Old enough วาไรตี้การทำธุระครั้งแรก ของเด็กวัยอนุบาลญี่ปุ่น

Old Enough! วาไรตี้ชมได้ทาง Netflix

Old enough เป็นรายการวาไรตี้ญี่ปุ่น ดูได้ทาง Netflix รูปแบบรายการเป็นลักษณะสารคดี ตามติดการทำธุระด้วยตัวเองเพื่อช่วยครอบครัวของเด็ก ๆ ก่อนวัยเรียน เช่น ออกไปซื้อของชำ จัดส่งพัสดุ ส่งข้าวกลางวัน เป็นต้น ตอนละ 10 กว่านาทีเอง

รีวิวสั้น ๆ น่ารัก สนุก และดีมาก ๆ เด็ก ๆ ตัวนิดเดียวแต่เก่งมาก ๆ น่าทึ่งสุด ๆ

ส่วนตัวได้แต่อิจฉาวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมของญี่ปุ่นที่เอื้อให้เด็กสามารถทำอะไรหลาย ๆ อย่างด้วยตัวคนเดียวได้อย่างปลอดภัย ถึงแม้ในรายการจะมีคนของรายการดูแลความปลอดภัยให้ตลอดก็เถอะ แต่ก็รู้สึกว่าปลอดภัยกว่าบ้านเมืองเราอยู่ดี

สิ่งที่เห็นชัด ๆ เช่น การข้ามถนน ที่ถูกฝึกอบรมมาตั้งแต่เด็ก ๆ และเด็ก ๆ ก็ทำตามอย่างเคร่งครัดมาก ๆ

สรุปว่า ดูเลย สนุก คอนเฟิร์ม รอชมซีซั่นต่อไปไม่ไหวแล้ว

ปล. เด็ก ๆ ในรายการจะน่ารักและเก่งแตกต่างกันไป พ่อๆแม่ๆ อย่าเอามาเปรียบเทียบกับลูกหลานตัวเองเด็ดขาด เด็ก ๆ แต่ละคนโตมาแตกต่างกัน มีความน่ารัก และเก่งในแบบของตัวเอง

The Lord of the Rings ไปอยู่ไหนมาทำไมเพิ่งได้อ่าน

หนังสือชุด The Lord of the Rings ที่มี 3 เล่มจบ

เพิ่งจะอ่านหนังสือชุด The Lord of the Rings เล่มที่ 1 จบ ซึ่งปกติจะเป็นคนที่ทั้งอ่านและฟังไปพร้อมกัน เล่มนี้ audio book อ่านโดย Andy Serkis (คนที่แสดงเป็นกอลลั่มในฉบับหนัง) ซึ่งเขาก็ทำผลงานออกมาได้ดีมาก ๆ ทั้งร้องเพลง อ่านบทกวี ดัดเสียงตามตัวละคร จังหวะการอ่านดีมาก ๆ รวมแล้วประมาณ 22 ชั่วโมง ความจริงถ้าอ่านเองอาจจะใช้เวลาเร็วกว่านี้มาก แต่ได้ฟังเสียงไปด้วยมันเพลินมาก ไม่ปรับความเร็วด้วย

ส่วนเนื้อหาของหนังสือเล่มแรกของชุด 3 เล่มจบ The Fellowship of the Ring พบว่าเป็นหนังสือที่ดีงามมาก ๆ การเล่าเรื่อง ความแฟนตาซี ปรัชญา บทเพลง บทกวี ภาษาและอักขระเฉพาะ การเดินทางผจญภัย ความสัมพันธ์ของตัวละคร และโครงสร้างจักรวาลถูกวางและเขียนไว้ได้ดีมาก ๆ นี้คือหนังสือที่ควรอ่านสักครั้ง

คำถามต่อมาคือเราไปอยู่ไหนมาทำไมเพิ่งจะได้อ่านนะ (ดูแต่หนัง จำนวนรอบนั้นนับไม่ได้แล้ว)

หนังสือชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ ฉบับภาพประกอบ

หนังสือชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ ที่มีเขียนภาพประกอบโดย Jim Key

Harry Potter and the Philosopher’s Stone: Illustrated Edition

ภาพประกอบโดย Jim Kay

เป็นหนังสือชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ ที่มีเขียนภาพประกอบโดยจินตนาการตามตัวอักษรในหนังสือ หลายอันอาจจะไม่ได้เหมือนฉบับภาพยนตร์ที่เราคุ้นเคย (ซึ่งจริงๆหนังก็ตีความได้ดีมากเหมือนกัน)

