเลย นอกจากนี้เรียกว่าหาข้อมูล ความรู้เกี่ยวกับการวิ่งเยอะมากตารางการซ้อมที่ดี การวางเท้า อุปกรณ์ การยืดเหยียด ฯลฯ กลายเป็นอีกเรื่องที่สำคัญที่ต้องในความสนใจเป็นพิเศษไปเลย

เมื่อซ้อมวิ่งแล้ว ก็เริ่มอยากลองลงสนามแข่งดู ไม่ได้หวังอะไรมาก อยากรู้ว่าจะวิ่งครบตามระยะการแข่งขันได้ไหม ซึ่งในกรุงเทพฯมีรายการวิ่งเพื่อการกุศลให้เลือกลงกันแทบจะทุกเดือน ส่วนใหญ่เป็นระยะมินิมาราธอน 10.5 กิโลเมตร นานๆจะมีฮาร์ฟมาราธอน 21 กิโลเมตรมาบ้าง ส่วนมาราธอน 42 กิโลเมตร มีแค่ไม่กี่ครั้งต่อปีและส่วนใหญ่ก็อยู่ต่างจังหวัดด้วย กลายเป็นว่าระยะหลังๆเราลงวิ่งในรายการต่างๆแทบจะทุกเดือนบางครั้งหลายรายการในหนึ่งเดือน แต่ละรายการก็จะมีเส้นทางที่แตกต่างกัน มีเหรียญสำหรับผู้เข้าเส้นชัยที่สวยแตกต่างกันตามโอกาสต่างๆ มีเสื้อที่ออกแบบมาเฉพาะ บางงานมีบันทึกสถิติของผู้เข้าแข่งขันลงฐานข้อมูลในเว็บไซต์ บางงานมีใบประกาศให้ด้วย การวิ่งจึงกลายเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งของพวกเรา งานเยอะมากน้อยก็พยายามจัดสรรเวลาออกไปซ้อมวิ่งกัน ระยะมินิมาราธอนกลายเป็นเรื่องธรรมดาของพวกเราแล้ว ในระยะ 10 กิโลเมตร วิ่งโดยไม่หยุดพักได้ ซึ่งมันต่างกับเมื่อปีที่แล้วอย่างคนละขั่วเลย เรารู้ว่าร่างกายเราแข็งแรงขึ้น ปกติเป็นคนไม่อ้วนอยู่แล้ว แต่วิ่งก็ไม่ได้ทำให้น้ำหนักลงไปอีกนะ เคยอยู่เท่าไหร่ก็เท่านั้น ทั้งๆที่คิดว่าตัวเองกินเยอะและบ่อยขึ้นด้วยซ้ำ

ต่อไปก็พยายามจะเพิ่มระยะขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งความเร็วให้ดีขึ้นเรื่อยๆด้วย ตอนนี้คนรอบข้างก็เริ่มมาวิ่งด้วยมากขึ้นเรื่อยๆเหมือนโรคติดต่อ แต่เป็นโรคที่ดีนะ

สรุปจบว่า สำหรับการวิ่งมาราธอนครั้งแรกการเตรียมตัวอาจจะยังไม่ดีเท่าไหร่นัก แต่ได้ประสบการณ์ที่น่าเหลือเชื่อจริงๆ ทั้งเหนื่อย เจ็บ สุข ปนๆกัน แต่ประสบการณ์ที่ผ่านมาจนถึงวันนั้นสำคัญกว่ามาก อย่างที่พี่ที่เรานับถือท่านหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า “วิ่งมาราธอนไม่ได้เริ่มที่จุดสตาร์ท แต่เริ่มตั้งแต่ตอนที่เราคิดจะวิ่งแล้ว” เชื่อแล้วว่ามันเป็นดังนั้นจริงๆ

…ออกมาวิ่งด้วยกันครับ

แอพพลิเคชั่นช่วยคำนวณจำนวนเซลล์ใน Cell Counting Chamber

Cell Counting Calculator

Cell Counting Calculator เป็นแอพพลิเคชั่นเล็กๆที่เขียนขึ้นเพื่อใช้ช่วยคำนวณจำนวนเซลล์ใน Counting Chamber ซึ่งโดยปรกตินักวิจัย นักเรียน คนทำงานที่เกี่ยวข้องกับเซลล์ส่วนใหญ่จะต้องมีการนับจำนวนเซลล์กันอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่น การเลี้ยงเซลล์มะเร็งเพื่อใช้ในงานวิจัยเวลาจะนำไปทดสอบอะไรบ้างอย่าง ทดสอบยา ติดตามการแบ่งตัว จำเป็นจะต้องรู้ว่าเซลล์ที่ใช้นั้นมีจำนวนอยู่เท่าไหร่ มากน้อยเหมาะสมหรือไม่ หรือมีการเปลี่ยนอย่างไรบ้าง จึงต้องมาการนับเซลล์อยู่ตลอดแทบจะทุกกระบวนการทำงานวิจัย

คำถามต่อไปคือนับอย่างไร? ถ้าแลปไหนรวยก็มีเครื่องนับอัตโนมัติช่วยนับให้ เครื่องแพงมากและค่าใช้จ่ายต่อการนับหนึ่งครั้งก็สูงมากระดับหลักร้อยถึงหลายร้อยบาท ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันจึงยังมีการนับเองด้วยคน ผ่านทางกล้องจุลทรรศน์(เซลล์ขนาดเล็กต้องมองผ่านกล้องอีกที) โดยมีอุปกรณ์อย่างหนึ่งที่เรียกว่า Hemocytometer (ใช้นับเม็ดเลือด)หรือบางที่ก็เรียกกันว่า Counting chamber หน้าตาก็เหมือนในรูปด้านล่าง ถ้าอยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติมคลิกเข้าไปอ่านตามลิงค์ได้เลยครับ

Hemocytometer ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Hemocytometer

ใน Hemocytometer เมื่อมองผ่านกล้องจุลทรรศน์จะเห็นว่ามีกริดอยู่ด้านในแบ่งเป็นช่อง กำหนดเป็นพื้นที่ไว้ ส่วนขอบมันจะยกสูงขึ้นมาให้วางแผ่นแก้ว(cover slip) เพื่อกำหนดส่วนสูงให้ได้ 0.1 มิลลิเมตร เมื่อเรานำเซลล์ที่ละลายอยู่ในสารละลายเข้าไปในช่องว่างระหว่างแผ่นแก้วกับ chamber แล้ว เอาพื้นที่ตามตารางกริดคูณกับส่วนสูงก็จะทราบปริมาตรที่แน่นอน เมื่อนับจำนวนเซลล์จึงรู้ได้ว่าในสารละลายมีเซลล์มากน้อยเท่าไหร่ต่อหนึ่งหน่วยปริมาตร

กริดภายใน Counting chamber ภาพจาก https://www.nexcelom.com/Products/Disposable-Hemacytometer.html

