Running Calculator แอพพลิเคชั่นคำนวณ ระยะทาง เวลา ความเร็ว สำหรับนักวิ่ง

Running Calculator

เขียนแอพพลิเคชั่นแปลงค่าเกี่ยวกับการวิ่งครับ คำนวณจาก ระยะทาง เวลา ความเร็ว คำนวณไปมาได้ ใส่สองข้อมูลลงไปแล้วคำนวณหาอีกค่า เช่น

-รู้ว่าจะวิ่งระยะมาราธอน 42.195 กิโลเมตร ภายในเวลา 6:03 ชั่วโมง ต้องวิ่งที่ความเร็วเท่าไหร่
-รู้ความเร็วตัวเอง 5:09 min/km วิ่งนาน 1:53 ชั่วโมง จะได้ระยะเท่าไหร่
เป็นต้น

ที่มาของการเขียนแอพนี้คือ เราจะเจอสถิติของเพื่อนๆนักวิ่งท่านอื่นบ่อยๆ เราก็อยากรู้ว่าตัวเราเทียบกับเพื่อนๆคนอื่นเป็นอย่างไรบ้าง บางคนจะบอกสถิติแค่บางตัว เราก็จะคำนวณกลับไปมาเพื่อให้เป็นข้อมูลที่ตัวเราเข้าใจ แล้วค่อยเทียบกับสถิติของเรา รวมทั้งเอาไว้วางแผนการฝึกซ้อมได้ด้วย เช่น วันนี้มีเวลาประมาณเท่านี้เอง จะวิ่งได้กี่กิโลเมตร อันนี้ใช้บ่อยเลย ตามประสาคนควบคุมเวลาว่างออกไปซ้อมวิ่งไม่ค่อยได้นัก ทำให้อยากได้แอพพลิเคชั่นแบบนี้มาก

แอพพลิเคชั่นลักษณะนี้ค้นดูใน Play Store ก็พอมีบ้างแต่ไม่ใช่ที่อยากได้ บางอันก็สับสน ใช้ยาก ที่อยากได้คือเอาง่ายที่สุด และคำนวณไปมาได้ตลอด เขียนเองเลยน่าจะง่ายที่สุด

ส่วนตัวการ์ตูนข้างล่างแค่ใส่มาเล่นๆ ช่วยบอกว่าถ้าน้ำหนักเยอะ ความเร็วที่คำนวณได้เร็วมากน้อยแค่ไหน วิ่งเร็วไปอาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ ต้นแบบการ์ตูนคือ พี่ Zritarah Winston เป็นความเร็วของพี่เขาเลยล่ะ

ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น RunningCalc ได้ที่

แอพพลิเคชั่นช่วยคำนวณจำนวนเซลล์ใน Cell Counting Chamber

Cell Counting Calculator

Cell Counting Calculator เป็นแอพพลิเคชั่นเล็กๆที่เขียนขึ้นเพื่อใช้ช่วยคำนวณจำนวนเซลล์ใน Counting Chamber ซึ่งโดยปรกตินักวิจัย นักเรียน คนทำงานที่เกี่ยวข้องกับเซลล์ส่วนใหญ่จะต้องมีการนับจำนวนเซลล์กันอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่น การเลี้ยงเซลล์มะเร็งเพื่อใช้ในงานวิจัยเวลาจะนำไปทดสอบอะไรบ้างอย่าง ทดสอบยา ติดตามการแบ่งตัว จำเป็นจะต้องรู้ว่าเซลล์ที่ใช้นั้นมีจำนวนอยู่เท่าไหร่ มากน้อยเหมาะสมหรือไม่ หรือมีการเปลี่ยนอย่างไรบ้าง จึงต้องมาการนับเซลล์อยู่ตลอดแทบจะทุกกระบวนการทำงานวิจัย

คำถามต่อไปคือนับอย่างไร? ถ้าแลปไหนรวยก็มีเครื่องนับอัตโนมัติช่วยนับให้ เครื่องแพงมากและค่าใช้จ่ายต่อการนับหนึ่งครั้งก็สูงมากระดับหลักร้อยถึงหลายร้อยบาท ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันจึงยังมีการนับเองด้วยคน ผ่านทางกล้องจุลทรรศน์(เซลล์ขนาดเล็กต้องมองผ่านกล้องอีกที) โดยมีอุปกรณ์อย่างหนึ่งที่เรียกว่า Hemocytometer (ใช้นับเม็ดเลือด)หรือบางที่ก็เรียกกันว่า Counting chamber หน้าตาก็เหมือนในรูปด้านล่าง ถ้าอยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติมคลิกเข้าไปอ่านตามลิงค์ได้เลยครับ

Hemocytometer ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Hemocytometer

ใน Hemocytometer เมื่อมองผ่านกล้องจุลทรรศน์จะเห็นว่ามีกริดอยู่ด้านในแบ่งเป็นช่อง กำหนดเป็นพื้นที่ไว้ ส่วนขอบมันจะยกสูงขึ้นมาให้วางแผ่นแก้ว(cover slip) เพื่อกำหนดส่วนสูงให้ได้ 0.1 มิลลิเมตร เมื่อเรานำเซลล์ที่ละลายอยู่ในสารละลายเข้าไปในช่องว่างระหว่างแผ่นแก้วกับ chamber แล้ว เอาพื้นที่ตามตารางกริดคูณกับส่วนสูงก็จะทราบปริมาตรที่แน่นอน เมื่อนับจำนวนเซลล์จึงรู้ได้ว่าในสารละลายมีเซลล์มากน้อยเท่าไหร่ต่อหนึ่งหน่วยปริมาตร

