ค้นหาคำศัพท์บัญญัติ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน อังกฤษ-ไทย

ค้นหาคำศัพท์บัญญัติ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน อังกฤษ-ไทย

ถ้าใครต้องเขียนเอกสารวิชาการอย่างเช่น วิทยานิพนธ์ สิทธิบัตร โครงการขอทุน หนังสือ รายงานโครงการวิจัย ฯลฯ อาจจะจำเป็นต้องใช้ศัพท์บัญญัติที่ถูกต้องตามราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งทางราชบัณฑิตยสถานก็มีเครื่องมือที่จะช่วยเหลือเราในการค้นหาคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่ถูกบัญญัติใหม่ในภาษาไทย โดยอำนวยความสะดวกให้ด้วยการค้นหาผ่านเว็บไซต์  ซึ่ง ณ ตอนนี้ มีคำศัพท์บัญญัติที่ให้บริการ 19 ฐานข้อมูล

  1. ศัพท์คอมพิวเตอร์ อังกฤษ-ไทย และ ไทย-อังกฤษ จำนวน ๖,๔๘๒ ระเบียน
  2. ศัพท์แพทยศาสตร์ อังกฤษ-ไทย และ ไทย-อังกฤษ จำนวน ๓๑,๓๖๕ ระเบียน
  3. ศัพท์รัฐศาสตร์ อังกฤษ-ไทย และ ไทย-อังกฤษ จำนวน ๘,๕๒๗ ระเบียน
  4. ศัพท์การเชื่อม อังกฤษ-ไทย และ ไทย-อังกฤษ จำนวน ๑,๙๒๕ ระเบียน
  5. ศัพท์พลังงาน อังกฤษ-ไทย และ ไทย-อังกฤษ จำนวน ๑,๓๕๐ ระเบียน
  6. ศัพท์ประชากรศาสตร์ อังกฤษ-ไทย และ ไทย-อังกฤษ จำนวน ๔,๗๙๒ ระเบียน
  7. ศัพท์พฤกษศาสตร์ อังกฤษ-ไทย และ ไทย-อังกฤษ จำนวน ๖,๗๓๘ ระเบียน
  8. ศัพท์ปรัชญา อังกฤษ-ไทย และ ไทย-อังกฤษ จำนวน ๑,๒๗๑ ระเบียน
  9. ศัพท์ประกันภัย อังกฤษ-ไทย และ ไทย-อังกฤษ จำนวน ๓,๐๑๑ ระเบียน
  10. ศัพท์วรรณกรรม อังกฤษ-ไทย และ ไทย-อังกฤษ จำนวน ๑,๘๕๙ ระเบียน
  11. ศัพท์ปรับอากาศ อังกฤษ-ไทย และ ไทย-อังกฤษ จำนวน ๑,๘๗๕ ระเบียน
  12. ศัพท์สัทศาสตร์ อังกฤษ-ไทย และ ไทย-อังกฤษ จำนวน ๖๐๔ ระเบียน
  13. ศัพท์นิติศาสตร์ อังกฤษ-ไทย และ ไทย-อังกฤษ จำนวน ๑๕,๔๑๕ ระเบียน
  14. ศัพท์ศิลปะ อังกฤษ-ไทย และ ไทย-อังกฤษ จำนวน ๑,๘๔๕ ระเบียน
  15. ศัพท์เทคโนโลยีสารสนเทศ อังกฤษ-ไทย และ ไทย-อังกฤษ จำนวน ๓,๙๘๑ ระเบียน
  16. ศัพท์ยานยนต์ อังกฤษ-ไทย และ ไทย-อังกฤษ จำนวน ๓,๓๐๖ ระเบียน
  17. ศัพท์ทันตแพทยศาสตร์ อังกฤษ-ไทย และ ไทย-อังกฤษ จำนวน ๓,๕๓๔ ระเบียน
  18. ศัพท์ธรณีวิทยา อังกฤษ-ไทย และ ไทย-อังกฤษ จำนวน ๕,๘๑๑ ระเบียน
  19. ศัพท์คณิตศาสตร์ อังกฤษ-ไทย และ ไทย-อังกฤษ จำนวน ๕,๔๖๑ ระเบียน

ผมได้มีโอกาสได้ใช้งานบ้างในบางครั้ง แต่ส่วนใหญ่ศัพท์ที่ค่อนข้างเฉพาะทางก็ยังค้นไม่เจอ(เพราะยังไม่บัญญัติ) เราก็จำต้องใช้ทับศัพท์ไป แต่อย่างไรก็ตามบริการค้นหาคำศัพท์บัญญัตินี้ก็ช่วยได้เยอะทีเดียว ดังนั้นควร Bookmark เก็บไว้ครับ

ตัวอย่างการใช้งาน

ทดลองค้นหาคำว่า endothelium

เข้าใช้งานบริการค้นหาคำศัพท์บัญญัติ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน อังกฤษ-ไทย ได้ที่  https://rirs3.royin.go.th/coinages/webcoinage.php

* ถ้าเปิดเว็บไซต์เข้าไปแล้วไม่สามารถอ่านข้อความได้(เป็นภาษาประหลาด) ให้เปลี่ยน encoding เป็น Thai

ถ่ายเอกสารอย่างไร ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์

ถ่ายเอกสารแบบไหนไม่ละเมิดลิขสิทธิ์

วันนี้แวะไปถ่ายเอกสารที่ห้องสมุดคณะแพทย์ จุฬาฯ เจอโปสเตอร์ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา เรื่องการถ่ายเอกสารอย่างไรไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ เห็นว่าน่าสนใจและน่ามีประโยชน์เลยเอามาแบ่งปันครับ

ถ่ายเอกสารอย่างไรไม่ละเมิดลิขสิทธิ์

เคารพสิทธิเจ้าของความคิดถ่ายเอกสารโดยไม่ละเมิดสิทธิ์ สร้างแรงใจให้คนสร้างสรรค์งาน