อธิบายไปยึดยาวแล้ว เข้าสู่ปัญหาและเหตุผลที่ทำไมต้องทำแอพพลิเคชั่น Cells Calculator ขึ้นมา ปัญหาเริ่มจากว่าเมื่อเรานับตามพื้นที่ช่องที่แตกต่างกันปริมาตรที่ได้ก็จะเปลี่ยนไปด้วย เราต้องคำนวณปริมาตร รวมถึงคำนวณความเข้มข้นของเซลล์ที่เราอยากรู้พร้อมกันด้วย ในบางครั้งถ้าเซลล์มีความเข้มข้นสูง(หนาแน่นสูง) เราก็จะเลือกนับในช่องเล็กลง เพื่อประหยัดเวลา ลดความเมื่อยล้าของสายตา แต่ถ้าเซลล์มีความหนาแน่นต่ำก็จะเลือกนับในช่องใหญ่ขึ้นได้ เพื่อเพิ่มความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือให้กับข้อมูลที่ได้ (นับเยอะย่อมถูกต้องมากกว่า) การที่ต้องคำนวณพื้นที่ใหม่ในทุกๆครั้งที่นับ มันไม่โอเคแน่นอน บางคนก็จะทำเป็น Factor ไว้คูณกลับได้ง่ายๆ ใช้ได้ในกรณีที่นับกับเซลล์ที่มีความหนาแน่ใกล้เคียงกันทุกครั้งที่นับ แล้วเลือกนับในตำแหน่งเดิม แต่ถ้าต้องเปลี่ยนบ่อยๆ ก็ไม่โอเคแล้ว ซึ่งปัญหาดังกล่าวที่เปลี่ยนตำแหน่งพื้นที่นับบ่อยๆเกิดขึ้นกับเรา

จึงอยากได้ตัวช่วยที่สามารถให้เลือกได้ว่าจะนับตรงไหน ใส่ตัวเลขที่นับได้ เอาตัวคูณ Dilution Factor ใส่เข้าไป กดปุ่มแล้วคำนวณให้เลย อยากได้มาก น่าจะช่วยให้เราทำงานได้สะดวกขึ้นมากๆ บางครั้งการกดตัวเลขในเครื่องคิดเลขก็เกิดความผิดพลาดบ่อยๆ อยากจะลดปัญหาตรงนี้ด้วย

จึงเริ่มค้นหาแอพใน Google Play เพราะคิดว่าถ้ามีติดในมือถือน่าจะสะดวกในการใช้งาน สรุปคือไม่มี มีใกล้เคียงบ้าง แต่ไม่ใช่ในแบบที่ต้องการ สุดท้าย เมื่อไม่มีก็เขียนเองเลยสิ อยากได้แบบไหนก็เขียนเองเลย

สำหรับเราที่ไม่ใช่โปรแกรมเมอร์ พอรู้ภาษาคอมพิวเตอร์อยู่บ้าง จะให้ฮาร์ดโค้ดเลยคงอีกนานกว่าจะได้ใช้ อีกอย่างแอพฯไม่น่าซับซ้อนมากนัก จึงเลือกใช้ App Inventor เป็นตัวช่วยในการเขียน ซึ่งก็เพียงพอกับสิ่งที่ต้องการและสิ่งที่ได้มา

จึงออกมาเป็น Chamber calculator ตัวแรก ที่ช่วยให้เราทำงานได้ง่ายขึ้นมาก

Chamber calculator

ใช้ไปสักพักหนึ่ง มีคนเห็นเราใช้บอกว่าสะดวกดีขอมั้งได้ไหม ตอนนั้นมันยังเป็นแอพที่ไม่ได้จัดเรียงดีอย่างที่เห็นในรูปนะ มั่วกว่านี้เยอะ แต่ใช้งานได้ แต่พอจะเอาไปให้คนอื่นใช้เลยต้องนั่งปรับแต่งเพิ่มเติมอีกหน่อย จะได้ใช้ได้ง่ายขึ้น คราวนี้เราคิดว่าถ้าเอาไปแจกให้คนทั่วไปได้ลองใช้ดูเลยจะเป็นไง พอมีคนได้ลองใช้ก็จะได้ feedback กับมา เราก็จะได้เอามาปรับเพิ่มเข้าไปได้อีก พอมีคนเห็นพอคนได้ลองใช้ก็จะมี request เพิ่มมาว่าอยากได้ตัวนับเซลล์เป็น-เซลล์ตายที่ใช้กันบ่อยๆในงานวิจัยด้วยได้ไหม ก็เห็นว่าน่าจะทำให้แอพมีประโยชน์มากยิ่งขึ้น ก็เลยพัฒนาตัวนี้เพิ่มเข้ามาด้วยให้อยู่ในแอพเดียวกันไปเลย อยากใช้ตัวไหนค่อยสลับหน้าจอใช้งานเอา เลยได้อีกโหมดเป็นอีกโหมดคือ Viability calculator

viability calculator

ในโหมดนี้ก็มีปุ่มให้กดคลิกนับไปในตัวได้เลย ตามคำเรียกร้องของคนใช้ พร้อมเสียง และการสั่นเมื่อกดนับ ซึ่งทำให้ทำงานได้สะดวกมากยิ่งขึ้น หลังจากนั้นได้ลองปล่อยออกไปทาง Facebook ให้คนที่สนใจลองโหลดไปใช้ดูบ้าง เพราะอยากได้ feedback เอามาทำต่อให้สมบูรณ์มากขึ้นอีก ก็ได้เพื่อนๆหลายคนช่วยลองใช้ให้และได้คอมเม้นต์ที่ดีกลับมาค่อนข้างเยอะเลย และสุดท้ายเลยคิดว่าไหนๆก็ทำมาแล้วเอาขึ้น Google Play Store ไปเลยแล้วกัน เผื่อมีประโยชน์กับคนอื่นด้วย

เข้าไปโหลดแอพพลิเคชั่น Cells Calculator ได้ฟรีที่

QR Code

หลังจากปล่อยไป ก็ได้โพสให้เพื่อนๆใน Facebook ได้รู้เผื่อว่าจะมีคนสนใจ ผ่านไป 3 วัน พบว่ามีคนโหลดไปแล้วประมาณร้อยกว่าครั้ง ซึ่งก็ถือว่าเหนือความคาดหมายมาก เพราะเป็นแอพเล็กๆ ง่ายๆ และก็ค่อนข้างเฉพาะทางมากๆ มีแค่ไม่กี่คนที่จะได้ทำงานเกี่ยวกับเซลล์และไม่กี่คนจะมีโอกาสได้ใช้งานในลักษณะนี้ ถือว่าทะลุเป้าที่ตั้งไว้มากๆครับ

ส่วนวิธีใช้แบบง่ายๆก็ได้ลองอัดคลิปมาให้ได้ดูกันด้วย

วิธีการใช้แอพพลิเคชั่น Cells calculator 

รายการที่ต้องปรับปรุงเพิ่มเติม

  • เพิ่มปุ่มนับให้โหมด Chamber Calculator
  • ปรับให้เลือกช่องกริดได้หลากหลายมากขึ้น
  • เพิ่มสีสัน และภาพให้ดูน่าใช้มายิ่งขึ้น

50 ปี ของการเดินเครื่อง สทน. เปิดให้บุคคลทั่วไปเยี่ยมชมเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูของจริง!

เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูของไทย

สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) หรือ สทน. ได้จัดกิจกรรมเปิดบ้าน(Open house) เชิญชวนผู้สนใจเยี่ยมชมเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย ซึ่งเป็น “เครื่องแรกและเครื่องเดียวของไทย”  เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี ของการเดินเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2505

เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยในไทยนั้นมีกำลังน้อยมากครับ เมื่อเทียบกับเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าในต่างประเทศ จึงมีความปลอดภัยสูงกว่ามาก เชื่อว่าหลายคนอาจยังไม่รู้ว่าเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูตั้งอยู่ในกรุงเทพฯของเรานี้เอง

หน้าที่หลักของเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูถูกใช้ในงานบริการประชาชน และงานวิจัยในหลายๆด้าน เช่น อุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ ยารักษาโรค อัญมณี การเกษตร ฯลฯ นับว่าตลอดเวลาที่เริ่มเดินเครื่องจนถึงปัจจุบันได้สร้างคุณประโยชน์ให้กับงานวิจัยและช่วยพัฒนาประเทศในด้านต่างๆได้มากมาย

ในโอกาสที่เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยมีอายุครบ 50 ปี สทน. จึงจัดกิจกรรมและนิทรรศการต่างๆมากมาย อาทิเช่น การจัดแสดงแกลอรี่ภาพสำคัญๆของ สทน. การจัดแสดงนิทรรศการเครื่องทางวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ที่ใช้ในปฏิบัติงานในอดีต ระบบการควบคุมความปลอดภัย ซุ้มกิจกรรมต่างๆ เกมการละเล่นพร้อมของรางวัล การแสดงบนเวที

พิเศษสุดของงานนี้! คือ การเปิดให้เยี่ยมชมเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยของจริงครับ ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสพิเศษอย่างมากที่บุคคลทั่วไปจะเข้าชมเครื่องได้ (รับประกันปลอดภัย แน่นอน!)

เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณู เครื่องแรกและเครื่องเดียวของไทย
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) ขอเชิญชวนท่านร่วมงาน ครบรอบ 50ปี การเดินเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย

รายละเอียดของงาน

50 ปี เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย กับความก้าวหน้า เทคโนโลยีนิวเคลียร์ไทย

จัดใน วันที่ 29-30 ตุลาคม 2555 ตั้งแต่เวลา 9.30-16.00น. ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าชม

งานจัดขึ้นที่ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) ถ.วิภาวดีรังสิต ติดกับ ม.กษตรศาสตร์ คลิกดูแผนที่

สำหรับผู้ที่สนใจ เดินทางไปด้วยรถสาธารณะ ใช้ BTS หมอชิต แล้วต่อด้วยรถเมย์ที่่วิ่งบนถนนวิภาวดีมุ่งหน้าไปดอนเมือง พ้นแยกงามวงศ์วาม มาประมาณ 2 ป้าย ก็จะถึงที่จัดงาน ซึ่งอยู่ระหว่าง ม.เกษตร กับ โรงงานยาคูลท์ ครับ

สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) เบอร์โทร 02-5967600 https://www.tint.or.th

แผนที่สถานที่จัดงาน

[googlemaps https://maps.google.co.th/maps/ms?msa=0&msid=213544067488530788156.0004ccf60f314bb9d6f4a&hl=en&ie=UTF8&t=m&ll=13.854226,100.56608&spn=0.004167,0.006427&z=17&output=embed&w=600&h=400]

ค้นหาคำศัพท์บัญญัติ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน อังกฤษ-ไทย

ค้นหาคำศัพท์บัญญัติ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน อังกฤษ-ไทย

ถ้าใครต้องเขียนเอกสารวิชาการอย่างเช่น วิทยานิพนธ์ สิทธิบัตร โครงการขอทุน หนังสือ รายงานโครงการวิจัย ฯลฯ อาจจะจำเป็นต้องใช้ศัพท์บัญญัติที่ถูกต้องตามราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งทางราชบัณฑิตยสถานก็มีเครื่องมือที่จะช่วยเหลือเราในการค้นหาคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่ถูกบัญญัติใหม่ในภาษาไทย โดยอำนวยความสะดวกให้ด้วยการค้นหาผ่านเว็บไซต์  ซึ่ง ณ ตอนนี้ มีคำศัพท์บัญญัติที่ให้บริการ 19 ฐานข้อมูล

  1. ศัพท์คอมพิวเตอร์ อังกฤษ-ไทย และ ไทย-อังกฤษ จำนวน ๖,๔๘๒ ระเบียน
  2. ศัพท์แพทยศาสตร์ อังกฤษ-ไทย และ ไทย-อังกฤษ จำนวน ๓๑,๓๖๕ ระเบียน
  3. ศัพท์รัฐศาสตร์ อังกฤษ-ไทย และ ไทย-อังกฤษ จำนวน ๘,๕๒๗ ระเบียน
  4. ศัพท์การเชื่อม อังกฤษ-ไทย และ ไทย-อังกฤษ จำนวน ๑,๙๒๕ ระเบียน
  5. ศัพท์พลังงาน อังกฤษ-ไทย และ ไทย-อังกฤษ จำนวน ๑,๓๕๐ ระเบียน
  6. ศัพท์ประชากรศาสตร์ อังกฤษ-ไทย และ ไทย-อังกฤษ จำนวน ๔,๗๙๒ ระเบียน
  7. ศัพท์พฤกษศาสตร์ อังกฤษ-ไทย และ ไทย-อังกฤษ จำนวน ๖,๗๓๘ ระเบียน
  8. ศัพท์ปรัชญา อังกฤษ-ไทย และ ไทย-อังกฤษ จำนวน ๑,๒๗๑ ระเบียน
  9. ศัพท์ประกันภัย อังกฤษ-ไทย และ ไทย-อังกฤษ จำนวน ๓,๐๑๑ ระเบียน
  10. ศัพท์วรรณกรรม อังกฤษ-ไทย และ ไทย-อังกฤษ จำนวน ๑,๘๕๙ ระเบียน
  11. ศัพท์ปรับอากาศ อังกฤษ-ไทย และ ไทย-อังกฤษ จำนวน ๑,๘๗๕ ระเบียน
  12. ศัพท์สัทศาสตร์ อังกฤษ-ไทย และ ไทย-อังกฤษ จำนวน ๖๐๔ ระเบียน
  13. ศัพท์นิติศาสตร์ อังกฤษ-ไทย และ ไทย-อังกฤษ จำนวน ๑๕,๔๑๕ ระเบียน
  14. ศัพท์ศิลปะ อังกฤษ-ไทย และ ไทย-อังกฤษ จำนวน ๑,๘๔๕ ระเบียน
  15. ศัพท์เทคโนโลยีสารสนเทศ อังกฤษ-ไทย และ ไทย-อังกฤษ จำนวน ๓,๙๘๑ ระเบียน
  16. ศัพท์ยานยนต์ อังกฤษ-ไทย และ ไทย-อังกฤษ จำนวน ๓,๓๐๖ ระเบียน
  17. ศัพท์ทันตแพทยศาสตร์ อังกฤษ-ไทย และ ไทย-อังกฤษ จำนวน ๓,๕๓๔ ระเบียน
  18. ศัพท์ธรณีวิทยา อังกฤษ-ไทย และ ไทย-อังกฤษ จำนวน ๕,๘๑๑ ระเบียน
  19. ศัพท์คณิตศาสตร์ อังกฤษ-ไทย และ ไทย-อังกฤษ จำนวน ๕,๔๖๑ ระเบียน