กริดภายใน Counting chamber ภาพจาก https://www.nexcelom.com/Products/Disposable-Hemacytometer.html

อธิบายไปยึดยาวแล้ว เข้าสู่ปัญหาและเหตุผลที่ทำไมต้องทำแอพพลิเคชั่น Cells Calculator ขึ้นมา ปัญหาเริ่มจากว่าเมื่อเรานับตามพื้นที่ช่องที่แตกต่างกันปริมาตรที่ได้ก็จะเปลี่ยนไปด้วย เราต้องคำนวณปริมาตร รวมถึงคำนวณความเข้มข้นของเซลล์ที่เราอยากรู้พร้อมกันด้วย ในบางครั้งถ้าเซลล์มีความเข้มข้นสูง(หนาแน่นสูง) เราก็จะเลือกนับในช่องเล็กลง เพื่อประหยัดเวลา ลดความเมื่อยล้าของสายตา แต่ถ้าเซลล์มีความหนาแน่นต่ำก็จะเลือกนับในช่องใหญ่ขึ้นได้ เพื่อเพิ่มความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือให้กับข้อมูลที่ได้ (นับเยอะย่อมถูกต้องมากกว่า) การที่ต้องคำนวณพื้นที่ใหม่ในทุกๆครั้งที่นับ มันไม่โอเคแน่นอน บางคนก็จะทำเป็น Factor ไว้คูณกลับได้ง่ายๆ ใช้ได้ในกรณีที่นับกับเซลล์ที่มีความหนาแน่ใกล้เคียงกันทุกครั้งที่นับ แล้วเลือกนับในตำแหน่งเดิม แต่ถ้าต้องเปลี่ยนบ่อยๆ ก็ไม่โอเคแล้ว ซึ่งปัญหาดังกล่าวที่เปลี่ยนตำแหน่งพื้นที่นับบ่อยๆเกิดขึ้นกับเรา

จึงอยากได้ตัวช่วยที่สามารถให้เลือกได้ว่าจะนับตรงไหน ใส่ตัวเลขที่นับได้ เอาตัวคูณ Dilution Factor ใส่เข้าไป กดปุ่มแล้วคำนวณให้เลย อยากได้มาก น่าจะช่วยให้เราทำงานได้สะดวกขึ้นมากๆ บางครั้งการกดตัวเลขในเครื่องคิดเลขก็เกิดความผิดพลาดบ่อยๆ อยากจะลดปัญหาตรงนี้ด้วย

จึงเริ่มค้นหาแอพใน Google Play เพราะคิดว่าถ้ามีติดในมือถือน่าจะสะดวกในการใช้งาน สรุปคือไม่มี มีใกล้เคียงบ้าง แต่ไม่ใช่ในแบบที่ต้องการ สุดท้าย เมื่อไม่มีก็เขียนเองเลยสิ อยากได้แบบไหนก็เขียนเองเลย

สำหรับเราที่ไม่ใช่โปรแกรมเมอร์ พอรู้ภาษาคอมพิวเตอร์อยู่บ้าง จะให้ฮาร์ดโค้ดเลยคงอีกนานกว่าจะได้ใช้ อีกอย่างแอพฯไม่น่าซับซ้อนมากนัก จึงเลือกใช้ App Inventor เป็นตัวช่วยในการเขียน ซึ่งก็เพียงพอกับสิ่งที่ต้องการและสิ่งที่ได้มา

จึงออกมาเป็น Chamber calculator ตัวแรก ที่ช่วยให้เราทำงานได้ง่ายขึ้นมาก

Chamber calculator

ใช้ไปสักพักหนึ่ง มีคนเห็นเราใช้บอกว่าสะดวกดีขอมั้งได้ไหม ตอนนั้นมันยังเป็นแอพที่ไม่ได้จัดเรียงดีอย่างที่เห็นในรูปนะ มั่วกว่านี้เยอะ แต่ใช้งานได้ แต่พอจะเอาไปให้คนอื่นใช้เลยต้องนั่งปรับแต่งเพิ่มเติมอีกหน่อย จะได้ใช้ได้ง่ายขึ้น คราวนี้เราคิดว่าถ้าเอาไปแจกให้คนทั่วไปได้ลองใช้ดูเลยจะเป็นไง พอมีคนได้ลองใช้ก็จะได้ feedback กับมา เราก็จะได้เอามาปรับเพิ่มเข้าไปได้อีก พอมีคนเห็นพอคนได้ลองใช้ก็จะมี request เพิ่มมาว่าอยากได้ตัวนับเซลล์เป็น-เซลล์ตายที่ใช้กันบ่อยๆในงานวิจัยด้วยได้ไหม ก็เห็นว่าน่าจะทำให้แอพมีประโยชน์มากยิ่งขึ้น ก็เลยพัฒนาตัวนี้เพิ่มเข้ามาด้วยให้อยู่ในแอพเดียวกันไปเลย อยากใช้ตัวไหนค่อยสลับหน้าจอใช้งานเอา เลยได้อีกโหมดเป็นอีกโหมดคือ Viability calculator

viability calculator

ในโหมดนี้ก็มีปุ่มให้กดคลิกนับไปในตัวได้เลย ตามคำเรียกร้องของคนใช้ พร้อมเสียง และการสั่นเมื่อกดนับ ซึ่งทำให้ทำงานได้สะดวกมากยิ่งขึ้น หลังจากนั้นได้ลองปล่อยออกไปทาง Facebook ให้คนที่สนใจลองโหลดไปใช้ดูบ้าง เพราะอยากได้ feedback เอามาทำต่อให้สมบูรณ์มากขึ้นอีก ก็ได้เพื่อนๆหลายคนช่วยลองใช้ให้และได้คอมเม้นต์ที่ดีกลับมาค่อนข้างเยอะเลย และสุดท้ายเลยคิดว่าไหนๆก็ทำมาแล้วเอาขึ้น Google Play Store ไปเลยแล้วกัน เผื่อมีประโยชน์กับคนอื่นด้วย