สำเนา

  • จำนวนที่พอเหมาะ
  • เฉพาะบางส่วนไม่ใช่ทั้งเล่ม(1 ใน 10)
  • เพื่อการศึกษาวิจัยที่ไม่มีผลประโยชน์เชิงพาณิชย์
  • เพื่อใช้ในห้องสมุด

อ้างอิง: กรมทรัพย์สินทางปัญญา www.ipthailand.com

ฟรีหนังสือ E-book จากห้องสมุดคณะแพทย์ฯ จุฬาฯ

รายการหนังสือ E-book โดยห้องสมุดคณะแพทย์

เคยแนะนำแหล่งดาวน์โหลดหนังสือออนไลน์ (เฉพาะนิสิตจุฬาฯ)ฟรีหนังสือ E-book มากกว่า 7 พันรายการ ไว้แล้วลองเข้าไปดูและดาวน์โหลดเก็บไว้ได้ครับ อีกแหล่งหนึ่งที่ทางห้องสมุดคณะแพทย์ จุฬาฯ ทำไว้ให้เป็นรายการหนังสือที่สามารถดาวน์โหลดได้ฟรี จากแหล่งต่างๆเช่น SpringerLink ebook, SciDirect ebook, NetLibrary, PubMedBookShelf เป็นต้น โดยเรียงตามตัวอักษรให้ง่ายต่อการค้นหา เพิ่มความสะดวกได้อย่างมาก

แต่หนังสือฟรีที่โหลดได้จากที่นี้ เนื่องจากเป็นรายการที่ห้องสมุดของคณะแพทย์เป็นผู้จัดทำขึ้น เนื้อหาจึงเป็นทางด้านการแพทย์ ชีววิทยา เป็นหลัก ต่างจาก CRCnetbase ที่จะมีทุกสาขา

การดาวน์โหลดหนังสือยังต้องอาศัยการใช้เน็ตในจุฬาฯ หรือใช้ VPN ครับ เป็นอีกช่องทางในการค้นหาหนังสือที่ตนสนใจแบบไม่ต้องเสียตังค์ ยิ่งถ้ามี E-book Reader ด้วยแล้วน่าจะถูกใจมากขึ้นแน่นอนครับ (ถ้าใครสนใจเล่มไหน จะฝากเพื่อนน้องๆโหลดให้ก็ได้นะ)

เข้าไปโหลดหนังสือ E-book จากห้องสมุดคณะแพทย์ฯ จุฬาฯได้ที่ https://library.md.chula.ac.th/e-book/ebook-list.html

หวังว่าจะเป็นโยชน์ครับ

บันทึกสัมมนาการจดสิทธิบัตร

ภาพประกอบจาก https://www.flickr.com/photos/95118988@N00/1497679352/

ไปฟังสัมมนาเกี่ยวกับการจดสิทธิบัตรที่ทางศูนย์บริการวิชาการ จุฬาฯ จัดให้นักวิจัย อาจารย์ นิสิต ได้เข้าอบรมฟรี ผมเห็นว่าน่าจะมีประโยชน์สำหรับคนทั่วไปด้วย จึงนำบันทึกมาเผยแพร่ต่อที่นี้ เผื่อจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นๆด้วย

บันทึกจากงานสัมมนา
เรื่องกระบวนการและแนวทางการจดสิทธิบัตร ผลงานวิจัยและทรัพย์สินทางปัญญา 
เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2554
ณ ห้อง 304 ชั้น 3 อาคารมาจักรีสิรินธร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สิทธิบัตร

-ปัจจุบันใช้ พรบ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 บังคับใช้เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2522 ปรับปรุง พ.ศ.2535, 2542
-เป็นกฏหมายที่มีข้อตกลงร่วมระหว่างประเทศภาคี แต่การจดสิทธิบัตรที่เดียวไม่ได้คุ้มครองทุกประเทศ แต่สามาถเลือกได้ว่าจะจดสิทธิบัตรในประเทศใดบ้างและต้องปฏิบัติตามกฏหมายของประเทศนั้นๆ โดยหน่วยงานของรัฐจะอำนวยความสะดวกให้ในระดับหนึ่ง

สิทธิบัตรไทย แบ่งเป็น 3 ประเภท

  • สิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์
  • สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์
  • อนุสิทธิบัตร (ไม่มีตรวจสอบว่าใหม่จริง)

สิทธิบัตร เป็นเหมือนทรัพย์สิน(โฉนดที่ดิน, หุ้นบริษัทฯ) สามารถโอนให้คนอื่นได้
อนุสิทธิบัตร เป็นการคุ้มครองแบบหลวมๆ ไม่มีการตรวจสอบว่าเป็นสิ่งใหม่จริง ให้ประกาศไปก่อนเพื่อความรวดเร็ว ถ้าหากใครคิดว่าตัวเองทำก่อนก็ค่อยมาฟ้องเพิกถอนสิทธิ (เป็นปัญหามาก) ในการเลือกจดสิทธิบัตรจะเลือกได้เพียงอย่างเดียวว่าจะจดสิทธิบัตร หรืออนุสิทธิบัตร

หลักการขอจดสิทธิบัตร

มีอยู่ 3 ข้อ มีอย่างใดอย่างหนึ่งก็ขอจดสิทธิบัตรได้แล้ว

  • เป็นสิ่งประดิษฐ์ขึ้นใหม่(Novelty)
  • มีขั้นตอนการประดิษฐ์สูงขึ้น(Inventive step)
  • สามารถประยุกต์ทางอุตาหกรรม(Industrial Applicable)