ผมได้มีโอกาสได้ใช้งานบ้างในบางครั้ง แต่ส่วนใหญ่ศัพท์ที่ค่อนข้างเฉพาะทางก็ยังค้นไม่เจอ(เพราะยังไม่บัญญัติ) เราก็จำต้องใช้ทับศัพท์ไป แต่อย่างไรก็ตามบริการค้นหาคำศัพท์บัญญัตินี้ก็ช่วยได้เยอะทีเดียว ดังนั้นควร Bookmark เก็บไว้ครับ

ตัวอย่างการใช้งาน

ทดลองค้นหาคำว่า endothelium

เข้าใช้งานบริการค้นหาคำศัพท์บัญญัติ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน อังกฤษ-ไทย ได้ที่  https://rirs3.royin.go.th/coinages/webcoinage.php

* ถ้าเปิดเว็บไซต์เข้าไปแล้วไม่สามารถอ่านข้อความได้(เป็นภาษาประหลาด) ให้เปลี่ยน encoding เป็น Thai

ผ่าตุ๊กตาบาร์บี้ดูอวัยวะภายใน

ตุ๊กตาบาร์บี้ที่น่ารักของเด็กๆ ทั้งสวยสง่า แต่งองค์ทรงเครื่องได้หลากหลายแบบ เมื่อ Jason Freeny จับตัวเธอมาผ่าดูอวัยวะภายในจะเป็นยังไง ทั้งน่ารักและน่ากลัวปนกันไป หรือถ้าคุณอยากให้ลูกหลานตัวน้อยๆของคุณเป็นหมอก็ซื้อไปให้เล่นตั้งแต่เด็กๆได้เลย โตขึ้นจะได้ชินกับอวัยวะภายใน(ฮา)

แต่ช้าก่อน นี้เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างการผ่าดู Anatomy ผลงานของ Jason Freeny เขายังผ่าตุ๊กตาตัวอื่นๆที่คุณรู้จักดี เช่น มาริโอ้ คิตตี้(ยังโดนเลย) มิกกี้เมาส์ ตุ๊กตาจาก troy story, Star wars ฯลฯ ตามไปดูผลงานของเขาได้ที่ Facebook page แสดงขั้นตอนการทำให้ดูอย่างละเอียดเลยทีเดียว หรืออยากสั่งซื้อเอามาเก็บไว้ดูเล่นก็เข้าไปที่เว็บ Moist Production (น้องบาร์บี้ยังมีแค่เวอร์ชั่น Print อยู่นะครับ)

มาดูตุ๊กตาบาร์บี้โดนผ่า อย่างน้อยผมก็รู้แล้วว่าเธอเป็นผู้หญิงแน่นอน(ฮา)

The Real Anatomy of Barbie
The Real Anatomy of Barbie
The Real Anatomy of Barbie
The Real Anatomy of Barbie
The Real Anatomy of Barbie
The Real Anatomy of Barbie
The Real Anatomy of Barbie

ที่มา: https://www.bitrebels.com  via: https://scienceroll.com

แนะนำบล็อกเกี่ยวกับ Medical Microbiology ของคนใกล้ตัว

Noobnim.in.th

ขอแนะนำบล็อกคนใกล้ตัวครับ Noobnim.in.th บล็อกของ @ac_nim แม้ว่าตอนแรกจะพยายามชักชวน ชักจูงยังไง ไม่เคยจะสนใจเขียนเลย(แรงดึงดูดไม่พอ!) สุดท้ายต้องขอบคุณบล็อกของ @khajochi https://www.khajochi.com ที่น่าจะเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้เธอลุกขึ้นมาเขียนบล็อกของตัวเองบ้าง (ก็ทั้งหวานและโรแมนติกซะขนาดนั้น) ผมเลยได้เป็นหน่วย support ให้อย่างเต็มที่ ทั้ง Domain และ Hosting ก่อนหน้าที่จะมาเป็นบล็อกส่วนตัว ให้ลองไปเขียนบน WordPress.com ก่อน ซึ่งเคยเตรียมไว้ให้นานแล้วเหมือนกัน ตอนแรกคิดว่าคงจะเห่อแค่พักๆ แต่ผ่านมา 4 เดือนกว่าแล้ว ยังเขียนอยู่เป็นระยะๆ แสดงว่าคงจุดติดไปแล้ว ในฐานะผู้สนับสนุนเลยจะช่วยโปรโมทให้อีกทางครับ

Noobnim.in.th เรื่องที่เธอเขียนเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวเธอโดยเฉพาะ(ก็มันบล็อกส่วนตัวนิ) แต่ที่เน้นสุดคงจะเป็นเรื่อง จุลชีววิทยา ทางการแพทย์ (Medical Microbiology) ในระดับ Advanced สุดๆ เอาไว้อ่านเตรียมสอบกันเลยทีเดียว แต่คนที่สนใจทั่วไปรู้เรื่องชีววิทยาบ้างก็อ่านสนุกได้เหมือนกันครับ บางเรื่องที่น่าสนใจผมก็ขออนุญาติเอาไปลงไว้ที่ Biomed.in.th เหมือนกัน แต่เราๆท่านๆอาจจะต้องทำความเข้าใจเป็นพิเศษสำหรับบ้างเรื่อง แต่ผมว่านี้คือสิ่งสำคัญนะ เมื่อบล็อกมันก็เหมือไดอารี่ส่วนตัวของเรา เราเน้นเขียนเตือนความจำตัวเอง พูดง่ายๆคือ เขียนให้ตัวเองอ่าน ส่วนการเปิดให้คนอื่นเข้ามาอ่านได้ จนกระทั้งมีคนคอยติดตามอ่านตลอดนั้นเป็นผลพลอยได้ต่างหาก ยังไงซะจะต้องมีคนสนใจในเรื่องที่เราเขียน แม้มันจะเฉพาะทางมากๆก็ตาม

ส่วนเรื่องเบาๆที่น่าติดตาม เช่น ฟุตบอล หนัง นิยาย หนังสือ ก็มีให้อ่านเหมือนกันครับ

ตัวอย่างโพสที่น่าสนใจ

ขอเชิญชวนให้ติดตาม Noobnim.in.th ได้ที่

  1. URL:  www.nobnim.in.th
  2. Feed: https://feeds.feedburner.com/noobnim
  3. Twitter: @ac_nim

ปล. ใครอยากลุกขึ้นมาเขียนบล็อกของตัวเองบ้าง ผมยินดีให้คำปรึกษาเต็มที่เลยนะครับ สนับสนุนเต็มที่

ฟรีหนังสือ E-book จากห้องสมุดคณะแพทย์ฯ จุฬาฯ

รายการหนังสือ E-book โดยห้องสมุดคณะแพทย์

เคยแนะนำแหล่งดาวน์โหลดหนังสือออนไลน์ (เฉพาะนิสิตจุฬาฯ)ฟรีหนังสือ E-book มากกว่า 7 พันรายการ ไว้แล้วลองเข้าไปดูและดาวน์โหลดเก็บไว้ได้ครับ อีกแหล่งหนึ่งที่ทางห้องสมุดคณะแพทย์ จุฬาฯ ทำไว้ให้เป็นรายการหนังสือที่สามารถดาวน์โหลดได้ฟรี จากแหล่งต่างๆเช่น SpringerLink ebook, SciDirect ebook, NetLibrary, PubMedBookShelf เป็นต้น โดยเรียงตามตัวอักษรให้ง่ายต่อการค้นหา เพิ่มความสะดวกได้อย่างมาก