เข้าไปโหลดแอพพลิเคชั่น Cells Calculator ได้ฟรีที่

QR Code

หลังจากปล่อยไป ก็ได้โพสให้เพื่อนๆใน Facebook ได้รู้เผื่อว่าจะมีคนสนใจ ผ่านไป 3 วัน พบว่ามีคนโหลดไปแล้วประมาณร้อยกว่าครั้ง ซึ่งก็ถือว่าเหนือความคาดหมายมาก เพราะเป็นแอพเล็กๆ ง่ายๆ และก็ค่อนข้างเฉพาะทางมากๆ มีแค่ไม่กี่คนที่จะได้ทำงานเกี่ยวกับเซลล์และไม่กี่คนจะมีโอกาสได้ใช้งานในลักษณะนี้ ถือว่าทะลุเป้าที่ตั้งไว้มากๆครับ

ส่วนวิธีใช้แบบง่ายๆก็ได้ลองอัดคลิปมาให้ได้ดูกันด้วย

วิธีการใช้แอพพลิเคชั่น Cells calculator 

รายการที่ต้องปรับปรุงเพิ่มเติม

  • เพิ่มปุ่มนับให้โหมด Chamber Calculator
  • ปรับให้เลือกช่องกริดได้หลากหลายมากขึ้น
  • เพิ่มสีสัน และภาพให้ดูน่าใช้มายิ่งขึ้น

เล่าเรื่องพื้นที่เก็บภาพแบบฟรีของ Google+Photo

เราใช้ Google+Photo เป็นที่เก็บภาพมาตั้งแต่ที่ยังเรียกกันว่า Picasa Album ดีอย่างหนึ่งคือให้เก็บฟรีที่ความละเอียดภาพไม่เกิน 2048×2048 pixel แต่ถ้าเกินก็อัพโหลดได้แต่จะไปกินเนื้อที่ส่วนอื่น เราใช้ package ต่ำสุดของการจ่ายเงินเพื่อเพิ่มพื้นที่ ซึ่งถือว่าคุ้มค่ามากคือ 20GB 5$/year รวมกับโบนัสอื่นอีกที่ได้มา 16GB รวมเป็นพื้นที่ทั้งหมด 36GB ถือว่าเยอะพอสมควร แต่เมื่อวานตอนจะอัพโหลดภาพใหม่ขึ้น ระบบก็แจ้งเตือนว่าพื้นที่ใกล้หมด ทำเอางง? เพราะคิดว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะใช้ 36GB หมด ส่วนใหญ่ที่ใช้ก็มี Google Drive, Gmail เป็นหลักสองส่วนนี้ไม่น่าจะกินพื้นที่มาก ส่วนรูปภาพก็อัพกว้างไม่เกิน 2048pixel อยู่แล้ว แล้วอยู่ๆมันเกิดเต็มขึ้นมาได้ยังไง (ไม่ค่อยได้เช็คดูเท่าไหร่นัก) จึงเข้าไปตรวจสอบที่ละจุดว่าเกิดอะไรขึ้น ดูรายละเอียดการใช้พื้นที่ได้ที่ https://www.google.com/settings/storage?hl=en พบว่าพื้นที่ส่วนใหญ่หมดไปกับการเก็บภาพ ใช้ไปประมาณ 22GB ไหนว่าฟรีที่ความกว้างไม่เกิน 2048pixel?

จึงเข้าไปดูโปรไฟล์ของรูปที่เราอัพโหลดขึ้นไปจึงได้รู้ว่า ปรกติการทำรูปของเราจะใช้ LR เป็นตัว export รูปออกมาที่ความกว้าง 2048px (ตั้งค่าไว้แค่ตัวเดียว) จากนั้นใช้ Picasa อัพโหลดขึ้นไปแบบภาพต้นฉบับเลย มันเกิดปัญหาขนาดภาพใหญ่เกินโควต้าเมื่อภาพที่ export ออกมาเป็นแนวตั้งครับ ปรกติเราถ่ายภาพที่อัตราส่วน 4:3 จะได้ภาพที่ความละเอียด 2048x1365px แต่ถ้าเป็นภาพแนวตั้งจะได้ภาพขนาด 2048x3072px (เพราะมันถูก fix ค่าเฉพาะแนวกว้างไว้) ซึ่งภาพเหล่านี้เองที่ทำให้กินพื้นที่ที่ละเล็กทีละน้อยมาจนทำให้เยอะจนกินพื้นที่ไปกว่า 22GB