งานที่ไม่สามารถจดสิทธิบัตรได้

มีจุดที่น่าสนใจอยู่คือ สิ่งต่างๆเหล่านี้เรียกว่า “‘งานที่มีอยู่แล้ว” หรือ “ไม่ใหม่” ไม่รับจดสิทธิบัตร

  • มีการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ หรือแสดงผลงานในงานประชุมวิชาการแล้ว แต่มีข้อยกเว้นให้ จะต้องจดสิทธิบัตรภายใน 12 เดือนหลังทำการเผยแพร่ ถ้าเกินเวลาจากนี้แล้วจะจดสิทธิบัตรไม่ได้ เพราะถือว่าได้ประกาศโฆษณาไปแล้ว และถ้าหากยื่นขอจดสิทธิบัตรการคุ้มครองจะย้อนไปถึงวันที่เผยแพร่ผลงาน มีข้อแนะนำจากวิทยากรคือ ให้ยื่นจดสิทธิบัตรไปพร้อมกับส่งตีพิมพ์ในวารสารไปพร้อมกันเลย
  • ถ้่าไปขอจดสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรที่ต่างประเทศแล้ว จะต้องจดในประเทศภายใน 18 เดือน หลังจากนี้จะจดสิทธิบัตรไม่ได้ (ถือว่าลอกผลงานตัวเอง) เช่นเดียวกันเมื่อจดสิทธิบัตรการคุ้มครองจะย้อนไปถึงวันที่ยื่นจดสิทธิบัตรที่ต่างประเทศ

การประดิษฐ์ขึ้นใหม่และขั้นตอนประดิษฐ์ที่สูงขึ้น

การประดิษฐ์เราจะเห็นตัวตนของสิ่งประดิษฐ์ชัดเจน ส่วนขั้นตอนการประดิษฐ์อาจจะมองเห็นไม่ชัดเจนนัก แต่กฏหมายก็คุ้มครองหรือสามาถจดสิทธิบัตรได้ ในกลุ่มที่มีขั้นตอนการประดิษฐ์สูงขึ้น ไม่ได้หมายถึง การใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น แต่หมายถึงการใช้วิธีแก้ปัญหาที่ดีขึ้น ง่ายขึ้น หรือเป็นการแก้ไขปัญหาเดิมด้วยวิธีใหม่ที่ดีขึ้น เช่น การทำไวน์ด้วยวิธีใหม่ การถนอมอาหารแบบใหม่ เป็นต้น

ส่วนการประดิษฐ์ที่สามารถนำมาใช้ในประโยชน์ทางอุตสาหกรรมในต่างประเทศจะมีเพียงในทางอุตสาหกรรม แต่ในประเทศไทยจะเพิ่มส่วนของ หัตถกรรม เกษตรกรรม พาณิชกรรม เข้าไปด้วย ทำเพื่อให้เหมาะสมกับวิถีีชีวิตของคนไทยมากขึ้น

การออกแบบผลิตภัณฑ์ ลวดลาย สี รูปร่าง ได้รับการคุ้มครองสามารถจดสิทธิบัตรได้

มีความแตกต่างกันระหว่างการประดิษฐ์กับการออกแบบ คือ การประดิษฐ์เป็นการคุ้มครองโครงสร้างภายในผลิตภัณฑ์ ส่วนการออกแบบเป็นการคุ้มครองโครงสร้างภายนอกของผลิตภัณฑ์

ผู้มีสิทธิในสิทธิบัตร

  • ผู้ประดิษฐ์ ผู้ออกแบบ
  • ผู้ที่ได้รับการโอนสิทธิ์
  • นายจ้างของผู้ประดิษฐ์ หมายความว่า นายจ้างของผู้ประดิษฐ์จะเป็นคนถือสิทธิ์ แต่ถ้าสิ่งประดิษฐ์นั้นสามารถสร้างรายได้ในทางการค้าได้ ผู้ประดิษฐ์มีสิทธิรับบำเหน็จจากนายจ้างได้ตามสมควร (ถ้าไม่ได้สามารถฟ้องได้ แต่ต้องเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ก่อให้เกิดรายได้)
  • ถ้ามีผู้ประดิษฐ์ร่วมหลายคน ทุกคนมีสิทธิขอรับสิทธิบัตรได้ตามสัดส่วนที่ได้ระบุไว้

สิ่งที่ไม่สามารถจดสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตรได้

  • จุลชีพและส่วนประกอบ ในประเทศไทยถือว่าเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ในต่างประเทศสามารถจดสิทธิบัตรจุลชีพได้ แต่ในไทยไม่อนุญาติและไม่คุ้มครอง มีข้อยกเว้นถ้าจุลชีพนั้นมีการตัดต่อ ตกแต่งให้แตกต่างจากดั้งเดิม สามารถจดสิทธิบัตรได้
  • ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์ เพื่อการพัฒนาของวิทยาการ การถือถือสิทธิบัตรผู้เดียว ถือว่าขัดต่อการพัฒนาทางด้านองค์ความรู้
  • Software จะจดสิทธิบัตรไม่ได้ แต่จะเป็นกฏหมายอีกตัวคือ ลิขสิทธิ์ ซึ่งจะใช้ได้ชั่วชีวิต และต่ออีก 50 ปี หลังผู้ประดิษฐ์เสียชีวิต
  • วิธีการวินิจฉัย บำบัด หรือวิธีรักษาโรคในมนุษย์หรือสัตว์ ข้อนี้ถือเป็นการให้ประโยชน์แก่ทุกคน
  • การประดิษฐ์ที่ผิดต่อศิลธรรม อนามัย สวัสดิภาพของประชาชน