แต่หนังสือฟรีที่โหลดได้จากที่นี้ เนื่องจากเป็นรายการที่ห้องสมุดของคณะแพทย์เป็นผู้จัดทำขึ้น เนื้อหาจึงเป็นทางด้านการแพทย์ ชีววิทยา เป็นหลัก ต่างจาก CRCnetbase ที่จะมีทุกสาขา

การดาวน์โหลดหนังสือยังต้องอาศัยการใช้เน็ตในจุฬาฯ หรือใช้ VPN ครับ เป็นอีกช่องทางในการค้นหาหนังสือที่ตนสนใจแบบไม่ต้องเสียตังค์ ยิ่งถ้ามี E-book Reader ด้วยแล้วน่าจะถูกใจมากขึ้นแน่นอนครับ (ถ้าใครสนใจเล่มไหน จะฝากเพื่อนน้องๆโหลดให้ก็ได้นะ)

เข้าไปโหลดหนังสือ E-book จากห้องสมุดคณะแพทย์ฯ จุฬาฯได้ที่ https://library.md.chula.ac.th/e-book/ebook-list.html

หวังว่าจะเป็นโยชน์ครับ

Science Illustrated นิตยสารวิทยาศาสตร์ เล่ม 1

นิตยสาร Science Illustrated

เมื่อวานเดินไปแผงหนังสือ ไปเจอนิตยสารเล่มหนึ่งเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ชื่อ Science Illustrated ออกเป็นเล่มแรกด้วย เลยลองซื้อมาในราคา 110 บาท มีหน้าเนื้อหาอยู่ราว 80 หน้า บรรณาธิการกล่าวถึงว่าเป็นนิตยสารที่จะมีเนื้อหาหลักเกี่ยวกับ 4 ด้าน(เสาหลัก) คือ เทคโนโลยี การแพทย์ ธรรมชาติ และวัฒนธรรม บรรณาธิการเขียนถึงเนื้อหาของเล่มนี้เป็นส่วนใหญ่ แต่ไม่ได้แนะนำนิตยสารเล่มใหม่ให้คนอ่านได้รู้จักเลย(นี้มันเล่มแรกนะ!)

ส่วนตัวผมคิดว่าเล่มแรกควรจะแนะนำก่อนว่ามันมีที่มายังไง จะออกรายเดือนหรือรายสัปดาห์ แทนที่จะไปบอกว่าเล่มนี้มีเนื้อหาอะไร(บอกนิดเดียวพอ) ยกตัวอย่างจาก นิตยสารเล่มแรกของ Computer Art ที่เคยซื้อเล่มแรกเหมือนกัน แนะนำได้ดีกว่ามาก บอกเลยว่านำเข้ามาแล้วปรับปรุงส่วนไหนบ้างเพื่อให้เข้ากับคนไทยมากขึ้น แบบนั้นดูน่าดึงดูดมากกว่า ทำให้สนใจอยากติดตามอ่านในเล่มถัดไป

ลองค้นดูพบว่า Science Illustrated เป็นนิตยสารแนว popular science พิมพ์ขายครั้งแรกตั้งแต่ คศ.1984 ปัจจุบันมีการขายอยู่หลายสิบประเทศทั่วโลก จุดเด่นของมันคือการมีภาพประกอบเนื้อหา 4 ด้านหลัก ที่สวยงาม ถูกออกแบบมาอย่างดี ทั้งภาพถ่ายและภาพกราฟิก หลังจากเปิดดูแบบผ่านๆถือว่าสวย และทำให้เนื้อหาทางด้านวิทยาศาสตร์ดูน่าสนใจมากขึ้นอีกโข ถ้าอยากเห็นภาพให้ลองนึกถึงเปเปอร์ของเนเจอร์ที่ภาพประกอบถูกออกแบบมาอย่างดี แล้วมันก็ทำให้เราเข้าใจเนื้อหายากๆได้ง่ายมากขึ้น

น่าจะเป็นการดีที่เราจะมีนิตยสารด้านวิทยาศาสตร์ การแพทย์ ให้ได้เลือกอ่านเพิ่มขึ้นอีกเล่ม

ส่วนเนื้อหาภายในโดยละอียดยังไม่ได้อ่านครับ (2-3 วันนี้คงไม่ได้อ่านแน่นอน)

ปล. เล่มแรกมีแถมหนังสือภาพประกอบเล่มเล็กๆมาให้ด้วยอีกหนึ่งเล่ม

ถามถึงความรับผิดชอบ

เลือดจากหู

ตอนที่เขียนบล็อกนี้อยู่ในอารมณ์ขุ่นนิดหน่อย หลังจากไปหาหมอที่ร้อยเอ็ด เขาเอาสำลีทายาแล้วยัดเข้าไปอุดค้างไว้ เลือดจึงหยุดไหล (ค่ารักษาแค่ 100 บาทเอง) อาการดีขึ้น อารมณ์เลยดีขึ้นตาม ตอนนี้ไม่ติดใจอะไรแล้ว แต่ไหนๆก็เขียนแล้วเลยเอาลงไว้หน่อย อย่างน้อยก็เตือนใจเราได้ส่วนหนึ่ง ให้คิดอะไรให้รอบด้าน และ อย่าให้ใครมาเอาอะไรมาแหย่หูเราได้ง่ายๆ ถ้าเขาไม่ใช่หมอเฉพาะทาง

ถามถึงความรับผิดชอบ

บล็อกนี้แปลกกว่าทุกครั้งเพราะต้องเขียนบน MS Word เพราะขณะที่เขียนอยู่บ้านที่ต่างจังหวัด เรื่องที่อยากเขียนเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยสบายใจมากนักกับสภาพของหูนะตอนนี้ เวลาที่อ้างถึงในเรื่องนี้อาจจะไม่ตรงแปะซะทีเดียวเพราะตอนนี้เกิดเรื่องใครจะไปดูเวลาตลอดกัน แต่เรามี Log ส่วนหนึ่ง เนื่องจากตอนที่นอนไม่หลับหยิบสมุดบันทึกขึ้นมาเขียนไว้ รู้สึกว่าเรามีความจำเรื่องลำดับเรื่องค่อนข้างดี เพราะใช้บ่อยกับงานอีเวนต์ต่างๆที่เคยเข้าร่วม เริ่มเรื่องเลยแล้วกัน

วันอาทิตย์ ที่ 10 เมษายน 2554

เวลา 19.45 น. –อาบน้ำ เตรียมตัวออกไปหาอะไรกินข้างนอก อาบน้ำเสร็จตัวยังเปลียกอยู่ ก็หยิบคัตตอนบัด มาปั่นหูเล่น ทำความสะอาดหูสักหน่อย เพราะว่างเว้นมานาน ก็เป็นเหตุการณ์ปกติธรรมดาเหมือนทุกครั้ง แต่ที่หูข้างซ้ายตอนที่ปั่นอยู่นั้นก็เกิดอาการหูอื้อลักษณะเดียวกันเหมือนกับเอาสำลียัดหูไว้ หรือใช้หูฟังยัดแต่ไม่ได้เปิดเพลง คงเป็นเพราะขี้หูที่เยอะและเหนียวดันไปอุดรูหูซะนี้ ก็ลองปั่นต่อขี้หูก็ติดออกมาด้วยเล็กน้อย แต่ยังมีอาการหูอื้ออยู่ ไม่กล้าแยงเข้าไปลึกกลัวมันถูกดันเข้าไปลึกกว่าเดิม ไอ้เหตุการณ์ลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นบ้าง ตอนนั้นให้เพื่อนช่วยแคะก็เรียบร้อยดี จึงทำให้ไม่รู้สึกตกใจอะไร