ภาพในแนวตั้งมีประมาณ 1 ใน 5 ของภาพทั้งหมด ขนาดราว 4-5MB แสดงว่ามีภาพแนวตั้งที่เราต้องแก้ไขให้ขนาดไม่เกินโควต้าอยู่ราว 4-5พันรูปเลยครับ หนักใจเหมือนกัน เลยลองมาคิดความคุ้มทุนที่อัพเกรดพื้นที่เป็น 100GB ดีหรือเปล่า ซึ่งราคาก็อัพขึ้นมาพอสมควรกับสิ่งที่ได้มาใช้ไม่มากนัก จึงเริ่มปันใจจะแก้ไขภาพบางส่วนให้ได้พื้นที่กลับมาสัก 10GB แล้วแบ่งภาพไปเก็บที่ Flickr ที่ให้พื้นที่ตั้ง 1TB หรือไม่ครั้งหน้าระวังเรื่องการอัพโหลดรูปให้มีขนาดตามโควต้าซึ่งอันนี้ไม่ยากแค่ตอนอัพโหลดใน Picasa ให้ตั้งค่า Image size เป็น Best for web sharing การตั้งค่านี้จะย่อรูปแนวตั้งของเราอัตโนมัติ

คิดไปคิดมาลดพื้นที่เก็บภาพลงมาดีกว่า จึงเริ่มปฏิบัติการโหลดภาพจาก Google+Photo ทีละอัลบั้มลงเครื่องไว้ก่อน จากนั้นก็ลบภาพบนเน็ตทิ้ง แล้วก็อัพโหลดขึ้นไปใหม่ให้ขนาดไม่เกินโควต้าซึ่งทำไปสักพักก็ได้พื้นที่กลับมาแล้วราว 2 GB แต่ก็เหนื่อยพอสมควร เน็ตต้องแรงทั้งขาอัพโหลด-ดาวน์โหลด อีกอย่างที่ต้องชมคือระบบของ Google+Photo ทำออกมาได้ค่อนข้างดี ใช้งานง่ายดีทีเดียว ทำให้ทำได้ค่อนเร็ว

พื้นที่ว่างกลับมาบ้างแล้ว

Control Center ใน iOS7 มีให้โหลดแล้วใน Android ???

Control Center

Control Center แอพพลิเคชั่นรวมคำสั่งควบคุมการทำงานของเครื่อง เช่น การเปลี่ยนโหมดการทำงาน เปิด-ปิด Wifi ไฟฉาย เพิ่ม-ลดเสียง แสงสว่างหน้าจอ เป็นต้น วิธีการใช้งานเพียงสไลด์ที่หน้าจอจากด้านล่างขึ้นบน ศูนย์ควบคุมก็จะถูกเปิดขึ้นมา เป็นอีกหนึ่งฟีเจอร์ใหม่ของ iOS 7 แต่ความจริงแล้วใน Android มีมานานแล้วและวิธีเปิดทำได้โดยการสไลด์หน้าจอจากด้านบนลงล่าง รวมอยู่กับ Notification แล้วยังไงต่อ ฟีเจอร์ของ iOS 7 มันมาอยู่ใน Android ได้ยังไง ทั้งๆที่ iOS 7 ยังอยู่ใน beta 4 อยู่เลย และยังไม่ได้ปล่อยอัพเดตให้ลูกค้าทั่วไปได้ใช้กันเลย แล้ว Android เอามาใช้ก่อนซะอย่างงั้น

อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญคือแม้ว่าใน Android จะมีฟีเจอร์นี้มานานแล้ว แต่ใน iOS 7 กลับทำออกมาดูดีกว่าซะงั้น ซึ่งถ้าดูจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านๆมา Apple ก็ทำแบบนี้อยู่เสมอเอาของคนอื่นมาทำต่อ(ลอก,แรงบันดาลใจ)แล้วก็มักจะทำออกมาได้ดีเสียด้วย Control Center น่าจะเป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน

เอาเป็นว่ามาพูดถึงแอพพลิเคชั่น Control Center สำหรับ Android ที่ไป Copy&Past หน้าตาของ iOS 7 มาซะทุกอย่าง จน Apple ต้องรองขอให้ Google ถอดแอพพลิเคชั่นดังกล่าวออกจาก Play Store ซึ่ง Google ก็ทำตามคำร้องขอโดยถอดแอพพลิเคชั่นดังกล่าวออก แต่ผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นก็ไม่หมดความพยายามเปลี่ยนชื่อแล้วส่งขึ้น Play Store ใหม่ ตอนนี้ก็ยังสามารถโหลดได้อยู่นะ ว่าแล้วไปโหลดมาลองเล่นดูได้นะครับ

ดาวน์โหลด Control Center สำหรับ Android ได้ที่ https://play.google.com ต้องรีบนะเดี๋ยวอาจจะถูกถอดออกอีกครั้งก็เป็นได้

วิธีปิด Inbox Tabs ใน Gmail

Inbox Tabs in Gmail

เมื่อหลายวันก่อน Gmail อัพเดต inbox แบบใหม่มาให้เราใช้ ความจริงแล้วเขาเปิดตัวมาตั้งนานแล้วนะดูรายละเอียดที่ “A new inbox that puts you back in control” เพิ่มส่วนของ Inbox Tabs ขึ้นมาแล้วช่วยแยกประเภทของอีเมลให้เรา เมื่อมีอีเมลเข้ามาก็จะจับแยกเข้าไปอยู่ตาม Tab ต่างๆ ซึ่งทั้งในมือถือและแท็บเล็ตก็เปลี่ยนให้ด้วยอัตโนมัติ default ของ Inbox Tabs ที่ระบบตั้งมาให้มี Primary, Social, Promotions, Updates, Forums ดูแล้วก็น่าจะดีนะ ที่แต่พอทดลองใช้รู้สึกว่าไม่ถูกจริตเอาเสียเลย