การจดสิทธิบัตรมีค่าธรรมเนียม

  • ค่าธรรมเนียมในแต่ละประเภท(ประดิษฐ์, ออกแบบ, อนุสิทธิบัตร)มีค่าธรรมเนียมต่างกัน แต่จะแพงขึ้นเรื่อยๆในปีหลังเหมือนกัน เป็นการแสดงว่าผู้ถือครองสิทธิได้รับประโยชน์จากสิทธิบัตร
  • อายุของสิทธิบัตรการประดิษฐ์มีอายุ 20 ปี, การออกแบบ มีอายุ 10 ปี ทั้งสองต่ออายุไม่ได้ ส่วนอนุสิทธิบัตรมีอายุ 6 ปี ต่ออายุได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ปี

ผลงานวิจัยกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

การคุ้มครองงานวิจัย มีแนวทางการคุ้มครองได้ 5 ลักษณะ

  • ลิขสิทธิ์ จะเป็นการคุ้มครองทันทีที่ผลิตผลงานออกมาเช่น ข้อความใน paper, รูปภาพ ฯลฯ แต่จะไม่คุ้มครองเนื้องานภายใน
  • แบบผังภูมิวงจรรวม หมายถึงการออกแบบวงจรใหม่ แต่ยังใช้ IC จากคนอื่น เช่น เมื่อนำ Microchip ของ intel มาประดิษฐ์อุปกรณ์ขึ้นมาใหม่ สามารถจดสิทธิบัตรได้ซึ่งจะคุ้มครองส่วนวงจรรวมแต่ไม่ได้คุ้มครอง IC แต่ละตัวที่นำมาใช้
  • ความลับทางการค้า เรียกว่าการจดแจ้ง เปิดเผยข้อมูลบ้างส่วนเท่านั้น เป็นกลุ่มของ Know How ที่เปิดเผยให้คนอื่นรู้ไม่ได้ ในการจดแจ้งจะต้องระบุวิธีการเก็บข้อมูลด้วย เช่น ให้รู้กี่คน เก็บเอกสารยังไง ถ้าไม่ปฏิบัติตามวิธีการเก็บความลับนั้น หากเกิดความลับรั่วไหลจะฟ้องดำเนินคดีไม่ได้
  • การคุ้มครองพันธุ์พืช จะใช้ในงานของกระทรวงเกษตรฯ เป็นกฏหมายอีกฉบับ
  • สิทธิบัตร กลุ่มที่เหมาะสมคือ กลุ่มสิ่งประดิษฐ์ที่เมื่อทำวิศวกรรมย้อนกลับแล้วรู้ว่าทำขึ้นได้อย่างไร เป็นกลุ่มที่ควรจดสิทธิบัตรไว้ เพื่อปกป้องสิทธิของตัวเอง เช่น การประดิษฐ์เครื่องยนต์ การประดิษฐ์อุปกรณ์อำนวยความสะดวก เป็นต้น

ข้อแนะนำก่อนการจดสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร

  • ควรรีวิวมาก่อนว่าเคยมีการประดิษฐ์มาก่อนหรือไม่ ต้องตรวจสอบให้ด วิธีการตรวจสอบคือ การค้นหาสิทธิบัตรในประเทศต่างๆ จากแหล่งข้อมูลเหล่านี้
    -ประเทศไทย https://www.ipthailand.org
    -ประเทศสหรัฐอเมริกา https://www.uspto.gov
    -ประเทศญี่ปุ่น https://www.jpo.go.jp
    -กลุ่มประเทศยุโรป https://ep.espacenet.com
  • ต้องพิจารณาให้ดีว่าจะเลือกจดสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร วิเคราะห์ให้ดีว่าแบบไหนตรงกับงานที่ตัวเองประดิษฐ์
  • ในสิ่งประดิษฐ์ของเราต้องระบุว่าจะคุ้มครองตรงไหนบ้าง การระบุกว้างไปก็ไม่ดี จะทำให้ระบุได้ยากว่าผู้อื่นละเมิดสิทธิบัตรของเราส่วนไหนบ้าง หากระบุแคบเกินไปก็เป็นการจำกัดสิทธิของตัวเอง ข้อนี้สามารถขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ หรือดูตัวอย่างสิทธิบัตรของคนอื่นก่อนหน้าเป็นตัวอย่างได้
  • ในประเทศไทยใครยื่นก่อนมีสิทธิก่อน ต่างจากของอเมริกาจะถือว่าผู้ประดิษฐ์ก่อนคนแรกจะได้ถือครองสิทธิบัตร แต่จะมีขั้นตอนการพิสูจน์ที่ค่อนข้างยุ่งยาก ในไทยจึงตัดปัญหา ให้ใครยื่นก่อนได้ก่อน
  • การเขียนรูปประกอบจะต้องเขียนตามหลักการเขียนแบบ มีเลขหมายระบุแสดงชิ้นส่วนชัดเจน 
(มีเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำถ้าไม่มีความรู้แต่อยากจดสิทธิบัตร)
  • การระบุชื่อสิ่งประดิษฐ์จะไม่ใช้ชื่อเฉพาะ เช่น แว่นตาสุดมหัสจรรย์(ไม่รู้ว่ามหัสจรรย์ตรงไหน) การระบุชื่อจะต้องชัดเจนและสื่อความหมายชัดเจน จะยาวสั้นไม่ว่า เช่น “แว่นตาที่ขาพับเก็บได้”
  • การจดสิทธิบัตรเป็นการตรจสอบความใหม่ ไม่ได้เป็นการตรวจสอบประสิทธิภาพ มีสิทธิบัตรบางอันที่ทำงานจริงได้ไม่ดี แต่เมื่อมีคนนำไปต่อยอดให้ทำงานได้ดีขึ้นเขาจะต้องขอสิทธิจากงานดั้งเดิมเสียก่อน เป็นการสนับสนุนให้คนไทยสนใจการจดสิทธิบัตรมากขึ้น?

