Old enough วาไรตี้การทำธุระครั้งแรก ของเด็กวัยอนุบาลญี่ปุ่น

Old Enough! วาไรตี้ชมได้ทาง Netflix

Old enough เป็นรายการวาไรตี้ญี่ปุ่น ดูได้ทาง Netflix รูปแบบรายการเป็นลักษณะสารคดี ตามติดการทำธุระด้วยตัวเองเพื่อช่วยครอบครัวของเด็ก ๆ ก่อนวัยเรียน เช่น ออกไปซื้อของชำ จัดส่งพัสดุ ส่งข้าวกลางวัน เป็นต้น ตอนละ 10 กว่านาทีเอง

รีวิวสั้น ๆ น่ารัก สนุก และดีมาก ๆ เด็ก ๆ ตัวนิดเดียวแต่เก่งมาก ๆ น่าทึ่งสุด ๆ

ส่วนตัวได้แต่อิจฉาวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมของญี่ปุ่นที่เอื้อให้เด็กสามารถทำอะไรหลาย ๆ อย่างด้วยตัวคนเดียวได้อย่างปลอดภัย ถึงแม้ในรายการจะมีคนของรายการดูแลความปลอดภัยให้ตลอดก็เถอะ แต่ก็รู้สึกว่าปลอดภัยกว่าบ้านเมืองเราอยู่ดี

สิ่งที่เห็นชัด ๆ เช่น การข้ามถนน ที่ถูกฝึกอบรมมาตั้งแต่เด็ก ๆ และเด็ก ๆ ก็ทำตามอย่างเคร่งครัดมาก ๆ

สรุปว่า ดูเลย สนุก คอนเฟิร์ม รอชมซีซั่นต่อไปไม่ไหวแล้ว

ปล. เด็ก ๆ ในรายการจะน่ารักและเก่งแตกต่างกันไป พ่อๆแม่ๆ อย่าเอามาเปรียบเทียบกับลูกหลานตัวเองเด็ดขาด เด็ก ๆ แต่ละคนโตมาแตกต่างกัน มีความน่ารัก และเก่งในแบบของตัวเอง

The Lord of the Rings ไปอยู่ไหนมาทำไมเพิ่งได้อ่าน

หนังสือชุด The Lord of the Rings ที่มี 3 เล่มจบ

เพิ่งจะอ่านหนังสือชุด The Lord of the Rings เล่มที่ 1 จบ ซึ่งปกติจะเป็นคนที่ทั้งอ่านและฟังไปพร้อมกัน เล่มนี้ audio book อ่านโดย Andy Serkis (คนที่แสดงเป็นกอลลั่มในฉบับหนัง) ซึ่งเขาก็ทำผลงานออกมาได้ดีมาก ๆ ทั้งร้องเพลง อ่านบทกวี ดัดเสียงตามตัวละคร จังหวะการอ่านดีมาก ๆ รวมแล้วประมาณ 22 ชั่วโมง ความจริงถ้าอ่านเองอาจจะใช้เวลาเร็วกว่านี้มาก แต่ได้ฟังเสียงไปด้วยมันเพลินมาก ไม่ปรับความเร็วด้วย

ส่วนเนื้อหาของหนังสือเล่มแรกของชุด 3 เล่มจบ The Fellowship of the Ring พบว่าเป็นหนังสือที่ดีงามมาก ๆ การเล่าเรื่อง ความแฟนตาซี ปรัชญา บทเพลง บทกวี ภาษาและอักขระเฉพาะ การเดินทางผจญภัย ความสัมพันธ์ของตัวละคร และโครงสร้างจักรวาลถูกวางและเขียนไว้ได้ดีมาก ๆ นี้คือหนังสือที่ควรอ่านสักครั้ง

คำถามต่อมาคือเราไปอยู่ไหนมาทำไมเพิ่งจะได้อ่านนะ (ดูแต่หนัง จำนวนรอบนั้นนับไม่ได้แล้ว)

ข้อสังเกตเมื่อ เชอร์ล็อก โฮล์มส์ ทำ fasting

ถ้าได้อ่านหนังสือชุด เชอร์ล็อก โฮล์มส์ จะพบว่านักสืบอัจฉริยะคนนี้จะอดอาหารไม่ดื่มกินอะไรเลยในช่วงที่ต้องใช้ความคิดแก้ไขคดีที่ยากและซับซ้อนมาก ๆ
เหตุผลที่เขาให้ไว้คือ สมองต้องการเลือดไปหล่อเลี้ยงสูงขึ้นในช่วงที่ใช้ความคิดหนัก ๆ ถ้ากินอะไรลงไป เลือดจะไหลไปรวมกันที่ท้องมากขึ้น และเลือดที่ไหลไปเลี้ยงสมองจะลดลง ส่งผลให้ประสิทธิภาพทางความคิดด้อยลง มีหลายคร้ังเลยทีเดียวที่เขาต้องอดอาหารติดต่อกันหลายวัน

image ref. https://en.wikipedia.org/wiki/Sherlock_Holmes

เรื่องอดอาหารแล้วความคิดเฉียบแหลมขึ้น ในทางการแพทย์จริงเท็จแค่ไหน?