เหตุที่ไม่ชอบ Inbox Tabs

  • ปกติเราจะแยกประเภทของอีเมลด้วย Label อยู่แล้ว การมี Tab ไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก
  • มันทำให้ต้องคลิกหลายครั้งเพื่อจะเข้าถึงอีเมลให้ครบทุกอัน ปกติจะจัดการอีเมลเป็นกลุ่มคลิกเลือกแล้วจะลบ หรือจะ Label ก็ทำได้สะดวกกว่า
  • ทำให้พลาดบางอีเมล เมื่อเผลอลืมคลิก Tab อื่นๆ

สรุปเลยว่าไม่ชอบเลย และคิดว่าหลายๆคนน่าจะไม่ชอบมันเหมือนเราแน่นอน จึงต้องหาวิธีปิดมันเสีย กลับไปใช้ในแบบที่เราใช้แล้วคล่องตัวมากกว่า

วิธีปิด Inbox Tabs ใน Gmail

  1. คลิก + ตรงมุมด้านขวาสุดของ Inbox Tabs

    Tab+

  2. เอาติ๊กหน้าอันอื่นออกเหลือไว้แค่ Primary

    เลือก Tab

  3. กด Save แล้ว Gmail ของเราก็จะกลับไปเป็นแบบที่เราคุ้นเคยครับ และการตั้งค่านี้ก็จะส่งผลไปที่ Gmail app ในมือถือและแท็บเล็ตของเราด้วยครับ

    กลับไปเป็นแบบเดิมที่เราคุ้นเคย

แต่ถ้าใครอยากได้ Inbox Tabs กลับมาก็เข้าไปตั้งค่าได้ที่ Settings>>Configure inbox ครับ

แอพ Notes ที่เข้าถึงได้ง่าย ได้เร็ว จากทุกอุปกรณ์พกพา

Notes and Google Keep

แต่ก่อน ผมมีสมุดบันทึกเล่มเล็กๆติดตัวเสมอ เอาไว้จดข้อมูลเล็กๆน้อยๆ รหัส ข้อความสั้นๆ พวกข้อมูลส่วนตัว หรืออะไรอื่นๆที่อยากจะจด ต้องมีข้อมูลที่เข้าถึงได้เร็วเมื่อจำเป็น ถ้าสมุดเล่มเล็กๆนั้นเต็มจะมีเล่มใหม่มาแทน แต่ข้อมูลบางอันก็จะถูกย้ายมาด้วยเสมอ

แม้จะเข้ามาถึงยุคที่เรามีอุปกรณ์พกพาที่ทำอะไรได้หลายอย่าง แต่สิ่งที่ยังไม่เปลี่ยนไปเลยก็คือ การจดบันทึกสั้นๆ ตอนที่ใช้ iPod Touch ก็จะใช้ Notes จดบันทึก แต่เมื่อย้ายมาใช้ Android ก็เปลี่ยนมาใช้ Google Keep สิ่งหนึ่งที่จำเป็นและไม่เปลี่ยนเลยคือ การจดแบบสั้นๆ กับการเข้าถึงได้ง่ายจากทุกที่ที่ต้องการ ถ้าหากอยากได้ข้อมูลเหล่านั้นต้องสามารถ Copy&Pase ได้ หรือแม้แต่การส่งข้อมูลจากอุปกรณ์หนึ่งไปยังอีกอุปกรณ์หนึ่ง(มือถือ<–>คอมฯ) ตัวแอพนี้ต้องรองรับและทำได้อย่างรวดเร็วทันใจ จึงเป็นสิ่งคัญที่ขาดไม่ได้เสียเลย

สิ่งที่ต้องการจากแอพพลิเคชั่นแบบนี้มีแค่ 2 ข้อ

  1. เน้นเข้าถึงง่าย จดเร็ว จดง่าย Sync ข้อมูลได้เร็ว
  2. เข้าถึงได้จากหลากหลายอุปกรณ์ มือถือ แท็ปเล็ต คอมพิวเตอร์

ถ้าเป็น iOS ก็ต้องแอพ “Notes” ที่ติดมาพร้อมกับเครื่องอยู่แล้ว ส่วน Android ก็ต้องเป็น “Google Keep

แอพพลิเคชั่นลักษณะที่กล่าวถึงนี้จะต่างจากแอพพลิเคชั่นจดบันทึกแบบจริงจังอย่าง Evernote ที่เราก็ใช้อยู่เป็นประจำเหมือนกัน ซึ่งแยกกันอย่างชัดเจน หากบันทึกที่มีรายละเอียดเยอะ มีองค์ประกอบหลายอย่าง มีภาพ มีลิงค์ มีวิดีโอ จะใช้ Evernote เป็นหลัก

ก่อนที่ Google Keep จะเปิดตัว ยอมรับว่าการหาแอพพลิเคชั่นแบบนี้ใน Android แบบตามความต้องการแค่ 2 ข้อนั้นยากมาก แต่หลังจากที่ Google Keep เปิดให้ใช้งานจึงค่อนข้างตอบโจทย์ที่เราต้องการมาก ตอนนี้ถ้าคิดจะซื้ออุปกรณ์พกพาอะไรใหม่ รองรับ Notes ที่เข้าถึงได้จากทุกที่ได้หรือไม่ เป็นปัจจัยที่ต้องพิจารณาร่วมด้วยเสมอไป

ใช้งาน Google Keep ได้ที่ https://drive.google.com/keep

Google Keep (Android)