สถานที่ขอจดสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร

ส่วนบริหารงานจดสิทธิบัตร สำนักงานสิทธิบัตร กรมทรัพย์สินทางปัญญา โทร 0-2547-4637
หรือ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกแห่ง
https://www.ipthailand.go.th/ipthailand สายด่วน 1368

ภายในจุฬาฯ มีหน่วยงานดูแลเรื่องการขอจดสิทธิบัตร ติดต่อได้ที่
สถาบันทรัพย์สินทางปัญญา แห่งจุฬาฯ อาคารเทพทวาราวดี (คณะนิติศาสตร์) ชั้น 9 หมายเลขโทรศัพท์ 0-2218-2895 https://www.ipi.chula.ac.th

บันทึกโดย พงษ์ศักดิ์ สาระภักดี
วันที่ 17 มิถุนายน 2554
sarapukdee@gmail.com

ดาวน์โหลด บันทึกการขอจดสิทธิบัตร(PDF)

เพิ่มพื้นที่ Dropbox แบบฟรี ให้ทะลุถึง 19 GB กันเลย

จากตอนที่แล้วที่เขียนถึงการเพิ่มพื้นที่ให้ Dropbox ด้วยวิธีใช้สอง account ในเครื่องเดียว ในคอมเม้นด้านล่างคุณ @ThaiAnime แนะนำวิธีเพิ่มพื้นที่ให้ Dropbox ด้วยการยืนยันการเป็นนักศึกษา โดยการใช้อีเมลของสถานศึกษาที่มีโดเมนเป็น .ac, .ac.th หรือ .edu เลยลองทดสอบดู

เข้าไปที่ www.dropbox.com/edu

Dropbox edu

ใส่อีเมลที่เป็นของสถานศึกษาของเราเข้าไป กด Send Email ระบบจะส่งลิงค์ไปให้ที่อีเมลที่กรอกเข้าไป

Dropbox ส่งลิงค์ยืนยันมาให้

อีเมลของมหาลัยที่เข้าปีละหนเองมั้ง เพิ่งเห็นประโยชน์ก็คราวนี้ล่ะ กดลิงค์ที่ Dropbox ส่งมาให้ หรือจะก๊อปปี้ไปวางที่ช่อง ulr ของ Browser ก็ได้

Verify เสร็จ Dropbox จะเพิ่มพื้นที่ให้ทันที โดยอิงจากพื้นที่ที่ได้จาก Ref link ก่อนหน้านี้ที่แนะนำเพื่อนไป โดยเปลี่ยนจาก 250 MB/คน เป็น 500 MB/คน ทำให้พื้นที่ของผมจาก 11 GB เพิ่มเป็น 19 GB ในทันที

พื้นที่ Dropbox 19 GB

ตอนนี้เลยอยากรู้แล้วว่าพื้นที่แบบฟรีของ Dropbox จะเพิ่มสูงสุดได้เท่าไหร่กันนะ อีก account ให้เพื่อน verify ให้ดีกว่า

สุดท้ายขอบคุณ @ThaiAnime อีกครั้ง ที่แนะนำทริปดีๆให้ครับ

ใครที่ยังไม่เคยใช้ Dropbox สมัครผ่าน Referral Link ของผมได้นะครับ

รวมข่าว กรณีสภาวิชาชีพไม่รับรองหลักสูตรเทคนิคการแพทย์ ม.ราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

สภาวิชาชีพไม่รับรองหลักสูตรเทคนิคการแพทย์ ม.ราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

ข่าวหลักสูตรเทคนิคการแพทย์ ม.ราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ไม่ผ่านการรับรองจากสภาวิชาชีพฯ ส่งผลให้ไม่สามารถเปิดสอนต่อได้ จนต้องมีการฟ้องศาลคุ้มครอง เหตุการณ์นี้ผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดคงเป็นนักศึกษาที่ยังไม่รู้ทางมหาลัยจะแก้ปัญหาออกไปทางไหน สำหรับใครที่ไม่ได้ติดตามข่าว ผมลองรวบรวม ข่าว เรียงตามลำดับจากต้นเรื่องไปเรื่อยๆ อาจจะไม่ทั้งหมด แต่ถ้าอ่านเรียงลำดับลงไปจะเข้าใจลำดับเหตุการณ์

เหตุการณ์ลักษณะนี้ ก่อนหน้านี้เคยเห็นมาแล้ว เมื่อครั้งหลักสูตรพยาบาล วิทยาลัยนครราชสีมาไม่ได้รับการรับรอง และจบลงโดย สกอ. ช่วยจัดให้นักศึกษากระจายไปเรียนตามสถาบันต่างๆ  ในเหตุการณ์นี้ยังไม่รู้จะจบยังไง(น่าจะเป็นเหมือนเหตุการณ์ด้านบน) แต่สิ่งที่ต้องคำนึงมากที่สุด คงต้องเป็นนักศึกษาที่เสียเวลาเรียนมาแล้วหลายปี ขอให้เรื่องนี้ผ่านไปได้ด้วยดีและดีกับทุกฝ่าย

ข้อมูลเพิ่มเติม
มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนสาขาเทคนิคการแพทย์ ต้องได้รับการรับรองหลักสูตรจากสภาเทคนิคการแพทย์ก่อน นักศึกษาที่จบมาจึงจะมีสิทธิ์เข้าสอบใบประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ และสามารถทำงานเป็นนักเทคนิคการแพทย์ได้ รายชื่อมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนและรายชื่อมหาวิทยาลัยที่ได้รับการรับรองแล้ว และยังไม่ได้รับการรับรอง

คณะเทคนิคการแพทย์
คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ได้รับการรับรองแล้ว
คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต  ได้รับการรับรองแล้ว
คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ  ได้รับการรับรองแล้ว
คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ได้รับการรับรองแล้ว
คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล  ได้รับการรับรองแล้ว
คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น
คณะเทคนิคการแพทย์ วิทยาลัยนครราชสีมา