หนังสือ เชอร์ล็อก โฮล์มส์ เขียนขึ้นในช่วงราว ๆ ปลายศตวรรษที่ 18 ทางการแพทย์อาจจะไม่ก้าวหน้าเท่ายุคนี้ แต่ปัจจุบันการทำ fasting มีให้เห็นกันทั่วไป (โดยเฉพาะพวกสายเทคโนโลยี เขียนโค้ด ฮิตกันมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา)

ดังนั้นคาดคะแนได้ว่าท่านเซอร์ อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์ คนเขียน เชอร์ล็อก โฮล์มส์ น่าจะได้ศึกษาเรื่องนี้มาก่อน (เป็นความรู้โดยทั่วไปในยุคนั้น) หรืออาจจะทดลองทำกับตัวเองมาก่อน (เป็นความรู้ในวงจำกัด) เลยสามารถเขียนถึงได้ละเอียด

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าจะดูเฉพาะที่มีการกล่าวถึงเรื่องการอดอาหารเพื่อเพิ่มพลังความคิดของ เชอร์ล็อก โฮล์มส์ ที่ถูกเขียนไว้ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 18 จนถึงปัจจุบันก็นับได้ว่า fasting นี้ทำกันมาหลักหลายร้อยปีแล้วทีเดียว

นี้เป็นข้อสังเกตเล็ก ๆ ที่ได้จากการอ่านวรรณกรรมคลาสสิคในช่วงที่นี้

หนังสือ The Handmaid’s Tale ฉบับ Graphic novel

เมื่อวานได้แนะนำหนังสือ หนังสือ To kill a mockingbird ฉบับ Graphic novel ไปแล้ว วันนี้มีอีกเล่มที่อยากแนะนำต่อ นั้นคือ The Handmaid’s Tale ฉบับ Graphic novel เหมือนกัน ดัดแปลงและวาดภาพโดย Renee Nault ตีพิมพ์เมื่อปี 2019 ภาพสีทั้งเล่มและน่าสะสมมาก

หนังสือ The Handmaid’s Tale ฉบับ Graphic novel

ทำความรู้จักกับหนังสือเล่มนี้ในเบื้องต้น
The Handmaid’s Tale เป็นนวนิยายแนวดิสโทเปีย โดย Margaret Atwood นักเขียนชาวแคนาดา ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 1985 แต่ถึงปัจจุบันก็ยังยอดเยี่ยมและเป็นที่นิยม ขอจัดอยู่ในกลุ่มหนังสือคลาสสิคแนวเดียวกับ 1984, Fahrenheit 451 ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับสังคมยุคที่ถูกกดขี่จากระบอบเผด็จการ ในหลาย ๆ สำนักถ้าจัดหนังสือหมวดดิสโทเปียที่ต้องอ่านจะต้องมีเล่มนี้ติด 1 ใน 5 แน่นอน

มาที่เนื้อหาในหนังสือ เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้หลังสงครามกลางเมืองของอเมริกา ผลคือเมืองถูกปกครองโดยระบอบเผด็จการทหารแบบเบ็ดเสร็จ และยังมีภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อมและอัตราการเกิดที่ลดลงเข้ามาเสริมด้วย เผด็จการทหารได้บังคับใช้บทบาททางสังคมที่เข้มงวดและคลั่งศาสนาสุด ๆ ใช้ระบบที่มีผู้ชายเป็นใหญ่ ส่วนผู้หญิงถูกกดขึ่และถูกบังคับให้ทำงานในบทบาทที่จำกัด แต่ละกลุ่มมีหน้าที่แตกต่างกัน มีชุดที่สวมใส่ที่แตกต่างกันด้วย ผู้หญิงบางกลุ่มที่ถูกเรียกว่า “Handmaid; สาวใช้” จะถูกบังคับให้ทำหน้าที่ผลิตเด็ก เพื่อเพิ่มประชากรป้องกันการสูญพันธ์ุ(โดยเฉพาะเผ่าพันธุ์ของคนระดับสูง) สาวใช้จะไม่อนุญาติให้มีทรัพย์สินหรือแม้แต่ชื่อตัวเอง แต่จะถูกเรียกว่า เป็นของใคร (Of-) เช่น ออฟเฟรด (Of-fred หมายถึง เธอเป็นของผู้บัญชาการชื่อเฟรด) ตัวเอกของเรื่องก็เป็นหนึ่งในคนใช้ มีหน้าที่ต้องผลิตลูกให้กับผู้บัญชาการคนหนึ่งของกลุ่มเผด็จการทหาร

ชีวิตของกลุ่มสาวใช้จะต้องอยู่ในเขตกักกัน พวกเธอจะออกไปทำหน้าที่ตามบ้านของเจ้าหน้าที่ระดับสูงตามเวลาที่กำหนด มีหลาย ๆ ฉากของการทำหน้าที่ของเธอ ที่อ่านแล้วสะเทือนใจอย่างมาก เช่น ขั้นตอนการทำหน้าที่ผสมพันธุ์ที่ทำเหมือนเป็นหนึ่งในพิธีกรรม ต้องมีภรรยาของผู้ชายผู้กระทำอยู่ในขั้นตอนนั้นด้วย ถูกปฏิบัติเหมือนเครื่องจักรผลิตเด็ก ส่วนใครที่พยายามหลบหนีจะถูกทำโทษอย่างรุนแรงต่อหน้าคนใช้คนอื่น ๆ แต่หลายคนก็ไม่ยอมจำนนและพยายามที่จะหลบหนีให้ได้

ปัจจุบัน The Handmaid’s Tale มีฉบับซี่รี่ย์ให้ได้ชมแล้ว สร้างตั้งแต่ปี 2017 ตอนนี้มี 4 ซีซั่นแล้ว (ยังไม่ได้ดูเหมือนกัน)