ฉบับภาพประกอบของ Jim Kay ทำออกมาได้สวยมากๆ น่ามีเก็บไว้บนตู้หนังสือมาก ๆ ที่เห็นอยู่ในภาพเป็นฉบับ ebook ใน kindle ภาพมีแอนนิเมชั่นนิดๆ ขยับตัวได้ด้วย

สรุปว่าดูภาพประกอบตัวอย่างบางส่วนเอาแล้วกันสวยแค่ไหนตอนนี้ทำออกมายังไม่ครบทั้ง 7 เล่มนะ เล่ม 5 จะออกราวๆ กลางปีนี้ เล่มต่อไปคงจะทยอยตามเรื่อย ๆ ฉบับ hardcover ราคาประมาณ 25€

ข้อสังเกตเมื่อ เชอร์ล็อก โฮล์มส์ ทำ fasting

ถ้าได้อ่านหนังสือชุด เชอร์ล็อก โฮล์มส์ จะพบว่านักสืบอัจฉริยะคนนี้จะอดอาหารไม่ดื่มกินอะไรเลยในช่วงที่ต้องใช้ความคิดแก้ไขคดีที่ยากและซับซ้อนมาก ๆ
เหตุผลที่เขาให้ไว้คือ สมองต้องการเลือดไปหล่อเลี้ยงสูงขึ้นในช่วงที่ใช้ความคิดหนัก ๆ ถ้ากินอะไรลงไป เลือดจะไหลไปรวมกันที่ท้องมากขึ้น และเลือดที่ไหลไปเลี้ยงสมองจะลดลง ส่งผลให้ประสิทธิภาพทางความคิดด้อยลง มีหลายคร้ังเลยทีเดียวที่เขาต้องอดอาหารติดต่อกันหลายวัน

image ref. https://en.wikipedia.org/wiki/Sherlock_Holmes

เรื่องอดอาหารแล้วความคิดเฉียบแหลมขึ้น ในทางการแพทย์จริงเท็จแค่ไหน?

หนังสือ เชอร์ล็อก โฮล์มส์ เขียนขึ้นในช่วงราว ๆ ปลายศตวรรษที่ 18 ทางการแพทย์อาจจะไม่ก้าวหน้าเท่ายุคนี้ แต่ปัจจุบันการทำ fasting มีให้เห็นกันทั่วไป (โดยเฉพาะพวกสายเทคโนโลยี เขียนโค้ด ฮิตกันมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา)

ดังนั้นคาดคะแนได้ว่าท่านเซอร์ อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์ คนเขียน เชอร์ล็อก โฮล์มส์ น่าจะได้ศึกษาเรื่องนี้มาก่อน (เป็นความรู้โดยทั่วไปในยุคนั้น) หรืออาจจะทดลองทำกับตัวเองมาก่อน (เป็นความรู้ในวงจำกัด) เลยสามารถเขียนถึงได้ละเอียด

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าจะดูเฉพาะที่มีการกล่าวถึงเรื่องการอดอาหารเพื่อเพิ่มพลังความคิดของ เชอร์ล็อก โฮล์มส์ ที่ถูกเขียนไว้ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 18 จนถึงปัจจุบันก็นับได้ว่า fasting นี้ทำกันมาหลักหลายร้อยปีแล้วทีเดียว

นี้เป็นข้อสังเกตเล็ก ๆ ที่ได้จากการอ่านวรรณกรรมคลาสสิคในช่วงที่นี้

หนังสือ The Handmaid’s Tale ฉบับ Graphic novel

เมื่อวานได้แนะนำหนังสือ หนังสือ To kill a mockingbird ฉบับ Graphic novel ไปแล้ว วันนี้มีอีกเล่มที่อยากแนะนำต่อ นั้นคือ The Handmaid’s Tale ฉบับ Graphic novel เหมือนกัน ดัดแปลงและวาดภาพโดย Renee Nault ตีพิมพ์เมื่อปี 2019 ภาพสีทั้งเล่มและน่าสะสมมาก

หนังสือ The Handmaid’s Tale ฉบับ Graphic novel

ทำความรู้จักกับหนังสือเล่มนี้ในเบื้องต้น
The Handmaid’s Tale เป็นนวนิยายแนวดิสโทเปีย โดย Margaret Atwood นักเขียนชาวแคนาดา ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 1985 แต่ถึงปัจจุบันก็ยังยอดเยี่ยมและเป็นที่นิยม ขอจัดอยู่ในกลุ่มหนังสือคลาสสิคแนวเดียวกับ 1984, Fahrenheit 451 ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับสังคมยุคที่ถูกกดขี่จากระบอบเผด็จการ ในหลาย ๆ สำนักถ้าจัดหนังสือหมวดดิสโทเปียที่ต้องอ่านจะต้องมีเล่มนี้ติด 1 ใน 5 แน่นอน