คณะสหเวชศาสตร์
คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ได้รับการรับรองแล้ว
คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ได้รับการรับรองแล้ว
คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร  ได้รับการรับรองแล้ว
คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา  ได้รับการรับรองแล้ว
สำนักวิชาสหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์  ได้รับการรับรองแล้ว

คณะวิทยาศาสตร์
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

อ้างอิงข้อมูล รายชื่อคณะเทคนิคการแพทย์ในประเทศไทย

BME Journal & News Subscription

เมื่อปลายปีที่แล้วได้จัดงาน BME CONCEPT ขึ้น แล้วก็ได้รับการตอบรับที่ดีมาก(เกินคาด) ผมก็ได้ร่วมนำเสนอด้วย ผมเสนอเรื่องใกล้ตัวที่ผมทำเป็นเรื่องปกติ แต่คิดว่าหลายคนยังไม่รู้ นั้นคือ การอ่านเว็บไซต์ที่เสนอข่าวสารเกี่ยวกับ วิศวกรรมชีวเวชฯ ที่มีอยู่มากมาย ก็เคยเขียนไว้แล้วใน Biomed.in.th ตอนที่ 1,  ตอนที่ 2 บังเอิญวันนี้เปิดไปเจอสไลด์ของตัวเอง เลยคิดว่าเอามาลงไว้ในบล็อกดีกว่าเผื่อมีคนสนใจ

Journal & News Subscription

ผมบอกไปเรื่อยๆว่าเว็บนี้มีข้อดีอย่างไรบ้าง น่าสนใจตรงไหน รวมถึงเว็บฐานข้อมูลงานวิจัยที่ใช้บ่อยๆอย่าง Sciencedirect และ Pubmed เท่าที่บอกไปก็มีอยู่ราว 20 เว็บไซต์ ปัญหาที่ตามมาคือเราจะไปตามอ่านทุกวันได้ยังไง เสียเวลาทำงานอย่างอื่นหมด คำตอบของปัญหานี้คือใช้ RSS Reader ช่วย เป็นวิธีที่เหล่า Bloger หรือ Geek เขาทำกัน ให้มันดึงเนื้อหาเฉพาะอันที่อัพเดตมา เราก็จะได้ติดตามอ่านอย่างไม่พลาดเนื้อหาใหม่ๆ และไม่ต้องเสียเวลาไปตามอ่านทุกเว็บ วันหนึ่งหรือสองสามวันค่อยเข้ามาเช็คเหมือนเช็คอีเมล อีกอย่างที่น่าจะเป็นประโยชน์คือมันแชร์ให้เพื่อน ใส่คอมเม้นท์เพิ่มเติมส่งให้เพื่อนในกลุ่มได้ด้วย

แต่พิเศษกว่านั้น ปกติเราจะเลือก subscript แต่ blog เป็นส่วนใหญ่ แต่น้อยคนที่รู้ว่า เว็บอย่าง Sciencedirect หรือ Pubmed ก็มี RSS ของ Journal งานวิจัยต่างๆเหมือนกัน

Sciencedirect: สามารถเลือก Journal ที่เราสนใจได้เลย อาจไม่มีทุกอันแต่เล่มที่ใหญ่ Impact สูงๆ มี RSS อยู่แล้ว เนื้อหาที่ถูกดึงมาเป็น abstract  แต่แค่นั้นก็เพียงพอแล้วที่จะดูว่า บทความนั้นทำอะไร ถ้าสนใจค่อยคลิกเข้าไปดู เข้าไปโหลด

Pubmed: สามารถเลือก subscript เฉพาะคีย์เวิร์ดที่เราสนใจได้เลย เช่น ชื่อโรค ชื่อเชื้อไวรัว หรือการทดลอง ฯลฯ ใส่คีย์เวิร์ด คลิก search แล้วไอคอน RSS จะโผล่ขึ้นมาเอง

ผมว่ามันเป็นประโยชน์สำหรับผม และคิดว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับคนอื่นด้วย ตอนท้ายงานมีคนมาของสไลด์หลายคนเลยทีเดียว (แสดงว่าเราคิดถูก ที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์กับคนอื่น)

ทำกราฟ QC แบบมี Standard Deviation (SD)

เพื่อนบี๋จากโคราช โทรมาถามผมเรื่องการทำกราฟที่แสดง SD ในกราฟด้วย จะใช้ทำกราฟสำหรับ Quality Control(QC) ของห้องแล็ป ตามหลักการแล้วการควบคุมคุณภาพของห้องแล็ปต้องทำการทดสอบเครื่องมือ น้ำยาต่างๆ ทำทุกวัน และเก็บค่าต่างๆเพื่อมาวิเคราะห์ ว่ายังมีความถูกต้อง และแม่นยำ อยู่มากน้อยเพียงไร ถ้ามีปัญหาจะต้องมีการปรับตั้งค่ากันใหม่

ผมก็ลองศึกษา ทบทวนความรู้นิดหน่อย และบันทึกเก็บไว้ คิดว่าอนาคตอาจจะได้ใช้เหมือนกัน

สิ่งที่เขาทำคือใน 1 วัน เก็บค่าการทดสอบ 20 ค่า นำมาหาค่า Mean และ SD แสดงเส้นของค่า Mean และ 2SD ทั้งบนและล่าง เก็บต่อเนื่องตลอดทั้งเดือน แสดงว่าเราจะต้องทำกราฟ อยู่สองอันคือ กราฟรายวัน และกราฟรายเดือน

ขอเสนอกราฟรายวันก่อน

  1. นำค่าทั้ง 20 ค่ามาคำนวณหาค่า Mean และ SD ใช้สูตรง่ายๆ
    -Mean สูตร =average(ชุดข้อมูล 20 ค่า)
    -SD สูตร =stdev(ชุดข้อมูล 20 ค่า)
    -คำนวณ Mean+SD, Mean-SD, Mean+2SD, Mean-2SD ไว้ด้วยเลย ดูตามรูป