ฉบับ Graphic novel ที่เห็นอยู่นี้ ดัดแปลงและวาดภาพโดย Renee Nault ทำออกมาได้ดีมาก อ่านง่าย ภาพสวยมีสไตล์เฉพาะตัว แต่ฉากความรุนแรงนั้นไม่ได้ลดลงเลย (เห็นเป็นภาพสีสวยก็จริง แต่ไม่เหมาะกับเด็กเล็กนะ)

ขอแนะนำสำหรับคนที่อยากซื้อเก็บสะสมในหมวดหนังสือที่ต้องอ่านครับ

รายละเอียดหนังสือ The Handmaid’s Tale ฉบับ Graphic novel
ราคา 16 ยูโร สั่งมาจาก Amazon.de
Publisher ‏ : ‎ Nan A. Talese; Illustrated edition (26 Mar. 2019)
Language ‏ : ‎ English
Hardcover ‏ : ‎ 240 pages
Dimensions ‏ : ‎ 16.69 x 2.26 x 24.18 cm

ร้านขายหนังสือ Thalia ใส่ความเห็นของพนักงานเพื่อเพิ่มความสนใจให้กับลูกค้าในร้าน

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เข้าไปในเมือง เดินเล่นและเข้าไปที่ร้านขายหนังสือ ร้านขายปลีกหนังสือในเยอรมันที่ค่อนข้างใหญ่ และมีสาขาเยอะ คือ Thalia มีทั้งหน้าร้านและออนไลน์ หนังสือเล่มล่าสุด the queens gambit ก็ซื้อที่นี้ สิ่งที่เห็นและเป็นรายละเอียดเล็ก ๆ ที่อยากเอามาเล่านั้นอยู่ในภาพประกอบนี้

มันคือคำแนะนำจากคนขายหนังสือที่ได้อ่านเล่มนี้แล้ว

คำแนะนำจากคนขาย (“Lieblingsbuchhändlerin” means favorite bookseller)

ป้ายพร้อมข้อความเหล่านี้จะกระจายอยู่ทั่วไปตามชั้นขายหนังสือ สำหรับคนที่ชอบเดินเลือกหนังสือถือว่าเป็นแนวคิดที่ดีมาก ๆ

ผมเลยลองคุยรายละเอียดเพิ่มเติมกับเพื่อนที่ทำงานในร้าน Thalia เขาบอกว่า นี้คือคอนเซ็พท์ของทางร้านที่ให้พนักงานที่ได้อ่านหนังสือ สามารถรีวิวหรือแนะนำเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้กับลูกค้าได้ โดยเขียนเป็นข้อความสั้น ๆ (เขียนเป็นด้วยลายมือไม่ใช่พิมพ์นะ) แล้ววางไว้ที่หน้าชั้นวางหนังสือนั้น ๆ สิ่งที่ได้กลับมาคือลูกค้าจะได้คำแนะนำจากคนที่อ่านหนังสือนั้นจริง ๆ และถ้าลูกค้าต้องการข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือเล่มนั้นมากขี้น ยังสามารถที่จะเข้าไปพูดคุยกับคนขายได้ถูกคนด้วย ค่อนข้างแน่ใจได้ว่า ตนขายคนนั้นจะให้คำแนะนำเกี่ยวกับหนังสือเล่มนั้นได้จริง ๆ

ฟังแล้วเป็นไอเดียที่ดีมาก ๆ เลย เราเคยเห็นอะไรแบบนี้มาบ้าง เช่น ป้ายที่เขียนบอกว่า หนังสือเล่มนี้คนดังคนนี้อ่าน แต่ไม่ค่อยเห็นคำแนะนำจากพนักงาน หรือคนทั่วไปมากนัก

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พวกเราซื้อของออนไลน์เพิ่มขึ้นเยอะมาก คำแนะนำ คะแนนรีวิว ที่อยู่ใต้สินค้านั้นมีความสำคัญมาก ๆ กับการตัดสินใจซื้อ เพราะส่วนหนึ่งคนซื้อไม่ได้มีโอกาสสัมผัสตัวสินค้าโดยตรง การได้ความเห็นตวามเห็นจากผู้ที่เคยใช้สินค้านั้นมาก่อน จึงเป็นอีกปัจจัยหลักอันหนึ่งที่โน้มน้าวคนซื้อได้มาก ถ้าได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับร้านค้าออนไลน์อะเมซอนจะรู้ว่าความเห็นของลูกค้าใต้สินค้านั้น ๆ บริษัทให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ เลยทีเดียว

สำหรับสินค้าอย่างหนังสือแม้ในยุคปัจจุบันที่มีทั้ง อีบุ๊ค หนังสือเสียง สั่งออนไลน์ได้ แต่การได้ออกไปเลือกซื้อ เลือกหยิบ ดูปก อ่านบางหน้า ยังเป็นสิ่งที่การขายออนไลน์ให้ประสบการณ์ตรงแบบนี้ไม่ได้ เราจึงยังเห็นนักอ่านเข้าร้านหนังสือกันคึกคักอยู่ตลอด แต่พฤติกรรมของเราก็ยังคุ้นชินกับการได้อ่านคำแนะนำแบบสินค้าออนไลน์อยู่พอสมควร การที่ร้านหนังสือ เอาคำแนะนำมาติดวางที่ชั้น ก็เหมือนเอาข้อดีของระบบออนไลน์และคำแนะนำจากคนที่ได้อ่านมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และเพิ่มการปฎิสัมพันธ์กับคนอ่านหรือลูกค้าได้มากขึ้น ตัวลูกค้าก็รู้สึกว่าได้รับการเอาใส่ใจมากขึ้น