มาที่เนื้อหาในหนังสือ เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้หลังสงครามกลางเมืองของอเมริกา ผลคือเมืองถูกปกครองโดยระบอบเผด็จการทหารแบบเบ็ดเสร็จ และยังมีภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อมและอัตราการเกิดที่ลดลงเข้ามาเสริมด้วย เผด็จการทหารได้บังคับใช้บทบาททางสังคมที่เข้มงวดและคลั่งศาสนาสุด ๆ ใช้ระบบที่มีผู้ชายเป็นใหญ่ ส่วนผู้หญิงถูกกดขึ่และถูกบังคับให้ทำงานในบทบาทที่จำกัด แต่ละกลุ่มมีหน้าที่แตกต่างกัน มีชุดที่สวมใส่ที่แตกต่างกันด้วย ผู้หญิงบางกลุ่มที่ถูกเรียกว่า “Handmaid; สาวใช้” จะถูกบังคับให้ทำหน้าที่ผลิตเด็ก เพื่อเพิ่มประชากรป้องกันการสูญพันธ์ุ(โดยเฉพาะเผ่าพันธุ์ของคนระดับสูง) สาวใช้จะไม่อนุญาติให้มีทรัพย์สินหรือแม้แต่ชื่อตัวเอง แต่จะถูกเรียกว่า เป็นของใคร (Of-) เช่น ออฟเฟรด (Of-fred หมายถึง เธอเป็นของผู้บัญชาการชื่อเฟรด) ตัวเอกของเรื่องก็เป็นหนึ่งในคนใช้ มีหน้าที่ต้องผลิตลูกให้กับผู้บัญชาการคนหนึ่งของกลุ่มเผด็จการทหาร

ชีวิตของกลุ่มสาวใช้จะต้องอยู่ในเขตกักกัน พวกเธอจะออกไปทำหน้าที่ตามบ้านของเจ้าหน้าที่ระดับสูงตามเวลาที่กำหนด มีหลาย ๆ ฉากของการทำหน้าที่ของเธอ ที่อ่านแล้วสะเทือนใจอย่างมาก เช่น ขั้นตอนการทำหน้าที่ผสมพันธุ์ที่ทำเหมือนเป็นหนึ่งในพิธีกรรม ต้องมีภรรยาของผู้ชายผู้กระทำอยู่ในขั้นตอนนั้นด้วย ถูกปฏิบัติเหมือนเครื่องจักรผลิตเด็ก ส่วนใครที่พยายามหลบหนีจะถูกทำโทษอย่างรุนแรงต่อหน้าคนใช้คนอื่น ๆ แต่หลายคนก็ไม่ยอมจำนนและพยายามที่จะหลบหนีให้ได้

ปัจจุบัน The Handmaid’s Tale มีฉบับซี่รี่ย์ให้ได้ชมแล้ว สร้างตั้งแต่ปี 2017 ตอนนี้มี 4 ซีซั่นแล้ว (ยังไม่ได้ดูเหมือนกัน)

ฉบับ Graphic novel ที่เห็นอยู่นี้ ดัดแปลงและวาดภาพโดย Renee Nault ทำออกมาได้ดีมาก อ่านง่าย ภาพสวยมีสไตล์เฉพาะตัว แต่ฉากความรุนแรงนั้นไม่ได้ลดลงเลย (เห็นเป็นภาพสีสวยก็จริง แต่ไม่เหมาะกับเด็กเล็กนะ)

ขอแนะนำสำหรับคนที่อยากซื้อเก็บสะสมในหมวดหนังสือที่ต้องอ่านครับ

รายละเอียดหนังสือ The Handmaid’s Tale ฉบับ Graphic novel
ราคา 16 ยูโร สั่งมาจาก Amazon.de
Publisher ‏ : ‎ Nan A. Talese; Illustrated edition (26 Mar. 2019)
Language ‏ : ‎ English
Hardcover ‏ : ‎ 240 pages
Dimensions ‏ : ‎ 16.69 x 2.26 x 24.18 cm