    SD Chart

  2. สร้างกราฟ XY ให้ X เป็นครั้งที่ทำการทดลอง และค่า Y เป็นค่าที่วัดได้
  3. จากนั้นทำ Secondary chart อีกอันซ้อนอยู่ด้วยกัน แต่ไม่ต้องแสดง axis อีกข้าง
  4. เอาค่า Mean, Mean+2SD, Mean-2SD อันนี้แล้วแต่ว่าอยากได้เส้นไหนบ้าง แต่เพื่อนต้องการเส้น 2SD จึงทำแค่นั้น โดยเลือกพล็อตกราฟจากค่าที่เราคำนวณไว้ จับคู่กับค่าคงตัวค่าหนึ่ง
  5. จากนั้นเข้าไปใส่ค่า Error bar ให้กราฟ กำหนดค่าเป็นแบบ fix ใส่ค่าลงไป 20.1(ค่าคงตัว;ให้จุดเริ่มของเส้นเลยตำแหน่งของจำนวน 20 ไปนิดหนึ่ง ถ้ามี 30 ค่า ก็กำหนดเป็น 30.1) จะเลือก Direction เป็น Both หรือ Minus ก็ได้  เราจะได้เส้นทั้ง 3 เส้นลากยาว กำหนดค่าสีตามต้องการ และใส่ Label ให้เส้นที่ได้

    QC Chart with SD

  6. ตอนนี้กราฟรายวันเราเสร็จแล้ว ได้กราฟที่มี เส้นลากของ Mean, และ Mean+-2SD

การทำกราฟรายเดือนแสดงทีละวัน แบบจุดที่มี +-2SD

  1. รูปแบบการทำก็คล้ายกับการทำกราฟรายวัน นั้นคือเอาค่าที่คำนวณได้ของแต่ละวันมาทำเป็นกราฟเดียวกัน
  2. พล็อตกราฟ XY ให้ X เป็นวันที่ ค่า Y เป็นค่า Mean ของวันนั้นๆ
  3. กำหนดค่า Error bar ชี้ไปที่ค่า 2SD ที่คำนวณไว้ กำหนด Display Direction เป็น Both คือ มีทั้งบนและล่าง

    Control Test Chart

  4. แล้วเราก็ได้กราฟของ Control Test รายเดือน ผมลองใส่ค่าให้ดู 11 วันจะได้เห็นว่ามันมีหน้าตาประมาณนี้นะ

ถ้าใครขี้เกียจไม่อยากทำเอง ผมทำไฟล์ excel มาให้แล้ว ดาวน์โหลดไปใช้ได้เลย เพียงแค่เอาค่าจากทดลองของคุณ 20 ค่าเข้าไปแทนที่อันที่ตัวอย่าง แล้วมันจะสร้างกราฟให้เอง ส่วนกราฟรายวันทำเป็นตัวอย่างให้หนึ่งอัน วิธีการใช้ก็ก๊อปปี้กราฟนั้น แล้ว select data อันใหม่เข้าไปก็เสร็จแล้ว

Google Docs ดาวน์โหลด Quality Control Chart Excel 2003, Quality Control Chart Excel 2007

เพิ่มเติมบางคนไม่สะดวกโหลดผ่าน Google Docs เลยเอาลิงค์ที่โหลดไฟล์โดยตรงมาให้ด้วย

Quality Control Chart excel 2003Quality Control Chart excel 2007

 

ราคา Kindle 3 WiFi

Kindle Wifi E-Book Reader $139 @Amazon

ผมเอา Banner ของ Kindle มาติดไว้ที่บล็อกแล้วนะตอนนี้ อันที่จริงเคย แปลรีวิวของ Kindle DX เมื่อครั้งมันเปิดตัวรุ่นหน้าจอใหญ่ เอาไว้อ่านหนังสือพิมพ์เป็นที่ฮือฮา คนให้ความสนใจเปิดดูหน้านั้นมิใช่น้อย แต่ไม่คิดว่าใครจะซื้อเพราะราคามันแพงเอาเรื่องเหมือนกัน

ตอนนี้ราคาของ Kindle 3 รุ่น Wifi มันอยู่ที่ $139 รวมค่าจัดส่งอีก $10 ภาษีอีก $40 เป็นเงินทั้งหมด $189 คิดเป็นเงินไทยแล้วก็ราว 5,679 บาท (ข้อมูลจาก Blognone โดย @pittaya) กลายเป็นว่าเป็นที่หมายปองของใครหลายคนในประเทศไทย เลยเห็นรีวิวของคนที่สั่งซื้อมาดูเป็นระยะ

ผมจึงนำมาติดไว้ที่เว็บ อาจจะโชคดีมีคนคลิกสั่งซื้อผ่านลิงค์ของผม เผื่อว่าจะได้ค่าคอมมิชชั่นกลับมาทำประโยชน์ต่อ