แต่ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าการทำแบบนี้ทำให้ยอดขายหนังสือที่ถูกแนะนำโดยพนักงานที่อ่านเองนั้นจะขายดีขึ้นหรือไม่ (ไม่มีข้อมูล) แต่ถามว่าเพิ่มความสนใจให้ลูกค้าได้ไหม อันนี้ตอบให้ได้ในมุมส่วนตัวว่า ได้ ทำให้รู้สึกคุ้นเคยเป็นกันเอง อยากอ่านเล่มนั้นบ้าง และถ้าเป็นหนังสือที่เราสนใจอยู่แล้ว การได้คุยกับคนที่ได้อ่านมาก่อน ก็น่าจะทำให้การตัดสินใจซื้อทำได้ง่ายขึ้นด้วย

Thalia ไม่ได้มีคำแนะนำแค้เฉพาะหนังสือ แต่รวมถึงสินค้าอื่น ๆ ด้วย เช่น บอร์ดเกม หนัง ของเล่น เป็นต้น และในระบบออนไลน์ของร้านก็มีให้เราได้เลือกตามการรีวิวของพนักงานขายหนังสือแต่ละคนได้ด้วย ตัวอย่างของเพื่อน https://www.thalia.de/buchhaendler/7102850/buchhaendlerseite แต่ส่วนตัวชอบคำแนะนำสั้น ๆ ที่ติดอยู่ในร้าน เขียนด้วยลายมือ มากกว่า

เรื่องนี้บอกอีกอย่างว่าพนักงานขายหนังสือของเขา ไม่ใช่แค่คนขายของแต่เป็นคนรักการอ่านและยังสามารถแนะนำให้คนอื่นอ่านต่อได้ด้วย สร้าง community และเพื่อนคนชอบอ่านมากขึ้นอีกด้วย

ถือว่าเป็นเรื่องเล็ก ๆ ที่อยากเล่า และคิดว่าร้านหนังสือ ร้านอื่น ๆ ทั่วไปที่ไทยอาจจะสนใจนำไปประยุกต์ใช้กับร้านตัวเองได้

รีวิวสั้น ๆ หนังสือ The Queen’s Gambit โดย Walter Tavis

The Queen’s gambit
น่าจะเหมือนคนส่วนใหญ่ทั่วไปที่ได้รู้จักครั้งแรกจากซีรีย์ทาง Netflix ซึ่งทำออกมาได้ดี สนุก และตื่นเต้นมาก ๆ แม้ว่าจะเล่นหมากรุกไม่เป็นก็ดูเข้าใจและตามเรื่องราวรู้เรื่องไม่งง

หนังสือ The Queen’s Gambit

หลังจากที่ประทับใจไปกับฉบับซีรีย์แล้ว เลยอยากอ่านต้นฉบับที่เป็นหนังสือเพิ่มเติม พอได้หนังสือมา เริ่มอ่านถึงได้รู้ว่าเป็นหนังสือที่เขียนโดย Walter Tevis ตั้งแต่ปี 1983 ซึ่งก็มีบรรยากาศของสงครามเย็น และค่านิยมต่าง ๆ ตามที่ซีรีย์ทำออกมาให้ดู

ส่วนเนื้อหาในหนังสือนั้น เหมือนกับที่ได้ดูในซีรีย์เรียกว่าแบบเป๊ะ ๆ ซีรีย์เก็บรายละเอียดได้ดีมาก ๆ ตอนอ่านหนังสือทำให้นึกภาพตามที่เคยดูจากซีรีย์ได้เลย เพราะเป็นซีรีย์มีเวลาให้เล่าเรื่องเยอะ ไม่ต้องรวบรัดเหมือนหนัง รายละเอียดจึงครบถ้วน ดังนั้น หนังสือเล่มนี้ก็อ่านได้เพลิน ๆ เล่าเรื่องเป็นเส้นตรงเหมือนที่ได้ดูในซีรีย์แบบฉากต่อฉากเลยทีเดียว

ส่วนหนึ่งที่ทำให้ซีรีย์ทำออกมาได้ดีเพราะบทประพันธ์ดั้งเดิมเขียนไว้ดีมาก ๆ

สำหรับใครที่อยากรู้เรื่องราวการเป็นนักเล่นหมากรุกของอลิซาเบธ ตั้งแต่เด็กจนถึงระดับสูงสุดของมืออาชีพ จะดูซีรีย์หรืออ่านหนังสือก็เรื่องเล่าเดียวกันไม่ดัดแปลง (ฉากจบยังถอดมาเป๊ะ ๆ)

สรุป อ่านก็จะได้อีกรสชาติหนึ่งของเรื่องราว แต่ดูแค่ในซีรีย์ก็ครบถ้วนเช่นกัน

บันทึกไป Interlaken สุดสัปดาห์ 3 วัน

บันทึกไป Interlaken สุดสัปดาห์แบบด่วน วางแผนหลวม ๆ แล้วไปเลย ยืดหยุ่นตามสถานการณ์ นั่งรถไฟจากดอร์ทมุนด์ตอนช่วงดึกไปสวิตเซอร์แลนด์จุดหมายคือเมือง Interlaken ใช้เวลาราวๆ 10 ชั่วโมง ถึงช่วงเช้าเอาของบางส่วนฝากไว้ที่ล็อกเกอร์ แล้วเที่ยวต่อทันทีเลย

วันที่ 1: เริ่มจาก Interlaken Ost ไปที่ Gschwandtenmaad จากนั้นเดินเล่นถ่ายรูปไปเรื่อยๆ ราวๆ 5 กิโลเมตร จนถึง Schwarzwaldalp นั่งรถบัสกลับ Interlaken Ost จบทริปวันแรกวันที่