หนังสือ To kill a mockingbird ฉบับ Graphic novel

มีเรื่องราวข้อพิพาทที่รุนแรงเกิดขึ้นระหว่างคนผิวสีกับคนขาว มีทนายความคนหนึ่งได้เข้ามาว่าความให้คนผิวสี เนื้อเรื่องค่อนข้างซีเรียสแต่เรื่องราวถูกเล่าเรื่องผ่านกลุ่มเด็ก ๆ ลูกของเขาที่การมองโลกเป็นไปแบบซื่อ ๆ และตรงไปตรงมา ดังนั้นสิ่งที่เด็ก ๆ พบเห็นในเรื่อง มันแสดงให้พวกเขาเห็นถึงสิ่งที่พวกผู้ใหญ่ทำไม่มีความถูกต้องเป็นอย่างมาก และมันก็สะท้อนกลับไปที่ตัวของเด็กเองว่าเมื่อพวกเขาโตไปจะไม่ทำอะไรแบบผู้ใหญ่ทำกัน และส่วนสำคัญของหนังสือเล่มนี้ คือทนายความได้สอนวิธีการมองโลกและการใช้ชีวิตในสังคมให้กับลูก ๆ ของเขาได้ดีมาก ๆ

หนังสือเล่มถูกตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1960 และถูกแนะนำให้เป็นหนึ่งในหนังสืออ่านนอกเวลาของเด็กอเมริกัน ซึ่งเป็นความพยายามสร้างค่านิยมการไม่เหยียดความเป็นมนุษย์ของคนอื่น และเรียนรู้ที่จะอยู่ด้วยกันอย่างเห็นอกเห็นใจ
แม้ว่าการเหยียดกันในสังคมปัจจุบันยังคงมีอยู่ แต่ถ้าคนในยุคนั้นบอกว่าในอนาคตจะมีประธานาธิบดีของอเมริกาเป็นคนผิวสีคงไม่มีใครเชื่อแน่ ๆ เพราะคุณค่าของคนผิวสีในยุคนั้นมันถูกมองว่าต่ำมาก ๆ อย่างไรก็ตามไม่มากก็น้อยหนังสือเล่มนี้มีส่วนในการผลักดันค่านิยมการยอมรับผู้อื่นอย่างเป็นธรรมให้ดีขึ้นอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอย่างแน่นอน

หนังสือ To kill a mockingbird ฉบับ Graphic novel

ในปีที่แล้วได้อ่านหนังสือเล่มนี้และก็จัดให้เป็นหนึ่งในหนังสือที่ชอบในปี 2021 อีกด้วย ส่วนอันที่ได้มานี้คือฉบับ Graphic novel ดัดแปลงและวาดโดย Fred Fordham ทำออกมาตั้งแต่ปี 2018 รีวิวสั้น ๆ ว่าภาพสวยและเนื้อหาครบถ้วนดีมาก
ตอนที่อ่านฉบับหนังสือธรรมดาเราก็จะพยายามจินตนาการตามตัวอักษร ถึงสภาพแวดล้อม ผู้คน หรือการแต่งตัวของคนอเมริกันในยุคนั้น แต่ว่าเราไม่ใช่คนพื้นถิ่น บางครั้งจึงนึกภาพตามได้ลำบาก ฉบับสมุดภาพทำออกมาให้ได้เห็นสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้น ทำให้เห็นภาพชัดเจนและง่ายมากยิ่งขึ้น ดังนั้นการมีอีกฉบับเก็บไว้และนำมาเปิดอ่านอีกครั้งน่าจะดีไม่น้อย

และสุดท้ายขอแนะนำสำหรับใครที่ไม่ชอบอ่านหนังสือที่มีแต่ตัวหนังสือ อ่านแบบเป็นภาพประกอบก็ได้ เพราะนี้เป็นหนังสืออีกเล่มที่ควรค่าที่จะได้อ่านจริง ๆ

รายละเอียดหนังสือ To kill a mockingbird ฉบับ Graphic novel
ราคา 15 ยูโร สั่งมาจาก Amazon.de
Publisher ‏ : ‎ William Heinemann; 1st edition (30 Oct. 2018)
Language ‏ : ‎ English
Hardcover ‏ : ‎ 288 pages
Dimensions ‏ : ‎ 17.1 x 3.1 x 24.2 cm

ร้านขายหนังสือ Thalia ใส่ความเห็นของพนักงานเพื่อเพิ่มความสนใจให้กับลูกค้าในร้าน

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เข้าไปในเมือง เดินเล่นและเข้าไปที่ร้านขายหนังสือ ร้านขายปลีกหนังสือในเยอรมันที่ค่อนข้างใหญ่ และมีสาขาเยอะ คือ Thalia มีทั้งหน้าร้านและออนไลน์ หนังสือเล่มล่าสุด the queens gambit ก็ซื้อที่นี้ สิ่งที่เห็นและเป็นรายละเอียดเล็ก ๆ ที่อยากเอามาเล่านั้นอยู่ในภาพประกอบนี้