เวลา 20.20 น. –ลงจะห้องแบบไม่ได้มีความวิตกใดๆ แวะไปคืนการ์ตูนที่ร้านหนังสือเปิดใหม่ใต้ตึก และยืมกลับมาด้วย จากนั้นเดินไปที่ เพชรบุรี ซอย 5 หาอะไรมากิน ระหว่างนั้นได้คิดว่าจะแวะไปที่ร้านตัดผมดูไหมเพราะคิดว่าที่นั้นน่าจะมีที่แคะขี้หู แต่ก็ไม่ได้ไปเพราะอะไรคิดว่าเดี๋ยวทำไม่ดีอาจเป็นอันตรายได้ จึงแวะไปที่คลีนิคแพทย์ที่ซอยนั้น หมอหญิงท่านนั้นแนะนำว่า ไปโรงพยาบาลดีกว่า ที่นั้นมีที่ดูดขี้หู ที่นี้ไม่มีอุปกรณ์ ทำไม่ได้ ก็เห็นควรด้วย เวลาประมาณ 20.45 น. –กลับมาที่ห้อง นั่งกินข้าว ข้าวเหนียว ส้มตำ กับแกงฟัก

เวลา 20.55 น. -ออกเดินทางไปโรงพยาบาล เอกชนแห่งหนึ่ง ที่อยู่ใกล้ที่พัก เหตุที่ไปโรงพยาบาลแห่งนั้นเพราะว่า เรามีบัตร SCB Debit Plus ที่คุ้มครองอุบัติเหตุ คิดว่าอาจจะใช้ได้ และโรงพยาบาลแห่งนั้นเป็นโรงพยาบาลชื่อดัง น่าจะมีอุปกรณ์ที่ครบพร้อม ดังที่แพทย์หญิงท่านนั้นแนะนำ แบบอารมณ์ชิวๆ หยิบการ์ตูนไปอ่านเล่นด้วย อาจจะได้อ่านช่วงนั่งรอ

เวลา 21.00 น. – ถึงโรงพยาบาล จ่ายตังค์ค่าแท๊กซี่ 37 บาท เข้าไปที่จุดลงทะเบียนที่พนักงานซักประวัติว่าเคยเข้าทำการรักษาที่นี้หรือไม่ คำตอบคือไม่ ส่วนใหญ่เจ็บป่วยเคยเข้ารับการรักษาที่อนามัยของจุฬาฯ แต่นับครั้งได้เพราะไม่ค่อยเจ็บป่วยอะไร พนักงานซักถึงอาการที่จะเข้ารับการรักษา ก็ตอบดังที่เขียนไว้ด้านบนว่า “ใช้คัทตอนบัดปั่นหูแล้วขี้หูมันอุดทางท่อรูหู” พนักงงานหญิงท่านหนึ่งแนะนำ ตอนนี้มีแต่หมอฉุกเฉิน หมอเฉพาะทางต้องรอพรุ่งนี้นะ เขาดูได้แค่เบื้องต้นเท่านั้น ตอนนั้นเราคิดว่าให้เขาดูหน่อยไม่น่าจะเป็นไร แคะนิดเดียวก็น่าจะกลับได้แล้ว จากนั้นเราถามพนักงงานต่อว่าจะใช้บัตรเดบิต เจ็บไม่อั้นได้ไหม เขาหันไปพูดกันซุบซิบ ประมาณว่าไม่แน่ใจว่าถือเป็นอุบัติเหตุหรือปล่าว? พนักงานผู้ชายคนนั้นจึงแนะนำว่า เขียนว่า “ปั่นหูอยู่แล้วเพื่อนเดินชนแล้วกัน” ไม่รู้ใช้อะไรตัดสินว่า ทำตัวเองไม่เป็นอุบัติเหตุ ต้องคนอื่นกระทำจึงจะเป็นอุบัติเหตุ (งั้นถ้าตัดเล็บแล้วโดนเนื้อตัวเองก็น่าจะไม่เป็นอุบัติเหตุ ซึ่งผมว่ามันไม่น่าใช่) แต่เราก็โอเค เพราะคิดว่าจะได้ไม่ต้องจ่ายตังค์

ประมาณ 21.20 น. –เข้าไปที่ห้องฉุกเฉิน ก็เล่าอาการให้ฟัง หมอซักตามสมควร ไม่มีเลือดออก ไม่เจ็บ แค่หุอื้อ และคิดว่าขี้หูอุด หมอใช้อุปกรณ์ส่องหูแล้ว แล้วก็บอกว่าเห็นแล้ว และบอกให้พยาบาลให้เอาครีบกรรไกรมาให้ พยาบาลฉีกอันใหม่ในซองออกมา และให้หมอเริ่มคีบ หมอบอกว่าไฟที่หัวเตียงห่วยมาก ไฟส่องไม่ชัด ให้เอาไฟฉายมา พยาบาลก็เอาไฟฉาย และช่วยดึงใบหูประมาณจะช่วยถ่างให้รูเปิดมาที่สุด หมอคีบข้หูอัดแรกออกมาตอนนั้นรู้สึกโล่งแล้ว คิดว่าหมอคงเห็นว่ายังมีเหลือจึงเริ่มคีบอันอื่นๆออกมา และก็มีก้อนขี้หูออกมาด้วย 2-3 ก้อน หมอบอกว่ามี Clots blood ด้วย เรามองดูแล้วมันไม่ใช่หรอก ก็ขี้หูดีๆนี้เอง เวลาแค่ชั่วโมงมันจะแข็งตัวจนดำแบบนั้นไม่ได้หรอก และซึ่งแต่มีครั้งหนึ่งรู้สึกเจ็บแป๊บ จนหลุดปากร้องออกมาด้วยความเจ็บ แต่หมอก็ยังทำต่ออีกสองสามครั้ง ซึ่งครั้งสุดท้ายเจ็บสุด น้ำตาไหลเปื้อนหมอนเลยทีเดียว ในความรู้สึกในหูเหมือนหมอพยายามจะคีบอะไรบางอย่างออกมา แต่ทำไม่สำเร็จ และหมอก็บอกว่าหยุดดีกว่า ตอนนั้นก็โล่งใจ และหูก็โล่งดี(ตั้งแต่ครั้งแรกที่ก้อนแรกออกมาแล้ว) แต่มีอาการเจ็บและปวดเพิ่มเข้ามาด้วย ใช้เวลาตลอดการรักษาประมาณ 15-20 นาที

หมอบอกว่าสั่งยาให้ 3 ตัว มี Tylenol, Ibuprofen, Amoxycillin ยังงงว่าแคะขี้หูเนี้ย ต้องเอายาไปทำไม? คิดว่าคงเป็นธรรมเนียมที่หลังรักษาก็ต้องมีการสั่งยา คุณพยาบาลทำใบนัดหมอเฉพาะทางให้ตอน 10 โมงของวันรุ่งขึ้น(11 เมษายน 2554) หมอบอกอีกว่า เยื่อแก้วหูอาจขาด แต่ไม่เป็นไรหรอกมันรักษาได้ ตอนนั้นเอ๋อไปเลย แค่แคะขี้หูเนี้ยแก้วหูขาด ตอนนั้นคิดในใจว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะตอนนี้หูเรายังได้ยินปกติดีนิ ระหว่างช่วงนั่งรอเรื่องทำประกัน รู้สึกมีเจ็บภายในหูแต่ไม่ได้มากมายเท่าตอนที่คีบขี้หู หลังจากนั้นก็ออกมานั่งรอรับยา ระหว่างรอได้นั่งฟังกวางร้องเพลงอำลาเวทีเดอะสตาร์ด้วย แล้วบิลก็ออกราคา 711.50 บาท (ใช้สิทธิบัตรประกันเดบิตได้) ออกเวลา 22.30 น.

