รีวิวหนังสือ How To นี้คือภาคต่อของ What If?

, , 1 Comment

หนังสือ How To: Absurd Scientific Advice for Common Real-World Problems
เขียนโดย Randall Munroe นักเขียน นักวิทยาศาสตร์ วิศกร ชาวอเมริกัน ผลงานที่ผ่านมา xkcd, What If?, Thing Explainer

รีวิวหนังสือ How To: Absurd Scientific Advice for Common Real-World Problems

ได้รู้จักผลงานของ Randall Munroe ครั้งแรกผ่านทางหนังสือ What If? เป็นหนังสือตอบปัญหาประหลาดๆ ด้วยหลักและความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่มีในปัจจุบัน มีเขียนการ์ตูนแทรกเป็นเป็นระยะๆ มีความตลก ขำขัน ซึ่งมันสนุกมากๆ

พอผลงานเล่มถัดมาของเขา Thing Explainer ด้วยความพยายามตั้งเงื่อนไข ใช้คำศัพท์เพียง 1,000 คำในการเขียน และรูปแบบในการนำเสนอเชิงอธิบายสิ่งต่างๆด้วยภาพ พร้อมคำอธิบายในหนึ่งหน้ากระดาษ มันเลยออกมาเหมือน blue print ของสิ่งที่เขียนถึง มันเป็นหนังสือที่ดี แต่ความสนุก การมีอารมณ์ขันขอคนเขียนมันหายไป

ย้อนกลับมาที่ผลงานใหม่ล่าสุดของเขา How To ต้องเรียกว่า เป็น Monroe Strike Back เพราะความสนุกแบบ What If? กลับมาแล้ว รูปแบบการเขียนแบบมีอารมณ์ขัน แทรกด้วยการ์ตูน xkcd มุกฮาๆ ที่เราเคยชอบกลับมาหมด จะเรียกภาคสองของ What If? ก็คงไม่ผิดหนัก

ยิ่งกว่านั้น ในบางเรื่องที่เขาเขียนถึงผ่านการตั้งคำถามที่กวนๆในตอนแรก แต่ตอบด้วยหลักวิทยาสตร์ตอนท้าย ในเล่มนี้เขาไม่ได้คิดคนเดียวเสียหมดทุกเรื่อง มีการไปสัมภาษณ์ผู้เชียวชาญในเรื่องนั้นๆแทรกมาด้วย ยิ่งทำให้เรื่องนั้นดูน่าสนใจขึ้นอีกมาก (ไม่ไช่ทุกเรื่องที่คุยกับผู้เชี่ยวชาญ)

ในบางหัวข้อ เขาแทรกประวัติศาสตร์การแก้ไขปัญหาของคนในสมัยก่อนมาให้อ่านด้วย หลายครั้งทำให้เกิดความสงสัยต้องไปค้นต่อในเรื่องนั้นๆอยู่หลายครั้ง

ขอยกตัวอย่างบางเรื่องที่ถูกแทรกเข้ามาในหัวข้อ How to cross a river (วิธีการข้ามแม่น้ำ)
ย้อนกลับไปเมื่อปี 1847 วิศวกรได้ระดมสมองคิดวิธีการที่จะลากสายเคเบิลข้ามแม่น้ำบริเวณน้ำตกไนแอการ่า เพื่อจะได้เริ่มต้นสร้างเป็นสะพานเชื่อมระหว่างฝั่งอเมริกาและแคนนาดาต่อไป แต่ปัญหาคือ ด้วยระยะทาง 213 เมตร ร่วมกับบริเวณนั้นมีน้ำวนและน้ำไหลเชี่ยวแรงมาก ไม่สามารถว่ายหรือใช้เรือเฟอร์รี่ลากสายเคเบิลข้ามไปได้

ผลจากการระดมสมอง ทีมวิศกรเลยจัดประกาศการแข่งขัน เล่นว่าวลากเคเบิล ข้ามไปอีกฝั่ง (ความคิดที่บ้าบอดี)
คนแรกที่ทำได้จะได้รางวัล 10 ดอลล่าร์ และเด็กหนุ่มชาวอเมริกันวัย 15 ปี ชื่อ Homan Walsh เขาปล่อยว่าวจากฝั่งแคนนาดาและปีนต้นไม้ที่ฝั่งอเมริกาเพื่อคว้าเอาว่าวลงมา เขาทำสำเร็จเป็นคนแรกและได้รางวัลไป จากเชือกว่าวที่เบาๆุถูกผูกติดกับเชือกที่ใหญ่ขึ้น แล้วดึงข้ามไปอีกฝั่ง เชือกถูกเพิ่มขนาดขึ้นเรื่อยๆจนลากสายเคเบิลที่ใหญ่ได้สำเร็จ

นี่เป็นขั้นตอนแรกในการสร้างสะพานแขวนแห่งแรกเหนือแม่น้ำไนแองการ่า ซึ่งเปิดใช้ในปี 1848 ปัจจุบันสะพานดังกล่าวถูกแทนที่ด้วย สะพาน Whirlpool Rapids ซึ่งเปิดใช้ในปี 1897 จนถึงปัจจุบัน

flying-kite contest
flying-kite contest in 1847

แม้ Randall Munroe จะเขียนไว้ตั้งแต่ต้นว่า อย่าทดลองทำตามที่หนังสือแนะนำเด็ดขาด ไม่รับรองความปลอดภัย และไม่รับรองผลสำเสร็จ รวมทั้งอันตรายที่จะเกิดขึ้นได้ด้วย แต่บางเรื่องเมื่อลองคิดดูแล้ว มันก็มีโอกาสสำเร็จสูงเหมือนกันเลยทีเดียว แม้มันจะเป็นความคิดที่ค่อนข้างจะบ้าบอไปหน่อยก็เถอะ เช่น วิธีการจะชาร์ตแบบมือถือยังไงในอาคาร ถ้าหาปลั๊กไฟไม่ได้ หนึ่งในแหล่งพลังงานที่พอจะแปลงออกมาเป็นพลังงานให้ชาร์ตมือถือได้ คือ บันไดเลื่อน ถ้าเราเอา generator ไปติดกับล้อและให้ล้อติดกับบันไดเลื่อนอีกที บันไดจะหมุนล้อไปเรื่อยๆ ปั่นไฟฟ้าออกมาให้เราได้ชาร์ตมือถือได้ ดูบ้าบอแต่มีความเป็นไปได้นะ

How to Charge Your Phone (when you can’t find an outlet)

โดยสรุป สนุก ตลก มีสาระแทรก ยิ่งถ้าคุณเคยเป็นคนที่ชอบ อารมณ์ขันใน What If? ยิ่งไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

ให้คะแนน 4.5/5
ที่หักไปนิดหนึ่งเพราะหน่วยทางวิทยาศาสตร์ที่เขาใช้ในหนังสือ เช่น ระยะทาง ความสูง น้ำหนัก และอื่นๆ จะใช้แบบอเมริกันบ้าง แบบสากลบ้างสลับปนกันไปมา คนอเมริกันอาจจะคุ้นเคย แต่พอเราอ่านต้องค่อยแปลงค่าไปมาบ่อยๆทำให้การอ่านสะดุดไปบ้าง เข้าใจว่าเล่มที่ตีพิมพ์แบบ international อาจจะมีการเปลี่ยนแปลง อย่างที่ What If? เคยทำ เช่น เปลี่ยนความสูงแบบ feet เป็น meter หรือ ระยะ mile เป็น km ทั้งหมดตลอดทั้งเล่ม เป็นต้น

 

One Response

Leave a Reply