มันคือคำแนะนำจากคนขายหนังสือที่ได้อ่านเล่มนี้แล้ว

คำแนะนำจากคนขาย (“Lieblingsbuchhändlerin” means favorite bookseller)

ป้ายพร้อมข้อความเหล่านี้จะกระจายอยู่ทั่วไปตามชั้นขายหนังสือ สำหรับคนที่ชอบเดินเลือกหนังสือถือว่าเป็นแนวคิดที่ดีมาก ๆ

ผมเลยลองคุยรายละเอียดเพิ่มเติมกับเพื่อนที่ทำงานในร้าน Thalia เขาบอกว่า นี้คือคอนเซ็พท์ของทางร้านที่ให้พนักงานที่ได้อ่านหนังสือ สามารถรีวิวหรือแนะนำเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้กับลูกค้าได้ โดยเขียนเป็นข้อความสั้น ๆ (เขียนเป็นด้วยลายมือไม่ใช่พิมพ์นะ) แล้ววางไว้ที่หน้าชั้นวางหนังสือนั้น ๆ สิ่งที่ได้กลับมาคือลูกค้าจะได้คำแนะนำจากคนที่อ่านหนังสือนั้นจริง ๆ และถ้าลูกค้าต้องการข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือเล่มนั้นมากขี้น ยังสามารถที่จะเข้าไปพูดคุยกับคนขายได้ถูกคนด้วย ค่อนข้างแน่ใจได้ว่า ตนขายคนนั้นจะให้คำแนะนำเกี่ยวกับหนังสือเล่มนั้นได้จริง ๆ

ฟังแล้วเป็นไอเดียที่ดีมาก ๆ เลย เราเคยเห็นอะไรแบบนี้มาบ้าง เช่น ป้ายที่เขียนบอกว่า หนังสือเล่มนี้คนดังคนนี้อ่าน แต่ไม่ค่อยเห็นคำแนะนำจากพนักงาน หรือคนทั่วไปมากนัก

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พวกเราซื้อของออนไลน์เพิ่มขึ้นเยอะมาก คำแนะนำ คะแนนรีวิว ที่อยู่ใต้สินค้านั้นมีความสำคัญมาก ๆ กับการตัดสินใจซื้อ เพราะส่วนหนึ่งคนซื้อไม่ได้มีโอกาสสัมผัสตัวสินค้าโดยตรง การได้ความเห็นตวามเห็นจากผู้ที่เคยใช้สินค้านั้นมาก่อน จึงเป็นอีกปัจจัยหลักอันหนึ่งที่โน้มน้าวคนซื้อได้มาก ถ้าได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับร้านค้าออนไลน์อะเมซอนจะรู้ว่าความเห็นของลูกค้าใต้สินค้านั้น ๆ บริษัทให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ เลยทีเดียว

สำหรับสินค้าอย่างหนังสือแม้ในยุคปัจจุบันที่มีทั้ง อีบุ๊ค หนังสือเสียง สั่งออนไลน์ได้ แต่การได้ออกไปเลือกซื้อ เลือกหยิบ ดูปก อ่านบางหน้า ยังเป็นสิ่งที่การขายออนไลน์ให้ประสบการณ์ตรงแบบนี้ไม่ได้ เราจึงยังเห็นนักอ่านเข้าร้านหนังสือกันคึกคักอยู่ตลอด แต่พฤติกรรมของเราก็ยังคุ้นชินกับการได้อ่านคำแนะนำแบบสินค้าออนไลน์อยู่พอสมควร การที่ร้านหนังสือ เอาคำแนะนำมาติดวางที่ชั้น ก็เหมือนเอาข้อดีของระบบออนไลน์และคำแนะนำจากคนที่ได้อ่านมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และเพิ่มการปฎิสัมพันธ์กับคนอ่านหรือลูกค้าได้มากขึ้น ตัวลูกค้าก็รู้สึกว่าได้รับการเอาใส่ใจมากขึ้น