เวลา 22.45 น. –กลับถึงห้องได้ซักพัก นั่งพิมพ์งาน และเล่นเน็ตได้สักพักรู้สึกเหมือนมีน้ำอะไรไหลออกจากหู เลยเอามีแตะมาดู “ฉิบหาย เลือด!!!” แต่เราก็ไม่ได้ตกใจอะไรมาก คิดว่าเดี๋ยวคงหยุด แต่แม่เจ้า “มันไหลทั้งคืน” ไม่ได้ออกมาเยอะแต่ไหลออกมาเรื่อยๆ สรุปว่าทั้งคืนไม่ได้นอน นั่งเช็ดเลือดตัวเอง อนาจตัวเองฉิบหาย!

วันที่ 11 เมษายน 2554

เวลา 7.00 น.– โทรเข้าเบอร์สายด่วนของโรงพยาบาล ถามเรื่องการนัดหมอ ในใบนัดที่พยาบาลทำให้เมื่อคืนคือ 10 โมง แต่เจ้าหน้าที่ในสายแนะนำว่า หมอจะเข้ามาประมาณ 8.30 น. แต่ถ้าเลือดออกก็ให้มาก่อนก็ได้ จะได้ให้หมอฉุกเฉินดูให้ก่อน ตอนนี้รู้สึกว่าเหมือนมีน้ำเลือดเป็นก้อน แล้วอุดรูหูทำให้ด้านซ้ายไม่ได้ยินแล้ว แล้วเลือดก็ยังไหลออกมาข้างนอกเป็นระยะๆ (อึดอัดมาก)

เวลา 7.10 น. –ถึงโรงพยาบาล พนักงานบอกว่าหมอจะมาราว 9 โมงจะรอไหม? ตอนนั้นหูซ้ายไม่ได้ยินแล้ว จนพยาบาลที่ยืนอยู่ข้างซ้ายต้องตะโกนเสียงดัง มีวัดความดัน ชั่งน้ำหนัก เวลาประมาณ 7.15 น. –มานั่งรอที่ห้องฉุกเฉิน แต่ไม่มีใครมาดูหูให้ เลือดไหลออกมา ต้องเดินไปขอสำลีเอง แต่โชคดีที่เจอคุณนางพยาบาลคนเดิม ที่เป็นคนช่วยหมอเมื่อคืน ดูเขามีอาการเป็นห่วงเราอย่างชัดเจน และมากยิ่งขึ้น เมื่อเราบอกไปว่าตอนนี้ด้านซ้ายไม่ได้ยินแล้ว เขาพยายามติดต่อกับแผนกหู คอ จมูก ให้ ได้ความว่าจะเดินทางมาถึงอีกประมาณ 40 นาที รู้สึกว่าเป็นนาฬิกาตอนนั้นเดินช้ามาก

เวลา 8.00 น. –พยาบาลท่านนั้นเดินไปส่งที่แผนก หู คอ จมูก อยู่ชั้น 3 ของตึกข้างๆ ระหว่างทางพยาบาลคุยกับเราว่า เล่าให้อาจารย์(น่าจะหมายถึงคุณหมอ)ฟังนะว่าเป็นยังไง เดี๋ยวหมอบอกว่าโดนคองมีคมหรือโดนอะไรนะ เขายื่นเอกสารให้เคาร์เตอร์ ให้เรานั่งรอบนเก้าอี้นุ่มรอ ก่อนไปก็บอกเดี๋ยวจะตามมาดูว่าสรุปแล้วเป็นยังไง

เวลา 8.30 น.-คุณหมอก็มาถึง เราเล่าอาการให้ฟังเล็กน้อยว่า น่าจะโดนคีมของคุณหมอฉุกเฉินทำให้เกิดแผลภายในช่องหู คุณหมอเข้ามาดูที่หูขวาก่อน เราสามารถมองที่จอมอนิเตอร์ผ่านกล่องร่วมกับคุณหมอได้ หมอใช้กรวยนำทางเข้าไปในช่องหู แล้วใช้คีบเหล็กอันเดียวกับที่หมอฉุกเฉินใช้นั้นแหละ แต่ความชำนาญต่างกันหลิบลับ คุณหมอคีบขี้หูออกมาอย่างง่ายดายและไม่มีอาการเจ็บแม้แต่น้อยนิด แล้วตามดูสายดูขี้หูออกมาชนิดแบบเกลี่ยเกลา นึกในใจทำไมกูไม่รอพบหมอท่านนี้ เรื่องเล็กๆอย่างขี้หูอุดหูกลายมาเป็นรูหูเป็นแผลเลือดไหลไม่หยุดแบบนี้ เมื่อย้ายมาอีกข้าง หูซ้ายตัวเกิดเรื่อง ดูผ่านกล้องมอนิเตอร์เลือดเต็มเลย หมอก็ทำเหมือนเดิม มือนิ่มมาก ค่อยๆดูดเลือดออก อีกอย่างที่เราสังเกตูเห็นพบว่า รูหูด้านซ้ายมันคดเคี้ยวมากกว่าด้านขวามาก มิน่าว่าทำไมขี้หูมันอุดช่องรูหูได้ง่ายนัก หมอค่อยดูดเลือดออก ร่วมกับขี้หูออกมาออกจนเกือยหมด ตอนนี้รู้สึกว่าหูโลงมาก เหมือนเอาอะไรท่อุดรูหูอยู่ออก มันสบายและโล่งมาก ระหว่างที่ทำการรักษานั้น หมอบอกตลอดว่าถ้ารู้สึกเจ็บให้บอก และถามตลอดว่าเจ็บไหมตลอดการรักษา มีอยู่สองครั้งเอง ที่เรารู้สึกเจ็บ ซึ่งหมอบอกว่าเป็นบริเวณที่เป็นแผล หลังจากดูดเลือดและขี้หูออกเกือบจะหมด แล้วหมอก็ใส่สารละลายลงไป แล้วล้างดูดออก บอกว่าเลือดหยุดไหลไปแล้ว และใช้ครีมทาเคลือบไว้ให้ ลงจากเตียงมานั่งคุยกัน หมอบอกว่า ตัวที่ใช้ส่องของหมอฉุกเฉินมันมองเห็นแค่แนวระนาบ มองไม่เห็นภาพเป็นมิติเหมือนกล้องที่หมอใช้เมื่อสักครู่นี้ โอกาสทำพลาดมีสูง หมอบอกว่า ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง (โล่งใจขึ้นเยอะ) แนะนำให้ระวังเรื่องน้ำอย่าให้โดนน้ำ เดินทางไกลก็ไม่มีปัญหาอะไร เราก็สบายใจเพราะตอนเย็นจะเดินทางกลับบ้านที่ต่างจังหวัด ตอนนั้นรู้สึกสบายใจขึ้นเยอะ บิลค่ารักษาพยาบาล 2,015.43 บาท