2: เริ่มจาก Interlaken Ost ไป Laubrennen ถ่ายรูปเล่นในรอบๆเมือง นั่งรถไฟไปที่เมือง Wengen แล้วเดินลงเขาลงมาที่เมือง Laubrennen เหมือนเดิมแต่เดินแบบอ้อมๆ ระยะทางราวๆ 9 กิโลเมตร นั่งรถไฟกลับ Interlaken Ost จบทริปวันที่สอง

วันที่ 3: เริ่มจาก Interlaken Ost ไป Grindelwald เดินไปขึ้นกระเช้าไปที่ ยอดเขา First เดินต่อไปที่ทะเลสาบ Bachalpsee ระยะทาง 3 กิโลเมตร นั่งเล่น ถ่ายรูป แล้วเดินจาก ทะเลสาบลงมาที่ Grindelwald ระยะทางราวๆ 10 กิโลเมตร นั่งรถไฟกลับมาที่ Interlaken Ost ขึ้นรถไฟรอบค่ำกลับดอร์ทมุนด์ เป็นอันจบทริป

ส่วนเสริม บันทึกไว้เกี่ยวกับ Interlaken

-ต้องจ่ายภาษีของเมืองที่โรงแรม แล้วเขาจะให้บัตรแขกบ้านแขกเมืองซึ่งใช้นั่งรถบัสภายในเมืองได้

-แอพ SSB mobile เหมือน DB ของเยอรมัน ใช้ดูตางรางเวลารถ สถานี และใช้ซื้อตั๋วได้ด้วย

-แทบจะทุกร้านค้า รถบัส ตู้ขายตั๋ว ใช้บัตรซื้อได้หมด ไม่ต้องพกเงินสดยังได้ ยกเว้นตู้ยอดล็อกเกอร์

-ห้องน้ำสาธารณะฟรี ความสะอาดค่อนข้างโอเค (อย่าเทียบกับเยอรมัน)

-ช่วงนี้ยังมีปัญหาโควิด นักท่องเที่ยวน้อย ร้านค้าเปิดแค่บางร้าน ร้านที่เปิดให้นั่งข้างในต้องแสดงวัคซีนพาสพอร์ตว่าได้รับวัคซีนครบแล้ว

-แอพนำทางและแนะนำเส้นทาง hiking ชื่อ Kamoot ปกติก็ใช้อยู่แล้ว แต่พอมาที่สวิตเซอร์แลนด์คิดว่าต้องเดินบนเขา กลัวว่าสัญญาณโทรศัพท์จะขาดหาย เลยซื้อแผนที่เดินป่าแบบออฟไลน์ไว้ด้วย ซึ่งก็ทำงานได้ดีที่เดียว แต่สัญญาณ 5G มีครอบคลุมทุกที่เดินไปเลย (อย่าเทียบกับเยอรมันออกเมืองไปนิดน้อย สัญญาณเริ่มเบาแล้ว)

-ค่าเดินทางพวกรถไฟ รถบัส กระเช้า กลุ่มที่ขึ้นเขาแพงอย่างโหด แต่ถ้าได้นั่งและเห็นเส้นทางที่รถวิ่งจะเข้าใจว่า ทำไมมันต้องแพง ทั้งสูง และอันตรายมาก ๆ ส่วนค่าเดินทางระหว่างเมืองด้านล่างก็ไม่แพงมาก แต่ก็ยังถือว่าแพงตามมาตรฐานสวิสต์อยู่ดี ซื้อตั๋วเหมาอาจจะเหมาะมากกว่า ตั๋ว Region กับ SwissPass ราคาพอกัน ส่วนตั๋ว Jungfrau ถูกกว่าแต่ได้พื้นท่องเที่ยวน้อยกว่า ต้องดูว่าจะเที่ยวตรงไหนบ้าง แต่ถ้าคนชอบเดิน hiking ไปแค่ขาเดียวซื้อเป็นเที่ยวๆก็ประหยัดกว่า

วิธีซื้อ Bitcoin ฉบับมือใหม่ ที่อยากลองมีเก็บไว้บ้าง

วิธีซื้อบิตคอยน์ Bitcoin ฉบับมือใหม่

Bitcoin trading

ออกตัวก่อนว่าผู้เขียนไม่ได้มีความเชี่ยวชาญอะไรเลย มือใหม่เหมือนกัน Lifestyle เป็นพวกดูหนังอ่านหนังสือเสียมากกว่า แต่อยากรู้ว่า cryptocurrency เขาซื้อขาย หรือทำงานยังไง ไม่ได้หวังกำไรหรือลงทุนอะไร ใช้เงินเพียงหลักร้อยในการซื้อ เสียหายหรือขาดทุนไปไม่ได้เดือดร้อน ส่วนใครอยากศึกษาหาความรู้ต่อเพื่อหวังลงทุนต่อก็ถือว่าอันนี้เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นก็แล้วกัน

เริ่มกันเลย

  1. ก่อนจะเก็บเงินดิจิตอลก็ต้องมีกระเป๋าดิจิตอลก่อน มีให้เลือกหลากหลายเจ้า เช่น Coinbase, Blockchain, Binance อื่น ๆ มีให้ใช้ผ่านแอพบนมือถือหรือผ่านบราวเซอร์ในคอม รีวิวจากหลายเจ้าบอกว่า Coinbase ดีสุด แต่เท่าที่ลองเล่น ๆ เหมือนว่า Coinbase, Blockchain จะไม่รองรับในไทยหรือเปล่าไม่รู้ เพราะทำธุรกรรมไม่ได้เลย สุดท้ายมาลงตัวที่ Binance ใช้ค่อนข้างง่าย และซื้อบิตคอยได้ ส่วนของในไทยไม่ได้ลองใช้เลยครับ