แต่ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าการทำแบบนี้ทำให้ยอดขายหนังสือที่ถูกแนะนำโดยพนักงานที่อ่านเองนั้นจะขายดีขึ้นหรือไม่ (ไม่มีข้อมูล) แต่ถามว่าเพิ่มความสนใจให้ลูกค้าได้ไหม อันนี้ตอบให้ได้ในมุมส่วนตัวว่า ได้ ทำให้รู้สึกคุ้นเคยเป็นกันเอง อยากอ่านเล่มนั้นบ้าง และถ้าเป็นหนังสือที่เราสนใจอยู่แล้ว การได้คุยกับคนที่ได้อ่านมาก่อน ก็น่าจะทำให้การตัดสินใจซื้อทำได้ง่ายขึ้นด้วย

Thalia ไม่ได้มีคำแนะนำแค้เฉพาะหนังสือ แต่รวมถึงสินค้าอื่น ๆ ด้วย เช่น บอร์ดเกม หนัง ของเล่น เป็นต้น และในระบบออนไลน์ของร้านก็มีให้เราได้เลือกตามการรีวิวของพนักงานขายหนังสือแต่ละคนได้ด้วย ตัวอย่างของเพื่อน https://www.thalia.de/buchhaendler/7102850/buchhaendlerseite แต่ส่วนตัวชอบคำแนะนำสั้น ๆ ที่ติดอยู่ในร้าน เขียนด้วยลายมือ มากกว่า

เรื่องนี้บอกอีกอย่างว่าพนักงานขายหนังสือของเขา ไม่ใช่แค่คนขายของแต่เป็นคนรักการอ่านและยังสามารถแนะนำให้คนอื่นอ่านต่อได้ด้วย สร้าง community และเพื่อนคนชอบอ่านมากขึ้นอีกด้วย

ถือว่าเป็นเรื่องเล็ก ๆ ที่อยากเล่า และคิดว่าร้านหนังสือ ร้านอื่น ๆ ทั่วไปที่ไทยอาจจะสนใจนำไปประยุกต์ใช้กับร้านตัวเองได้

รีวิวสั้น ๆ หนังสือ The Queen’s Gambit โดย Walter Tavis

The Queen’s gambit
น่าจะเหมือนคนส่วนใหญ่ทั่วไปที่ได้รู้จักครั้งแรกจากซีรีย์ทาง Netflix ซึ่งทำออกมาได้ดี สนุก และตื่นเต้นมาก ๆ แม้ว่าจะเล่นหมากรุกไม่เป็นก็ดูเข้าใจและตามเรื่องราวรู้เรื่องไม่งง

หนังสือ The Queen’s Gambit

หลังจากที่ประทับใจไปกับฉบับซีรีย์แล้ว เลยอยากอ่านต้นฉบับที่เป็นหนังสือเพิ่มเติม พอได้หนังสือมา เริ่มอ่านถึงได้รู้ว่าเป็นหนังสือที่เขียนโดย Walter Tevis ตั้งแต่ปี 1983 ซึ่งก็มีบรรยากาศของสงครามเย็น และค่านิยมต่าง ๆ ตามที่ซีรีย์ทำออกมาให้ดู

ส่วนเนื้อหาในหนังสือนั้น เหมือนกับที่ได้ดูในซีรีย์เรียกว่าแบบเป๊ะ ๆ ซีรีย์เก็บรายละเอียดได้ดีมาก ๆ ตอนอ่านหนังสือทำให้นึกภาพตามที่เคยดูจากซีรีย์ได้เลย เพราะเป็นซีรีย์มีเวลาให้เล่าเรื่องเยอะ ไม่ต้องรวบรัดเหมือนหนัง รายละเอียดจึงครบถ้วน ดังนั้น หนังสือเล่มนี้ก็อ่านได้เพลิน ๆ เล่าเรื่องเป็นเส้นตรงเหมือนที่ได้ดูในซีรีย์แบบฉากต่อฉากเลยทีเดียว

ส่วนหนึ่งที่ทำให้ซีรีย์ทำออกมาได้ดีเพราะบทประพันธ์ดั้งเดิมเขียนไว้ดีมาก ๆ

สำหรับใครที่อยากรู้เรื่องราวการเป็นนักเล่นหมากรุกของอลิซาเบธ ตั้งแต่เด็กจนถึงระดับสูงสุดของมืออาชีพ จะดูซีรีย์หรืออ่านหนังสือก็เรื่องเล่าเดียวกันไม่ดัดแปลง (ฉากจบยังถอดมาเป๊ะ ๆ)