วิธีติดตั้ง Folcon Pro

Folcon Pro เป็น Twitter Client อีกตัวหนึ่งสำหรับ Android ที่นักพัฒนาทำออกมาได้ดีและได้รับความนิยมอย่างมาก แต่กลับเกิดปัญหาคนใช้เยอะเกินไป(ทั้งที่ยอมจ่ายเงินและโหลดเถื่อน) ทำให้ token ที่ Twitter ตั้งไว้ให้นักพัฒนา 100,000 token ต่อหนึ่ง application เลยเต็ม ทำให้เกิดปัญหาเข้าใช้งานไม่ได้ ทางผู้พัฒนาก็มีการแก้ปัญหาหลายครั้ง ทั้งการให้ลงทะเบียนใหม่ แต่จนแล้วจนรอดก็เต็มทุกครั้ง อีกส่วนหนึ่งต้องเรียกว่าเป็นการกันท่าของ Twitter เองที่ไม่อยากให้มีการพัฒนา Client มาแข่งกับของตัวเอง ล่าสุดผู้พัฒนา Folcon Pro เลยปล่อยให้โหลดฟรีเสียเลย แล้วให้คนใช้ทั่วไปเข้าไปขอ API key เอง หรือ อธิบายง่ายๆคือใครอยากใช้ก็เข้าไปลงทะเบียน application อะไรก็ได้สักตัว แล้วเอา API key ที่เชื่อมต่อกับ Twitter มาใส่ให้ Folcon Pro ปัญหาเรื่อง API token จำกัดจึงหมดไป เรียกได้ว่าของใครของมัน ไม่ใช่มาจากผู้พัฒนาคนเดียวอีกแล้ว เป็นการดัดหลัง Twitter อีกทางหนึ่งเหมือนกัน อาจต้องรอดูว่า Twitter จะแก้ไขปัญหานี้ต่อยังไง หรือจะปล่อยเลยตามเลย

มาถึงวิธีติดตั้งกันครับ เรียกได้ว่าทำได้เท่ และ Geek ดีทีเดียว มีสูตรลับด้วยนะ ขั้นแรกเราต้องเตรียม API Key ก่อน แล้วค่อยเอาไปลงใน Folcon Pro

ขั้นตอนลงทะเบียนรับ API Key

  1. เข้าไปที่ https://dev.twitter.com เพื่อจะขอ API key ล็อกอิน user twitter เข้าไป
  2. กดตรงรูปของเราที่มุมขวา เข้าไปที่ “My applications”

    My application

  3. คลิกเลือก “Create a new application”
  4. ใส่รายละเอียดเข้าไปให้ครบ ที่น่าสนุกคือช่องใส่ชื่อ(Name) ตอนเราทวีตมันแสดง via: ชื่อนี้ครับ เช่น เราทวีตจะมีบอกว่า via: twitter for Mac, twitter for Android, Echofon แล้วแต่เราเลยครับ อยากได้ชื่ออะไรก็ใส่เข้าไปได้เลย ส่วนเว็บไชต์ที่บังคับให้ใส่ ใส่อะไรไปก็ได้ ต้องมี https:// นำหน้าด้วยนะ
  5. คลิกเลือก Yes,I agree ในส่วนของ “Developer Rules Of The Road” ใครอยากอ่านรายละเอียดข้อกำหนดก่อนก็ได้นะครับ
  6. เราสร้าง Application ตัวหนึ่งขึ้นมาแล้ว เข้าไปที่แท็บเมนู “Settings” ด้านบน เปลี่ยน Application Type ให้เป็น “Read, Write and Access direct messages” จากนั้นเลือนลงไปคลิก Update

    Application type

  7. กลับไปที่เท็บเมนู “Details” บันทึก “Consumer key” กับ “Consumer secret” ไว้ ผมเอาลงไว้ที่ Google Keep ตอน copy ไปลงแอฟจะได้ทำได้ง่ายขึ้น

    Consumer key

เราได้ API key มาแล้ว ต่อไปก็วิธีติดตั้ง Folcon Pro ลงมือถือหรือแท็บแล็ต

ขั้นตอนการติดตั้ง Folcon Pro

  1. เข้าไปดาวน์โหลด Falcon Pro ได้ที่ getfalcon.pro ติดตั้งลงเครื่องให้เรียบร้อย (ต้องปรับ setting ของเครื่องให้อนุญาติติดตั้ง apk นอก store ได้ด้วยนะ)
  2. เปิดเข้าไปที่หน้า login
  3. กดที่มุมทั้ง 4 ของหน้าจอให้มี 4 สีโผล่ขึ้นมา (ตามรูป)

    Folcon Pro code

  4. กดตรงมุมสีส้มอีกครั้งให้มันหายไป (ดูตามรูป)

    Folcon Pro code 2

  5. จับเครื่องเขย่าครับ เขย่าครับๆ ไม่ได้เขียนผิด สักพักจะมีข้อความขึ้นมาว่า “Custom login unlocked!” และมีปุ่ม Custom login โผล่ขึ้นมา

    Folcon Pro code 2

  6. กดเข้าไป “Custom login” แล้วใส่ API Key ที่ได้จากขั้นตอนลงทะเบียนเพื่อรับ API Key ลงไป เพื่อความสะดวกผม Sync Google Keep เข้ามือถือให้เรียบร้อยก่อน แล้วค่อยเข้าไป copy มาวาง ถ้ากดเองโอกาสผิดสูง

    AKI Key

  7. กด save แล้วก็เรียบร้อยแล้วครับ 

หน้าตาของ Folcon Pro ตามรูปครับ ในแต่ละทวีตถ้ามีรูปหรือวิดีโอที่แนบมาด้วยจะแสดงผลให้ดูด้วยเลย