2. สมัครสมาชิก ยืนยันตัวตนให้เรียบร้อย ใช้อีเมลหรือเบอร์มือถือในการสมัครก็ได้

สมัครสมาชิก ใช้ Referral ID ของคนเขียนได้นะครับ G2IHKVGI

3. เริ่มซื้อบิตคอยน์ได้เลย ได้ลองซื้อ 2 แบบ คือ 1. ซื้อโดยตรงผ่านบัตรเครดิตหรือโอนผ่านธนาคารมีขั้นต่ำ 15 USD และ 2. ซื้อแบบ P2P คือซื้อผ่านคนประกาศขายในบอร์ด ซึ่งรองรับการโอนเงินหรือทรูมันนี่แล้วแต่คน แต่ซื้อแบบนี้เป็นการตกลงราคากันเองทำให้ส่วนใหญ่ราคาจะสูงกว่าตลาดกลาง แต่ก็สามารถซื้อขั้นต่ำในหลักไม่กี่ร้อยบาทได้ (ต้องเลือกดูเอง)

ซื้อผ่านบัตรเครดิตหรือโอนเงินผ่านธนาคารเข้าบัญชีตัวเองในระบบ ขั้นต่ำ 15 ดอลล่าร์
ประกาศขายแบบ P2P ราคาขั้นต่ำหลักร้อย

4. เมื่อซื้อขายผ่าน ก็จะได้บิตคอยน์มาเชยชมในกระเป๋าดิจิตอล สามารถเอาที่อยู่กระเป๋าไปให้คนอื่นฝากเงินดิจิตอลมาให้ก็ได้นะ

ยอดเงินบิตคอยน์ในกระเป๋า BTC
ที่อยู่กระเป๋า BTC ของคนเขียน 1Dg1ENduUfp95wU4wiE3XaiokXkQ4k15eM

รีวิวหนังสือ Rita Hayworth and Shawshank Redemption

รีวิวหนังสือ เรื่องสั้นขนาดยาว Rita Hayworth and Shawshank Redemption
โดย Stephen King

รีวิว เรื่องสั้นขนาดยาว Rita Hayworth and Shawshank Redemption ของ Stephen King

น่าจะเป็นเหมือนคนส่วนใหญ่ที่ได้ดูหนัง Shawshank Redemption มาก่อนแล้วค่อยได้อ่านต้นฉบับที่เป็นหนังสือ หนังติดอันดับหนึ่งหนังยอดเยี่ยมตลอดกาลของ IMDB แบบที่ยังหาหนังเรื่องไหนมาล้มไม่ได้ วันนี้อ่านฉบับหนังสือจบแล้วจึงมาเขียนบันทึกแบบสั้น ๆ เก็บไว้ ส่วนใครสนใจหนังสือเล่มอื่น ๆ ตามไปอ่านได้ที่รีวิวหนังสือ

ก่อนอื่น ขอเริ่มแบบนี้เลย หลายคนอาจสงสัยว่าหนังชื่อ Shawshank Redemption แต่หนังสือชื่อ Rita Hayworth and Shawshank Redemption แล้ว Rita Heyworth คือใครอ่ะ? (ตอนแรกก็สงสัยเหมือนกัน)

คำตอบคือ เธอคือดาราที่อยู่บนโปสเตอร์ใบแรกที่ Andy สั่งจาก Red มาติดผนังของห้องขังซึ่งมีส่วนสำคัญในเรื่องมาก ๆ ที่จริงแล้วโปสเตอร์ถูกเปลี่ยนเป็นดาราหลายคนเลยทีเดียว ซึ่งคนสุดท้ายคือ Linda Ronstadt

โปสเตอร์ติดผนัง

ในหนังมีเปลี่ยนรายละเอียดหลายอย่างต่างจากหนังสือพอสมควร เช่น จุดจบของพัสดี เรื่องของ Tommy เด็กที่หนุ่มที่ได้ยินเรื่องราวของ Andy จากเพื่อนห้องขังจากที่อื่น แม้แต่เรื่องราวของ Red ก็ถูกเปลี่ยนเล็กๆน้อยๆ รายละเอียดการต่อสู้คดีของ Andy มีรายละเอียดมากขึ้น ไม่ได้รวบรัดเหมือนฉบับหนัง

แม้ว่าในรายละเอียดจะแตกต่างกันบ้างระหว่างหนังและหนังสือ แต่กลับพบว่าทั้งสองเวอร์ชั่นดูกลมกลืนกันมากๆ พอมาคิดดูก็สรุปได้ว่า ในแต่ละซีนที่สำคัญ ๆ ในหนัง ไดอะล็อกต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเขายกในฉบับหนังสือมาใช้ทั้งดุ้นเลย ไม่มีการตัดหรือดัดแปลงเลย คำต่อคำเลยทีเดียว ทำให้หัวใจหลักของเรื่องราวมันจึงดูสมบูรณ์ตามแบบของต้นฉบับมาก ๆ คิดว่าส่วนหนึ่งอาจเพราะ Stephen King เข้ามามีส่วนร่วมในการเขียนบทด้วย ทุกอย่างเลยลงตัวมากๆ มีความกลมกลืนกันทั้งหนังสือและหนัง