สรุป อ่านก็จะได้อีกรสชาติหนึ่งของเรื่องราว แต่ดูแค่ในซีรีย์ก็ครบถ้วนเช่นกัน

บันทึกไป Interlaken สุดสัปดาห์ 3 วัน

บันทึกไป Interlaken สุดสัปดาห์แบบด่วน วางแผนหลวม ๆ แล้วไปเลย ยืดหยุ่นตามสถานการณ์ นั่งรถไฟจากดอร์ทมุนด์ตอนช่วงดึกไปสวิตเซอร์แลนด์จุดหมายคือเมือง Interlaken ใช้เวลาราวๆ 10 ชั่วโมง ถึงช่วงเช้าเอาของบางส่วนฝากไว้ที่ล็อกเกอร์ แล้วเที่ยวต่อทันทีเลย

วันที่ 1: เริ่มจาก Interlaken Ost ไปที่ Gschwandtenmaad จากนั้นเดินเล่นถ่ายรูปไปเรื่อยๆ ราวๆ 5 กิโลเมตร จนถึง Schwarzwaldalp นั่งรถบัสกลับ Interlaken Ost จบทริปวันแรกวันที่

2: เริ่มจาก Interlaken Ost ไป Laubrennen ถ่ายรูปเล่นในรอบๆเมือง นั่งรถไฟไปที่เมือง Wengen แล้วเดินลงเขาลงมาที่เมือง Laubrennen เหมือนเดิมแต่เดินแบบอ้อมๆ ระยะทางราวๆ 9 กิโลเมตร นั่งรถไฟกลับ Interlaken Ost จบทริปวันที่สอง

วันที่ 3: เริ่มจาก Interlaken Ost ไป Grindelwald เดินไปขึ้นกระเช้าไปที่ ยอดเขา First เดินต่อไปที่ทะเลสาบ Bachalpsee ระยะทาง 3 กิโลเมตร นั่งเล่น ถ่ายรูป แล้วเดินจาก ทะเลสาบลงมาที่ Grindelwald ระยะทางราวๆ 10 กิโลเมตร นั่งรถไฟกลับมาที่ Interlaken Ost ขึ้นรถไฟรอบค่ำกลับดอร์ทมุนด์ เป็นอันจบทริป

ส่วนเสริม บันทึกไว้เกี่ยวกับ Interlaken

-ต้องจ่ายภาษีของเมืองที่โรงแรม แล้วเขาจะให้บัตรแขกบ้านแขกเมืองซึ่งใช้นั่งรถบัสภายในเมืองได้

-แอพ SSB mobile เหมือน DB ของเยอรมัน ใช้ดูตางรางเวลารถ สถานี และใช้ซื้อตั๋วได้ด้วย

-แทบจะทุกร้านค้า รถบัส ตู้ขายตั๋ว ใช้บัตรซื้อได้หมด ไม่ต้องพกเงินสดยังได้ ยกเว้นตู้ยอดล็อกเกอร์

-ห้องน้ำสาธารณะฟรี ความสะอาดค่อนข้างโอเค (อย่าเทียบกับเยอรมัน)

-ช่วงนี้ยังมีปัญหาโควิด นักท่องเที่ยวน้อย ร้านค้าเปิดแค่บางร้าน ร้านที่เปิดให้นั่งข้างในต้องแสดงวัคซีนพาสพอร์ตว่าได้รับวัคซีนครบแล้ว

-แอพนำทางและแนะนำเส้นทาง hiking ชื่อ Kamoot ปกติก็ใช้อยู่แล้ว แต่พอมาที่สวิตเซอร์แลนด์คิดว่าต้องเดินบนเขา กลัวว่าสัญญาณโทรศัพท์จะขาดหาย เลยซื้อแผนที่เดินป่าแบบออฟไลน์ไว้ด้วย ซึ่งก็ทำงานได้ดีที่เดียว แต่สัญญาณ 5G มีครอบคลุมทุกที่เดินไปเลย (อย่าเทียบกับเยอรมันออกเมืองไปนิดน้อย สัญญาณเริ่มเบาแล้ว)

-ค่าเดินทางพวกรถไฟ รถบัส กระเช้า กลุ่มที่ขึ้นเขาแพงอย่างโหด แต่ถ้าได้นั่งและเห็นเส้นทางที่รถวิ่งจะเข้าใจว่า ทำไมมันต้องแพง ทั้งสูง และอันตรายมาก ๆ ส่วนค่าเดินทางระหว่างเมืองด้านล่างก็ไม่แพงมาก แต่ก็ยังถือว่าแพงตามมาตรฐานสวิสต์อยู่ดี ซื้อตั๋วเหมาอาจจะเหมาะมากกว่า ตั๋ว Region กับ SwissPass ราคาพอกัน ส่วนตั๋ว Jungfrau ถูกกว่าแต่ได้พื้นท่องเที่ยวน้อยกว่า ต้องดูว่าจะเที่ยวตรงไหนบ้าง แต่ถ้าคนชอบเดิน hiking ไปแค่ขาเดียวซื้อเป็นเที่ยวๆก็ประหยัดกว่า