เวลา 9.00 น. –ซื้อข้าวมากิน นั่งพิมพ์งานสบายกลับมาที่ห้อง แล้วเผลอนอนหลับไปเมื่อไหร่ไม่รู้ เพราะอดนอนมาทั้งคืน เวลา 17.00 น. -ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง ก็ต้องตกตะลึงกับสภาพหมอนที่เปื้อนไปด้วยเลือด แต่ที่หูมีคราบเลือดที่แห้งแล้ว จึงนั่งรอดูอาการสักพักว่า เลือดที่ไหลลงที่หมอนเป็นเลือดเก่าที่ไหลเมื่อเช้า แต่หยุดไหลไปแล้ว หรือยังมีเลือดใหม่ไหลออกมาอีก พอสักพักที่ปลายหูเลือดก็ไหลออกมา

เวลา 17.45 น. เดินทางเข้าไปพบหมออีกครั้งที่ดรงพยาบาล แต่หมอเจ้าของไข้ได้ออกเวรไปแล้ว เป็นหมออีกท่านหนึ่ง ได้แค่ส่องดู เหมือนไม่กล้าลงมือทำ ให้สารละลายห้ามเลือด แช่ไว้ราว 5 นาที แล้วเอาสำลีอุดไว้ บอกให้เอาออกได้ตอนจะนอน คิดในใจจะกลับบ้านแล้ว จะเรียกตอนไหนว่าตอนนอน ผ่านมาสักสำลีก็หลุดออก แต่ยังรู้สึกว่ามีน้ำค้างอยู่ข้างใน (เหมือนน้ำเข้าหูเวลาเล่นน้ำ กัดฟันเบาก็รู้ว่ามีน้ำอยุ่ข้างใน) บิลค่ารักษาพยาบาล 1,100 น.

เวลา 19.00 น. –ถึงห้องอาบน้ำ แต่งตัวเดินทางกลับบ้าน ระหว่างเดินทางเลือดยังคงไหนไม่หยุด

วันที่ 12 เมษายน 2554

ถึงบ้านพร้อมกับเลือดแข็งตัวอุดช่องหู ทางด้านซ้ายไม่ได้ยินเสียงแล้ว กำลังรอไปหาหมอที่เมืองร้อยเอ็ด

สรุปสิ่งที่เขียนมายืดยาว

ภาพในหัววิเคราะห์ ฉับๆ เกิดอะไรขึ้นกับหูของฉัน ความรู้สึกเจ็บแป๊บ จนร้องตอนนั้น ไอ้เหล็กคีบอันนั้น น้ำตาหยดนั้น หมอฉุกเฉินคนนั้น ณ โรงพยาบาลเอกชนชื่อดังแห่งนั้น หมอฉุกเฉินคนนนั้นจะรู้ไหมว่าเขาทำอะไรกับหูของผม ถ้ารู้แล้วเขาจะยอมรับในการกระทำของตัวเองหรือไม่ และผมจะถามหาความรับผิดชอบของอาการบาดเจ็บครั้งนี้กับใคร?

เขียนเมื่อ 12 เมษายน 2554 ณ บ้าน ที่จังหวัดร้อยเอ็ด

BME Journal & News Subscription

เมื่อปลายปีที่แล้วได้จัดงาน BME CONCEPT ขึ้น แล้วก็ได้รับการตอบรับที่ดีมาก(เกินคาด) ผมก็ได้ร่วมนำเสนอด้วย ผมเสนอเรื่องใกล้ตัวที่ผมทำเป็นเรื่องปกติ แต่คิดว่าหลายคนยังไม่รู้ นั้นคือ การอ่านเว็บไซต์ที่เสนอข่าวสารเกี่ยวกับ วิศวกรรมชีวเวชฯ ที่มีอยู่มากมาย ก็เคยเขียนไว้แล้วใน Biomed.in.th ตอนที่ 1,  ตอนที่ 2 บังเอิญวันนี้เปิดไปเจอสไลด์ของตัวเอง เลยคิดว่าเอามาลงไว้ในบล็อกดีกว่าเผื่อมีคนสนใจ

Journal & News Subscription

ผมบอกไปเรื่อยๆว่าเว็บนี้มีข้อดีอย่างไรบ้าง น่าสนใจตรงไหน รวมถึงเว็บฐานข้อมูลงานวิจัยที่ใช้บ่อยๆอย่าง Sciencedirect และ Pubmed เท่าที่บอกไปก็มีอยู่ราว 20 เว็บไซต์ ปัญหาที่ตามมาคือเราจะไปตามอ่านทุกวันได้ยังไง เสียเวลาทำงานอย่างอื่นหมด คำตอบของปัญหานี้คือใช้ RSS Reader ช่วย เป็นวิธีที่เหล่า Bloger หรือ Geek เขาทำกัน ให้มันดึงเนื้อหาเฉพาะอันที่อัพเดตมา เราก็จะได้ติดตามอ่านอย่างไม่พลาดเนื้อหาใหม่ๆ และไม่ต้องเสียเวลาไปตามอ่านทุกเว็บ วันหนึ่งหรือสองสามวันค่อยเข้ามาเช็คเหมือนเช็คอีเมล อีกอย่างที่น่าจะเป็นประโยชน์คือมันแชร์ให้เพื่อน ใส่คอมเม้นท์เพิ่มเติมส่งให้เพื่อนในกลุ่มได้ด้วย

แต่พิเศษกว่านั้น ปกติเราจะเลือก subscript แต่ blog เป็นส่วนใหญ่ แต่น้อยคนที่รู้ว่า เว็บอย่าง Sciencedirect หรือ Pubmed ก็มี RSS ของ Journal งานวิจัยต่างๆเหมือนกัน

Sciencedirect: สามารถเลือก Journal ที่เราสนใจได้เลย อาจไม่มีทุกอันแต่เล่มที่ใหญ่ Impact สูงๆ มี RSS อยู่แล้ว เนื้อหาที่ถูกดึงมาเป็น abstract  แต่แค่นั้นก็เพียงพอแล้วที่จะดูว่า บทความนั้นทำอะไร ถ้าสนใจค่อยคลิกเข้าไปดู เข้าไปโหลด

Pubmed: สามารถเลือก subscript เฉพาะคีย์เวิร์ดที่เราสนใจได้เลย เช่น ชื่อโรค ชื่อเชื้อไวรัว หรือการทดลอง ฯลฯ ใส่คีย์เวิร์ด คลิก search แล้วไอคอน RSS จะโผล่ขึ้นมาเอง

ผมว่ามันเป็นประโยชน์สำหรับผม และคิดว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับคนอื่นด้วย ตอนท้ายงานมีคนมาของสไลด์หลายคนเลยทีเดียว (แสดงว่าเราคิดถูก ที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์กับคนอื่น)

Exit mobile version