Folcon Pro

ข้อมูลจาก: https://www.androidpolice.com

เล่าเรื่องการใช้ iconia B1 แท็บแล็ตราคาถูก

iconia B1

ไม่อยากเรียกว่ารีวิว เพราะมันไม่ถึงขนาดนั้น เอาเป็นว่าเล่าให้ฟังหลังจากใช้มาได้ราวสองสัปดาห์ก็แล้วกัน ราคาของ iconia B1 ประมาณ 3,750 บาท แต่ตอนเราซื้อได้คูปองลดมาอีกพันบาทตอนตัดสินใจซื้อเลยง่ายขึ้น ซื้อมาแล้วใช้ทำอะไรบ้างนั้น ส่วนใหญ่ก็เหมือนกับสมาร์ทโฟน เล่น facebook, twitter, ดูเว็บ ที่ต่างจากมือถือคือใช้อ่านข่าว อ่านการ์ตูน อ่านหนังสือ

แต่ว่าตัว iconia B1 ไม่มี 3G นะครับใช้เน็ตผ่าน wifi ได้เท่านั้น แต่โดยหลักแล้วเราก็ใช้ตอนที่ยู่ที่บ้านกับที่ทำงานเป็นส่วนใหญ่ อาจมีบ้างที่ไปเล่นที่สวนสาธารณะ ซึ่งที่เหล่านี้มี wifi ให้ใช้อยู่แล้ว มีบ้างที่ต้องเปิด wifi hotspot จากมือถืออีกทีหนึ่ง ถือว่าไม่ค่อยเดือดร้อนเรื่องออนไลน์เท่าไหร่นัก การใช้งานโดยทั่วไปถือว่าราบลื่นดี

แต่ก็มีข้อเสียอยู่บ้าง เวลาใช้ไปสักพักอาจจะต้องเคลียร์แรมทิ้งบ้างโดยเฉพาะถ้าเปิดหลายโปรแกรมพร้อมกัน อาจทำให้แรมเหลือไม่พอใช้เครื่องจะทำงานไม่ลื่นไหลเท่าไหร่นัก แม้เครื่องจะมีแรมมาให้ 512 mb แต่ถูกใช้ไปกับ system หลักกับแอพที่รันอยู่หลังบ้านเกือบหมดเหลือให้ใช้แค่ราวร้อยกว่าเม็กเท่านั้น อันนี้ขึ้นอยู่กับแอพที่ติดตั้งลงในเครื่องด้วยนะ

ขอแนะนำแอพที่ใช้บ่อยในเครื่อง iconia B1 ของผม

  1. Pantip อ่านกระทู้ในพันทิพ
  2. Perfect View อ่านการ์ตูน หาโหลดมาลงเองนะ
  3. Clean Master เคลียร์แรม(Task)
  4. feedly อ่าน rss
  5. Flipboard อ่านข่าว
  6. Google play music ฟังเพลง

โดยรวมถือว่าคุ้มค่าสมราคาของมัน ยังไม่ได้ลองเล่นเกม 3D แบบหนักๆไม่รู้ว่าจะรับไหวหรือป่าว แต่ที่อยากบอกคือลองเอาไปเล่น ingress แล้ว ใช้ได้นะแต่แบตหมดเร็วไปหน่อยถ้าเปิดทั้ง wifi และ gps ตอนเล่นเกมช่วงแรกๆจะลื่นไหลดี แต่พอเครื่องร้อนแล้วมีกระตุ๊กนิดหน่อย แต่ก็เล่นได้ล่ะ

สเปคของ iconia B1

  • ขนาดตัวเครื่อง: 197.4 x 128.5 x 11.3 mm (7.77 x 5.06 x 0.44 in)
  • น้ำหนัก: 320 g (11.29 oz)
  • หน้าจอ: TFT capacitive
  • 600 x 1024 pixels, 7.0 inches (~170 ppi pixel density)
  • CPU Dual-core 1.2 GHz
  • Chipset MTK 8317T
  • OS Android OS, v4.1 (Jelly Bean)
  • กล้องหน้า VGA, 640×480 pixels
  • ความจุภายในเครื่อง: 8/16 GB,แรม: 512 MB
  • รองรับเพิ่มความจุด้วย micro-SD สูงสุด 32 GB
  • WLAN Wi-Fi 802.11 b/g/n
  • Bluetooth Yes, v4.0
  • Sensors Accelerometer
  • มี GPS
  • แบตเตอรี่  Li-Po 2710 mAh

แจก invite สำหรับเล่นเกม Ingress

Ingress

วันนี้ทาง Niantic Labs แจก invite มาให้ agent ทุกคน คนละ 5 invite ถ้ารวมกับเพื่อนๆในกลุ่มแล้วน่าจะได้มาเยอะพอสมควรเลย ใครสนใจอยากเล่นเกมนี้ ลงชื่อไว้เลยครับ

ข้อกำหนด

  1. ต้องมีบัญชีของ Gmail 
  2. ต้องมีมือถือหรือแท็บเล็ต Android ที่รองรับการเล่นเกม (GPS, Wifi/3G) 

ถ้าคิดว่าตัวเองพร้อมแล้วก็เขียนคอมเม้นต์ไว้ข้างล่างว่าใช้มือถือหรือแท็บเล็ตรุ่นอะไร พร้อมกับอีเมล Gmail ของคุณ แล้วรอรับ invite ได้เลย