หุ่นยนต์อัตโนมัติ ต้นแบบของ Automaton ในหนัง Hugo(2012)

Artificial Intelligence: An Illustrated History

ได้อ่านอ่านหนังสือ Artificial Intelligence: An Illustrated History: From Medieval Robots to Neural Networks by Clifford A. Pickover เป็นหนังสือที่เล่าถึงการพัฒนาหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ จนถึงปัญญาประดิษฐ์ โดยเล่าย้อนตั้งแต่รากฐานของนวัตกรรมในอดีตผ่านสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ เกือบ 100 รายการที่พัฒนาต่อยอดขึ้นมากเรื่อย ๆ ตลอดช่วงเวลาระหว่าง 1300 ก่อนคริสตศักราชจนถึงยุคปัจจุบัน

Jaquet-Droz automata

สิ่งที่สะดุดตามากจนต้องหยิบมาเขียนเก็บไว้ คือ สิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า Jaquet-Droz automata ที่ถูกสร้างขึ้นโดยช่างทำนาฬิกาชาวสวิซต์ชื่อ Pierre Jaquet-Droz และลูกของเขา โดยถูกสร้างในช่วงปี 1768-1774 โดยประกอบด้วย automata ทั้งหมด 3 ตัว ได้แก่ หุ่นนักเขียน หุ่นนักดนตรี และหุ่นร่างแบบ หุ่นแต่ละตัวมีความซับซ้อนสูงมาก มีชิ้นส่วนประกอบตั้งแต่ 2,000-6,000 ชิ้นต่อตัว

ภาพวาดจากหุ่นร่างแบบ

พวกเขาสร้างขึ้นเพื่อใช้โฆษณาสำหรับขายนาฬิกาและสร้างความบันเทิงให้หมู่ชนชั้นสูงที่เป็นลูกค้า ปัจจุบันนาฬิกาแบรนด์ Jaquet-Droz ก็ยังมีอยู่นะ และที่พิเศษกว่านั้น automata ทุกตัวปัจจุบันยังทำงานได้ดี ถูกเก็บรักษาอย่างดีและเปิดให้เข้าชมได้ที่พิพิธภัณฑ์ Musée d’Art et d’Histoire of Neuchâtel ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

Hugo (2011)

เหตุที่ตัวเองสนใจ Jaquet-Droz automata เป็นพิเศษ ทั้ง ๆ ที่ในหนังสือกล่าวถึงระบบหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติอีกหลายอย่าง เพราะว่าหุ่น Jaquet-Droz ทำให้นึกถึงหนังเรื่องหนึ่งที่ชอบมาก ๆ นั้นคือ Hugo (2011) ของมาร์ติน สกอร์เซซี เป็นเรื่องของเด็กกำพร้าฮิวโก้ที่อาศัยอยู่บนหอนาฬิกาของสถานีรถไฟ และพยายามหาชิ้นส่วนเพื่อซ่อม automaton หุ่นที่เป็นเหมือนตัวแทนสิ่งที่เหลือไว้ของพ่อผู้จากไป ในท้ายที่สุดตัวหุ่นก็ถูกซ่อมให้กลับมาทำงานได้อีกครั้ง และมันก็วาดภาพฉากหนึ่งของหนังอันโด่งดัง A Trip to the Moon ของ Georges Méliès เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งตัวละครสำคัญของเรื่องเลยทีเดียว

ภาพที่ Automaton วาดออกมา

เกร็ดหลังจากได้ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ automaton ในหนัง Hugo ก็ไม่แปลกใจเลย ที่หนังเรื่องนี้ก็ได้รับแรงบรรดาลใจมาจากหุ่น Jaquet-Droz automata และหุ่นกลไกตัวนั้นถูกสร้างโดยนักสร้างพร๊อพ Dick George และมันสามารถทำงานได้จริง ตัวหุ่นถูกควบคุมผ่านคอมพิวเตอร์ที่อยู่ใต้โต๊ะ มือของหุ่นถูกเชื่อมต่อกับกลไกผ่านชุดแม่เหล็ก มันสามารถวาดภาพทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบได้ แต่ใช้เวลานานถึง 46-47 นาที

อยากรู้ว่ามีใครชอบหนังเรื่องนี้เหมือนกันไหมนะ

Exit mobile version