สรุปส่งท้าย ถ้าชอบฉบับหนัง ตามไปอ่านฉบับหนังสือรับรองว่าจะไม่ผิดหวังครับ

รีวิวซีรี่ย์ His Dark Materials ที่สนุกมาก ดูได้ใน HBO GO

His dark materials

รีวิวทีวีซีรี่ย์ His Dark Materials ที่สนุกมาก แต่คนพูดถึงกันน้อย

เห็นหลายคนสมัคร HBO GO เพื่อดู Zack Snyder’s Justice League แล้วบอกว่าไม่รู้จะดูอะไรต่อใน HBO GO มีซีรี่ย์ที่จัดอยู่ในระดับ A list อยู่หลายเรื่อง เช่น

  • ซี่รีย์ในตำนานอย่าง Game of Thrones ที่จบไปแล้ว
  • Chernobyl มินิซีรี่ย์ที่ทำดีมาก
  • Westworld ใครที่เป็นแฟนคลับของ Christopher Nolan ต้องรู้ว่าน้องชายเขา Jonathan Nolan มีส่วนร่วมในการเขียนบทในหนังของ Nolan เกือบทุกเรื่อง ถ้าเขาจะคุมโปรเจคซีรี่ย์เรื่องนี้เราคนดูก็เชื่อใจได้ในระดับหนึ่ง และมันทำออกมาได้ดีจริง ๆ
  • Watchmen ฮีโร่สายดาร์คที่เข้มข้น

แต่วันนี้จะมาพูดถึงซีรี่ย์อีกเรื่องที่คนไม่คอยพูดถึงเลย คือ His Dark Materials (ชื่อแปลไทย ธุลีปริศนา)ซี่รีย์ที่ดัดแปลงมาจากนิยายแฟนตาซีในชื่อเดียวกันที่เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งตำนานของนักเขียน Phillip Pullman หนังสือมี 3 เล่ม Northern Lights (The Golden Compass), The Subtle Knife และ The Amber Spyglass ซี่รีย์ทำตามหนังสือแบบเล่มละซีซั่นพอดีเลย ตอนนี้จบถึงซีซั่นที่ 2 แล้ว และซีซั่นที่ 3 เริ่มถ่ายทำแล้ว มีแผนในการออกฉายในต้นปี 2022

หนังสือชุด His Dark Materials

รีวิวแบบสั้น ๆ คือ ดีมากกกก ดูเถอะสนุกมาก

รีวิวซีรี่ย์ His Dark Materials

The Golden Compass เคยทำเป็นหนังแล้วเมื่อปี 2007 ความจริงหนังไม่ได้แย่มากนะ แต่แผนของสตูดีโอที่อยากปั้นหนังจากหนังสือดังและทำต่อเนื่องหลายภาคต่อกันอย่างเช่นที่แฮรี่ พอร์ตเตอร์ ทำได้ในช่วงนั้น ซึ่งทำเงินให้สตูดิโออย่างมหาศาล ค่ายไหนก็อยากมีโปรเจคทำเงินยาว ๆ แบบนั้นบ้าง ช่วงนั้นเราเลยได้เห็นฮอลลีวู้ดพยายามเข็นโปรเจคหนังที่ดัดแปลงจากหนังสือมาลงจอใหญ่กันเยอะมาก แต่หลายโปรเจคก็ล้มและขาดทุนกันถ้วนหน้าและ The Golden Compass ที่ตั้งเป้าจะมีหลายภาคออกมาฉายก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ล้มเหลว เป็นยักษ์ล้มไปในปีนั้น

กลับมาที่ซีรีย์บน HBO GO ที่จะพูดถึงกัน ต้องบอกก่อนว่าผมได้อ่านฉบับหนังสือมาก่อนแล้ว 2 เล่ม คือ Northern Lights (The Golden Compass), The Subtle Knife เหลือเล่มที่ 3 ซึ่งคิดว่าถ้าซีซั่น 3 ออกฉาย จะกลับไปอ่านหนังสือก่อนแล้วค่อยมาดูซีรีย์ ดังนั้นจะเป็นรีวิวที่รู้เรื่องราวแล้วบางส่วน เหมือนคนที่อ่านหนังสือแฮรี่ พอร์ตเตอร์ แล้วเขาไปดูหนังอีกที

โดยปกติแล้วหนังที่ทำจากหนังสือจะออกมาสองแบบชัดเจนคือ ทำได้แย่จนแฟนหนังสือด่ากันยับ เช่น Mortal Engine, Dark Tower, Divergent และหนังที่ทำดีได้ใจทั้งแฟนหนังสือและแฟนหนัง เช่น Lord of the Ring, Harry Potter, The Hunger Games ส่วนตัวขออวยว่าซีรีย์เรื่องนี้อยู่ในกลุ่มหลังครับ ทำดีมีดัดแปลงบ้าง บางอันลงตัวกว่าในหนังสืออีก

เริ่มที่นักแสดง คัดมาดีมาก ๆ

  • James McAvoy เป็น Lord Asriel ในสองซีซั่นบทยังมีไม่มาก มาน้อยแต่ดีมาก
  • Ruth Wilson เป็น Marisa Coulter ได้ลงตัวกว่า Nicole Kidman จากฉบับฉายโรงอีก มีความเลือดเย็น เป็นผู้หญิงที่น่ากลัว ร้ายกับคนรอบข้าง รวมทั้งกับ Dæmon ของตัวเองด้วย
  • ส่วนน้อง Dafne Keen น้องตัวแสบ X-23 จาก Logan มารับบทเป็น Lyra Belacqua แสดงได้ดี มีความกล้าและแสบตามฉบับหนังสือ
  • Amir Wilson รับบทเป็น Will Parry พอได้กลาง ๆ
  • ส่วนตัวอื่น ๆ Roger Parslow, Lee Scoresby, กลุ่ม Gyptian ก็คัดมาได้ดี