สเปคของ Kindle 3 Wifi จาก Amazon

Technical Details

Included in the box

  • Kindle wireless reader
  • U.S. power adapter
    (supports 100V-240V)
  • USB 2.0 cable
    (for connection to the Kindle power adapter or to connect to a computer.)
Display Amazon’s 6″ diagonal electronic paper display, optimized with proprietary waveform and font technology, 600 x 800 pixel resolution at 167 ppi, 16-level gray scale.
Size (in inches) 7.5″ x 4.8″ x 0.335″ (190 mm x 123 mm x 8.5 mm).
Weight 8.5 ounces (241 grams).
System Requirements None, because it’s wireless and doesn’t require a computer.
Storage 4GB internal (approximately 3GB available for user content).
Battery Life A single charge lasts for up to a month with wireless off. Keep wireless always on and it lasts for up to 3 weeks. Battery life will vary based on wireless usage, such as shopping the Kindle Store, web browsing, and downloading content.
Charge Time Fully charges in approximately 4.5 hours via the included U.S. power adapter. Also supports charging from your computer via the included USB 2.0 cable.
Wi-Fi Connectivity Supports public and private Wi-Fi networks or hotspots that use the 802.11b, 802.11g, or 802.11n (in b or g compatibility mode) standard with support for WEP, WPA and WPA2 security using password authentication; does not connect to WPA and WPA2 secured networks using 802.1X authentication methods; does not support connecting to ad-hoc (or peer-to-peer) Wi-Fi networks.
USB Port USB 2.0 (micro-B connector) for connection to the Kindle U.S. power adapter or optionally to connect to a PC or Macintosh computer.
Audio 3.5 mm stereo audio jack, rear-mounted stereo speakers.
Content Formats Supported Kindle (AZW), TXT, PDF, Audible (Audible Enhanced (AA, AAX)), MP3, unprotected MOBI, PRC natively; HTML, DOC, JPEG, GIF, PNG, BMP through conversion.
Included Accessories U.S. power adapter (supports 110V-240V), USB 2.0 cable, rechargeable battery.
Documentation Quick Start Guide (included in box) [PDF]; Kindle User’s Guide (pre-installed on device) [PDF]. Additional information in multiple languages available online.
Warranty and Service 1-year limited warranty and service included. Optional 2-year Extended Warrantyavailable for U.S. customers sold separately. Use of Kindle is subject to the Kindle License Agreement and Terms of Use.

ขอบริการซ่อมจาก Dell แบบ On-site Service

Dell Inspion ที่ผมใช้อยู่ซื้อมายังไม่นานนัก ก็เกิดอาการแจ๊คเสียบสายชาร์ตบนตัวเครื่องด้านหลังมีอาการหลวมๆ เข้าใจว่าเหตุเป็นเพราะตัวผมเอง ที่ชอบวางมันบนท้องแล้วนอนเล่น เวลามองไม่เห็นคีย์บอร์ดก็ยกตัวมันขึ้น ทำให้หัวของแจ๊คที่เสียบค้างอยู่บนเครื่องถูกดันขึ้นลงอยู่บ่อยๆ ตอนแรกแค่ขยับนิดๆ หน่อยๆไฟก็ติด แต่เมื่อวานมันคงหมดความอดทน ถึงขั้นต้องหาอะไรทับไว้ไฟถึงจะเข้า

จึงโทรแจ้งไปที่ศูนย์บริการที่เบอร์ 02-6707200 แล้วฟังและทำตามเสียงตอบรับไปเรื่อยๆ จากนั้นพนักงานก็จะมารับสายเราเอง แจ้ง Tag ของเครื่องให้พนักงานทราบ(อยู่ที่ใต้เครื่อง) จากนั้นก็บอกอาการเสีย เขาอาจให้เราทดสอบอาการเสียเบื้องต้นกับเครื่องเราก่อนด้วย เพื่อวิเคราะห์ปัญหา สุดท้ายแจ้งที่อยู่ของเราไป

ถัดมาอีกวันก็มีพนักงานโทรมาถามสถานที่อีกครั้งและนัดเวลา พี่พนักงานดูเครื่องนิดหน่อยบอกว่าเปลี่ยนอันใหม่เลยนะ ถ่ายรูปมาให้ดูด้วย (โต๊ะทำงานผมรกมากนะ)

เริ่มถอดเครื่อง

อุปกรณ์ของพี่ช่าง dell มาในเป้ใบเดียว ตอนแรกที่เห็นตกใจ เหมือนไม่ได้เตรียมอะไรมาเลย

เริ่มแกะคีย์บอร์ด

มีที่รองสีเขียวให้น้อง Dell ด้วย กันเป็นรอย เริ่มแกะคีย์บอร์ด เขามีถาดแม่เหล็กไว้เก็บน๊อต

เริ่มถอดเครื่อง

พี่ช่าง Dell มีเล็บยาวมาก เขาบอกใช้แงะเครื่องง่ายดี เป็นเทคนิคของใครของมัน

ยอจอออก

ยกจอออก ทำงานได้เร็ว ดูรู้เลยมาชำนาญการณ์สูง แป็บเดี๋ยวน้อง Dell เป็นเหมือนขยะอิเล็กทรอนิคดีๆนี้เอง เมื่อมันถูกแยกส่วน

ตัวปัญหาตัวเล็ก แต่อยู่ลึก

ถอดมันออกมาแล้ว เจ้าตัวปัญหา แล้วเอาตัวใหม่เสียบแทนเข้าไปด้วย

นี้ไงเจ้าปัญหา

หัวตัวนี้เองที่ทำให้ชาร์ตไฟไม่เข้า เพราะมันหลวม

ลองเสียบ

พี่ช่างก็ประกอบเครื่องเข้าเรียบร้อย น๊อตเยอะแยะขนาดนั้นถ้าถอดเอง ตอนประกอบเข้าอาจจะมีน๊อตบางตัวที่เหลือเกินมา(ฮา จากประสบการณ์จริง) พี่ช่างให้ทดสอบเครื่อง ผมลองเสียบเข้า-ออก 4-5 รอบ พบว่ามันปกติดีแล้ว แน่นเปี๊ย!

Adapter

เขาคงไม่แน่ใจว่าเป็นปัญหาที่หัว Adapter ด้วยหรือปล่าว ตัดปัญหา เอา Adapter ตัวใหม่แกะกล่องมาเปลี่ยนให้ด้วยเลย เยี่ยม

ใช้เวลาราว 15 นาที ก็เรียบร้อย เสร็จแล้วก็เซ็นต์เอกสารรับงาน

สรุปว่าบริการประทับใจ ตามคำรำลือ

Exit mobile version