ปล. ใครอยากรู้ว่า Ingress คือเกมอะไร เล่นยังไง แนะนำให้อ่านได้ที่

มาก่อนได้ก่อนครับ

แกะกล่อง i-mobile IQ6 จอใหญ่ กล้องชัด ราคา 8,490 บาท

ได้มือถือใหม่มาครับ เป็นพวกขี้อวด ก็เลยเอามาแกะกล่องให้ดู มือถือไม่ใช่แบรนด์อินเตอร์อย่างพวก Apple, Samsung, LG, Sony แต่ขอบอกว่าของเขาก็ไม่ธรรมดาเหมือนกันนะครับ มือถือที่ว่าคือ i-mobile IQ6 สเปคเด่นๆ ก็จอ 5 นิ้ว ระดับ 720p กล้อง 12 ล้าน ราคา 8,490 บาท เป็นต้น

ตัวเองใช้มาได้สัปดาห์กว่าๆแล้ว เรื่องการใช้งานค่อยว่ากันภายหลัง มาดูแกะกล่องก่อนว่าข้างในมีอะไรบ้าง

กล่องของ i-mobile-IQ6

มีแถม SD card ความจุ 16 GB มาให้พร้อม

SD card ความจุ 16 GB ที่แถมมา
ด้านหลังเป็นสเปคของเครื่อง เรียกว่าราคาคุ้มค่าตัว
ด้านข้าง

ด้านข้างของกล่องจะดึงจุดเด่นของเครื่องออกมาโชว์ คือ มาพร้อม Android 4.1, รองรับ 3G, กล้องหลัง 12 ล้าน กล้องหน้า 2 ล้าน, CPU 1 GHz dual Core, ใช้งาน VDO Call ได้, รองรับ 2 ซิม และ จอ 5 นิ้ว

เปิดดูข้างในดีกว่า

ตัวเครื่อง i-mobile IQ6

เปิดกล่องออกมา เจอเครื่องห่อพลาสติกมาอย่างดี แต่ดูไม่ค่อยเท่เท่าไหร่

ลองจับดูตัวเครื่อง i-mobile IQ6

ลองจับดูเครื่องก็ใหญ่พอสมควรสำหรับคนมือเล็กอย่างเรา มีน้ำหนักนิดหน่อย

สาย USB เชื่อต่อกับคอมพิวเตอร์และเป็นสายชาร์ตในตัว
หูฟังพร้อมกับไมค์ ใช้คุยโทรศัพท์ได้
แบตเตอรี่ 2100 mAh ใช้งานเต็มวันสบายๆ
แถมเคสมาให้ด้วยในกล่อง
เต้าเสียบไฟฟ้าบ้านไว้ต่อชาร์ตแบตเตอรี่
คู่มือการใช้งาน
แถมผ้าเช็ดจอกับฟิล์มกันรอยมาให้ด้วย
แกะออกจากถุง แล้ววางให้ดูว่ามีอะไรในกล่องบ้าง
เอาสติกเกอร์แปะหน้าออก ดูดีขึ้นเยอะเลยนะ
ลองว่างเทียบกับน้อง iPod Touch 4Gen กลายเป็นพี่ตัวใหญ่ไปเลย
ดูข้างหลังกล้อง 12 ล้านพิกเซล มีฟิล์มติดอยู่ จะถ่ายก็เอาออกด้วยนะ
ถือไว้ในมือ ใหญ่ดีนะ
ใส่แบตเตอรีแล้วลองเปิดดูเลย
โลโก้ i-mobile
หน้า lock screen ดูดีเลยทีเดียว
unlock ออกมาเป็นหน้า home มีโปรแกรมติดตั้งมาแล้วบางส่วน

ตอนแรกกะจะลองโทรดู แต่ดันลืมใส่ซิมซะงั้น เลยต้องมาแกะฝาหลังใหม่อีกที พอดีว่ามีซิมอยู่แล้วสองตัวเป็นเบอร์ที่ใช้ประจำอยู่แล้ว กับซิมของแอร์การ์ดสำหรับเล่นเน็ตสะดวกเลยล่ะคราวนี้ จับยัดเข้าไปทั้งสองอันเลย แต่เครื่องสามารถใช้ 3G ได้ทีละซิมนะครับ ผมตั้งให้ซิม true เป็นโทรเข้า-ออก ส่วนซิม dtac ตั้งให้เป็น 3G ไว้เล่นเน็ต

ฝาหลังไม่ถือว่าแกะยากนะ

ก็ประมาณนี้นะครับ ส่วนเรื่องการใช้งานชอบตรงไหนไม่ชอบตรงไหน เดี๋ยวจะมาอัพเดตอีกทีนะครับ

ดูสเปคเครื่อง

  • หน้าจอ : 5 นิ้ว HD(IPS Screen) 720 x 1280 พิกเซล กันรอยขีดข่วนด้วยกระจก Dragon trail
  • หน่วยประมวลผล : 1.0 GHz Dual Core
  • 3G : แยกออกเป็น 2 รุ่น IQ6 จะรองรับ 3G 850/2100 MHz (Dtac และ True)<<เครื่องผมเป็นรุ่นนี้ กับ IQ6A จะรองรับ 3G 900/2100 MHz(AIS)
  • หน่วยความจำเครื่อง : ROM 4 GB/RAM 1 GB
  • หน่วยความจำภายนอก : เพิ่ม microSD Card ได้สูงสุด 32 GB (เขาแถมมาให้ 16 GB)
  • กล้อง : กล้องหลัง 12 ล้านพิกเซล (BSI) กล้องหน้า 2 ล้านพิกเซล (BSI)
  • แบตเตอรี่ : 2100 mAh Li-Polymer
  • ระบบปฎิบัติการ : Android 4.1 Jelly Bean

โฆษณาที่เห็นในทีวีคือตัวนี้ครับ

https://www.youtube.com/watch?v=8d-AbYgzKg0

 

Exit mobile version