ในยุคที่คอมพิวเตอร์กราฟฟิคทำได้ดีและเนียนขึ้น เหล่า Dæmon ภูตประจำตัวของแต่ละคนจึงดูสมจริงขึ้น และมีปฏิสัมพันธ์กับเจ้าของมากขึ้น และช่วยในการเดินเรื่องและบอกอารมณ์ของตัวภูติเองที่สะท้อนไปถึงเจ้าของด้วยได้ดี และเจ้าหมียักษ์ Iorek Byrnison ที่อยากให้ออกมาทุกตอนเลย

ซีนหนึ่งที่ชอบมากในซีรีย์ คือการแทรกเรื่องพิธีฉลองการหยุดเปลี่ยนรูปของ Dæmon ที่เปรียบเสมือนการเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ของเด็กหนุ่มของชาว Gyptian ซึ่งเป็นช่วงที่เปรียบเสมือนการก้าวสู่อีกวัยที่ทุกคนในเผ่าจะออกมาแสดงความยินดีด้วย แต่ในหนังสือจะไม่มีรายละเอียดในส่วนนี้เลย และเป็นการเติมเข้ามาในเรื่องที่ลงตัวมาก ในหนังสือเราจะเห็นว่าเด็กมักจะคุยกันว่าท้ายสุดแล้ว Dæmon ของตัวเองจะคงรูปเป็นสัตว์อะไรอยู่บ่อยครั้ง จึงถือว่าเป็นช่วงที่สำคัญที่สุดช่วงหนึ่งของเด็ก ๆ และซีรี่ย์เลือกที่จะเล่าส่วนนี้เพิ่มเข้ามาถือว่าคิดมาดี และทำออกมาได้ดีมาก ๆ

พิธีฉลองของ Gyptian

ส่วนต่อไป ขอชมการออกแบบองค์ประกอบต่างๆ ในซีรี่ย์ทำได้ดีมาก เช่น สิ่งของสำคัญในเรื่อง เช่น Alethiometer ชื่อเรียกของ Golden Compass ในหนังสืออธิบายรูปทรงเป็นวงกลมตามแบบของเข็มทิศทั่วไป แต่ในซีรี่ย์ทำออกมาเป็นตลับสี่เหลี่ยม และรูปแบบสัญลักษณ์ต่างๆข้างในก็ทำออกมาดูดีทีเดียว ซึ่งบางทีก็จินตนาการไม่ออกว่ามันจะเป็นยังไง แต่ในซีรีย์ทำให้ภาพในจินตนาการออกมาเป็นภาพที่ชัดเจน และอื่นๆ เช่น ชุดเกาะของ Iorek, บอลลูนของ Lee, แม่มดบินด้วยการขี่กิ่งสน แต่ในซีรี่ย์ทำอีกแบบที่ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิงเลย แต่ออกมาดีกว่ามาก ๆ (ไปดูเองในซีรี่ย์)

Alethiometer

การเล่าในซีรี่ย์จะเล่าต่างจากในหนังสือนิดหน่อย ในหนังสือจะมีเส้นเรื่องค่อนข้างตรงๆ ตามมุมมองของตัวเอก Lyra เป็นหลัก เดินเรื่องไปเรื่อยๆ แต่ในซีรี่ย์เล่าเป็นจักรวาลที่กว้างกว่ามาก แม้ว่าเส้นเรื่องหลักจะตามหนังสือแต่ละเล่มก็ตาม แต่ว่าเนื้อหาของหนังสือเล่ม 2-3 จะมีแทรกเข้ามาในเนื้อเรื่องช่วงซีซันแรกที่เป็นเนื้อหาของเล่ม 1 เป็นระยะ ๆ เพื่อเล่าขอบเขตที่กว้างกว่าและครอบคลุมมากกว่า เช่น รายละเอียดของ Magisterium ที่ลงรายละเอียดเยอะขึ้นมาก เพื่อวางโครงของจักรวาล ทำให้ดูเป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงมากในโลกของ Lyra ส่วนเครื่องมือสำคัญอย่าง Alethiometer ก็มีรายละเอียดมากขึ้น กลายเป็นสิ่งผิดกฏหมายในโลก มีการอนุญาตให้ใช้งานได้เฉพาะใน Magisterium เท่านั้น แทนที่จะเป็นแค่ของหายากตามฉบับในหนังสือ

ตึกของ Magisterium รูปร่างคล้าย Alethiometer

เขียนมายาว สรุปว่าใครที่อ่านหนังสือแล้ว คุณจะรักฉบับซีรี่ย์ ใครยังไม่อ่านหนังสือก็จะเข้าถึงและได้เพลิดเพลินกับรายละเอียดต่างๆของจักรวาลในเรื่องได้ไม่ยาก ผมตื่นเต้นทุกครั้งที่ซีรี่ย์เนรมิตรฉากในจินตนาการจากตัวหนังสือออกมาเป็นภาพเคลื่อนไหวให้ได้เห็น ชอบมาก ๆ ครับ ตามไปดูได้ที่ HBO GO ส่วนใครสนใจรีวิวหนังเรื่องอื่นๆ ติดตามได้ที่ลิงค์เกี่ยวกับหนัง

Exit mobile version